วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เพื่อนต่างภพภูมิ


ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดมีมาแต่โบราณ เชื่อว่าทุกชีวิต ต่างก็เคยผ่านภพชาติในอดีตที่ซับซ้อนมานับไม่ถ้วน โลกที่ทุกคนอาศัยอยู่นี้ นอกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังมีเพื่อนในภูมิอื่นร่วมสังสารวัฏอาศัยอยู่ด้วย ที่มองเห็นได้ด้วยตาคือ สัตว์ในเดรัจฉานภูมิ และที่เป็น 'อาทิสมานกาย' มองไม่เห็นด้วยตา แต่อาจสัมผัสได้ด้วยจิต เช่น เปรต เทวดา เป็นต้น

อาจารย์ทองทิว สุวรรณทัต
นักหนังสือพิมพ์อาวุโส

ท่านอาจารย์ทองทิว สุวรรณทัต ได้เล่าเรื่องวิญญาณซึ่งท่านเคยประสบด้วยตนเอง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 'เดลินิวส์' ขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ ...

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496 ท่านอาจารย์ทองทิว สุวรรณทัต ยังต้องเข้าป่าช่วยบิดาคัดเลือกไม้เบญจพรรณ เพื่อตัดทอนเป็นซุงล่องเข้ามาขายในกรุงเทพฯ  วันหนึ่ง เดินสำรวจไม้ในดงน้ำคบ ตั้งแต่ปากดงจนทะลุปลายดง เพลินจนไม่สามารถหวนกลับออกไปทางปากดงได้ก่อนตะวันตกดิน

การเดินป่าในยามค่ำคืนมีอันตรายรอบด้าน เพราะในเวลานั้น สัตว์ใหญ่เช่นเสือและหมีควายยังมีอยู่ชุกชุม ท่านอาจารย์จึงปรึกษากับคนนำทางชื่อ 'ก้าน' ได้ความว่าเลยดงน้ำคบไป จะมีหมู่บ้านเล็ก ๆ อาจจะพอขออาศัยพักค้างแรมสักคืนหนึ่งได้  ทั้งสองจึงรีบเดินทางกันต่อ แทบจะหมดแรง ก็พอดีเห็นวัด ๆ หนึ่งตั้งอยู่เบื้องหน้า

อาจารย์ทองทิว สุวรรณทัต
ภาพถ่ายหน้าปางไม้สมัยเดินป่า

วัดนั้นดูเป็นวัดเก่าแก่ มีเจดีย์เก่าซอมซ่อตั้งอยู่ ต้นไม้ขึ้นตามฐานรุงรัง กุฏิและศาลาทรุดโทรมเพราะขาดการบูรณะ แต่บริเวณลานวัดสะอาด

ขณะที่จะขึ้นไปบนศาลาใหญ่ที่มีกุฏิพระล้อมรอบ ก็มีพระรูปหนึ่งเดินลงบันไดสวนมา จึงกราบนมัสการถามท่านว่า ท่านสมภารอยู่กุฏิไหน พระก็ชี้ไปทางซ้ายมือแล้วรีบลงบันไดไป  ทั้งสองคนจึงค่อย ๆ ย่องไปตามแผ่นกระดานที่ผุพัง เดินตรงไปยังกุฏิตามที่พระรูปนั้นบอก เพื่อขออนุญาตท่านสมภารพักแรมบนศาลาหอฉันสักคืนหนึ่ง


เมื่อไปถึงก็พบพระภิกษุรูปร่างอ้วนขาว อายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว ครองจีวร เคี้ยวหมาก นั่งคอยต้อนรับอยู่  ท่านสมภารได้สอบถามความเป็นมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและพยักหน้าอนุญาต ขณะที่สนทนากันอยู่นั้น สังเกตเห็นว่าท่านฉันหมากไม่หยุดปาก นาน ๆ ก็หยิบกระโถนปากแตรมาบ้วนน้ำหมากเสียครั้งหนึ่ง แล้วก็สนทนาต่อ เมื่อหมากหมดคำท่านก็หยิบจากพานแก้วมาฉันใหม่ แสดงว่าท่านติดหมากเหลือเกิน แต่กิริยาท่าทีของท่านสมกับเป็นพระเถระ พูดจาปราศรัยด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยน ทำให้เกิดศรัทธาเป็นอย่างมาก

และด้วยความศรัทธานี้เอง ทำให้พี่ก้านกราบนมัสการขอของดีจากท่านไปคุ้มครองตัว ท่านฟังแล้วก็หัวเราะ บอกว่า 'โยมขอของดีจากอาตมาไปทำไม ในเมื่อตะกรุดโทนที่โยมคาดสะเอวอยู่ก็ขลังไม่ใช่เล่นนี่นะ'

คำพูดของท่านสมภารทำให้พี่ก้านถึงกับสะดุ้งว่าทราบได้อย่างไร เพราะแม้แต่ตัวอาจารย์ทองทิวที่รู้จักมักคุ้นกับพี่ก้านมานาน ก็ยังไม่เคยเห็นแกควักออกมาอวดสักครั้ง  ไม่เพียงเท่านั้น ท่านสมภารยังหันมาทางอาจารย์ทองทิวแล้วพูดลอย ๆ ว่า 'อีกคนไม่มีตะกรุด แต่มีพระนางพญา'

ท่านอาจารย์ถึงกับตะลึง ด้วยในสมัยนั้น ที่จังหวัดพิษณุโลก เขาขุดกรุวัดนางพญา ได้พระมามากมาย ท่านเองก็ได้มาองค์หนึ่ง จึงแขวนติดตัวไว้เสมอ แต่ที่น่าอัศจรรย์คือ ท่านใส่เสื้อยืดคอกลมแขนสั้นแล้วสวมเสื้อคลุมข้างนอกทับอีกชั้นหนึ่ง แต่ทำไมท่านสมภารจึงทราบได้ ?

พระนางพญา กรุพิษณุโลก
หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี

แล้วท่านสมภารก็ลุกขึ้นจากอาสนะ พลางบอกว่า 'ไหน ๆ โยมก็ออกปากทั้งที อาตมาจะให้ของดีสักอย่างหนึ่ง'

ในขณะที่ท่านสมภารเข้ากุฏิไปเพื่อรื้อหาของดีให้นั้น สังเกตได้ว่าไม่มีพระเณรรูปใดโผล่มาให้เห็นเลย แสงไฟจากตะเกียงหรือเทียนที่จะส่องลอดออกมาจากกุฏิใดกุฏิหนึ่งก็ไม่มี ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลามืดค่ำสนิทแล้ว บริเวณที่นั่งสนทนากันอยู่นั้น มีแสงสว่าง แต่เมื่อสมภารท่านเข้าไปในกุฏิ แสงสว่างเรืองรองก็พลันหายไปด้วย

ขณะที่กำลังใช้สายตาสำรวจรอบ ๆ อยู่นั้น ก็พอดีมีคนกลุ่มหนึ่งจุดไต้แดงโร่เดินผ่านหน้าศาลา ท่านอาจารย์จึงส่งเสียงกระแอมกระไอดัง ๆ  คนกลุ่มนั้นชะงักอยู่ครู่หนึ่ง ก็มีเสียงตะโกนถามออกมาว่า 'ใครอยู่บนนั้น ?'

ทั้งสองคนจึงเดินไปยืนตรงหัวบันได จากแสงไต้ที่สว่างส่องหน้า ทำให้ใครคนหนึ่งจำท่านอาจารย์ได้ อุทานออกมาว่า 'คุณหนู' แล้วกระโจนขึ้นบนศาลาคว้าข้อมือท่านและพี่ก้านลากลงบันไดไปโดยไม่พูดจาสักคำ

เมื่อพากันออกมาไกลพอสมควร จึงบอกเหตุผลว่า 'วัดนั้นร้างมาเกือบ 40 ปีแล้ว ไม่เคยมีพระจำพรรษาแต่ไหนแต่ไร เคยมีคนโดนหลอกมาหลายรายแล้ว'

ท่านอาจารย์เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง พอรุ่งเช้าจึงพากันกลับไปที่วัดแห่งนั้น  ครั้นขึ้นไปบนศาลาที่ผุพัง ก็เดินตรงไปที่กุฏิซึ่งท่านสมภารได้นั่งสนทนากับท่านเมื่อค่ำวาน เห็นหยากไย่เต็มไปทั้งกุฏิ กระโถนที่ท่านบ้วนน้ำหมากก็ยังตั้งอยู่ แต่ไม่มีน้ำหมากสักหยด อาสนะก็ไม่ปรากฏ ประตูกุฏิก็ปิดสนิท ไม่มีวี่แววว่าเคยเปิดออกมาเลย

ชาวบ้านเล่าว่า ท่านสมภารที่ทั้งคู่ไปกราบไหว้นั้น เป็นพระสมภารรูปสุดท้ายของวัดนี้ ชื่อหลวงพ่ออิ่ม มีอาคมขลัง เมื่อท่านมรณภาพแล้วยังไม่ไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่ในวัดนี้ บางคืนชาวบ้านได้ยินเสียงท่านสวดมนต์ดังขรม บางคืนเห็นท่านออกมาเดินจงกรม !

(ซ้าย) หลวงพ่อเหลือ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดสร้อยทอง
เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่อยู่รอดปลอดภัยจากระเบิด 14 ลูกที่ตกใส่วัดสร้อยทอง
จากการทิ้งระเบิดแบบปูพรมของเครื่องบินรบฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
(ขวา) พระครูปัญญาโสภิต อดีตเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง
(พ.ศ. 2508 - 2521)

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านพระครูปัญญาโสภิต หรือหลวงพ่อวัดสร้อยทอง ศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ก็เคยประสบกับเรื่องทำนองนี้ สมัยเมื่อท่านยังเป็นพระหนุ่ม ออกธุดงค์ไปในป่า ท่านเล่าว่า ...

ปี พ.ศ. 2474 ท่านพระครูได้เดินธุดงค์ขึ้นไปทางเหนือ ระหว่างทาง แวะพิษณุโลกกราบนมัสการพระพุทธชินราช อธิษฐานขอบุญบารมีพระท่านคุ้มครอง

ที่พิษณุโลก ท่านพระครูได้พบกับคณะพระธุดงค์จากต่างถิ่นที่จาริกมาพบกันโดยบังเอิญหลายสายด้วยกัน รวม 9 รูป ล้วนเป็นพระหนุ่มพรรษาน้อยและไม่ชำนาญการเดินธุดงค์ เมื่อได้สนทนากันตามอัธยาศัย ทราบว่าทุกท่านมีจุดหมายปลายทางเหมือนกันคือสุโขทัย พระธุดงค์ทั้งหลายจึงพร้อมใจกันนิมนต์พระครูปัญญาโสภิตให้เป็นหัวหน้าคณะในการจาริกธุดงค์

หนทางทุรกันดารมาก ผ่านป่าน้อยป่าใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นป่าทึบ ยากที่จะสังเกตทิศทางออก ต้องอาศัยการเอามือคลำดูความอบอุ่นของต้นไม้เป็นเครื่องบอกทาง


เดินทางอยู่หลายวัน ไม่พบบ้านคนเลย จึงได้รู้ว่าหลงป่าเสียแล้ว ทั้งเหนื่อยล้าและหิว น้ำก็ไม่มีดื่ม หลังจากที่หลงป่ากันมาสามวัน ในบ่ายวันที่สาม ขณะที่กำลังเดินอ่อนระโหยโรยแรงไม่มีจุดหมายอยู่นั้น พลันก็ได้ยินเสียงไก่ขันแว่วมาแต่ไกล จึงพากันเงี่ยหูฟัง ได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น ทำให้เข้าใจว่าคงจะมีบ้านคนอยู่แถว ๆ นั้น จึงเดินไปตามทิศทางของเสียงไก่ขันก็ถึงที่โล่งแห่งหนึ่ง เป็นวัดมีอาณาบริเวณกว้างขวาง สะอาดและสวยงาม มีกุฏิ 15 หลังปลูกเรียงรายอยู่สองฝั่งถนนซึ่งทอดตลอดกลางวัดไปสุดที่กุฏิเจ้าอาวาส ถัดไปอีกด้านหนึ่งเป็นโบสถ์และศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่อย่างมีแบบแปลนที่เหมาะสม ที่ลานวัดมีสุนัขหลายตัวเดินเพ่นพ่านและไก่เที่ยวเดินจิกหาอาหารกินเป็นฝูง ที่มากสุดคือไก่งวง แต่น่าประหลาดคือที่วัดนี้หรือในบริเวณใกล้เคียงไม่มีพระเณรหรือผู้คนปรากฏให้เห็นเลย

ท่านพระครูปัญญาโสภิตได้พาคณะพระธุดงค์เข้าไปในวัด เดินสำรวจรอบ ๆ บริเวณ พบว่าอาคารทุกหลังเป็นทรงโบราณแข็งแรง กุฏิพระเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ เมื่อขึ้นไปดูบนกุฏิ ไม่เห็นมีพระเณร มีแต่โต๊ะเก้าอี้ประดับมุกสวยงามตั้งอยู่อย่างมีระเบียบทุกห้อง ร้องเรียกหาพระก็ไม่มีเสียงขานรับ เห็นแต่ต้นมะขามป้อมสองต้นขึ้นอยู่ข้างบันไดกุฏิ ลูกมะขามป้อมตกอยู่เกลื่อนกลาด เมื่อแน่ใจว่าไม่มีเจ้าของอยู่ใกล้เคียงแล้ว พระธุดงค์ทั้งคณะซึ่งหิวโซมาเพราะไม่ได้ฉันอาหารถึงสามวันก็พากันเก็บมะขามป้อมมาฉันและเก็บใส่บาตรไว้บ้างเผื่อฉันคราวต่อไป


มองไปไม่ไกลเห็นแทงค์น้ำคอนกรีตใหญ่อยู่ลูกหนึ่ง จึงพากันไปเปิดฝาเติมกาน้ำของตนจนเต็ม ได้ดื่มน้ำและนั่งพักผ่อนเอาแรงอยู่พักใหญ่ค่อยคลายความเมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยังไม่มีพระเณรมาปรากฏตัวให้เห็น จึงตัดสินใจพากันออกเดินทางต่อไป ก่อนที่จะจากไป ท่านพระครูปัญญาโสภิตได้ทำรอยบากบนต้นไม้ต้นหนึ่งไว้เป็นเครื่องหมาย

ออกเดินทางไปประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เห็นหลังคาบ้านคน เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  ชาวบ้านเห็นพระเดินมา ก็พากันวิ่งออกจากบ้านมาล้อมหน้าล้อมหลัง ยื้อยุดนิมนต์ให้ไปพักที่บ้าน ปากก็ร้องว่า เป็นบุญแท้ ๆ ที่มีพระมาโปรด พวกเขาอยู่ที่นี่หลายปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นชายจีวรพระเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ท่านพระครูได้ฟังคำพูดเช่นนั้น ก็เอะใจฉุกคิดถึงวัดที่ได้พบมาหยก ๆ แต่เห็นโอกาสยังไม่สมควร จึงนิ่งเสีย ได้พาคณะพระธุดงค์ออกเดินตามชาวบ้านไปยังหมู่บ้านแห่งนั้น

เมื่อชาวบ้านพากันทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพักที่หมู่บ้าน ทุกคนก็รีบผละงาน มาชุมนุมกันเต็มลานกว้างกลางหมู่บ้าน นั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยแสดงความเคารพ สีหน้าแสดงความปิติยินดี หลังจากได้แสดงธรรมโปรดชาวบ้านแล้ว จึงได้ปรารภถึงวัดที่ได้เดินผ่านมาก่อนที่จะมาถึงหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านต่างแสดงความประหลาดใจ ยืนยันว่า ภายในรัศมี 10 กิโลเมตร นอกจากหมู่บ้านนี้แล้ว อย่าว่าแต่วัดเลย แม้แต่บ้านสักหลังก็ไม่มี  พระทุกรูปก็แปลกใจ จึงได้เล่าประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาที่วัดนั้นพร้อมทั้งเอามะขามป้อมให้ดูด้วยเพื่อเป็นการยืนยัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งพระและชาวบ้านจึงได้พากันเดินย้อนกลับไปทางเก่า ไปทางทิศที่พระธุดงค์ว่าได้พบเห็นวัด ระยะทางตอนขามาเดินเพียงประมาณ 30 นาทีเท่านั้นก็ถึงหมู่บ้าน แต่ตอนไปค้นหาวัด ได้วนเวียนหาอยู่เป็นชั่วโมงก็ไม่พบวัด ได้พบแต่ต้นไม้ที่พระครูทำรอยบากเป็นเครื่องหมายไว้ บริเวณที่เคยเห็นเป็นวัดเมื่อสักสองชั่วโมงที่ผ่านมาพบว่ากลายเป็นป่าไผ่เต็มไปหมด ไม่มีร่อยรอยการก่อสร้างใด ๆ ให้เห็นเลย

นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมาก วัดที่ได้เห็นและได้สัมผัสนั้น คงเป็นวัดผีหรือวัดที่เทพยดาบันดาลให้เกิดขึ้นแน่ ๆ เรื่องทำนองนี้ พระธุดงค์เดินป่ามักจะพบเข้าอยู่เสมอ ๆ !

เหรียญรุ่น 1 พ.ศ. 2518
พระครูปัญญาโสภิต เจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง

เกี่ยวกับท่านพระครูปัญญาโสภิตหรือหลวงพ่อวัดสร้อยทองนั้น ท่านเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2447 ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี  อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2468 ณ พัทธสีมาวัดบางนมโค ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน และเป็นญาติสนิทกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ในปี พ.ศ. 2507 ท่านพระครูอาพาธหนัก จึงได้มาพักรักษาตัวที่วัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ พอดีท่านพระครูภาวนานุกูล เจ้าอาวาสได้มรณภาพลง ท่านพระครูปัญญาโสภิตจึงทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสอยู่หนึ่งปีก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2508 - 2521) ได้พัฒนาวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก

คุณทองหยก (ท.) เลียงพิบูลย์

เรื่องต่อมา เกิดขึ้นกับคุณ ท. เลียงพิบูลย์ ผู้เขียนหนังสือชุด 'กฎแห่งกรรม' เห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ...

