วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระเครื่อง - เรื่องเล่า


การสร้างพระเครื่องนั้น ถือกันว่าเป็นอุเทสิกเจดีย์เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า  วัตถุที่นำมาใช้ในการสร้างพระ จะเลือกสรรเอาวัตถุที่มีค่า มีความคงทน มีนามเป็นมงคล หรือเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ หากเป็นโลหะ ก็นิยมใช้ทองคำ เงิน ทองแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือนำโลหะทั้งสามมาหลอมรวมกัน เรียกว่า ตรีโลหะ (โลหะสามชนิด) ถ้าเติม ปรอท และ เหล็ก เพิ่มเข้าไป เรียกว่า เบญจโลหะ หรือ ปัญจโลหะ (โลหะห้าชนิด) ถ้าเติมสังกะสี และ เจ้า (หมายถึงเจ้าน้ำเงิน เป็นแร่ชนิดหนึ่ง สีเขียวเป็นสีน้ำเงิน) เพิ่มเข้าไปอีก เรียกว่า สัตโลหะ (โลหะเจ็ดชนิด) และถ้าเติมโลหะเพิ่มอีกสองชนิดคือ ชิน และ บริสุทธิ์ (ทองแดงบริสุทธิ์) เรียกว่า นวโลหะ (โลหะเก้าชนิด)  ตามแต่ตำราและทรรศนะของอาจารย์ผู้สร้างว่าจะให้เป็นอย่างไร บ้างก็นำโลหะธาตุของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือของอาถรรพ์มาเป็นส่วนผสมด้วย เช่น โลหะยอดปราสาท โลหะยอดพระเจดีย์ ขวานฟ้า เพชรหน้าทั่ง ตะปูสังขวานร เป็นต้น


หากเป็นเนื้อดินหรือเนื้อผง ก็นิยมผสมว่านจำพวกที่ทรงคุณอำนาจ เกสรดอกไม้ ดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดินจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละท้องถิ่น ผงใบลานที่ลงอักขระแล้วนำไปเผาไฟ ผงดินสอพองที่อาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมใช้เวทมนตร์คาถาขีดเขียนอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ เช่น ยันต์ปถมัง ยันต์อิทธิเจ ยันต์มหาราช ยันต์พุทธคุณ ยันต์ตรีนิสิงเห ลงบนกระดานชนวนหรือแผ่นไม้ เมื่อลงอักขระเลขยันต์เหล่านี้แล้ว จะลบและเก็บผงไว้สำหรับใช้สร้างพระเครื่อง

พระสมเด็จวัดระฆัง
หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี

อาจมีส่วนผสมอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ตามแต่อาจารย์ผู้สร้างจะกำหนด ยกตัวอย่าง พระสมเด็จวัดระฆัง ซึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สร้างขึ้นแจกจ่ายตอบแทนคุณญาติโยม จะมีข้าวสุกและกล้วยเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย เล่ากันว่า เมื่อกลับจากบิณฑบาต ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะแบ่งจังหันของท่านออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกสำหรับตัวท่านเอง ส่วนที่สองสำหรับลูกศิษย์ ส่วนที่สามให้เป็นทานแก่นกกาและสุนัข ส่วนที่เหลือท่านเก็บไว้บดทำพระเครื่อง 

พระคำข้าว
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

พระคำข้าว ของ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี มีส่วนผสมของข้าวสุกเช่นกัน หลวงพ่อฤาษีฯ ท่านพูดถึงพระคำข้าวว่า ทำได้ยากมาก ต้องเสกข้าวที่มีรสอร่อยที่สุด ออกจากปากนำมาเสก ทำอย่างนี้ครบ 3 เดือนแล้วจึงทำเป็นผง แล้วนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกวาระหนึ่ง

พระขุนแผนพรายกุมาร
หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

พระขุนแผนพรายกุมาร ของ หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง ซึ่งมอบให้กับญาติโยมสาธุชนที่ร่วมทำบุญฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. 2515 นั้น เป็นพระเครื่องอีกตำรับหนึ่งที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เนื่องจากได้นำ กะโหลกเด็กในครรภ์ผีตายทั้งกลม มาเป็นมวลสารสำคัญ ท่านว่ามีคุณวิเศษด้านเมตตามหานิยมยิ่งนัก

กะโหลกที่ได้มา จะห่อด้วยผ้าและเก็บไว้หลังพระประธานในพระอุโบสถเป็นเวลา 3-4 เดือน เพื่อให้แห้งสนิทและหมดกลิ่น จากนั้นจึงนำมาบดให้ละเอียด ผสมกับผงวิเศษต่าง ๆ ที่หลวงปู่ทิมมอบให้ แล้วปั้นเป็นแท่ง นำไปตากแดดจนแห้งสนิท  ครั้นได้ฤกษ์ตามที่หลวงปู่ทิมกำหนด ก็จะนำแท่งผงนี้มาเขียนอักขระเลขยันต์บนกระดานชนวนแล้วลบเป็นผง เรียกว่า ผงพรายกุมารมหาภูติ ซึ่งพิธีดังกล่าวกระทำกันภายในพระอุโบสถ หลวงปู่ทิมเป็นประธาน และพระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์

เคยมีผู้สงสัยว่า การนำเอากะโหลกผีมาสร้างพระเครื่องนั้น ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ประการใด เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลวงปู่ทิมอธิบายว่า การสร้างพระพิมพ์ด้วยวัตถุอาถรรพ์นี้ ไม่ได้ไปกักวิญญาณเด็ก เพราะเด็กไปเกิดตามแรงแห่งกรรมของเขาแล้ว เป็นแต่เพียงนำธาตุทั้งสี่ที่เหลืออยู่มาใช้ อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กที่ตายในท้องโดยที่ยังไม่ทันได้เกิดออกมานั้น แสดงว่ามีกรรมเบียดเบียน การนำสังขารที่สุดท้ายจักต้องเปื่อยสลายมาสร้างเป็นพระพิมพ์ให้ผู้คนเขาได้ทำบุญ ก็จะเป็นบุญกุศลให้กับเด็กที่ตายไปแล้ว

หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปญฺโญ
วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกี่ยวกับพระผงพรายกุมารนี้ มีเรื่องเล่ากันว่า บ่ายวันหนึ่ง ที่วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะที่หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปญฺโญ กำลังนั่งสนทนากับลูกศิษย์อยู่บริเวณระเบียงกุฏิของท่าน มีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งเข้ามาจอดภายในวัด และมีชายสี่คนเดินลงจากรถมุ่งตรงมายังกุฏิของหลวงปู่

หลวงปู่ดู่ท่านอุทานขึ้นว่า "เอ๊ะ ไอ้พวกนี้มาแปลก มันพาผีมาด้วย"  บรรดาลูกศิษย์ที่นั่งกันอยู่ก็ชะเง้อมองดูชายทั้งสี่คน แต่ก็ไม่เห็นมีสิ่งใดผิดปรกติ

เมื่อชายทั้งสี่เดินมาถึงกุฏิ ก็พากันขึ้นไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่จึงถามขึ้นว่า "พวกเธอมาหาฉัน ทำไมต้องพาผีมาด้วย"

ทั้งสี่คนมองหน้ากันด้วยความสงสัย กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า "ผีที่ไหนหรือขอรับ"

