วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

'อริยทรัพย์' เทศน์กัณฑ์แรกของสมเด็จพระญาณสังวรฯ


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบรรพชาในปี พ.ศ. 2469 เมื่อพระชันษาเข้า 14 ปี  การบรรพชาของสมเด็จฯ ในเบื้องแรก เพียงเพื่อต้องการแก้บน ด้วยเหตุที่ประชวรบ่อย มีครั้งหนึ่งที่พระอาการหนักมากจนเกือบถึงแก่ชีวิต พระชนนีถึงกับบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หลังจากลูกหายป่วยแล้ว จึงบวชตามที่บนบานไว้ ที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) มีหลวงพ่อดี พุทฺธโชติ เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม หรือ 'หลวงพ่อวัดเหนือ' เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ หรือ 'หลวงพ่อวัดเหนือ' เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม
พระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร
และทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเทวสังฆาราม

'หลวงพ่อวัดเหนือ' เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและเป็นพระนักปฏิบัติ ท่านเป็นผู้สนับสนุนสมเด็จฯ ในทุก ๆ อย่างเพื่อให้ก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด เป็นดั่งบิดาทางธรรม นับเป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของสมเด็จฯ

สมเด็จฯ ทรงฉายพระรูปร่วมกับหลวงพ่อดี พุทฺธโชติและพระสงฆ์วัดเทวสังฆาราม
หน้าพระอุโบสถวัดเทวสังฆาราม ในปี พ.ศ. 2506

สิ่งที่สมเด็จฯ ฝึกปฏิบัติเป็นประจำคือการทำอุปัชฌายวัตร คือมีสิ่งใดที่พระอุปัชฌาย์ต้องการก็ถวายสิ่งนั้น เป็นต้นว่า การตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อถวายน้ำล้างหน้า ดูแลกุฏิและเครื่องใช้ทุกอย่างให้สะอาดเรียบร้อย ช่วงหัวค่ำก็เข้าไปช่วยบีบนวดเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ฯลฯ

พระรูปแสดงการทำอุปัชฌายวัตร
เมื่อครั้งเป็นสามเณรเจริญ คชวัตร และต่อหนังสือค่ำ เมื่อ พ.ศ. 2469
(ผู้วาดภาพ - อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์)

หลวงพ่อวัดเหนือ ฝึกสมเด็จฯ ให้ท่องจำกัณฑ์เทศน์ ด้วยวิธีที่เรียกกันว่า 'ต่อหนังสือค่ำ' คือ ในเวลาที่สมเด็จฯ ทำอุปัชฌายวัตรถวายหลวงพ่อวัดเหนือในแต่ละคืน หลวงพ่อจะอ่านเทศน์ 'กัณฑ์อริยทรัพย์' ให้สมเด็จฯ ฟังคราวละตอน ๆ แล้วให้ว่าตามเป็นการท่องจำ

หลวงพ่อวัดเหนือสอนเช่นนี้ติดต่อกันทุกคืน สมเด็จฯ ทรงตั้งใจฟังจนสามารถจำขึ้นใจตลอดทั้งกัณฑ์ และในคืนวันพระคืนหนึ่งในพรรษาแรก ทรงขึ้นธรรมาสน์เทศน์ปากเปล่าให้ญาติโยมฟัง เสียงดังฟังชัด ไม่ติดขัด ตั้งแต่ต้นจนจบ

ปกสมุดบันทึกพระธรรมเทศนา กัณฑ์ 'อริยทรัพย์'
ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงบันทึกไว้ด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง
ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณรพรรษาแรก

สมเด็จฯ ไม่เพียงแต่ท่องจำกัณฑ์เทศน์และสามารถเทศน์ปากเปล่าจากความจำให้ญาติโยมฟังได้เท่านั้น แต่ยังได้บันทึกเทศน์กัณฑ์ 'อริยทรัพย์' นั้นลงในสมุด เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับตนเองด้วย

ต่อไปนี้ เป็นบันทึกเทศน์ กัณฑ์ 'อริยทรัพย์' ถอดความจากลายพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเป็นสามเณรพรรษาแรก หน้าต่อหน้า บรรทัดต่อบรรทัด ..


เทศนากัณฑ์อริยทรัพย์

สทฺธาธนํ สีลธนํ        หิริโอตฺตปฺปิยํธนํ
สุตธนญฺจ จาโค จ     ปญฺญาเมสตฺตมํธนํ
ยสฺสเอตาธนา อตฺถิ   อิตฺถิยา ปุริสัสฺสวา
อทลิทฺโธติตํ อาหุ      อโมฆนฺตสฺสชีวิตนฺติ

     ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงธรรม์
มีกถา พรรณาความในอริยทรัพย์ทั้ง ๗
ประการ พอสดับสติปัญญาแก่พุทธศาสนิก
บริษัททั้งหลาย ที่ได้มาประชุมในที่นี้พอ
สมควรแก่เวลา

     ดำเนินความว่าทรัพย์ทั้งหลายทั้งที่
มีวิญญาณแลหาวิญญาณบมิได้ ย่อมเป็น
ที่ต้องประสงค์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีอุปการ
มาก ให้สำเหร็จความปราถนาของผู้เป็นเจ้า
ของทรัพย์ ซื้อหาแลแลกเปลี่ยนสิ่งนั้น ๆ
ได้ตามความประสงค์


เพื่อบำรุงความสุขของตนแลผู้อื่น ผู้ไร้ทรัพย์ย่อมได้รับ-
ความขัดข้องมีประการต่าง เพราะฉนี้ ทรัพย์จึงเปนที่ปราศนา
ของประชุมชนฯ ก็แต่ทรัพย์อย่างนี้จัดเปนโลกียะทรัพย์ฯ
สำหรับโลก เป็นเครื่องอาศรัยใช้สอยอยู่แต่ในโลกนี้ ครั้นละ
โลกนี้ไปแล้วก็ตกเปนของผู้อื่นหมด ถึงผู้อื่นก็เปนอย่างนี้-
อีกเหมือนกัน ไม่ถาวรตามติดไปได้เหมือนอริยทรัพย์
เพราะฉนี้ สัตว์ผู้มีอันจะตายเปนสภาพ ควรแสวงหาอริย-
ทรัพย์ อันเปนของจะตามติดไปสู่โลกหน้า ทั้งเปนอุปการ
ให้เกิดโลกียะทรัพย์ด้วย อริยทรัพย์นั้นท่านจำแนกไว้ ๗ ประ-
การ โดยภาสิตโวหารว่า สทฺธาธนํ สีลธนํ เปนต้น
ความว่า ทรัพย์คือสัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือ-
หิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือ-
จาคะ ทรัพย์คือปัญญาเปนที่ ๗  ทรัพย์เหล่านี้มีอยู่แก่
บุคคลผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตกล่าวผู้-
นั้นว่าเปนผู้ไม่จน แลชีวิตร์ความเป็นอยู่ของผู้นั้นไม่เปล่า
ดังนี้

     อธิบายความในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ เป็นลำดับไป ศรัทธานั้นได้
แก่ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อฯ คุณข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญในชั้น
ต้น บุทคลจะกระทำอะไร ก็ต้องอาศัยความเชื่อจึงจะทำได้
ดังผู้ที่ประกอบกิจการงานต่าง ๆ ก็เพราะเชื่อว่าจะได้ผล


ที่ตนประสงค์ จึงเป็นเหตุให้หมั่นขยัน ไม่พรั่นพรึงต่อเย็นร้อน
ถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว ก็ทำให้อ่อนแอหรือละเลิกเสียฯ เมื่อจะ
แสดงประเภทศรัทธาในทางธรรมปฏิบัติ ได้แก่ความเชื่อกรรม
เชื่อผล เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน แลเชื่อต่อพระโพธิ
ญาณของพระตถาคตเจ้าฯ กรรมได้แก่ความกระทำส่วนดี เรียกว่า
บุญ ส่วนชั่วเรียกว่าบาป มาเชื่อว่าอันนี้บุญ อันนี้บาป เรียกว่า
เชื่อกรรมฯ ความสุขกายสุขใจ เป็นผลมาแต่บุญ ความทุกข์
กายทุกข์ใจ เป็นผลมาแต่บาป มาเชื่อว่าผลดีมาแต่บุญ ผลชั่ว
มาแต่บาป เรียกว่าเชื่อผลฯ บุญบาปทั้งสองอย่างนี้ ใครทำ
ไว้ก็เป็นของผู้นั้น ผู้นั้นย่อมจะพาเอาบุญแลบาปที่ตนทำไว้ไป
บุญแลบาปย่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นต่างๆ กัน มาเชื่ออย่างนี้
เรียกว่าเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตนฯ ความเชื่อต่อความตรัส
รู้ของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
จริงเป็นต้น เรียกว่าเชื่อต่อพระโพธิญาณของพระตถาคต
เจ้าฯ ความเชื่อกรรมเชื่อผล เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของ ๆ ตน
สามประการนี้  เมื่อจะรวมแสดงก็เป็นเหตุไม่ให้ทำกรรมที่ชั่ว
ประกอบแต่กรรมที่ดี เมื่อได้รับผลของกรรมนั้น ๆ แล้ว ก็จะ
ไม่หลงเที่ยวซัดผู้อื่นฯ  ส่วนความเชื่อต่อพระโพธิญาณ
แห่งพระตถาคตเจ้า เป็นเหตุที่จะให้ดำเนิรในพุทโธวาท
ตามกำลังศรัทธานั้น ๆ ฯ ก็ธรรมอันเป็นเบื้องต้น


