วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อานุภาพแห่งพระเครื่อง มีจริง ?

 

".. การนับถือพระพิมพ์นั้น บางทีก็เลยแก่นประสงค์ของผู้สร้าง
นับถือกันว่า เป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มตนให้พ้นอันตราย ถือเช่นนั้นก็ไม่มีโทษอันใด 
เว้นแต่จะเอาไปคุ้มตน เพื่อทำการบาปกรรม เช่นปล้นสะดมหรือทำร้ายผู้อื่น
ด้วยประการอย่างใดก็ไม่สามารถจะคุ้มใครได้ .."
                                                                                                      สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระเครื่องที่สร้างกันโดยทั่วไป นิยมทำเป็นพระพุทธปฏิมากรองค์เล็ก ๆ สะดวกในการนำติดตัว เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้า ถึงแม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว แต่พุทธานุภาพยังคงมีอยู่ตลอดกาล

คนที่มีความทุกข์ร้อน เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถ ได้เห็นได้กราบพระประธาน ความทุกข์ร้อนที่มีอยู่ในใจก็อาจคลายลงไปได้  คนที่เจ็บป่วย ญาติพี่น้องนำพระพุทธรูปมาวางไว้ใกล้ ๆ เตียง หรือนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีขวัญกำลังใจดีขึ้น บางครั้งมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้อีก  บางท่านมีพระพุทธรูปอยู่ในบ้าน หรือมีพระเครื่องอยู่กับตัว ก็รู้สึกอุ่นใจว่ามีสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอันตราย ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็เป็นเพราะพุทธานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งแตกต่างกับการกราบไหว้รูปปั้นอิฐปูนหรือโลหะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พุทธปฏิมากร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม
และพระเครื่องที่ท่านทำขึ้นเพื่อแจกญาติโย

ครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน จึงนิยมสร้างพระเครื่องเป็นของที่ระลึก ตอบแทนน้ำใจญาติโยมที่มาทำบุญหรือช่วยงานพระศาสนา ตัวอย่างเช่น พระเครื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ท่านนำอาหารที่ฉันเป็นปรกติ ได้แก่ ข้าวสุก กล้วย ผสมกับปูนสอที่ร่วงหล่นจากพระเจดีย์บ้าง กำแพงวัดบ้าง เอามาบดให้ละเอียด ผสมกับผงอาคมของท่าน แล้วเคล้าด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเคี่ยว นำมากดลงในแม่พิมพ์เป็นพระสมเด็จ เวลาท่านไปไหนมาไหนก็นำติดย่ามไปด้วยเพื่อแจกให้กับญาติโยม

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่
อธิษฐานจิตและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เหรียญหลวงปู่แหวน รุ่นเราสู้
เพื่อนำไปแจกให้กับทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามแนวชายแดน

พระเครื่อง รวมถึงเหรียญคณาจารย์และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ นั้น โดยทั่วไป ก่อนที่จะนำออกแจกจ่ายหรือให้เช่าบูชา ก็นิยมนำเข้าพิธีพุทธาภิเษก โดยนิมนต์พระเถระผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำสมาธิ นั่งภาวนาส่งกระแสจิตอัญเชิญคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสถิตในวัตถุมงคลนั้น ๆ  

หากพระเถระผู้ทำการปลุกเสกเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เป็นผู้มีญาณ ฝึกฝนจิตจนมีอำนาจจิตสูง วัตถุมงคลนั้น ๆ ก็จะได้รับการถ่ายทอดพลังจิตไว้อย่างสมบูรณ์  และหากผู้ที่นำวัตถุมงคลนั้นไปสักการบูชาเป็นผู้มีศีลธรรม ไม่นำไปใช้ในทางทุจริตชั่วร้าย  วัตถุมงคลนั้น ๆ ก็ย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ มีผลทุกอย่างตามที่ท่านผู้ปลุกเสกอธิษฐานไว้ว่าจะให้เกิดผลอะไร

พระอริยสงฆ์ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
ได้รับการยกย่องและนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญ ๆ เสมอ

ในอดีต ยามที่บ้านเมืองไม่สงบหรือเข้าสู่ภาวะสงคราม มีการสร้างพระพิมพ์และเครื่องรางของขลังมอบเป็นขวัญกำลังใจให้กับทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิรบ โดยนิมนต์ครูบาอาจารย์ผู้ทรงอภิญญามาประกอบพิธีปลุกเสก ปรากฏเป็นที่เลื่องลือว่าอยู่ยงคงกระพันจริง

ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (เจ้าคุณนรฯ)
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ
ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์กลางกรุง
ของที่ท่านเสกมีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่มหาชนเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ นี้ อาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ไม่สิ้นสุดระหว่างคนที่เชื่อกับคนที่ไม่เชื่อ  ครั้งหนึ่งเคยมีผู้กราบนมัสการถามท่าน "ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ" หรือท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เกี่ยวกับอภินิหารของพระเครื่องสำนักต่าง ๆ ว่ามีจริงหรือไม่อย่างไร ท่านเจ้าคุณได้ให้ความเห็นว่า 

"ผู้นับถือมีใจมั่นคงและยึดมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ย่อมมีพลังแก่กล้า แม้ไม่ต้องมีพระก็อาจจะผ่านอันตรายไปได้ แต่การมีพระอยู่ติดตัวนั้นก็เป็นการดี เป็นพุทธานุสติ ส่วนอภินิหารนั้นเป็นไปได้จริง เพราะเป็นเรื่องแห่งอำนาจจิต"

ท่านเจ้าคุณนรฯ มีปรัชญาของท่านอยู่ว่า วัตถุมงคลจะมีความขลังศักดิ์สิทธิ์นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพลังจิตตานุภาพแห่งสมาธิชั้นสูง  มีอำนาจจิตสูงพอที่จะถ่ายทอดพลังลงในวัตถุมงคลนั้น ๆ ได้ และเป็นการถ่ายทอดพลังจิตโดยปราศจากอามิส ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเงินทองหรือแม้แต่ชื่อเสียง  

ท่านเจ้าคุณเคยกล่าวว่า พระเครื่องที่ท่านพบว่ามีพลังมากที่สุด คือพระสมเด็จของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม เพราะพลังจิตของท่านสูงและบริสุทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้ง ชินบัญชรคาถา ก็เป็นพระคาถาที่ได้ร้อยกรองมาเป็นอย่างดี ท่านเจ้าคุณนรฯ เองก็ใช้สวดในการอธิษฐานจิตเป็นประจำ

วัตถุมงคลที่ท่านเจ้าคุณนรฯ ได้อธิษฐานจิตนั้น มีทั้งพระเครื่องและพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ หรือก้อนกรวดซึ่งนำมาจากอำเภอบางบ่อ  ท่านจะไม่ใช้คำว่า "ปลุกเสก" ด้วยเหตุผลว่า พระพุทธเจ้าท่านสำเร็จเป็นพระสัพพัญญูเจ้า ไม่มีผู้ใดไปทำให้ท่านสำเร็จขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าได้อีก   ท่านจะใช้การอธิษฐานจิตอัญเชิญคุณพระรัตนตรัยและอำนาจแห่งศีล สมาธิ ภาวนา และพระบารมีแห่งสมเด็จพระอุปัชฌาย์ของท่าน (คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจริญ ญาณวโร) มาสถิตในวัตถุมงคล จึงทำให้วัตถุมงคลเกิดอำนาจเป็นมหัศจรรย์

เคยมีผู้สงสัยว่า พระเครื่องนั้นสามารถคุ้มครองแม้แต่เสือร้ายหรือนักเลงอันธพาลที่มีพระติดตัว เหตุใดพุทธานุภาพจึงเป็นเช่นนั้น ท่านเจ้าคุณกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า "อิทธิปาฏิหาริย์ย่อมไม่อยู่เหนือกฎแห่งกรรมไปได้"  สุดท้าย ย่อมเป็นไปตามพุทธวจนะที่ว่า "สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นมรดก มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ได้กระทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาทั้งหลายย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น"

พระเทพสุทธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน)
พระเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ท่านรับนิมนต์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
ของวัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

เรื่องการบรรจุพลังจิตลงในวัตถุมงคลนั้น พระเทพสุทธาจารย์ หรือ หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน แห่งวัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และหากอาจารย์ผู้มีความสามารถนั้นท่านได้ประทับอย่างใดแล้ว ก็จะเป็นอยู่เช่นนั้นตลอดไป ไม่มีทางเสื่อมคลาย

หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน เป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่โชติได้ติดตามหลวงปู่ดูลย์ธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ยังเป็นสามเณรโชติ ได้ยึดถือวัตรปฏิบัติแห่งพระอาจารย์ของตนเป็นแนวทางจนเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่พุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง

หลวงปู่โชติได้รับการกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่า ท่านสามารถเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า รู้ใจและดักใจคน ห้ามลมห้ามฝน รู้ภาษาสัตว์ ย่นระยะทาง แบ่งภาคปรากฏในสถานที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
ภาพถ่ายนี้ มีชื่อเรียกว่า ภาพกายทิพย์
เพราะมีภาพหลวงปู่ดูลย์ในอิริยาบทนั่งขัดสมาธิปรากฏซ้อนอยู่ข้างใน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นครูบาอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่ไม่ใส่ใจและไม่สนใจเรื่องวัตถุมงคลเลย  อีกทั้งไม่เคยชี้ชวนให้ใครเชื่อ หรือเห็นความสำคัญของสิ่งอัศจรรย์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ อาถรรพ์ลี้ลับต่าง ๆ   เวลาที่ใครมาขอของดีจากท่าน ท่านมักจะบอกว่า "เอาไปทำไม ของที่เป็นภาระต้องเอาใจใส่ดูแล ของที่ต้องทิ้งเสียในภายหลัง" แล้วท่านก็สอนเป็นปริศนาธรรมว่า "จงเอาสิ่งที่เอาไปได้ จงอย่าเอาสิ่งที่เอาไปไม่ได้"

หากพิจารณาดู ก็ย่อมเห็นความเป็นจริงตามที่หลวงปู่ท่านสอน วัตถุมงคลนี้ เป็นเครื่องอุ่นใจได้ก็เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายทุกคนก็ต้องตายด้วยกันทั้งหมด แม้ตัวอาจารย์เอง ผู้สร้างหรือแจกวัตถุมงคล ก็ไม่อาจหนีพ้นความตายไปได้ สิ่งที่จะนำติดตัวเป็นที่พึ่งได้ในทุกภพชาติ ก็คือบุญกุศลที่ได้สั่งสมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ตาม หลวงปู่ท่านก็ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจ เพราะเข้าใจดีว่าคนมีหลายระดับ ไม่เสมอกัน เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่พวกเขา ให้ได้พ้นทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านจึงอนุเคราะห์อนุโลมตามความประสงค์ของทางโลกบ้าง เหรียญและวัตถุมงคลที่ศิษยานุศิษย์มาขออนุญาตท่านจัดสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ  หรือเพื่อนำไปแจกให้กับทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่  หลวงปู่ก็เมตตาแผ่พลังจิตให้ตามสมควร  

หลวงปู่ได้เคยวิสัชชนาเรื่องนี้ให้กับผู้ที่มาสนทนาธรรมได้ฟังว่า ".. พวกท่านทั้งหลายแสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคลอันเป็นของภายนอกนี้ แต่สำหรับผู้มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่ ยังยินดีในการเกิดตายในวัฏสงสาร ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ก็ให้อาศัยวัตถุภายนอก เช่นวัตถุมงคลเช่นนั้น เป็นที่พึ่งไปก่อน อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย

ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัยมีอันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี ก็จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกต้องได้เอง..."


ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ ศิษย์ผู้ใกล้ชิด เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ดูลย์ว่า "หลวงปู่เชื่อความศักดิ์สิทธิ ์ไหม ?" หลวงปู่ตอบว่"ความศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมี มีแต่พลังและความสามารถของจิต" ท่านอธิบายว่า "จิตจะมีพลังได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้สมาธิ เมื่อทำสมาธิได้ หรือเกิดสมาธิ จิตมีอารมณ์เดียว จิตจึงจะมีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้วจะหันไปใช้ทางไหนก็ย่อมได้ หากนำไปใช้ในทางที่เสียหาย เป็นมิจฉาสมาธิ ก็ทำให้เสียหายได้ แต่ถ้าใช้ในทางที่ให้ประโยชน์ ให้เกิดพลังปัญญาเพื่อตัดกิเลสความชั่วร้ายต่าง ๆ เพื่อยกระดับจิตของเราให้พ้นจากความทุกข์ จึงจะเป็นพลังจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเป็นทางที่ถูกต้อง"

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ รับนิมนต์เข้าไปนั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลของวัดธรรมมงคล สุขุมวิท เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ท่านออกมานั่งพักที่กุฏิเล็ก ๆ สนทนากับเหล่าศิษย์ที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนหลายรูป  มีรูปหนึ่งไม่เคยเห็นหลวงปู่เข้าพิธีพุทธาภิเษกมาก่อน เพิ่งเห็นครั้งนี้เอง จึงถามหลวงปู่ว่า นั่งปรกเขาทำกันอย่างไร  หลวงปู่ตอบว่า "อาจารย์องค์อื่น ๆ เขานั่งปรกนั่งพุทธาภิเษกอย่างไรเราไม่รู้ ส่วนตัวเรานั่งทำสมาธิอย่างเดียวตามแบบฉบับของเรา"

ถึงแม้หลวงปู่ท่านจะไม่สนใจในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ แต่ก็มีเรื่องแปลกน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับท่านเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ จะนำมาเล่าสู่กันฟังสักเรื่อง..

ครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ได้นิมนต์หลวงปู่ไปที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทางนั้นเขาเตรียมภาพถ่ายของหลวงปู่ไว้ปึกหนึ่งสำหรับแจกญาติมิตรและบริวาร  คนที่นิมนต์เขาเป็นเลขาสมาคมชาวไร่อ้อย อำเภอกำแพงแสน ชื่อกำนันราชัย ก็บ่นให้หลวงปู่ฟังว่า อ้อยปีนี้ถ้าจะแย่ ฝนไม่ตก อ้อยกำลังจะเฉาตาย เดือนเจ็ดเข้าไปแล้วใกล้จะถึงเดือนแปด จะเข้าพรรษาแล้วฝนยังไม่ตกเลย 

ตอนนั้นดูเหมือนจะเป็นงานทำบุญเปิดปั๊มน้ำมันของเสี่ยอะไรคนหนึ่ง เขามานิมนต์หลวงปู่ ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณก็ตามไปด้วย และมีพระอีกรูปหนึ่งเป็นพระบวชใหม่ก็ไปด้วย

กลางคืนก่อนวันที่หลวงปู่ออกเดินทาง ฝนตกใหญ่เลย จนกระทั่งน้ำนองพอสมควร ขณะที่หลวงปู่ประกอบพิธีให้เขา ฝนก็ยังตกประปรายอยู่

ทางเจ้าภาพเขาเตรียมภาพถ่ายของหลวงปู่ไว้ประมาณหนึ่งร้อยภาพเห็นจะได้ พร้อมทั้งเอาแป้งมาให้หลวงปู่เจิมให้ หลวงปู่เจิมภาพบนสุดเพียงภาพเดียว แต่ปรากฏว่าร้อยนิ้วมือของท่านทะลุลงไปถึงทุกภาพทั้งปึกนั้น !

ภาพถ่ายหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หนึ่งในจำนวนนับร้อยภาพที่มีแป้งเจิมปรากฏอยู่
ด้วยการเจิมเพียงครั้งเดียว

การนำพระเครื่องไปพิสูจน์ความขลังนั้น มีให้ได้ยินอยู่เสมอ  ส่วนใหญ่ไม่ค่อยลองกับตัวเอง แต่จะนำไปผูกกับคอไก่บ้าง ใส่ในปากปลาบ้าง แล้วทดลองยิงหรือฟันดูว่าเข้าหรือไม่ กว่าจะทดสอบจนเป็นที่พอใจ ทั้งไก่ทั้งปลาก็ตายไปเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องน่าสังเวชใจ มีพระเครื่องอยู่กับตัวแท้ ๆ แต่กลับไปก่อกรรมทำเข็ญ สร้างบาปเคราะห์ให้กับตนเองด้วยการทำปาณาติบาต ทั้งนี้ก็เพราะไม่เข้าใจความหมายอันแท้จริงของพระเครื่องที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสติ เป็นกำลังใจให้ประกอบคุณงามความดี  ยิ่งไปกว่านั้น พระเครื่องเป็นรูปสมมุติ เป็นสัญญลักษณ์ที่สื่อถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  การนำอาวุธไปทำลาย จึงเป็นการปรามาส เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับผลกรรมจากกระกระทำในลักษณะดังกล่าวก็มีปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว

บางท่านมีฐานะดี สะสมพระเครื่องพระบูชาไว้เป็นจำนวนมาก แต่กลับใช้อำนาจวาสนาบารมีที่ตนมี ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยไม่สุจริต ยักยอกทรัพยฺ์ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เรียกรับสินบน ฯลฯ สุดท้าย เมื่อผลแห่งกรรมชั่วตามทัน ก็ต้องถูกลงโทษตามอาญาแผ่นดิน หรือไม่ก็ต้องหลบหนีอย่างไม่สิ้นสุด  ทรัพย์สินที่กอบโกยมาด้วยอำนาจกิเลส เป็นของร้อน แม้จะมีมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจบันดาลความสุขให้ได้  พระเครื่องพระบูชาที่เสาะแสวงหามา จึงมีคุณค่าเพียงของสะสมเพื่อประดับบารมีหรือสำหรับซื้อขายเก็งกำไรเท่านั้น

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พระธรรมเทศนาเรื่อง "ศรัทธากับปัญญา" ซึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ท่านกล่าวสอนว่า..

".. พระนี้ก็เหมือนมีดเล่มหนึ่ง มันคม ๆ มีดคม ๆ เล่มนี้ ถ้าหากว่าเราเอาไปใช้ประโยชน์ มันก็เป็นประโยชน์มาก ถ้าเราเอาไปใช้ ไม่รู้จักประโยชน์ของมีด มันก็ไม่เกิดประโยชน์ พระนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

เรานับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นชาวพุทธเราทั้งหลายนั้น ไม่หมายถึงว่าให้พระมาคุ้มครองเรา แต่เราคุ้มครองพระ โดยมากคนไม่อยากปฏิบัติตามพระ ได้พระไปแล้ว ก็ให้พระมาคุ้มครองเรา


อันนี้คิดใหม่ เราคุ้มครอง ท่านจะคุ้มครองเราก็เรียกว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของท่าน คือคำสอนของท่านน่ะมันถูกแล้ว ไม่ต้องแก้ไขแล้ว มันถูกต้องดีแล้ว ทุกอย่างทุกประการ ที่ถูกต้องนั่นแหละเป็นคำสอนของพระ ถ้าเราทำกาย ทำวาจา ทำใจของเราให้ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีทางที่แก้ไข ก็มันหมดเท่านั้นแหละ  นี้เรียกว่าเราเข้าใจเช่นนั้น


เราเอาพระไปบูชา ไปแขวนไว้ที่คอ เมื่อความไม่สบายกายไม่สบายใจมาถึงก็ ..อื้อ.. อันนี้หลวงพ่อนะ คลำดูเห็นหลวงพ่อแขวนอยู่  ..อื้ม..อันนี้มันเป็นอย่างนั้นนะ อย่างนี้  ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อคุ้มครองเราแล้วนะ เราจะไปทำอะไรก็ได้ จะไปกินเหล้าก็ได้ จะไปเป็นนักเลงก็ได้ จะไปเป็นอะไรก็ได้นะ หลวงพ่อคุ้มครองเราอยู่ ไม่กลัวแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้นนะ คือประดับความดีของเรา


เช่นว่าเราเข้ามาในวัด ถ้าเราเดินมาแต่ตัวเปล่า ๆ ก็ไม่ค่อยปรากฏแก่หูแก่ตาคน คนที่เข้ามาวัดนี่ บางทีก็ถือธูปมา และก็มีเทียนมา และก็มีอะไรต่าง ๆ มา นี่แสดงว่าคนนี้มีศรัทธาจะไปวัด ถ้าเดินเข้ามาเฉย ๆ ก็ไม่ค่อยจะรู้ อันนี้ให้ปรากฏแก่ตามนุษย์ทั้งหลายด้วย เป็นเครื่องหมาย พระพุทธรูปนี่ก็เหมือนกันฉันนั้น


พระพุทธรูปนี่เกิดทีหลังพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านิพพานไปหลายร้อยปีเหมือนกัน ทีนี้มีคนที่มีปัญญา คิดถึงพระพุทธเจ้า จะทำไงดีน้อ ก็เลยคิดปั้นพระพุทธรูปขึ้นมา อย่างนั้น คนมาปั้นขึ้นเช่นนี้ อย่างนั้นพระพุทธรูปจึงไม่เหมือนกัน พวกจีนก็เป็นรูปหนึ่ง พวกเชียงใหม่ก็เป็นรูปหนึ่ง ญี่ปุ่นก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ยังไงก็ตามเถอะ ใคร ๆ ก็ปั้นเป็นรูปพระนั่นเองแหละ แต่ว่ามันไม่เหมือนกัน เหมือนกันที่ว่าพระ


ฉะนั้น เราผู้เป็นพุทธบริษัท นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ก็มีพระไว้ประจำตัว เป็นวัตถุเพื่อจะให้มองเห็นด้วยตา เช่นนั้น


เหมือนกะหูของเรานั่นแหละ รู้จักว่ามันผิดอยู่ แต่ไม่มีใครพูดให้ฟัง มันก็ไม่สะกิดใจเรา ถ้ามีใครเตือนบ่อย ๆ ตรงนั้นมันผิดนะ ลูกนะ ตรงนั้นมันผิดนะ อย่างนี้ เราก็มีสติขึ้นมา


อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เราเอารูปพระไปแขวนคอ ก็เพื่อให้เรามีสติอย่างนั้น


วันหนึ่ง อาตมา ผู้กำกับนิมนต์ไปสถานีตำรวจ ไปทำบุญกัน ทำบุญแล้วท่านก็ว่า หลวงพ่อ นิมนต์สาดน้ำมนต์ให้เป็นสิริมงคลด้วย ที่เขาหามาแล้ว อาตมาก็สาดไป เขาบอกว่า หลวงพ่อนิมนต์มาทางนี้ด้วย มาสาดให้พวกนี้ด้วย อาตมาก็เดินไป ไม่รู้จักว่าที่คุมขังของเขา ว่า เฮ้ย ๆ ไอ้พวกนี้ ลุกมานี่ หลวงพ่อมาแล้วนี่ สาดน้ำมนต์ เสียงหลวงพ่อมันโดนกันดัง ซัวะ เซียะ ๆ ๆ มานี่ เฮโรอีนทั้งนั้น จิ๊กโก๋ทั้งนั้น อาตมาก็จะทำยังไงนะ นี้คือมันไม่เข้าใจ ไปทำความชั่วอยู่ ก็เป็นเช่นนั้น แต่พระมันแขวนอยู่ในคอ มันไม่รู้สึกตัว เพราะมันไม่เข้าใจพระ


ถ้าเข้าใจพระ อันใดท่านห้าม มันผิดแล้วก็เลิก เท่านั้น มันจะมีอะไรกัน มันก็ไม่มีอะไรกันแล้ว


ดังนั้น จึงเป็นอนุสติที่เราจะระลึกที่เรียกพระวันนี้ ไม่ใช่ว่าพระคงกระพัน หยาบ มันเหนียว มันอะไรหลายอย่าง เพื่อน้อมจิตของเราไปบูชาพระ ให้ใจเรามันเป็นพระ พระนี้ก็หมายความว่าผู้ที่ดับพิษภัยต่าง ๆ ให้เป็นคนที่เยือกเย็น จิตตั้งมั่นในการละความชั่ว ประพฤติความดีอยู่ทุกเวลา จึงเป็นพระ


ที่แจกพระให้ญาติโยมทั้งหลายวันนี้ บางคนก็คงดีใจมาก บางคนก็สงสัยอะไรหลาย ๆ อย่าง คนก็เป็นอย่างนั้น


ฉะนั้น อย่างไรก็ตามเถอะ พ่อแม่ของเราที่ท่านเสียไปแล้ว เราเหลือรูปพ่อแม่เราไว้บูชา เราก็ดีใจ ไม่ใช่ตัวจริงของท่านก็จริง แต่เป็นรูปของท่าน เราก็สบายใจที่เรามองเห็นแล้ว ถ้าเรานับถือพ่อแม่ว่าเป็นพ่อแม่ของเรา


อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น จึงเป็นอนุสติที่เป็นเหตุให้พวกเราทั้งหลายระลึกถึงได้ .."


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร ได้รับการชื่นชมว่าท่านเป็นพระใจดีและเป็นนักแจกเหรียญ เหรียญของท่านเป็นที่นิยมมากเพราะมีผู้ยืนยันในความศักดิ์สิทธิ์ด้วยประการต่าง ๆ จึงมีผู้มาขออนุญาตท่านสร้างเหรียญอยู่เสมอ ๆ ซึ่งเมื่ออนุญาตให้สร้างครั้งหนึ่งแล้ว ก็ต้องมีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และครั้งต่อ ๆ ไป 

ถ้าใครทำเหรียญแล้วถวายให้ท่านแจก ท่านก็แจกให้อย่างจริง ๆ ใครขอก็ให้ทั้งนั้น จะเวียนมารับสักกี่ครั้ง ถ้ายื่นมือเข้ามาท่านก็ใส่มือให้ ถ้ายื่นไม่ถึงท่านก็โยนให้ บางครั้งท่านนั่งอยู่บนศาลา คนรุมอยู่รอบตัว ท่านมองไปข้างนอกเห็นมือชูสลอนอยู่ ท่านก็โยนออกไปให้ทางหน้าต่าง จึงเห็นได้ชัดว่า ท่านไม่ใช่นักสร้างเหรียญ แต่เป็นนักแจกเหรียญจริง ๆ

