วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระมงคลบพิตร.. พุทธปฏิมาที่ทรงพุทธานุภาพเป็นหลักกรุง


พระมงคลบพิตร
หรือ หลวงพ่อมงคลบพิตร นั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะผสมระหว่างอู่ทองและสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปอิฐ บุด้วยทองสำริด หน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูง 22.45 เมตร ประดิษฐานในวิหาร พระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองเจือสุโขทัยอย่างพระมงคลบพิตรนี้ นิยมสร้างกันอยู่ยุคหนึ่งในระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม หากสันนิษฐานตามลักษณะพระพุทธรูปแล้ว พระมงคลบพิตรก็น่าจะได้สร้างขึ้นในระหว่างนี้


พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เดิมนั้น พระมงคลบพิตรประดิษฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของพระราชวัง ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ตรงกับ พ.ศ. 2146 โปรดให้ชะลอพระมงคลบพิตรมาประดิษฐานทางด้านตะวันตกแทน ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานในปัจจุบัน พร้อมกับสร้างพระมณฑปครอบองค์พระไว้ในคราวเดียวกันด้วย

เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นกับพระมงคลบพิตร คือ เกิดอสุนีบาต (ฟ้าผ่า) ลงยอดพระมณฑป เป็นผลให้ไฟไหม้เครื่องบนพังลงมา ถูกพระเศียรพระมงคลบพิตรหักสะบั้น ตกลงบนพื้น ในคราวนั้น ได้โปรดฯ ให้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ มีมหรสพฉลองสมโภชสามวันและทรงถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในรัชสมัยพระเจ้าเสือ แต่พระราชพงศาวดารบางฉบับกล่าวแย้งว่าเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเชษฐาธิราช


เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 นั้น พม่าเข้าใจว่าพระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปทองคำ จึงใช้ไฟสุมองค์พระเพื่อลอกทองออก ทำให้องค์พระพุทธรูปตลอดจนพระวิหารได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องบนพระวิหารที่หักลงมา ต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาแตกหัก ตกลงมากลายเป็นซากปรักหักพังนับแต่นั้นมา จนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น

 


ในปี พ.ศ. 2463 พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ดำเนินการซ่อมพระเมาฬีและพระกรข้างขวาของพระมงคลบพิตรที่หักให้เต็มบริบูรณ์ด้วยปูนปั้น ส่วนพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ก็ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน
  

ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 คุณหญิงอมเรศศรีสมบัติ มีศรัทธาปฏิสังขรณ์ฐานพระมงคลบพิตรขึ้นใหม่ ครั้งนั้นจำเป็นต้องลบรอยปูนปั้นของเดิมออกจนหมด เพื่อทำเป็นผ้าทิพย์ลวดลายใหม่เป็นแผ่นตรงแทน

ส่วนซากพระวิหารของเก่านั้น กรมศิลปากรได้ซ่อมแต่งรักษาเพื่อไม่ให้ผุพังทำลายต่อไป และอยู่ในสภาพเช่นนี้เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2499


ครั้นถึง พ.ศ. 2499 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีบัญชาให้รื้อซากพระวิหารมงคลบพิตรของเก่าออก และสร้างขึ้นใหม่ให้เหมือนของเดิม ดังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะองค์พระมงคลบพิตรนั้น ได้ทาสีดำตลอดทั้งองค์


ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธรูปพระมงคลบพิตรจำลอง ได้ประทานพระดำริว่าควรปิดทององค์พระมงคลบพิตรทั้งองค์ จะทำให้องค์พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะที่งดงาม น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนอีกประการหนึ่งด้วย


ประกอบกับเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการพระมงคลบพิตร และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมงคลบพิตร ดังนั้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงร่วมกับมูลนิธิพระมงคลบพิตร ดำเนินการบูรณะปิดทององค์พระมงคลบพิตร เพื่อความสง่างามตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ ทั้งนี้โดยการจัดทำเป็นโครงการบูรณะปิดทององค์พระมงคลบพิตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ใน พ.ศ. 2535 อีกด้วย



พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธปฏิมาสำคัญคู่กรุงศรีอยุธยา น่าจะเป็นองค์เดียวกันกับ 'พระพุทธสยมภูวญาณโมฬี' ตามคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ หน้าตัก 16 ศอก หล่อด้วยทองเหลือง อยู่ในพระมหาวิหาร วัดสุมงคลบพิตร ซึ่งต่อมาเรียกชื่อวัดย่อลง เป็นวัดมงคลบพิตร พระมงคลบพิตรจัดเป็น 1 ใน 8 พระมหาพุทธปฏิมากรที่มีพระพุทธานุภาพเป็นหลักกรุง