คุณ ท.เลียงพิบูลย์ เล่าว่า ท่านเคยตกรถจักรยานที่ถนนเจริญกรุงขณะเลี้ยวออกจากถนนสี่พระยา เพราะตะเกียบหน้าหักกะทันหัน แต่ก่อนที่ศีรษะท่านจะฟาดกับถนน คุณ ท. ได้สติ รีบใช้มือซ้ายยันพื้นเอาไว้ก่อน ผลก็คือข้อมือหักโค้งงอในทันที

ภาพอดีต สี่แยกถนนสี่พระยาตัดกับถนนเจริญกรุง

ท่านลุกขึ้นได้ก็รีบกลับบ้าน เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นแขนตรงข้อมือโค้งงอเช่นนั้นก็ตกใจ รีบให้คนรับใช้ไปตาม 'หมอผัน' ที่เป็นหมอรักษากระดูกด้วยการพ่นน้ำมันมนต์มาเป็นการด่วน

ครั้นคุณหมอนั่งรถเจ๊กมาถึงบ้าน ก็รีบตรวจดูแขนของคุณ ท. แล้วใช้มือบีบนวด พร้อมทั้งเป่าคาถา พลางเอาน้ำมันมนต์ทาจนข้อมือที่งอโค้งเข้าที่ แต่ยังไม่สนิทนัก พอมองเห็นอาการงออยู่บ้าง

คุณ ท.เล่าว่า เมื่อลุงผันรักษาแขนตามวิธีน้ำมันมนต์อยู่นั้น ได้บอกว่า นี่ถ้าไม่ใช่หลาน ลุงไม่มานะ เพราะลุงกำลังไม่สบายอย่างมาก

คุณ ท. ได้เล่าต่อไปว่า เวลานั้น คุณ ท. เองก็เห็นลุงผันปรกติดี ไม่มีท่าทางหรืออาการที่แสดงถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างใด ครั้นลุงผันสนทนากับผู้ใหญ่พอสมควร ก็รีบขึ้นรถเจ๊กกลับบ้านที่สุรวงศ์

ภาพอดีต ถนนเจริญกรุง

ภาพอดีต ถนนเจริญกรุง ใกล้ปากซอยโอเรียนเต็ล

ภาพอดีต ถนนเจริญกรุง บริเวณแยกสีลม

คืนนั้น ประมาณตีสี่กว่า คุณ ท. รู้สึกปวดแขนข้างที่โค้งงอจนนอนไม่หลับ ทำให้คิดถึงลุงผัน คิดว่าถ้าได้ลุงผันมาช่วยปัดเป่าเวลานี้คงจะหายปวดแน่นอน

เป็นการคิดไปตามอารมณ์ของคนที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน ซึ่งขณะนั้นเจ็บจนนอนไม่หลับ คุณ ท. จึงลุกขึ้นจุดตะเกียงหลอดที่ใช้น้ำมันก๊าด พอสว่างเห็นอะไร ๆ ภายในห้องได้ชัดเจน แต่แล้ว คุณ ท. ก็ล้มนอนกัดฟันน้ำตาไหลเพราะความเจ็บปวดที่ทวีขึ้นมาอีก จึงพยายามใช้มืออีกข้างนวดเฟ้นไปตามเรื่อง

ทันใดนั้น โดยไม่นึกฝัน คุณ ท. ก็เห็นลุงผันเปิดมุ้งเข้ามา พูดว่า 'ไหนหลานชาย  ข้อมือปวดมากหรือ? ขอให้ลุงดูซิ'  คุณ ท. ก็ยื่นมือข้างที่เจ็บให้ลุงผันแล้วบอกว่า 'มันปวดมากครับลุง ปวดจนนอนไม่หลับ แทบจะร้องไห้'

ลุงผันจับข้อมือข้างที่เจ็บ พลางปลอบว่า 'ทำใจดี ๆ หลานชาย ลุงจะช่วย' ว่าแล้วลุงก็หยิบขวดน้ำมนต์ออกมา ยกขึ้นเทเข้าปากอมแล้วพ่นมาที่ข้อมือ ทั้งว่าคาถาเป่าพร้อมจับข้อมือของคุณ ท. ที่กำลังปวดบีบนวด

เมื่อคุณ ท. ถูกคาถาเป่าจากลมปากของลุงผัน รู้สึกเย็นวาบซ่าไปทั้งแขน ความเจ็บปวดก็คลายลง ทำให้คุณ ท. สบายขึ้น ไม่ทรมานเหมือนก่อนหน้านี้

ลุงผันจับบีบนวดคลึงข้อมือข้างที่เจ็บจนข้อมือส่วนที่โค้งงอเข้าที่เป็นปรกติแล้ว ลุงผันก็บอกว่า 'หลานชาย ไม่ต้องกลัวเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรหรอก ลุงเป่าข้อมือให้แล้ว อีกสองวันก็หาย นอนหลับให้สบายเถิด ลุงไปละนะ หลานชาย'

แล้วลุงผันก็เลิกมุ้งออกไปข้างนอกและช่วยทับชายมุ้งให้เรียบร้อย เมื่อคุณ ท. หายจากอาการปวดก็รู้สึกง่วงนอนขึ้นมาทันที จนตาลืมไม่ขึ้น ไม่ทันจะกล่าวคำขอบคุณลุงผัน และไม่สนใจว่าลุงผันออกไปทางไหน เพราะง่วงมากจนหลับไปทันที

(ซ้าย) คุณอาคม ทันนิเทศ นักจัดรายการธรรมะทางวิทยุกระจายเสียง
(ขวา) คุณ ท. เลียงพิบูลย์

ภาพถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525

เช้าวันรุ่งขึ้น คุณแม่ของคุณ ท. จัดอาหารใส่บาตรประจำแล้ว คุณ ท. ก็ตื่นขึ้นจึงบอกแม่ว่า เมื่อจวนสว่าง ลุงผันแกมาเป่าข้อมือให้ แม่สงสัยอยู่ในใจเพระประตูบ้านยังไม่เปิด ลุงผันเข้ามาได้อย่างไร แต่แม่ก็นิ่งเสีย ไม่พูดอะไร พอจวนเพลมีคนมาจากบ้านหมอผัน บอกว่าหมอผันสิ้นใจเสียแล้วตอนเที่ยงคืนเมื่อคืนนี้

คุณ ท. เล่าว่า ท่านงงไปหมด เพราะมือที่หมอผันมาบีบนวดให้ท่านนั้นก็เหมือนมือคนธรรมดา ลมปากเป่าก็ธรรมดาเหมือนคนมีชีวิต ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย แต่ทำไมกลายเป็นวิญญาณของหมอผันไปได้ !

ครูแจ๋ว - สง่า อารัมภีร
นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ

ครูสง่า อารัมภีร หรือครูแจ๋ว ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2531 สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ได้เล่าถึงที่มาของเพลง 'น้ำตาแสงไต้' ซึ่งเป็นเพลงไทยอมตะที่มีทำนองไพเราะที่สุดเพลงหนึ่ง  ครูสง่าเล่าไว้ในหนังสือ 'เพลงผีบอก' น่าสนใจมาก ...

'.. ข้าพเจ้า (ครูสง่า อารัมภีร) จำได้แม่นยำว่า วันนั้นในราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488  ศิวารมณ์กำลังซ้อมละครเรื่อง 'พันท้ายนรสิงห์' อยู่ที่ห้องเล็ก ศาลาเฉลิมกรุง ดูเหมือนจะเข้าโปรแกรมวันที่ 10 พฤศจิกายน เราซ้อมกันอย่างหนัก เพราะเป็นสมัยที่กำลังเริ่มงานใหม่ ๆ กำลังฟิต สุรสิทธิ์, จอก, สมพงษ์ และทุก ๆ คนมาซ้อมกันตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน เนรมิต, มารุต สมัยโน้นเขาคู่กันคร่ำเครียดกับบทและวางคาแร็คเตอร์ตัวละครเป็นการใหญ่ นาฏศิลป์ก็ซ้อมกันไป เต้นกันไป นักร้องก็ร้องกันไป เสียงแซดไปทั่วห้องเล็ก ศาลาเฉลิมกรุง ตั้งแต่ 09:00-15:30 ทุกวัน

ตอนนั้น ข้าพเจ้ามีหน้าที่แต่เพียงดีดเปียโนสำหรับให้นาฏศิลป์เขาซ้อมและต่อเพลงให้นักร้องเท่านั้น ผู้แต่งเพลงให้ศิวารมณ์สมัยนั้นคือประกิจ วาทยกร และโพธิ์ ชูประดิษฐ์ ข้าพเจ้าเป็นนักดนตรีใหม่ ๆ ยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็แต่งกับเขายังไม่เป็น และยังไม่เคยคิดเลยว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไง ได้แต่ดูเขาแต่งเท่านั้น วันหนึ่ง ๆ ก็ได้แต่ดีดเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด

เหลือเวลาอีก 5 วัน ละครก็จะแสดงแล้ว ปรากฏว่าเพลงเอกของเรื่องคือ 'น้ำตาแสงไต้' ทำนองยังไม่เสร็จ ทั้งคุณประกิจและคุณโพธิ์แต่งส่งมาคนละเพลงสองเพลง ก็ยังไม่เป็นที่พอใจแก่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับ ทั้งเจ้าของเรื่องและผู้กำกับต้องการจะให้เพลงที่มีสำเนียงเป็นไทยแท้ มีรสและวิญญาณไปในทาง 'หวานเย็นและเศร้า' เพลงของคุณประกิจที่ส่งมามีสำเนียงกระเดียดไปทางฝรั่ง ของคุณโพธิ์ก็ไปกลาง ๆ คือครึ่งไทยครึ่งฝรั่ง ล่วงมาอีกหนึ่งวัน ทำนอง 'น้ำตาแสงไต้' ก็ยังไม่เสร็จ เจ้าของเรื่อง ผู้กำกับ ตลอดจนผู้ที่ร่วมงาน ต่างก็อึดอัดไปตาม ๆ กัน


เย็นนั้นเมื่อเลิกการซ้อมแล้ว ข้าพเจ้าก็พลอยอึดอัดไปกับเขาด้วย ในเมื่อด้านอื่นเขาเสร็จกันเรียบร้อยแล้ว ยังอยู่แต่เพลง 'น้ำตาแสงไต้' เพลงเดียวเท่านั้น และใครก็รับรองไม่ได้ด้วยว่า เมื่อคุณประกิจและคุณโพธิ์แต่งมาอีก จะเป็นที่พอใจแก่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับหรือไม่ เมื่อถึงเวลาภารโรงมาปิดห้องซ้อม ข้าพเจ้าก็ลงมาเก้ ๆ กัง ๆ อยู่หน้าเฉลิมกรุง ไม่รู้จะไปไหนดี มันงงไปหมด ก็ได้ยินเสียงเรียก

'หง่า หง่า' .. คุณทองอิน บุณยเสนา ที่ใคร ๆ เรียกว่าพี่อินบ้าง ลุงผีบ้าง ยืนยิ้มเผล่อยู่ สนทนาปราศรัยกันสักครู่ก็ข้ามไปที่ร้านโว่กี่ พี่อินตอนนั้นเป็นร้อยโทเงินเดือนตั๋ง ก็สั่งแมวคู่มาขวดหนึ่งพร้อมด้วยปีกเป็ดและตูดเป็ดอันเป็นของโปรด กินกันไปคุยกันไปจนเหล้าหมดขวด ชักตึง ๆ หน้าเมื่อสั่งขวดที่สอง พี่อินเขาก็เอ่ยถึงกิจการศิวารมณ์เป็นไงบ้าง 'ราบรื่นเรียบร้อยหรือไฉน' ข้าพเจ้าก็ตอบไปตามที่รู้ ไอ้ที่ไม่รู้ก็ไม่ตอบ สักครู่ข้าพเจ้าก็เอ่ยถึงเพลง 'น้ำตาแสงไต้' ที่ยังแต่งกันไม่เสร็จ เวลาก็เหลือน้อยเต็มที และได้เล่าถึงความต้องการของผู้กำกับและเจ้าของเรื่องว่าต้องการให้เป็นเพลงที่มีสำเนียงไทยแท้ มีรสหวานเย็นและเศร้า พี่อินฟังแล้วก็พูดว่า

'เพลงไทยนั้นมีแยะ แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อย อั๊วชอบมากและรู้สึกหวานเย็นเศร้าที่เห็นมีแต่ 'เขมรไทรโยค' และ 'ลาวครวญ' เท่านั้น'

ภาพอดีต ศาลาเฉลิมกรุง
เปิดฉายภาพยนตร์เสียงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2476
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีภาพยนตร์ฉาย จึงใช้เป็นที่แสดงละครเวที

หลังจากกินข้าวและเหล้า ข้าพเจ้าซึ่งกำลังเต็มกลืนข้ามฟากเดินมาทางหลังเฉลิมกรุง ขณะนั้นทางแผนกฉากยังไม่เลิก เขาทำงานกลางคืนกัน โผล่ไปก็เห็นน้าต้นกำลังควบคุมลูกน้องตัวเป็นเกลียวอยู่ ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งดูเขาทำงาน พลางแหย่คนนั้นยั่วคนนี้ สักครู่ก็ง่วงจนทนไม่ไหว ที่จริงคงไม่ง่วงหรอก มันคงเป็นฤทธิ์เหล้าทำให้มึนจนทนไม่ไหว เลยเอนหลังลงที่เก้าอี้นวมยาวของน้าต้นนั่นเอง เอนปุ๊บก็หลับปั๊บ จะหลับไปนานสักเท่าไหร่ก็ไม่รู้

ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมาก ที่ใครขึ้นมาเล่นเปียโนที่ห้องเล็กก่อนข้าพเจ้า ปกติ 08:00 น. กว่า ๆ ข้าพเจ้าต้องมาไล่เสียงเปียโนคีย์ต่าง ๆ ก่อนเสมอ ข้าพเจ้ามาก่อนใคร ๆ ทุกคนเป็นธรรมดาทุกวัน แต่วันนี้ก่อนเข้าไปในห้อง ได้ยินเสียงเปียโนไพเราะเหลือเกิน ข้าพเจ้าจึงเข้าไปดู แปลกเหลือเกิน

