วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์


พระปาเลไลยก์ หรือ หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ เป็นพระพุทธรูปโบราณ ก่ออิฐถือปูนปิดทอง ปางปาลิไลยก์ ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) เบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุเบื้องขวา ความสูงวัดตั้งแต่พระรัศมีถึงพระบาท 23.48 เมตร ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จ ฯ เยี่ยมพสกนิกร จังหวัดสุพรรณบุรี  เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2498
ทรงนมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ และทรงชักผ้าห่มถวายพระประธาน
สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมดิลก ถวายการต้อนรับ

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่น่าจะสร้างก่อน พ.ศ. 1706 เพราะในพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระเจ้ากาแต กษัตริย์เชื้อสายพม่าซึ่งครองเมืองอยู่ ณ ดินแดนสุพรรณบุรี เมื่อครั้งยังเรียกว่า เมืองอู่ทอง โปรดให้มอญน้อยไปบูรณะวัดป่าเลไลยก์และองค์พระพุทธรูป

                   ".. ขณะนั้น พระเจ้ากาแต เปนเชื้อมาแต่นเรศร์หงษาวดี ได้มาเสวยราชสมบัติ
                   แล้วมาบุรณวัดโปรดสัตววัดหนึ่ง  วัดภูเขาทองวัดหนึ่ง  วัดใหญ่วัดหนึ่ง 
                   สามวัดนี้แล้ว  จึงให้มอญน้อยเปนเชื้อมาแต่พระองค์ ออกไปสร้างวัดสนามไชย
                   แล้วมาบุรณวัดพระปาเลไลยในวัดลานมะขวิด แขวงเมืองพันธุมบุรีนั้น 
                   ข้าราชการบุรณวัดแล้ว  ก็ชวนกันบวชเสียสิ้นสองพันคน จึงขนานนามเมืองใหม่
                   ชื่อว่าเมืองสองพันบุรี  แล้วพระองค์จึงยกนาเปนส่วนสัดวัดไว้ พระองค์อยู่ใน
                   ศิริราชสมบัติ 40 ปีจึงสวรรคต จุลศักราช 565 ขาลเบญจศก .." 

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์องค์ใหญ่นี้ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งหลายครา ทำให้พุทธลักษณะเดิมซึ่งเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง กลายเป็นพุทธศิลปะผสมระหว่างอู่ทอง อยุธยา และสุโขทัย

ภาพถ่ายทางอากาศ
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ในอดีต

วัดป่าเลไลยก์อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาแต่โบราณ ประมาณว่ามีอายุนับพันปีขึ้นไป  สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยอู่ทองเช่นเดียวกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ของวัด  พระปางปาลิไลยก์นี้ ชาวบ้านเรียกเพี้ยนไปว่า พระป่าเลไลยก์  หรือเรียกกันทั่วไปว่า หลวงพ่อโต นามของวัดก็เรียกไปตามนามของพระพุทธรูปว่าวัดป่าเลไลยก์ แต่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดป่า เดิมเป็นวัดราษฎร์ ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2462 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

พระพุทธรูป ปางประทานปฐมเทศนา ประทับนั่งห้อยพระบาท
เป็นแบบที่นิยมทำกันมากในสมัยทวารวดี
สันนิษฐานว่า หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ (ซ้าย) 
เมื่อแรกสร้าง น่าจะเป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา 
เช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร วัดพระปฐมเจดีย์ (ขวา)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า ดวงพระพักตร์เป็นแบบทวารวดี และนั่งห้อยพระบาทเหมือนอย่างพระทวารวดีที่พระปฐมเจดีย์ จึงสันนิษฐานว่า ของเดิมคงเป็นพระปางประทานปฐมเทศนา คือจีบพระหัตถ์ข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างที่ตรงพระอุระเหมือนอย่างพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแบบพระพุทธรูปปางปาเลไลยก์เช่นเรานับถือกัน แต่พระพุทธรูปองค์เดิมนั้นทิ้งชำรุดมานานจนพระกรและพระหัตถ์หักพังหายไป ผู้ไปปฏิสังขรณ์ภายหลังไม่รู้ว่าพระหัตถ์ของเดิมเป็นอย่างไร จึงทำใหม่ แปลงเป็นอย่างปางพระปาเลไลยก์สมัยชั้นหลัง พระหัตถ์ที่ยกประทานพรจึงมาวางไว้ที่พระชานุ กลายเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ เห็นได้จากส่วนพระหัตถ์ซึ่งซ่อมใหม่ มีขนาดแตกต่างจากส่วนพระกรของเดิม
 
พระพุทธรูปศิลาขาว ปางประทานปฐมเทศนา หรือปางประทานเอหิภิกขุ
เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ นั่งห้อยพระบาท ศิลปะทวารวดี มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว
พบในวัดทุ่งพระเมรุ ซึ่งเป็นวัดร้างในตำบลพระปฐมเจดีย์

พระพุทธรูปศิลาขาวชุดนี้มีทั้งหมด 4 องค์ 
ในการขุดแต่งวัดทุ่งพระเมรุ ปี พ.ศ. 2481-2482 กรมศิลปากรได้พบฐานที่ตั้งพระพุทธรูป
นั่งห้อยพระบาททั้ง 4 ฐาน ในมุขประจำทิศทั้ง 4 ของพระเจดีย์ใหญ่สมัยทวารวดีองค์หนึ่ง

พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่สมบูรณ์ที่สุด ปัจจุบัน ประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม 
ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อประทานพร (ภาพซ้าย)

ส่วนอีก 3 องค์ ชิ้นส่วนองค์พระกระจัดพลัดพรายไปในที่ต่าง ๆ 
กรมศิลปากรได้ติดตามสืบค้นและรวบรวมมาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้สำเร็จ 
แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาองค์หนึ่ง 
ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครองค์หนึ่ง และที่ลานชั้นลดด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ 
คือ พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดี ปูชนียบพิตร 
หรือ หลวงพ่อขาว (ภาพขวา) นี้อีกองค์หนึ่ง

ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งคือ พระพุทธรูปโบราณพบที่อู่ทองและนครปฐม เป็นพุทธศิลป์ยุคทวารวดีเหมือนกัน เพราะจากหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เมืองอู่ทอง มีบทบาทเป็นเมืองสำคัญและเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรทวารวดีเช่นเดียวกับเมืองนครปฐมโบราณ

พระพุทธรูปสำริด ปางประทานปฐมเทศนา
กรมศิลปากรขุดพบในชั้นดินริมฐานเจดีย์นอกเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี

วัดป่าเลไลยก์เกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน เล่าว่า ขรัวมี สมภารวัดป่าเลไลยก์ และขรัวคง วัดแค สุพรรณบุรี เป็นสหายร่วมน้ำสาบานกับขุนไกรพลพ่าย บิดาของพลายแก้วหรือขุนแผน เมื่อขุนไกรถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ มีโทษถึงตาย ลูกเมียข้าทาสชายหญิงทรัพย์สมบัติถูกริบเป็นของหลวง นางทองประศรี ภรรยาของขุนไกรได้หลบหนีพระอาญาไปพร้อมกับพลายแก้วบุตรชาย มุ่งหน้าไปเมืองกาญจนบุรีเพราะมีพรรคพวกพี่น้องอาศัยอยู่ที่นั้น นางทองประศรีอยู่เมืองกาญจนบุรีจนพลายแก้วเติบใหญ่ จึงได้บวชเป็นสามเณรที่วัดส้มใหญ่ อันเป็นวัดใกล้บ้าน ได้เรียนวิชากับพระอาจารย์บุญผู้เป็นอุปัชฌาย์จนสำเร็จแล้ว ตั้งใจจะหาความรู้ให้สูงขึ้น นางทองประศรีผู้เป็นมารดา จึงนำเณรแก้วมาฝากกับขรัวมี วัดป่าเลไลยก์

นางทองประศรี พาเณรแก้วบุตรชาย ไปฝากขรัวมี เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
(ภาพ
จิตรกรรมฝาผนัง บริเวณพระวิหารคด วัดป่าเลไลยก์)