กล่าวถึงพระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้างจำลองจากองค์หลวงพ่อมงคลบพิตรนั้น ได้มีการจัดสร้างขึ้นหลายครั้งหลายคราในโอกาสสำคัญต่าง ๆ


เหรียญพระมงคลบพิตร รุ่นแรก

เหรียญที่จัดว่าเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมพระเครื่อง ได้แก่เหรียญที่ระลึกในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร จัดสร้างโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ราวปี พ.ศ. 2460 - 2463 นับเป็นเหรียญพระมงคลบพิตรรุ่นแรก

เหรียญพระมงคลบพิตร พ.ศ. 2485 
มีหูร้อยสำหรับห้อยคอ 
ด้านหน้าเป็นภาพพระมงคลบพิตร ภายในซุ้มเรือนแก้ว
มีอักษรขอม จารึกหัวใจพุทธคุณทั้งเก้า คือ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ
ด้านล่างแท่นจารึกนาม พระมงคลบพิตร อยุธยา
ด้านหลังเป็นรูปยันต์พระเจ้า 16 พระองค์ ใต้ยันต์บอกวันเดือนปีที่สร้าง
มีสองอย่างคือ เหรียญทองแดงรมดำ และเหรียญเงิน

แหวนยันต์มงคล พ.ศ. 2485
กลางเป็นรูปยันต์สี่เหลี่ยม
ภายในมีอักษร ม. ภายใต้อุณาโลม 2 ข้าง
ยันต์มีลายกนกประกอบ
มีสามอย่างคือ แหวนทองแดงรมดำ แหวนเงิน แหวนเงินกาไหล่ทองลงยา

ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการจัดสร้างเหรียญพระมงคลบพิตรและแหวนยันต์มงคล  เหรียญที่จัดสร้างขึ้นเป็นเหรียญปั๊ม 5 เหลี่ยม มีหูในตัว มีทั้งเนื้อทองแดง เนื้อเงิน และเนื้อทองแดงพระเกศเป็นทองคำ ซึ่งเป็นพระคะแนน พิธีกรรมยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าการจัดสร้างพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ  เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เช่าบูชา ดังนี้

-  บริจาค 1 บาท ได้รับเหรียญพระมงคลบพิตร เนื้อทองแดง หรือแหวนยันต์มงคล อย่างใดอย่างหนึ่ง
-  บริจาค 2 บาท ได้รับแหวนยันต์มงคลเนื้อเงินขัดเงา 1 วง
-  บริจาค 3 บาท ได้รับเหรียญพระมงคลบพิตร เนื้อเงิน 1 เหรียญ
-  บริจาค 4 บาท ได้รับแหวนยันต์มงคลเนื้อเงินกะไหล่ทอง 1 วง
-  บริจาค 100 บาท ได้รับเหรียญพระมงคลบพิตรเนื้อทองแดง หรือแหวนยันต์มงคลเนื้อทองแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง 110 ชิ้น และแถมพระมงคลบพิตรเนื้อทองแดง พระเกศทองคำ (เหรียญคะแนน)

เหรียญพระมงคลบพิตร
รุ่นกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
ที่ระลึก ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี
รูปแบบคล้ายคลึงกับเหรียญที่ระลึก ปี พ.ศ. 2485

พิธีการสร้างเหรียญพระมงคลบพิตรและแหวนยันต์มงคล ปี พ.ศ. 2485 แบ่งเป็น 2 วาระ วาระแรกคือพิธีกรรมหลอมทอง กระทำ ณ วิหารพระมงคลบพิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485  พระญาณไตรโลกาจารย์ (ฉาย) วัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานจุดเทียนชัย ไฟที่ใช้จุดเทียนชัยนี้ ไม่ใช่ไฟธรรมดา แต่ใช้ล่อจากแสงอาทิตย์ ซึ่งนับว่าเป็นไฟฟ้าอย่างแท้จริง

พระญาณไตรโลกาจารย์ (ฉาย คงฺคสุวณฺโณ)
วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา

ในระหว่างพิธี ได้นำแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างเหรียญพระมงคลบพิตรและแหวนยันต์มงคลไปถวายพระเถราจารย์ ลงเลขยันต์ปลุกเสก และยังได้อาราธนาประชุมปลุกเสกพร้อมกัน ทั้งแม่พิมพ์และโลหะทั้งหมดที่จะนำไปหลอม ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระมงคลบพิตรอีกครั้งหนึ่ง

โลหะที่นำไปหลอมจัดสร้างวัตถุมงคลในครั้งนั้น ประกอบด้วยแผ่นทองจากพระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมในจังหวัดต่าง ๆ ลงอักขระปลุกเสกและส่งมาร่วมในพิธี จำนวน 121 รูป โลหะเครื่องรางโบราณที่พบในบริเวณพระราชวังโบราณ คราวปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกมากชนิด เช่น ชินสังขวานรบนวิหารพระมงคลบพิตร ชินสังขวานรจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ชินสังขวานรจากวัดป่าพาย ทองคำจากองค์พระมงคลบพิตร เนื้อสำริดกะเทาะจากองค์พระมงคลบพิตร พระชินขุนแผนจากวัดป่าพาย วัดสะพานเงินสะพานทอง พระชินกำแพงพันจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ พระปรุหนังวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระชินวัดขุนหลวงต่างใจ พระปิดทวารในเจดีย์พระราชวังโบราณ ลูกอมทองแดง วัดพระราม แผ่นทองกะเทาะจากองค์พระธาตุเชียงใหม่ ฯลฯ

ชินสังขวานร หรือตะปูสังขวานร
เป็นดีบุกผสมสังกะสี ตะกั่ว ปรอท ฯลฯ
บิดงอได้ ต่างจากชินธรรมดาซึ่งเปราะหักง่าย
ใช้ประโยชน์เป็นตัวยึดโครงสร้างไม้ เนื่องจากในสมัยโบราณ ไม่มีตะปูหรือน็อต
จึงใช้ชินหรือตะปูสังขวานร ตอกยึดเจดีย์ เสนาสนะ และถาวรวัตถุภายในวัด
มีความเชื่อว่า ชินสังขวานรมีอานุภาพป้องกันคุณไสย สิ่งอัปมงคลต่าง ๆ
มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเนื่องจากฝังตรึงอยู่กับถาวรวัตถุภายในวัด 
ผ่านศาสนพิธีต่าง ๆ ของวัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เกจิอาจารย์นิยมนำมาหลอมสร้างพระเนื้อชิน มีดหมอ และเครื่องรางของขลัง

นอกจากนี้ ยังมีทองชนวนจากพิธีสำคัญของพระอารามต่าง ๆ เช่น ทองชนวนพิธี วัดอนงคาราม  ทองชนวนพิธี วัดหิรัญรูจี  ทองชนวนรุ่นพระอาจารย์ 108 ของพิธีวัดราชบพิธ พ.ศ. 2481  ทองชนวนนวโลหะ พิธีหล่อพระชัยของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทองชนวนพระกริ่งวัฒนะ วัดกัลยาณมิตร  ทองชนวนพระกริ่ง วัดชนะสงคราม ทองชนวนพระกริ่ง วัดสุทัศน์ ทองชนวนนวโลหะจากพิธีสำคัญต่าง ๆ ฯลฯ

พระครูสิทธิสารคุณ (จาด คงฺคสโร)
วัดบางกระเบา ปราจีนบุรี
1 ใน 4 พระอริยเถระ 'จาด-จง-คง-อี๋' 
ตำนานกล่าวขานในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา

ในวันรุ่งขึ้น 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ครั้นได้ปฐมฤกษ์ เวลา 10:21 น. หลวงปู่จาด วัดบางกระเบา เป็นประธานหย่อนแผ่นเงินจารึกดวงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน กับดวงฤกษ์ลงเบ้า เพื่อหลอมรวมกับทองชนวนและโลหะมงคลต่าง ๆ ซึ่งสุมรวมอยู่ในเบ้าอยู่ก่อนแล้ว ต่อมา ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใส่ทองคำหนัก 1 บาท (ทองคำนี้ได้อาราธนาพระเถราจารย์ลงอักขระปลุกเสกโดยเฉพาะทุกรูป) ลงเบ้าจนละลายเข้ากันดี แล้วหลวงปู่จาด จึงเริ่มเททอง โหรลั่นฆ้องชัย พิณพาทย์บรรเลง พระเถราจารย์ทั้งหลายเจริญชัยมงคลคาถา เมื่อดับเทียนชัยแล้ว พระเถราจารย์ทั้งหมดได้มาบริกรรมปลุกเสกทองที่หลอมเสร็จกับแม่พิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธีหลอมทอง

เหรียญพระมงคลบพิตรและแหวนยันต์มงคลทุกชิ้นที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อทองแดงหรือเนื้อเงิน ล้วนได้เจือทองในพิธีผสมทั่วกันหมด

พระอุโบสถ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

หลังจากจัดสร้างเสร็จเป็นองค์พระเครื่องแล้ว ได้จัดให้มีพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง ในวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 (วันเสาร์ห้า) ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2485 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร


พระคณาจารย์ 121 รูป ที่เมตตาลงอักขระปลุกเสกแผ่นทอง ส่งมาร่วมพิธี ล้วนเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคมแห่งยุค  อาทิ

สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (สมเด็จพระสังฆราช ชื่น) วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส
พระญาณไตรโลกาจารย์ (ฉาย) วัดพนัญเชิง
หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ กาญจนบุรี
หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก
หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า อรัญญิกาวาส ชลบุรี
หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง ราชบุรี
หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง
หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา
หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว สมุทรปราการ
หลวงปู่จาด วัดบางกระเบา ปราจีนบุรี
พระครูอาคมสุนทร (มา) วัดราชบูรณะ กรุงเทพฯ
พระครูพิทักษ์ธรรมโสภิต วัดแหลมฟ้าผ่า สมุทรปราการ
หลวงปู่บ่าย วัดช่องลม สมุทรสงคราม
หลวงปู่เส่ง วัดกัลยาณมิตร
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร
หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติ พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ พระนครศรีอยุธยา
พระอธิการจันทร์ วัดคลองระนง นครสวรรค์
หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู ลพบุรี
หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม
หลวงพ่อปลื้ม วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท
หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง นครปฐม
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อเล็ก วัดบางนมโค พระนครศรีอยุธยา
พระอาจารย์แฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี
ฯ ล ฯ

นอกจากส่งแผ่นทองเข้าร่วมพิธีแล้ว พระเถระหลายท่านยังได้เมตตารับนิมนต์ร่วมทำพิธีหลอมทอง ณ วัดมงคลบพิตร และพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิธอีกด้วย กล่าวได้ว่า เหรียญพระมงคลบพิตร พ.ศ. 2485 เป็นหนึ่งในสุดยอดเหรียญที่เต็มเปี่ยมด้วยพุทธคุณ มีขั้นตอนการสร้างอันพิถีพิถันและงดงามยิ่ง

อ้างอิง          ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร
                    พระเครื่องมงคลบพิตร - 'เมฆพัด'
                    พระพุทธปฏิมามงคลบพิตร - อาจารย์สรพล โศภิตกุล

ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

9 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับความรู้

    ตอบลบ
  2. ดีครับกราบขอขอบพระคุณเป็นอย่างมากที่ให้ความรู้ครับ

    ตอบลบ
  3. ดีครับกราบขอขอบพระคุณเป็นอย่างมากที่ให้ความรู้ครับ

    ตอบลบ
  4. ยังพอมีหาเช่าบูชามั้ยครับ

    ตอบลบ
  5. พระอุโบสถขณะนี้มีการปิดทางเข้าด้านหน้า จะเข้าไปสักการะพระพุทธรูปค่อนข้างจะลำบาก ไม่เหมือนสมัยผมเป็นเด็กเดินเข้าด้านหน้า เดี๋ยวนี้ไปจอดรถด้านหลังโบสถ์ ส่วนท่านใดประสงค์อยากได้เหรียญปี 2460 ไว้บูชา ผมมี 3 เหรียญ (แท้ ๆ)สภาพใช้แล้ว มีเงินและทองแดง โทร.093 279 8492 ราคาคุยกันครับ

    ตอบลบ
  6. อยากให้ด้านหน้าอุโบสถมีทางเดินเข้าเหมือนเดิม (ลืมบอกไปผมเป็นคน หัวรอ อยุธยา ตอนนี้อายุเกือบ 70 ปี) เวลามีงานเทศกาลสงกรานต์ ฯ ผู้คนจะมารวมที่นี่ซึ่งเรียกว่า "วังโบราณ" จะมาสรงน้ำพระและเล่นสาดน้ำกัน

    ตอบลบ
  7. คำตอบ
    1. มีแหวนยันต์ล.พมงคลบพิตรย้างมั๊ยครัย

      ลบ