วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรและพิธีไล่น้ำ


พิธีไล่น้ำ
มีมาแต่โบราณ เป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้น้ำที่ท่วมขังลดลงอย่างรวดเร็วและลดความรุนแรงของน้ำที่เป็นอันตราย  เป็นโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงให้ความสำคัญ เพราะเมื่อข้าวในนาเริ่มจะแก่ ถ้ายังมีน้ำท่วมอยู่ก็ทำให้ข้าวเสียหาย จึงต้องทำพิธีไล่น้ำไปเสียให้พ้น


แม้พิธีไล่น้ำจะมิได้จัดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว แต่ในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากน้ำท่วมครั้งใหญ่และเมืองหลวงของประเทศต้องเผชิญกับมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลหลากเข้าประชิด ได้มีการรื้อฟื้นพิธีดังกล่าวขึ้นอีก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในยามที่บ้านเมืองต้องปฏิบัติภารกิจคับขัน ทั้งนี้ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร เข้าร่วมพิธีด้วย

 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานครและประชาชน
ได้ประกอบพิธีไล่น้ำในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:39 น. ณ ศาลหลักเมือง

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก)  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาห้าม  ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีว่า


พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จจาริกจากอิสิปตนมฤคทายวันในวันปาฏิบท คือ วันแรม 1 ค่ำ เสด็จย้อนไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเป็นตำบลที่ตรัสรู้ มุ่งจะเสด็จไปโปรดชฎิล (นักพรตจำพวกหนึ่งมีผมมุ่นเป็นชฎา) 1,000 คน ซึ่งตั้งสำนักอยู่ในตำบลนั้น

ชฎิลเหล่านั้น มีหัวหน้าอยู่ 3 คน ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ คนหนึ่ง มีบริวาร 500 คน ตั้งสำนักอยู่ตำบลหนึ่ง น้องคนที่สองชื่อว่า นทีกัสสปะ มีบริวาร 300 คน ตั้งอาศรมพำนักอยู่ถัดไปอีกแห่งหนึ่ง น้องคนสุดท้องชื่อว่า คยากัสสปะ มีบริวาร 200 คน ตั้งสำนักอยู่แห่งหนึ่งในที่ถัดไป

พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสำนักของอุรุเวลกัสสปะก่อน ได้ตรัสขออาศัยพัก  ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่กับอุรุเวลกัสสปะ พระองค์ได้ทรงใช้วิธีอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ แสดงวิธีดักใจต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ให้เหล่าชฎิลเห็นว่า คุณธรรมต่าง ๆ ที่พวกชฎิลถือว่าพวกของตนมีอยู่และเป็นของวิเศษนั้น ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ และให้หายจากความสำคัญตนผิดว่าเป็นพระอรหันต์ จนในที่สุด อุรุเวลกัสสปะคลายจากความสำคัญผิดและทูลขออุปสมบท

ชฎิลลอยบริขารแล้วทูลขออุปสมบท

พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ไปบอกบริวารเสียก่อน เมื่อเหล่าบริวารเห็นชอบกับอุรุเวลกัสสปะ ก็พร้อมกันลอยชฎิลบริขารทิ้งน้ำ แล้วก็ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต  ต่อมานทีกัสสปะกับบริวาร ได้เห็นชฎิลบริขารของพี่ชายกับบริวารลอยน้ำมา ก็คิดว่าจะเกิดอันตรายแก่พี่และคณะ ก็พร้อมกันมา เห็นพี่และคณะอุปสมบทเป็นภิกษุ ก็พากันลอยบริขารชฎิลของตน ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ฝ่ายคยากัสสปะและบริวารก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงเป็นอันว่าชฎิลรวม 1,000 คน ซึ่งมีหัวหน้า 3 คน ก็ได้มาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา 

