วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลวงพ่อทองคำ.. กฤดาภินิหารแห่งพระมหาธรรมราชา 'ภูมิพล'


พระสุโขทัยไตรมิตร หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า "หลวงพ่อทองคำ" มีนามพระราชทานว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย สร้างด้วยทองคำ เป็นทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา  น้ำหนักประมาณห้าตันครึ่ง ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

หลวงพ่อทองคำได้รับการบันทึกใน The Guinness Book of Records 1991 ว่าเป็นปูชนียวัตถุที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก คือมีมูลค่าสูงถึง 21.1 ล้านปอนด์ (มูลค่า ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2533 คำนวณตามราคาทองคำที่ 227 ปอนด์ต่อ fine ounce)


หลวงพ่อทองคำมีพุทธลักษณะงดงาม ประณีตอ่อนช้อย อิริยาบถประดุจเคลื่อนไหวได้ พระเกตุมาลาเป็นเปลวรัศมียาว เกลียวรัศมีเป็นรูปอุณาโลมชัดเจน พระขนง (คิ้ว) โก่งเป็นสัน พระโอษฐ์ (ปาก) เรียวงาม พระหนุ (คาง) เสี้ยม ตรงตามพระพุทธลักษณะสมัยสุโขทัยยุครุ่งเรือง พระอุระ (อก) ผึ่งผาย  พระอังสา (ไหล่) กว้างได้สัดส่วนกับองค์พระ พระกร (ปลายแขน) ทอดยาวดุจงวงไอยรา ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวไม่เสมอกัน พระกฤษฎี (เอว) คอดเล็กน้อย ประทับขัดสมาธิราบ ส่วนโค้งของพระเพลา (ตัก) มีความอ่อนช้อย ฝ่าพระบาท (ฝ่าเท้า) ราบเรียบ นิ้วพระบาทเสมอกันอันเป็นลักษณะของผู้ที่ปราศจากราคะกิเลส 

วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยโปรดให้ประชุมช่างหล่อขึ้น เมื่อสร้างเสร็จก็โปรดให้สร้างพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุขึ้นกลางกรุงสุโขทัย เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทอง ดังศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม"

อนุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
สร้างเมือ พ.ศ. 2510

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่  พระมหากษัตริย์ทรงฟื้นฟูบ้านเมืองและการพระศาสนา  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดในกรุงเทพมหานครมากมายหลายแห่ง  และอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณที่ถูกทิ้งร้างอยู่ตามหัวเมืองทางเหนือลงมาประดิษฐานตามวัดต่าง ๆ ในพระนครเป็นจำนวนมากนับพันองค์ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปโบราณไม่ให้สูญหาย  และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ถือปฏิบัติด้วย  ซึ่งพระสุโขทัยไตรมิตร ก็คงได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดพระยาไกรในครั้งที่พระยาไกรโกษาสร้างวัดนี้ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2367 - 2394)


พระยาไกรโกษาผู้สร้างวัดพระยาไกรนี้ สันนิษฐานว่าคือ เจ้าสัวบุญมา ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี  เมื่อสร้างวัดแล้วได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดโชตนาราม" แต่ผู้คนนิยมเรียกว่า "วัดพระยาไกร" เนื่องจากต่อมาท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรโกษา รับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนของพระเศียร พระสุโขทัยไตรมิตร
ขณะที่ยังเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ไม่ได้สกัดปูนออก

พระสุโขทัยไตรมิตรที่อัญเชิญมาในครั้งนั้น มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ดูจากภายนอกไม่มีผู้ใดทราบว่าภายในได้ซ่อนพระพุทธรูปทองคำเอาไว้  

สันนิษฐานว่า ชาวกรุงสุโขทัยอาจเป็นผู้พอกปูนอำพรางองค์พระนี้ไว้ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ขุนหลวงพ่องั่ว) ยกทัพขึ้นไปทำสงครามกับกรุงสุโขทัย ก่อนที่กรุงสุโขทัยจะตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ด้วยเกรงว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จะอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำลงมากรุงศรีอยุธยา  หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานนี้ พระสุโขทัยไตรมิตรอาจจะยังคงประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัยสืบมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ หลังจากที่ผนวกกรุงสุโขทัยไว้ในอำนาจได้แล้ว ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำลงมาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา แล้วต่อมา ชาวกรุงศรีอยุธยาได้พอกปูนอำพรางองค์พระไว้ในคราวที่กองทัพพม่ายกมาโจมตี ก่อนจะเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310

วัดพระยาไกร เมื่อครั้งเป็นที่ตั้งโรงเลื่อยจักรของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก

สำนักงานโรงเลื่อย ภายในพระวิหารวัดพระยาไกร

ท่าเรือขนส่งสินค้า บริเวณหน้าวัดพระยาไกร
เห็นหลังคาพระอุโบสถและพระวิหาร อยู่ด้านหลัง

ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  (ครองราชย์ พ.ศ. 2411 - 2453) วัดพระยาไกรกลายเป็นวัดร้าง  บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กของประเทศเดนมาร์ก ได้เช่าพื้นที่วัดจากทางราชการ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเลื่อยจักร 

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดไผ่เงินโชตนาราม
เดิมประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระยาไกร
พระมงคลสุธี (สี ยโสธโร) ได้เลือก "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" 
มาประดิษฐาน ณ วัดไผ่เงินโชตนาราม ด้วยเหตุผลว่า ไม่ชำรุด
ในขณะที่องค์พระสุโขทัยไตรมิตรที่มีปูนหุ้มทับอยู่นั้น
มีรอยร้าวจากไหล่ถึงเอวไปถึงฐานราก

ต่อมาภายหลัง สิ่งก่อสร้างของวัดชำรุดทรุดโทรมลงมาก สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ เจ้าคณะแขวงล่าง จึงบัญชาให้วัดไผ่เงินโชตนารามกับวัดไตรมิตรวิทยาราม (ขณะนั้นชื่อวัดสามจีนใต้) ซึ่งเป็นวัดในปกครองของท่าน ไปอัญเชิญพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของวัดพระยาไกรซึ่งเหลืออยู่ 2 องค์มารักษา วัดไผ่เงินโชตนารามได้อัญเชิญพระพุทธรูปในพระอุโบสถซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดไปก่อน วัดไตรมิตรวิทยารามจึงอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารไปเมื่อ พ.ศ. 2478

ภาพจำลองเหตุการณ์ การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป
จากวัดพระยาไกรมาวัดไตรมิตรวิทยาราม ใน พ.ศ. 2478

กระบวนอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เป็นไปด้วยความสะดวกเรียบร้อย บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กจัดรถบรรทุกใหญ่ให้หนึ่งคัน ช่วยอัญเชิญพระขึ้นแล่นไปตามถนน ผ่านสายไฟฟ้ารถรางหรือสายโทรศัพท์ ก็ช่วยกันเอาไม้ค้ำให้สูงพ้นพระเกตุมาลาเป็นครั้งคราว

วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีนใต้) ราวปี พ.ศ. 2489

วัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมมีชื่อว่าวัดสามจีนใต้ สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2374 มีตำนานเล่าว่าชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างขึ้น จีนสามคนนี้จะเป็นญาติกันหรือไม่ มิอาจทราบได้ แต่คงต้องเป็นมิตรรักใคร่กันสนิทสนม จึงร่วมใจกันสร้างวัดอันเป็นวิหารทานที่ยิ่งใหญ่นี้ได้

พระพุทธทศพลญาณ
พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง

มีพระพุทธลักษณะงดงามจนเป็นที่ร่ำลือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร เพื่อให้ประจักษ์แก่พระเนตร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
ก็ได้เสด็จมาชมพระประธานองค์นี้เสมอ ๆ เมื่อทรงว่างจากพระภารกิจ

กาลเวลาผ่านไป สภาพภายในวัดชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงเริ่มดำเนินการบูรณะปรับปรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เมื่อครั้งพระมหากิ๊ม สุวรรณชาติ เป็นผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาส ในระยะแรกพบอุปสรรคหลายประการ ต่อมา ใน พ.ศ. 2480 จึงได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมทั้งหมดแล้วสร้างขึ้นใหม่  สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ได้เมตตาคิดค้นนามที่เป็นมงคลมาเฉลิมเพิ่มความสง่าให้กับวัดสามจีนใต้ โดยเปลี่ยนเป็น "วัดไตรมิตรวิทยาราม" และกรมสามัญศึกษา ได้เปลี่ยนนามโรงเรียนมัธยมวัดสามจีนใต้ เป็น "โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย" ตามนามวัดที่ได้เปลี่ยนใหม่ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482

พระกรุ วัดสามจีน เนื้อชิน
หลวงพ่อโม อดีตเจ้าอาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม ได้เคยสร้างแจก
โดยทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถวัดไตรมิตร

พระกรุวัดสามจีน มีลักษณะคล้ายพระกรุวัดเสาธงทอง
ต่างกันที่พระกรุวัดเสาธงทอง เป็นพระเนื้อดินเผา
แต่พระกรุวัดสามจีน เป็นพระเนื้อชินและเนื้อสำริด

พระกรุ วัดเสาธงทอง เนื้อดินเผา

สภาพวัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อครั้งมีนามว่าวัดสามจีนใต้นั้น ในบริเวณวัดเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก กุฏิหลายหลังเอียงกระเท่เร่ หอระฆัง ศาลา หอสวดมนต์ หอฉัน หอไตร ปลูกสลับซับซ้อน สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังชำรุดทรุดโทรม เก่าคร่ำคร่า ยากที่จะซ่อมแซมแก้ไขให้ดีได้

ที่ของวัดมีผู้เช่าตัดตอนไปปลูกเป็นห้องแถวชั้นเดียวเตี้ย ๆ หลายแถวให้ผู้คนเช่าอาศัยอยู่ ห้องแถวเหล่านี้หลังคาและพื้นชำรุดทรุดโทรม มีน้ำโสโครกขังเฉอะแฉะ มีฝูงเป็ดและสุกรเที่ยวหาอาหารอยู่ระเกะระกะ มีอุจจาระและกลิ่นปัสสาวะตลบอบอวล ผู้เช่าที่มีอาชีพในการทำเส้นหมี่ ก็ตากเส้นหมี่ไว้หน้าห้องแถวเลอะเทอะ ที่มีอาชีพทำขนมก็ทิ้งเศษอาหารไว้เกลื่อน แมลงวันตอมเป็นหมู่ใหญ่  หญิงที่เช่าห้องรวมกันอยู่หลาย ๆ คน มีท่าทางอันน่าสงสัยว่าซ่อนเร้นการกระทำอันผิดศีลธรรม ฯลฯ

ภาพถ่าย ย่านวงเวียนโอเดียนในอดีต

เมื่อแรกอัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรมาอยู่ที่วัดสามจีนใต้หรือวัดไตรมิตรนั้น วัดยังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ยังไม่ได้เริ่มการบูรณะปรับปรุง โบสถ์และวิหารก็เก่าแก่ ไม่เหมาะกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่  จึงอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นมาประดิษฐานอยู่ข้างพระเจดีย์ โดยปลูกเพิงสังกะสีไว้พอกันแดดกันฝน

พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร)
อดีตเจ้าอาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เล่าว่า ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี 
เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้วัดท่าซุงได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้
ท่านเจ้าคุณมรณภาพ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2531
จากนั้นไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ระหว่างนี้ มีผู้มาขอพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้หลายราย รายหนึ่งมาเจรจาขอท่านไปเป็นพระประธานวัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่  พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวีรธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรในขณะนั้นเห็นว่า พระประธานในวัดไตรมิตรก็มีแล้ว หากให้ท่านไปเป็นพระประธานวัดอื่น จะเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ก็อนุญาตให้ไป แต่สุดท้าย มีเหตุติดขัด ไม่สามารถอัญเชิญไปได้

บางรายมาขอ แต่ขาดแคลนค่าพาหนะ บางรายวางแผนที่จะอัญเชิญท่านไปทางรถไฟ แต่เมื่อวัดขนาดความกว้างความสูงขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นปูนปั้น ก็พบว่าส่วนพระเกตุมาลาสูงกว่าสะพานรถไฟ อัญเชิญไปไม่ได้

รายสุดท้าย มีผู้มาติดต่อขอไปเป็นพระประธานวัดบ้านบึง (วัดบึงบวรสถิตย์) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี พระวีรธรรมมุนีก็อนุญาต แต่เมื่อตัวแทนของวัดบ้านบึงมาสำรวจดูองค์พระอีกครั้ง ก็ติว่าท่านไม่งาม ไม่สมที่จะเป็นพระประธาน จึงเปลี่ยนใจไม่รับไป

วิหารทรงไทยจตุรมุข
สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร
ระหว่างปี พ.ศ. 2498 - 2551

พระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ จึงต้องกรำแดดกรำฝนอยู่ในเพิงสังกะสี ข้างพระเจดีย์วัดไตรมิตร ต่อไปอีกเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2497 ทางวัดจึงเริ่มก่อสร้างพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่อัญเชิญมา เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นปูชนียวัตถุอันควรแก่การสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน พระวิหารที่สร้างขึ้นนี้มี 2 ชั้น ชั้นบนตรงกลางเป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป

การพอกปูนหุ้มองค์พระนั้น ช่างโบราณได้ลงรักไปบนผิวองค์พระทองคำ
ก่อนที่จะพอกปูนทับลงไป เพื่อให้ปูนยึดเกาะองค์พระได้ดีขึ้น
อีกทั้งรักจะช่วยป้องกันไม่ให้ความเค็มของปูนกัดกร่อนองค์พระ
เนื่องจากปูนสมัยโบราณทำจากหินปูนและเปลือกหอยทะเลนำมาเผา มีความเค็มสูง

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 พระวีรธรรมมุนี พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดไตรมิตรวิทยาราม ได้ทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ จากเพิงสังกะสีขึ้นประดิษฐานบนพระวิหารทรงไทยจตุรมุขที่สร้างขึ้นใหม่ ช่างได้ใช้เชือกโอบรอบองค์พระและสอดใต้ฐานทับเกษตร (ทับเกษตร หมายถึงส่วนบนของฐานที่รองรับพระพุทธรูปปางประทับนั่ง)  รวบเชือกเป็นสาแหรกขึ้นไปเบื้องพระเศียร ติดรอกและขอสำหรับกว้าน ดำเนินการตั้งแต่ฉันเพลแล้วจนกระทั่งพลบค่ำ ได้พยายามยกองค์พระพุทธรูปเพื่อขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารอยู่หลายหน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ด้วยองค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการเคลื่อนย้ายก็ยังไม่ทันสมัย สุดท้าย ยกได้สูงเพียงฝ่ามือ เชือกก็ขาดสะบั้นลง องค์พระกระแทกกับพื้นอย่างแรงเสียงดังสนั่น ขณะนั้นเป็นเวลามืดค่ำแล้ว อีกทั้งฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก มีฟ้าคะนอง พระวีรธรรมมุนีเห็นว่าไม่สะดวก จึงให้ยุติไว้แต่เพียงนั้น ทำได้แค่เพียงเคลื่อนย้ายองค์พระมาใกล้พระวิหารเท่านั้น


คืนวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ฝนตกตลอดทั้งคืน ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง ฝนเริ่มขาดเม็ด ท่านเจ้าคุณมีความเป็นห่วงเรื่องงานเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นที่คั่งค้างอยู่ จึงเดินฝ่าละอองฝนมาสำรวจหน้างานเพื่อหาทางอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานให้สะดวกเรียบร้อย  เมื่อมาถึงก็พบว่า ปูนตรงพระอุระแตกกะเทาะลงมา เห็นรักปิดทองอยู่ชั้นหนึ่ง จึงให้พระภิกษุสามเณรช่วยกันกะเทาะปูนที่ิหุ้มองค์พระนั้นออก จึงเห็นเป็นทองตลอดทั้งองค์


ในที่สุด พระพุทธรูปทองในศิลาจารึก ที่หายสาบสูญไปจากวัดมหาธาตุกลางกรุงสุโขทัย ด้วยถูกบดบังอยู่ใต้ปูนปั้นเป็นเวลานานหลายร้อยปี ผ่านราชธานีนับแต่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ปรากฏโฉมอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระมหาธรรมราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ! 

พระสุโขทัยไตรมิตร
เมื่อครั้งประดิษฐานบนวิหารทรงไทยจตุรมุข

เมื่อจะอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารและเพื่อให้น้ำหนักในการยกน้อยลง จึงได้คุ้ยเอาดินใต้ฐานทับเกษตรออก ก็พบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นตอน ๆ ได้ 9 แห่ง เพื่อสะดวกในการถอดอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐาน จึงได้ถอดออกเพียง 4 ส่วนคือ พระศอ พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง พระนาภี สำหรับอีก 5 ส่วนนั้นไม่ได้ถอดออก คงรักษาไว้ให้อนุชนทั้งหลายได้ชมฝีมือช่างสมัยโบราณ กุญแจกลเหล่านี้ ผู้หล่อดั้งเดิมได้ใส่ทองคำสำรองมาให้ครบถ้วน รวมทั้งมุกที่ใส่พระเนตรด้วย

วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2498 นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้มาชมพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อพิจารณาแล้วจึงระบุว่า เนื้อทองคำที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เป็น "ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา" ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง


คำเรียกเนื้อทองดังกล่าว เรียกตามมาตราทองคำของไทยสมัยโบราณ ที่กำหนดเรียกชนิดทองคำเป็นเนื้อต่าง ๆ เทียบกับมูลค่าของเงิน ซึ่งตั้งไว้ตั้งแต่ทองเนื้อสี่จนถึงทองเนื้อเก้า

"เนื้อ" หรือ "น้ำ" หมายถึงสารที่เป็นทองคำ จะบริสุทธิ์มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสิ่งเจือปน ทองเนื้อสี่ หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 4 บาท  ทองคำชนิดที่มีความบริสุทธิ์สูงสุด คือ ทองเนื้อเก้า หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 9 บาท 

ส่วน "ขา" หมายถึง เศษ 1 ส่วน 4 ของหนึ่งบาท หรือหนึ่งสลึง  ดังนั้น "ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา"  จึงหมายถึงทองคำชนิดที่หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 7 บาท 2 สลึง  แต่ค่าของเงินเมื่อเทียบกับทองย่อมผันแปรไปตามยุคสมัย  ต่อมาคำเรียกทองคำเนื้อต่าง ๆ นี้ จึงไม่ได้แสดงถึงราคาเมื่อเทียบกับเงิน เป็นแต่เพียงแสดงค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำเท่านั้น

ทั้งนี้ ทองคำบริสุทธิ์อย่างทองเนื้อเก้าจะมีความอ่อนตัวมาก ไม่สามารถหล่อเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ได้ โดยทั่วไปการหล่อพระพุทธรูปทองต้องใช้ทองเนื้อรองลงมา จึงจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอ ซึ่งทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขาที่ใช้สร้างพระสุโขทัยไตรมิตรก็จัดเป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์สูง จึงเปล่งประกายความสุกปลั่งออกมาอย่างงดงาม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดพระเกตุมาลา
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
เป็นประธานในพิธีสวมพระเกตุมาลา และสมโภชฉลองพระพุทธรูปทองคำ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499

เมื่ออัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารแล้ว วัดไตรมิตรวิทยารามได้จัดงานฉลองสมโภชในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ต่อมา พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามพระสุโขทัยไตรมิตรว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร"


พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำ ประดิษฐาน ณ วิหารทรงไทยจตุรมุขเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498  สภาพอาคารได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา กอปรกับมีนักท่องเที่ยวมาสักการบูชาและชื่นชมความงดงามยิ่งใหญ่ของพระพุทธรูปทองคำเป็นจำนวนมาก สถานที่ประดิษฐานจึงคับแคบ 

พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. 2549 อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 วัดไตรมิตรวิทยาราม ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้จัดสร้างพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

พระบูชา หนึ่งในวัตถุมงคล
ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธา
ร่วมสมทบทุนโครงการจัดสร้างพระมหามณฑป
ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธีถอดพระเกตุมาลาพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งถือเป็นมหามงคลอุดมปฐมฤกษ์แห่งการเคลื่อนย้ายองค์พระจากพระวิหารหลังเดิม สู่พระมหามณฑป ที่ประดิษฐานแห่งใหม่




วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 09:09 น. ได้จัดพิธีเคลื่อนย้ายองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร จากพระวิหารหลังเดิม สู่พระมหามณฑป ที่ประดิษฐานแห่งใหม่ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เป็นประธานในพิธี


วันที่ 24 ธันวาคม  พ.ศ. 2552 เวลา 14:09 น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธีสวมพระเกตุมาลาพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในพิธีสมโภชพระมหามณฑปฯ ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม

พิธีสมโภชพระมหามณฑป จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 รวม 9 วัน


วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ที่ประดิษฐาน ณ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ วัดไตรมิตรวิทยาราม  เป็นฉัตร 5 ชั้น มีความสูงจากกำพูถึงยอดฉัตร 3 เมตร 31 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางระบายฉัตร 2 เมตร 


เป็นฉัตรเหนือพระพุทธปฏิมากรที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554


อ้างอิง        -  พระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร
                  -  ประวัติและผลงานของพระวิสุทธาธิบดี
                  -  ประวัติพระพุทธรูปทอง โดย ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์
                  -  ส่วนนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น