หลวงปู่ดู่หัวเราะอย่างอารมณ์ดี ตอบว่า "ก็ผีจากพระที่แขวนอยู่ที่คอน่ะสิ"

เมื่อสอบถามความเป็นมา จึงทราบว่า ชายทั้งสี่คนที่เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่ดู่นั้น เป็นศิษย์ของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง พระที่แขวนอยู่ที่คอของแต่ละคน เป็นพระเครื่องของหลวงปู่ทิมที่มีส่วนผสมของผงพรายกุมารมหาภูติ


การสร้างพระเครื่องให้ขลังนั้น นอกจากคุณวิเศษของมวลสารที่นำมาผสมรวมกันเป็นองค์พระแล้ว พิธีพุทธาภิเษก ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยทั่วไป ก่อนนำพระเครื่องออกแจกจ่ายหรือให้เช่าบูชา สำนักผู้สร้างจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยนิมนต์พระเถระผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิจิตเข้มแข็ง อาจเป็นรูปเดียวหรือเป็นหมู่คณะ นั่งภาวนาส่งกระแสจิตอัญเชิญคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสถิตในพระเครื่องนั้น ๆ


หากเป็นพระเครื่องที่สร้างในวาระสำคัญอันเป็นมงคล พิธีพุทธาภิเษกจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในพระอารามหลวง หรือในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วทุกภาคของประเทศมาร่วมพิธี ตัวอย่างเช่น พระเครื่องที่ระลึกงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เหรียญพระแก้วมรกตงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525  เหรียญพระชัยหลังช้าง สร้างในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา ปี พ.ศ. 2530 เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รุ่น "สู้" ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้กับทหารตำรวจและอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

พระเครื่องที่ได้รับการถ่ายทอดพลังจิตไว้อย่างสมบูรณ์ หากผู้นำไปสักการบูชาเป็นผู้มีศีลธรรม ไม่นำไปใช้ในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบ พระเครื่องก็ย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ มีผลทุกอย่างตามที่ท่านผู้ปลุกเสกอธิษฐานไว้ว่าให้เกิดผลอะไร ยกตัวอย่าง พระคำข้าว ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี จะเน้นให้ผลไปในทางลาภสักการะ หรือ พระหางหมาก ที่ท่านสร้าง จะให้ผลหนักไปในทางเจรจาโน้มน้าวใจคน

พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน โสนนฺโท)
วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระเครื่องของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านไม่รับรองเรื่องคงกระพันชาตรี ท่านว่าเรื่องนี้เป็นกฏของกรรม พระของท่านเป็นพระหมอ แก้โรคทุกอย่าง ใครป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม นำพระใส่ลงไปในขันน้ำ แล้วอาราธนาขอบารมีพระพุทธเจ้าและสัตว์พาหนะ  ทำน้ำมนต์รักษาโรค  ใช้ในทางค้าขาย เมตตามหานิยม หรือกันผีสางก็ได้

ถ้าหากว่าถูกงูหรือสัตว์มีพิษกัด ให้เอาพระจุ่มน้ำแล้วอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าและสัตว์พาหนะให้ดูดพิษนั้นออกให้หมด แล้วเอาหลังพระแปะลงไปที่แผล เอาศีรษะท่านขึ้นมาทางหัวเรา จะถูกกัดที่เท้าหรือที่ข้อเท้าก็แปะได้ เมื่อแปะลงไปแล้วพระจะเริ่มดูดพิษ ขณะที่พิษยังไม่หมดพระจะติดแน่นอยู่ เมื่อพิษหมดแล้วพระจะหลุดออกง่าย  เคยมีทหารเรือถูกงูเห่ากัด ก็ใช้พระของหลวงพ่อปานช่วยดูดพิษออก พอถึงเดือน 12 ทอดกฐิน คณะทหารเรือแห่กันมารับพระประมาณ 400-500 คน บอกว่ามาขอรับพระแก้งูกัด

พระเครื่อง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พระนครศรีอยุธยา

พระของหลวงพ่อปานมีด้วยกัน 6 พิมพ์ จำแนกตามชนิดของสัตว์ที่ปรากฏบนองค์พระ ได้แก่ รูปหนุมาน รูปไก่ รูปครุฑ รูปปลา รูปเม่น และรูปนกกระจาบ  แบบพระของท่านจะไม่ค่อยเหมือนกัน เพราะคนแกะพิมพ์พระมีหลายคนด้วยกัน  วิธีสร้างพระนั้นท่านว่าไม่ยาก แต่วิธีทำผงเพื่อบรรจุลงในพระพิมพ์นั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะผู้ทำต้องทรงสมาบัติ 8  ถ้าหากจะทำพระพิมพ์นกกระจาบ ต้องเอาผ้าขาวมาเสกให้เป็นนกกระจาบ นกกระจาบจะกางปีกขึ้น มีคาถาอยู่ใต้ปีก ก็ให้ลอกคาถานั้นมาทำเป็นผง หรือหากจะทำพระพิมพ์หนุมาน หรือไก่ หรือครุฑ หรืออะไรก็ตาม ต้องนำผ้าขาวมาเสกเป็นสัตว์ชนิดนั้น ๆ สัตว์จะแสดงอาการให้คาถาปรากฏที่ตัว แล้วก็นำคาถานั้นมาทำผงเพื่อบรรจุลงในพระพิมพ์  เวลาทำผงต้องนั่งปลุกเสกอยู่ในพระอุโบสถ อดข้าว 7 วัน 7 คืน เข้าสมาบัติกันเต็มที่ ออกจากที่ไม่ได้

การแจกพระสมัยนั้น หลวงพ่อปานท่านแจกจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่แจกเฉย ๆ หุงข้าวเลี้ยงคนที่มารับพระอีกด้วย คนมากันมืดฟ้ามัวดิน แจกกันคนละองค์ แต่คนรับก็ฉลาด มารับหัวแถวแล้วก็เดินไปยืนท้ายแถวเวียนมารับใหม่ วันต่อมา หลวงพ่อรู้ทัน พอแจกแล้วก็เอาปูนแดงที่เขากินกับหมากมาป้ายที่เสื้อ คนรับเขาก็ฉลาดอีก พอรับพระเสร็จ ออกไปข้างนอก ก็กลับเอาเสื้อข้างนอกเข้าข้างในเสีย แล้วกลับมารับใหม่

ตอนช่วงท้ายชีวิตของหลวงพ่อปาน ท่านทำผ้ายันต์เป็นรูปของท่านและยันต์เกราะเพชร จำนวนหลายพันผืนสำหรับแจกญาติโยมพุทธบริษัท  คราวหนึ่ง นายประยงค์ ตั้งตรงจิตร เจ้าของห้างขายยาตราใบโพธิ์ พิมพ์มาถวายหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานก็ให้ หลวงพ่อเล็ก เกสโร (เจ้าอาวาสวัดบางนมโคต่อจากหลวงพ่อปาน) นำไปเสก หลวงพ่อเล็กท่านได้สมาบัติ 8 ท่านเสกอยู่สามเดือน ถือว่าครบไตรมาสพรรษาหนึ่ง  แล้วก็นำมาถวายหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานท่านเห็นเข้า ก็โบกไม้โบกมือว่า ไม่เอา ๆ ยังไม่เสร็จ ยังใช้ไม่ได้

หลวงพ่อเล็กท่านก็นึกในใจว่า เราเข้าถึงสมาบัติ 8 ขนาดนี้ยังใช้ไม่ได้ แล้วใครจะเสกยิ่งไปกว่านี้  แล้วท่านก็นำกลับไปทำใหม่ คราวนี้ท่านบวงสรวงชุมนุมเทวดา อาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอริยสาวกทั้งหมด พรหมทั้งหมด เทวดาทั้งหมด ครูบาอาจารย์ทั้งหมด เมื่ออาราธนาแล้วก็เห็นท่านมากันครบถ้วน เสก 10 นาทีแล้วท่านก็กลับ หลวงพ่อเล็กทำแบบนี้อยู่ 6 วัน พอวันที่ 7 ทุกท่านมา แต่ไม่มีใครทำ ท่านบอกว่าไม่มีอะไรจะบรรจุแล้ว คุณจะให้ฉันทำอะไร 

พอครบ 7 วัน ท่านก็นำกลับไปถวายหลวงพ่อปาน  คราวนี้ หลวงพ่อปานกล่าวชมว่า อย่างนี้สิ ถึงจะใช้ได้ ท่านบอกว่า การที่เราจะเสกพระหรืออะไรก็ตาม ถ้าเสกด้วยกำลังของเราไม่ช้าก็เสื่อม ถ้าเราเอาตัวของเราออกไปเสีย แล้วอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอริยสาวกทั้งหมด พรหมหรือเทวดาทั้งหมด ให้ท่านมาช่วย ท่านทำประเดี๋ยวเดียว 2-3 นาทีก็เสร็จ ดีกว่าเราทำ 1,000 ปี

(ซ้าย) หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
(ขวา) 
ครูบาพรหมจักรสังวร
วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

พิธีพุทธาภิเษกนิยมกระทำกันภายในพระอุโบสถตามฤกษ์ยามที่โหราจารย์คำนวณ  สำหรับพระอริยเจ้าผู้ทรงฌานแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องไปนั่งอยู่ในพิธีด้วยก็ได้ ท่านสามารถส่งกระแสจิตมาแทน จิตที่มีพลัง ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ส่งถึงกันได้ ยกตัวอย่างเมื่อครั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทำพิธีพุทธาภิเษกรูปพระนเรศวรในปี พ.ศ. 2518 ครูบาพรหมจักรสังวร วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน ท่านติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกได้ แต่ท่านรับปากว่า เมื่อถึงเวลา 16:00 น. ตรงตามกำหนดเวลาพุทธาภิเษกที่วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านจะเข้ากุฏิใส่กลอน ส่งกระแสจิตมาช่วยแทน


เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ในปี พ.ศ. 2517 มีพระเถระผู้ทรงคุณเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสายวิปัสสนากรรมฐาน ศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต อาทิ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต ฯลฯ ครั้งนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบัน อยู่ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู) ไม่ได้เข้าร่วมพิธีเนื่องจากชราภาพมาก แต่ท่านก็ได้แผ่พลังจิตมาในวันทำพิธี

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (เจ้าคุณนรฯ)
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ

อีกเรื่องที่กล่าวขานกันมากคือ ในปี พ.ศ. 2505 เมื่อครั้งที่กรมการรักษาดินแดน จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประดิษฐานบนพระแท่นหินอ่อน ณ สวนเจ้าเชตุ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงริเริ่มกิจการรักษาดินแดน ครั้งนั้น มีการจัดสร้าง เหรียญพระบิดาแห่งกิจการรักษาดินแดน เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ทำด้วยทองขาว และได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก โดยนิมนต์พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมแก่กล้าเข้าร่วมพิธี อาทิ หลวงปู่นาค วัดระฆัง หลวงปู่เส่ง วัดกัลยาณมิตร หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ฯลฯ รวมถึง ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ด้วย

เหรียญพระบิดาแห่งกิจการรักษาดินแดน พ.ศ. 2505

เป็นที่ทราบกันอยู่ก่อนแล้วว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ จะไม่เดินทางออกนอกวัด แต่จะนั่งปลุกเสกอยู่ภายในกุฏิของท่านที่วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อส่งกระแสจิตมาร่วมในพิธีนี้ อย่างไรก็ตาม ในมณฑลพิธีที่ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ได้จัดเตรียมอาสนะเปล่าสำหรับท่านเจ้าคุณนรฯ ไว้ด้วย หลังจากเสร็จพิธี พระเถระรูปหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ข้างอาสนะเปล่าที่จัดเตรียมไว้สำหรับท่านเจ้าคุณนรฯ ได้สอบถามท่านเจ้ากรมฯ ว่า เป็นอาสนะสำหรับพระรูปใด เห็นมานั่งปรกอยู่ เสร็จแล้วก็หายไปเฉย ๆ  คำพูดของพระเถระรูปนั้นสร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน เพราะต่างก็เห็นตรงกันว่า อาสนะนั้นว่างเปล่าอยู่ตลอดเวลา และตลอดพิธีกรรม ไม่มีผู้ใดไปนั่งอยู่บนนั้น

พระผงรูปหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท พ.ศ. 2508

พิธีพุทธาภิเษกของบางสำนัก อาจมีการบวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของครูบาอาจารย์เจ้าของตำรับพระเครื่องนั้น ๆ หรือดวงวิญญาณของเจ้าอาวาสองค์ก่อน ๆ มาร่วมพิธีด้วย ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม เช่นเมื่อครั้งที่ วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท สร้าง พระผงรูปหลวงปู่ศุข ปี พ.ศ. 2508 นอกจากนิมนต์พระเกจิอาจารย์จากสำนักต่าง ๆ มาร่วมพิธีแล้ว ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของ หลวงปู่ศุข เกสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่าและเป็นพระอาจารย์ของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เข้าร่วมปลุกเสกด้วย

พระสมเด็จเผ่า วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ พ.ศ. 2495

เมื่อคราวที่ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพฯ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระสมเด็จเผ่า ซึ่ง พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นเป็นประธานการจัดสร้าง เล่ากันว่า ในวันประกอบพิธี คือวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2495 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้เสด็จลงจากพรหมโลกเข้าร่วมพิธีปลุกเสกด้วย

หนังสือ "ประสบการณ์ทางวิญญาณ" ของ ท่านอาจารย์ทองทิว สุวรรณทัต เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า พระสมเด็จที่สร้างขึ้น มีมวลสารเก่าของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ผสมอยู่ไม่น้อย ได้มาจากพระสมเด็จวัดระฆัง พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม ที่ชำรุดแล้วนำมาบดเป็นผง และยังมีผงวิเศษที่สมเด็จโตมอบให้กับหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร เก็บรักษาไว้  นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมของผงตะไบพระกริ่งวัดสุทัศน์รุ่นปี พ.ศ. 2485 และผงวิเศษต่าง ๆ ที่บรรดาพระเกจิอาจารย์มอบให้

การบวงสรวงสังเวย การสร้างและพิธีพุทธาภิเษก กระทำตามแบบแผนพิธีกรรมที่ถูกต้อง  พระคณาจารย์ผู้เข้าร่วมพิธี ก็ล้วนเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคมแก่กล้า

นอกจากพระราชาคณะและพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษเลื่องลือ เป็นที่รู้จักกันแล้ว พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังได้เชิญ พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ เข้าร่วมในพิธีกรรมครั้งนั้นด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณหลวงสุวิชานแพทย์ท่านนี้ เป็นผู้มีญาณวิเศษ สามารถติดต่อกับโอปปาติกะในทางสมาธิจิต

พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์

ขณะที่พระราชาคณะและพระคณาจารย์ทั้งหลายกำลังเจริญพระพุทธมนต์อยู่นั้น คุณหลวงสุวิชานแพทย์ได้นั่งสมาธิ และในขณะที่จิตสงบ ก็ได้เห็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กำลังพินิจพิจารณาสิ่งของต่าง ๆ ในวงด้ายสายสิญจน์ ซึ่งเป็นสรรพวัตถุที่จะประมวลเข้าพิธีกรรม อันมีผงเกสรและดอกไม้ต่าง ๆ รวมทั้งแม่พิมพ์ เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็เสด็จกลับขึ้นสู่พรหมโลก

จากนั้น คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ยังได้ทราบโดยญาณอีกว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จะเสด็จจากพรหมโลกเข้าสู่มงคลพิธี ในเวลา 15:00 น.

พระผงมงคลมหาลาภ วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ พ.ศ. 2499

เรื่องต่อมา จากหนังสือเล่มเดียวกัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2499 เมื่อครั้งที่ วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ  ประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระผงมงคลมหาลาภ  มีพระราชาคณะและพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก

เมื่อได้ฤกษ์ก็บังเกิดนิมิตประหลาด แสงแดดซึ่งกำลังแผดกล้ากลับเปลี่ยนเป็นมืดครึ้ม มีเมฆฝนมืดทึบเคลื่อนมาปกคลุมทั่วท้องฟ้า  คุณหลวงสุวิชานแพทย์เห็นนิมิตดังนั้น จึงรีบเข้าไปสักการบูชาพระพุทธรูปในพระอุโบสถ เพราะท่านทราบว่า นิมิตประหลาดเช่นนี้ คงมิใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

แล้วก็เป็นจริงดังคาด เพราะเมื่อคุณหลวงนั่งสมาธิได้สักครู่ ก็ทราบว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้เสด็จมาถึงแล้ว แต่ยังไม่เข้าที่ประทับด้วยยังไม่มีผู้ใดอัญเชิญ ท่านอาจารย์จึงออกจากสมาธิ ให้เจ้าหน้าที่ทำพิธีอัญเชิญเจ้าประคุณสมเด็จฯ เข้าสู่ที่ประทับทันที เมื่อจัดการทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อย พยับเมฆที่บดบังแสงอาทิตย์ก็เคลื่อนออก บังเกิดแสงสว่างแผดจ้าไปทั่วท้องฟ้าอีกครั้ง

เหรียญสองหน้า "สมเด็จโต - หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" พ.ศ. 2517
มอบเป็นที่ระลึกให้กับผู้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี

แม้ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) จะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม แต่ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านอยู่เสมอ ๆ เช่น เมื่อครั้งที่คณะศิษยานุศิษย์ ผู้มีความเคารพศรัทธาในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำเนินการจัดสร้าง เหรียญสมเด็จโต ขึ้น เพื่อหาทุนสร้างพระอุโบสถ วัดผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี 

เหรียญที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นเป็นเหรียญสองหน้า มี 3 แบบด้วยกัน คือ เหรียญสองหน้า-สมเด็จโตกับหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เหรียญสองหน้า-สมเด็จโตกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เหรียญสองหน้า-สมเด็จโตกับพระประธานวัดระฆังโฆสิตาราม

เล่ากันว่า "เบื้องบน" มีบัญชาให้นำเหรียญที่จัดสร้างขึ้นนี้ ไปให้ หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง ปลุกเสกด้วย 

พิธีพุทธาภิเษกจัดขึ้นที่พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2517  มีพระเถระผู้ทรงวิทยาคมเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก อาทิ สมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19) สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงปู่เส่ง วัดกัลยาณมิตร หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง พระอาจารย์ผ่อง จินดา วัดจักรวรรดิราชาวาส ฯลฯ  แผ่นโลหะที่ใช้สร้างเหรียญ เสกโดยหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ และตลอดเวลาที่ทำพิธีพุทธาภิเษก คณะศิษย์พากันนุ่งขาวห่มขาว สมาทานศีล และสวดพระคาถาชินบัญชรต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งวันคืน

เมื่อเสร็จพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตารามแล้ว คณะศิษย์ได้นำเหรียญทั้งหมดมาที่วัดละหารไร่ เพื่อให้หลวงปู่ทิมปลุกเสกอีกครั้งตามที่ "เบื้องบน" มีบัญชา  ตอนแรก กรรมการวัดละหารไร่พากันคัดค้าน แต่หลวงปู่ทิมท่านเห็นว่า เจตนาการสร้างเหรียญนี้เป็นกุศลเจตนาเพื่อหาทุนไปสร้างพระอุโบสถถวายให้วัดในถิ่นทุรกันดาร ท่านก็อนุญาต จึงนำเหรียญทั้งหมดวางในถาดซ้อนบนลังบรรจุ พระกริ่งชินบัญชร ซึ่งหลวงปู่กำลังทำพิธีอยู่

หลวงปู่ทิม อิสริโก
วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

ขณะที่หลวงปู่ทิมทำพิธีปลุกเสกอยู่ภายในกุฏิในเวลากลางคืนนั้น คณะศิษยานุศิษย์สมเด็จโตทั้งหลายก็นุ่งขาวห่มขาว สวดพระคาถาชินบัญชรอยู่ด้านหน้ากุฏิ คณะศิษยานุศิษย์ที่อยู่กรุงเทพฯ ก็นั่งสมาธิส่งกระแสจิตไปด้วยเช่นกัน มีศิษย์ท่านหนึ่งได้ ทิพจักขุ หรือ ตาทิพย์ เป็นอภิญญาอย่างหนึ่งในอภิญญาหก เล่าว่า หลวงปู่ทิมท่านไม่ได้ปลุกเสกเอง ถาดที่บรรจุเหรียญเปล่งประกายรัศมีสว่างจ้าไปทั่วบริเวณ แล้วค่อย ๆ หมุนตัวลอยขึ้นไปเบื้องบน มีเทวดาและพรหมมารับขึ้นไปทำพิธีข้างบนอีกครั้งหนึ่ง  ผู้เป็นประธานในพิธีได้ใช้คทาแก้วคนเหรียญในถาด  ศิษย์ผู้ได้ทิพจักขุนี้ โดยปรกติไม่นิยมแขวนพระเครื่อง เพราะเป็นผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถึงกับยอมรับในความอัศจรรย์และนำเหรียญนี้ไปแขวนติดตัว

เหรียญพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) พ.ศ. 2532

มีเหรียญพระคณาจารย์จำนวนไม่น้อยที่เปล่งอานุภาพให้ได้รับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นด้วยพลังจิตอันแก่กล้าที่ครูอาจารย์ถ่ายทอดลงสู่เหรียญนั้น ๆ   ยกตัวอย่าง เหรียญรูปใบโพธิ์ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) ปี พ.ศ. 2532 สร้างเป็นที่ระลึกในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน

(ยืน) หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
(นั่ง) หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

เหรียญนี้สร้างขึ้นหลังจากที่ท่านพระอาจารย์จวนมรณภาพไปแล้ว หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง  จังหวัดเลย แผ่เมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกตลอดพรรษา และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จังหวัดเลย ปลุกเสกเพิ่มเติมในภายหลังอีก มีผู้เก็บเหรียญนี้ไว้บูชาที่บริษัท โรงงานของบริษัทถูกไฟไหม้อยู่สองวันสองคืน ตู้เหล็กที่อยู่ใกล้ยังละลาย แต่เหรียญพระอาจารย์จวน นอกจากจะไม่หลอมละลายแล้ว แม้แต่ซองพลาสติกที่ใส่เหรียญ และกระดาษที่พิมพ์บอกชื่อเหรียญ ก็ไม่ไหม้ละลายเช่นกัน

เหรียญ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ รุ่นรางปืน พ.ศ. 2517
วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ จัดสร้างเป็นพิธีใหญ่
พร้อมกับวัตถุมงคลอื่น ๆ อีกหลายรายการ

เล่ากันว่า.. คหบดีเจ้าของโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งทางภาคใต้ เก็บสะสมพระเครื่องไว้เป็นจำนวนมาก ท่านผู้นี้มีวิธีเลือกเก็บพระโดยนำไปแขวนคอไก่แล้วยิงด้วยปืน  พระส่วนใหญ่ยิงออกและยิงเข้า ทำไก่ตายไปเป็นจำนวนไม่น้อย แต่หากจ่อยิงแล้วยิงไม่ออก หรือยิงไม่เข้า ปรับเปลี่ยนปืนแล้วก็ยังยิงไม่ออก หรือยิงขนกระจุยแต่ไม่เข้า ท่านก็เก็บไว้ มีอยู่หลายรายการเหมือนกัน เท่าที่ทราบมา มีเหรียญหลวงปู่เขียว วัดหรงบน นครศรีธรรมราช เหรียญหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลังรางปืน ปี พ.ศ. 2517 เหรียญหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม เหรียญสันติบาล หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน ปราจีนบุรี ฯลฯ

พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ)
วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม

พระเครื่องของ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม นั้น ขึ้นชื่อว่าโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ในอดีต ท่านพลตำรวจโทประชา บูรณธนิต เคยถูกลอบยิงแต่ไม่ได้รับอันตรายเพราะท่านมีเหรียญหลวงพ่อเงินติดตัวอยู่

พระภูธราวดี

พลตำรวจโทประชา บูรณธนิต ท่านเป็นมือปราบร่วมสมัยกับ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ก่อนที่ท่านทั้งสองจะเกษียณอายุราชการ ได้ร่วมกันสร้างพระเครื่องแจกจ่ายให้กับข้าราชการตำรวจเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่และคุ้มครองป้องกันอันตราย  พระเครื่องที่จัดสร้างขึ้น เป็นพระเนื้อดินผสมผงว่าน ยาแก้ยากันและผงวิเศษต่าง ๆ  เรียกว่า พระภูธราวดี  ท่านอาจารย์นำ แก้วจันทร์ (ขณะนั้นยังเป็นฆราวาส ซึ่งต่อมาก็คือ ท่านพระอาจารย์นำ ชินวโร แห่งวัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง) เป็นประธานการผสมผงและกดพิมพ์พระ และได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก 2 วาระ ในพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงกับปี พ.ศ. 2505  ปีนั้น เกิดมหาวาตภัยถล่มแหลมตะลุมพุก กระเบื้องหลังคาที่วัดปลิวแตกเสียหายมาก แต่กระเบื้องมุงหลังคาพระวิหารหลวงมิได้ปลิวหลุดแม้แต่แผ่นเดียว

วิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปีถัดมา พ.ศ. 2506 ได้ลำเลียงพระเครื่องทั้งหมดลงเรือเมล์ที่ปากพนังมาขึ้นที่ท่าน้ำราชวงศ์ จากนั้นบรรทุกรถยนต์ต่อมาที่วัดพระปฐมเจดีย์เพื่อประกอบพิธีพุทธาภิเษกซ้ำอีกครั้ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงเป็นประธาน มีพระเถราจารย์ผู้ทรงคุณเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ฯลฯ

(ซ้าย) พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช
(ขวา) พลตำรวจโท ประชา บูรณธนิต

เมื่อเริ่มต้นสร้างพระภูธราวดีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดนิมิตคือ ยุง มด แมลง ไม่มาตอมไฟ แม้เมื่อครั้งนำพระเครื่องมาประกอบพิธีพุทธาภิเษกที่พระปฐมเจดีย์ก็เช่นกัน ยุงบริเวณมณฑลพิธีซึ่งเคยชุมมากหายไปหมด  จึงยึดถือตามนิมิตหมายนี้ว่า ผู้ที่มีพระภูธราวดีไว้บูชา ศัตรูไม่กล้าทำอันตราย ผู้ที่คิดร้ายจะกลับกลายมาคิดดี

หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี
วัดหรงบน อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

กล่าวถึง หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ท่านเป็นคนพูดน้อย พูดเสียงดังแต่ใจดี มีวาจาสิทธิ์ สรีระของหลวงปู่เขียวยังคงเก็บรักษาอยู่ที่วัดหรงบนตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด


ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน หลังจากที่หลวงปู่เขียวมรณภาพและได้ทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพครบ 7 วันแล้ว ทางวัดได้เก็บศพของหลวงปู่เพื่อฌาปนกิจในปีถัดไป ระหว่างนั้น ได้จัดให้มีการสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลทุกวันพระอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงกำหนดวันฌาปนกิจ คณะกรรมการเกิดมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สภาพศพของหลวงปู่ยังคงดูปรกติดี จึงอยากเก็บรักษาไว้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรดำเนินการฌาปนกิจให้แล้วเสร็จตามประเพณี

เมื่อตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายที่ต้องการเก็บรักษาสรีระของหลวงปู่ จึงพากันอธิษฐานขอให้สรีระไม่ไหม้ไฟ ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าควรฌาปนกิจให้แล้วเสร็จ ก็รับปากว่า หากผ่านไปหนึ่งชั่วโมงแล้วสรีระของหลวงปู่ยังไม่ไหม้ไฟ ก็จะล้มเลิกการฌาปนกิจ

เมื่อถึงเวลาฌาปนกิจ คณะกรรมการวัดได้ยกร่างของหลวงปู่วางลงบนรางเหล็กซึ่งสุมไว้ด้วยถ่านและไม้จันทน์ จากนั้นก็จุดไฟ น้ำมันก๊าดที่เทไว้ในรางเหล็กก็เร่งไฟให้ลุกโชนท่วมร่างของหลวงปู่ เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมง คณะกรรมการวัดและประชาชนนับพันที่มาร่วมไว้อาลัย เริ่มสังเกตเห็นว่าร่างของหลวงปู่ยังดูปรกติ จึงขึ้นไปอุ้มลงจากเมรุ ปรากฏว่า นอกจากสรีระจะไม่ไหม้ไฟแล้ว แม้กระทั่งจีวรที่ครองอยู่ก็ไม่ไหม้ไฟเช่นกัน

เหรียญมหาอุด วัดจีบประดิษฐ์ 2516
ด้านหน้าเป็นรูปพระประธาน
ด้านหลังเป็นรูปพระอาจารย์แพ อดีตเจ้าอาวาสวัดจีบประดิษฐ์

เมื่อคราวที่วัดจีบประดิษฐ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดสร้างเหรียญเพื่อหาทุนไปบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ท่านพระอาจารย์สมพงษ์ เจ้าอาวาสวัดจีบประดิษฐ์ในขณะนั้น ได้นิมนต์หลวงปู่เขียวผู้เป็นอาจารย์ให้ช่วยสร้างเหรียญให้ หลวงปู่ให้จัดหาแผ่นโลหะ นำมาลงอักขระเลขยันต์ แล้วหลอมเป็นโลหะชนวน มอบให้พระอาจารย์สมพงษ์นำไปปั๊มเหรียญ เมื่อเสร็จแล้ว ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกอยู่หลายคืน มีพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหลายรูปเข้าร่วมพิธี เล่ากันว่าโบสถ์สะเทือน ทำเอาผู้คนที่มาร่วมพิธีตกตะลึงไปตามกัน

เหรียญวัดจีบประดิษฐ์ ปี 2516 นี้ มีประสบการณ์โดดเด่นด้านคงกระพันชาตรี จนได้รับฉายาว่า เหรียญมหาอุด

รูปหล่อ พ่อท่านเอียดดำ
บริเวณทางขึ้นพระธาตุชัยมณีศรีฆะโลก
วัดเขาปูน อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

หลวงปู่เขียว อินฺทมุนี ท่านเคยศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมกับพ่อท่านเอียดดำ (เอียด อริยวงฺโส) วัดศาลาไพ จังหวัดนครศรีธรรมราช  (ซึ่งเป็นองค์เดียวกันกับพ่อท่านเอียด วัดในเขียว)

ในสมัยนั้น มีพ่อท่านเอียดสองรูป อยู่ละแวกใกล้เคียงกัน คือพ่อท่านเอียด วัดศาลาไพ กับพ่อท่านเอียด วัดโรงฆ้อง พ่อท่านเอียดวัดศาลาไพมีสีผิวคล้ำดำ ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า พ่อท่านเอียดดำ และเรียกพ่อท่านเอียดที่วัดโรงฆ้องว่า พ่อท่านเอียดขาว

หลังจากที่พ่อท่านเอียดดำได้ทำนุบำรุงวัดศาลาไพจนเจริญรุ่งเรือง และได้สร้างโรงเรียนวัดศาลาไพจนแล้วเสร็จสมดังเจตนารมณ์ ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดในเขียวเพื่อช่วยพัฒนาวัดจนกระทั่งมรณภาพ จึงเป็นที่รู้จักและเรียกขานในนาม พ่อท่านเอียด วัดในเขียว อีกชื่อหนึ่ง

พ่อท่านเอียดดำ วัดศาลาไพ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิทยาคมเข้มขลังมากองค์หนึ่งของดินแดนภาคใต้ของไทย พระเครื่องที่ท่านสร้าง กล่าวกันว่าสุดยอดด้านคงกระพันชาตรี แม้แต่ยุงยังไม่ได้กินเลือด

เหรียญพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
วัดหน้าบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506

พระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมเข้มขลังอีกรูปหนึ่งของนครศรีธรรมราช ที่โด่งดังมากจนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ พ่อท่านคล้าย จันทสุวัณโณ หรือ พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ เหรียญพ่อท่านคล้ายซึ่งวัดสวนขันจัดสร้างขึ้นนั้น ปัจจุบันหายากและมีราคาสูง อย่างไรก็ตาม เหรียญที่วัดอื่นจัดสร้างแล้วนำมาให้พ่อท่านคล้ายอธิษฐานจิตปลุกเสก ก็มีอยู่ แต่ไม่เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย จึงทำให้พอเสาะแสวงหาได้ในราคาที่ไม่สูงมากจนเกินเอื้อม ตัวอย่างเช่น เหรียญพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดหน้าบรมธาตุจัดสร้างเป็นรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2506 ด้านหน้าเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องในวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช 

นายแพทย์ท่านหนึ่ง ลาราชการไปเที่ยวพักผ่อนอยู่ต่างประเทศหลายวัน ขณะพำนักอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ได้เช่ารถขับท่องเที่ยวตามลำพังไปตามเมืองต่าง ๆ ด้วยความเหนื่อยล้า จึง "หลับใน" หรือเผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัวขณะที่กำลังขับรถอยู่บนไฮย์เวย์ รถจึงค่อย ๆ แถ เปลี่ยนช่องทางไปทีละนิด จนกระทั่งข้ามไปวิ่งอีกฝั่งหนึ่งของถนนในลักษณะย้อนศร มารู้สึกตัวตื่นตอนที่รถสะเทือน เพราะวิ่งอยู่บนไหล่ทางของถนนอีกฝั่งหนึ่งและกำลังจะตกลงข้างทางซึ่งลึกและลาดชัน จึงทำให้หยุดรถได้ทัน ทั้งคนทั้งรถที่เช่ามาปลอดภัย ไม่มีอะไรบุบสลาย ฝรั่งที่ขับรถบรรทุกผ่านไปมา เห็นเหตุการณ์ ถึงกับจอดรถลงมาสอบถามด้วยความห่วงใย ระคนสงสัยว่ารอดมาได้อย่างไร  นายแพทย์ท่านนั้นตกใจมาก เป็นประสบการณ์เฉียดตายครั้งสำคัญของชีวิต เชื่อว่าเป็นผลแห่งกุศลกรรมที่ได้สั่งสมมา และอานุภาพแห่งเหรียญพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดหน้าบรมธาตุ 2506 ที่คุณพ่อมอบให้และแขวนติดตัวอยู่เหรียญเดียว

พระเทพสุทธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน)
วัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

เหรียญโสฬสระลึกชาติ ที่ หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 จัดเป็นวัตถุมงคลวิเศษสุดยอดที่ท่านตั้งใจสร้างเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รวมถึงมอบให้ศิษยานุศิษย์ไว้เป็นที่ระลึกก่อนที่ท่านจะละสังขาร

เหรียญโสฬสระลึกชาติ หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน พ.ศ. 2516

เล่าว่า ในการทำแบบของเหรียญ เมื่อศิษย์ผู้สร้างนำตัวอย่างเหรียญมาให้ท่านดูก่อนที่จะลงบล็อก หลวงปู่ได้พิจารณาดูแล้วดูอีก ลุกเดินออกมาส่องดูกับแสงสว่างที่ระเบียงกุฏิหน้าถ้ำ แล้วกลับไปนั่งที่เดิม หยิบกระดาษมาจดรายการที่ต้องการให้แก้ไขรวม 7 รายการ เช่น องค์ท่านอ้วนไป ระดับสายตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ตัวหนังสือไม่สมดุลกัน เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ระยะเวลากระชั้นชิด เกรงจะสร้างเสร็จไม่ทัน ศิษย์ผู้สร้างจึงไม่ได้บอกให้ช่างแก้ไขแบบตามที่หลวงปู่เขียนให้ แต่ที่แปลกมากคือ เมื่อไปรับเหรียญมา เหรียญที่สร้างมานั้น กลับได้รับการแก้ไขตามที่หลวงปู่เขียนบอกให้แก้ทุกประการ

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อตอนไปรับเหรียญ ช่างบอกว่า "..เหรียญหลวงพ่อเฮี้ยนเหลือเกิน พอปั๊มครบจำนวนที่สั่ง (9,999 เหรียญ) บล็อคด้านหลังรูปหลวงพ่อก็แตกร้าวผ่ากึ่งกลางทันที จะบัดกรีหรือเชื่อมต่ออย่างไรก็ไม่สามารถใช้พิมพ์ได้อีก.."

หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน เป็นพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล รับนิมนต์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หลวงปู่โชติ ได้รับการกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่า ท่านสามารถเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า รู้ใจและดักใจคน ห้ามลมห้ามฝน รู้ภาษาสัตว์ ย่นระยะทาง แบ่งภาคปรากฏในที่ต่างกันในเวลาเดียวกันได้

พระอุโบสถ วัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร
อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

เรื่องการแบ่งแยกกายเป็นสองร่าง เพื่อกระทำกิจสองอย่างในสถานที่ต่างกันนั้น เล่ากันว่า เช้าวันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่โชติกำลังจะออกจากวัดเพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานี มีญาติโยมคณะหนึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อกราบนมัสการท่าน หลวงปู่ก็ให้การต้อนรับตามอัธยาศัย เพราะเห็นว่ายังพอมีเวลา อีกทั้งคณะญาติโยมก็มากันหลายสิบคน เดินทางมาไกลด้วยจิตที่ศรัทธา

การสนทนากับญาติโยมในเช้าวันนั้น มิได้ใช้เวลาเพียงชั่วครู่อย่างที่คาด เนื่องจากญาติโยมคณะนั้นเป็นผู้ที่ช่างซักช่างถาม หลวงปู่โชติท่านเป็นพระที่มีจิตเมตตาอย่างมาก เมื่อมีโยมสนใจไต่ถามข้อธรรม ท่านก็ชี้แนะอธิบายให้เข้าใจทุกข้อทุกประเด็น โดยมิได้บอกกล่าวให้ญาติโยมทราบว่าท่านกำลังจะรีบเดินทางไปธุระที่ตัวจังหวัดนครราชสีมา

ผู้ที่รู้สึกกระวนกระวายใจ กลับเป็นศิษย์วัดที่รอรับหลวงปู่ไปส่งที่สถานีรถไฟ เพราะรู้ว่าอีกเพียงไม่ถึงสิบนาทีข้างหน้า รถไฟก็จะออกจากสถานี ถ้าไม่เร่งรีบไปในตอนนี้ก็จะไม่ทันรถอย่างแน่นอน แต่เมื่อเห็นกิริยาอาการที่หลวงปู่สนทนากับญาติโยม กลับไม่ได้รีบร้อนและไม่ได้สนใจกับเวลาที่รถไฟจะออก จึงคิดเดาในใจว่าหลวงปู่คงงดเดินทางแล้วเป็นแน่

หลวงปู่โชตินั่งสนทนากับญาติโยมคณะนั้นต่อไปอีกครู่ใหญ่ จนเลยเวลารถไฟออกไปแล้วไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ญาติโยมคณะนั้นจึงได้กราบลา 

หลังจากที่คณะญาติโยมเดินทางกลับกันไปแล้ว หลวงปู่จึงลุกขึ้นจัดจีวรให้เข้าที่อีกครั้ง หยิบย่ามแล้วเดินมาสั่งลูกศิษย์ว่า "หลวงปู่ไปแล้วนะ อยู่ดูแลวัดกันให้ดี"  ซึ่งทำให้บรรดาศิษย์วัดพากันงุนงงว่าท่านจะไปอย่างไร ในเมื่อรถไฟออกไปแล้ว  จากนั้น หลวงปู่ท่านก็ลงจากศาลา แต่แทนที่จะเดินออกประตูวัด ท่านกลับเดินตรงไปยังพระอุโบสถ แล้วก็หายเงียบเข้าไปในพระอุโบสถ

ลูกศิษย์ที่รออยู่นั้น ก็มั่นใจว่าหลวงปู่ไม่ไปจังหวัดนครราชสีมาเป็นแน่ จึงเดินกลับบ้าน ระหว่างทาง พบกับศิษย์อีกผู้หนึ่งของหลวงปู่ ซึ่งกลับจากทำกิจธุระที่สถานีรถไฟ ถามขึ้นว่า "อ้าว พ่อทิด วันนี้ไม่ได้ไปกับหลวงปู่หรอกหรือ?" จึงตอบไปว่า "วันนี้มีโยมมาจากกรุงเทพฯ ท่านจึงไปไม่ทันรถไฟ วันนี้ท่านอยู่วัด ไม่ได้ไปไหน" เพื่อนผู้นั้นกลับตอบว่า "อะไรกัน พ่อทิด ก็ข้าเพิ่งกลับมาจากสถานีรถไฟ เห็นหลวงปู่ท่านไปคนเดียว จึงเดินไปส่งท่านขึ้นรถไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าจึงกลับมานี่ไงล่ะ ว่าแต่พ่อทิดไปหลับอยู่ที่ไหน จึงไม่รู้ว่าหลวงปู่ท่านไปแล้ว"

ศิษย์ทั้งสองคนต่างฉงนสนเท่ห์ใจ จึงพากันเดินไปดูที่พระอุโบสถ คิดว่าหลวงปู่คงนั่งภาวนาอยู่ในนั้น เมื่อทั้งสองค่อย ๆ แง้มประตูพระอุโบสถเข้าไป ก็ไม่พบผู้ใด เมื่อสอบถามพระเณรและบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ ณ ที่ตรงนั้น ต่างก็ยืนยันว่าเห็นหลวงปู่โชติสะพายย่ามเดินเข้าไปในพระอุโบสถ ไม่ได้ไปนครราชสีมาอย่างแน่นอน

เวลาผ่านไปจนถึงเย็น คณะศิษย์ต่างก็รับรู้ว่า หลวงปู่ท่านได้เดินทางไปทำธุระที่ตัวจังหวัดนครราชสีมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เดินทางกลับวัดด้วยรถไฟเที่ยวเย็นของวันนั้น

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า หลวงปู่โชติท่านคงแยกร่างได้ ร่างหนึ่งต้อนรับคณะญาติโยมอยู่บนศาลาภายในวัด ขณะที่อีกร่างหนึ่งเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานี !

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ในบรรดาพระเครื่องที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสร้างขึ้น อาจกล่าวได้ว่า "พระรอดชานหมาก" ของ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  มีความเป็นมาที่แปลกและอัศจรรย์ที่สุด เป็นสุดยอดปรารถนาของศิษยานุศิษย์ผู้มีเคารพศรัทธาในองค์หลวงปู่เป็นอย่างมาก

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือครูบาวงศ์ เป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและเป็นพระนักพัฒนา เป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงซึ่งหลวงปู่ได้เมตตาให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์ให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  เป็นที่ยอมรับในหมู่พระธุดงค์ว่า หลวงปู่เป็นพระทรงอภิญญา 6  หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง เคยพูดถึงหลวงปู่ว่า "..ครูบาวงศ์องค์นี้พระธาตุเยอะนะ.." หลวงปู่สิมท่านคงจะทราบว่า หลวงปู่ท่านเป็นผู้ที่มีบารมีเกี่ยวกับพระธาตุมาก


มีครอบครัวหนึ่ง สามีพาภรรยาไปกราบหลวงปู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ภรรยานับถือศาสนาคริสต์ จึงไม่ศรัทธาหลวงปู่ ก่อนจะลากลับ หลวงปู่ได้คายชานหมากออกจากปาก ห่อใส่กระดาษทิชชู่แล้วยื่นให้ พร้อมกับบอกว่าห้ามเปิดห่อชานหมาก รอให้ผ่านไปเจ็ดวันจึงค่อยเปิดออกดู เมื่อครบกำหนดเจ็ดวันผ่านไป ภรรยาได้เปิดห่อชานหมากดู ปรากฏว่า ชานหมากของหลวงปู่ได้กลายสภาพเป็นพระรอด  นับแต่นั้นมา ภรรยาจึงเริ่มเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่และเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในที่สุด

(ซ้าย) หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
(ขวา) ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

เรื่อง ชานหมากกลายสภาพเป็นพระรอด นี้ มีลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยได้ประสบมาด้วยตนเอง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 หลวงปู่เข้ารับการตรวจสุขภาพและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช มีลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งทราบข่าวได้เข้าเยี่ยมนมัสการ ก่อนจะลากลับ เห็นหลวงปู่หยิบชานหมากแห้ง ๆ มาไว้ในมือเพื่อเตรียมแจก ทุกคนที่ไปกราบท่านในวันนั้นต่างก็ดีใจที่จะได้รับแจกชานหมาก ในขณะที่ท่านกำลังยื่นให้ถึงมือแต่ละคนนั้น ยังเป็นเพียงชานหมากธรรมดา แต่พอตกถึงมือแต่ละคนแล้ว ชานหมากนั้นกลับกลายเป็นพระรอด  

ชานหมากแปรสภาพเป็นพระรอด

อีกเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นกับคณะแสวงบุญที่เดินทางไปกราบสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2535 บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่และคณะผู้แสวงบุญกำลังเดินทางโดยรถโดยสาร คุณสุปรีดา (กราบขออนุญาตเอ่ยนาม) ซึ่งเป็นผู้ดูแลคณะทัวร์ได้นำนมแลคตาซอยชนิดกล่องที่นำไปจากเมืองไทย ถวายเป็นน้ำปานะแก่หลวงปู่ ท่านรับไปดื่มอยู่ครู่หนึ่งแล้วเรียกให้คุณสุปรีดาไปรับกล่องคืน 

เมื่อเธอรับกล่องนมคืนมานั้น บรรดาศิษย์ที่อยู่ในรถคันนั้นขอให้เธอเขย่ากล่องนมดูว่ามีปริมาณนมเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด เพื่อจะได้แบ่งปันกันดื่มต่อ เพราะบรรดาศิษย์ทั้งหลายถือว่า ของที่เหลือจากหลวงปู่ฉัน เป็นของดีที่หลวงปู่มอบให้ จะนำมาแบ่งกันรับประทาน ดังนั้น คุณสุปรีดาจึงลองเขย่ากล่องนม ปรากฏว่ามีเสียงดังเหมือนมีของบางอย่างกลิ้งไปมาอยู่ภายในกล่อง

ทุกคนจึงให้เธอฉีกกล่องดู แต่ฉีกไม่ได้ เพราะกล่องเหนียว ด้วยความอยากรู้อยากเห็นมาก คุณลุงที่มาด้วยท่านหนึ่งจึงใช้มีดคัตเตอร์ผ่ากล่องนั้นออก ปรากฏว่าทุกคนต้องตกตะลึง เพราะว่ามี พระรอด อยู่ในกล่องนมนั้น 

ทุกคนต่างยกมือขึ้นเหนือศีรษะ กล่าวคำว่า สาธุ สาธุ สาธุ พร้อมกัน ต่างแสดงความยินดีกับคุณสุปรีดา เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ เธอได้นำไปเลี่ยมทองและอาราธนานำติดตัวตลอดเวลา

การเดินทางไปอินเดียในครั้งนั้น ไม่เพียงแต่คุณสุปรีดาเท่านั้นที่โชคดีได้พระรอด ยังมีอีกหลายคนในคณะที่ได้พระรอดโดยที่หลวงปู่ยื่นคำหมากที่เคี้ยวออกจากปากส่งให้ ศิษย์บางคนที่ยังไม่เคยได้ หรือผู้ที่ยังไม่เชื่อ หากมีวาสนาก็มักจะได้พระรอดเป็นที่อัศจรรย์เสมอ ตลอดการเดินทางในครั้งนั้น มีผู้ได้รับพระรอดจากหลวงปู่คนละองค์เป็นจำนวนถึง 15 คนด้วยกัน เรื่องลักษณะนี้เป็นอจินไตย


อิทธิปาฏิหาริย์ ความอัศจรรย์ต่าง ๆ นี้ เป็นเรื่องที่เคยอ่านผ่านตามาบ้าง ได้ยินได้ฟังมาบ้าง เห็นว่าสนุกดี จึงเก็บรวบรวมมาเล่าสู่กันฟัง พอให้เพลิน ๆ เท่านั้น

ผู้นับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะชาวไทยพุทธ ส่วนใหญ่จะมีพระเครื่องตั้งบูชาที่บ้าน บางท่านก็นำติดตัวไปด้วย มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ความชอบส่วนตัว ด้วยยึดถือว่าพระเครื่องเป็นสัญลักษณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ประมาท ไม่ประพฤติชั่ว มีความละอายใจที่จะพาตนเข้าไปในสถานที่อโคจร หรือไปทำบาปขณะที่มีพระเครื่องแขวนอยู่ที่คอ  หลายท่านเลื่อมใสในพระเครื่องว่าเป็นวัตถุมงคล ให้ความรู้สึกอุ่นใจเมื่อต้องเดินทางไกล หรือไปไหนมาไหนตามลำพัง ช่วยเสริมสร้างกำลังใจเมื่อชีวิตประสบทุกข์ร้อน มีอานุภาพป้องกันภูติผีปีศาจ สิ่งชั่วร้ายและภัยอันตรายต่าง ๆ นำมาซึ่งโชคลาภ ความร่ำรวย ความเจริญรุ่งเรือง ฯลฯ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล


แน่นอนที่สุด พระเครื่องที่ครูบาอาจารย์ท่านสร้างขึ้นนั้น ท่านสร้างด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและความปรารถนาดี อยากให้ทุกคนที่ได้รับพระเครื่องของท่านไป มีความสุขสำเร็จสมหวังตามที่แต่ละคนมุ่งมาดปรารถนา แต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลทั้งหลายทั้งปวง จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับ สภาวะจิตและพฤติกรรม ของผู้ที่รับพระเครื่องไปบูชาด้วย หากเข้าใจและเข้าถึงคำสอนของพระบรมศาสดา มีความมุ่งมั่นที่จะประกอบคุณงามความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการประพฤติทุจริตมิชอบ หมั่นสำรวจตนเองและแก้ไขข้อบกพร่อง ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตตามแนวอิทธิบาท 4 มีพรหมวิหารธรรมประจำใจ ต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ความสุขสวัสดี ความร่ำรวย ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จทั้งหลายที่ปรารถนา หรือแม้แต่มรรคผลนิพพาน ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะเกิดมีขึ้นได้อย่างแน่นอน


จิตที่ดีงาม ย่อมกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม และนำมาซึ่งผลที่ดีงาม เมื่อถึงเวลานั้น พระเครื่องอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะความอัศจรรย์ที่แท้จริงคือพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ และนำมาแสดงแจ้งทางไว้แล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยพระมหากรุณาหาที่เปรียบมิได้

ขอขอบคุณ  ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น