ที่ควรบำเพ็ญให้ต่อติดกับศรัทธาคือศีล เพราะศีลเป็นธรรมที่ควรประ
พฤติก่อน เมื่อมีศีลแล้ว ควรบำเพ็ญธรรมอย่างอื่น เป็นลำดับไป
ศีลเปรียบดุจบรรทัดของผู้ที่แรกเขียนหนังสือ ถ้าไม่มีก็ไม่ตรง
ฉันใด ผู้ไม่มีศีล แม้จะปฏิบัติธรรมก็คดได้ฉันนั้น แม้ก่อนแต่การ
บริจาคทาน ท่านก็ยังให้สมาทานศีลเสียก่อน แลก่อนแต่การ
เจริญพระกรรมฐาน ท่านก็ให้มีศีลเสียก่อนฯ แลไตรสิกขาท่าน
ก็ยกศีลขึ้นก่อนฯ วิสุทธิ๗ ท่านก็ยกศีลวิสุทธิขึ้นก่อนฯ ผู้ไม่มี
ศีล แม้จะปฏิบัติธรรมสูงลอย ก็เท่ากับสูงเกินฐาน เท้าไม่ติด
ดิน ฉนั้นฯ  ศีลเป็นธรรมควรบำเพ็ญก่อน ดังแสดงมาฉนี้
เพราะฉนั้นท่านจึงได้ยกศีลเป็นลำดับแห่งศรัทธา จัดเป็นทรัพย์ที่
๒ ฯ

     ศีลนั้นได้แก่การรักษากายวาจาสอาดดีงาม คือไม่ฆ่าสัตว์
ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่เสพสุราเมรัยฯ
ศีล ๕ ประการนี้ไม่มีส่วนยกเว้น มีแต่จะเพิ่มเติมให้มากเป็น ๘
เป็น ๑๐ เป็นต้น เมื่อจะยกเว้นตัวใดตัวหนึ่งเสีย ก็กระทำ
ความบกพร่องให้ผู้รักษาฯ ความรักษาศีลนั้น ย่อมสำเร็จด้วย
ความตั้งใจละเว้น บุทคลจะมาละเว้นได้ ก็เพราะมีหิริโอตตัป
ปะอยู่ในสันดาน เพราะฉนั้น ท่านจึงให้ยกหิริขึ้นแสดงประการ
หนึ่ง ว่าเป็นอริยทรัพย์ที่ ๓ โอตตัปปะประการหนึ่ง ว่าเป็น
อริยทรัพย์ที่ ๔ ฯ


หิรินั้น ได้แก่ความละอายต่อบาป โอตตัปปะนั้น ได้แก่ความสดุ้ง
กลัวต่อบาปฯ บุทคลผู้ใดยังมีความพอใจอยู่ในบาป แต่ไม่กล้า
ทำต่อหน้าคน เพราะความกระดากอาย บุทคลผู้นั้น จะได้ชื่อว่ามี
หิริหามิได้ แต่ก็ยังดีกว่า ผู้ปราศจากความกระดากอายเสียทีเดียว
ฯ  บุทคลผู้ใด ไม่กล้ากระทำบาปด้วยความเกลียดอายบาป ดังผู้
ที่รักสอาดเกลียดต่อปฏิกูล ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีหิริแท้ฯ  บุทคล
ผู้ใดยังมีความพอใจในบาป แต่ไม่กล้าที่จะกระทำ เพราะกลัวต่อ
ผู้ใหญ่จะติเตียนลงโทษ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่ามีโอตตัปปะก็หาไม่ แต่
ยังดีกว่าผู้ปราศจากความกลัวเสียทีเดียวฯ  ส่วนบุทคลผู้ใดมี
ความกลัวต่อผลของความชั่วแม้มีประมาณน้อย ก็มิอาจกระทำ
เหมือนคนรักชีวิต หวาดต่ออสรพิษ แม้ตัวเล็กไม่เข้าไปใกล้ ผู้
นั้นชื่อว่ามีโอตตัปปะแท้ฯ  หิริแลโอตตัปปะทั้งสองนี้เป็นธรรมอัน
รักษาโลก ถ้าโลกจักไม่นับถือหิริโอตตัปปะแล้ว ต่างคนก็ต่าง
จะเบียดเบียนซึ่งกันแลกัน  ยิ่งขึ้นไปกว่าทุกวันนี้  การที่ไม่เป็น
ถึงปานนั้น ก็เพราะหิริโอตตัปปะป้องกันอยู่ฯ  อนึ่งหิริโอตตัปปะ
ทั้ง ๒ นี้ เป็นธรรมที่จะทำบุทคลให้มีสันดานดีสงบระงับ นับเป็น
สัปปุริสธรรม แลเป็นธรรมที่จะกระทำบุทคลให้เปนเทวดา
ท่านเรียกว่าเทวธรรม แลเป็นทรัพย์ที่จะช่วยตนให้พ้นจาก
พิบัติอันตราย  ท่านจึงจัดว่าเป็นอริยทรัพย์ฯ คุณสมบัติซึ่ง
ได้แสดงมานี้้จะมีขึ้นได้ในสันดาน ก็เพราะอาศัยการได้สดับ


ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังแล้วยากที่จะรู้ได้เอง เพราะฉนั้น ท่านจึงยก
สุตะขึ้นแสดงประการหนึ่ง ว่าเป็นอริยทรัพย์ที่ครบ ๕ ฯ

     สุตะนั้น ได้แก่การสดับฟังอรรถกรรม อันเป็นประโยชน์
โลกนี้หรือประโยชน์โลกน่า หรือประโยชน์อย่างยิ่งฯ การฟังนี้
นับเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง บุทคลผู้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ ได้
เห็นผลในทางโลกหรือทางธรรม ก็เพราะการได้สดับก่อนตั้งต้น
แต่ฟังโอวาทคำสั่งสอนของมารดาบิดา แลครูอาจารย์ผู้สอนศิล
ปวิทยา แลพระศาสดาผู้แสดงธรรมโดยลำดับ แม้ในบัดนี้
มีหนังสือดูด้วยตาแทนสุตะได้ ถึงกระนั้นในชั้นต้นก็ต้องอาศัย
การฟังก่อนจึงอ่านออก เมื่ออ่านได้แต่ยังไม่เข้าใจความก็ต้อง
ฟังอรรถาธิบายต่อผู้รู้อีก เพราะฉนั้น จึงนับว่าการฟังเป็นสิ่งสำ
คัญประการหนึ่งฯ ในพุทธศาสนา ท่านเรียกผู้ฟังว่าสาวก
เรียกผู้รู้เท่าสังขารด้วยการฟังว่าสุตะพุทธะฯ แม้พระสัพพัญ
ญูพุทธเจ้า ก็ยังทรงฟังพระจุนทเถระ ถวายเทศน์เรื่องโพชฌงค์
ในคราวเมื่อทรงพระประชวรฯ ก็กิริยาที่ฟังจะให้สำเร็จประ
โยชน์ได้นั้น ต้องฟังโดยเคารพ คือตั้งใจฟัง ไม่ส่งจิตต์ไป
ในที่อื่น คอยกำหนดข้ออรรถข้อธรรม แล้วจำไปใคร่ครวญ
พิจารณาประพฤติปฏิบัติ จึงจะสำเร็จประโยชน์ เมื่อ
ให้สำเร็จประโยชน์ตนได้แล้ว ควรให้สำเร็จประโยชน์ผู้
อื่นด้วยฯ บุทคลผู้ชะนะความตระหนี่แล้วบริจาคทาน


ก็เพราะได้อาศัยการสดับเป็นเบื้องต้น เพราะฉนั้นท่านจึงยกจาคะ
ขึ้นแสดงประการหนึ่ง ว่าเป็นอริยทรัพย์ที่ครบ ๖ ฯ

     จาคะนั้นได้แก่การบริจาคพัสดุของตน อนุเคราะห์แก่ผู้ที่ควร
ให้ บูชาแก่ผู้ควรบูชาฯ บุทคลผู้ใดยังไม่สามารถเลี้ยงตนได้ คือ
ยังเป็นทารก หรือเป็นผู้ใหญ่แต่เป็นคนพิการทุพพลภาพ บุทคล
ผู้นั้นควรอนุเคราะห์ บุทคลผู้ใดเปนผู้ทรงคุณความดีที่เป็นประโยชน์
ตนประโยชน์ท่าน บุทคลเช่นนี้ควรบูชาฯ บริจาคด้วยอนุเคราะห์หรือ
บูชาก็ตาม นับว่าได้ทำประโยชน์อันเกิดแต่โภคะ ทำโภคะนั้น ๆให้
เป็นแก่นสาร เป็นอันได้ขจัดความตระหนี่ในสันดานเป็นระหว่างๆฯ
ก็ธรรมเนียมหว่านพืชก็ต้องหวังผลเพราะฉนั้น จำเป็นต้องเลือก
นิยมเขตร ทานที่ บุทคลเลือกแล้วให้ อันพระสุคตเจ้าทรง
สรรเสริญ นับเป็นญาณสัมปยุตรประกอบแล้วด้วยปัญญา การ
กระทำตามๆ เขาไป มิได้ใช้ปัญญาพิจารณา เรียกญาณวิปปยุตร
เพราะฉนั้น ท่านจึงจัดปัญญาขึ้นแสดงประการหนึ่ง ว่าเป็นอริย
ทรัพย์ที่ครบ ๗ ฯ แท้จริง อริยทรัพย์ทั้งหกประการจะบริบูรณ์
ก็ต้องอาศัยปัญญาด้วย ปัญญานับว่าเป็นอริยทรัพย์สำคัญ
ประการหนึ่งฯ

     ปัญญานั้นได้แก่ความรู้จักเหตุผลตามเป็นจริงว่า อันนี้
เป็นเหตุของความเสื่อม อันนี้เป็นเหตุของความเจริญ ความเสื่อม
แลความเจริญเป็นผลมาแต่เหตุนี้ ๆ ฯ แลรู้ว่าอันนี้เป็นเหตุ


แห่งทุกข์ ทุกข์เป็นผลมาแต่เหตุนี้ อันนี้เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์
ความดับทุกข์เป็นผลมาแต่เหตุนี้ อันคนที่เกิดมาในโลก ชื่อว่าตก
อยู่ในกระแสของธรรมดา ถ้าไม่เข้าใจเหตุผลก็ไม่สามารถจะหลีกพ้น
จากความพิบัติ แลไม่ได้บัลลุความสวัสดี เมื่อมีปัญญารู้เท่าถึง
เหตุผลได้เพียงใด ก็ได้หลีกพ้นจากพิบัติ แลบัลลุความสวัสดี
เพียงนั้น ปัญญาเป็นแสงสว่างอันประเสริฐ ไม่มีแสงอื่นจะเสมอ
เหมือน คนมีปัญญาใช่จะคุ้มได้แต่ตัว ย่อมคุ้มได้ตลอดถึงผู้
อื่นด้วย เหตุดังนั้น บัณฑิตจึงได้สรรเสริญชีวิตของผู้มีปัญ
ญาว่าประเสริฐ ฯ

     ธรรม ๗ ประการ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ
จาคะ ปัญญาเรียกว่าอริยทรัพย์ เพราะให้สำเร็จประโยชน์ได้
เหมือนทรัพย์ คนมีทรัพย์ย่อมมีความปลื้มใจว่าทรัพย์ของเรา
มีอยู่ ฉันใด คนมีคุณสมบัติมีศรัทธาเปนต้น ก็มีความปลื้ม
ใจว่า เรามีคุณธรรมนี้ ๆ อยู่ ฉันนั้น อนึ่งผู้มีทรัพย์ ย่อมเอาทรัพย์
ออกซื้อต่อสิ่งอื่น ๆ ได้ ฉันใด ผู้มีคุณสมบัติมีศรัทธาเป็นต้น
ก็เอาคุณสมบัตินั้น ๆ ออกต่อซื้อคุณสมบัติอื่นอีกได้ ฉันนั้น
ดังในการเมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จไปเพื่อแสดงธรรม
แก่เบญจวัคคีย์ครั้งแรก ท่านเหล่านั้นยังไม่เชื่อต่อพระองค์ ๆ
จึงได้ทรงแสดงเหตุให้เกิดศรัทธาก่อนแล้ว สดับธรรมเทศนา
ธรรมจักร์ ครั้นจบเทศนา พระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็น


ธรรมก่อนฯ ก็ความที่ยกมาแสดงนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เอาศรัทธา
ต่อซื้อสุตะ ๆ ต่อซื้อปัญญา ตลอดมรรคผลนิพพาน แม้คุณธรรม
อื่นมีศีลเป็นต้นต่อไป เมื่อมีแล้วก็เป็นอากรบ่อเกิดแห่งคุณสมบัติ
อื่น ๆ ได้เหมือนกัน เพราะฉนั้น จึงเรียกว่าทรัพย์ ๆ ธรรมดา เมื่อ
ซื้อหาสิ่งไร แล้วก็หมดไป ส่วนทรัพย์นี้ แม้จะซื้อหาคุณธรรม
อื่น ๆ มาก็ไม่มีหมดสิ้น อันภัยทั้ง ๔ ไม่อาจย่ำยีประทุษร้ายได้ ไม่
ทำเจ้าของให้เดือดร้อนในกาลใดกาลหนึ่งเพราะฉนั้นจึงได้เรียกว่า
อริยทรัพย์ ๆ นี้ มีอยู่แก่บุทคลใด บัณฑิตกล่าวบุทคลผู้นั้น
ว่าเป็นคนมั่งมี ไม่ใช่คนจน แลชีวิตความเป็นอยู่ของบุทคลนั้น
ชื่อว่าไม่เป็นอยู่เปล่า นับว่าเป็นผู้มีแก่นสาร สมด้วยภาษิตคาถาว่า
สัท์ธาธนํ สีลธนํ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล หิริโอต์ตัป์
ปิยํ ธนํ ทรัพย์คือหิริ แลโอตตัปปะ  สุตธนัญ์จจาโค จ ทรัพย์
คือสุตะ  ทรัพย์คือจาคะ ปัญญา เวสัต์ตมํ ธนํ ปัญญาเป็นทรัพย์
ที่ครบ ๗ แล ยัส์สะ เอตา ธนาอัต์ถิ ทรัพย์เหล่านี้มีอยู่แก่บุท
คลผู้ใด อิต์ถิยา ปุริสัส์ส วา จะเปนหญิงหรือชายก็ตาม
อทลิท์โทติ ตํ อาหุ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้
ไม่จน อโมฆํ ตัส์ส ชีวิตํ ชีวิตความเป็นอยู่ของบุทคลนั้น
เปนของไม่เปล่าจากประโยชน์  ดังนี้แล ฯ

สมเด็จพระญาณสังวรฯ เมื่อทรงเป็นสามเณร

หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ หรือ 'หลวงพ่อวัดเหนือ' เป็นผู้ที่ทำให้การบวชแก้บนของสมเด็จฯ มิใช่การบวชเล่น ๆ แต่กลายเป็นการบวชจริง ๆ จนถึงวันนี้  หลวงพ่อให้โอกาสสามเณรใหม่ได้ขึ้นเทศน์ปากเปล่าให้แก่เหล่าอุบาสกอุบาสิกาฟัง

พระรูปเมื่อครั้งเป็นสามเณร
เทศน์ครั้งแรก
ในพระอุโบสถ วัดเทวสังฆาราม เมื่อ พ.ศ. 2469
(
ผู้วาดภาพ - อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์)

ในคืนวันพระนั้น สามเณรน้อยนั่งขัดสมาธิตัวตรง สงบสำรวมอยู่บนธรรมาสน์ เทศน์ 'กัณฑ์อริยทรัพย์ 7 ประการ' ได้อย่างไม่ติดขัด เสียงดังฟังชัดทุกถ้อยคำ เต็มพลังความหมาย

ผู้ได้ยินได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ผ่านสามเณรน้อยในคืนนั้น ต่างปลื้มปิติอิ่มเอมใจ รวมถึงพระชนนีกับป้าเฮ้งซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยความชื่นใจยิ่งนักที่ลูกเณรมีความก้าวหน้าในธรรมอันงาม


อ้างอิง      - หนังสือ 'เทศนากัณฑ์อริยทรัพย์' 
                   ที่ระลึกในงานบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา 99 ปี สมเด็จพระญาณสังวรฯ

                - หนังสือ 'สามเณรผู้เจริญดี'
                   ที่ระลึกในพิธีถวายดอกไม้จันทน์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
                   สมเด็จพระญาณสังวรฯ ณ วัดเทวสังฆาราม (พระอารามหลวง)

ขอขอบคุณ  คุณลอดหล้าดาวดี บุญฤทธิ์มนตรี และ ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน 
                   ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น