วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ในหลวงกับพระอริยเจ้า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ผู้ทรงปฏิบัติหน้าที่พระราชอุปัธยาจารย์ ในการทรงพระผนวช
ณ ตำหนักบัญจบเบญจมา วัดบวรนิเวศวิหาร
3  พฤศจิกายน  2499

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจแก่พระศาสนา คณะสงฆ์ และประชาชนเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงผนวช (22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499) ทั้ง ๆ ที่มีพระอาการประชวรอย่างหนัก แต่ด้วยพระบารมีโดยแท้ เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ทรงผนวช สมเด็จพระสังฆราชเจ้าซึ่งผ่านพระอาการประชวรไข้ปรอทสูงถึง 104 องศา กลับเสด็จประทับเป็นพระราชอุปัธยาจารย์จนเสร็จพระราชพิธี จากนั้น เมื่อคณะแพทย์ทูลขอให้เสด็จกลับวัดบวรนิเวศวิหารทันที กลับมิทรงยินยอม ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินประทับร่วมรถยนต์พระที่นั่งตามโบราณราชประเพณี กว่ารถยนต์พระที่นั่งจะคืบคลานฝ่าฝูงชนที่เฝ้าชมพระบารมีสองฟากทางและล้นหลามเข้าสู่ท้องถนน เป็นเวลานานแสนนานจึงเสด็จถึงวัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างที่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้เอาพระทัยใส่ในอันที่จะถวายความรู้ทางพุทธศาสนา และถวายโอกาสให้ได้ทรงปฏิบัติสมณกิจให้ได้ผลเต็มตามภิกขุภาวะเป็นนานัปการ

ต่อมา เมื่อพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงประชวรและเสด็จรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกครั้ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกลางดึก แล้วประทับจนเวลาล่วงถึงวันใหม่ วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 เวลา 01:08 น. สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ สิ้นพระชนม์ต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ
แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวฑฺฒนมหาเถร)
ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร  21 เมษายน 2532

เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ. 2517 และได้ถวายสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถระ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวรแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เดิมมีพระองค์เดียวคือสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ในสมัยรัชกาลที่ 2  เมื่อสิ้นพระองค์นั้นแล้ว บุรพมหากษัตริย์ไม่โปรดสถาปนาพระราชาคณะรูปใดขึ้นครองสมณศักดิ์ดังกล่าว จวบจนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ กาลต่อมา ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชดุจเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงสรงน้ำ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร)
อดีตเจ้าอาวาส วัดราชผาติการาม
ณ โรงพยาบาลศิริราช  15  เมษายน  2528

ในปี พ.ศ. 2520 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา  เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน  เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริว่า พระมหาชนกชาดก มีคติที่แจ่มแจ้ง และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ชนทุกหมู่  จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเนื่อเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและเหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม  อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดาสองพระองค์ พระสุณิสา และพระเจ้าหลานเธอ รวม 7 พระองค์ ได้เสด็จมานมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่วัดบูรพาราม ในเวลา 18:40 - 19:30 น.

หลังจากตรัสถามถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่แล้ว ทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนา และทรงอัดเทปไว้ด้วย  เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อ ๆ ถวายจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถามหลวงปู่ว่า "หลวงปู่ การที่จะละกิเลสให้ได้นั้น ควรจะละกิเลสอะไรก่อน"

หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า "กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน"

ครั้นทรงมีพระราชปุจฉาในธรรมข้ออื่น ๆ พอสมควรแก่เวลาแล้ว ทรงถวายจตุปัจจัยแก่หลวงปู่ เมื่อจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่ให้นานต่อไปอีกเกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่จะรับได้ไหม"

ทั้ง ๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า

"อาตมภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง จะอยู่ได้นานอีกเท่าไรไม่ทราบ"

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าสัมมานุสรณ์  อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย

จากบันทึกของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ สร้างกุฏิไว้ในเขตบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงนิมนต์ขอให้หลวงปู่ชอบ ฐานสโมไปพัก ณ กุฏินั้นบ้าง เมื่อเวลาที่ท่านเข้ามาในกรุงเทพฯ

เมื่อนำความมากราบเรียนหลวงปู่ ท่านตอบว่า ท่านเคยแต่อยู่ในป่า เข้าไปในเขตพระราชฐานจะลำบาก เพราะพวกศิษย์ติดตามก็เป็นแต่คนบ้านนอก ไม่รู้ธรรมเนียมอะไร

หลวงปู่บอกว่า อยู่ข้างนอก ก็แผ่เมตตาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และยังแผ่เมตตาถวาย "ทุกองค์" ในนั้นด้วย

หลวงปู่พูดด้วยใบหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาและน้ำเสียงที่ชัดเจนว่า "ในนั้น (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) มีเทวดามากน้อ  มาก..แน่นไปหมด"

หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองบัวลำภู

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล นับครั้งไม่ถ้วน  เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระทัยผูกพันต่อหลวงปู่ และหลวงปู่ก็มีจิตผูกพันต่อล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ และแผ่เมตตาถวายทุกเวลาและทุกโอกาส

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระอุตสาหะประกอบพิธี "ยืดอายุ" ของหลวงปู่ โดยทรงถือขัน (อย่างขันน้ำ) บรรจุดอกไม้ห้าสี เข้าไปประเคน

พอหลวงปู่รับแล้ว ก็ทรงไม่ให้หลวงปู่ "ทิ้งขันธ์" (เล่นคำ "ขัน" กับ "ขันธ์") ขอให้หลวงปู่อยู่ไปอีกนาน ๆ

หลวงปู่หัวเราะ แต่ไม่ได้รับสนองพระราชดำรัส  หลวงปู่ปรารภต่อมาว่า "มันหนักกระดูก ขันธ์มันเป็นทุกข์หนัก แบกขันธ์มันหนักกว่าแบกครก"

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง  อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋งเพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณหลายครั้ง และได้จัดสร้างสิ่งมงคลโดยใช้รูปของหลวงปู่นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญ

สมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ที่เชียงใหม่ หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

"พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย"

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก)  อำเภอศรีวิไล  จังหวัดหนองคาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมนมัสการท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ณ ภูทอก และทรงมีพระราชดำรัสทางธรรมะ

ทรงมีพระราชปรารภจะให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยราษฎรในการเกษตร ท่านพระอาจารย์จวนก็อนุโมทนาในพระราชดำรินั้น และตั้งต้นคิดจัดทำฝายน้ำตามบริเวณหมู่บ้านหลายแห่ง โดยเฉพาะระหว่างภูทอกน้อยและภูทอกใหญ่ ให้รถแทรกเตอร์มาปรับพูนดิน สร้างอ่างเก็บน้ำ เงินกฐิน ผ้าป่า และแม้แต่เงินพระราชทานที่โปรดเกล้าฯ ถวายในวาระต่าง ๆ ที่ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพิธีในพระราชวังก็เช่นเดียวกัน ท่านสั่งจ่ายเป็นค่าแทรกเตอร์หมด

ท่านพระอาจารย์จวนบอกว่า "เงินของท่าน ก็ทำบุญให้ท่าน ความจริงแผ่นดินนี้เป็นของท่าน ราษฎรก็เป็นของท่าน ก็เอาเงินของท่าน ทำให้แผ่นดินของท่าน ทำให้ราษฎรของท่าน"

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย

จากบันทึกของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เมื่อครั้งไปวิเวกที่สำนักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หลวงปู่หลุยจึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้า หลวงปู่บันทึกไว้ว่า

"..อยู่หัวหิน อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มักจะเกิดธรรมแปลก ๆ เป็นอัศจรรย์ เป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสวรรค์มาเกิด มาบริหารชาติ มาทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดี นี้เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย.."

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร  อำเภอพรรณานิคม  จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้รับความเคารพศรัทธาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปวัดป่าอุดมสมพรหลายครั้ง  เมื่อหลวงปู่ฝั้นเข้ากรุงเทพฯ ก็ทรงโปรดให้อาราธนาเข้าไปแสดงธรรมในพระราชฐาน  บางคราวรับสั่งสนทนาจนดึกมาก เวลาหลวงปู่จะลุกขึ้นก็ลุกไม่ได้ เพราะนั่งอยู่ในอิริยาบทเดิมนานเกินควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ เสด็จเข้าทรงช่วยพยุงหลวงปู่ด้วยพระองค์เอง

จังหวัดสกลนครในยุคสมัยของหลวงปู่ฝั้นได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้าย เป็นเขตอันตราย แต่หลวงปู่ก็ยืนหยัดอยู่ได้ พยายามอบรมสั่งสอนให้ผู้ที่หลงผิด กลับเนื้อกลับตัวมาเป็นพลเมืองดีและนำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง  หลวงปู่ได้พยายามย้ำถึงความสำคัญและบุญคุณของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเน้นเสมอว่า ผู้ที่ขาดกตัญญู คิดร้ายต่อผู้มีพระคุณนั้น จะพินาศและถูกธรณีสูบ  การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังวัดป่าอุดมสมพร ถือว่าเป็นจุดพลิกผันของบ้านเมือง ทำให้ปัญหาผู้ก่อการร้ายสงบไป บ้านเมืองมีความสงบสุขขึ้น

นอกจากจะได้รับใช้บ้านเมืองโดยการถวายธรรมะแด่องค์พระประมุขของชาติ  หลวงปู่ฝั้นยังได้ทำประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งในตอนท้ายแห่งชีวิตของท่านคือ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515  หลวงปู่ขึ้นไปพักบนถ้ำขาม ในเช้าวันที่ 28 หลังจากจังหันแล้ว ท่านได้ประกาศแก่พระและเณรที่ฉันอยู่บนศาลาว่า "ฉันแล้วให้รีบเข้าที่ ตั้งใจภาวนาให้เต็มที่ วันนี้ทางกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์"

ด้วยหลวงปู่เองก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ทราบกันทีหลังว่าท่านแผ่เมตตาส่งเข้าไปทางกรุงเทพฯ

พอเวลาประมาณสี่ทุ่มคืนนั้น ก็มีคนเดินทางไปจากจังหวัดอุดรธานี ขอเข้าพบหลวงปู่ และเล่าว่า มีสมาชิกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ กลุ่มกันยายนทมิฬ (Black September) ได้เข้ายึดสถานเอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยไว้ เกรงกันว่าจะเกิดนองเลือด เป็นการเสียฤกษ์พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทางข้างในขอให้หลวงปู่ช่วยแก้ไขด้วย

หลวงปู่บอกกับท่านผู้นั้นว่า ท่านทราบมาตั้งแต่เช้าแล้ว จึงได้สั่งให้พระเณรช่วยกันภาวนา ส่วนตัวท่านเองก็ได้แผ่เมตตาไปให้แก่พวกก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลา  ท่านลงท้ายว่า ไม่มีอะไรน่าตกใจหรอก พรุ่งนี้เช้าเขาก็ขึ้นเครื่องบินหนีไปเอง

เหตุการณ์ได้เป็นไปตรงตามนั้น พวก "กันยายนทมิฬ" ยอมถอนกำลังไปโดยสงบเพราะเหตุใดไม่มีใครทราบ (นอกเหนือไปจากการเจรจา) แต่อย่างน้อยคำพูดของหลวงปู่ย่อมทำให้เกิดความสงบขึ้นในใจของผู้ที่ได้ฟัง และความสงบแห่งจิตใจย่อมเป็นสิ่งที่มีค่าเสมอในยามที่มีวิกฤติการณ์

พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ)
วัดดอนยายหอม  อำเภอเมือง  จังหวัดนครปฐม

จากหนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ของ "เทพ สุนทรศารทูล" เล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2507  หลวงพ่อเงิน ได้รับนิมนต์เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จออกจากวัง มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขับรถตามมา พอทันก็ถามว่า

"หลวงพ่อเงินใช่ไหม ?"
"ใช่"
"หยุดก่อน"
"อาตมาทำผิดอะไร"
"ไม่ผิดอะไรหรอก แต่ในหลวงมีรับสั่งให้หลวงพ่อเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์"
"ไม่ดีหรอก อาตมากะเร่อกะร่า เข้าไปจะแลดูรุ่มร่าม ตะกี้พระองค์ท่านก็พบอาตมา ไม่เห็นว่าจะนิมนต์"
"ทรงระลึกได้ว่าใช่หลวงพ่อเงินหรือเปล่า พอแน่พระทัยก็รับสั่งให้กระผมมานิมนต์"
"กราบทูลท่านได้ไหมว่า จะขอเฝ้าภายหลังในโอกาสหน้า"
"ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณเถิด รับสั่งให้กระผมมานิมนต์หลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อแล้วนิมนต์เข้าไปเฝ้าไม่ได้ กระผมจะกราบทูลยังไง กระผมจะเสียผู้เสียคนคราวนี้เอง หลวงพ่อนึกว่าเมตตากระผมเถิด"

หลวงพ่อสงสารนายตำรวจท่านนั้น จึงยอมกลับไปเข้าเฝ้าในหลวง เมื่อทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อแล้ว ก็ทรงดีพระทัยมาก เสด็จเข้ามาประทับใกล้ ๆ กราบนมัสการหลวงพ่อ แล้วก็ทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองมากุมมือหลวงพ่อไว้ ตรัสว่า

"ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว อยากพบหลวงพ่อ อยากรู้จักตัวหลวงพ่อมานานแล้ว"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกราบหลวงพ่อ ทรงเรียก "หลวงพ่อ" เหมือนประชาชนทั้งหลาย  นี่คือพระราชจริยาวัตรของพระบรมโพธิสัตว์ต่อพระโพธิสัตว์ผู้อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เทวทูตทั้งห้า


เทวทูต
คือทูตของวิสุทธิเทพ หมายถึงเครื่องเตือนใจให้พิจารณาเนือง ๆ เพื่อความไม่ประมาท


ไม่มองข้ามเทวทูต คือ รู้จักมอง รู้จักพิจารณาสภาวะที่ปรากฏอยู่เสมอในหมู่มนุษย์ อันเป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมของชีวิตที่ไม่ควรลุ่มหลงมัวเมา 5 อย่าง คือ

1.  เด็กอ่อน .. ว่าคนเราทุกคนเกิดมาก็อย่างนี้ เพียงเท่านี้
2.  คนแก่.. ว่าทุกคน หากมีชีวิตอยู่ได้นาน ก็ต้องประสบภาวะเช่นนี้
3.  คนเจ็บ.. ว่าภาวะเช่นนี้ เราทุกคนอาจประสบได้ด้วยกันทั้งนั้น
4.  คนต้องโทษ.. ว่ากรรมชั่วนั้น ไม่ต้องพูดถึงตายไป แม้ในบัดนี้ก็มีผลเดือดร้อนเป็นทุกข์
5.  คนตาย.. ว่าภาวะเช่นนี้ เราทุกคนต้องได้พบ ไม่มีใครพ้น และกำหนดไม่ได้ว่า ที่ไหน เมื่อใด

ในพระสุตตันตปิฎก เทวทูตสูตร เล่าไว้โดยความว่า สัตว์ (คน) ผู้ประกอบด้วยทุจริตทางกาย วาจา และใจ ติเตียนด่าว่าคนดีประเสริฐ เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือกรรมของคนมิจฉาทิฐิ ครั้นกายแตกสลายตายลง นายนิรยบาลจับไปแสดงแก่พญายมราชขอให้ลงโทษ พญายมราชซักถามว่า เคยเห็นเทวทูต 5 คือเด็กอ่อน คนแก่ คนเจ็บ คนถูกราชทัณฑ์ คนตาย บ้างหรือไม่

เมื่อผู้นั้นตอบว่าเคยเห็น พญายมราชก็ซักต่อไปว่า ได้เคยคิดบ้างหรือไม่ว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา ผู้ทำกรรมชั่วก็จะต้องถูกลงราชทัณฑ์ต่าง ๆ และเรามีความตายเป็นธรรมดา ควรที่เราจะทำกรรมที่ดีงาม ทางกาย วาจา ใจ ต่อไป

เมื่อผู้นั้นกล่าวว่าไม่ได้คิด มัวประมาทไปเสีย พญายมราชจึงกล่าวว่า เจ้ามีความประมาท จึงไม่ทำกรรมที่ดีงามทางกาย วาจา ใจ ก็จักทำเจ้าให้สาสมกับที่ประมาทไปแล้ว บาปกรรมนั้น มารดาบิดา ญาติสาโลหิตเป็นต้น ไม่ได้เป็นผู้ทำให้ หากแต่เป็นตัวเจ้าทำของเจ้าเอง ก็จักเสวยวิบากของกรรมนั้นเอง

หลักการซักถามผู้ทำบาปเกี่ยวกับเทวทูต 5 นี้ ดูผิวเผินก็ยากที่จะเข้าใจว่าจะใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยได้อยางไร แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักธรรม ก็อาจเห็นความมุ่งหมายว่า คนที่ทำบาปทุจริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะมีความประมาท ไม่ได้คิดพิจารณาว่า เกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้คิดถึงราชทัณฑ์คือไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง เรียกว่าไม่เห็นเทวทูต หากสามารถเห็นเทวทูตด้วยตาปัญญา ก็ย่อมจะไม่ประมาทและเว้นทุจริตต่าง ๆ ได้

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรและพิธีไล่น้ำ


พิธีไล่น้ำ
มีมาแต่โบราณ เป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้น้ำที่ท่วมขังลดลงอย่างรวดเร็วและลดความรุนแรงของน้ำที่เป็นอันตราย  เป็นโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงให้ความสำคัญ เพราะเมื่อข้าวในนาเริ่มจะแก่ ถ้ายังมีน้ำท่วมอยู่ก็ทำให้ข้าวเสียหาย จึงต้องทำพิธีไล่น้ำไปเสียให้พ้น


แม้พิธีไล่น้ำจะมิได้จัดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว แต่ในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากน้ำท่วมครั้งใหญ่และเมืองหลวงของประเทศต้องเผชิญกับมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลหลากเข้าประชิด ได้มีการรื้อฟื้นพิธีดังกล่าวขึ้นอีก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในยามที่บ้านเมืองต้องปฏิบัติภารกิจคับขัน ทั้งนี้ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร เข้าร่วมพิธีด้วย

 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานครและประชาชน
ได้ประกอบพิธีไล่น้ำในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:39 น. ณ ศาลหลักเมือง

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก)  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาห้าม  ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีว่า


พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จจาริกจากอิสิปตนมฤคทายวันในวันปาฏิบท คือ วันแรม 1 ค่ำ เสด็จย้อนไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเป็นตำบลที่ตรัสรู้ มุ่งจะเสด็จไปโปรดชฎิล (นักพรตจำพวกหนึ่งมีผมมุ่นเป็นชฎา) 1,000 คน ซึ่งตั้งสำนักอยู่ในตำบลนั้น

ชฎิลเหล่านั้น มีหัวหน้าอยู่ 3 คน ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ คนหนึ่ง มีบริวาร 500 คน ตั้งสำนักอยู่ตำบลหนึ่ง น้องคนที่สองชื่อว่า นทีกัสสปะ มีบริวาร 300 คน ตั้งอาศรมพำนักอยู่ถัดไปอีกแห่งหนึ่ง น้องคนสุดท้องชื่อว่า คยากัสสปะ มีบริวาร 200 คน ตั้งสำนักอยู่แห่งหนึ่งในที่ถัดไป

พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสำนักของอุรุเวลกัสสปะก่อน ได้ตรัสขออาศัยพัก  ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่กับอุรุเวลกัสสปะ พระองค์ได้ทรงใช้วิธีอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ แสดงวิธีดักใจต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ให้เหล่าชฎิลเห็นว่า คุณธรรมต่าง ๆ ที่พวกชฎิลถือว่าพวกของตนมีอยู่และเป็นของวิเศษนั้น ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ และให้หายจากความสำคัญตนผิดว่าเป็นพระอรหันต์ จนในที่สุด อุรุเวลกัสสปะคลายจากความสำคัญผิดและทูลขออุปสมบท

ชฎิลลอยบริขารแล้วทูลขออุปสมบท

พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ไปบอกบริวารเสียก่อน เมื่อเหล่าบริวารเห็นชอบกับอุรุเวลกัสสปะ ก็พร้อมกันลอยชฎิลบริขารทิ้งน้ำ แล้วก็ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต  ต่อมานทีกัสสปะกับบริวาร ได้เห็นชฎิลบริขารของพี่ชายกับบริวารลอยน้ำมา ก็คิดว่าจะเกิดอันตรายแก่พี่และคณะ ก็พร้อมกันมา เห็นพี่และคณะอุปสมบทเป็นภิกษุ ก็พากันลอยบริขารชฎิลของตน ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ฝ่ายคยากัสสปะและบริวารก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงเป็นอันว่าชฎิลรวม 1,000 คน ซึ่งมีหัวหน้า 3 คน ก็ได้มาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา 

แล้วในที่สุด ก็มาถึงวาระที่พระบรมศาสดาจะทรงแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คืออบรมสั่งสอนเพื่อให้ชฎิลเหล่านั้นได้บรรลุธรรมสืบต่อไป จึงได้ทรงนำไปยังตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา แล้วก็ตรัสเทศนาที่พระคันถรจนาจารย์ได้ขนานนามว่า อาทิตตปริยายสูตร คือ พระสูตรที่แสดงบรรยายถึงความรุ่มร้อนของจิตใจด้วยอำนาจของกิเลส เปรียบได้กับความร้อนของไฟที่กำลังลุกโพลงอยู่  เพื่ออนุโลมตามอัธยาศัยของชฎิลที่นิยมบูชาไฟเป็นวัตร

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชฎิลสามพี่น้องดังได้บรรยายไว้แล้ว ก็เพราะนักบวชสามพี่น้องนี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ผู้คนเคารพนับถือมากในสมัยนั้น  การทำให้นักบวชที่มีผู้เคารพศรัทธามากหันมานับถือพระองค์ จะช่วยให้การประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เพิ่งเกิดใหม่เป็นไปง่ายขึ้นและได้ผลรวดเร็ว


หนึ่งในอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เป็นปาฏิหาริย์เกี่ยวกับน้ำท่วม กล่าวคือ วันหนึ่งมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นทั้งที่มิใช่ฤดูกาล บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดา พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ ที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้นราบเป็นปรกติ ตถาคตจะเดินจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น 

ฝ่ายอุรุเวลกัสสปะคิดว่า พระมหาสมณะนี้จะถูกน้ำท่วมหรือไม่ประการใด หรือจะหลีกลี้ไปสู่สถานที่แห่งอื่น จึงชักชวนเหล่าชฎิลบริวารพากันลงเรือไปดู เมื่อถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงสถิตอยู่ ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่บนพื้นที่ปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธองค์ทรงขานรับ แล้วเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ เลื่อนลอยลงสู่เรือของชฎิล

(ซ้าย) พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  และ (ขวา) พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช เนื้อสำริดหุ้มด้วยทองคำ 
เครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง
เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธอิริยาบทที่ทรงห้ามน้ำนี้ เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  ชาวไทยได้นำความเชื่อด้านโหราศาสตร์มาผนวกกับพุทธศาสนาด้วย จึงมีการกำหนดปางพระพุทธรูปตามเทวดานพเคราะห์ เพื่อบูชาเนื่องด้วยพิธีทักษาหรือเพื่อสวัสดิมงคล โดยกำหนดให้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรนี้ เป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์

พระห้ามสมุทรหยุดสึนามิ หรือ หลวงพ่อกันภัยสึนามิ
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
ประดิษฐาน ณ สำนักสงฆ์แหลมป้อม
บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

การบูชาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร นอกจากจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจในยามที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยแล้ว ยังเป็นความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลว่า พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีพุทธานุภาพห้ามน้ำได้ 

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
พระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง

ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ตลิ่งหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก (วัดตลาด) จังหวัดอ่างทอง ถูกน้ำกัดเซาะพังเข้าไปมาก  พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสังให้พระยาราชสงครามเป็นแม่งาน รวบรวมชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา ช่วยกันชะลอเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปให้พ้นน้ำ อันเป็นงานที่ยากมาก เพราะองค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นปูนปั้นอาจจะเสียหายได้


ในภารกิจสำคัญครั้งนั้น มีการบูชาขอพรจากพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรด้วย ดังปรากฏในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ซึ่งเป็นโคลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวร ความว่า

ขอพรพระพุทธห้าม    สมุทไทย
ห้ามชลาไลยไหล       ขาดค้าง

การเคลื่อนย้ายพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นขนาดใหญ่ ความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 24 เมตร ให้เคลื่อนห่างจากฝั่งแม่น้ำ กระทำสำเร็จโดยไม่เสียหายเป็นที่อัศจรรย์

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระยอดธง.. พุทธปฏิมาตามนัยแห่ง 'ธชัคคสูตร'


"...ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย
ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่
ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ..."

พระยอดธง เนื้อทองคำ กรุพระนครศรีอยุธยา

พระยอดธง เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ที่สร้างไว้บนยอดธง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้รบชนะข้าศึก มูลเหตุที่จะเกิดมีพระยอดธงขึ้นนั้น นัยว่าสืบเนื่องมาจากการสงครามแต่โบราณกาลซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และกระทำกันด้วยอาวุธที่ไม่มีความร้ายแรงดั่งเช่นในปัจจุบัน การรบทุกครั้ง มักแพ้ชนะกันด้วยการเข้าสู้รบตะลุมบอนของทั้งสองฝ่าย แต่ละฝ่ายยึดถือธงชัยเฉลิมพลของตนเป็นมิ่งขวัญ เพราะถือว่า ธงชัยเฉลิมพลนั้น เป็นเครื่องหมายของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพเทิดทูนสูงสุด

พระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จึงได้สร้างพระพุทธปฏิมาองค์เล็ก ๆ กะทัดรัด ประดิษฐานไว้ ณ ยอดเสาธง เพื่อให้เหล่าทหารมีจิตใจเข้มแข็งห้าวหาญ เกิดความมั่นใจว่าอานุภาพแห่งพระปฏิมาบนยอดเสาธงนั้น จะปกป้องคุ้มครองตนให้พ้นจากภยันตรายและนำมาซึ่งชัยชนะ


พระยอดธง เนื้อเงิน กรุพระนครศรีอยุธยา

พระยอดธงเป็นพระพุทธรูปนั่ง ใต้ฐานพระมีแกนแหลมเล็กยาวออกมา แกนนี้มีไว้สำหรับใช้เสียบเข้ากับยอดเสาธงชัยเฉลิมพล วัสดุที่ใช้สร้างพระยอดธง ประกอบด้วยนวโลหะ มีทอง เงิน นาก เป็นต้น แต่ละสิ่งล้วนจารึกอักขระคาถา นวหรคุณ หรือ หัวใจพระพุทธคุณทั้งเก้า คือ “อะ-สัง-วิ-สุ-โล-ปุ-สะ-พุ-ภะ” อันเป็นคำย่อจากบท “อิติปิ โส ภควา รหํ มฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ควา”

การสร้างพระยอดธงนั้น ต้องนิมนต์พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระมาสวดธชัคคสูตรหรือธชัคคปริตร และสวดบทพาหุง-มหากาฯ หรือที่รู้จักกันในนาม บทถวายพรพระ บรรจุไว้ในองค์พระ บทพาหุง-มหากาฯ มีอานุภาพมาก เพราะว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธองค์ที่ทรงชนะพญาวสวัตตีมาร อาฬวกยักษ์ ช้างนาฬาคิรี องคุลิมาล นางจิญจมาณวิกา สัจจกนิครนถ์ นันโทปนันทนาคราช และท้าวพกาพรหม