ท่านที่รัก... ในห้องซ้อม ข้าพเจ้าเห็นคนอยู่ 4 เป็นชาย 3 หญิง 1 แต่งกายแปลกมาก ชายแต่งกายเหมือนทหารนักรบไทยโบราณ เขาถอดหมวกวางไว้บนเปียโน คนเล่นเปียโนผิวค่อนข้างขาว หน้าคมคาย อีกคนหนึ่งผิวคล้ำ นั่งอยู่ทางขวาของเปียโน คนที่ 3 อายุมากกว่าสองคนแรก ผมหงอกประปราย ท่าทางเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หน้าตาอิ่มเอิบ ส่วนผู้หญิงนั้นสวยเหลือเกิน แต่งกายแบบโบราณอีกเหมือนกัน นุ่งผ้าจีบพก ห่มผ้าแถบสีแดงสด ผิวนวล ปล่อยผมยาวปรกบ่า กำลังยืนเอามือเท้าเปียโนอยู่ด้านซ้าย

 ...เพลงที่บรรเลงเป็นเพลงหวานเศร้าสำเนียงลาว 'ลาวครวญ' อันหวานเศร้า ฝีมือของเธออยู่ในขั้นเลิศ นิ้วขาว ๆ กลม ๆ ป้อม ๆ ไต่ไปบนคีย์เปียโนอย่างน่ารัก บรรยากาศรอบ ๆ กายข้าพเจ้ากดต่ำ รู้สึกว่ามีแต่ความเศร้าสลด ความคิดถึง ข้าพเจ้านั่งน้ำตาคลอ คิดไปถึงความหลัง ถึงพ่อแม่ พี่น้อง ผู้มีพระคุณ ถึงผู้เป็นสุดที่รัก เพลินอยู่จนเพลงจบเมื่อไหร่ไม่รู้สึกตัว... 

ข้าพเจ้าเพลินฟังอยู่จนต้องสะดุ้ง เมื่อมีมือหนัก ๆ มาเขย่าจนรู้สึกตัวตื่นจากภวังค์ เอ.. นี่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่บนห้องเล็กเฉลิมกรุงหรือนี่ ข้าพเจ้ามานอนที่เก้าอี้นวมใต้ถุนเฉลิมกรุง... 

บ่ายสามโมงวันนั้นเมื่อนาฏศิลป์และละครกลับกันแล้ว บนห้องเล็กเหลือข้าพเจ้า, เนรมิต, มารุต, สุรสิทธิ์ เนรมิตและมารุตพากันบ่นถึงเพลง 'น้ำตาแสงไต้' ว่าทำนองที่คุณโพธิ์และคุณประกิจส่งมาก็ยังใช้ไม่ได้ ไม่ตรงกับความประสงค์ สุรสิทธิ์บ่นว่าเหลืออีก 3 วัน ละครก็จะแสดงแล้ว เดี๋ยวไม่ทันหรอก ข้าพเจ้านั่งฟังเขาสักครู่ก็หันมาดีดเปียโน..

ท่านที่รัก - ความรู้สึกที่บอกไม่ถูกได้พานิ้วของข้าพเจ้าบรรเลงไปตามอารมณ์ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เพราะเคลิ้ม ๆ ยังไงพิกล ก็ได้ยินเนรมิตถามว่า 'หง่า.. นั่นเล่นเพลงอะไร'

ข้าพเจ้าสะดุ้งพร้อมกับนึกขึ้นได้ และจำทำนองได้ทันทีว่าเป็นเพลงซึ่งข้าพเจ้าได้ฟังอย่างประหลาด ข้าพเจ้าจำได้หมด ในบัดนั้นข้าพเจ้าได้หันมาถามเนรมิตว่า 'เพราะหรือฮะ'


เนรมิตพยักหน้าพลางบอกให้เล่นใหม่ ข้าพเจ้าก็บรรเลงอีกหนึ่งเที่ยว ทั้งเนรมิตและมารุตก็พูดขึ้นว่า นี่แหละ 'น้ำตาแสงไต้' ข้าพเจ้าดีใจ รีบจดโน้ตและประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น


มารุตขึ้น 'นวลเจ้าพี่เอย'
เนรมิตต่อ 'คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ'
แล้วก็ช่วยกันต่อ 'ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย'

พอจบประโยคแรก สุรสิทธิ์ก็ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างจบคำร้องในราว 10 นาทีเท่านั้นเอง สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง

สมัยนั้น ฉากสุดท้าย เมื่อทำนอง 'น้ำตาแสงไต้' พลิ้วขึ้น คนร้องไห้กันทั้งโรง แม้พันท้ายนรสิงห์จะสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยังใช้ 'น้ำตาแสงไต้' เป็นเพลงเอกอยู่


ขอขอบคุณ  เจ้าของภาพในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น