"...ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย
ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่
ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ..."
พระยอดธง เนื้อทองคำ กรุพระนครศรีอยุธยา |
พระยอดธง เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ที่สร้างไว้บนยอดธง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้รบชนะข้าศึก มูลเหตุที่จะเกิดมีพระยอดธงขึ้นนั้น นัยว่าสืบเนื่องมาจากการสงครามแต่โบราณกาลซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และกระทำกันด้วยอาวุธที่ไม่มีความร้ายแรงดั่งเช่นในปัจจุบัน การรบทุกครั้ง มักแพ้ชนะกันด้วยการเข้าสู้รบตะลุมบอนของทั้งสองฝ่าย แต่ละฝ่ายยึดถือธงชัยเฉลิมพลของตนเป็นมิ่งขวัญ เพราะถือว่า ธงชัยเฉลิมพลนั้น เป็นเครื่องหมายของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพเทิดทูนสูงสุด
พระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จึงได้สร้างพระพุทธปฏิมาองค์เล็ก ๆ กะทัดรัด ประดิษฐานไว้ ณ ยอดเสาธง เพื่อให้เหล่าทหารมีจิตใจเข้มแข็งห้าวหาญ เกิดความมั่นใจว่าอานุภาพแห่งพระปฏิมาบนยอดเสาธงนั้น จะปกป้องคุ้มครองตนให้พ้นจากภยันตรายและนำมาซึ่งชัยชนะ
พระยอดธง เนื้อเงิน กรุพระนครศรีอยุธยา |
พระยอดธงเป็นพระพุทธรูปนั่ง ใต้ฐานพระมีแกนแหลมเล็กยาวออกมา แกนนี้มีไว้สำหรับใช้เสียบเข้ากับยอดเสาธงชัยเฉลิมพล วัสดุที่ใช้สร้างพระยอดธง ประกอบด้วยนวโลหะ มีทอง เงิน นาก เป็นต้น แต่ละสิ่งล้วนจารึกอักขระคาถา นวหรคุณ หรือ หัวใจพระพุทธคุณทั้งเก้า คือ “อะ-สัง-วิ-สุ-โล-ปุ-สะ-พุ-ภะ” อันเป็นคำย่อจากบท “อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา”
การสร้างพระยอดธงนั้น ต้องนิมนต์พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระมาสวดธชัคคสูตรหรือธชัคคปริตร และสวดบทพาหุง-มหากาฯ หรือที่รู้จักกันในนาม บทถวายพรพระ บรรจุไว้ในองค์พระ บทพาหุง-มหากาฯ มีอานุภาพมาก เพราะว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธองค์ที่ทรงชนะพญาวสวัตตีมาร อาฬวกยักษ์ ช้างนาฬาคิรี องคุลิมาล นางจิญจมาณวิกา สัจจกนิครนถ์ นันโทปนันทนาคราช และท้าวพกาพรหม
พระยอดธง เนื้อทองคำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เป็นพระพุทธรูปปางทรงเครื่องจักรพรรดิโปรดพญาชมพูบดี ประทับนั่งปางมารวิชัย |
พระยอดธง เป็นพระปฏิมาที่โบราณจารย์สร้างขึ้นโดยมุ่งผลในราชการสงครามเป็นหลัก พระเกจิอาจารย์ในยุคหลังก็นิยมสร้างวัตถุมงคลมีลักษณะเช่นเดียวกับพระยอดธง แม้จะมิได้มุ่งประสงค์เพื่อนำไปเสียบไว้บนยอดธงก็ตาม หากแต่เชื่อในคุณวิเศษทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี
เหรียญพระยอดธง หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา
การจัดสร้างพระยอดธง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นตามนัยแห่งพระสูตรชื่อ ธชัคคสูตร ธชัคค เป็นคำบาลี มีรากศัพท์มาจาก ธช ซึ่งแปลว่า ธง สนธิกับ อคฺค ซึ่งแปลว่า เลิศ หรือ ยอด ธชัคค จึงแปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตร คือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง บรรยายถึงธรรมอันเป็นเครื่องขจัดความกลัว มีความว่า
สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเชตวนารามของอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ใกล้นครสาวัตถี ได้ตรัสเรื่องเทวาสุรสงครามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทพและอสูรได้เกิดประชิดติดพันกันขึ้น ท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ของเทพยดาทั้งหลาย เรียกประชุมเทพยดาชั้นดาวดึงส์ และโปรดให้ทำธงประจำกองทัพขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณในการต่อสู้กับทัพอสูร ทรงมีเทวโองการว่า ถ้าเทพผู้เข้าสงครามเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้า ก็ให้มองดูยอดธงหรือชายธงของพระองค์ หรือไม่เช่นนั้น ก็ให้มองดูชายธงของเทวราชลำดับรองลงไปชื่อปชาบดี หรือชายธงของเทวราชชื่อ วรุณ หรือชายธงของเทวราชชื่อ อีสาน ความกลัว ความหวาด ความขนพองสยองเกล้าก็จักหายไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล พระราชทานแก่หน่วยทหาร
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องเทวาสุรสงครามในอดีตดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาหาทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อพวกเทพที่เข้าสงครามมองดูยอดธงหรือชายธงของท้าวสักกะจอมเทพ หรือของเทวราชอีกสามองค์นั้น ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไปก็ได้ ไม่หายไปก็ได้ เพราะเหตุที่ท้าวสักกะจอมเทพเองยังมิใช่ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ยังมีความกลัว ความหวาด ความสะดุ้ง ยังต้องพ่ายหนี
พระพุทธองค์ตรัสว่า พระรัตนตรัยนั้นทรงคุณวิเศษ ทรงอานุภาพ ทรงอภินิหารเกินกว่าท้าวเทพทั้งสี่นั้น เป็นดั่งธงชัยของเหล่าภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไปเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเปลี่ยวก็ดี โคนไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี หากเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าขึ้น พึงระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ เมื่อระลึกถึงอยู่ดั่งนี้ ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะเหตุที่พระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่พ่ายหนี
ในการสวดมนต์ เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็ม ก็สวดพระสูตรเต็ม แต่โดยทั่วไป การสวดบทธชัคคสูตรนี้ จะเลือกสวดจำเพาะปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ หรือถ้อยคำสำหรับระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้ คือ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ดังนี้
อิติปิ โส ภควา แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ ควรบูชา
สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้รู้ชอบเอง
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ
สุคโต เป็นพระสุคตผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้โลก
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาผู้สอนของเทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย
พุทฺโธ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม ดั่งนี้
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง
อกาลิโก เป็นธรรมให้ผลไม่มีกาล เป็นของไม่มีกาลเวลา
เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมอันจะพึงเรียกร้องให้มาดูได้
โอปนยิโก เป็นธรรมอันบุคคลควรน้อมเข้ามาใส่ใจ หรือควรน้อมเข้ามาในตน
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ เป็นธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตัวดังนี้
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือ คู่แห่งบุรุษบุคคลทั้งหลาย 4
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคลทั้งหลาย 8
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรสักการะที่พึงนำมาบูชา
ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
ทกฺขิเนยฺโย เป็นผู้ควรทักษิณาคือของทำบุญหรือควรทำบุญ
อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรอัญชลีคือควรพนมมือไหว้ คือแสดงความเคารพ
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้
where can i find phra yod thong ?
ตอบลบมีพระยอดธงเหมือนกันค่ะหลวงปู่ให้มา
ลบ