วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พระพุทธสิหิงค์.. พุทธปฏิมาที่เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


"... พระพุทธสิหิงค์เมื่อเสด็จประทับอยู่ในที่ใด ๆ
ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดังดวงประทีป
เสมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ..."

ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ แต่งไว้ระหว่างปี พ.ศ. 1945 - 1985 เป็นภาษามคธ เล่าความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์ว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในลังกาทวีป เมื่อราว พ.ศ. 700

พระราชาลังกา 3 องค์ ตรัสถามพระอรหันตเจ้า
ว่าเคยเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่หรือไม่

(จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า)

เรื่องมีอยู่ว่า.. มีพระราชาลังกา 3 องค์ ปรารถนาจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของมหาชนทั้งหลาย จึงได้ปรึกษากับพระอรหันต์ 20 รูป ถึงพระพุทธลักษณะอย่างถี่ถ้วน โดยหมายจะให้พระพุทธรูปที่สร้างขึ้น เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ๆ

ในครั้งนั้น พญานาคราชตนหนึ่งมีอายุยืนยาว ได้เคยเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงพระชนม์อยู่ จึงสำแดงฤทธิ์เนรมิตกายเป็นรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ มีฉัพพรรณรังสีแผ่เรืองรอง พร้อมทั้งเนรมิตพระเชตวันมหาวิหาร แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวก มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น

พญานาคราชเนรมิตกายเป็นรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระราชาและพระอรหันตเจ้าทั้งหลายได้เห็นรูปเนรมิตนั้นแล้ว ก็จดจำพุทธลักษณะต่าง ๆ ไว้ และเรียกหาช่างหล่อโลหะฝีมือดีมาปั้นหล่อพระพุทธรูปขึ้นให้เหมือนกับแบบที่ได้ช่วยกันจดจำไว้  เมื่อปั้นและสร้างพิมพ์พระเสร็จ ขณะที่ช่างกำลังเททองลงในพิมพ์  พระราชาเห็นช่างหล่อคนหนึ่งทำไม่ถูกพระทัย จึงทรงพิโรธตวัดแส้หางปลากระเบนไปถูกนิ้วมือของช่างผู้นั้นเข้า ได้รับความเจ็บปวดทรมาน  ดังนั้น เมื่อหล่อพระพุทธรูปเสร็จ นิ้วพระหัตถ์นิ้วหนึ่งจึงไม่บริสุทธิ์

พระราชาทั้งสามองค์ คิดจะตัดนิ้วที่ไม่บริสุทธิ์นี้ออกเพื่อซ่อมใหม่ให้เรียบร้อย แต่พระอรหันต์ได้ทูลทัดทานว่า ในภายภาคหน้า พระพุทธรูปองค์นี้จะเสด็จสู่ชมพูทวีป (หมายถึงสยามประเทศ) ณ ที่นั้น จะมีพระราชาองค์หนึ่งทรงศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธรูปนี้ และจะตัดแต่งนิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธรูปนี้ให้บริสุทธิ์ และจะบูชาอยู่ชั่วกาลนาน ตราบจนพระพุทธศาสนาล่วงได้ 2,000 ปี พระเจ้าธรรมิกราชจะบังเกิดขึ้นในลังกาทวีป และจะอัญเชิญพระพุทธรูปนี้ กลับคืนมายังเมืองนี้อีก

พระราชาและมหาชนทั้งหลาย เมื่อได้ยินคำพยากรณ์ของพระอรหันตเจ้า ก็พากันชื่นชมยินดี ฉลองสมโภชตลอด 7 ทิวาราตรีกาล และถวายพระนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธสิหิงค์ ด้วยเหตุว่าพระพุทธรูปมีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์ อันเป็นลักษณะท่าทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย รับสั่งให้พระยานครศรีธรรมราช
ทูลขอพระพุทธสิหิงค์จากพระเจ้ากรุงลังกา

ตำนานพระพุทธสิหิงค์ เล่าต่อไปว่า.. พระพุทธสิหิงค์เดินทางจากลังกาสู่สยามประเทศ ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  พระองค์โปรดให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตเชิญพระราชสาส์นไปขอพระพุทธสิหิงค์จากพระเจ้ากรุงลังกา ก็ได้ตามพระราชประสงค์ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย

งานฉลองสมโภชพระพุทธสิหิงค์ในกรุงสุโขทัย

กษัตริย์แห่งสุโขทัยทรงบูชาพระพุทธสิหิงค์ตลอดมาหลายรัชกาล จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น พญาไสลือไทยแห่งกรุงสุโขทัยมาครองเมืองพิษณุโลก ก็ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปพิษณุโลก เมื่อพญาไสลือไทยสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ขุนหลวงพะงั่ว) โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา

เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยไว้ในอำนาจนั้น ได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 มณฑล คือเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ เป็นมณฑลหนึ่ง มีพญาญาณดิสเป็นผู้ปกครอง  และเมืองสุโขทัย สวรรคโลก เมืองพิษณุโลก เป็นอีกมณฑลหนึ่ง มีเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงปกครอง

พญาญาณดิสผู้ครองเมืองกำแพงเพชรเป็นราชบุตรเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  (พระมเหสีของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้สามีและมีบุตรชายก่อนจะเป็นพระมเหสี)  พญาญาณดิสปรารถนาจะได้พระพุทธสิหิงค์  จึงให้พระมหสีผู้เป็นมารดาของตน ออกอุบายขอพระพุทธรูปจากกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็ตรัสอนุญาตให้รับไปองค์หนึ่งตามปรารถนา พระมเหสีติดสินบนนายพุทธบาลผู้รักษาหอพระ เลือกพระพุทธสิหิงค์ส่งไปให้บุตรของตน พระพุทธสิหิงค์จึงมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร

เมื่อพระเจ้ามหาพรหมผู้ครองเมืองเชียงรายทราบข่าว จึงชวนพระเจ้ากือนา เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นพี่ชาย ยกกองทัพมาขู่ขอพระพุทธสิหิงค์  พญาญาณดิสต้องยอมยกให้ไป พระพุทธสิหิงค์จึงมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงรายเป็นเวลา 20 ปี

ต่อมา พระเจ้ามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน พระเจ้าแสนเมืองมา ยกกองทัพตีได้เมืองเชียงราย จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่ ราวปี พ.ศ. 1950

(ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งพระโพธิรังสีแต่งไว้ จบอยู่เพียงนี้  และพระพุทธสิหิงค์ก็มิได้เสด็จกลับคืนลังกา เมื่อ พ.ศ. 2000 ตามคำพยากรณ์  พระราชพงศาวดารเล่าเหตุการณ์ต่อจากนี้ไปว่า..)

วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา
พระอารามที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ในอดีต

พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่เป็นเวลาประมาณ 255 ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2205 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา

ในพระราชพงศาวดาร มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า.. ในสมัยที่พระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2203  พวกจีนฮ่อยกพลมาล้อมเมืองเชียงใหม่ พญาแสนหลวงเกรงว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ใคร่จะหาที่พึ่งพิง จึงเสี่ยงทายในวิหารพระพุทธสิหิงค์ว่า ถ้าประเทศใดจะเป็นที่พึ่งพำนักได้แล้ว ขอให้องค์พระพุทธสิหิงค์ได้สำแดงให้เห็นประจักษ์ ปรากฏว่า พระพุทธสิหิงค์ได้สำแดงอภินิหาร บ่ายพระพักตร์มายังกรุงศรีอยุธยา  พญาแสนหลวงจึงให้แสนสุรินทรไมตรีถือหนังสือ พรรณาข้อความดังกล่าวมาขอกองทัพไทย ฝ่ายไทยเชื่อนึกว่าเป็นความจริง จึงยกกองทัพขึ้นไปช่วย แต่ภายหลัง พญาแสนหลวงนึกกลัวพระเจ้าอังวะ ได้มีหนังสือลอบมาถึงแสนสุรินทรไมตรีที่นำทัพไทยขึ้นไปนั้น ให้แอบหนีไปเสีย ทำให้ไทยแค้นเคืองมากและยกไปตีเชียงใหม่ได้ในที่สุด

พระพุทธสิหิงค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาตลอด 105 ปี จนเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่

ขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่มากรุงเทพฯ

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ไทยได้มณฑลภาคพายัพกลับมาเป็นของไทย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงพระดำริว่า พระพุทธสิหิงค์เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธยา จึงทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2338 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ อันเป็นหอพระในวังที่ประทับของพระองค์ ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพฯ
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อัญเชิญมาจากเชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพฯ นี้ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 66 เซนติเมตร สูง 91 เซนติเมตร

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์นี้
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า
เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ถวายแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
เมื่อขึ้นไปช่วยรบกับพม่าในปี พ.ศ. 2338 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้าง
และเมื่อเสด็จกลับ จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
นับจากนั้น พระพุทธรูปองค์นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนามของ "พระพุทธสิหิงค์" จวบจนทุกวันนี้

เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตราบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอัญเชิญกลับ

เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่ปรากฏว่า เมื่อคราวอัญเชิญไปนั้นเกิดปาฏิหาริย์คือ ฉัตรทองคำที่สร้างตั้งแต่ครั้งที่เชิญจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ เกิดละลายสูญหายไป จึงให้อัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิมตลอดมาตราบจนถึงทุกวันนี้

พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จะได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน ยังคงมีพระพุทธรูปซึ่งเรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

พระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่

ชาวล้านนาเรียกชื่อพระพุทธสิหิงค์สั้น ๆ ว่า "พระสิงห์" และเรียกชื่อวัดตามชื่อพระพุทธรูปด้วย พระพุทธสิหิงค์ของเชียงใหม่เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 1 เมตร

พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้วยมีพระวรกายสั้น กล้ามพระมังสาดูเป็นมัด ๆ จึงมีชื่อเรียกตามพุทธลักษณะว่า "พระขนมต้ม"
ชายจีวรคลี่ออกเป็นจีบเหนือพระอังสาซ้าย เป็นพุทธลักษณะเฉพาะของพระขนมต้ม

ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีพระพุทธรูปซึ่งเรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระพุทธสิหิงค์ ในบริเวณศาลากลางจังหวัด เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 32 เซนติเมตร องค์พระสูง 41.5 เซนติเมตร สูงรวมฐาน 64.5 เซนติเมตร ส่วนฐานถอดแยกออกได้  กลางฐานด้านหน้ามีผ้าทิพย์ห้อยลงมา ด้านหลังฐานมีห่วงสำหรับเสียบประกอบฉัตรหักทองขวางฉลุลาย โลหะปิดทอง 5 ชั้น สูง 129 เซนติเมตร

หอพระพุทธสิหิงค์
ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
แต่เดิม หอพระพุทธสิหิงค์มีฐานะเป็นหอพระสำหรับจวนเจ้าเมือง
และที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ก็คือจวนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต

ภาพถ่ายในอดีต
(ซ้าย) หอพระพุทธสิหิงค์
(ขวา) จวนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

(ซ้าย) พระบรมรูป พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว พระมเหสีเอกของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ 5
ประดิษฐานอยู่ ณ วัดแม่เจ้าอยู่หัว  อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  
พระนางเป็นผู้ที่เสด็จไปยังประเทศศรีลังกาเพื่อทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเมืองนครศรีธรรมราช
(ขวา) พระบรมธาตุเจดีย์ศรีธรรมาโศกราช 
สร้างครอบฐานเจดีย์เก่าที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ 5 ได้ทรงสร้างไว้เพื่อบรรจุอัฐิพระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว

พระพุทธสิหิงค์ของเชียงใหม่และนครศรีธรรมราช มีขนาดและลักษณะต่างจากพระพุทธสิหิงค์ของกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน


พระพุทธสิหิงค์ของเชียงใหม่และของนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนชั้นแรก หรือเชียงแสนรุ่นเก่า (ราว พ.ศ. 1600 - 1800) ลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียสมัยราชวงศ์ปาละ คือนั่งขัดสมาธิเพชร (นั่งเอาแข้งไขว้ไว้บนตัก)  พระหัตถ์มารวิชัย พระรัศมีเป็นต่อม พระพักตร์กลมสั้น องค์พระอวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวพระถัน ฯลฯ   

ผู้รู้ทางศิลปะสันนิษฐานว่า พระพุทธสิหิงค์ของเชียงใหม่น่าจะเป็นฝีมือช่างไทยเหนือ สร้างตามอย่างพระพุทธรูปอินเดีย   ส่วนพระพุทธสิหิงค์ของนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นฝีมือช่างไทยใต้ ทำพระพักตร์และพระโอษฐ์กว้างตามอย่างพระพุทธรูปขอม


พระพุทธสิหิงค์ของกรุงเทพฯ มีรูปแบบตรงกับพระพุทธรูปที่ชาวลังกานิยมสร้าง คือนั่งขัดสมาธิราบ (แข้งซ้อนแข้ง) พระหัตถ์อยู่ในท่วงท่าทำสมาธิ  แต่พุทธลักษณะทั่วไปเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนชั้นหลัง (พ.ศ. 1800 - 2091) คล้ายพระพุทธรูปสุโขทัย คือ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาว เส้นพระศกละเอียด ฯลฯ สันนิษฐานว่า อาจจะหล่อขึ้นในยุคอาณาจักรล้านนารุ่งเรือง

ในอดีต กรมศิลปากรเคยจัดประชุมสัมมนา มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยศิลปากรทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม  ได้อภิปรายเรื่องพระพุทธสิหิงค์ทั้ง 3 องค์ คือที่เชียงใหม่ ที่นครศรีธรรมราช และที่กรุงเทพฯ ซึ่งต่างก็อ้างตำนานเดียวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 700 แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าองค์ใดคือองค์ดั้งเดิม

พระธาตุเจดีย์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่
พระธาตุประจำปีนักษัตร "มะโรง"

ชาวเชียงใหม่และชาวนครศรีธรรมราชต่างเชื่อว่า พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในท้องถิ่นตนนั้น คือพระพุทธสิหิงค์องค์ดั้งเดิมที่สร้างขึ้นในลังกาเมื่อปี พ.ศ. 700

ตำราไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา แนะนำให้ผู้ที่เกิดในปีนักษัตร "มะโรง" ควรไปกราบสักการะ "พระธาตุเจดีย์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่" หรือ "พระพุทธสิหิงค์" (โบราณจารย์ถือว่าเป็น "อุทิสสกเจดีย์")  ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกัน

ส่วนตำราไหว้พระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดของทางภาคใต้ แนะนำให้ผู้ที่เกิดปีนักษัตร "มะโรง" ไปกราบสักการะ "พระธาตุเจดีย์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่" หรือ "พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช" โดยระบุองค์พระพุทธสิหิงค์เป็นการเฉพาะเจาะจง

พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดตรัง
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตรังมานานหลายร้อยปี 
แต่ได้สูญหายไปจากวัดหัวถนน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้คืน
มีกระแสข่าวว่า อยู่ในความครอบครองส่วนตัวของผู้มีอิทธิพล
ซึ่งต้องอาศัยผู้มีอำนาจ พยายามติดตามทวงคืน
เพื่อนำกลับมาให้ชาวเมืองตรังและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชา

พระสิหิงคะ หรือ พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม สมุทรสาคร
ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร
พระญาณโชดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2232
ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา

พระพุทธสิหังคปฏิมากร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ทรงนับถือพระพุทธสิหิงค์มาก เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่มีสิริลักษณะงดงามอย่างยิ่ง
โปรดให้หล่อตามแบบพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
แต่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นพระอารามประจำรัชกาล
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธสิหังคปฏิมากร

พระพุทธสิหิงค์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
โปรดให้จำลองหล่อให้มีขนาดใหญ่กว่าองค์ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ซุ้มพระวิหารทิศตะวันออก วัดพระปฐมเจดีย์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพระพุทธสิหิงค์จะสร้างโดยใคร และมาจากลังกาตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาหรือไม่ พระพุทธสิหิงค์ยังคงเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ผ่านเหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ของประเทศชาติ เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์และประชาชนชาวไทยให้ความเคารพศรัทธาสูงสุดในลำดับต้น ๆ มาโดยตลอด


อ้างอิง           -  ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
                     -  ตำนานพระพุทธสิหิงค์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
                     -  เรื่องพระพุทธสิหิงค์ กับวิจารณ์ของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์
                     -  พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ในประเทศไทย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์
                     -  ตำนานพระพุทธสิหิงค์ หลวงวิจิตรวาทการ            
                     -  พระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร
                     -  พระพุทธสิหิงค์ ท่านอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

1 ความคิดเห็น: