วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระพุทธนาราวันตบพิตร อนุสรณ์ในหลวงทรงผนวช


พระพุทธนาราวันตบพิตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร ประดิษฐานบนฐานรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่งประดับอยู่เหนือฐานสิงห์ทรงกลม ฐานส่วนล่างสุดเป็นฐานบัทม์แปดเหลี่ยม จารึกประวัติการสร้างไว้ที่ท้องไม้ เนื้อพระพุทธรูปและฐานทั้งสามชั้นทำด้วยโลหะผสมทอง สูงจากพระรัศมีถึงพระบาท 15.5 นิ้ว ฐานกลีบบัวและฐานสิงห์สูงรวม 4 นิ้ว ฐานบัทม์สูง 3.5 นิ้ว

พระพุทธรูปองค์นี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระราชพิธีทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่ไม่มีใครเรียกว่า "พระพุทธรูปทรงผนวช" ต่างจากเหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีจาตุรงคมงคล จัดสร้างโดยวัดบวรนิเวศเมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีทรงผนวชเลยแม้แต่น้อย แต่ผู้คนทั่วไปกลับเข้าใจว่าสร้างเป็นที่ระลึกในคราวทรงพระผนวชและนิยมเรียกขานกันว่า "เหรียญทรงผนวช"

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เมื่อทรงลาผนวชแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระพุทธนาราวันตบพิตร" พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร เพื่อเป็นอนุสรณ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้จารึกที่ส่วนท้องไม้ของฐานชั้นล่างว่า

"พระพุทธนาราวันตบพิตร ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๒๔๙๙ พรรษา วันที่ ๒๒ ตุลาคมมาส พระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนา ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จมาประทับบำเพ็ญสมณปฏิบัติ ณ พระปั้นหยาวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงสถาปนาพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ขึ้นไว้ในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนาราวันตบพิตร เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระปั้นหยาเป็นพระราชกุศลสืบไป"

พระพุทธนาราวันตบพิตร

พระพุทธนาราวันตบพิตรประดิษฐานอยู่ที่พระตำหนักปั้นหย่า จนถึง พ.ศ.2507 ได้หายไป ทางวัดฯ ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  แต่ต่อมาด้วยเดชะพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธนาราวันตบพิตรได้กลับมาสู่วัดบวรนิเวศวิหารดังปาฏิหาริย์ กล่าวคือ ในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนำห่อของสองห่อมาฝากพระภิกษุในวัด ขอให้ถวายเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสแก้ห่อออกมา ปรากฏว่าเป็นพระพุทธนาราวันตบพิตรและฐานที่หายไป จึงเป็นที่ยินดีและเป็นที่ประหลาดใจของวัดและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั่วกัน ฉะนั้น ทางวัดจึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตฉลองพระพุทธนาราวันตบพิตร ในคราวเดียวกับการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร
(ขวา) พระสมุทรนินนาท

พระราชประเพณีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่ได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนานั้น เริ่มมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร ประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2409 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อ "พระสมุทรนินนาท" พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูง 19.7 นิ้ว ด้วยทองสำริดขัดเกลี้ยง อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระปั้นหย่า อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระสมุทรนินนาทไปกะไหล่ทองแล้วอัญเชิญกลับมาประดิษฐานตามเดิม ต่อมาอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ ภปร ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงปัจจุบัน

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
(ขวา) พระมหานาคชินะ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2447 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระมหานาคชินะ" ประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์

พระมหานาคชินะ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก เนื้อโลหะ หน้าตักกว้าง 5 นิ้ว สามารถแยกชิ้นส่วนออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนองค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนฐานกลีบบัว ส่วนนาคปรก และส่วนฐานเป็นฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม จารึกประวัติการสร้าง

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
(ขวา) พระพุทธธรรมาธิปกบพิตร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2460 

ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้าง "พระพุทธธรรมาธิปกบพิตร" พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เนื้อโลหะ สูง 20 นิ้ว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ทรงผนวช


ปี พ.ศ. 2542 ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระพุทธนาราวันตบพิตร ให้พสกนิกรได้สักการะบูชา เพื่อนำรายได้สมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

พระพุทธนาราวันตบพิตรที่จัดสร้างขึ้นนี้ เป็นพระเนื้อผง ขนาดสูง 3.2 เซนติเมตร เนื้อพระประกอบด้วยมวลสารจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ในประเทศเนปาลและอินเดีย และจากวัดสำคัญและเก่าแก่หลายแห่งในประเทศศรีลังกา จีน และญี่ปุ่น รวมทั้งมวลสารจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และวัดสำคัญ ๆ ทั่วประเทศ  ผงพุทธคุณจากพระคณาจารย์ที่เคารพบูชาทั่วพระราชอาณาจักร  ที่สำคัญยิ่งคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ พระราชทานเส้นพระเจ้า (เส้นผม) พระจีวร และมวลสารส่วนพระองค์ (ผงจิตรลดา) โดยพระราชทานผ่านสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อัญเชิญมาผสมอยู่ในเนื้อพระพุทธนาราวันตบพิตรนี้ด้วย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสก


อ้างอิง        พระพุทธรูปสำคัญ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ขอขอบคุณ   เจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น