วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร


รตนตฺตยเตเชน  โหตุ อนิฏฺฐธํสนํ
รตนตฺตยคุเณน  โหตุ เต อิฏฺฐสมฺปทา

ด้วยเดชแห่งพระรัตนตรัย  ขอสิ่งไม่พึงใจจงสูญสิ้น
ด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัย  ขอสิ่งที่พึงใจ จงถึงพร้อมแด่ท่านเทอญ
                                                                               (สมเด็จพระญาณสังวร)


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร
ประสูติ ณ ย่านปากแพรก ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เวลาประมาณ 10 ทุ่ม มีเศษ
หรือเวลาประมาณ 04:00 น. เศษ ของวันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ตามวิธีนับแบบปัจจุบัน

(ซ้าย) นายน้อย คชวัตร พระชนก
(ขวา) นางกิมน้อย คชวัตร พระชนนี

พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร รับราชการตำแหน่งสุดท้าย เป็นปลัดอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนป่วยเป็นโรคเนื้อร้ายงอกขึ้น และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 38 ปี พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร

ป้ากิมเฮง หรือ ป้าเฮ้งของหลาน ๆ

สมเด็จฯ นั้น ป้าเฮ้ง พี่สาวของนางกิมน้อย ได้ขอไปเลี้ยงตั้งแต่เล็ก ๆ และอยู่กับป้าเรื่อยมา ป้ารักสมเด็จฯ มาก เลี้ยงสมเด็จฯ ด้วยความทะนุถนอม เอาใจจนใคร ๆ ว่าเลี้ยงตามใจเกินไป จะทำให้เสียเด็กภายหลัง แต่ป้าก็เถียงว่าไม่เสีย

พ.ศ. 2464 สมเด็จฯ (เด็กชายเจริญ คชวัตร) เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเทวสังฆาราม
ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกในจังหวัดกาญจนบุรี

สมเด็จฯ เคยพาป้าไปฟังเทศน์ตอนค่ำพรรษาหนึ่ง มีเทศน์ชาดกติดต่อกันทุกคืนภายในพรรษา ติดพระทัย เร่งป้าให้ไปฟังนิทานทุกคืน ถ้าเป็นเทศน์ธรรมะฟังไม่เข้าใจก็เร่งให้กลับ

ถนนบริเวณหน้าบ้านเดิมของสมเด็จพระญาณสังวรฯ
บ้านของพระองค์อยู่ด้านขวามือ

สมเด็จฯ อยู่กับป้าไม่เคยแยก นอกจากไปแรมคืนเมื่อเป็นลูกเสือบางครั้งเท่านั้น คืนวันสุดท้ายก่อนจะทรงบรรพชาเป็นสามเณร ป้าพูดว่า 'คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่จะอยู่ด้วยกัน' ซึ่งก็เป็นความจริง ได้แยกจากกันตั้งแต่วันนั้นมา จนอวสานแห่งชีวิตของป้า

เมื่อสมเด็จฯ มีพระชันษาได้ราว 4-5 ปี ทรงชวนน้า ๆ เล่นด้วย แต่น้าเป็นผู้ใหญ่
ไม่มีเวลาเล่นกับพระองค์เพราะต้องทำงาน สมเด็จฯ ก็มักจะทรงอิดออด
ขอร้องให้น้า ๆ ฟังพระองค์เทศน์ก่อน สำหรับอุปกรณ์การเล่นก็เป็นของใกล้ตัว
เช่น ผ้าขาวม้าของน้าชาย ก็ทรงสมมุติเป็นสบงจีวร
ทรงเกณฑ์น้อง ๆ มาเล่นฟังเทศน์ ทรงนำใบลานมาทำคัมภีร์เทศน์เล็ก ๆ
ทรงใช้ครกตำข้าวเป็นธรรมาสน์ แล้วประทับเด่นสงบอยู่บนครกตำข้าว
มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ ถือใบลานนั่งเทศน์
คำที่เทศน์ก็ทรงจดจำมาจากตอนที่ตามป้าไปวัดนั่นเอง