พระยอดธง เนื้อทองคำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
เป็นพระพุทธรูปปางทรงเครื่องจักรพรรดิโปรดพญาชมพูบดี ประทับนั่งปางมารวิชัย

พระยอดธง เป็นพระปฏิมาที่โบราณจารย์สร้างขึ้นโดยมุ่งผลในราชการสงครามเป็นหลัก พระเกจิอาจารย์ในยุคหลังก็นิยมสร้างวัตถุมงคลมีลักษณะเช่นเดียวกับพระยอดธง แม้จะมิได้มุ่งประสงค์เพื่อนำไปเสียบไว้บนยอดธงก็ตาม หากแต่เชื่อในคุณวิเศษทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี

เหรียญพระยอดธง หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา

การจัดสร้างพระยอดธง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นตามนัยแห่งพระสูตรชื่อ ธชัคคสูตร ธชัคค เป็นคำบาลี มีรากศัพท์มาจาก ธช ซึ่งแปลว่า ธง สนธิกับ อคฺค ซึ่งแปลว่า เลิศ หรือ ยอด ธชัคค จึงแปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตร คือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง บรรยายถึงธรรมอันเป็นเครื่องขจัดความกลัว มีความว่า

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเชตวนารามของอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ใกล้นครสาวัตถี ได้ตรัสเรื่องเทวาสุรสงครามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทพและอสูรได้เกิดประชิดติดพันกันขึ้น ท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ของเทพยดาทั้งหลาย เรียกประชุมเทพยดาชั้นดาวดึงส์ และโปรดให้ทำธงประจำกองทัพขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณในการต่อสู้กับทัพอสูร ทรงมีเทวโองการว่า ถ้าเทพผู้เข้าสงครามเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้า ก็ให้มองดูยอดธงหรือชายธงของพระองค์ หรือไม่เช่นนั้น ก็ให้มองดูชายธงของเทวราชลำดับรองลงไปชื่อปชาบดี หรือชายธงของเทวราชชื่อ วรุณ หรือชายธงของเทวราชชื่อ อีสาน ความกลัว ความหวาด ความขนพองสยองเกล้าก็จักหายไป


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล พระราชทานแก่หน่วยทหาร

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องเทวาสุรสงครามในอดีตดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาหาทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อพวกเทพที่เข้าสงครามมองดูยอดธงหรือชายธงของท้าวสักกะจอมเทพ หรือของเทวราชอีกสามองค์นั้น ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไปก็ได้ ไม่หายไปก็ได้ เพราะเหตุที่ท้าวสักกะจอมเทพเองยังมิใช่ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ยังมีความกลัว ความหวาด ความสะดุ้ง ยังต้องพ่ายหนี

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระรัตนตรัยนั้นทรงคุณวิเศษ ทรงอานุภาพ ทรงอภินิหารเกินกว่าท้าวเทพทั้งสี่นั้น เป็นดั่งธงชัยของเหล่าภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไปเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเปลี่ยวก็ดี โคนไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี หากเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าขึ้น พึงระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ เมื่อระลึกถึงอยู่ดั่งนี้ ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะเหตุที่พระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่พ่ายหนี
 
ในการสวดมนต์ เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็ม ก็สวดพระสูตรเต็ม แต่โดยทั่วไป การสวดบทธชัคคสูตรนี้ จะเลือกสวดจำเพาะปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ หรือถ้อยคำสำหรับระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้ คือ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ดังนี้


อิติปิ โส ภควา แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ ควรบูชา
สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้รู้ชอบเอง
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ
สุคโต เป็นพระสุคตผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้โลก
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาผู้สอนของเทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย
พุทฺโธ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม ดั่งนี้


สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง
อกาลิโก เป็นธรรมให้ผลไม่มีกาล เป็นของไม่มีกาลเวลา
เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมอันจะพึงเรียกร้องให้มาดูได้
โอปนยิโก เป็นธรรมอันบุคคลควรน้อมเข้ามาใส่ใจ หรือควรน้อมเข้ามาในตน
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ เป็นธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตัวดังนี้


สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือ คู่แห่งบุรุษบุคคลทั้งหลาย 4
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคลทั้งหลาย 8
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรสักการะที่พึงนำมาบูชา
ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
ทกฺขิเนยฺโย เป็นผู้ควรทักษิณาคือของทำบุญหรือควรทำบุญ
อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรอัญชลีคือควรพนมมือไหว้ คือแสดงความเคารพ
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า อานุภาพของพระธชัคคปริตรนี้ แผ่ไปทั่วอาณาเขตแสนโกฏิจักรวาล ผู้ที่ระลึกถึงพระปริตรนี้แล้ว รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งมวล อันเกิดจากยักษ์และโจรเป็นต้น มีนับไม่ถ้วน ผู้มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงพระปริตรนี้ แม้จะพลาดพลั้งตกจากที่สูง ก็ย่อมได้หลักพึ่งพิงรอดตายได้

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กฐิน.. กาลทานอันมีอานิสงส์มาก


ออกพรรษาแล้วเป็นฤดูกาลทอดกฐิน มีกำหนดหนึ่งเดือนทางจันทรคติ คือ
ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นกำหนดตายตัวทุกปี

คนไทยถือการทอดกฐินเป็นการบำเพ็ญกุศลทานครั้งสำคัญมาตั้งแต่โบราณกาล  พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังที่ปรากฏในศิลาจารึกสืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในวัดสำคัญต่าง ๆ ทุกปี  พระราชวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าประชาชนผู้มีกำลัง ก็ได้ทรงทอดและได้ทอดกฐินในวัดต่าง ๆ  วัดโดยมากไม่ตกค้างกฐิน แต่ถ้าวัดใดกฐินตกค้าง ทายกทายิกาใกล้เคียงวัดนั้นก็มักเรี่ยไรกันทอด เพื่อให้พระสงฆ์ผู้จำพรรษาในวัดได้รับกฐินตามพระวินัย


พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค
เป็นโบราณราชประเพณีของไทยมาแต่ครั้งอดีตกาล
กษัตราธิราชจะเสด็จมาบนเรือพระที่นั่ง
และมีการเห่เรือประกอบ ตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน

คำว่า กฐิน เป็นชื่อของไม้สะดึงที่วางทอดลงเพื่อขึงผ้าเย็บจีวร เหมือนอย่างไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าปัก คำว่าทอดกฐินจึงหมายถึงนำผ้าไปถวายพระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ทอดไม้สะดึงลงขึงผ้าที่ถวายนั้นเย็บทำจีวร  ผ้าที่นำไปถวายนั้น จึงหมายถึงผ้าเป็นผืนเป็นพับ ยังมิได้ทำเป็นจีวร เช่นผ้าขาว พระสงฆ์เมื่อรับผ้านั้นแล้วต้องรีบช่วยกันตัดเย็บย้อมจนถึงครอง คือ นุ่งห่มได้ในวันนั้นทีเดียว หมายความว่าต้องให้เสร็จทุกอย่างก่อนที่อรุณจะขึ้นในที่สุดของคืนวันนั้น

ธรรมดาพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันเย็บจีวรใช้เอง เป็นกิจธรรมดาในพุทธกาล เพราะไม่มีผ้าฟุ่มเฟือยอย่างในปัจจุบันนี้ และพระพุทธเจ้ามีพระพุทธประสงค์ให้พระมีผ้าใช้เพียงที่จำเป็น โดยเฉพาะคือ ผ้านุ่ง (อันตรวาสกหรือสบง) 1 ผืน ผ้าห่ม (อุตราสงค์ หรือจีวร) 1 ผืน  ผ้าซ้อนกันหนาว (สังฆาฏิ) 1 ผืน เรียกว่าไตรจีวร แปลว่า จีวร 3 ผืน เรียกสั้น ๆ ว่าไตร

ปีหนึ่ง ทรงอนุญาตให้พระภิกษุเที่ยวแสวงหาผ้ามาทำจีวรเปลี่ยนชุดเก่ากันครั้งหนึ่ง มีกำหนด 1 เดือนท้ายฤดูฝน คือกำหนดที่กล่าวมาข้างต้น เรียกว่า จีวรกาล  แปลว่า กาลเวลาทำจีวร

พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้อยู่จำพรรษาในที่ใดที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแล้ว มีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ทรงอนุญาตให้รับกฐินได้ เมื่อได้รับกฐินแล้ว กาลเวลาทำจีวรขยายออกไปได้อีก 4 เดือน ที่จริงในเวลาอื่นจาก 5 เดือนทั้งหมดนี้ก็ทำจีวรได้ แต่ในระหว่าง 5 เดือนนั้น ได้รับผ่อนวินัยบางข้อ เพื่อให้เที่ยวไปหาผ้ามาทำจีวรกันได้สะดวก แต่ผ้ากฐินนั้น ช่วยกันทำเสร็จได้ในวันเดียวนั้นเพียงผืนเดียว จึงต้องพร้อมกันยกให้แก่พระภิกษุเพียงรูปเดียว พระอาจารย์ในภายหลังได้แก้ให้รับผ้าที่ทำจีวรมาเสร็จแล้วเป็นกฐินได้ จึงมีฝ่ายที่ถือตามมติของพระอาจารย์นั้นก็มี ถือตามธรรมเนียมเดิมในพระวินัยก็มี  บางทีชวนกันทอดจุลกฐิน คือ ปลูกฝ้ายอย่างสมมุติ เก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย ทอเป็นผ้าเป็นผืนพอแล้ว ถวายแล้วตัดเย็บย้อม จนถึงครองสำเร็จในวันเดียว เป็นการโกลาหลอยู่

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
ท่านได้มีโอกาสพบและปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปี พ.ศ. 2491
เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ท่านติดตามเป็นศิษย์ปฏิบัติกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ปี พ.ศ. 2508 ท่านรับนิมนต์ชาวบ้านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล
แทนหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งไปสร้างวัดใหม่ที่ถ้ำกลองเพล
และอยู่เรื่อยมาจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงการทำบุญทอดกฐินว่า เป็นกาลทานที่มีอานิสงส์มาก แปลกจากการให้ทานสิ่งอื่นทั่วไป เพราะอานิสงส์ 5 นั้น สามารถห้ามกั้นภิกษุที่รับกฐินจากอาบัติในบางข้อ เช่น ภิกษุในวัดจะเที่ยวไปในหมู่บ้าน จะเข้าไปบ้านในเวลาวิกาลคือบ่ายแล้วไป ต้องบอกลาภิกษุอื่น ถ้าเข้าไปโดยไม่บอกลาภิกษุอื่น ท่านปรับอาบัติ แต่เมื่อได้รับกฐิน ท่านอนุญาตให้เข้าไปโดยไม่บอกลาได้ ไม่ปรับอาบัติ นี่เป็นข้อที่หนึ่งในอานิสงส์ 5

ข้อที่ 2  ภิกษุทุกรูปจะต้องรักษาผ้าครองของตัว คือ สบง จีวร สังฆาฏิ ไปสถานที่ใดข้ามคืนโดยปล่อยปละละทิ้งผ้าจะเป็นนิสสัคคีย์ เจ้าของจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ (อาบัติหมวดหนึ่ง จัดไว้ในพวกอาบัติเบาที่เปรียบด้วยลหุโทษ) จะไปค้างคืนที่อื่นต้องเอาของ 3 สิ่งนี้ติดตัวไป แต่เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านอนุญาตให้ปล่อยไว้ผืนใดผืนหนึ่ง เอาไปแต่เพียงสองผืนได้ ไม่เป็นอาบัติ

ข้อที่ 3  ภิกษุอยู่ด้วยกัน มีผู้มานิมนต์ไปฉันจังหันหรือฉันเพล สำหรับพวกที่ฉันเพล ถ้าหากคนเหล่านั้นมานิมนต์ไปฉันข้าวบ้านผม หรือฉันแกงบ้านผม อย่างนั้นอย่างนี้ โภชนาทั้ง 5 คือ ข้าวสุก นมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ สิ่งเหล่านี้ออกชื่อไม่ได้ ฉะนั้น การนิมนต์พระไปฉันจังหันก็ตาม ไปฉันเพลก็ตาม เขานิยมนิมนต์กันว่า ไปฉันจังหันบ้านผม ไปฉันเพลบ้านผม ถ้าไปออกชื่อว่าไปฉันข้าวบ้านผม ภิกษุเหล่านั้นไปฉันไม่ได้ ผิดพระวินัย เมื่อฉันลงไปแล้วเป็นอาบัติ แต่เมื่อได้รับกฐิน ออกชื่อโภชนะได้ จะไปฉันไม่ปรับอาบัติ

ข้อที่ 4  ผู้ที่ได้รับกฐิน อนุโมทนากฐิน ยังมีอานิสงส์ยืดออกไป ตั้งแต่เดือน 12 เพ็ญ จนถึงเดือน 4 เพ็ญ ในระยะนี้ สามารถเก็บจีวรที่ไม่ต้องการใช้ไว้ได้

ข้อสุดท้าย ข้อที่ 5  คือ ลาภสิ่งของที่ให้มาที่วัดนั้น ๆ จะเป็นของภิกษุสามเณรผู้จำพรรษาตลอดไตรมาสครบ 3 เดือนได้แจกปันกันใช้สอย

ที่กล่าวมาทั้งหมดคืออานิสงส์ 5 ของกฐิน


กฐินเป็นของทำยาก ไม่เหมือนทานทั่วไป เพราะเป็นกาลทาน
 
ทานทั่วไปนั้น เรามีศรัทธา มีสิ่งของเมื่อใด เราก็ทานได้ตามความปรารถนาของเรา  แต่กฐินไม่เป็นอย่างนั้น ต้องอาศัยกาล อาศัยสมัย ท่านอนุญาตให้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น คือวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นเขตกฐิน  ถ้าทำในระยะนี้ไม่ทัน ถึงเราจะมีข้าวของเงินทอง อยากจะไปทำกฐิน มันก็ทำไม่ได้ ไม่เป็นกฐิน เป็นบังสุกุล เป็นผ้าป่า เป็นสังฆทานไป  ปีหนึ่งมีเพียงเดือนเดียวเท่านั้นที่จะทำกฐินกันได้ กฐินจึงมีอานิสงส์แรงกล้ากว่าอานิสงส์ของทานเรื่องอื่น ๆ

กฐินนั้น ถึงพระจะจำพรรษาตลอดไตรมาส แต่ถ้าไม่ครบองค์ คือน้อยกว่า 5 รูป ก็ทำไม่ได้ พระครบองค์แต่ทว่าไม่มีใครทราบเรื่องจะทำกฐิน เป็นต้นว่า กะผ้า ตัดผ้า เย็บ ย้อม พินทุ อธิษฐาน กรานไม่เป็น ก็ไม่เป็นกฐิน  ให้มีพระครบแล้ว แต่ถ้าพระผู้ที่จะรับกฐินได้ไม่มีความสามารถ ไม่รู้จักการทำกฐินว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามพระวินัย ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำไม่ถูกต้องตามพระวินัย อานิสงส์ 5 ก็ไม่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ถึงแม้เรามีศรัทธา แต่หากว่าร่างกายป่วยไข้ได้ทุกข์ จะทำก็ทำไม่ได้อีก  เรามีศรัทธา แต่ไม่มีสมบัติข้าวของ อยากทำก็ทำไม่ได้ จึงเรียกว่ากฐินทำยาก ไม่ใช่ของง่าย

ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนผู้มีโอกาสนำผ้ากฐินมาทอด จึงจัดว่าเป็นผู้ทำมหากุศล ศรัทธาในจิตใจก็มี ข้าวของที่นำมาทำบุญสุนทานก็มี ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมจึงทำได้ จึงควรปลื้มใจในการกระทำบำเพ็ญของตน บุญกุศลที่ได้กระทำบำเพ็ญไปนี้ย่อมไม่สูญหายไปไหน  อานิสงส์ที่ได้รับในปัจจุบันคือความสุข ความยินดีเบิกบานใจทุกครั้งที่ได้คิดใคร่ครวญระลึกถึง  ในอนาคตต่อไป หากยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ จะต้องอาศัยบุญกุศลที่ตนทำไว้ ส่งเสียให้ได้รับความสุขความสบายในภพชาติต่าง ๆ


การเกิดของมนุษย์ เกิดขึ้นมาเพราะบุญกรรมที่ตนสะสมไว้ ไม่เช่นนั้น คนทั่วไปเกิดมาก็จะมีหน้าตา แข้งขา สติปัญญา มีสมบัติข้าวของเท่าเทียมกันหมด เพราะทุกคนเกิดมา ไม่ปรารถนาความทุกข์ยากอดอยาก ไม่ปรารถนารูปร่างที่ไม่สมประกอบ  ทุกคนล้วนต้องการความสุขความเจริญ สวยงาม ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีสมบัติพัสถานข้าวของเงินทองมาก แต่เหตุที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนาก็เพราะกรรมของแต่ละคนที่ได้สร้างเอาไว้ไม่เหมือนกัน

คนที่มีบุญกุศลเป็นทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่เกิดมาไม่มีผ้าผ่อนท่อนสไบติดมือมา ไม่มีข้าวของเงินทองติดตัวมา แต่ทว่าเติบโตมาก็แสวงหาได้  อยากสร้างบ้านใหญ่โตขนาดไหนก็ได้สมใจ จะนุ่งห่มอะไรก็มีเงินแลกเปลี่ยนมา อยากรับประทานอะไรก็ซื้อเอาตามที่ตัวต้องการ เพราะบุญกุศลเก่าก่อน ปุพเพกตปุญญตาสนับสนุนให้

ฉะนั้น เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ ควรพินิจพิจารณาศึกษาหาหนทางประกอบคุณงามความดีให้ทวีคูณขึ้น เพราะจิตใจของเรายังไม่พ้นไปจากทุกข์จากกิเลส จำเป็นต้องอาศัยบุญกุศลสนับสนุน ถึงแม้ใจจะไม่ชอบไม่ยินดี ก็ให้ฝืนทำความดีต่อไป เหมือนกับคนไข้ที่ไม่ชอบรับประทานยา แต่ก็ต้องฝืนใจดื่มกินยานั้นเพื่อให้โรคร้ายภายในกายหายไป ความดีที่ทำไว้จะอำนวยอวยชัยให้ผล ให้ความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

เรื่องกฐินนี้ พระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เล่าว่า พระอาจารย์ของท่านคือหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ชอบทอดกฐินทุกปี ปีละหลาย ๆ วัด อานิสงส์ของกฐินตามที่หลวงพ่อปานเทศน์ให้ฟังนั้น ให้ผลทั้งชาติปัจจุบันและชาติต่อ ๆ ไป คนที่ทอดกฐินให้สังเกตตัวเองดู ถ้าได้ทอดแล้ว 2-3 ครั้ง ความเป็นอยู่จะคล่องตัวขึ้น ถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็มีโชคดีมากขึ้น หาลาภสักการะคล่องขึ้น  ท่านบอกว่านี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของอานิสงส์  อานิสงส์ของการทอดกฐินนั้น สามารถจะบันดาลให้คนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จผล


ในอติเทวราชชาดก ได้เล่าเรื่องพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิ ทรงถวายคู่แห่งผ้าเพื่อกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าเป็นประธาน ทรงตั้งพระราชปณิธานความปรารถนาขึ้นว่า ด้วยอำนาจกฐินทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเถิด ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูแล้วในกาลใด จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏในกาลนั้น  ครั้นจบคำอธิษฐาน พระโกณฑัญญพุทธเจ้าทรงพิจารณาอนาคตกาลด้วยพุทธจักษุญาณ ทราบว่าความปรารถนาของบรมกษัตริย์องค์นี้จักสำเร็จสมพระประสงค์ จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า ในที่สุดแห่งสามอสงไขยแสนกัลป์ นับแต่กัลป์นั้น พระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดินี้ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า "โคดม" คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้

พระกัสสปพุทธเจ้า
จิตรกรรมฝาผนัง วัดหอเชียง หลวงพระบาง

ในสมัยพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า บุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเป็นคนเข็ญใจไร้ที่พึ่ง ไปอาศัยเศรษฐีนาม "สิริธรรม" ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้ มีหน้าที่ดูแลรักษาหญ้า จึงได้ชื่อว่า ติณบาล วันหนึ่ง เขาคิดว่า ตัวเราที่เป็นคนยากจนเช่นนี้ เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติก่อนเลย มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย  เมื่อคิดดังนี้แล้ว เขาได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งสำหรับตนเองรับประทาน ด้วยกุศลผลบุญนั้น ทำให้ท่านเศรษฐีเกิดความสงสาร ให้อาหารเพิ่มอีก 2 ส่วน เขาได้แบ่งอาหารออกเป็น 3 ส่วน ถวายแก่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้แก่คนจนทั้งหลาย ส่วนที่สามไว้บริโภคเอง ทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน

ต่อมา ในวันออกพรรษา เหล่าชนผู้มีศรัทธาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีก็เตรียมจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกัน เมื่อติณบาลได้ทราบก็เกิดความเลื่อมใส เข้าไปหาท่านเศรษฐีเพื่อถามอานิสงส์ของกฐิน ท่านเศรษฐีตอบว่า กฐินมีอานิสงส์มากมายหนักหนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสยกย่องสรรเสริฐว่าเป็นทานอันประเสริฐ

เมื่อติณบาลทราบดังนี้แล้ว ก็มีความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก แสดงความประสงค์ที่จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วย จึงกลับไปยังที่อยู่ของตน ครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็หาสิ่งที่จะร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐีไม่ได้  ในที่สุดเขาได้เปลื้องผ้านุ่งของตนออกพับให้ดี แล้วเย็บใบไม้นุ่งแทน เอาผ้านุ่งนั้นไปเร่ขายในตลาด  ในที่สุด เขาได้ขายผ้านั้นไปแล้วนำเงินไปมอบให้ท่านเศรษฐีซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร

กาลครั้งนั้นได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า และล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าพาราณสี จึงรับสั่งให้นำติณบาลเข้าเฝ้า แต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้าเพราะอาย  เมื่อได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอดแล้ว ทรงให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่เขา ทั้งยังได้พระราชทานบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมาก แล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า ท่านติณบาลเศรษฐี เมื่อเขาดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ตายไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติในวิมานแก้ว มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ส่วนเศรษฐีสิริธรรมครั้นตายจากโลกมนุษย์แล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นเดียวกันกับท่านติณบาลเศรษฐี


ในนรชีวกฐินทานชาดก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญญาสชาดก ได้เล่าเรื่องพระพุทธองค์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นนายนรชีวะ อยู่ในครอบครัวยากจน แต่เป็นลูกกตัญญูเลี้ยงดูมารดา ได้ชักชวนเศรษฐีให้มีศรัทธา ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระปทุมุตรพุทธเจ้าเป็นประธาน  เศรษฐีมีความยินดี ได้จัดกฐินไปถวายพระภิกษุสงฆ์ และได้ทูลถามพระปทุมุตรพุทธเจ้าถึงอานิสงส์แห่งการถวายผ้ากฐิน

พระปทุมุตรพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเหล่าใดปรารถนาหาความสุขนั้น ได้ถวายกฐินจีวรไว้ บุคคลเหล่านั้นจะพ้นจากความทุกข์ เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมจะถึงความสุขในหมู่เทวดาและมนุษย์ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น

เมื่อเศรษฐีได้ฟังอานิสงส์แห่งกฐินทานเช่นนั้น ก็มีใจเบิกบานยิ่งนัก ส่วนนายนรชีวะผู้เป็นพระโพธิสัตว์ ได้หมอบกราบแทบพระบาทของพระปทุมุตรพุทธเจ้า ตั้งวาจาธิษฐานว่า ด้วยกุศลผลบุญที่ข้าพระองค์ได้ชักนำเศรษฐีผู้มีทรัพย์ให้ถวายผ้ากฐินนี้ ขอให้ข้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในกาลภายหน้า แม้ข้าพระองค์ยังไปไม่ถึงความเป็นพระพุทธเจ้าตราบใด ชื่อว่าความเข็ญใจอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย  พระปทุมุตรพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า ด้วยผลแห่งกฐินทานนั้น นายนรชีวะจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนีในอนาคตกาล ก็คือพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้


อ้างอิง  -  "หลักพระพุทธศาสนา", สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

อุทิศส่วนบุญ.. อย่างไรจึงสำเร็จผล


พุทธศาสนิกชน เมื่อทำบุญอันใดแล้วก็มักจะอุทิศส่วนบุญนั้นแก่ท่านผู้มีพระคุณ หรือแก่คนอื่นสัตว์อื่น เป็นการแสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจกว้าง หวังประโยชน์สุขต่อผู้อื่น เมื่อตนได้รับบุญแล้ว ก็หวังจะให้ผู้อื่นได้รับบุญนั้นด้วย ทั้งยังมีผลทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มขึ้นไปอีก

โดยปรกติ การทำบุญให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาแล้วไม่ได้อุทิศบุญนั้นแก่ผู้ใด บุญนั้นก็บังเกิดกับผู้ที่กระทำเฉพาะในเรื่องที่ตนได้กระทำไปเท่านั้น เช่นในเรื่องการบริจาคทาน ก็บังเกิดเป็นทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน) ในเรื่องของการรักษาศีล ก็บังเกิดเป็นสีลมัย (บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล) ในเรื่องของภาวนา ก็บังเกิดเป็นภาวนามัย (บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา) เป็นต้น  แต่หากผู้นั้นอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้อื่นด้วย จะมีผลทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มขึ้นไปอีกประการหนึ่ง คือ ปัตติทานมัย หรือบุญอันเกิดจากการให้ส่วนบุญ


การให้ส่วนบุญนั้น สามารถให้ได้ทั้งแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตัวอย่างเช่น เราทำบุญมาสักอย่างหนึ่ง จะเกิดจากทาน จากศีล หรือจากภาวนาก็ตาม เมื่อเราพบพ่อแม่หรือญาติมิตร เราก็บอกให้เขาเหล่านั้นจงได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้นด้วย ผู้รับจะอนุโมทนาหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ให้ย่อมได้บุญแล้ว เรียกว่าปัตติทานมัย คือบุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ  และหากผู้รับอนุโมทนา ผู้รับก็ได้รับบุญข้อปัตตานุโมทนามัย คือบุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ

การให้ส่วนบุญแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะให้ต่อหน้าก็ได้ จะให้ลับหลังก็ได้ เช่น ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ชาวไทยจำนวนมากรวมทั้งพระสงฆ์ มักจะบำเพ็ญกุศลพิเศษโดยเสด็จพระราชกุศล มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แล้วถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน อย่างนี้ก็เรียกว่าปัตติทานมัยเช่นกัน

สำหรับการอนุโมทนาส่วนบุญนั้น แม้ไม่มีใครบอกให้ แต่เมื่อเราทราบว่าใครทำบุญอะไรที่ไหน หรือได้ยินเขาประกาศทางวิทยุหรือเครื่องขยายเสียง หรือทราบข่าวว่าคนนั้นคนนี้ทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้ ก็พลอยยินดีอนุโมทนาต่อส่วนบุญของเขา เราก็ได้บุญข้อปัตตานุโมทนามัยทุกครั้งที่อนุโมทนา เป็นการทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากอันใดเลย

กล่าวถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น เขาจะตายไปนานสักเท่าไรแล้วก็ได้ จะอุทิศเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี หรือภาษาอื่นใดก็ได้ จะมีน้ำกรวดหรือไม่มีน้ำกรวดก็ได้ มีกระดูกและชื่อของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาล กรณีเปรตผู้เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์มิได้ทรงรู้จักชื่อญาติเหล่านั้นแม้แต่คนเดียว พระองค์เพียงอ้างในคำอุทิศว่าเป็นญาติเท่านั้นก็ถึงได้ ดังคำบาลีที่พระองค์อุทิศส่วนกุศลแก่พระญาติหลังจากที่ทรงบริจาคทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขว่า

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า
สุขิตา โหนตุ ญาตะโย 
ขอญาติทั้งหลายจงถึงความสุข

การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมานาน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อตายไป วิญญาณจะไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ทางนี้ก็เป็นห่วง เกรงว่าจะไปเกิดในภพชาติที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้


เกี่ยวกับการกรวดน้ำ ซึ่งนิยมรินน้ำผ่านนิ้วมือลงสู่ภาชนะรองรับ เข้าใจว่าจะติดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของพราหมณ์ก็เป็นได้ การกรวดน้ำของพราหมณ์นั้น เขาจะลงไปในแม่น้ำ เอามือกอบน้ำ และให้น้ำไหลออกจากมือ พร้อมทั้งอุทิศเพื่อให้ญาติผู้ตายไปแล้วจะได้มีน้ำบริโภค จะได้ไม่กระหายน้ำ  แต่ในทางพุทธศาสนา เราไม่ได้มุ่งหวังจะให้น้ำที่เทลงไปนั้น ไปเป็นน้ำสำหรับญาติผู้ตายไปแล้วจะได้บริโภค แต่เราตั้งจิตตั้งใจอุทิศส่วนกุศลไปให้ในขณะนั้นต่างหาก เพราะฉะนั้น จะใช้น้ำกรวด หรือไม่ใช้น้ำกรวดก็ตาม ไม่สำคัญ สำคัญที่ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้

ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่าชาณุสโสณิ ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พวกพราหมณ์พากันให้ทาน ทำศราทธหรือว่าศราทธพรต (วัตรหรือการปฏิบัติด้วยศรัทธาความเชื่อ) ด้วยตั้งเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้ว ขอญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้ว จงได้บริโภคทานนี้ ทานที่ทำนั้นจะสำเร็จหรือไม่ และญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้วจะได้บริโภคหรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คนที่ทำอกุศลกรรมบถ 10 ไปเกิดเป็นเนรยิกะคือสัตว์นรกก็ดี ไปเกิดเป็นกำเนิดดิรัจฉานก็ดี หรือว่าคนที่เว้นจากอกุศลกรรมบถ 10 ไปเกิดร่วมหมู่กับมนุษย์ก็ดี กับเทพก็ดี ก็บริโภคอาหารที่เป็นของจำพวกที่ไปเกิดนั้น ทานที่ทำอุทิศไปให้ไม่สำเร็จ

แต่ว่าคนที่ทำอกุศลกรรมบถ 10 ไปเกิดในปิตติวิสัยคือในกำเนิดเปรต เป็นภพของผู้ทำบาปไปเกิดจำพวกหนึ่ง ที่มีร่างกายพิกลพิการต่าง ๆ  จำพวกปิตติวิสัยนี้ก็เป็นอยู่ด้วยอาหารสำหรับจำพวกนั้น และเป็นอยู่ด้วยอาหารที่ญาติมิตรทำบุญอุทิศไปให้ จำพวกนี้เท่านั้นจึงเป็นฐานะที่จะได้รับผล

สรุปลงแล้ว การอุทิศส่วนบุญที่จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ผู้ที่จะรับส่วนบุญที่ญาติมิตรอุทิศให้ จะต้องอยู่ในกำเนิดเปรตจำพวก ปรทัตตูปชีวีเปรต คือเปรตที่อาศัยทานที่คนอื่นให้ และบุญที่จะอุทิศต้องเกิดจากทานเท่านั้น

ส่วนการที่เปรตจะได้รับส่วนบุญที่ญาติมิตรอุทิศให้ ก็ต้องประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการคือ

1.  ทายก ทายิกา คือผู้ให้ ผู้บริจาค จะต้องตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้

2.  ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ไปเกิดในปิตติวิสัย คือเกิดในกำเนิดเปรตจำพวก ปรทัตตูปชีวีเปรต ดังกล่าวแล้ว และได้ทราบ ได้อนุโมทนา ยินดีในการบำเพ็ญกุศลของญาติในโลกนี้

การที่เปรตสามารถรับส่วนบุญที่ญาติมิตรอุทิศไปให้ ก็เพราะเปรตได้ทำบุญด้วยตนเองในข้อ "ปัตตานุโมทนา" คือชื่นชมในบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ บางครั้งถ้ากรรมของเปรตเบาบาง อนุโมทนาแล้วก็พ้นจากสภาพเปรต กลายเป็นเทวดาทันที อย่างเช่นกรณีเปรตพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่ออนุโมทนาส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศให้ ก็พ้นจากภาวะแห่งเปรตอันตนได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานาน ได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา หลังจากที่ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว


แต่ถ้าหากเปรตไม่ทราบ หรือทราบแต่ไม่ชื่นชมอนุโมทนา บุญก็ไม่เกิดแก่เปรต แม้จะหยิบยื่นให้ก็ไม่ได้รับผลของบุญนั้น เปรตก็ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป การอนุโมทนานั้น เปรตต้องทำเอง ไม่มีใครทำให้เปรตได้ ญาติมิตรในโลกมนุษย์นี้ ทำได้แต่เพียงบุญในข้อ "ปัตติทาน"

การอนุโมทนาของเปรตกับเทวดานั้นต่างกัน สำหรับเทวดานั้น แม้ท่านจะมีความสุข มีอาหารทิพย์ แต่ถ้าท่านทราบว่ามีผู้คนในโลกมนุษย์นี้ทำบุญแล้วอุทิศให้ท่าน ท่านก็ยินดีรับ ชื่นชมอนุโมทนาด้วย บุญในข้อปัตตานุโมทนาก็เกิดแก่ท่าน

แต่สำหรับเปรตนั้น เมื่อเปรตอนุโมทนาแล้ว นอกจากบุญจะเกิดแก่เปรตแล้ว เปรตยังได้รับอาหารอันสมควรแก่ฐานะของเปรตด้วย ทำให้เปรตอิ่มหนำสำราญ พ้นจากความหิวโหย  หรือหากเราถวายผ้า เปรตก็จะได้รับผ้าทิพย์ปกปิดร่างกาย ทำให้พ้นจากสภาพเปลือยกายได้  หากเราถวายน้ำแล้วอุทิศให้ เปรตก็ได้ดื่มน้ำทิพย์พ้นจากความหิวกระหายด้วยอำนาจของการอนุโมทนา


อย่างไรก็ตาม พระที่ท่านฉันอาหารของเรานั้น ท่านมิได้เป็นบุรุษไปรษณีย์ นำบุญของเราไปส่งให้แก่เปรต แต่ท่านเป็นเนื้อนาที่เราจะหว่านบุญลงไป คือเป็นปัจจัยให้เราเกิดบุญในข้อทานหรือการให้ เมื่อเราอุทิศส่วนบุญให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าเขาไปเกิดเป็นเปรตและทราบว่าเราอุทิศบุญไปให้เขา หากเขาชื่นชมอนุโมทนา บุญและวัตถุทานที่เราอุทิศให้มีข้าว มีน้ำ เป็นต้น ก็จะเกิดแก่เปรตนั้นตามสมควรแก่ฐานะและภพภูมิของเขา ไม่ใช่เราถวายแกงส้ม เปรตก็จะได้กินแกงส้ม เพราะแกงส้มเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่อาหารของเปรต

3.  จะต้องถึงพร้อมด้วยทักขิเณยยบุคคล คือบุคคลผู้ควรทักษิณา หมายถึงพระภิกษุสงฆ์  แต่ว่าการบำเพ็ญทาน แม้ในบุคคลหรือในส่วนอื่น ก็ถือว่าเป็นบุญ เมื่อเป็นบุญแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

พระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านบวชอยู่วัดบางนมโค ขณะเจริญพระกรรมฐาน มีผีตัวหนึ่งผอมโซมานั่งอยู่ข้างหน้า หลวงพ่อท่านก็เลยสวด "อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา (หมายถึงอุปัชฌาย์ แต่อุปัชฌาย์ของหลวงพ่อท่านยังไม่ตาย) คุณุตะรา อาจะริยูปะการา (ให้คู่สวดอีก คู่สวดก็ยังไม่ตาย)... ว่าไปเรื่อย ยังไม่ทันจะจบ เหลืออีกครึ่งบท ก็เห็นคนเดินมาสองคน เอาโซ่คล้องคอลากผีที่นั่งอยู่ข้างหน้าไปเลย ผลปรากฏว่ายังไม่ทันได้ให้ผีเลย

พอเช้าวันรุ่งขึ้น บิณฑบาตกลับมา ฉันเสร็จล้างบาตรเช็ดเรียบร้อย  ปกติฉันเสร็จ หลวงพ่อปานท่านจะยถาฯ แต่วันนี้ท่านไม่ยถาฯ ท่านนั่งเฉยมองหน้าถามว่า

"ไงพ่อคุณ พ่ออิมินาคล่อง สวดอย่างนั้นผีจะได้กินเหรอ"

ท่านให้แปลอิมินา แปลว่าอย่างไรบ้าง อุปัชฌาย์ก็ยังไม่ตาย คู่สวดญัตติคือท่านก็ยังไม่ตาย มาให้ท่าน ผีที่อยู่ข้างหน้าทำไมไม่ให้  ท่านบอกว่า ทีหลังถ้าผีมา ผีมันอยู่นานไม่ได้ บางทีหลบหน้าเขามานิดหนึ่ง ถ้ามานั่งใกล้เรา ทุกขเวทนาอย่างเปรตนี่ ไฟไหม้ทั้งตัว หอกดาบฟัน เวลาที่เราเจริญพระกรรมฐานอยู่ บุญของเราสามารถช่วยให้เขามีความสุขได้ เพราะถ้ามานั่งข้างหน้าใกล้ ๆ เรานี่ ไฟจะดับ หอกดาบจะหลุดไป แต่ว่าอยู่นานไม่ได้ ต้องพูดให้เร็วเพราะเขาจะต้องไปรับโทษ เวลาอุทิศส่วนกุศลให้ว่าเป็นภาษาไทยชัด ๆ และให้สั้นที่สุด

ให้บอกว่า "บุญใดที่ฉันบำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผลบุญทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์ความสุขแก่ฉันเพียงใด ขอเธอจงโมทนาผลบุญนั้นและรับผลเช่นเดียวกับฉัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"

วันหลังผีตัวใหม่มา ตัวก่อนที่ถูกลากคอไปมาไม่ได้แล้ว ผีตัวใหม่ผอมก๋องเอาทนายมาด้วย ยืนอยู่ข้างหลังนางฟ้าที่มีทรวดทรงสวย เป็นเทวดาใหญ่มาก บอกว่า

"ท่านนั่งอยู่นี่ไงล่ะ จะให้ท่านช่วยอะไรก็บอกท่านสิ"

ผีผอมก๋องพูดไม่ออกเพราะกรรมมันปิดปาก อาตมานึกขึ้นมาได้ ถ้าขืนให้อยู่นานเดี๋ยวโซ่คล้องคอลากไปอีก จึงอุทิศส่วนกุศลให้ตามที่หลวงพ่อปานสอน บอกให้ผีตั้งใจโมทนาตาม  พอว่าจบ ผีผอมก๋องก็ก้มลงกราบ กราบไปครั้งแรกลุกขึ้นมาก็ผอมตามเดิม กราบครั้งที่สองลุกขึ้นมาก็ผอมตามเดิม แต่พอกราบครั้งที่สามลุกขึ้นมา คราวนี้ชฎาแพรวพราวเช้งวับไปเลย..."

หลวงพ่อฤาษีลิงดำท่านสอนอีกว่า การอุทิศส่วนกุศลแก่บุคคลต่าง ๆ ที่ตายไปแล้ว ถ้านึกได้ออกชื่อเขาก็ดี เพราะถ้ากรรมหนา แต่เราออกชื่อเจาะจง เขาก็ได้รับเลย แต่ถ้าหากนึกชื่อไม่ออก ก็ว่ารวม ๆ ไปว่า "ญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี"


หลวงพ่อท่านเล่าว่า มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านไปเทศน์ด้วยกัน 3 รูป ทายกนำอุทิศส่วนกุศลออกชื่อคนตายกับบรรดาญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ปรากฏว่าบรรดาผีทั้งหลายก็เข้ามาเป็นหมื่นล้อมรอบศาลา ผีที่เป็นญาติก็โมทนาแล้วผิวพรรณดีขึ้น พวกที่มิใช่ญาติก็เดินร้องไห้กลับไป พระรูปหนึ่งที่ไปด้วยกันจึงบอกว่า ญาติโยมที่นำอุทิศส่วนกุศล อย่าให้ใจแคบเกินไปนัก อย่าลืมว่าการทำบุญแต่ละคราว พวกปรทัตตูปชีวีเปรต พวกสัมภเวสีก็ดี จะมายืนล้อมรอบคอยอนุโมทนา แต่ถ้าเราให้แก่ญาติ ญาติก็จะได้ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็จะไม่ได้ ฉะนั้นควรจะให้ทั้งหมด ทั้งญาติและไม่ใช่ญาติ

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงตรัสสอนไว้เช่นกันว่า การทำบุญทำกุศล แม้จะไม่ปรารถนาให้เกิดผลแก่ตนเองโดยตรง ผลก็ย่อมเกิดแน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้น ในการทำบุญทำกุศลทุกครั้ง จึงพึงทำใจให้กว้าง เอื้ออาทรไปถึงผู้อื่นทั้งนั้น ที่แม้ว่าจะอยู่ต่างภพภูมิกัน ก็ตั้งใจอุทิศให้อย่างจริงใจ 

ให้ด้วยสำนึกในความผิดพลาดก้ำเกินที่ตนอาจได้กระทำแล้วต่อใคร ๆ ทั้งนั้น  ให้ด้วยสำนึกในพระคุณทั้งหลายที่ได้รับจากผู้มีพระคุณทั้งหลาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ด้วยเราท่านทั้งหลาย ต่างก็มีภพชาติมานับไม่ถ้วนในอดีต ต่างก็ทำกรรมทั้งดีและไม่ดีไว้นับไม่ถ้วนในภพชาติทั้งหลายนั้น เจ้ากรรมนายเวรที่ได้ไปก้ำเกินเบียดเบียนทำร้ายไว้ก็ย่อมมีไม่น้อย ทำนองเดียวกับผู้เป็นมารดา บิดา บุพการี ผู้มีพระคุณ ก็ต้องมีมากมายเช่นกัน ชาตินี้แม้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเป็นใครต่อใครบ้าง แต่ก็พึงยอมรับว่ามีอยู่ ทั้งในภพภูมิที่พ้นความรู้เห็นของผู้ไม่มีความสามารถ และทั้งที่อยู่ในภพภูมิเดียวกับเราทั้งหลายนี้ด้วย

กลับมาที่ "ชาณุสโสณิสูตร"...  ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้ตรัสถามพระพุทธเจ้าต่อไปว่า ถ้าญาติสาโลหิตที่อุทิศให้นั้น ไม่ไปเกิดในปิตติวิสัย (กำเนิดเปรต) ใครจะได้รับผล

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จากนั้นก็จะได้รับผล เพราะว่าที่จะว่างจากญาติสาโลหิตของใครเลยนั้นเป็นอันไม่มี (พึงทราบว่า สังสารวัฏนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ สังสารวัฏอันยาวนานนี้ คนที่ไม่เคยเป็นมารดาบิดา บุตรธิดา พี่ชายพี่หญิง น้องชายน้องหญิง และญาติสาโลหิตมิตรสหาย เป็นไม่มี)

ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า เมื่อไปเกิดในอฐานะ คือในกำเนิดที่จะไม่ได้รับผล จะมีข้อปริกัปอันใดบ้างที่เขาจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ผู้บำเพ็ญทานนั้น ก็จะได้รับผลของทานที่เขาทำไว้เอง สรุปว่า ทานที่ได้บำเพ็ญ อย่างไรเสีย ก็จะไม่ไร้ผล 

ผลที่ได้รับในปัจจุบันคือ ผู้บำเพ็ญทานได้แสดงญาติธรรมให้เป็นที่ปรากฏ ว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที เป็นผู้ให้ความเคารพนับถือต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลาย นับว่าได้บำเพ็ญบุญไม่น้อย  และแม้ผู้บำเพ็ญทานได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว บุญนั้นก็จะคอยติดตามอุปถัมภ์ค้ำจุน หากไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ไม่ใคร่จะอดอยาก มีน้ำ มีข้าว มีอาหารบริบูรณ์ หากไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ ก็จะไม่ขาดแคลน มีสิ่งที่ต้องการบริบูรณ์ ซึ่งเป็นผลแห่งการบริจาคทานที่เขาทำไว้นั้นเอง

คนที่มีบุญกุศลเป็นทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่เกิดมาไม่มีอะไรติดมือมา แต่ทว่าเติบโตมาก็แสวงหาได้เพราะบุญกุศลเก่าก่อน บุพเพกตปุญญตาสนับสนุนให้ อยากสร้างบ้านใหญ่โตขนาดไหนก็ได้สมใจปรารถนา จะนุ่งห่มอะไรก็มีเงินแลกเปลี่ยนมา อยากรับประทานอะไรก็ซื้อเอาตามที่ตัวต้องการ 

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้กล่าวเตือนสติว่า การทำบุญให้ผู้ตายนี้ ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ แต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำ นับว่าเป็นความดีของผู้นั้นอย่างยิ่ง ท่านเปรียบไว้ สมมุติว่าบุญที่ทำลงไปนั้นแบ่งออกเป็น 16 ส่วน แล้วเอาส่วนที่ 16 นั้นมาแบ่งอีก 16 ส่วน ผู้ตายไปจะได้รับเพียง 1 ส่วน เท่านั้น ฟังดูแล้วน่าใจหาย เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ มีสิ่งใดควรจะทำก็ให้รีบทำเสีย ตายไปแล้ว เขาทำบุญไปให้ไม่ทราบว่าจะได้รับหรือไม่ ถึงแม้ได้รับก็น้อยเหลือเกิน


ขอขอบคุณ   ท่านอาจารย์ภวศร จารุจินดา ที่เอื้อเฟื้อภาพวาดเป็นวิทยาทาน