แล้วในที่สุด ก็มาถึงวาระที่พระบรมศาสดาจะทรงแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คืออบรมสั่งสอนเพื่อให้ชฎิลเหล่านั้นได้บรรลุธรรมสืบต่อไป จึงได้ทรงนำไปยังตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา แล้วก็ตรัสเทศนาที่พระคันถรจนาจารย์ได้ขนานนามว่า อาทิตตปริยายสูตร คือ พระสูตรที่แสดงบรรยายถึงความรุ่มร้อนของจิตใจด้วยอำนาจของกิเลส เปรียบได้กับความร้อนของไฟที่กำลังลุกโพลงอยู่  เพื่ออนุโลมตามอัธยาศัยของชฎิลที่นิยมบูชาไฟเป็นวัตร

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชฎิลสามพี่น้องดังได้บรรยายไว้แล้ว ก็เพราะนักบวชสามพี่น้องนี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ผู้คนเคารพนับถือมากในสมัยนั้น  การทำให้นักบวชที่มีผู้เคารพศรัทธามากหันมานับถือพระองค์ จะช่วยให้การประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เพิ่งเกิดใหม่เป็นไปง่ายขึ้นและได้ผลรวดเร็ว


หนึ่งในอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เป็นปาฏิหาริย์เกี่ยวกับน้ำท่วม กล่าวคือ วันหนึ่งมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นทั้งที่มิใช่ฤดูกาล บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดา พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ ที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้นราบเป็นปรกติ ตถาคตจะเดินจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น 

ฝ่ายอุรุเวลกัสสปะคิดว่า พระมหาสมณะนี้จะถูกน้ำท่วมหรือไม่ประการใด หรือจะหลีกลี้ไปสู่สถานที่แห่งอื่น จึงชักชวนเหล่าชฎิลบริวารพากันลงเรือไปดู เมื่อถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงสถิตอยู่ ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่บนพื้นที่ปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธองค์ทรงขานรับ แล้วเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ เลื่อนลอยลงสู่เรือของชฎิล

(ซ้าย) พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  และ (ขวา) พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช เนื้อสำริดหุ้มด้วยทองคำ 
เครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง
เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธอิริยาบทที่ทรงห้ามน้ำนี้ เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  ชาวไทยได้นำความเชื่อด้านโหราศาสตร์มาผนวกกับพุทธศาสนาด้วย จึงมีการกำหนดปางพระพุทธรูปตามเทวดานพเคราะห์ เพื่อบูชาเนื่องด้วยพิธีทักษาหรือเพื่อสวัสดิมงคล โดยกำหนดให้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรนี้ เป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์

พระห้ามสมุทรหยุดสึนามิ หรือ หลวงพ่อกันภัยสึนามิ
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
ประดิษฐาน ณ สำนักสงฆ์แหลมป้อม
บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

การบูชาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร นอกจากจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจในยามที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยแล้ว ยังเป็นความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลว่า พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีพุทธานุภาพห้ามน้ำได้ 

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
พระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง

ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ตลิ่งหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก (วัดตลาด) จังหวัดอ่างทอง ถูกน้ำกัดเซาะพังเข้าไปมาก  พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสังให้พระยาราชสงครามเป็นแม่งาน รวบรวมชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา ช่วยกันชะลอเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปให้พ้นน้ำ อันเป็นงานที่ยากมาก เพราะองค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นปูนปั้นอาจจะเสียหายได้


ในภารกิจสำคัญครั้งนั้น มีการบูชาขอพรจากพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรด้วย ดังปรากฏในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ซึ่งเป็นโคลงพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวร ความว่า

ขอพรพระพุทธห้าม    สมุทไทย
ห้ามชลาไลยไหล       ขาดค้าง

การเคลื่อนย้ายพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นขนาดใหญ่ ความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 24 เมตร ให้เคลื่อนห่างจากฝั่งแม่น้ำ กระทำสำเร็จโดยไม่เสียหายเป็นที่อัศจรรย์

2 ความคิดเห็น: