วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ห่าลง ..โรคระบาดรุนแรงในอดีต


ปีมะโรง พ.ศ. 2363 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2  เกิดอหิวาตกโรค หรือไข้ป่วง ระบาดรุนแรงในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ชาวบ้านเรียกกันว่า "ห่าลง" อันหมายถึงโรคระบาดรุนแรงที่ทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

จากบันทึกของบุคคลที่เคยผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น เล่าถึงความรุนแรงในการระบาดของโรคว่า  ตามบริเวณวัดต่าง ๆ จะมีศพถูกนำมาทิ้งไว้ระเกะระกะ สภาพศพเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณ  ศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาดินวัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา กองกันเป็นภูเขา ศพมีจำนวนมาก วางก่ายกันเหมือนกองฟืนเพราะเผาไม่ทัน  ความร้ายแรงของโรคและศพที่กองกันเต็มวัดนี้ ถึงกับทำให้พระสงฆ์ต้องหนีออกจากวัด ราษฎรหนีออกจากบ้าน  ตามถนนหนทางไม่มีคนเดิน ตามตลาดที่เคยมีผู้คนคับคั่งก็ว่างเปล่า บ้านเมืองดูเงียบเชียบวังเวง

พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

ช่วงที่โรคเพิ่งระบาดใหม่ ๆ โลงศพขายดี แต่เมื่อคนตายกันมาก ๆ คนที่ไม่มีเงินซื้อโลง ก็ต้องใช้เสื่อห่อศพ ไม่ว่าจะเดินไปตามถนนสายใด จะพบคนหามศพห่อด้วยเสื่ออย่างรีบเร่ง มีเสียงร้องไห้โฮออกมาจากบ้านโน้นบ้านนี้เสมอ บางศพไม่มีอะไรจะห่อ ปล่อยทิ้งไว้ตามถนนก็มี

ในแม่น้ำลำคลองก็มีศพลอยเกลื่อน น้ำในแม่น้ำใช้กินใช้อาบไม่ได้ เพราะศพลอยกันราวกับสวะน่าสะอิดสะเอียน  เนื่องจากจำนวนคนตายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ชาวบ้านจึงใช้วิธีทำลายศพด้วยการโยนทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองให้เป็นอาหารของปลา จึงปรากฏซากศพลอยไปมาตามกระแสน้ำที่ขึ้นลงทุกวัน มีฝูงนกกามารุมจิกกินซากศพ

ฝูงแร้งมารอกินซากศพที่ถูกนำมาทิ้งภายในวัดสระเกศ

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงทราบความหวาดวิตกของพสกนิกร จึงรับสั่งให้ตั้งการ พระราชพิธีอาพาธพินาศ ขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท นิมนต์พระสงฆ์ผู้ทรงวิทยาคมจากพระอารามสำคัญ ๆ มาเจริญพระปริตร ทำน้ำพระพุทธมนต์และทรายเสก มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่งคืนหนึ่ง แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะไปในกระบวนแห่โปรยทรายเสกและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ


พระราชพิธีอาพาธพินาศนี้ เป็นการอธิษฐานขอพรจากเทพยดาและอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย ให้ระงับยับยั้งโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงให้อันตรธานหายไปสิ้น ตามความเชื่อแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดที่นครเวสาลี มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ซากศพถูกทอดทิ้งส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งตลบไปทั่ว พระราชาเห็นว่า ควรกราบทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมานครเวสาลี แล้วภัยทั้งหลายจะสงบไปเอง

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงนครเวสาลีพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ 500 รูป ฝนได้ตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลนองท่วมพื้นดิน พัดพาเอาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด ทำให้พื้นดินบริสุทธิ์สะอาดโดยทั่วไป

พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า "..ดูกร อานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ แล้วเดินจาริกทำปริตร ไปในระหว่างกำแพงสามชั้นในนครเวสาลี.." แล้วตรัส "รัตนสูตร" ขึ้นในกาลครั้งนั้น ที่เรียกพระสูตรนี้ว่า "รัตนะ" เพราะหมายถึง "พระรัตนตรัย" คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์


เมื่อพระอานนท์เรียนรัตนสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสประทานแล้ว ได้เอาบาตรศิลาของพระพุทธเจ้า ใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง พลางรำลึกถึงพระคุณทั้งหลายของพระตถาคตเจ้า ตั้งแต่ทรงตั้งความปรารถนาพระโพธิญาณเป็นลำดับมา ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ความเพียร จนถึงทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรและโลกุตรธรรม 9 ประการ แล้วยาตราเข้าไปภายในพระนคร เดินทำพระปริตรไปในระหว่างกำแพงเมือง 3 ชั้น พอพระเถระเริ่มต้นพระสูตรว่า "ยํ กิญฺจิ" เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่ยังไม่หนีไปและเที่ยวหลบซ่อนอยู่ ก็พากันหนีออกทางประตูเมืองทั้ง 4 เมื่อพวกอมนุษย์หนีกันไปหมดแล้ว โรคภัยไข้เจ็บของชาวเมืองก็สงบลง


ครั้นพระอานนท์ทำพระปริตรทั่วพระนครแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับชาวเมืองที่หายโรคเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่งกันอยู่ พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นมหาชนมาประชุมอยู่พร้อมเพรียงกัน จึงตรัสรัตนสูตรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความสุขสวัสดี และเพื่อความระงับไปแห่งอุปัทวันตรายทั้งปวง


เมื่อทรงเห็นว่าภัยพิบัติทุกอย่างสงบลงเรียบร้อยแล้ว จึงเสด็จกลับนครราชคฤห์ ในโอกาสนั้น ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม และนาค ต่างพากันมาทำบูชาสักการะถวายแด่พระพุทธเจ้าเป็นการยิ่งใหญ่ นับเป็นมหาสมาคม ซึ่งมหาสมาคมเช่นนี้ ในครั้งพุทธกาลเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือเมื่อคราวพระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์   เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับจากโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์เทวโลก  และเมื่อเสด็จจากนครเวสาลีกลับนครราชคฤห์ตามที่กล่าวถึงนี้


บ้านเรือนไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แลเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ 

นอกจากการพระราชพิธีอาพาธพินาศ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ก็ทรงรักษาอุโบสถศีล พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ก็พระราชทานอนุญาตให้รักษาศีลทำบุญให้ทานตามใจสมัคร ไม่ต้องเข้าเฝ้าทำกิจราชการที่ไม่จำเป็น ไพร่ซึ่งอยู่เวรรักษาพระราชวังชั้นในและชั้นนอก ก็พระราชทานอนุญาตให้กลับไปบ้านเรือนตามสมัครใจ โดยทรงพระกรุณาตรัสว่า ประเพณีสัตว์ทั้งหลาย ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต บิดามารดาภรรยาและบุตรญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกันทั่วไป จะได้ไปรักษาพยาบาลกัน  ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์มิได้กลับไปไหนนั้น ก็พระราชทานเงินตราเป็นบำเหน็จตามความชอบ

ทรงจัดให้มีการทำบุญเลี้ยงพระภายในพระบรมมหาราชวัง โปรดให้จัดซื้อปลาและสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่จะมีผู้ฆ่าซื้อขายกันในตลาดมาถวายเพื่อทรงปล่อย สิ้นพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมาก นักโทษที่ถูกจองจำอยู่ ก็ให้ปล่อยออกจนหมดสิ้นเว้นแต่พวกพม่าข้าศึก  มีรับสั่งให้ราษฎรงดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้อยู่แต่เฉพาะในบ้านเรือนของตน เว้นเสียแต่จะมีกิจธุระจำเป็นจริง ๆ 

อหิวาตกโรคระบาดอยู่ประมาณ 15 วัน จึงเริ่มสงบลง สำหรับศพที่ไม่มีญาตินั้น พระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานเงินค่าจ้างและฟืนให้เก็บเผาเสียจนหมดสิ้น เมื่อสำรวจจำนวนผู้คนที่เสียชีวิต ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง มีจำนวนถึงสามหมื่นคน

ราษฎรไทย สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมา ในปีระกา พ.ศ. 2392  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคกลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้ง เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา"  ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตในคราวนั้นมากถึงสองหมื่นคน

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่ ได้แนะนำให้เก็บศพไปเผาที่วัดสระเกศ วัดสังเวชวิศยาราม วัดบพิตรพิมุข ปรากฏจำนวนศพที่นำไปฝังและเผา ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม รวม 29 วัน นับเฉพาะที่วัดทั้งสามแห่งนี้ มีจำนวนถึง 5,457 ศพ โดยเฉพาะวันที่ 23 มิถุนายน วันเดียว มีจำนวนมากถึง 696 ศพ

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มิได้ทรงตั้งการพระราชพิธีอาพาธพินาศ เป็นแต่เพียงให้เจ้าพนักงานซื้อสัตว์ที่จะต้องมรณภัยมาปล่อยให้รอดชีวิตทุกวัน ทรงมีรับสั่งให้ป่าวประกาศให้ราษฎรทำบุญให้ทานและปล่อยสัตว์ที่ขังอยู่ในที่คุมขังให้รอดพ้นจากความตาย ซึ่งพสกนิกรทั้งปวงก็ยินดีทำตาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

อหิวาตกโรคยังคงระบาดเรื่อยมา  เดือน 7 ปีระกา พ.ศ. 2416  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ และหัวเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ผู้คนตื่นตกใจเป็นอันมากเพราะผู้สูงอายุที่เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อคราวที่อหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ยังมีอยู่มาก ผู้ที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์ แต่ได้ฟังคำบอกเล่า ก็พลอยตกใจกันตามไปด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมประชุมกับเหล่าเสนาบดี

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มิได้ตั้งการพระราชพิธีทางศาสนาอย่างเช่นที่เคยทำมา แต่ให้จัดการรักษาพยาบาล โดยปรุงยารักษาโรคขึ้นใหม่ 2 ขนาน เอายาวิสัมพญาใหญ่ตามตำราไทยผสมกับแอลกอฮอล์ ทำเป็นยาหยดในน้ำขนานหนึ่ง และเอาการบูรทำเป็นยาหยดเรียกว่ายาน้ำการบูรอีกขนานหนึ่ง สำหรับรักษาอหิวาตกโรค และแนะนำให้ใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเพื่อป้องกันเชื้อโรคควบคู่ไปด้วย

ทรงมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รับยาหลวงไปตั้งเป็นโอสถศาลา รับรักษาราษฎรทั่วพระนคร  อหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ระบาดอยู่ประมาณหนึ่งเดือนก็สงบลง เมื่อสงบแล้ว โปรดให้สร้างเหรียญที่ระลึกทำด้วยทองสำริด ด้านหนึ่งเป็นรูปเทวดาถือพวงมาลัย อีกด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรทรงขอบใจ พระราชทานเป็นบำเหน็จแก่ผู้ที่ได้ช่วยจัดตั้งโอสถศาลาในครั้งนั้นโดยทั่วกัน

โรงพยาบาลเอกเทศ หรือ สถานพยาบาลชั่วคราว
เพื่อรักษาผู้ป่วยอหิวาตกโรค เมื่อมีการระบาดครั้งใหญ่ พ.ศ. 2424

ปี พ.ศ. 2424 ในรัชสมัยเดียวกัน อหิวาตกโรคระบาดขึ้นอีก  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคนี้มาแล้ว จึงโปรดฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลเอกเทศหรือสถานพยาบาลชั่วคราวเพื่อรักษาโรคระบาดและอหิวาตกโรค  โรงพยาบาลชั่วคราวเหล่านี้ได้ถูกปิดลงเมื่อโรคระบาดสงบไป นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงพยาบาลสมัยใหม่ในเวลาต่อมา

โรงเรียนแพทย์ในสมัยแรก
กำหนดเวลาเรียน 3 ปี ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 12 บาท

นักเรียนต้องทำสัญญากับกรมพยาบาล ว่าเรียนจบแล้ว ต้องทำงานเป็นหมอในกรมพยาบาล 3 ปี 
จึงจะออกจากราชการได้ โดยจะได้รับเงินเดือน ๆ ละ 25 บาท  ถึง 40 บาทเป็นอย่างสูง

ในปี พ.ศ. 2478 อหิวาตกโรคระบาดจากประเทศเพื่อนบ้านด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย เริ่มระบาดที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แล้วผ่านเข้ามาจังหวัดราชบุรี มาถึงจังหวัดสมุทรสงคราม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้น (ตีพิมพ์ในหนังสือ "ด้วยรักและหวัง" ของมูลนิธิแพทย์ชนบท) ความว่า.. ในปีนั้น ท่านเพิ่งเข้ารับราชการในกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้ไปจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ (เป็นคำใหม่ที่ใช้กันในกรมสาธารณสุข สังกัดกระทรวงมหาดไทย สมัยนั้น หมายถึงโรงพยาบาลชั่วคราว) ที่อำเภออัมพวา เพื่อสกัดกั้นการระบาดของอหิวาตกโรคคราวนั้นไม่ให้แพร่ขยายเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

ท่านออกเดินทางจากสถานีรถไฟตำบลปากคลองสานพร้อมด้วยเวชภัณฑ์ 1 ลังไม้ ไปจังหวัดสมุทรสาครก่อน แล้วขนย้ายสัมภาระต่อไปจังหวัดสมุทรสงคราม  รถไฟหยุดทุกสถานี หัวรถจักรเล็กมาก ขณะวิ่งไปตามราง ตัวรถนั่งโคลงเคลงไปมา บางครั้งต้องหยุดขบวนรถทันทีเพื่อให้ควายผ่านรางรถไฟไปก่อน

นายแพทย์ไสว มังคะลี
นายแพทย์ผู้อำนวยการคนแรก
ของโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม

เมื่อถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ก็ไปรายงานตัวต่อแพทย์รุ่นพี่คือท่านนายแพทย์ไสว มังคะลี  ท่านอาจารย์ไสวเลี้ยงอาหารและให้อาศัยในสุขศาลาจังหวัด วันรุ่งขึ้นก็ส่งลงเรือไปอัมพวา เรือเดินทางคดเคี้ยววกไปเวียนมาอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ถึงอำเภออัมพวาแล้วเข้าไปรายงานตัวต่อท่านนายอำเภอว่าจะมาขอตั้งโรงพยาบาลเอกเทศเพื่อควบคุมอหิวาตกโรค  ท่านนายอำเภอทำท่าสงสัยย้อนถามว่า "คุณหมอพูดเรื่องอะไรไม่ทราบ"   

ฉะนั้น การตั้งโรงพยาบาลเอกเทศจึงต้องเริ่มที่ศาลาวัด ส่วนเตียงนอนจำเป็นต้องเจาะรูตรงกลางเพื่อความสะดวกของผู้ป่วย ภายใต้รูทะลุนั้นวางโถถ่าย ช่างไม้ทางอำเภอเป็นผู้จัดหาให้

ถามถึงพยาบาล ปรากฏว่าทั้งจังหวัดสมุทรสงครามมีนางสงเคราะห์อยู่เพียงคนเดียวอยู่ที่อำเภอเมือง พอดีโรงเรียนกำลังปิดเรียน จึงเชิญคนงานโรงเรียนมาสอนให้เป็นผู้ช่วยแพทย์ ให้เงินเดือน 20 บาท สอนและซักซ้อมการพยาบาลผู้ป่วย การป้องกันมิให้เกิดโรค และการช่วยแพทย์ในขณะให้น้ำเกลือ

สิบวันผ่านไปไม่มีผู้ป่วยอหิวาตกโรคมารักษาเลย ทั้ง ๆ ที่มีผู้ป่วยท้องร่วงรุนแรงหลายสิบราย แล้ววันหนึ่งก็มีผู้หามคนไข้มายังศาลาวัด แพทย์และผู้ช่วยดีใจจะได้ผู้ป่วยรายแรก แต่แล้วผู้หามก็เดินผ่านไปโดยนำศพไปฝังในป่าช้าวัด สร้างความสะเทือนใจแก่แพทย์มาก

แล้วอีกวันหนึ่งก็มาถึง โดยญาติของผู้ป่วยว่า ไหน ๆ จะต้องเอาไปฝังแล้ว ลองให้หมอเขาดูว่าจะทำให้ฟื้นคืนชีพได้ไหม ทั้งแพทย์และผู้ช่วยดีใจให้การรักษา จับชีพจรคลำไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำมาก ตัวซีดเย็น ผิวหนังเป็นร่อง แต่เข็มฉีดน้ำเกลือเข้าเส้นเลือดดำได้ สามารถปล่อยน้ำเกลือเข้าเส้นได้กว่า 500 ซีซี ผู้ป่วยอายุกลางคนลืมตา ขอน้ำรับประทาน

เริ่มจากนั้น ผู้ป่วยอหิวาตกโรคก็ทยอยเข้ามาให้แพทย์รักษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง จนแพทย์และผู้ช่วยไม่เป็นอันกินอันนอน ต้องคอยบรรจงแทงเข็มให้เข้าเส้นให้น้ำเกลือชนิด hypertonic ต่อผู้ป่วยคนแล้วคนเล่า ความทราบถึงโรงเรียนแพทย์ศิริราช ต้องส่งนักเรียนแพทย์ไปช่วยเป็นกำลังเสริม

นี่คือภาพของสถานการณ์อหิวาตกโรคระบาด และโรงพยาบาลเอกเทศ ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2478  อหิวาตกโรคยังคงระบาดต่อเนื่องเรื่อยมา และสงบลงอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2503

ในยามที่บ้านเมืองประสบทุกข์ภัย เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านจะพากันเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ช่วยปกป้องคุ้มครองและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ  มีเรื่องเล่าว่า..

หลวงพ่อบ้านแหลม
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม

เมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดที่กรุงเทพฯ และหัวเมือง ในปีระกา พ.ศ. 2416 นั้น ที่เมืองสมุทรสงคราม ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเงียบเหงาไปทั้งเมือง ไม่มีใครอยากออกจากบ้าน ไม่มีใครเผาศพใครด้วยเชื่อกันว่าเป็นโรคผีโรคห่า  ครั้งนั้น พระสนิทสมณคุณ (เนตร) เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) ในเวลานั้น ฝันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรในพระอุโบสถ มาบอกคาถาป้องกันอหิวาตกโรคให้บทหนึ่ง โดยบอกให้ท่านเจ้าอาวาสไปจดเอาคาถาที่พระหัตถ์  พระสนิทสมณคุณจึงลุกไปปลุกขุนประชานิยม (อ่อง ประชานิยม) ซึ่งขณะนั้นเป็นเด็กวัด ให้เข้าไปในพระอุโบสถด้วยกันกลางดึก  ท่านได้เอาเทียนส่องดูที่พระหัตถ์ทั้งสองข้างของหลวงพ่อบ้านแหลม เห็นที่พระหัตถ์ขวามีอักขระว่า "นะ มะ ระ อะ" และที่พระหัตถ์ซ้ายมีอักขระว่า "นะ เท วะ อะ" ท่านจึงจดคาถามาทำน้ำพระพุทธมนต์ให้ชาวบ้านเอาไปกินไปอาบ ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บก็เงียบสงบตั้งแต่นั้นมา

พระคาถา "นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ" นี้ ท่านพระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม (พ.ศ. 2443 - 2460) นับถือมาก เมื่อถึงวันสงกรานต์ ท่านจะนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป มาฉันภัตตาหารที่จวนของท่านแล้วให้พระสงฆ์เขียนพระคาถา "นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ" เป็นอักขระขอมปิดไว้ที่ประตูเข้าจวนของท่านทุก ๆ ปี

พระครูสมุทรธรรมธาดา (หลวงพ่อเอิบ มนาโป)
เจ้าอาวาส วัดดาวโด่ง จังหวัดสมุทรสงคราม
ท่านเคารพนับถือหลวงพ่อบ้านแหลมมาก
เหรียญที่ท่านสร้างขึ้น จารึกพระคาถา "นะมะระอะ นะเทวะอะ" ไว้ด้านหลัง
ร่ำลือกันว่าขลังนัก

พระคาถา "นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ" ของหลวงพ่อวัดบ้านแหลมนี้ ท่านอาจารย์เทพ สุนทรศารทูล ผู้บันทึกประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลมและถวายเป็นลิขสิทธิ์ของวัด ได้เคยกราบเรียนถามสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท เขมจารีมหาเถร ป.ธ.9) วัดปทุมคงคา แต่ท่านก็ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่าแปลว่าอะไร จึงสันนิษฐานว่า พระคาถาดังกล่าวน่าจะย่อมาจากพุทธพจน์

"นะ มะ ระ อะ" แปลว่า พระอรหันต์ไม่ตาย
(นะ คือ ไม่, มะ ระ คือ มรณะ, อะ คือ อรหันต์)

"นะ เท วะ อะ" แปลว่า พระอรหันต์ไม่ใช่เทวดา
(นะ คือ ไม่, เท วะ คือ เทวดา,  อะ คือ อรหันต์)

ที่ว่าพระอรหันต์ไม่ตาย หมายถึงภาวะของพระอรหันต์อยู่ในพระอมตะมหานิพพาน เป็นอมตะธาตุ ไม่ต้องจุติ ต่างจากเทวดาซึ่งยังต้องจุติ (เคลื่อนหรือเปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง)


หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวสมุทรสงคราม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง คงมีแต่ตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพี่น้องกัน ลอยตามน้ำมา หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพี่ใหญ่ อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร สมุทรสงคราม องค์กลางคือ หลวงพ่อโสธร อัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดโสธรวราราม ฉะเชิงเทรา  ส่วนองค์น้องสุดท้อง คือหลวงพ่อโต อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ

อีกตำนานหนึ่งมีความเป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่เพิ่มจำนวนพระพุทธรูปที่เป็นพี่น้องกัน จาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ ลอยมาตามแม่น้ำ 5 สาย องค์ที่ 1 ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง คือหลวงพ่อโสธร  องค์ที่ 2 ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี คือหลวงพ่อวัดไร่ขิง  องค์ที่ 3 ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา คือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน  องค์ที่ 4 ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี คือหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา  องค์ที่ 5 ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง คือ หลวงพ่อบ้านแหลม

พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร)
หนึ่งในพระเกจิดังยุคเก่าแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
หลวงพ่อแก้วท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมอยู่ 6 ปี
ก็รับนิมนต์มาครองวัดพวงมาลัย เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก
ให้หลวงปู่บ่ายเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมสืบแทน
เมื่อครั้งที่อหิวาตกโรคระบาด มีชาวบ้านไปขอน้ำมนต์จากท่าน
ไปอาบไปดื่มกินแล้วหายจากโรคกันมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม เคยเสด็จทอดพระเนตรวัดพวงมาลัยและวัดบ้านแหลม เห็นวัดทั้งสองนี้เจริญรุ่งเรืองดี รับสั่งว่าเพราะมีพระขลังและพระศักดิ์สิทธิ์อยู่วัดละองค์ คือ ที่วัดพวงมาลัยมีพระสงฆ์อาคมขลังเป็นเจ้าอาวาส คือ ท่านพระครูวินัยธรรม (แก้ว พรหมสโร)  ชาวบ้านเรียกขานกันว่า หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย  ส่วนที่วัดบ้านแหลมมีพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรอยู่ในโบสถ์ คือหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ที่กล่าวถึงนี้

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
ร่ำลือว่าเป็นพระพุทธรูปพูดได้

พระพุทธไสยาสน์ได้พูดกับพระครูป่าโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมก
เตือนว่า อหิวาตกโรคกำลังจะระบาด และแนะนำให้รักษาด้วยการดื่มน้ำมนต์
มีพยานเป็นพระและคฤหัสถ์ ได้ยินกันหลายคน

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เล่ากันว่า ในช่วงที่อหิวาตกโรคระบาด
ชาวกรุงเก่าได้มากราบขอน้ำพระพุทธมนต์ ขี้ธูปและดอกไม้บูชาไปอาบไปดื่มกิน
ปรากฏว่าหายจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นอัศจรรย์

อีกเรื่องหนึ่ง พระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง ท่านเล่าไว้ในหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" ความว่า.. 

พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน โสนนฺโท)
วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2418 - 2481)

ราวปี พ.ศ. 2481 เกิดอหิวาตกโรคระบาดที่ตำบลขนมจีน ใกล้ ๆ กับตำบลบางนมโค  ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า "ห่าลง" เพราะตายกันเป็นตับจนพระเบื่อการบังสุกุล  ทุกวันจะมีคนมาเอาหีบศพจากวัดไปใส่ศพ มีศพมาฝังที่วัดทุกวัน โรคระบาดประมาณหนึ่งเดือน ปรากฏว่าคนในเขตนั้นตายเป็นจำนวนร้อย  สุนัขเห่าหอนตลอดวันตลอดคืน พระกลัวผีกันหลายราย ขนาดต้องมานอนรวมกุฏิกัน

แต่ว่าในตำบลบางนมโคที่หลวงพ่อปานอยู่ ไม่มีใครเป็นโรคระบาดแบบนั้น ก่อนที่โรคระบาดจะเกิด หลวงพ่อปานจะสั่งพระว่า เวลาออกไปบิณฑบาต ให้บอกชาวบ้านทุกบ้านทำขนมจีน และข้าวต้มลูกโยนห่อด้วยใบลำเจียก มัดเป็นพวง ทั้งสองอย่างนี้เอาไปวางไว้หลังบ้าน  นอกจากนี้ คนในบ้านมีกี่คน ก็ให้ปั้นตุ๊กตาเล็ก ๆ เป็นรูปคนตามจำนวนคนในบ้าน เอาผ้าชิ้นเล็ก ๆ สีแดงมาทำเป็นผ้านุ่ง ให้ตุ๊กตาคนนุ่งผ้าแดงด้วย  วัวมีเท่าไหร่ ควายมีเท่าไหร่ ก็ให้ปั้นรูปวัวรูปควายตามจำนวนที่มี  ถ้ามีสุนัขก็ให้ปั้นรูปสุนัขตามจำนวนที่มี แล้วนำใส่กระจาด เอาไปวางไว้หลังบ้านด้วยกัน  แล้วก็บูชาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ให้เว้นจากการลงโทษ เพียงเท่านี้ผีห่าก็จะให้อภัย

ในไม่ช้า เมื่ออหิวาตกโรคระบาดในตำบลใกล้เคียง ตายกันขนาดหนัก แต่ว่าตำบลที่หลวงพ่อปานสั่งให้ป้องกันแบบว่านั้น ไม่มีใครตายและไม่เกิดโรคระบาดเลย ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง

ต่อมาเมื่อโรคระบาดหายไปประมาณสัก 2 เดือน ก็มีชาวบ้านจากหลายจังหวัด ทั้งจากสุพรรณบุรี นครปฐม และจังหวัดใกล้เคียง แห่กันมาที่วัดบางนมโค มากันมากยิ่งกว่าการจัดงานวัดใหญ่ ๆ  เมื่อมาถึง ก็ถามหาโบสถ์ ถามว่าหลวงพ่อปานท่านจับเอาตัวผีห่าไปขังไว้ในโบสถ์จริงไหม

กุฏิหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

เมื่อพวกชาวบ้านพากันไปดูในโบสถ์แล้วไม่พบผีห่า ก็มานั่งรอพบหลวงพ่อปาน  เวลาประมาณบ่ายโมง หลวงพ่อปานลงมารับแขก ปรากฏว่าคนเต็มวัด ไม่ใช่เต็มเฉพาะหน้ากุฏิ   หลวงพ่อท่านจึงถามชาวบ้านว่ามาทำไมกัน เขาก็ตอบว่า มีคนเขาลือกันว่าหลวงพ่อจับผีห่าไว้ในโบสถ์ คนในตำบลบางนมโคจึงไม่เป็นโรคระบาด  หลวงพ่อปานหัวเราะชอบใจ บอกว่า ฉันไม่มีความสามารถไปจับผีห่าหรอกนะ ท่านว่าอย่างนั้น แต่เอาเถอะ ไหน ๆ ก็มาแล้ว หลวงพ่อจะแจกด้ายผูกข้อมือให้ไป  ผู้หญิงให้ผูกข้อมือข้างซ้าย ผู้ชายให้ผูกข้อมือข้างขวา แล้วทีหลังถ้าใครเขาเป็นโรคผีห่า ก็ให้ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ เท่านี้ผีห่าก็ยกโทษให้

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ขณะจำพรรษาอยู่วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ภาพถ่ายราวปี พ.ศ. 2481)

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านก็ไม่เคยถามหลวงพ่อปานถึงความเป็นมาของพิธีกรรมที่ว่านี้ จึงไม่ทราบว่าหลวงพ่อปานท่านจะไปตกลงกับใคร หรือใครสั่งให้ท่านทำแบบนั้น  และพระธรรมดาทั่วไป ก็ไม่เคยเห็นมีใครทำกัน นอกจากหลวงพ่อเนียม (วัดน้อย) ที่เคยได้ยินข่าว แต่ก็เป็นเพียงบอกว่า ไอ้พวกโรคห่ามันจะมากินชาวบ้าน ท่านไม่ยอมให้มันกิน ก็มีเท่านั้น

อ้างอิง           -  ความทรงจำ, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
                     -  ด้วยรักและหวัง, มูลนิธิแพทย์ชนบท
                     -  พระพุทธรูปสำคัญ, กรมศิลปากร
                     -  ประวัติหลวงพ่อบ้านแหลม, ท่านอาจารย์เทพ สุนทรศารทูล
                     -  ประวัติหลวงพ่อปาน, พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

ขอขอบคุณ   เจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น