วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

บาตรบุบ.. อัศจรรย์​พระ​อาจารย์​จวน


วัน​อาทิตย์ที่​ 27​ เมษายน​ พ.ศ. 2523
เกิด​อุบัติเหตุ​ครั้งสำคัญ​ เครื่อง​บินของบริษัท​เดินอากาศ​ไทย​ (ต่อมา​ควบรวมกิจก​ารกับบริษั​ทการบินไทย) เที่ยว​บิน​ที่​ TG-231 อุดรธานี​-กรุงเทพ​ฯ​ เป็น​เครื่อง​บิน​ 2 ใบพัด​ รุ่น ​HS-748 รหัส​ ​HS-THB ตกที่ทุ่ง​รังสิต​ ห่างจากสนามบินดอนเมืองราวยี่สิบกิโลเมตร 
ขณะเกิดเหตุ เป็นเวลาประมาณบ่ายสองโมง มีพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้เครื่องบินซึ่งกำลังลดระดับลงสู่สนามบินเสียการทรงตัว มีผู้โดยสาร​เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีพระสงฆ์​มรณภาพพร้อมกัน 7​ รูป ในจำนวน​นี้​ เป็น​พระสาย​วิปัสสนาธุระ ศิษย์​พระอาจารย์มั่น ภูริทัต​ตเถระถึง​ 5  รูป​ คือ​


1. พระอาจารย์บุญ​มา​ ฐิตเปโม​ วัดสิริสาละวัน​ บ้านโนนทัน​ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบัน​คืออำเภอเมือง​ จังหวัดหนองบัว​ลำภู)  

2. พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือ พระอาจารย์​วัน​ อุตฺตโม​ วัดถ้ำอภัยดำรง​ธรรม​ อำเภอ​ส่องดาว​ จังหวัดสกลนคร  

3. พระอาจารย์จวน​ กุลเชฏโฐ​ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบัน​คืออำเภอศรีวิไล​ จังหวัดบึงกาฬ)​ 

4. พระอาจารย์​สิงห์​ทอง​ ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว​ บ้านชุมพล​ อำเภอสว่างแดนดิน​ จังหวัด​สกลนคร​ 

5.​ พระอาจารย์​สุพัฒน์​ สุขกาโม​ วัดป่าประสิทธิ์​สามัคคี​ บ้านต้าย อำเภอสว่าง​แดน​ดิน​ จังหวัด​สกลนคร​

พระบาทสมเด็จ​พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรด​พระราชทาน​พระบรมราชานุเคราะห์บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ณ วัดพระศรีมหาธาต​ุ​วรมหาวิหาร​ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินมาในงานศพทุกคืน
ทรงจัดดอกไม้บูชาหน้าศพด้วยพระองค์เองทุกคืน

หลังเกิดเหตุ​ พระลูกศิษย์​ได้เดินทางไปยังจุดที่เครื่องบินตกเพื่อค้นหาบริขารของอาจารย์​ เช่น​ บาตร​ ย่าม​ กลด​ รองเท้า​ ฯลฯ​ ซึ่งกระจัดกระจาย​อยู่ตามท้องทุ่ง​นา​ ถึงแม้จะมีพระสงฆ์มรณภาพ​พร้อมกันหลายรูป​ แต่บรรดาศิษย์ต่าง​ก็จำบริขารเครื่อง​ใช้​ของอาจารย์​ของ​ตนได้​ การค้นหา​เป็น​ไป​ด้วย​ความ​ยากลำบาก​ เพราะสถานที่เกิดเหตุ​เป็นดินโคลน​ ซากเครื่องบินก็อยู่ใน​สภาพ​พังยับเยิน​ บางอย่างก็พบบนดิน​ บางอย่างต้องงัดซาก​เครื่องบิน​ออก​

บาตรบุบ

กล่าว​ถึงสมณบริขารของพระอาจารย์​จวน​ กุลเชฏโฐ​ รวมถึง​ "บาตร" ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวสุดอัศจรรย์​ สุดท้าย​ก็หาได้ครบ​ ยกเว้นรองเท้าข้างเดียวซึ่งคาดว่าคงถูกแรงกระแทกของเครื่องบิน​อัดจมหายลงไปในดิน

บาตรซึ่งพบในที่เกิดเหตุอยู่ในสภาพเสียหายมากอย่างเห็นได้ชัด​ ฝาบาตรปิดสนิทแน่น​ บุบยุบลงไปด้วยกันกับตัวบาตร​ ต้องออกแรงงัดเป็นการใหญ่​จึงสามารถเปิดออกได้​ ภายในบาตรมีผ้าสังฆาฏิ​และ​เครื่อง​ใช้​อื่น ๆ ​ที่พระท่าน​ใช้เป็นประจำเวลาออกธุดงค์​ แต่ที่ดูแปลกประหลาด​คือ​ มีซองจดหมายอยู่ซองหนึ่ง​ ​เป็นซองราชการ​ มีตรากระทรวง​มหาดไทย​อยู่ที่มุม​ซอง​ ปิดผนึกอย่างดีและตีตราลับ​ วางอยู่ข้าง​บนอัฐ​บริขาร​ทั้งหมด​

เอกสารซองนี้​เป็นเอกสารลับ​ของประเทศ​ คุณสมพร กลิ่นพงษา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้น​ นำติดตัวเข้ากรุงเทพฯ​ และท่านก็เป็นหนึ่งในผู้​โดยสารเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ​ แต่ท่านนั่งอยู่ท้ายเครื่อง​ จึงรอดชีวิต​มาได้ แต่ก็ได้รับ​บาดเจ็บ​สาหัส​ เมื่อทีมกู้ภัย​เข้าไป​ช่วยเหลือ​ ท่านยังมีสติ​พอบอกกับผู้ที่ไว้วางใจว่า​ ท่านได้นำเอกสาร​สำคัญ​ชิ้น​หนึ่ง​ติดตัวมาด้วย​ ขอให้ช่วยหาให้พบ​ หากตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม​จะเกิดอันตราย​เสีย​หายร้ายแรงแก่บ้าน​เมือง​

เจ้าหน้าที่​ช่วยกันค้นหาอยู่สองวันเต็ม ​ๆ​ ระหว่าง​นั้น ก็ได้แต่ภาวนาว่า หากหาไม่พบ​ ก็ขอให้เอกสารนั้นถูก​อัดหายเข้าไปในดินโคลน​ แล้วในที่สุด กลับพบว่า​เอกสารซองดังกล่าว​อยู่​ภายในบาตรของ​พระอาจารย์​จวน

คุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​ มณีวัต​ ศิษย์​ผู้ใกล้ชิด​พระอาจารย์​จวน​เล่าว่า​ ศพพระคณาจารย์ทั้งหมดตั้งบำเพ็ญ​พระราช​กุศล​อยู่ที่วัดพระ​ศรีมหาธาตุ​วรมหาวิหาร​ ในพระบรมราชานุเคราะห์​ นอกจาก​เวลา​ทำงาน​ปรกติแล้ว​ คุณ​หญิงจะมาอยู่ช่วยงานที่วัดโดยตลอด​ เมื่อพระช่วยกันงัด​ฝาบาตร​ออกและพบซองจดหมาย​ราชการ​ ก็นำมาให้​คุณหญิง​ บอกว่าไม่ทราบ​เป็นของใคร นำมา​ฝากไว้กับ​ท่าน​อาจารย์​ เมื่อเชิญ​ผู้แทนจากกระทรวง​มหาดไทยมาดู ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นเอกสารสำคัญ​ที่กำลัง​ต้องการ​จริง​ ๆ

จึงเกิดคำถาม​​ขึ้น​ใน​ใจสารพัด​ว่า ท่านผู้ว่าฯ​ สมพร​ นึกอย่างไรถึงได้เอาซองเอกสารสำคัญ​มาฝากไว้กับพระอาจารย์​จวน​ เอกสารสำคัญแบบนี้​ ทำไมไม่เก็บ​รักษา​ไว้​กับตัว​ หรือเกิดสังหรณ์​ใจอะไร จึงนำมา​ฝาก​ไว้​ หรือพระอาจารย์​จวนหยั่งรู้​เหตุการณ์​ล่วงหน้า​ จึงเรียกให้นำไปฝาก​ไว้​ ฯลฯ​ ครั้นจะไปถามคุณสมพรในขณะนั้นให้คลายสงสัย ก็ไม่เหมาะไม่​ควร​ เพราะท่านกำลังเจ็บหนัก​และพักรักษาตัว​อยู่​ในโรงพยาบาล​

เจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์นี้ จัดสร้างขึ้น ณ จุดซึ่งเป็นเมรุชั่วคราวหน้าวัด
เป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์จวน เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2524

เวลาผ่านเลยไปนานหลาย​ปี​ จนกระทั่งต้นเดือน​พฤศจิกายน​ พ.ศ. 2532 เมื่อการก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์​พระอาจารย์จวนแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมห้องแสดงอัฐบริขาร​ตลอดจนเครื่องใช้ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เช่น สบง จีวร​ สังฆาฏิ​ อังสะ ย่าม รองเท้า บาตร ฯลฯ คุณ​หญิงสุรีพันธุ์เหลือบไปเห็นบาตรบุบก็นึกขึ้นได้​ จึงโทรศัพท์​ไปพูดคุยสอบถามความเป็นมากับคุณสมพร กลิ่นพงษา ​ว่านึกอย่างไร​จึงเอาเอกสาร​สำคัญไปฝากไว้กับพระ​อาจารย์​จวน​

คุณ​สมพรถึงกับขนลุก เพราะท่านไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า เอกสารนั้นได้มาจากบาตรของพระอาจารย์​จวน​ ท่านบอกว่าเอกสารนั้น​เป็นเอกสารลับของทางราชการ​ เกี่ยวข้อง​กับความเป็​นความตายของบ้านเมือง​ ท่านเก็บรักษาไว้กับตัวตลอด​เวลา แม้ในขณะที่​เครื่องบินกำลังดิ่งพื้น​ ไม่ได้แพร่งพราย​ให้ใครทราบ​ และไม่ได้เอาไปฝากไว้กับใครทั้งสิ้น

คุณ​สมพรเล่าต่อไปว่า​ ในวันเกิดเหตุ​ ท่านเดินทางจากนครพนมมาขึ้นเครื่องบินที่อุดรธานีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมารับรางวัล​ชนะเลิศ​การปราบยาเสพติด​ซึ่งมี​กำหนดจะมอบรางวัลกันในวันจันทร์ที่​ 28​ เมษายน​ พ.ศ. 2523​ ปรกติ บริษัท​เดินอากาศ​ไทย​ จะสำรอง​ที่นั่งแถว​แรกให้กับผู้ว่า​ราชการ​จังหวัด​เสมอ​ แต่พนักงานต้อนรับ​บนเครื่องบินได้มาขอให้​ท่านยกที่นั่งให้กับคณะของพระอาจารย์​จวน​ ท่านไม่ขัดข้อง​และย้ายไปนั่งบริเวณ​กลางลำ​ สักพักก็มีสามีภรรยา​เดินทาง​มากับลูกน้อยอีก​คน​หนึ่ง​ ได้ที่นั่งข้างคุณ​สมพรเพียงสองที่​ จึงอยากจะขอแลกที่นั่งเพื่อให้​ได้มานั่งอยู่ด้วยกันทั้ง​ครอบครัว​ คุณ​สมพรเห็นใจก็ยอม​แลกที่นั่งให้​ แล้วท่านก็ย้ายที่นั่งอีกครั้งไปนั่งตรงบริเวณ​ท้ายเครื่อง​บิน​  

ปรากฏ​ว่า​ผู้โดยสารตรงส่วนท้ายของเครื่องบิน​รอดชีวิต​กันหลายคน​ ส่วนผู้โดยสาร​พ่อแม่ลูกที่มาขอแลกที่นั่ง​กับท่าน​ ตายหมดทั้งสามคน​ ท่านเล่าด้วยความเศร้า​ใจว่า​ "หมดเลยครับ​ ผมต้องทำบุญ​ให้เขา​ เท่ากับเขา​มาตายแทนผมแท้ ๆ เชียว โธ่.. "  คุณ​หญิง​สุรี​พันธุ์​ได้​ปลอบใจว่า​ "คุณ​ไม่​ได้​เป็น​คนไปขอแลกที่นั่งกับ​เขา​ เขา​มาขอ​แลกที่นั่งกับคุณ​เอง​ แปลว่า เขา​จะ​ถึง​ที่เองต่างหาก​ค่ะ"  

เรื่องเอกสารลับนั้น​ เมื่อเจ้าหน้าที่​มาบอกกับคุณสมพรว่าหาพบแล้วก็โล่งใจ​ ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพระอาจารย์​จวน​ท่านเอาเข้าไปเก็บไว้ในบาตรให้​ บาตรกับฝาบาตรบุบยุบ​อัดติดกันแน่น​ เปิดไม่ออกจนพระต้องช่วยกัน​งัด​ เท่ากับว่าท่านช่วยเก็บรักษา​ไว้ไม่ให้ใครไปพบเห็น​ก่อน

แล้วพระอาจารย์​จวนทราบได้อย่างไรว่าคุณ​สมพรมีเอกสารสำคัญ​อยู่กับตัว ?!? 

ในวินาทีที่ความเป็น​ความตาย​กำลังคุกคาม​ทุกชีวิต​ รวมถึงพระอาจารย์​จวนเอง ก็อยู่ในวินาทีแห่งความเป็​นความตายนั้นด้วย​ ทุกคนบนเครื่องบิน​ต่างพากันภาวนาหาที่พึ่ง​ เชื่อ​ว่า​ข่ายพระอริยญาณ​ของท่านแผ่ไปโดยรอบ​ รับ​รู้ถึงความวิตกกังวลของคุณสมพรกับเอกสารลับของประเทศ​ เห็นควรให้ความช่วยเหลือ​และคงต้องคิดต่อไปด้วยว่าจะช่วยโดยวิธีใด​ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ​ในเวลาที่จิตของท่านพระอาจารย์​เองก็กำลังจะละขันธ์​ ท่านทำได้​อย่างไร​ 

นี่เอง​ ที่องค์​สมเด็จ​พระสัมมาสัมพุทธ​เจ้าตรัสว่าเป็นอจินไตย​ คือเป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​ควร​คิด​ เพราะ​ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญ​ของปุถุชน​ ฌานวิสัยหรือวิสัยแห่งอิทธิ​ฤทธิ์ของฌาน​เป็นเรื่อง​ทางจิต​ จึง​เป็น​เรื่อง​ที่​รู้​ได้​ด้วย​การ​บรรลุ​ธรรม​ขั้นสูงเท่านั้น

หลายคืนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จกลับพระราชวังแล้ว แต่พอตกดึกก็เสด็จหวนกลับมาที่วัดอีก
มีคืนหนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินมาถึงวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นเวลาเกือบตีสอง
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังกลับไปหมดแล้ว พระองค์ท่านเสด็จประทับบนพื้น
ทรงสวดมนต์และทรงบำเพ็ญภาวนาพร้อมกับพระสงฆ์และประชาชน

ในคืนแรก​ที่บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพพระอาจารย์​ทั้งหลาย​ที่วัดพระศรีมหาธาตุ​ มีผู้ใหญ่​ใน​แผ่นดิน​ท่าน​หนึ่ง​เห็น​สีหน้า​เศร้า​สร้อยของคุณหญิง​สุรีพันธุ์ ก็เรียกเข้า​ไปปลอบด้วย​ความ​เมตตา​ ไม่​ให้เศร้า​โศก​เสีย​ใจจนเกินไป​ ท่านบอกกับคุณหญิง​ว่า​ โหรหลวงเขาทำนายไว้ตั้งแต่​ก่อนปีใหม่​ว่า​ ปีนี้ชะตาเมือง​ไทยจะตกต่ำถึง​ขีดสุด​ อาจจะ​มีข้าศึก​ยกกองทัพ​เข้ามารุกราน​ หรือไม่เช่นนั้น​ ก็ต้องสูญเสีย​พระอริยเจ้าพร้อม ๆ กันหลายองค์​

เป็นไปได้ไหมว่า.. พระอริยญาณของพระอาจารย์​ทั้งหลายสอดคล้อง​กับคำทำนาย​ของ​โหรหลวง​ เมื่อ​มีสิ่ง​ศักดิ์​สิทธิ์​มาอาราธนา​เชิญท่านไปเพื่อ​แลกกับความเป็นตายของประเทศ​ชาติ​ มีหรือที่ท่านจะไม่ยินดีช่วยเหลือ​

คุณหญิงสุรีพันธ์ุ มณีวัต
ผู้เขียนและเรียบเรียงชีวประวัติ ปฏิปทา และพระธรรมเทศนา
ของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ภายหลัง​การมรณภาพ​ของพระอริยเจ้า​ทั้งห้ารูป​ เกิดคำถามตามมา​ว่า​ ท่านเหล่านั้นรู้ล่วงหน้า​หรือไม่​ และถ้ารู้​ ทำไม​ยัง​มา​ บางคำถาม​ออกไปในเชิงดูแคลน​ วิพากษ์วิจารณ์​กันไปต่าง ๆ นา ๆ

ระหว่าง​ที่ศพพระคณาจารย์​ตั้งอยู่​ที่วัดพระศรีมหาธาตุนั้น​ คุณหญิงสุรี​พันธุ์​ได้อาศัยซอกด้านหลัง​ที่ตั้ง​หีบศพเป็นทางเดิน​จงกรม​  นึกไปถึง​คำพูด​ของคนบางคน​ ไปพูดว่าศพเหม็น​ อะไรต่อมิอะไร​ คุณ​หญิง​เดินจงกรมอยู​่หลังหีบศพ​ ก็ไม่ได้​กลิ่น​เหม็น​ ตรงกันข้าม​ กลับ​รู้สึก​หอมเหมือนกลิ่นดอกไม้​ทิพย์​เสีย​ด้วยซ้ำ

คืนหนึ่ง ​เป็นเวลาสอง​นาฬิกา​ของวันใหม่​ ศิษย์​ส่วนใหญ่ถ้า​ไม่นั่ง​ภาวนา​ ก็นอนหลับ​กัน​หมด​ ขณะที่​คุณ​หญิง​กำลัง​เดิน​จงกรม​อยู่​นั้น​ ใจก็หวนคิดถึงพระอาจารย์​จวน​​ กุลเชฏโฐ คนเขาพูดจาดูแคลนว่าท่านไม่ใช่พระ​อรหันต์​ แต่คุณ​หญิงก็ยัง​เชื่อ​มั่นว่าท่าน​เป็น​พระ​อรหันต์​ เดินไปนึกไปจนเกือบจะ​สุดทางจงกรม​ ก็ต้องสะดุ้งตกใจเพราะมีผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวธรรมดา​ มายืนอยู่ใกล้ ๆ​ ตั้งแต่​เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ​ ยิ้มให้คุณหญิง​แล้วพูดว่า​ "ไม่ต้องห่วง​ ไม่ต้อง​สงสัย​ ท่านอาจารย์​ไปดีแล้ว​อย่างที่คิดน่ะ" คุณ​หญิง​รู้สึก​แปลกใจ​จึงถามว่าเป็นใครมาจากไหน​ ผู้ชายคนนั้นก็ตอบด้วยน้ำเสียงเหมือน​คนอ่านหนังสือว่า​ "อยู่​-ที่-นี่-เอง" 

คุณ​หญิง​บอก​ "เหรอฮะ" แล้วเดินเลยไปสองก้าว​ แต่แล้ว​ก็เอะใจ​ว่า ขณะเดินจงกรม สายตาเธอทอดต่ำ​ ทำไมมองไม่เห็นเท้าของชายผู้นั้น​ นึกขึ้นมาได้ก็เหลียวกลับไปดู​ ปรากฏ​ว่าไม่มี​ใครอยู่บริเวณนั้น​ ทั้ง ๆ ที่​เป็น​ทางโล่ง ๆ แคบ ๆ​ 

วันต่อมา​ ได้มี​โอกาส​กราบนมัสการ​ถามท่านพระครูสุทธิธรรมรังสี (หลวงปู่​เจี๊ยะ จุนฺโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี) ท่านบอกว่าเป็นเทพอยู่ที่วัดพระศรี​มหา​ธาตุ ! 

อัฐิพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
แปรสภาพเป็นพระธาตุ

เมื่อเวลาผ่านไป​ เกียรติคุณ​ของพระคณาจารย์​เริ่ม​เป็น​ที่ประจักษ์​ พระธาตุ​ของท่านเริ่ม​ปรากฏ​ ทำให้​น้ำเสียงของความสงสัย​เปลี่ยนไปในทางนอบน้อม​ขึ้น​ มีสัมมาคารวะ​มากขึ้น​ แต่ก็ยังคง​สงสัย​อยู่​ตามวิสัย​ปุถุชน​คนธรรมดา​

คุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​เล่าว่า​ พระอาจารย์​จวน​ กุลเชฏโฐ​ และพระอาจารย์​วัน​ อุตฺตโม​ มีพรรษาใกล้เคียงกันและสนิทสนมกันประดุจคู่แฝด ขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ต่างเคยเข้าที่พิจารณา​อายุ​ขัย ได้ความตรงกันว่า​ ท่านทั้งสองจะมีอายุ​ยืนยาวมาก​ จะมีอายุถึงเก้าสิบกว่า​ ท่านพูด​เช่นนี้มาตลอด​ พระอาจารย์​จวนยัง​เล่าว่า ถึงตอนนั้น​ ท่านและพระอาจารย์​วันคงไม่ได้​พบหน้ากัน​แล้ว​ ต่างองค์​ต่างอยู่​ ไปหากันไม่ไหว​ ต้องสั่งฝาก​ไปหากัน​ เหมือนหลวงปู่​ขาว​กับ​หลวง​ปู่​แหวน​

(ซ้าย) พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
(ขวา) พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก อำเภอศรีวิไล  จังหวัดบึงกาฬ

แต่แล้ว ในเดือนมีนาคม​ พ.ศ. 2523​ ท่านเริ่ม​พูด​ถึงการพลัดพราก​ เทศน์​เรื่อง​กรรม​ เทศน์​เรื่องปัจฉิมโอวาทอยู่หลายครั้ง​ มีอยู่​วันหนึ่ง​ พออาราธนาให้เทศน์​และเตรียม​อัดเทป​ ท่านก็ตั้งต้นเลยว่า​ "นับแต่​วัน​นี้ไปอีกสาม​เดือน​ เรา​ตถาคต​จะขอลา​พวก​ท่าน​ทั้งหลาย​เข้า​สู่พระปรินิพพาน​ เพราะอายุ​สังขาร​ของเรา​สิ้นสุด​ลงเพียงแค่​นั้น​ ให้พระอานนท์​ประกาศ​แก่​สงฆ์​ทั้งหลาย​ให้ทราบโดยทั่วกัน....." 

โดยปรกติ​ก่อนเทศน์​ ท่านจะอารัมภบท​เล็กน้อยก่อนเสมอ​ เช่น​ "ให้หลับตานั่งสงบจิตตั้งใจฟัง​ วันนี้จะเทศน์​เรื่อง....." แต่วันนั้น ท่านตั้งต้นแบบนั้นเลย แม้จะเป็นเพียงการนำพระ​พุทธดำรัสปลงพระชนมายุสังขารมากล่าว​ แต่ก็ทำเอาผู้ที่นั่งฟังอยู่ถึงกับสะดุ้ง

ระหว่างอยู่ที่​ภูทอกต้นเดือน​เมษายน​ พ.ศ. 2523​ ท่านฝากฝังกับคุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​ให้ช่วย​ทำศพให้​ ท่านถาม​ย้ำถึง​สอง​ครั้ง​ว่า ทำศพให้อาตมา​ได้​ไหม​ คุณหญิงยังแย้งท่านว่าจะให้ช่วยทำศพได้อย่างไร​ พระอาจารย์​จะอยู่ถึงเก้าสิบกว่า​ ตัวคุณ​หญิงเองคงจะตายก่อนท่าน​ หรือถ้าหากมีชีวิตยืนยาว​ ก็คงจะเฉียดเก้าสิบเหมือนกัน​ อายุปูน​นั้นจะมีสติปัญญา​ทำอะไร​ได้ ท่านก็ว่า​ ".. ก็เผื่อมันต้องเปลี่ยนแปลง​ล่ะ !" 

เชื่อว่าพระอาจารย์​จวนต้องหยั่งรู้​เหตุการณ์​ล่วงหน้า​อย่างแน่นอน​ ท่านสั่งตั้งเจ้าอาวาส​ล่วงหน้า​ บอกว่าต่อไปนี้ใครถามหาเจ้าอาวาสภูทอก ให้บอก​ว่า​ ท่านแยงนะ​ (หมายถึง​พระอาจารย์​แยง​ สุขกาโม)​ ท่านยังพูด​อีกว่า​ มากรุงเทพ​ฯ ​คราวนี้​ อยู่​แค่วัดพระศรีฯ​ (ซึ่ง​เป็น​ที่​ตั้ง​ศพของ​ท่าน)​ ก่อนจะเดินทาง​มากรุงเทพ​ฯ​ อัน​เป็นการ​เดินทาง​ครั้ง​สุด​ท้าย​ ท่านได้รีบอัดเทปประวัต​ิเพิ่มเติมไว้ถึงเจ็ด​ม้วน​ สั่งให้ทางวัดเก็บไว้​ เมื่อพระอุปัฏฐาก​กราบเรียน​ถาม​ท่าน​ว่าไม่นำติดตัวไปด้วยหรือในเมื่อ​ท่านจะได้พบกับคุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​อยู่​แล้วที่กรุงเทพ​ฯ​ ท่านอาจารย์​กลับบอกว่า ไม่เป็นไร​ สุรี​พันธุ์​เขาจะมารับเองที่วัด​ พระอาจารย์​คงมีเหตุผล​ของท่าน​ ถ้านำเทปชุด​นั้นติดตัวมาด้วยคงเสียหายหมด

(ซ้าย) พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
(ขวา) พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์​สุพัฒน์​ สุขกาโม ซึ่งมรณภาพด้วยกันในเที่ยวบินที่เกิดอุบัติเหตุฝันแม่นยำมากก่อนจะไปมรณภาพในคราวนี้ หลวงตามหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน เล่าว่า พระอาจารย์​สุพัฒน์​ท่านฝันร้ายกาจไม่มีชิ้นดี ไม่เคยฝันร้ายอย่างนี้มาก่อน ถึงกับปรารภว่าเขามานิมนต์ให้ไปงานนี้ ไม่ใช่จะเอาเราไปตกเครื่องบินตายเหรอ ท่านว่าถ้าเขามานิมนต์โดยลำพัง ท่านจะไม่รับ แต่ด้วยความ​เคารพนับถือ​พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เมื่อเขาไปนิมนต์​พระอาจารย์​สิงห์​ทอง พระอาจารย์สิงห์ทองรับก็เลยต้องรับตามไปด้วย แล้วก็มรณภาพไปด้วยกัน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้โยมแม่และเครือญาติของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เข้าเฝ้า

โยมแม่ของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เล่าว่า คืนก่อนจะทราบข่าวร้าย สะดุ้ง​ตกใจ​ตื่น​ขึ้น​ราว​กับ​มีใครมาปลุก เห็น​แสงสว่าง​ปรากฏที่หัวนอน สว่าง​โร่ราวกับเวลากลางวัน ได้ยินเสียงเรียก "แม่... แม่... แม่" สามครั้ง  จำได้​ว่า​เป็น​เสียง​พระอาจารย​์วัน​ วันต่อมาจึงทราบข่าว

พระวิสุทธิญาณเถร (พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย)
วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี

พระอาจารย์​สมชาย ฐิตวิริโย 
ประธานสงฆ์​วัด​เขา​สุ​กิม​ จังหวัดจันทบุรี​ ท่านเป็นพระวิปัสสนา​จารย์​ ศิษย์​พระอาจารย์​มั่น​ ภูริทัต​ตเถระ​ เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ท่านเองก็ได้รับนิมนต์​ในวันจันทร์​ที่​ 28 ​เมษายน​ พ.ศ. 2523​ เช่น​เดียว​กับคณะ​ของ​พระอาจารย์​จวน​ แต่ช่วงเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 27​ เมษายน​ พ.ศ. 2523​ ก่อนเกิดเหตุ พระอาจารย์​จวนได้ส่งกระแสจิต​มาบอกลา​ ทั้งยังบอกท่านให้ช่วยไปเก็บธาตุขันธ์ให้ด้วย​

ช่วงสายของวันที่เกิดเหตุ หลังออกจากที่จงกรมภาวนา​ พร​ะอาจารย์สมชายพาพระ​เณร​เข้า​กรุงเทพฯ​ โดย​บอกคนขับรถให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทาง​ไปคลองหก ระหว่างทาง เสียงวิทยุที่คนขับรถเปิดไว้เป็นปรกติอยู่แล้วนั้น ก็รายงานข่าวเครื่องบินตกเป็นข่าวด่วน

เมื่อรถวิ่งมาใกล้จุดเกิดเหตุ มองเห็นชาวบ้านวิ่งบ้างเดินบ้าง สับสนอลหม่านไปหมด ตำรวจทหารแน่นทั้งสองข้างทาง ควันขาว ๆ พวยพุ่ง​อยู่กลางท้องนา​ พระอาจารย์​สมชายให้คนขับจอดรถแล้วท่าน​ก็​เดินตรงไปที่ซากเครื่องบินที่ตกกระจัดกระจายอยู่บริเวณนั้นท่ามกลางไทยมุงที่แน่นขนัด

ท่านและพระเณรได้ช่วยกันเก็บสมณบริขารของครูบาอาจารย์ออกมาวางไว้ในที่อันเหมาะสม พระอาจารย์​สมชายปรารภขณะที่หยิบชิ้นส่วนของครูบาอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวนมาบอกเมื่อคืนว่าให้ช่วยมาเก็บธาตุขันธ์ให้ท่านด้วย รับปากท่านไว้เมื่อคืน..” เมื่อเก็บชิ้นส่วนและบริขารของครูบาอาจารย์เสร็จ​ เจ้าหน้าที่ก็มาถึง​ จึงปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อ พอตกกลางคืน ท่านก็พาคณะไปกราบนมัสการศพพระอาจารย์ทั้งหลายที่วัดพระศรีมหาธาตุ​วรมหาวิหาร​

เชื่อว่า พระคณาจารย์ที่โดยสารมากับเครื่องบินลำนี้ ท่านทราบล่วงหน้าด้วยญาณอยู่แล้วว่าเครื่องบินลำนี้จะตกเมื่อใกล้ถึงสนามบิน แต่ท่านไม่ต้องการหลีกเลี่ยงกรรม จึงเต็มใจละสังขารแต่โดยดี

พระอาจารย์​สมชาย​ ฐิตวิริโย​​ ได้อธิบายให้บรรดาศิษย์ฟังว่า​ ไม่มีใครในโลกนี้หนีพ้นผลกรรมไปได้ วิบากกรรมของพระอริยเจ้า​ทั้งห้ารูป​หมดแล้ว ไม่ต้องห่วง ให้ห่วงตัวเราเองนี้ให้มาก ทำตัวเราเองให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง

ท่านได้ยกตัวอย่าง​พระโมคคัลลานเถระ​ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า​ ผู้เป็นเอตทัคคะ​ในด้านมีฤทธิ์มาก​ สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรก แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ที่ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบ​ ประชาชนทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา​ คลายความเคารพพวกเดียรถีย์​ ทำให้ลาภสักการะเสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง พวกเดียรถีย์​จึงปรึกษากัน​ เห็นพ้องว่าต้องกำจัดพระโมคคัลลานะ ตกลงกันแล้ว ก็เรี่ยไรเงินไปจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ

พวกโจรพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึงสองครั้ง​ ในครั้งที่สาม​ พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่าที่ตนเคยกระทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงยอมให้โจรจับโดยง่ายดายและถูกทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลว พวกโจรเข้าใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างไปทิ้งในป่าแล้วพากันหลบหนีไป

พระโมคคัลลานะคิดว่า​ เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคก่อน​จึงนิพพาน​ คิดเช่นนั้น​แล้วก็​เรียบเรียง​สรีระ​ ประสานกระดูกด้วยฤทธิ์​แห่งฌาน​ เหาะไปเฝ้าพระ​บรมศาสดา ​ถวายบังคม​แล้ว​กราบทูล​ลานิพพาน​

พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุพกรรมของพระโมคคัลลานเถระว่า ในอดีตกาล มีกุลบุตรคนหนึ่งในนครพาราณสี ปรนนิบัติดูแลบิดามารดาตาบอดด้วยตนเอง บิดามารดาจึงหาภรรยามาให้เพื่ื่อช่วยงาน เมื่อภรรยาดูแลบิดามารดาได้เพียง 2-3 วัน ก็ไม่ปรารถนาจะเห็นคนทั้งสองอีก เวลาที่กุลบุตรออกไปข้างนอก นางจึงเอาชิ้นเปลือกปอและฟองข้าวยาคูมาโรยในที่ต่าง ๆ แล้วกล่าวหาว่า คนทั้งแก่ทั้งตาบอดเหล่านี้ ทำให้สกปรกไปทั่วเรือน นางไม่อาจอยู่ในที่เดียวกันกับคนเหล่านี้

เมื่อนางกล่าวอยู่บ่อย ๆ กุลบุตรผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วก็แตกกับบิดามารดา จึงออกอุบายลวงบิดามารดาว่า ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างหมู่บ้านต้องการให้ไปเยี่ยม เมื่อถึงกลางดง ก็แสร้งทำเสียงเหมือนกับว่ามีโจรมาดักปล้น แล้วลงมือทุบตีบิดามารดาของตนจนตาย โยนศพทิ้งในดงแล้วกลับเรือน

ด้วยกรรมนี้ พระโมคคัลลานะหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี วิบากกรรมที่เหลือ ยังส่งผลให้เป็นผู้แหลกละเอียดเพราะทุบแล้วถึงความตายสิ้นร้อยอัตภาพ

หลวงปู่หลุย จันทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง  จังหวัดเลย

กล่าวถึงบุพกรรมของพระอริยเจ้าทั้งห้ารูป​ ที่ส่งผลให้มามรณภาพพร้อมกันในอุบัติเหตุเครื่องบินตก หลวงปู่หลุย จันทสาโร พระเถระชั้นผู้ใหญ่​ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เล่าให้ฟังว่า

ในอดีตชาติ​ ท่านทั้งห้าเกิดในสกุลชาวนาที่ยากจน ต้องขวนขวายหาเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ทั้งห้าคนเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกัน เมื่อยังเด็กได้จูงควายออกไปเลี้ยง​ ผูกควายแล้วก็พากันวิ่งเล่น​ หากบเขียดเป็นอาหาร​ ระหว่างนั้น​ เหลือบไปเห็นรังนก​ จึงช่วยกันหาไม้มาเขี่ยรังนกให้ตกลงมาโดยหวังจะเอาไข่นกไปกิน แต่เมื่อรังนกตกลงมา​ กลับกลายเป็นลูกนกสามตัว​ เสียชีวิต​ทั้งหมดเพราะตกจากที่สูง​ ไม่ใช่ไข่นกดังที่เข้าใจ​ และขณะที่เด็กผู้ชายทั้งห้าคนกำลังเขี่ยรังนกอยู่นั้น มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง​ เป็นน้องสาวของเด็กในกลุ่ม​ ก็มายืนส่งเสียงเชียร์อยู่ใกล้ ๆ​ ด้วยความยินดี​ว่า​ "จะหล่นแล้ว​ จะหล่นแล้ว" 

วิบากกรรมอันนี้​ ส่งผลข้ามภพข้ามชาติให้ท่านทั้งห้าตกจากที่สูงลงมามรณภาพ

ในเครื่องบินลำที่เกิดอุบัติเหตุนั้น​ มีสตรีสูง​ศักดิ์​ท่านหนึ่งเป็น​คุณ​หญิง​โดย​สารมาด้วย​ คือศาสตราจารย์​ คุณหญิงไขศรี​ ณ​ ศีลวันต์​ ภริยาของ​ ฯพณฯ​ ดร.เชาว์​ ณ​ ศีลวันต์​ องคมนตรี​ ท่าน​เป็นผู้ที่มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็น​อย่างยิ่ง ทั้งได้ปฎิบัติธรรมและฝึกสมาธิวิปัสสนา​อยู่เสมอ​ ท่านเป็นผู้ไปอาราธนาพระคณาจารย์​ทั้งห้ารูปเพื่อมาในกิจนิมนต์สำคัญ​​ แต่แล้วกลับต้องประสบอุบัติเหตุ​เสียชีวิตระหว่างเดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน​ สตรี​สูงศักดิ์ท่านนี้ ในอดีตชาติ​ก็คือเด็กผู้หญิง​ที่ยืนส่งเสียงเชียร์อยู่​ใกล้ ๆ​ ขณะที่เด็กผู้ชาย​ทั้ง​ห้าคนกำลังเอาไม้เขี่ย​รังนก

เพียงมีจิตคิดยินดีในการประกอบอกุศลกรรมของผู้อื่น วิบากนั้นยังส่งผลให้เกิดในภพชาติเดียวกัน บันดาลให้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกพร้อม​กัน​ หลวงปู่หลุยท่าน​จึงย้ำสอนว่า​ ไม่ควรยินดีในการทำชั่วของผู้อื่น เพราะเราจะมีส่วนในบาปนั้นด้วย แต่ให้ยินดีในการประกอบคุณงามความดีของตนและของผู้อื่น เพราะจะได้แต่บุญโดยฝ่ายเดียว

ภาพพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ล้างปากหลังฉันอาหารเสร็จ
ขณะถ่ายภาพนี้ ผู้ถ่ายภาพ ผู้นั่งอยู่เบื้องหน้าพระอาจารย์จวนสิบกว่าคน
รวมถึงพระที่นั่งฉันอยู่ด้านข้าง ไม่เห็นเปลวไฟแต่อย่างใด
แต่เมื่อล้างฟิล์มและอัดภาพออกมา เห็น "ไฟในบาตร"

กล่าวถึงประวัติของพระอาจารย์​จวน​ กุลเชฏโฐ​ โดยย่อ​ ท่าน​เกิดในสกุล​ "นรมาส" เมื่อที่​ 10 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2463 ตรง​กับ​วัน​เสาร์​ แรม ​10 ค่ำ​ เดือน 8​ ปีวอก ณ​ บ้านเหล่ามันแกว​ ตำบล​ดงมะยาง​ อำเภอ​อำนาจเจริญ​ จังหวัดอุบลราชธานี​ (ปัจจุบัน​คือ​อำเภอ​ลืออำนาจ จังหวัด​อำนาจเจริญ)​

เมื่ออายุ​ 15 ปี​ ได้​พบกับพระธุดงค์​ที่มาปักกลดอยู่​ใกล้บ้าน​ พระธุดงค์ได้​มอบ​หนังสือ​ "ไตรสรณาคมน์" ของ พระอาจารย์​สิงห์​ ขนฺตยาคโม​ ให้นำไปลองปฏิบัติ​ เริ่มตั้ง​แต่​การสวดมนต์​ไหว้พระ​ นั่งสมาธิ​ภาวนา​ ท่านฝึก​หัดด้วยตนเองตามลำพัง​ แม้ไม่มีใครช่วยชี้แนะให้ก้าวหน้าขึ้น​ ​แต่ก็ช่วยให้จิตใจสงบ​เย็น​  

(ซ้าย) สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
(ขวา) พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)

ต่อมาได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ​"จตุรารักข์" ของพระอาจารย์เสาร์  กนฺตสีโล เกิดความสลดสังเวชใจว่า​ คนเราขณะยัง​มีชีวิต​อยู่​ หากไม่​ประกอบ​คุณ​งาม​ความดี​ ก็​ไม่มีประโยชน์​แก่ชีวิต​ในชาติ​นี้​ ทั้ง​ยังไม่มีโอกาส​จะได้รับ​ความ​สุข​ต่อไป​ในชาติหน้า​ ท่านเกิดศรัทธา​ถึงกับสละเงินที่เก็บออมระหว่างทำงานทั้งหมด​เป็น​เจ้าภาพ​มหากฐิน​คนดียว สร้าง​พระ​ประธาน​ สร้างห้องสุขาในวัด

"จตุรารักข์" หรือ "จตุรารักขกัมมัฏฐาน" เป็นพระนิพนธ์​ของสมเด็จ​พระวันรัต​ (ทับ​ พุทฺธสิริ)​ พระมหาเถระผู้ก่อตั้งวงศ์ธรรมยุติกนิกายร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะทรงพระผนวช สมเด็จท่านเป็นผู้มีความรู้แตกฉานใน​พระไตรปิฎก​และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างลึกซึ้ง มีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมใส เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหาร และทรงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี จากวัดราชาธิวาส มาครองวัดเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

"จตุรารักขกัมมัฏฐาน" ​กล่าวถึงการปฏิบัติ​กรรมฐาน ​4 ข้อ คือ​ การระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย​ การเจริญเมตตา​ การพิจารณา​อสุภะและ​มรณสติ​ การเจริญวิปัสสนา​กรรมฐาน​ เป็นหลักธรรมซึ่งพระอาจารย์​เสาร์​ กนฺตสีโล ได้อ่านแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นำไปเผยแพร่และอบรมสั่งสอนสานุศิษย์

เมื่ออายุครบ ​21 ปี​ ได้อุปสมบท​เป็น​พระภิกษุ​ฝ่ายมหานิกาย​ ณ วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง มีพระอาจารย์บุเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า​ "พระจวน​ กลฺยาณธมฺโม" 

ระหว่าง​ที่บวชเป็น​พระ​บ้านอยู่​นั้น ท่านคิดจะญัตติเป็น​ธรรมยุตและออกธุดง​ค์ตามรอยพระธุดงคกรรมฐาน แต่อุปัชฌาย์​ท่านไม่ให้ญัตติ​ ให้สึกเสียก่อน​ ท่านจึง​ลาสิกขา​ออกมา​เป็น​ฆราวาส​ชั่วคราว​และเสาะแสวงหา​อาจารย์​สอนกรรมฐาน​จนมาพบสำนักวัดป่าสำราญ​นิเวศ​ อำเภอ​อำนาจเจริญ จังห​วัด​อุบลราชธานี​ (ปัจจุบัน​เป็นอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ) จึงอุปสมบท​เป็น​พ​ระภิกษุ​ฝ่ายธรรมยุต​ เมื่อวันที่​ 24 ​มีนาคม​ พ.ศ. 2486 มี พระครู​ทัศนวิสุทธิ (พระมหาดุสิต​ เทวิโร)​ เป็น​พระอุปัชฌาย์​ พระอุปัชฌาย์นี้ เป็นหลานของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ได้เพียงห้าวันก็มาอุปสมบทพระอาจารย์จวน นับเป็นนาคแรกของท่าน จึงตั้งฉายาให้พระอาจารย์​จวนว่า​ "กุลเชฏโฐ" มีความหมาย​ว่าเป็นพี่ชายคนโตของวงศ์​ตระกูล​​ ภิกษุ​รูปที่สองที่พระอุปัชฌาย์​นี้บวชให้ต่อมาคือ​ พระอาจารย์​สิงห์​ทอง​ ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล​ ซึ่งพระอาจารย์​จวนได้มาน​ั่งหัตถบาสอยู่ด้วย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ท่านได้กำหนดจิตดูพระอาจารย์จวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า
"กาเยนะ วาจายะ วะเจตะ วิสุทธิยา
ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม"

พระ​อาจารย์​จวนได้มีโอกาสศึกษา​และอยู่ปฏิบัติ​ธรรมกับ​พระอาจารย์​มั่น​ ภูริทัต​ตเถระ​ เป็นเวลานานถึงหนึ่งปีเต็ม ตั้งแต่ออกพรรษา​ที่ 3 ได้เพียงห้าวันและอยู่ตลอดพรรษาที่ 4 (ราวปี พ.ศ. 2489) เวลานั้น​ ​พระอริยคุณาธาร​ (เส็ง​ ปุสฺโส) มาตรวจงานคณะสงฆ์​ทางภาค​อิสาน​ พระครูทัศนวิสุทธิ (พระมหาดุสิต​ เทวิโร)​ ผู้เป็นอุปัชฌาย์​จึงได้ฝากท่านไปกับท่านเจ้าคุณ​พระอริยคุณาธาร​ ขอให้นำไปอยู่กับพระอาจารย์​มั่น​ที่วัดป่าบ้านหนองผือด้วย

ขณะจำพรรษา​อยู่​ด้วย​พระอาจารย์​มั่น​ ได้ออกธุดงค์​ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอาจารย์​กงมา​ จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ และ​พระอาจารย์​ลี​ ธมฺมธโร​ วัดอโศการาม ตามลำดับ​ ภายหลัง​ท่านพระอาจารย์​มั่น​มรณภาพ​ ได้ฝากฝังท่านไว้กับ หลวงปู่ขาว​ อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

หลวงปู่ขาวเล่าให้พระอาจารย์จวนฟังว่า "..เวลาผมมาจากจังหวัดเชียงใหม่ แล้วเข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นถามผมว่า ท่านขาวรู้จักท่านจวนไหม ผมก็เรียนท่านว่าไม่รู้จัก ท่านก็ว่า ท่านจวนคนอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลฯ อำเภอเดียวกับท่านขาวน่ะ ท่านจวนมาอยู่กับผมนี้ ต่อไปขอฝากท่านจวนด้วย ขอให้ท่านช่วยกำกับดูแลรักษาท่านจวนด้วย รักษาท่านจวนเน้อ อย่าปล่อยไป ให้รักษากัน..."

พระอาจารย์​จวนกล่าวเสมอว่า​ สืบต่อ​จาก​พระอาจารย์​มั่น​แล้ว​ เท่ากับ​หลวงปู่ขาวปั้นท่าน​มากับมือ​ เวลาท่านกราบทำความเคารพ​หลวงปู่ขาวตามประเพณี​แล้ว​ ท่านจะยกเท้าของหลวงปู่ขาวขึ้นวาง​บน​ศีรษะ​ของท่าน​ เป็น​การแสดง​ความเคารพ​อย่างสูง​สุด​

(ซ้าย) หลวงปู่ขาว อนาลโย
(ขวา) พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

พระอาจารย์​จวนมาอยู่ที่ภูทอกตั้งแต่​เดือน​มกราคม​ พ.ศ. 2512​ (พรรษที่ 27) มากับพระญาณสิทธาจารย์​ (หลวงปู่ทองพูล​ สิริ​กาโม)​ ตอน​แรก​อาศัย​อยู่​ที่​เชิงเขา​ บริเวณ​โดยรอบ​เป็น​ป่ารกชัฏ​ ปีแรก​ที่​มาจำพรรษาที่ภูทอกนี้ มีพระ 3 รูป​ ผ้า​ขาว​น้อย 1 คน​ ปลูกกะต๊อบพออาศัย​อยู่​ชั่วคราว​ 4 หลัง​ เวลาพลบค่ำ​ พระอาจารย์​จวน​จะ​ขึ้น​ไป​นอน​บนชั้น 5 โดยปีนตามเครือเถาวัลย์​ สมัย​นั้นยัง​เป็น​ป่าทึบ​มีต้นไม้​ขึ้น​หนาแน่น​ ปัจจุบัน​เป็นถ้ำวิหารพระ

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม)
ท่านเป็นผู้บุกเบิกและสร้างสะพานไม้รอบภูทอกร่วมกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

การบิณฑบาต​ในระยะแรกขาดแคลน​มาก​ พระเณร​เจ็บ​ไข้​กันบ่อย​ ถูกเทวดาประจำภูเขา​หลอก​หลอน​ ดึง​ขา​บ้าง​ ปลุกให้ลุกขึ้นมาทำความเพียร​บ้าง​ พระ​อาจารย์​จวน​ได้ตักเตือนพระเณรให้รักษา​ศีลให้บริสุทธิ์​ แผ่เมตตา​ ต่อมาภายหลัง​เกิด​นิมิต​ว่า​ เหล่าเทวดา​พากันน้อมถวาย​เขาลูก​นี้ให้กับพระอาจารย์​จวน​เป็นผู้รักษา​ไว้​ ส่วนเทวดาทั้งปวงจะพากันย้ายไปอยู่ข้าง​ล่าง

ปีต่อ ๆ มา​ ชาวบ้าน​ช่วย​กันสร้าง​สะพาน​รอบเขา​ กุฏิ​ ศาลา​ ขุดบ่อน้ำ สร้างถังกักเก็บน้ำ ห้องน้ำห้องส้วม ​ฯลฯ ภายหลังมีคณะศรัทธาจากต่างถิ่นเดินทางมามากขึ้น​ ได้ช่วยกันบริจาค​ทรัพย์​และกำลังกายสร้างถาวรวัตถุและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ปรากฏ​ให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

วันอาทิตย์ที่​ 27 ​เมษายน พ.ศ. 2523 พระอาจารย์​จวน กุลเชฏโฐ เดินทาง​​มากรุงเทพ​ฯ​ ด้วยกิจนิมนต์สำคัญและประสบอุบัติเหตุ​เครื่อง​บิน​ตก​ที่​คลองสี่​ อำเภอ​คลอง​หลวง​ จังหวัด​ปทุมธานี​ ถึงแก่มรณภาพ​พร้อมด้วยพระเถระ​อีก 5 รูป พระนวกะอีก 1 รูป รวมเป็น 7 รูป​ 

สิริรวมอายุท่านได้​ 59 ปี​ 9 เดือน​ 18 วัน​ 38 พรรษา


อ้างอิง           หนังสือ "กุลเชฏฐาภิวาท" คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต
ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

คุณานุภาพแห่ง "พระพุทโธ"


"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย
ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน 
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว 
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ 
ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ "
                                                                                                                                            ธชัคคสูตร

พุทโธ เป็นคำเรียกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุที่พระองค์ทรงได้พระนามว่า "พุทโธ" หรือ "พุทธะ" เพราะทรงหยั่งรู้ในอริจสัจจ์ทั้งสี่ คือธรรมอันเป็นไปซึ่งความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ เป็นวิมุตติคือความหลุดพ้น ถึงนิพพานอันเป็นภูมิที่สุดอันพึงได้พึงถึงในพระพุทธศาสนา

คำว่า พุทโธ หรือ พุทธะ ใช้ในภาษาบาลีว่าเป็นผู้ตื่น พุทโธหรือพุทธะ จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือรู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง ตื่นจากความหลับใหลต่าง ๆ ไม่ลุ่มหลงมัวเมายึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตใจจึงปลอดโปร่ง เบิกบาน และมีความสุข


จิตของคนเรานี้ชอบปรุงแต่ง คิดวุ่นวายฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ท่านเปรียบจิตเหมือนกับลิงที่อยู่ไม่สุข ชอบปีนป่ายกระโดดไปมา ส่วนสตินั้นเปรียบเสมือนเชือก การเอาเชือกผูกลิงไว้กับหลัก คือการเอาสติมาผูกจิตไว้กับสิ่งที่ดีงาม ไม่ปล่อยให้ล่องลอยไปกับความนึกคิดทั้งหลาย หรือความห่วงกังวลภายนอก

ในการเจริญพระกรรมฐาน ครูอาจารย์จึงสอนให้บริกรรมคำว่า "พุทโธ"  เป็นอารมณ์สำหรับให้จิตยึดเหนี่ยว พุทโธเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เป็นพระนามของผู้บริสุทธิ์ เป็นพระนามที่แสดงถึงปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ความตื่น และความเบิกบาน เป็นคำที่ดีงาม

การฝึกจิตให้สงบอยู่กับพุทโธ จิตจะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ปรุงแต่ง มีความมั่นคงแน่วแน่ โดยให้นึกในใจว่า พุท-โธ พุท-โธ ฯลฯ เป็นจังหวะ ๆ ไป หรือบริกรรมควบคู่ไปกับการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เช่น เมื่อหายใจเข้าก็ให้บริกรรมว่าพุท เมื่อหายใจออก ให้บริกรรมว่าโธ ให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกและพุทโธ เพื่อให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรณะที่เลิศประเสริฐสูงสุด

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

เมื่อครั้งที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แวะพำนักอยู่กับชาวเขาที่บ้านดงป่าดะ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ. 2479  ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เคยพบเห็นพระภิกษุสงฆ์มาก่อน เกิดความหวาดระแวงสงสัย เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเสือเย็นจำแลงมา จึงจัดเวรยามคอยเฝ้าระวัง และบอกเตือนกันมิให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปใกล้ แม้ผู้ชายก็ไม่ควรเข้าไปตามลำพัง ควรมีเพื่อนและอาวุธติดตัวไปด้วย

ในแต่ละวัน จะมีชาวบ้าน 3-4 คนผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาสังเกตการณ์ ยืนด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ใกล้ที่พักของพระอาจารย์มั่น บางครั้งก็มายืนอยู่ข้างทางเดินจงกรมบ้าง อยู่ที่หัวจงกรมบ้าง ในขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรมทำความเพียรอยู่ แต่ไม่พูดจาอะไร ท่านก็มิได้สนใจพวกเขา เวลาผ่านไปนานนับเดือน ก็ยังไม่พบอะไรที่ผิดสังเกต ชาวบ้านจึงคลายความหวาดระแวงลง เริ่มเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พากันมาสอบถามเพื่อให้หายข้องใจว่าทำไมบางครั้งถึงนั่งหลับตานิ่ง ๆ บางครั้งก็เดินกลับไปกลับมา

พระอาจารย์มั่นทราบด้วยวาระจิตว่าชาวบ้านเริ่มน้อมใจมาทางกุศลแล้ว จึงตอบพวกเขาไปว่า พุทโธของเราหาย เรานั่งและเดินหาพุทโธ ชาวบ้านถามต่อไปว่า พุทโธของตุ๊เจ้าหายไปนานแล้วหรือ หน้าตาเป็นอย่างไร พวกเราจะช่วยตุ๊เจ้าหาได้ไหม ท่านตอบว่า พุทโธเป็นดวงแก้ว ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ใครหาพุทโธพบ คนนั้นประเสริฐ มองเห็นอะไรได้ตามใจหวัง ถ้าสูเจ้าจะช่วยเราหาก็ยิ่งดีมาก จะได้เห็นพุทโธเร็ว ๆ

ชาวบ้านยังคงสงสัย ถามว่าพุทโธเป็นแก้วสีอะไร มองเห็นสวรรค์นรกได้ไหม มองเห็นญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วได้ไหม ผู้หญิงช่วยหาได้ไหม เด็ก ๆ ช่วยหาได้ไหม ฯลฯ  พระอาจารย์มั่นตอบว่า พุทโธเป็นดวงแก้วสว่างไสว สว่างมากยิ่งกว่าพระอาทิตย์ตั้งร้อยดวงพันดวง ส่องสว่างมองเห็นนรกสวรรค์ได้ ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ใครหาก็ได้ทั้งนั้น เป็นสมบัติวิเศษของพระพุทธเจ้า ผีก็กลัวพุทโธ ใครที่หาพุทโธ แม้ยังไม่พบ ผีก็เริ่มกลัวผู้นั้นแล้ว  ถ้าสูเจ้าจะช่วยเราหาพุทโธจริง ๆ เวลานั่งหรือเดิน ให้นึกในใจว่าพุทโธ ๆ ถ้าทำอย่างนี้ สูเจ้าอาจเจอพุทโธก่อนเราก็ได้

เวลาผ่านไปไม่นานนัก มีชาวบ้านคนหนึ่งกลับมารายงานพระอาจารย์มั่น เล่าให้ท่านฟังว่าได้บริกรรมพุทโธตามวิธีที่ท่านแนะนำ มีอยู่คืนหนึ่งฝันไปว่า พระอาจารย์มั่นเอาเทียนเล่มใหญ่ที่จุดไฟสว่างไสวไปติดไว้บนศีรษะของเขา เขาดีใจมากที่ได้ของดี มีความสว่างไสวแผ่ออกไปรอบกายตั้งหลาย ๆ วา  การนึกบริกรรมพุทโธทำให้เขาเกิดความสงบสุขทางใจอย่างอัศจรรย์ ทั้งยังสามารถหยั่งรู้จิตใจของผู้อื่นได้อีกด้วย  เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ชาวบ้านก็พากันภาวนาพุทโธไปตาม ๆ กัน ผู้ใดมีความชำนาญมากขึ้น ท่านก็ให้คำแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมไปตามลำดับ

ชาวบ้านให้ความเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์มั่นมาก พากันมาศึกษาข้อธรรมจากท่านทุกวัน คอยดูแลปรนนิบัติเรื่องบิณฑบาตมิให้ขาดตกบกพร่อง กุฏิที่พัก ทางเดินจงกรม ก็ทำถวายให้ใหม่โดยที่ท่านมิได้บอกกล่าวร้องขอ เมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องจากไป ชาวบ้านต่างพากันร้องไห้ อ้อนวอนขอให้ท่านอยู่ต่อ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่วิ่งออกมารุมล้อม แย่งเอาบาตรบริขาร ฉุดชายสบงจีวร กอดแข้งกอดขาท่านดึงกลับเข้าที่พัก เมื่อท่านปลอบโยนและอธิบายเหตุผลให้ฟัง จึงค่อยพากันสงบลงและยอมปล่อยท่านไป แต่พอก้าวออกจากที่พักไปได้ไม่เท่าไร ต่างก็พากันร้องไห้ฉุดท่านกลับมาอีก เป็นอย่างนี้อยู่นานหลายชั่วโมง กว่าจะจากไปได้ก็ทุลักทุเลด้วยความสงสารและสลดสังเวชใจ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นศิษย์อาวุโสของพระอาจารย์มั่น เป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนออกธุดงค์ไปด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง อุปนิสัยของหลวงปู่ทั้งสองรูปแตกต่างกันมาก แต่ก็ไปด้วยกันได้ดี หลวงปู่ตื้อเป็นคนโผงผาง พูดตรง ไม่กลัวใคร บางครั้งก็ทำอะไรแปลก ๆ ผิดไปจากสมณะรูปอื่น แต่ท่านเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์มั่นให้ความไว้วางใจมาก และพูดเตือนศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า "ใครอย่าไปดูถูกท่านตื้อนะ ท่านตื้อเป็นพระเถระ"

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ตื้อและหลวงปู่แหวนออกธุดงค์ด้วยกันใหม่ ๆ ไปทางแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ตอนจะข้ามแม่น้ำโขง ท่านหาเรือไม่ได้ เรือนแพในละแวกนั้นก็ไม่มี หมู่บ้านใกล้สุดก็อยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่าหนึ่งกิโลเมตร หลวงปู่ตื้อบอกกับหลวงปู่แหวนว่า ไม่ต้องวิตก เดี๋ยวก็มีเรือมารับเราข้ามฟากไป แล้วท่านก็ยืนนิ่งหลับตาบริกรรมอยู่ครู่หนึ่ง สักพักก็มีเรือหาปลาผ่านมารับท่านพาข้ามฟากไป คนเรือบอกว่า ขณะที่กำลังหาปลาอยู่กลางแม่น้ำ มีความรู้สึกสังหรณ์ใจว่ามีพระกำลังรอเรือข้ามฟาก จึงพายเรือมาดู ก็พบพระคุณเจ้าทั้งสอง

หลวงปู่ตื้อเล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า เมื่อออกธุดงค์ไปตามป่าเขาที่ห่างไกลผู้คน ท่านจะภาวนาพุทโธเป็นอารมณ์ ทำให้เกิดกำลังใจ จิตใจแช่มชื่น บรรเทาความหิวและความกระวนกระวายได้

การท่องธุดงค์ไปในป่าเขาที่ไม่พบผู้คนเลยนั้น บางคราวไม่ได้ฉันอาหารติดต่อกัน 7-15 วัน บางคราวต้องผจญกับสัตว์ร้ายต่าง ๆ เช่น เสือ หมี งู ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่พระธุดงค์ในสมัยก่อนจะพบเห็นอยู่เสมอ การภาวนาให้จิตยึดพุทโธเป็นอารมณ์  สัตว์ร้ายจะไม่ทำอันตราย แต่หากจิตมัวแต่พะวง กลัวตายจนลืมภาวนาพุทโธ ก็อาจถูกทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อเผชิญกับภูติผีปีศาจก็เช่นกัน อานุภาพของพุทโธ และจิตที่เป็นสมาธิ ช่วยป้องกันภูติผีปีศาจต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ แก่เราได้ และเมื่อเราแผ่เมตตาให้ พวกนั้นก็ยินดีน้อมรับส่วนบุญ กลับกลายมาผูกมิตรกับเราเสียอีก ในลมหายใจเข้าออกจึงมีพุทโธเป็นประจำ ขาดไม่ได้ หลวงปู่ตื้อท่านว่า คำว่า "พุทโธ" นี้ ผีกลัวเกรงมากที่สุด

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

เวลาที่ท่านออกธุดงค์ จะมีเทพยดา วิญญาณ โอปปาติกะ มาปรากฏตัวลองดีกับท่านอยู่บ่อยครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านไปปักกลดบริเวณถ้ำผาบ่อง ขณะกำลังนั่งทำสมาธิ ได้เกิดแสงสีรุ้งสว่างจ้าครอบมุ้งกลดของท่าน มีพลังบีบคั้นเข้าไปถึงจิตใจ ทำให้อึดอัด หายใจไม่ออก ธาตุขันธ์อ่อนลงอย่างรู้สึกได้ชัด หลวงปู่ตื้อยังคงบริกรรมพุทโธต่อไป แสงสีรุ้งก็ค่อย ๆ คลายความสว่างจ้าลง แล้วก็หายไป กลายเป็นมือขนาดใหญ่มาครอบลงบนมุ้งกลดแทน ท่านเล่าว่ารู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง แต่ยังคงตั้งสติมั่นอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ๆ

สักครู่หนึ่งก็ปรากฏร่างคนตัวดำสูงใหญ่ราวสิบศอก เดินมาหยุดอยู่หน้ามุ้งกลด หลวงปู่ส่งเสียงถาม ก็ไม่มีเสียงตอบ ครู่เดียวก็หายไป สักพักก็กลับมาอีก กลายเป็นชีปะขาว ดูท่าทางยังหนุ่มอยู่มาก หลวงปู่ถามว่า ใครเป็นผู้ทำแสงสายรุ้งครอบมุ้งกลดของเรา ใครเป็นผู้ทำนิ้วมือใหญ่ ทำเพื่อประโยชน์อันใด ชีปะขาวหนุ่มยอมรับว่าเป็นผู้ทำทั้งหมด เพื่อทดสอบจิตใจของหลวงปู่เล่นเฉย ๆ

หลวงปู่ตื้อจึงอบรมสั่งสอนไปว่า การที่จะทดลองกับลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าให้มีความกลัวนั้น ไม่มีผลเสียแล้ว เพราะสมณะอย่างเรา ไม่กลัวอะไร จะตายก็ไม่เสียดายอะไร เพราะว่าเราได้นับถือและมอบกายถวายชีวิตให้กับพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเทพยดา มนุษย์ สัตว์นรก ต่างให้ความเคารพเลื่อมใสพระพุทธเจ้าทั้งนั้น นอกเสียจากวิญญาณที่หลงตายเท่านั้นที่จะมาหลอกกันให้ยืดยาว เสียเวลาในการสร้างบุญบารมี  วิญญาณในร่างชีปะขาวก้มกราบขอขมา รับศีลรับพรแล้วกราบลาท่านไปด้วยอาการเคารพนอบน้อม


การระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอนุตตริยะ ไม่มีความระลึกอื่นใดจะยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่า ชนทั้งหลายเหล่าใดเลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้า ชนทั้งหลายเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสแล้วในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรงพระชนม์ ประทับอยู่ ณ เชตวนารามของท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ใกล้นครสาวัตถี ได้ตรัสเรื่องเทวาสุรสงครามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทพและอสูรได้เกิดประชิดติดพันกันขึ้น ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ของเทพยดาทั้งหลาย เรียกประชุมเทพยดาชั้นดาวดึงส์ ตรัสสั่งว่า ถ้าเทพผู้เข้าสงครามเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้า ก็ให้มองดูยอดธงของพระองค์ หรือไม่เช่นนั้น ก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชลำดับรองลงไปชื่อ ปชาบดี หรือไม่เช่นนั้นก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ วรุณ หรือ ไม่เช่นนั้น ก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ อีสาน ความกลัว ความหวาด ความขนพองสยองเกล้าก็จักหายไป

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องเทวาสุรสงครามในอดีตดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อพวกเทพที่เข้าสงครามมองดูยอดธงของท้าวสักกะจอมเทพหรือของเทวราชอีกสามองค์นั้น ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้า จักหายไปก็ได้ ไม่หายไปก็ได้ เพราะเหตุที่ท้าวสักกะจอมเทพยังมิใช่ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ยังมีความกลัว ความหวาด ความสะดุ้ง ยังต้องพ่ายหนี

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระรัตนตรัยนั้นทรงคุณวิเศษ ทรงอานุภาพ ทรงอภินิหารเกินกว่าท้าวเทพทั้งสี่นั้น เป็นดั่งธงชัยของเหล่าภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไปเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเปลี่ยวก็ดี โคนไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี หากเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าขึ้น พึงระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ เมื่อระลึกถึงอยู่ดั่งนี้ ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะเหตุที่พระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่พ่ายหนี

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19

แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว ก็เพียงไม่มีร่างเหลืออยู่เท่านั้น แต่พระพุทธบารมียังปกปักรักษาโลกอยู่ มิได้แตกต่างไปจากเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนม์ เพียงแต่ว่าต้องเปิดใจออกรับ การเปิดใจรับพระพุทธบารมีไว้คุ้มครองรักษาตนนั้นไม่ยาก เพียงน้อมใจนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึง "พุทโธ" อันเป็นยอดของความดีอยู่เสมอ ก็จะมีชีวิตที่สุขสงบสวัสดีได้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 ทรงอธิบายว่า ทุกชีวิตที่เกิดมา มีมือแห่งอกุศลกรรมคอยตามตะครุบอยู่ อันเป็นผลแห่งกรรมไม่ดีที่ได้กระทำไว้ในอดีตชาติ เพราะทุกคนล้วนผ่านภพชาติมาแล้วยาวนานนับไม่ถ้วน กระทำกรรมไว้มากมาย ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ชีวิตในปัจจุบันจึงมิได้ราบรื่นเสมอไป มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เหมือนรถบรรทุกขนาดใหญ่สองคันขับแซงกันไปมา คันหนึ่งบรรทุกแก้วแหวนเงินทองมาเต็มคันรถเพื่อยกแก้วแหวนเงินทองเหล่านั้นให้กับเรา ในขณะที่อีกคันหนึ่งกำลังแล่นไล่ทับเราอยู่อย่างหวุดหวิดน่าหวาดเสียว แต่ที่ยังไม่บดขยี้เราก็เพราะพลังแห่งกุศลกรรมที่กระทำในปัจจุบันยังมีแรงพาเราหนีไปได้ทัน

พลังสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะพาเราหนีพ้นมือแห่งอกุศลกรรมไปได้ คือ การน้อมใจนึกถึงพระพุทธเจ้าให้จริงจัง นึกถึง "พุทโธ" ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ

ตัวอย่างเช่น คนเมาสุราขับรถ ผู้ที่กรรมตามทันก็จะถูกรถนั้นชนถึงตายหรือพิการ บาดเจ็บสาหัส เสียเงินเสียทองรักษาพยาบาล  แต่หากผู้ที่่กรรมตามติดอยู่ กำลังหนีกรรมอย่างเต็มกำลังด้วยการประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ นึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอด้วยการท่องพุทโธให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ พุทโธเปรียบได้กับพลังจิตอันแรงกล้า สามารถสะกดผู้ขับรถซึ่งกำลังมึนเมาด้วยฤทธิ์สุราให้หยุดรถเสียทันก่อนจะพุ่งเข้าชนเป้าหมายคือผู้ที่กรรมตามติดอยู่ ให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้อย่างน่าอัศจรรย์


โยมผู้หนึ่ง เล่าให้สมเด็จพระญาณสังวร มีผู้ได้ยินได้ฟังกันหลายคน เธอบอกว่า เธอมีบุญมากที่มี พุทโธ เป็นที่พึ่งที่แท้จริงตลอดมา ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเลยทีเดียว คือวันหนึ่ง เธอลงว่ายน้ำในคลองใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนคลองในเมืองไทยมีมาก ขณะที่กำลังสนุกสนานอยู่กับการเล่นน้ำ ก็รู้สึกว่ามีมือลึกลับมาจับขาเธอฉุดลงใต้น้ำอย่างไม่มีทางดิ้นรนสลัดให้หลุดพ้นมือร้ายนั้นได้ ในขณะนั้น เธอรู้สึกว่า ตัวเองกำลังจะจมน้ำตายโดยที่ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครมาช่วยได้แน่

ด้วยความเป็นเด็กที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทำให้นึกขึ้นได้ว่า เมื่อมีผู้ใกล้จะสิ้นใจตาย จะมีการบอกทางแก่ผู้นั้นว่า ให้ท่องพระพุทโธไว้ และบางคนก็ได้รับการบอกทางว่า พระพุทโธ พระพุทโธ จนสิ้นใจ

ความคิดนี้เกิดขึ้นขณะที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตายแน่แล้ว เธอท่อง "พระพุทโธ" ในใจทันที โดยมิได้เปล่งเสียงออกมาเพราะกำลังจมดิ่งลงสู่ใต้น้ำ พอ "พระพุทโธ" กึกก้องขึ้นในใจเธอเท่านั้น มือพิฆาตก็ปล่อยเธอให้เป็นอิสระทันที ได้โผล่ขึ้นพ้นน้ำ รอดตายยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ ชีวิตของโยมผู้นั้นจึงมี "พระพุทโธ" เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดมา

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เคยเล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ศิษย์ผู้หนึ่งของท่าน มีความทุกข์ใจมาก เพราะถูกขอยืมเงินไปสองแสนบาท สัญญาว่าจะใช้คืนเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่พอถึงเวลา ก็ไม่ได้คืน เมื่อไปทวงถาม ก็ถูกปฏิเสธ บิดพลิ้วต่าง ๆ นา ๆ ท่านเจ้าของเงินมีความจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ จึงไปกราบอ้อนวอนพระอาจารย์ฝั้นให้ช่วยภาวนาเพื่อให้ได้เงินคืน

พระอาจารย์ฝั้นได้แนะนำวิธีให้ศิษย์ของท่านนำไปปฏิบัติ คือทุกครั้งที่สวดมนต์ไหว้พระแล้ว ให้อธิษฐานจิตขอให้ผู้เป็นลูกหนี้นำเงินจำนวนนั้นมาคืนเถิด เมื่ออธิษฐานจิตแน่วแน่แล้ว ก็ให้หยุดความคิดถึงเงินนั้นให้เด็ดขาดไป จากนั้นเพ่งจิตไปภาวนาพุทโธ พุทโธ ฯลฯ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จิตรวมเมื่อไหร่ก็ได้เงินคืนเมื่อนั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ศิษย์ผู้นั้นก็กลับมาหาพระอาจารย์ฝั้น หน้าตาแช่มชื่นมีความสุข เล่าว่า เมื่อเขาสวดมนต์ไหว้พระ อธิษฐานแล้วก็หยุดคิดถึงเงิน หยุดคิดถึงคำอธิษฐาน ตั้งใจภาวนาพุทโธ ตามที่พระอาจารย์แนะนำ เพียงสามวันจิตก็เริ่มสงบ เกิดความสว่างไสว ลูกหนี้ก็นำเงินมาใช้คืนให้ครบถ้วนโดยมิต้องทวงถาม


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของพระอาจารย์มั่น เป็นสหธรรมิกใกล้ชิดกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จังหวัดอุดรธานี  พระอาจารย์ฝั้นแนะนำญาติโยมพุทธบริษัทให้ตั้งใจภาวนาพุทโธเสมอ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ท่านบอกว่า "พุทโธคือพระพุทธเจ้า พุทธะคือความรู้" 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปวัดป่าอุดมสมพรหลายครั้ง และเมื่อพระอาจารย์ฝั้นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทรงโปรดฯ อาราธนาแสดงธรรมในพระราชฐาน บางคราวรับสั่งสนทนาธรรมจนดึกมาก พระอาจารย์ฝั้นนั่งอยู่ในอิริยาบทเดียวเป็นเวลานาน ลุกไม่ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าช่วยพยุงพระอาจารย์ด้วยพระองค์เอง

(ซ้าย) พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
(กลาง) พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
(ขวา) พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่จดจำและประทับใจของเหล่าพุทธบริษัทและศิษยานุศิษย์ คือ ปี พ.ศ. 2487 พระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่อุปัฏฐากพระเถระที่กำลังอาพาธสองรูป เวลากลางคืน ท่านต้องไปอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ที่วัดสุปัฏนาราม ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสี่ทุ่มบ้าง หกทุ่มบ้าง จึงจะได้กลับวัด เวลาเช้าออกรับบิณฑบาตแล้ว ท่านจะไปฉันเช้าที่วัดป่าแสนสำราญ ฝั่งอำเภอวารินชำราบ และประกอบยารักษาโรคถวายพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

ระหว่างนั้นอยู่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองอุบลราชธานีมีทหารญี่ปุ่นเข้าไปตั้งมั่นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอยู่เสมอ สัปดาห์ละสองครั้งบ้าง สามครั้งบ้าง ถ้าวันไหนจะมีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้นจะเตือนให้ศิษย์ของท่านรู้ล่วงหน้า ให้พระเณรรีบทำกิจให้เสร็จแต่โดยเร็วและเตรียมหลบภัยกันให้ดี พอตกกลางคืนก็มีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดจริง ๆ 

บางคราวกลางวันแสก ๆ ท่านบอกลูกศิษย์ว่าเครื่องบินกำลังมาแล้ว รีบไปหลบภัยกันเสีย พระเณรต่างมองหน้ากันด้วยความสงสัย แต่ไม่นานนัก ก็มีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดจริง ๆ ชาวบ้านต่างหอบลูกจูงหลานมาหลบภัยอยู่ภายในบริเวณวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้นจะลงจากกุฏิมาปลอบขวัญชาวบ้านให้อยู่ในความสงบ และให้ภาวนา พุทโธ ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่


การอัญเชิญพระพุทโธมาสถิตไว้ในใจสม่ำเสมอนั้น มีผลประเสริฐเลิศล้ำแน่นอนที่สุด เสียงพุทโธที่กึกก้องอยู่ในใจ เป็นเหมือนเสียงร้องขอรับพระเมตตาจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ช่วยพาให้พ้นมือร้ายแห่งกรรมขณะต้องเผชิญกับภัยอันตราย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลืออยู่นั้น ก็ต้องพยายามพาตนเองหลีกหนีให้ไกลจากมือร้ายแห่งกรรมอย่างเต็มสติปัญญาความสามารถด้วย คือไม่ปล่อยชีวิตให้เกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งสกปรกโสโครกของความไม่มีศีลไม่มีธรรม ให้กิเลสถมทับจิตใจจนเสียงพระพุทโธไม่สามารถปรากฏกึกก้องขึ้นในใจ  พระพุทโธสูงส่ง สะอาดบริสุทธิ์หาที่เปรียบมิได้ จึงต้องชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ สมควรแก่การอัญเชิญพระพุทโธเข้าไปประดิษฐาน


จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา .. เมื่อจิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป
จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา .. เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป

ผู้มีปัญญา ย่อมเพียรพยายามประกอบกุศลกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ ๆ ระมัดระวังรักษาจิตมิให้ตกไปสู่ฝ่ายอกุศล หากพลาดพลั้งไปแล้วก็ต้องรีบถอนตัว การปล่อยจิตให้จมอยู่กับอกุศล ชวนะของเราก็จะเสพอกุศลไปนาน เมื่อสั่งสมอยู่ในจิต จะให้ผลเสียทั้งในทางอุปนิสัย และนำไปสู่ที่ชั่ว ร่างกายแตกดับเมื่อไร อกุศลที่เสพไว้มาก สะสมไว้มาก ก็จะมาปรากฏ ทำให้ขณะเมื่อใกล้จะตาย มีแต่เรื่องอกุศลผุดขึ้นมาให้ตรึกระลึกถึง ซึ่งไม่ส่งผลดี

แม้ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีมาตลอดชีวิต แต่ในขณะที่ใกล้จะตายนั้น หากจิตเกิดความเศร้าหมอง เช่น โกรธ พยาบาท รู้สึกผิด ห่วงกังวล เป็นอาสันนกรรมฝ่ายอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีอำนาจส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

ส่วนผู้ที่ไม่เคยคิดจะสร้างกุศลแต่อย่างใดในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ครั้นเจ็บป่วย รู้ตัวว่าคงไปไม่รอดแน่ เกิดความกลัวว่าเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะต้องตกไปสู่ที่ลำบาก จึงคิดอยากจะสร้างบุญกุศลขึ้นมาในทันใด จิตที่เบิกบานยินดีในกุศลนี้ มีอำนาจส่งผลให้ไปเกิดในสุคติภูมิได้เช่นกัน

อาสันนกรรมหรือกรรมที่กระทำในเวลาใกล้จะตายนี้ แม้มีกำลังเพียงเล็กน้อย ก็อาจให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ อุปมาเหมือนโคแก่ เมื่อนายโคบาลต้อนฝูงโคให้เข้าไปอยู่ในคอก โคหนุ่มสาวแข็งแรงปราดเปรียว ก็เข้าไปเลือกหาที่นอนได้ก่อนตามความพอใจ ส่วนโคแก่ แข้งขาหูตาไม่ดี เพิ่งจะเดินงุ่มง่ามมาถึงประตูคอก จะหาที่หลับนอนให้ได้ดั่งใจก็ถูกจับจองไปหมดแล้ว จึงล้มตัวลงนอนที่ประตูคอก พอถึงเวลาเช้า เมื่อนายโคบาลมาต้อนโค โคแก่ก็ย่อมได้โอกาสออกจากคอกก่อนโคทั้งปวง


ความตอนหนึ่งใน มิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระอรหันต์นาคเสนว่า ผู้ที่ทำบาปกรรมเรื่อยมาแม้ตั้งร้อยปี แต่ถ้าเวลาจะตายมีสติระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ ก็ย่อมนำไปเกิดในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำบาปแม้แต่ครั้งเดียว ก็ย่อมไปบังเกิดในนรกนั้น ดูไม่สมเหตุสมผล ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย

พระนาคเสนทูลว่า ขอถวายพระพร  ศิลาแม้ก้อนเล็กโดยลำพังจะลอยน้ำได้หรือไม่ พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า ไม่ได้

พระนาคเสนทูลถามต่อไปว่า แล้วถ้าศิลาร้อยเล่มเกวียน แต่อยู่ในเรือ ศิลานั้นจะลอยน้ำได้หรือไม่ พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า ได้สิ

พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร เปรียบบุญกุศลเหมือนเรือ บาปกรรมเหมือนศิลา อันคนที่กระทำบาปอยู่เสมอจนตลอดชีวิต ถ้าเวลาจะตายมิได้ปล่อยจิตใจให้ตามระทมถึงบาปที่ตัวทำมาแล้วแต่หลังนั้น สามารถประคองใจไว้ในแนวแห่งกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจทำใจให้แน่วแน่อยู่เฉพาะแต่ในพระคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าตายลงในขณะแห่งจิตดวงนั้น ก็เป็นอันหวังได้ว่าไปสุคติ ประหนึ่งศิลาที่มีเรือทานน้ำหนักไว้มิให้จมลงฉะนั้น ส่วนผู้ที่กระทำบาปที่สุดแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าเวลาใกล้จะดับจิต เพียงแต่จิตหวนไปพัวพันถึงกิริยาอาการที่ตัวกระทำบาปกรรมไว้เท่านั้น จิตดวงนั้นก็หนักพอที่จะถ่วงตัวให้ลงไปเกิดในนรก เหมือนศิลาที่เราโยนลงในน้ำ แม้จะก้อนเล็ก ก็จมเช่นเดียวกัน

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

ผู้ที่กำลังป่วยหนักหรือใกล้จะสิ้นใจตาย สิ่งที่ญาติพี่น้องหรือคนรอบข้างจะช่วยได้ก็คือการน้อมจิตของผู้ใกล้ตายให้เป็นกุศล ให้อภัยทุกคน ละวางสิ่งทั้งปวง อย่าให้มีความห่วงกังวล และนึกถึงสิ่งที่ดีงาม คือพระรัตนตรัย บุญกุศลหรือความดีที่เคยทำ อาจจะสวดมนต์ ทำจิตเป็นสมาธิอยู่กับลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธ หรือนึกภาพพระพุทธองค์

พระราชพรหมยาน หรือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี แนะนำว่า ควรนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ในที่ ๆ ผู้ป่วยมองเห็นได้ถนัด เมื่อผู้ป่วยลืมตาขึ้นก็จะมองเห็นพระทันที จิตจะได้จับอยู่ที่พระ ช่วยคลายทุกขเวทนาลงได้บ้าง และถ้าตายเมื่อใดก็ไม่ลงนรก

ถ้าป่วยหนัก มีทุกขเวทนามาก ควรแนะนำสั้น ๆ ให้ภาวนาว่า "นิพพานัง-สุขัง" หรือ "พุท-โธ" อย่าไปแนะนำยาว ๆ เพราะจะทำให้กลุ้ม ทำให้ลงนรกได้ ต้องระมัดระวังให้ดี

หลวงพ่อเล่าว่า เพื่อนคนหนึ่งชื่อจวน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกเกณฑ์ไปทำงานที่เพชรบูรณ์ พอสงครามสงบ ก็ล้มป่วยเป็นวัณโรค วันสุดท้ายที่หลวงพ่อไปเยี่ยมคุณจวน เห็นว่าอาการหนักมาก จึงถามว่าภาวนาพุทโธได้ไหม คุณจวนส่ายหน้าบอกว่า คิดไม่ออก 

หลวงพ่อจึงหันไปถามภรรยาคุณจวนว่ามีสตางค์ไหม ถ้ามี ขอสัก 20 บาท จากนั้นก็นำธนบัตรใส่ในมือคุณจวน เอามือทั้งสองประกบกันในท่าพนมมือแล้วบอกว่า 

"จวน เอาอย่างนี้นะ ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เราจะตายหรือไม่ตายนั้น ไม่มีความสำคัญ ตั้งใจทำบุญก็แล้วกันนะ เวลานี้ฉันมาพร้อมกับพระ 4 องค์ ขอจวนตั้งใจชำระหนี้สงฆ์ ให้คิดว่าของต่าง ๆ ในวัดทั้งหลายที่มีพระสงฆ์ก็ดี หรือไม่มีพระสงฆ์ก็ดี เป็นวัดร้างมีพระพุทธรูปก็ดี หรือเป็นวัดร้างไม่มีพระพุทธรูปก็ดี หรือเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่มีสภาพเป็นวัดก็ตาม เราไปนำอะไรมาจากที่นั่นก็ตาม จะเป็นของหนักก็ดี ของเบาก็ดี ของน้อยก็ตาม ของมากก็ตาม มีค่ามากก็ตาม มีค่าน้อยก็ตาม ขอชำระหนี้สงฆ์ด้วยเงิน 20 บาท" 

พระที่มาด้วยกัน 4 รูปก็กล่าวสาธุการขึ้นพร้อมกัน คุณจวนดูแช่มชื่นขึ้นมาก ภาพไฟที่ปรากฏเป็นอสุภนิมิตให้หวาดกลัวแต่แรกหายไป กลายเป็นภาพพระประธานในพระอุโบสถวัดบางนมโคซึ่งเป็นวัดที่คุณจวนเคยบวชและไปทำวัตรอยู่เป็นประจำ 

จากนั้น หลวงพ่อได้แนะนำให้คุณจวนภาวนาในใจว่า "พุท-โธ ๆ ๆ" โดยไม่ต้องออกเสียงเพราะเกรงจะทำให้เหนื่อย แต่ก็ได้ยินเสียงคุณจวนภาวนาพุทโธเบา ๆ  ในที่สุดก็เงียบไปพร้อมกันทั้งคำภาวนาและลมหายใจเข้าออก


ในธรรมบทเรื่อง มัฏฐกุณฑลี พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ทรงปรารภถึงมาณพชื่อมัฏฐกุณฑลี ผู้นึกถึงพระพุทธองค์ขณะใกล้จะตาย แล้วไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ ...

ในนครสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่ง ฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่เคยให้สิ่งของอะไรแก่ใคร จึงได้ชื่อว่า อทินนปุพพกะ แปลว่าผู้ไม่เคยให้อะไรแก่ใคร พราหมณ์มีบุตรชายคนเดียว เขาอยากทำเครื่องประดับให้บุตร แต่ไม่อยากเสียค่าจ้างให้ช่างทอง จึงเอาทองมาตีเอง แผ่เป็นตุ้มหูเกลี้ยง ๆ ผู้คนจึงเรียกบุตรชายของพราหมณ์ว่า มัฏฐกุณฑลี แปลว่า มีตุ้มหูเกลี้ยง

เมื่อมัฏฐกุณฑลีอายุได้ 16 ปี เกิดล้มป่วยเป็นโรคผอมเหลือง พราหมณ์ไม่ยอมไปตามหมอมารักษาเพราะเกรงจะเสียค่าจ้างรางวัล จึงไปหารากไม้มาทำยารักษาเองจนอาการกำเริบหนัก ไม่มีใครเยียวยาได้ เมื่อรู้ว่าบุตรของตนกำลังจะตาย ก็นำบุตรมานอนที่ระเบียงข้างนอก ไม่ต้องการให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนบุตรชายมองเห็นทรัพย์สมบัติของตนภายในเรือน

ในเวลาจวนสว่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูโลกด้วยพุทธจักษุ เห็นมัฏฐกุณฑลีในข่ายพระญาณ จึงเสด็จเข้าสู่นครสาวัตถีเพื่อรับบิณฑบาต เมื่อเสด็จถึงประตูเรือนของพราหมณ์ มัฏฐกุณฑลีกำลังนอนผินหน้าไปข้างในเรือน พระศาสดาทรงทราบว่าไม่เห็นพระองค์จึงเปล่งพระรัศมีไปแวบหนึ่ง มัฏฐกุณฑลีคิดว่านี่แสงสว่างอะไร จึงนอนพลิกกลับมา

ในขณะนั้นอาการป่วยทรุดหนักมาก แม้แต่มือสองข้างก็ยกไม่ไหว ได้แต่น้อมใจให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า มัฏฐกุณฑลีมีจิตเลื่อมใสในพระองค์แล้ว จึงเสด็จลับตาไป มัฏฐกุณฑลีก็เสียชีวิตลงในขณะนั้น ด้วยจิตที่เลื่อมใสพระพุทธเจ้าในขณะที่ตนกำลังจะตาย จึงไปเกิดเป็นเทพบุตรในวิมานทองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางอัปสรเป็นบริวารพันหนึ่ง

ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดา เมื่อฌาปนกิจบุตรของตนแล้ว ยังคงไปที่ป่าช้าทุกวัน เฝ้าแต่ร้องไห้คร่ำครวญ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจึงจำแลงกายมาบอกกับบิดาว่าตนคือบุตรชายที่เสียชีวิตไป ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ พร้อมกับแนะนำบิดาให้เลื่อมใสพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ และให้สมาทานศีลห้าเป็นปรกติ

ฝ่ายพราหมณ์เมื่อกลับถึงเรือนของตน ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกมารับบิณฑบาตพร้อมกับทูลถามปัญหาว่า เป็นไปได้หรือ คนที่ไม่เคยถวายทาน ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยถืออุโบสถ ไม่เคยบูชาพระพุทธองค์ เมื่อตายแล้วสามารถไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์เพียงเพราะทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

พระพุทธเจ้าทรงย้อนถามอทินนปุพพกะพราหมณ์ว่า เหตุใดท่านมาถามเรา ในเมื่อมัฏฐกุณฑลีได้บอกเล่าความจริงทั้งหมดให้แก่ท่านแล้วมิใช่หรือ จากนั้น ทรงอธิษฐานจิตให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรปรากฏกายพร้อมกับวิมานและอาภรณ์ทิพย์ ตรัสถามว่า "เทพยดา ท่านมีกายงามยิ่งนัก ยืนทำทิศทั้งสิ้นให้สว่าง เหมือนดาวประจำรุ่ง เทพยดาผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน เมื่อท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้" 

เทพบุตรกราบทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ สมบัตินี้ข้าพระองค์ได้แล้ว เพราะทำใจให้เลื่อมใสในพระองค์"


ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน