ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 38 พรรษาเสมอสมเด็จพระราชบิดา ได้เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร และในวโรกาสเดียวกัน ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญอีก 3 ประการต่อเนื่องกันไป คือ พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร มีพระปรมาภิไธย ภปร ประดับผ้าทิพย์ พระราชพิธีฉลองสมโภชพระเจดีย์ที่ทำการบูรณะใหม่แล้วเสร็จ และทรงพระสุหร่ายทรงเจิมแผ่นศิลาปฐมฤกษ์ที่จะผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป เมื่อประมวลพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในครั้งนี้ 4 อย่าง ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จึงเรียกมหามงคลสมัยครั้งนี้ว่า จตุรงคมงคล
กล่าวถึงพระพุทธรูปปางประทานพร ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระประมาภิไธย ภปร ประดับผ้าทิพย์ ซึ่งวัดบวรนิเวศวิหารจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2508 นี้ นับเป็นการสร้างครั้งที่สอง ครั้งแรกสร้างในปี พ.ศ. 2506 โดยวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี
สมเด็จพระญาณสังวรฯ เมื่อทรงเป็นสามเณร |
วัดเทวสังฆาราม หรือเรียกกันมาแต่เดิมว่า วัดเหนือ เป็นวัดที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2469 และทรงอุปสมบทในปี พ.ศ. 2476
พระเทพมงคลรังษี (หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ หรือ หลวงพ่อวัดเหนือ) |
พระเทพมงคลรังษี (หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระมงคลรังษีวิสุทธิ์" เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร และขออัญเชิญพระปรมาภิไธย ภปร ประดับเหนือผ้าทิพย์ที่ฐานของพระพุทธรูปด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกและเพื่อให้ประชาชนได้มีไว้สักการะบูชา
พระพุทธรูปปางประทานพร โรงพยาบาลศิริราชจัดสร้าง ปี พ.ศ. 2505 |
พระพุทธรูปที่ใช้เป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ของวัดเทวสังฆาราม คือ พระพุทธรูปปางประทานพร ที่โรงพยาบาลศิริราชได้จัดสร้างขึ้นในคราวฉลองโรงพยาบาลมีอายุครบ 72 ปี ออกแบบโดยพระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เททองหล่อ ณ สนามโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2505
การจัดสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ของวัดเทวสังฆาราม สร้างตามแบบพระพุทธรูปปางประทานพรของโรงพยาบาลศิริราช แต่ได้แก้ไขแบบเล็กน้อย คือ แก้พระหัตถ์ขวาที่พาดลงให้นิ้วพระหัตถ์กระดิกมากขึ้น และเพิ่มผ้าทิพย์ประดับพระปรมาภิไธย ภปร โดยพระบรมราชานุญาตเป็นครั้งแรก
ครั้นวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น ณ พระอุโบสถ วัดเทวสังฆาราม เสร็จแล้ว เวลา 17:15 น. เสด็จฯ เข้าในพิธีมณฑล บริเวณลานหน้าพระอุโบสถหลังเก่า ทรงบรรจุทองคำ นาก เงิน ลงในเบ้าหล่อพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ที่วัดเทวสังฆารามสร้างขึ้นในครั้งนั้น เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนเป็นอย่างมาก กาลต่อมา สมเด็จพระราชชนนี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้นของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงนำพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ไปพระราชทานแก่หน่วยทหารตำรวจ หน่วยราชการในภาคต่าง ๆ และถวาย ณ ปูชนียสถานสำคัญหลายแห่ง เป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วไป จึงทรงพระราชทานพระราชดำริว่า น่าจะได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ขึ้นอีกที่วัดบวรนิเวศวิหาร
กรรมการสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ที่มาร่วมในการพระราชพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร |
เมื่อวัดบวรนิเวศวิหารได้รับพระราชทานพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร นับเป็นการจัดสร้างขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตเป็นครั้งที่สอง มี ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการ พระพุทธรูปที่จัดสร้างขึ้นมีสามขนาดคือ ขนาดหน้าตัก 9 นิ้วรมดำ ขนาดหน้าตัก 5 นิ้วรมดำ และพระกริ่งสัมฤทธิ์ ภปร ให้ประชาชนบูชา องค์ละ 1,600 บาท 500 บาท และ 50 บาทตามลำดับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นขึ้นใหม่ และได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยส่วนพระพุทธลักษณะทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่า ได้พระราชทานแบบพระพุทธรูปแห่งรัชกาลปัจจุบัน เป็นแบบพุทธศิลป์แห่งสมัยรัตนโกสินทร์โดยแท้ ทั้งได้พระราชทานภาษิตสำหรับจารึกที่ฐานเป็นสัญญลักษณ์ของชาติด้วยว่า
"ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ"
แปลความว่า
"คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี"
ส่วนฐานด้านหลังมีจารึกว่า "เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘"
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร วัดเทวสังฆาราม สร้างเสริม/ย้อนยุค |
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างเสริม/ย้อนยุค |
ปัจจุบัน พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร รุ่นแรก ราคาไปไกลมากแล้ว กาลต่อมา ได้มีการจัดสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรเพิ่มเติมตามพุทธศิลป์เดิมเป็นระยะ ๆ ทั้งที่วัดเทวสังฆารามและวัดบวรนิเวศวิหาร เรียกขานกันว่า รุ่นสร้างเสริม หรือรุ่นย้อนยุค
อ้างอิง ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
ขอขอบคุณ ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น