สมเด็จฯ ทรงมีนิสัยทางพระแสดงออกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ คือ ชอบเล่นเป็นพระ ทำคัมภีร์เทศน์เล็ก พัดยศเล็ก เก็บหินมาทำภูเขา มีถ้ำ ทำเจดีย์เล็กบนยอดเขา เล่นทอดกฐินผ้าป่า เล่นทิ้งกระจาด และทำรูปยมบาลเล็กด้วยกระดาษแบบพิธีทิ้งกระจาดที่วัดญวน เมื่อทรงเจ็บป่วยขึ้น ผู้ใหญ่ต้องนำรูปยมบาลไปเผาทิ้งเสีย

สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นสามเณร

สมเด็จฯ ทรงมีร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยอยู่เสมอ คราวหนึ่งทรงป่วยหนักถึงกับผู้ใหญ่คิดว่าไม่หาย และบนว่าถ้าหายจะให้บวชแก้บน จึงเป็นเหตุให้สมเด็จฯ ทรงบรรพชาในเวลาต่อมา

สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นสามเณร

พ.ศ. 2469 สมเด็จฯ อายุย่างเข้า 14 ปี น้าจะออกบวชเป็นพระภิกษุ พระชนนีและป้าจึงชักชวนให้สมเด็จฯ บวชเป็นสามเณรแก้บนเสียให้เสร็จ จึงตกลงใจบวชเป็นสามเณรในปีนั้น ที่วัดเทวสังฆาราม มีหลวงพ่อดี พุทฺธโชติ หรือ 'หลวงพ่อวัดเหนือ' เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

พระรูปแสดงการทำอุปัชฌายวัตร
เมื่อครั้งเป็นสามเณรเจริญ คชวัตร และต่อหนังสือค่ำ เมื่อ พ.ศ. 2469
(ผู้วาดภาพ - อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์)

ในพรรษาแรกที่ทรงบรรพชาเป็นสามเณรนั้น หลวงพ่อวัดเหนือ ได้ต่อเทศน์กัณฑ์อริยทรัพย์ 7 ประการ แบบต่อหนังสือค่ำให้กัณฑ์หนึ่ง คือเมื่อสมเด็จฯ เข้าไปทำอุปัชฌายวัตรทุกคืน ท่านอ่านนำให้ท่องตามทีละวรรค คืนละตอนจนจำได้ทั้งกัณฑ์ แล้วให้ขึ้นเทศน์ปากเปล่าแก่พุทธบริษัทในคืนวันพระคืนหนึ่ง

พระรูปเมื่อครั้งเป็นสามเณร
เทศน์ครั้งแรกในอุโบสถวัดเทวสังฆาราม เมื่อ พ.ศ. 2469
(ผู้วาดภาพ - อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์)

พ.ศ. 2470 หลวงพ่อวัดเหนือนำสมเด็จฯ ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสนหา (อ่านว่า วัด-สะ-เหน่-หา) จังหวัดนครปฐม เพื่อเรียนภาษาบาลี และเรียนแปลธรรมบท เพื่อว่าต่อไปจะได้กลับมาสอนที่วัดเทวสังฆาราม ท่านว่าจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้

วัดเสนหา (วัด-สะ-เหน่-หา) จังหวัดนครปฐม

โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ สร้างขึ้นใหม่
รอสมเด็จฯ ให้ทรงกลับมาสอน

พ.ศ. 2472 หลวงพ่อวัดเหนือนำสมเด็จฯ ไปกราบเรียนฝากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ขณะเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระเมตตารับไว้ และประทานฉายาว่า 'สุวฑฺฒโน' แปลว่า 'ผู้เจริญดี'

พ.ศ. 2472 พระชนมายุ 17 สอบได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ. 2473 พระชนมายุ 18 สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค


พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินหลวงวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะนั้น มีการพระราชทานผ้าไตรแก่พระภิกษุสามเณรเปรียญทั้งวัด สมเด็จฯ เป็นสามเณรเปรียญรูปเดียวในศกนั้น ที่ได้เข้ารับพระราชทานผ้าไตรจากพระราชหัตถ์

พ.ศ. 2475 พระชนมายุ 20 สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค

สมเด็จฯ เมื่อทรงอุปสมบทพรรษาแรก ณ วัดเทวสังฆาราม

สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นพระเปรียญ

พ.ศ. 2476 พระชนมายุครบอุปสมบท สมเด็จฯ ทรงกลับมาอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ หรือหลวงพ่อวัดเหนือ เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

พระเทพมงคลรังษี 
(หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ หรือ หลวงพ่อวัดเหนือ)
พระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงบรรพชาและทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม

อุปสมบทแล้ว จำพรรษาที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา พอออกพรรษาแล้ว กลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

แม้มาอุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ก็ยังเวียนไปมาช่วยหลวงพ่อวัดเหนือสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่อีก 2 ปี

สมเด็จฯ ทรงฉายพระรูปกับหลวงพ่อดี พุทฺธโชติ ณ วัดเทวสังฆาราม

พ.ศ. 2476 พระชนมายุ 21 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

พ.ศ. 2477 พระชนมายุ 22 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

พ.ศ. 2478 พระชนมายุ 23 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค

พ.ศ. 2481 พระชนมายุ 26 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค

พ.ศ. 2484 พระชนมายุ 29 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นพระราชาคณะที่ พระโศภนคณาภรณ์
หมายถึง ผู้เป็นอาภรณ์หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม
เป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแด่สมเด็จฯ เป็นรูปแรก

พ.ศ. 2490 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระโศภนคณาภรณ์

พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. 2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม


พ.ศ. 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกสมเด็จฯ ให้เป็น 'พระอภิบาล' (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์
หมายถึง ผู้มีธรรมเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ

สมเด็จฯ ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระอุปัชฌาย์ - หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ (นั่งกลาง)
และพระกรรมวาจาจารย์ - หลวงพ่อเหรียญ สุวณฺณโชติ (นั่งซ้าย)
ณ วัดเทวสังฆาราม  เมื่อทรงเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมวราภรณ์

พ.ศ. 2499 ในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาที่ 5 ธันวาคม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์

สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ
หมายถึง ผู้งามในศาสนาหรือผู้ยังศาสนาให้งาม

พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ลำดับที่ 6 และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ

สมเด็จฯ ทรงเป็นประธานในการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม

พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 นับเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกซึ่งประกอบด้วยพระมหาเถระ 8 รูป

รูปถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
หมายถึง ผู้สำรวมในญาณคือความรู้
เป็นราชทินนามที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ

พ.ศ. 2515 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ 'สมเด็จพระญาณสังวร' เป็นสมเด็จพระญาณสังวรรูปที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อจากสมเด็จพระญาณสังวร (สุก)

พระรูปปั้น สมเด็จพระญาณสังวร (สุก)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้ปั้นขึ้น
ประดิษฐาน ณ วัดราชสิทธาราม

ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นับเป็นตำแหน่งพิเศษ เป็นตำแหน่งที่พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ

หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2363 แล้ว ราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ไม่ได้โปรดพระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีกเลย นับแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน 

นับแต่ปีที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2365 ในรัชกาลที่ 2 มาจนถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร เมื่อ พ.ศ. 2515 นั้น เป็นเวลานานถึง 150 ปี

พระราชกรรมวาจาจารย์ซักถามอันตรายิกธรรม

พ.ศ. 2521 เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


เป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัยขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ 6-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช
วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532

พ.ศ. 2532 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต



สมเด็จฯ ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย แม้เสนาสนะที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ประดับตกแต่ง ทรงเตือนภิกษุสามเณรเสมอว่า 'พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา'


พระภิกษุในวัดบวรนิเวศวิหารที่ถวายการปรนนิบัติดูแลสมเด็จฯ เล่าว่า แม้เมื่อทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งศาสนจักรแล้ว ที่บรรทมในตำหนักที่ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ยังคงเป็นเพียงเก้าอี้สปริงตัวเก่า ซึ่งสั้นเกินกว่าที่จะใช้นอนได้ จึงต้องใช้ตั่งต่อทางปลายเพื่อวางพระบาท ถัดจากด้านปลายพระบาทไปก็เป็นโต๊ะเล็ก ๆ อีกตัว ตั้งพัดลมเก่า ๆ ซึ่ง 'เปิดทีก็หมุนแก็ก ๆ ๆ'

ภาพจำลอง ห้องบรรทมของสมเด็จฯ

แม้แต่อาสนะผืนเก่าที่พระชนนีเคยเย็บถวายแต่เมื่อครั้งยังเป็นมหาเปรียญหนุ่ม ๆ สมเด็จฯ ก็ใช้เรื่อยมา จนเมื่อขาดเปื่อยไป ก็ยังนำไปรองไว้ใต้อาสนะผืนใหม่ และเมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว อาสนะผืนเก่าที่พระชนนีเย็บให้ ก็ยังโปรดให้วางไว้ใต้อาสนะที่ประทับ เป็นการแสดงกตัญญุตาสนองคุณเช่นที่เคยทรงถือปฏิบัติมา ได้ยินมาว่าครั้งหนึ่งเคยมีเด็กจะหยิบไปทิ้งเพราะเห็นเป็นผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ แต่สมเด็จฯ มีรับสั่งว่า 'นั่นของโยมแม่ เอาไว้ที่เดิม'





ส่วนวัตถุสิ่งของที่มีผู้ถวายมาก็มักทรงแจกจ่ายต่อไปตามโอกาส ครั้งหนึ่งมีผู้ปวารณาจะถวายรถยนต์สำหรับทรงใช้สอยประจำพระองค์เพื่อความสะดวกในการที่จะเสด็จไปทรงปฏิบัติภารกิจในที่ต่าง ๆ พระองค์ก็ตอบเขาไปว่า 'ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน' จึงเป็นอันว่าไม่ทรงรับถวาย


สมเด็จฯ ทรงเตือนภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า 'เป็นพระต้องจน' และไม่เพียงแต่ทรงสอนผู้อื่นเท่านั้น แม้พระองค์เองก็ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างเช่นกัน

เสด็จออกบิณฑบาต

เสด็จทอดพระเนตรอัคคีภัยบริเวณตรอกบวรรังษี หลังวัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงอำนวยการให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
และทรงพระเมตตาเปิดวัดให้ประชาชนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย
เข้ามาอาศัยภายในวัดเป็นการชั่วคราว

ครั้งหนึ่ง หลังจากทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ไม่นานนักศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งกราบทูลว่า 'ขณะนี้วัด..(ชื่อวัด).. ที่เมืองกาญจน์ฯ กำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้าเกือบจะเสร็จแล้ว ยังขาดเงินอีกราว 7-8 แสนบาท อยากจะกราบทูลใต้ฝ่าพระบาทเสด็จไปโปรดสักครั้ง สะพานจะได้เสร็จเร็ว ๆ ไม่ทราบว่าใต้ฝ่าพระบาทจะพอมีเวลาเสด็จได้หรือไม่ กระหม่อม' สมเด็จฯ ตรัสตอบว่า 'เวลาน่ะพอมี แต่เงินตั้งแสนจะเอาที่ไหน เพราะพระไม่มีอาชีพการงาน ไม่มีรายได้เหมือนชาวบ้าน แล้วแต่เขาจะให้'

สมเด็จพระญาณสังวรฯ เสด็จยังวัดถ้ำผาปล่อง ในงานฉลองอายุครบ 6 รอบ
ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระญาณสังวรฯ 
เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา

สมเด็จฯ ทรงปฏิบัติกรรมฐานตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า 'แม้จะอยู่ในบ้านในเมือง ก็ให้ทำสัญญา คือทำความรู้สึกกำหนดหมายในใจว่าอยู่ในป่า อยู่ในที่ว่าง อยู่ในที่สงบ ก็สามารถทำจิตใจให้ว่างให้สงบได้' นั่นคือ ทรงปฏิบัติพระองค์แบบพระกรรมฐานในเมือง และเมื่อทรงมีโอกาส ก็จะเสด็จจาริกไปประทับตามสำนักวัดป่าต่าง ๆ

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงถวายน้ำสรง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์

สมเด็จพระญาณสังวรฯ เสด็จกราบนมัสการหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
วัดอุดมคงคาคีรีเขต จังหวัดขอนแก่น

(แถวหน้า) หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป
หลวงปู่รักษ์ เรวโต, สมเด็จพระญาณสังวรฯ
ถ่ายที่พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ ประเทศลาว 

เมื่อ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2505

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวรฯ

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อคราวมาเยี่ยมสมเด็จฯ ซึ่งประชวรและพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ปี พ.ศ. 2548 ว่า
'เราสนิทกับท่านมานานเท่าไหร่แล้ว อยู่วัดบวรฯ มาด้วยกัน ท่านเคยไปเป็นพระภาวนาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดหลายครั้ง ครั้งละเป็นอาทิตย์ แต่เวลาก็ผ่านมานานแล้ว และตั้งแต่ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชฯ แล้วเราก็ไม่ค่อยได้มาเข้าเฝ้าท่าน เพราะรู้สึกว่าท่านทรงมีภาระหนักมากเป็นพิเศษ เราจึงไม่กล้ามารบกวนท่าน วันนี้เมื่อได้มา ท่านก็ทรงไม่อยากให้กลับ ชี้ให้เรานั่งที่เก้าอี้ คือเมื่อเรากราบที่ตักท่านและจะกลับท่านยังทรงชี้ให้นั่งที่เก้าอี้เสียก่อน'


ครั้งหนึ่ง สมเด็จฯ ประชวรหนักมาก ทรงเตรียมใจที่จะละสังขารอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มายังที่ประทับรักษาพระองค์ และทรงพระดำเนินเข้าไปตรัสถึงเตียงที่บรรทมว่า 'พระอาจารย์ต้องช่วยพระองค์เองแล้ว' (ทรงจัดหาแพทย์และยาอย่างดีมาถวายแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น)


สมเด็จฯ ทรงพยักหน้ารับคำอาราธนา ภายหลังทรงเล่าว่า เมื่อได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเช่นนั้น ก็ทรงระลึกถึงคำสอนเรื่องอิทธิบาท 4 จึงทรงเข้าสมาธิ ดำรงพระจิตอยู่ในวิหารธรรมที่มีชื่อว่าอิทธิบาทตามคำสอนของพระบรมศาสดา ไม่นานพระอาการก็ทุเลา ว่ากันว่าพระอริยเจ้าในอดีตกาลสามารถเจริญอิทธิบาท 4 กำหนดอายุสังขารได้ เพราะเป็นธรรมโอสถที่เมื่อเจริญแล้วสามารถดำรงพระชนม์ให้ยืนยาว

สมเด็จฯ ทรงถวายสักการะแด่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา
พระเถระที่ยืนอยู่ด้านหลังคือ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง

สมเด็จฯ ทรงอ่อนน้อมเคารพต่อพระธรรม ทรงมีพระอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมพระองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้จะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแล้วก็ตาม ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระผู้มีอายุพรรษามากกว่าพระองค์อยู่เสมอ

สมเด็จพระญาณสังวรฯ นมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี 
ในวาระที่เสด็จประทับ ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
28 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2533

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
นมัสการหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ในวาระที่หลวงปู่มาเยือนวัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2536

สมเด็จพระญาณสังวรฯ และหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

เมื่อมีพระอาคันตุกะมาเข้าเฝ้าหรือเยี่ยมเยียนพระองค์ ถ้าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ก็จะทรงถามถึงอายุพรรษาก่อนว่ามีพรรษาเท่าไร หากมากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ และทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย หรือถ้าเป็นพระที่มีอาวุโสน้อยกว่า จะทรงต้อนรับด้วยจิตเมตตา อ่อนน้อม ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นนี้มาโดยตลอด

สมเด็จพระญาณสังวรฯ และหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

สมเด็จพระญาณสังวรฯ และพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)

ส่วนการแสดงความเคารพต่อพระธรรม นอกจากทรงนิพนธ์หนังสือธรรมเผยแผ่แก่ประชาชนแล้ว ก่อนการแสดงเทศนาธรรมจะทรงเตรียมพระองค์อย่างดี จึงทรงเทศน์ได้อย่างน่าฟังด้วยความเข้าพระทัยที่ลึกซึ้ง สามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้อย่างกระจ่างใจ


เมื่อครั้งที่สมเด็จฯ มีพระสุขภาพแข็งแรง พระกรณียกิจประจำของพระองค์ คือการเทศน์ในพระอุโบสถ ทุกวันพระข้างขึ้นและข้างแรม 15 คํ่า คือเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งมีประชาชนไปฟังจนล้นพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังทรงบรรยายธรรมในรายการ 'การบริหารทางจิต' ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส. พระราชวังดุสิตเป็นประจำทุกเช้าวันอาทิตย์  


พลังแห่งพระสุรเสียงที่บรรจุด้วยพลังแห่งความหมายในธรรมนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะสมเด็จฯ มีพระวิริยะจนเข้าถึงหัวใจแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อถ่ายทอดเป็นธรรมบรรยายสู่ประชาชน ด้วยจิตที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา จึงทำให้คนฟังสามารถฟังธรรมได้อย่างรื่นรมย์ ได้ยินได้ฟังครั้งใดก็เกิดมีแรงยึดเหนี่ยวจิตใจจนเกิดความตั้งมั่น นำไปสู่การยกระดับจิตของตนให้สูงยิ่งๆ ขึ้น

สมเด็จฯ ทรงฉายพระรูปกับพระราชสังวรภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) วัดประดู่ฉิมพลี

สมเด็จฯ ทรงพบปะสนทนาธรรมกับหลวงปู่โต๊ะ ตั้งแต่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ และยังทรงอาราธนาให้หลวงปู่ไปสอนกรรมฐานบรรยายธรรมเป็นประจำที่วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จฯ ทรงร่วมฉันภัตตาหารกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ที่วัดถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เคยมาพักวัดบวรนิเวศวิหารบ่อยครั้งในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นเจ้าอาวาส แต่ต่อมาด้วยอายุและสังขารที่ไม่อำนวยต่อการเดินทางไกล จึงไม่มีจังหวะรับนิมนต์จากสมเด็จฯ ให้มาพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร


นอกจากนี้ สมเด็จฯ ยังทรงให้ความเคารพต่อพระคัมภีร์และหนังสือธรรมเป็นอย่างมาก โดยจะทรงเก็บรักษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ไว้ ในที่สูงอยู่เสมอ หรือหนังสือธรรมก็จะทรงห้ามวางที่พื้น หากทอดพระเนตรเห็นมีผู้วางหนังสือธรรมะบนพื้นจะตรัสเตือนขึ้นว่า 'นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น' แล้วทรงให้นำไปวางไว้ในที่สูง เช่น บนโต๊ะ หรือบนพาน





บางคราวมีผู้พูดถึงสมเด็จฯ ในทำนองว่า ทรงเป็นพระอาจารย์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบก็ทรงแนะว่า ไม่สมควรที่จะพูดเอ่ยอ้างในลักษณะเช่นนั้น เนื่องเพราะว่า 'ใครๆ ก็ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น'



แม้กระทั่งในเวลาสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้ทรงวาง พระองค์ว่าเป็นผู้รู้ หรือแสดงภูมิว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเหนือกว่าใคร แต่มักตรัสสั้นๆ เพียงว่า 'แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน' นับว่าทรงยึดถือคุณธรรมในข้อความอ่อนน้อมอย่างเห็นได้เด่นชัด อีกทั้งยังทรงเป็นพระเถระผู้สงบเสงี่ยมที่ตั้งมั่นอยู่ในความถ่อมพระองค์มาโดยตลอด


สมเด็จฯ ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ในระยะเริ่มต้นของการฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น สมเด็จฯ ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดกวดขัน ท่านทำหลักสูตรและสอนด้วยตนเอง มีการอบรมธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ

เปิดสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรก พ.ศ. 2509

มีบางครั้งไปอบรมพระธรรมทูตที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมเด็จฯ เดินเท้าจากสถานีรถไฟไชยาไปถึงสวนโมกข์


ท่านและท่านพุทธทาสภิกขุใช้วิธีการฝึกฝนบรรดาพระภิกษุตามธรรมเนียมดั้งเดิมแบบยุคพุทธกาล กระทั่งว่าเมื่อบิณฑบาตกลับมาแล้วให้พระสงฆ์ฉันภัตตาหารอยู่ตามโคนไม้ เมื่อถึงเวลาอนุโมทนา ท่านก็จะไม่ให้สวดมนต์เช่นที่เคยทำกันมา แต่จะใช้วิธีเรียกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาแล้วให้เทศน์แทน โดยกำหนดว่าเมื่อเรียกรูปไหนก็ต้องเทศน์ได้ทุกรูป เพื่อฝึกฝนความพร้อมในการเป็นพระธรรมทูต



สมเด็จฯ ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ทะไลลามะ กระทั่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง จากการที่องค์ทะไลลามะ ประมุขแห่งศาสนจักรทิเบต ได้เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยหลายครั้ง และทุกครั้ง จะต้องเสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหาร และทรงพบปะสนทนากับสมเด็จฯ ด้วย จึงทรงคุ้นเคยกับสมเด็จฯ เป็นอย่างดี 


คำแรกที่องค์ทะไลลามะตรัสทักทายสมเด็จฯ เมื่อทรงพบกันในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ก็คือ 'พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า' อันแสดงถึงความเคารพนับถือว่าทรงมีต่อกันเพียงไร

สมเด็จฯ ทรงพบปะสนทนากับนายเจียงเจ๋อหมิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

พ.ศ. 2536 รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จฯ เสด็จเยือนอย่างเป็นทางการ นับเป็นประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่รัฐบาลจีนกราบทูลอาราธนาให้เสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการ 
 

ในการเสด็จเยือนจีนครั้งนั้น ทางการจีนจัดการรับรองสมเด็จฯ ในระดับเดียวกับประมุขของประเทศ เช่นจัดที่ประทับถวาย ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวอวี่ไถ กรุงปักกิ่ง อันตั้งอยู่ในพระราชอุทยานเดิมสมัยที่จีนยังมีพระจักรพรรดิ เรือนรับรองแห่งนี้ตามปกติแล้วจะใช้เป็นที่พำนักของประมุขประเทศต่าง ๆ ผู้นำรัฐบาล หรือแขกผู้มีเกียรติระดับสูงที่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน


พระภิกษุผู้ตามเสด็จครั้งนั้นยังจำได้ดีว่า แม้ห้องบรรทมที่ทางการจีนจัดเตรียมไว้รับรองนั้นหรูหราราวกับห้องบรรทมของฮ่องเต้ ทว่าสมเด็จฯ ก็ทรงเลือกที่จะปูผ้าอาบนํ้าฝนบนพื้นพรมแล้วบรรทมตามวิสัยของสมณะ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าทรงมีสมณสัญญาและทรงระลึกถึงสมณสารูปอยู่เสมอ

พระอานันทไมตรีมหาเถระ แห่งศรีลังกา
เข้าเฝ้าในโอกาสมาเยือนประเทศไทย

พระสงฆ์จากเขมร ศรีลังกา เข้าเฝ้าถวายสักการะ

คณะสงฆ์จากเกาหลี เข้าเฝ้าถวายสักการะ

เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย
เข้าเฝ้าถวายสักการะ

รับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเบลเยี่ยม
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จฯ ทรงเป็นที่เคารพสักการะตลอดไปถึงพุทธศาสนิกชนในนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงได้ทูลถวายตำแหน่ง 'อภิธชมหารัฐคุรุ' อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดแห่งคณะสงฆ์เมียนมา


และที่ประชุมผู้นำสูงสุดแห่งพุทธศาสนาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้ทูลถวายตำแหน่ง 'ผู้นำสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาโลก'


ความหมายของตราฉลองพระชันษา 100 ปี

อักษรพระนาม ญสส ย่อมาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
อักษร ญ สีฟ้า (ผงคราม) หมายถึงวันประสูติ คือวันศุกร์
อักษร ส สีขาว หมายความว่า ทรงบริสุทธิ์วิเศษ เป็นศรีศุภมงคลในพระบวรพุทธศาสนา
อักษร ส สีเหลือง หมายความว่า ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก องค์ประมุขแห่งคณะสงฆ์
อักษรพระนาม ญสส อยู่ภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น อันเป็นเครื่องยศสมณศักดิ์สำหรับสมเด็จพระสังฆราช
รูปอักษรพระนามและฉัตรอยู่ภายในมณฑลประภา คือรัศมีพระเจ้า 
หมายความว่าทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน อันสืบวงศ์ของพระชินสีห์บรมศาสดา
มีรูปช้างไอยราวัตชูครอบรัศมีมณฑลอยู่ หมายถึงทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และหมายถึงทรงอุบัติในสกุล คชวัตร
ใต้รูปช้างไอยราวัต มีเลขมหามงคล 100 หมายถึงทรงเจริญพระชันษา
ยืนยาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์อื่นใดในอดีตที่ผ่านมา
ด้านล่างสุด ผูกเป็นแพรแถบสีหงชาด (ชมพู) ขอบขลิบทอง ปลายทั้งสองเป็นช่อกระหนก 
มีข้อความอักษรสีทองว่า การฉลองพระชันษา 3 ตุลาคม 2556
ปลายแพรแถบข้างขวาของตราสัญญลักษณ์ เขียน 2456 เป็นปี พ.ศ. ประสูติ
แถบข้างซ้ายเขียนปีที่ฉลองพระชันษาครบ 100 ปี พ.ศ. 2556

ภาพมหามงคล - สมเด็จพระสังฆราช 5 พระองค์ ต่างวาระกัน
บันไดล่างสุด - สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
บันไดถัดขึ้นไป จากขวาไปซ้าย - สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ), สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
บันไดบนสุด ซ้ายมือสุด - สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ตลอดระยะเวลากว่า 230 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงสถาปนาพระมหาเถระผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช ต่อเนื่องมาแล้ว 19 พระองค์ พระองค์ที่ 19 ได้แก่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับแต่การพระราชพิธีสถาปนา เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 จนถึงบัดนี้ พุทธศักราช 2556 รวมเวลาที่ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่ง 24 ปี นับว่าทรงดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดในอดีตที่ผ่านมา และการที่จะทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในศกนี้ จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดเท่าที่มีปรากฏมาในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย



ทีฆายุโก โหตุ สังฆปริณายโก ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา

อ้างอิง         -  พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร - www.watbowon.com
                    -  พระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) 
                        วัดบวรนิเวศวิหาร ของ ท่านอาจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม
                    -  ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
                    -  นิทรรศการ พระชันษา 100 ปี สดุดีพระสังฆบิดร

ขอขอบคุณ  ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

1 ความคิดเห็น: