วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กฐิน.. กาลทานอันมีอานิสงส์มาก


ออกพรรษาแล้วเป็นฤดูกาลทอดกฐิน มีกำหนดหนึ่งเดือนทางจันทรคติ คือ
ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นกำหนดตายตัวทุกปี

คนไทยถือการทอดกฐินเป็นการบำเพ็ญกุศลทานครั้งสำคัญมาตั้งแต่โบราณกาล  พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังที่ปรากฏในศิลาจารึกสืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในวัดสำคัญต่าง ๆ ทุกปี  พระราชวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าประชาชนผู้มีกำลัง ก็ได้ทรงทอดและได้ทอดกฐินในวัดต่าง ๆ  วัดโดยมากไม่ตกค้างกฐิน แต่ถ้าวัดใดกฐินตกค้าง ทายกทายิกาใกล้เคียงวัดนั้นก็มักเรี่ยไรกันทอด เพื่อให้พระสงฆ์ผู้จำพรรษาในวัดได้รับกฐินตามพระวินัย


พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค
เป็นโบราณราชประเพณีของไทยมาแต่ครั้งอดีตกาล
กษัตราธิราชจะเสด็จมาบนเรือพระที่นั่ง
และมีการเห่เรือประกอบ ตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน

คำว่า กฐิน เป็นชื่อของไม้สะดึงที่วางทอดลงเพื่อขึงผ้าเย็บจีวร เหมือนอย่างไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าปัก คำว่าทอดกฐินจึงหมายถึงนำผ้าไปถวายพระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ทอดไม้สะดึงลงขึงผ้าที่ถวายนั้นเย็บทำจีวร  ผ้าที่นำไปถวายนั้น จึงหมายถึงผ้าเป็นผืนเป็นพับ ยังมิได้ทำเป็นจีวร เช่นผ้าขาว พระสงฆ์เมื่อรับผ้านั้นแล้วต้องรีบช่วยกันตัดเย็บย้อมจนถึงครอง คือ นุ่งห่มได้ในวันนั้นทีเดียว หมายความว่าต้องให้เสร็จทุกอย่างก่อนที่อรุณจะขึ้นในที่สุดของคืนวันนั้น

ธรรมดาพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันเย็บจีวรใช้เอง เป็นกิจธรรมดาในพุทธกาล เพราะไม่มีผ้าฟุ่มเฟือยอย่างในปัจจุบันนี้ และพระพุทธเจ้ามีพระพุทธประสงค์ให้พระมีผ้าใช้เพียงที่จำเป็น โดยเฉพาะคือ ผ้านุ่ง (อันตรวาสกหรือสบง) 1 ผืน ผ้าห่ม (อุตราสงค์ หรือจีวร) 1 ผืน  ผ้าซ้อนกันหนาว (สังฆาฏิ) 1 ผืน เรียกว่าไตรจีวร แปลว่า จีวร 3 ผืน เรียกสั้น ๆ ว่าไตร

ปีหนึ่ง ทรงอนุญาตให้พระภิกษุเที่ยวแสวงหาผ้ามาทำจีวรเปลี่ยนชุดเก่ากันครั้งหนึ่ง มีกำหนด 1 เดือนท้ายฤดูฝน คือกำหนดที่กล่าวมาข้างต้น เรียกว่า จีวรกาล  แปลว่า กาลเวลาทำจีวร

พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้อยู่จำพรรษาในที่ใดที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแล้ว มีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ทรงอนุญาตให้รับกฐินได้ เมื่อได้รับกฐินแล้ว กาลเวลาทำจีวรขยายออกไปได้อีก 4 เดือน ที่จริงในเวลาอื่นจาก 5 เดือนทั้งหมดนี้ก็ทำจีวรได้ แต่ในระหว่าง 5 เดือนนั้น ได้รับผ่อนวินัยบางข้อ เพื่อให้เที่ยวไปหาผ้ามาทำจีวรกันได้สะดวก แต่ผ้ากฐินนั้น ช่วยกันทำเสร็จได้ในวันเดียวนั้นเพียงผืนเดียว จึงต้องพร้อมกันยกให้แก่พระภิกษุเพียงรูปเดียว พระอาจารย์ในภายหลังได้แก้ให้รับผ้าที่ทำจีวรมาเสร็จแล้วเป็นกฐินได้ จึงมีฝ่ายที่ถือตามมติของพระอาจารย์นั้นก็มี ถือตามธรรมเนียมเดิมในพระวินัยก็มี  บางทีชวนกันทอดจุลกฐิน คือ ปลูกฝ้ายอย่างสมมุติ เก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย ทอเป็นผ้าเป็นผืนพอแล้ว ถวายแล้วตัดเย็บย้อม จนถึงครองสำเร็จในวันเดียว เป็นการโกลาหลอยู่

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
ท่านได้มีโอกาสพบและปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปี พ.ศ. 2491
เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ท่านติดตามเป็นศิษย์ปฏิบัติกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ปี พ.ศ. 2508 ท่านรับนิมนต์ชาวบ้านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล
แทนหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งไปสร้างวัดใหม่ที่ถ้ำกลองเพล
และอยู่เรื่อยมาจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงการทำบุญทอดกฐินว่า เป็นกาลทานที่มีอานิสงส์มาก แปลกจากการให้ทานสิ่งอื่นทั่วไป เพราะอานิสงส์ 5 นั้น สามารถห้ามกั้นภิกษุที่รับกฐินจากอาบัติในบางข้อ เช่น ภิกษุในวัดจะเที่ยวไปในหมู่บ้าน จะเข้าไปบ้านในเวลาวิกาลคือบ่ายแล้วไป ต้องบอกลาภิกษุอื่น ถ้าเข้าไปโดยไม่บอกลาภิกษุอื่น ท่านปรับอาบัติ แต่เมื่อได้รับกฐิน ท่านอนุญาตให้เข้าไปโดยไม่บอกลาได้ ไม่ปรับอาบัติ นี่เป็นข้อที่หนึ่งในอานิสงส์ 5

ข้อที่ 2  ภิกษุทุกรูปจะต้องรักษาผ้าครองของตัว คือ สบง จีวร สังฆาฏิ ไปสถานที่ใดข้ามคืนโดยปล่อยปละละทิ้งผ้าจะเป็นนิสสัคคีย์ เจ้าของจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ (อาบัติหมวดหนึ่ง จัดไว้ในพวกอาบัติเบาที่เปรียบด้วยลหุโทษ) จะไปค้างคืนที่อื่นต้องเอาของ 3 สิ่งนี้ติดตัวไป แต่เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านอนุญาตให้ปล่อยไว้ผืนใดผืนหนึ่ง เอาไปแต่เพียงสองผืนได้ ไม่เป็นอาบัติ

ข้อที่ 3  ภิกษุอยู่ด้วยกัน มีผู้มานิมนต์ไปฉันจังหันหรือฉันเพล สำหรับพวกที่ฉันเพล ถ้าหากคนเหล่านั้นมานิมนต์ไปฉันข้าวบ้านผม หรือฉันแกงบ้านผม อย่างนั้นอย่างนี้ โภชนาทั้ง 5 คือ ข้าวสุก นมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ สิ่งเหล่านี้ออกชื่อไม่ได้ ฉะนั้น การนิมนต์พระไปฉันจังหันก็ตาม ไปฉันเพลก็ตาม เขานิยมนิมนต์กันว่า ไปฉันจังหันบ้านผม ไปฉันเพลบ้านผม ถ้าไปออกชื่อว่าไปฉันข้าวบ้านผม ภิกษุเหล่านั้นไปฉันไม่ได้ ผิดพระวินัย เมื่อฉันลงไปแล้วเป็นอาบัติ แต่เมื่อได้รับกฐิน ออกชื่อโภชนะได้ จะไปฉันไม่ปรับอาบัติ

ข้อที่ 4  ผู้ที่ได้รับกฐิน อนุโมทนากฐิน ยังมีอานิสงส์ยืดออกไป ตั้งแต่เดือน 12 เพ็ญ จนถึงเดือน 4 เพ็ญ ในระยะนี้ สามารถเก็บจีวรที่ไม่ต้องการใช้ไว้ได้

ข้อสุดท้าย ข้อที่ 5  คือ ลาภสิ่งของที่ให้มาที่วัดนั้น ๆ จะเป็นของภิกษุสามเณรผู้จำพรรษาตลอดไตรมาสครบ 3 เดือนได้แจกปันกันใช้สอย

ที่กล่าวมาทั้งหมดคืออานิสงส์ 5 ของกฐิน


กฐินเป็นของทำยาก ไม่เหมือนทานทั่วไป เพราะเป็นกาลทาน
 
ทานทั่วไปนั้น เรามีศรัทธา มีสิ่งของเมื่อใด เราก็ทานได้ตามความปรารถนาของเรา  แต่กฐินไม่เป็นอย่างนั้น ต้องอาศัยกาล อาศัยสมัย ท่านอนุญาตให้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น คือวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นเขตกฐิน  ถ้าทำในระยะนี้ไม่ทัน ถึงเราจะมีข้าวของเงินทอง อยากจะไปทำกฐิน มันก็ทำไม่ได้ ไม่เป็นกฐิน เป็นบังสุกุล เป็นผ้าป่า เป็นสังฆทานไป  ปีหนึ่งมีเพียงเดือนเดียวเท่านั้นที่จะทำกฐินกันได้ กฐินจึงมีอานิสงส์แรงกล้ากว่าอานิสงส์ของทานเรื่องอื่น ๆ

กฐินนั้น ถึงพระจะจำพรรษาตลอดไตรมาส แต่ถ้าไม่ครบองค์ คือน้อยกว่า 5 รูป ก็ทำไม่ได้ พระครบองค์แต่ทว่าไม่มีใครทราบเรื่องจะทำกฐิน เป็นต้นว่า กะผ้า ตัดผ้า เย็บ ย้อม พินทุ อธิษฐาน กรานไม่เป็น ก็ไม่เป็นกฐิน  ให้มีพระครบแล้ว แต่ถ้าพระผู้ที่จะรับกฐินได้ไม่มีความสามารถ ไม่รู้จักการทำกฐินว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามพระวินัย ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำไม่ถูกต้องตามพระวินัย อานิสงส์ 5 ก็ไม่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ถึงแม้เรามีศรัทธา แต่หากว่าร่างกายป่วยไข้ได้ทุกข์ จะทำก็ทำไม่ได้อีก  เรามีศรัทธา แต่ไม่มีสมบัติข้าวของ อยากทำก็ทำไม่ได้ จึงเรียกว่ากฐินทำยาก ไม่ใช่ของง่าย

ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนผู้มีโอกาสนำผ้ากฐินมาทอด จึงจัดว่าเป็นผู้ทำมหากุศล ศรัทธาในจิตใจก็มี ข้าวของที่นำมาทำบุญสุนทานก็มี ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมจึงทำได้ จึงควรปลื้มใจในการกระทำบำเพ็ญของตน บุญกุศลที่ได้กระทำบำเพ็ญไปนี้ย่อมไม่สูญหายไปไหน  อานิสงส์ที่ได้รับในปัจจุบันคือความสุข ความยินดีเบิกบานใจทุกครั้งที่ได้คิดใคร่ครวญระลึกถึง  ในอนาคตต่อไป หากยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ จะต้องอาศัยบุญกุศลที่ตนทำไว้ ส่งเสียให้ได้รับความสุขความสบายในภพชาติต่าง ๆ


การเกิดของมนุษย์ เกิดขึ้นมาเพราะบุญกรรมที่ตนสะสมไว้ ไม่เช่นนั้น คนทั่วไปเกิดมาก็จะมีหน้าตา แข้งขา สติปัญญา มีสมบัติข้าวของเท่าเทียมกันหมด เพราะทุกคนเกิดมา ไม่ปรารถนาความทุกข์ยากอดอยาก ไม่ปรารถนารูปร่างที่ไม่สมประกอบ  ทุกคนล้วนต้องการความสุขความเจริญ สวยงาม ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีสมบัติพัสถานข้าวของเงินทองมาก แต่เหตุที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนาก็เพราะกรรมของแต่ละคนที่ได้สร้างเอาไว้ไม่เหมือนกัน

คนที่มีบุญกุศลเป็นทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่เกิดมาไม่มีผ้าผ่อนท่อนสไบติดมือมา ไม่มีข้าวของเงินทองติดตัวมา แต่ทว่าเติบโตมาก็แสวงหาได้  อยากสร้างบ้านใหญ่โตขนาดไหนก็ได้สมใจ จะนุ่งห่มอะไรก็มีเงินแลกเปลี่ยนมา อยากรับประทานอะไรก็ซื้อเอาตามที่ตัวต้องการ เพราะบุญกุศลเก่าก่อน ปุพเพกตปุญญตาสนับสนุนให้

ฉะนั้น เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ ควรพินิจพิจารณาศึกษาหาหนทางประกอบคุณงามความดีให้ทวีคูณขึ้น เพราะจิตใจของเรายังไม่พ้นไปจากทุกข์จากกิเลส จำเป็นต้องอาศัยบุญกุศลสนับสนุน ถึงแม้ใจจะไม่ชอบไม่ยินดี ก็ให้ฝืนทำความดีต่อไป เหมือนกับคนไข้ที่ไม่ชอบรับประทานยา แต่ก็ต้องฝืนใจดื่มกินยานั้นเพื่อให้โรคร้ายภายในกายหายไป ความดีที่ทำไว้จะอำนวยอวยชัยให้ผล ให้ความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

เรื่องกฐินนี้ พระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เล่าว่า พระอาจารย์ของท่านคือหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ชอบทอดกฐินทุกปี ปีละหลาย ๆ วัด อานิสงส์ของกฐินตามที่หลวงพ่อปานเทศน์ให้ฟังนั้น ให้ผลทั้งชาติปัจจุบันและชาติต่อ ๆ ไป คนที่ทอดกฐินให้สังเกตตัวเองดู ถ้าได้ทอดแล้ว 2-3 ครั้ง ความเป็นอยู่จะคล่องตัวขึ้น ถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็มีโชคดีมากขึ้น หาลาภสักการะคล่องขึ้น  ท่านบอกว่านี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของอานิสงส์  อานิสงส์ของการทอดกฐินนั้น สามารถจะบันดาลให้คนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จผล


ในอติเทวราชชาดก ได้เล่าเรื่องพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิ ทรงถวายคู่แห่งผ้าเพื่อกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าเป็นประธาน ทรงตั้งพระราชปณิธานความปรารถนาขึ้นว่า ด้วยอำนาจกฐินทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเถิด ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูแล้วในกาลใด จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏในกาลนั้น  ครั้นจบคำอธิษฐาน พระโกณฑัญญพุทธเจ้าทรงพิจารณาอนาคตกาลด้วยพุทธจักษุญาณ ทราบว่าความปรารถนาของบรมกษัตริย์องค์นี้จักสำเร็จสมพระประสงค์ จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า ในที่สุดแห่งสามอสงไขยแสนกัลป์ นับแต่กัลป์นั้น พระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดินี้ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า "โคดม" คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้

พระกัสสปพุทธเจ้า
จิตรกรรมฝาผนัง วัดหอเชียง หลวงพระบาง

ในสมัยพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า บุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเป็นคนเข็ญใจไร้ที่พึ่ง ไปอาศัยเศรษฐีนาม "สิริธรรม" ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้ มีหน้าที่ดูแลรักษาหญ้า จึงได้ชื่อว่า ติณบาล วันหนึ่ง เขาคิดว่า ตัวเราที่เป็นคนยากจนเช่นนี้ เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติก่อนเลย มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย  เมื่อคิดดังนี้แล้ว เขาได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งสำหรับตนเองรับประทาน ด้วยกุศลผลบุญนั้น ทำให้ท่านเศรษฐีเกิดความสงสาร ให้อาหารเพิ่มอีก 2 ส่วน เขาได้แบ่งอาหารออกเป็น 3 ส่วน ถวายแก่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้แก่คนจนทั้งหลาย ส่วนที่สามไว้บริโภคเอง ทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน

ต่อมา ในวันออกพรรษา เหล่าชนผู้มีศรัทธาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีก็เตรียมจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกัน เมื่อติณบาลได้ทราบก็เกิดความเลื่อมใส เข้าไปหาท่านเศรษฐีเพื่อถามอานิสงส์ของกฐิน ท่านเศรษฐีตอบว่า กฐินมีอานิสงส์มากมายหนักหนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสยกย่องสรรเสริฐว่าเป็นทานอันประเสริฐ

เมื่อติณบาลทราบดังนี้แล้ว ก็มีความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก แสดงความประสงค์ที่จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วย จึงกลับไปยังที่อยู่ของตน ครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็หาสิ่งที่จะร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐีไม่ได้  ในที่สุดเขาได้เปลื้องผ้านุ่งของตนออกพับให้ดี แล้วเย็บใบไม้นุ่งแทน เอาผ้านุ่งนั้นไปเร่ขายในตลาด  ในที่สุด เขาได้ขายผ้านั้นไปแล้วนำเงินไปมอบให้ท่านเศรษฐีซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร

กาลครั้งนั้นได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า และล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าพาราณสี จึงรับสั่งให้นำติณบาลเข้าเฝ้า แต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้าเพราะอาย  เมื่อได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอดแล้ว ทรงให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่เขา ทั้งยังได้พระราชทานบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมาก แล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า ท่านติณบาลเศรษฐี เมื่อเขาดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ตายไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติในวิมานแก้ว มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ส่วนเศรษฐีสิริธรรมครั้นตายจากโลกมนุษย์แล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นเดียวกันกับท่านติณบาลเศรษฐี


ในนรชีวกฐินทานชาดก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญญาสชาดก ได้เล่าเรื่องพระพุทธองค์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นนายนรชีวะ อยู่ในครอบครัวยากจน แต่เป็นลูกกตัญญูเลี้ยงดูมารดา ได้ชักชวนเศรษฐีให้มีศรัทธา ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระปทุมุตรพุทธเจ้าเป็นประธาน  เศรษฐีมีความยินดี ได้จัดกฐินไปถวายพระภิกษุสงฆ์ และได้ทูลถามพระปทุมุตรพุทธเจ้าถึงอานิสงส์แห่งการถวายผ้ากฐิน

พระปทุมุตรพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเหล่าใดปรารถนาหาความสุขนั้น ได้ถวายกฐินจีวรไว้ บุคคลเหล่านั้นจะพ้นจากความทุกข์ เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมจะถึงความสุขในหมู่เทวดาและมนุษย์ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น

เมื่อเศรษฐีได้ฟังอานิสงส์แห่งกฐินทานเช่นนั้น ก็มีใจเบิกบานยิ่งนัก ส่วนนายนรชีวะผู้เป็นพระโพธิสัตว์ ได้หมอบกราบแทบพระบาทของพระปทุมุตรพุทธเจ้า ตั้งวาจาธิษฐานว่า ด้วยกุศลผลบุญที่ข้าพระองค์ได้ชักนำเศรษฐีผู้มีทรัพย์ให้ถวายผ้ากฐินนี้ ขอให้ข้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในกาลภายหน้า แม้ข้าพระองค์ยังไปไม่ถึงความเป็นพระพุทธเจ้าตราบใด ชื่อว่าความเข็ญใจอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย  พระปทุมุตรพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า ด้วยผลแห่งกฐินทานนั้น นายนรชีวะจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนีในอนาคตกาล ก็คือพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้


อ้างอิง  -  "หลักพระพุทธศาสนา", สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น