ทุกครั้งที่ท่านพระอาจารย์ฝั้นแจกเหรียญ ท่านจะเตือนผู้รับเสมอว่า "พุทโธเข้าด้วยนะ" เป็นการบอกให้รู้ว่า เฉพาะเหรียญนั้นไม่มีคุณค่าอันใด ถ้าไม่ยึดมั่นในพระไตรสรณคมน์ไว้ด้วย


อานุภาพของพระเครื่อง พระพุทธปฏิมากร ความขลังของคาถาอาคมและพลังจิตของครูบาอาจารย์ผู้เสกเป่า แม้จะมีอยู่จริง แต่ความศรัทธาในเรื่องดังกล่าว ยังมิใช่ศรัทธาที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนา และอาจเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาด้วย หากว่าบนบานอ้อนวอนแล้วไม่ได้สมดังประสงค์ หรือต้องพลาดพลั้งวิบัติเสียหาย ก็อาจกล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาช่วยเหลืออะไรไม่ได้และหมดความเลื่อมใสไปในที่สุด

ศรัทธาที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาคือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง เชื่อว่าบุญบาปมีจริง เชื่อว่าผลของบุญบาปมีจริง และเชื่อว่าบุญบาปที่ตนทำเป็นของตนจริง  ผู้ที่มีศรัทธาที่ถูกต้อง จึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ถึงไตรสรณคมน์ที่ถูกต้อง


อ้างอิง   -  หลักพระพุทธศาสนา, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
             -  ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
             -  โครงการหนังสือบูรพาจารย์, ท่านอาจารย์ ปฐม - ภัทรา นิคมานนท์

6 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับแต่ละเรื่องสุดยอด เนื้อหาก็เรียบเรียงได้งดงามน่าอ่านมากๆครับ สาธุๆ

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้ว ชอบมากครับ ถูกใจ และเห็นความจริงดั่งนั้นด้วยครับ

    ตอบลบ
  3. เป็นบทความที่ดีมาก สาธุค่ะ ^^

    ตอบลบ
  4. จะเห็นว่า..เจตนารมณ์และกุศโลบายของผู้สร้างเป็นเหตุให้เกิดการสร้างและรวบรวมพระสมเด็จ+สถานที่สำหรับใช้บรรจุและจัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยมีขนาดพื้นที่ต้องกว้างขวางใหญ่โตและเหมาะสมที่สุด(สถูปหรือเจดีย์ที่สามารถรองรับได้กับจำนวนพระที่ต้องการบรรจุอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า84,000องค์เพื่อพอเพียงจะสืบทอดให้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป)..อนึ่งสถานที่บรรจุและจัดเก็บนี้ต้องมีพื้นที่ไม่คับแคบไม่เหมาะสมอย่างเช่นใต้ฐานพระพุทธรูปองค์โตที่สร้างแบบเดิมๆซึ่งจะไม่ขอตอบในที่นี้ว่าสถูปและเจดีย์ที่ว่านี้เป็นสถานที่ใดแต่ก็คิดว่าบางท่านคงคิดเดาเอาได้เองแล้ว)..และเหตุที่กล่าวข้างต้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราสามารถหาคำตอบได้อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริงที่สุดว่าเป็นพระสมเด็จแท้ที่ท่านสร้างหรืออาจมีผู้ร่วมสร้างและปลุกเสกเองแล้วนำมาร่วมถวายให้สมเด็จโตท่านมาเป็นองค์ประธาน(ปลุกเสกใหม่ทั้งหมดในวาระสุดท้ายด้วยองค์ท่านเองก่อนบรรจุจึงทำให้พระเหล่านี้กลายเป็นพระแท้ซึ่งมีอยู่รวมกันมากมายหลากหลายพิมพ์ทรงอันมีหลักฐานสำแดงให้เราเห็นแล้วว่ามีอยู่จริงครั้งตอนที่ทางการเปิดกรุนั้นออกมา)..เพียงแค่ข้อมูลเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะทำให้พื้นที่ค้นหาพระสมเด็จแท้แคบลงมาทันทีจากการที่จะต้องเสียเวลาไปงมเข็มกันในมหาสมุทร(ส่องเอาแต่เฉพาะพระสมด็จที่คิดเอาว่าต้องมาจากวัดระฆัง)แบบเดิมๆจึงเป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบ(รู้ไม่จริง)แต่กลับต้องมาอาศัยการอ้างอิงดูพระแท้ว่าต้องเป็นไปตามหลักสากลนิยมที่ตกสืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีตกาล(สากลตามตำหรับตำรา,สากลตามแบบบรรพบุรุษ,สากลเฉพาะกลุ่มเฉพาะตน..ฯลฯ)ที่มีแต่ของเก๋ระบาดและยังส่งผลสร้างความคลุมเคลือสืบต่อไปดังที่มีปรากฏอยู่ในวงการพระเครื่องจวบจนกระทั่งทุกวันนี้..นั่นเอง..ถ้าถามว่าเราเสาะแสวงหาและต้องการสะสมพระสมเด็จแท้เพื่อการใด?1.พุทธพานิช2.พุทธอนุรักษ์(ศิลปะและพุทธศิป์)หรือ3.ยึดถือพุทธานุภาพและพุทธคุณที่มีอยู่ในพระสมเด็จ(ปลุกเสกด้วยอภิญญาของท่านสมเด็จโต)..ส่วนเรื่องการจรรโลงและสืบทอดพุทธศาสนาด้วยการสร้างพระสมเด็จนั้นเป็นกุศโลบายและเจตนารมณ์ของผู้สร้างโดยตรงอยู่แล้ว...กรณีถ้าคำตอบคือข้อ1และข้อ2แสดงว่าเราจะสามารถตามหาพระสมเด็จแท้โดยอาศัยลักษณะทางรูปธรรมเป็นหลักซึ่งปกติต้องมีมูลค่าทางด้านราคารองรับอยู่หรือใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินซึ่งอาจเป็นเหตุให้เราได้ครอบครองเพียงแค่พระอิฐพระปูนเท่านั้นแต่ถ้าคำตอบคือข้อ3แสดงว่าเราสามารถอาศัยทั้งลักษณะทางรูปธรรม(มาตรฐานต่างๆด้านพิมพ์ทรง,เนื้อหามวลสาร,ความเก่า,แม่พิมพ์,ขั้นตอนก่อน,ขณะ,ภายหลังสร้าง)และส่วนที่เรายังเข้าไม่ถึงซึ่งก็คือลักษณะทางนามธรรม(พุธคุณส่วนที่สมเด็จโตท่านเจริญมงคลคาถาปลุเสกที่สามารถรู้ได้เฉพาะตน,ผู้มีอภิญญา,เรียนรู้ได้ยาก)ขององค์พระก็จะใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินบนองค์พระเองได้โดยสมบูรณ์ที่สุด..มิฉะนั้นเรื่องราวหรือสิ่งที่กล่าวยกอ้างนั้นจะกลายเป็นแค่ความเท็จและความเชื่อของผู้ที่ได้นำมาเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว..เท่านั่นเอง(หากศรัทธาพุทธคุณในองค์พระสมเด็จว่าสามารถปกป้องคุ้มครองได้จริงแล้ว..นั่นก็หมายความว่าส่วนพุทธคุณที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ต้องมีอยู่จริงแต่ยังไม่สามารถจับต้องสัมผัสได้โดยง่ายด้วยตนเอง..ยกตัวอย่างนามธรรมดังคล้ายกับที่กล่าวมานี้ซึ่งได้แก่ประจุไฟฟ้า,แรงดึงดูด,แรงโน้มถ่วง,ความรู้สึกนึกคิด,พลังงานจิต,และเคยสงสัยมั๊ยทำไมคนโบราณเลี่ยมพระแขวนคอต้องเว้นช่องให้เป็นรูปหัวใจให้เนื้อพระสัมผัสกายเหตุเพราะนี่คือกุศโลบายให้เข้าถึงพลังพุทธคุณโดยตรงก็เฉกเช่นไฟฟ้าจากถ่านไฟฉายนั่นเอง..ฯลฯ)...บทความข้างต้นทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวเกิดจากสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องและเชื่อถือได้(มีสิ่งที่เป็นเหตุจึงทำให้เกิดเป็นผลตามเหตุนั้นได้จริงตรงตามหลักธรรมะ)..แต่เผอิญถ้ามีคนค้นพบและยืนยันพิสูจน์ได้ว่าประวัติเรื่องราวการสร้างพระของสมเด็จโตท่านที่ปรากฏแก่สายตาของสาธารณะชนมาเนิ่นนานแล้วไม่ถูกต้องเป็นจริงก็ขออภัยไว้ณ.ที่นี้

    ตอบลบ