เณรแก้วมีสติปัญญาดี เล่าเรียนเขียนอ่านได้คล่องแคล่วทั้งวิชาอาคม แต่เป็นคนเจ้าชู้ปากไวใจกล้า ภายหลังต้องหนีออกจากวัด เพราะราคะครอบงำ ไปกระชากผ้าคาดอกนางสายทองลุ่ยออกมาแสดงบทบาทเจ้าชู้ ลืมตัวว่าเป็นสามเณรและอยู่ในวัด ขาดสังวรในศีล บังเอิญเพื่อนเณรไปส้วมกลับมา ได้ยินเสียงพึมพำในกุฏิและประตูก็ปิดผิดสังเกต จึงแอบดูที่ช่องฝา เห็นความระห่ำของเณรแก้ว ก็ร้องตะโกนโหวกเหวกจนคนรู้กันทั่ววัด สมภารมีโกรธจัด ฉวยได้ไม้เท้าก็ผลุนผลันเปิดกุฏิเณรแก้ว หวดด้วยไม้เท้าจนนางสายทองหนีออกทางใต้ถุน ส่วนเณรแก้วเผ่นออกทางหน้าต่าง

รูปหล่อ ขรัวคง
ประดิษฐานอยู่บนพญาต่อยักษ์ ที่วัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี

ออกจากวัดป่า เณรแก้วก็มุ่งหน้าไปวัดแค เพราะเคยทราบจากโยมมารดาว่า ขรัวคงวัดแคเป็นเพื่อนรักกับขุนไกรผู้เป็นบิดา อาจารย์คงเมื่อรู้ว่าเณรแก้วเป็นบุตรของสหายรักก็เอ็นดูรับไว้ ให้เล่าเรียนคาถาอาคม เพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม  วัดแคนี้อยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีต้นมะขามโบราณอยู่ต้นหนึ่งใหญ่โตมาก เล่ากันว่าเณรแก้วเสกใบมะขามต้นนี้เป็นตัวต่อ

พระวิสุทธิสารเถร (หลวงพ่อถิร ปญฺญาปโชโต)
เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ พ.ศ. 2494 - 2527  รวมเวลา 33 ปี
ก่อน พ.ศ. 2494 ท่านเป็นรักษาการเจ้าอาวาส
เป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมสูงมาก

เชื่อกันว่า ภายในองค์หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์นี้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เพราะผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่าตายาย เคยเห็นประจักษ์กับสายตามาว่า เห็นแสงสว่างพวยพุ่งออกทางหน้าต่างพระวิหารแล้ววกกลับเข้าทางหน้าบัน บางท่านเคยเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปมีรัศมีสุกสกาวเป็นที่น่าอัศจรรย์


ท่านเจ้าคุณสังวรฯ วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ท่านเคยเดินธุดงค์ไปกราบนมัสการพระป่าเลไลยก์ ไปถึงวัดเวลาเย็น ผู้เฝ้าพระวิหารกลับบ้านไปแล้ว ท่านลองผลักประตูจะเข้าไปนมัสการ ประตูปิดแน่นแสดงว่าติดดาลเข้าไม่ได้ ท่านจึงนั่งพักอยู่ข้างนอก สักครู่หนึ่งได้ยินเสียงประตูเปิด ท่านจึงเดินตรงเข้าไปนมัสการ แล้วจึงเดินกลับออกมานั่งพักที่เดิม ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงประตูดังค่อย ๆ จึงหันหน้าไปจ้องดู เห็นประตูนั้นค่อย ๆ ปิด ได้ยินเสียงใส่กลอน ท่านจึงลุกออกไปลองผลักดู ปรากฏว่าประตูปิดใส่กลอนเรียบร้อย จึงเชื่อมั่นว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อมีอภินิหารจริง ท่านจึงชี้แนะนำแก่ทายกทายิกาในตอนรุ่งเช้าที่เขาพากันมาถวายอาหารบิณฑบาต ว่าขอให้ท่านทั้งหลายจงได้อบรมสั่งสอนบุตรหลานทั่ว ๆ ไปว่า จงอย่าได้มาประกอบกรรมลามกในบริเวณที่พระวิหารนี้เป็นอันขาดเลย


คาถาบูชาหลวงพ่อโต

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

โตเสนโต วะระธัมเมนะ
โตสัฏฐาเน สิเว วะเร
โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง
โตสะจิตตัง นะมามิหัง


อ้างอิง    -  ประวัติวัดป่าเลไลยก์ ฉบับกรมการศาสนา โดยพระวิสุทธิสารเถร (หลวงพ่อถิร)
               -  พระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น