ไม่มองข้ามเทวทูต คือ รู้จักมอง รู้จักพิจารณาสภาวะที่ปรากฏอยู่เสมอในหมู่มนุษย์ อันเป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมของชีวิตที่ไม่ควรลุ่มหลงมัวเมา 5 อย่าง คือ
1. เด็กอ่อน .. ว่าคนเราทุกคนเกิดมาก็อย่างนี้ เพียงเท่านี้
2. คนแก่.. ว่าทุกคน หากมีชีวิตอยู่ได้นาน ก็ต้องประสบภาวะเช่นนี้
3. คนเจ็บ.. ว่าภาวะเช่นนี้ เราทุกคนอาจประสบได้ด้วยกันทั้งนั้น
4. คนต้องโทษ.. ว่ากรรมชั่วนั้น ไม่ต้องพูดถึงตายไป แม้ในบัดนี้ก็มีผลเดือดร้อนเป็นทุกข์
5. คนตาย.. ว่าภาวะเช่นนี้ เราทุกคนต้องได้พบ ไม่มีใครพ้น และกำหนดไม่ได้ว่า ที่ไหน เมื่อใด
ในพระสุตตันตปิฎก เทวทูตสูตร เล่าไว้โดยความว่า สัตว์ (คน) ผู้ประกอบด้วยทุจริตทางกาย วาจา และใจ ติเตียนด่าว่าคนดีประเสริฐ เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือกรรมของคนมิจฉาทิฐิ ครั้นกายแตกสลายตายลง นายนิรยบาลจับไปแสดงแก่พญายมราชขอให้ลงโทษ พญายมราชซักถามว่า เคยเห็นเทวทูต 5 คือเด็กอ่อน คนแก่ คนเจ็บ คนถูกราชทัณฑ์ คนตาย บ้างหรือไม่
เมื่อผู้นั้นตอบว่าเคยเห็น พญายมราชก็ซักต่อไปว่า ได้เคยคิดบ้างหรือไม่ว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา ผู้ทำกรรมชั่วก็จะต้องถูกลงราชทัณฑ์ต่าง ๆ และเรามีความตายเป็นธรรมดา ควรที่เราจะทำกรรมที่ดีงาม ทางกาย วาจา ใจ ต่อไป
เมื่อผู้นั้นกล่าวว่าไม่ได้คิด มัวประมาทไปเสีย พญายมราชจึงกล่าวว่า เจ้ามีความประมาท จึงไม่ทำกรรมที่ดีงามทางกาย วาจา ใจ ก็จักทำเจ้าให้สาสมกับที่ประมาทไปแล้ว บาปกรรมนั้น มารดาบิดา ญาติสาโลหิตเป็นต้น ไม่ได้เป็นผู้ทำให้ หากแต่เป็นตัวเจ้าทำของเจ้าเอง ก็จักเสวยวิบากของกรรมนั้นเอง
หลักการซักถามผู้ทำบาปเกี่ยวกับเทวทูต 5 นี้ ดูผิวเผินก็ยากที่จะเข้าใจว่าจะใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยได้อยางไร แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักธรรม ก็อาจเห็นความมุ่งหมายว่า คนที่ทำบาปทุจริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะมีความประมาท ไม่ได้คิดพิจารณาว่า เกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้คิดถึงราชทัณฑ์คือไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง เรียกว่าไม่เห็นเทวทูต หากสามารถเห็นเทวทูตด้วยตาปัญญา ก็ย่อมจะไม่ประมาทและเว้นทุจริตต่าง ๆ ได้
สาธุครับ
ตอบลบ