วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

'25 พุทธศตวรรษ' บรรจุกรุที่วัดบวรนิเวศวิหาร


ภายในองค์พระเจดีย์ทอง วัดบวรนิเวศวิหาร นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังมีพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ บรรจุอยู่ภายในองค์พระเจดีย์ด้วย


พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นที่ระลึกงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษและเพื่อจัดหารายได้นำไปเป็นทุนทรัพย์ในการสร้างพุทธมณฑล  พระเครื่องที่จัดสร้างขึ้น ประกอบด้วย

1.  พระเนื้อชิน สร้างจำนวน 2,421,250 องค์  (ให้เช่าบูชาองค์ละ 10 บาท)

2.  พระเนื้อผง (ดินเผา) สร้างจำนวน 2,421,250 องค์  (ให้เช่าบูชา องค์ละ 10 บาท)

3.  พระเนื้อทองคำหนักหกสลึง ลักษณะเดียวกับพระเนื้อชิน สร้างจำนวน 2,500 องค์ (ให้เช่าบูชา องค์ละ 2,500 บาท โดยต้องสั่งจองและชำระเงินล่วงหน้า)

4.  พระสมนาคุณ สร้างตามแบบพระเนื้อชิน สำหรับมอบเป็นของสมนาคุณให้กับผู้บริจาคเงินสร้างพุทธมณฑลตามมติคณะกรรมการหาทุนและรับสิ่งของสมทบทุนสร้างพุทธมณฑล อันมีพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการดำเนินงานอยู่ในขณะนั้น 

พระสมนาคุณที่สร้างขึ้นนี้ เป็นพระเนื้อทองคำหนักหนึ่งบาท จำนวน 15 องค์ (สมนาคุณสำหรับผู้บริจาคเงินสร้างพุทธมณฑล จำนวน 10,000 บาท) พระเนื้อนากหนักหนึ่งบาท จำนวน 30 องค์ (สมนาคุณสำหรับผู้บริจาคเงินสร้างพุทธมณฑล จำนวน 5,000 บาท) และพระเนื้อเงินหนักหนึ่งบาท จำนวน 300 องค์ (สมนาคุณสำหรับผู้บริจาคเงินสร้างพุทธมณฑล จำนวน 1,000 บาท)

5.   พระพุทธรูปบูชา ปางพุทธลีลา ลักษณะเดียวกับพระประธานพุทธมณฑล เนื้อทองคำ ขนาดความสูง 9 เซนติเมตร จำนวน 4 องค์ น้ำหนักทองคำรวม 55 บาท

พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ เนื้อชิน

มวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างพระเนื้อชิน ประกอบด้วย พลวง ดีบุก ตะกั่วดำ ผสมด้วยทองสัมฤทธิ์นวโลหะ ตามตำราสัมฤทธิ์ประสิทธิคุณ คือ ชินหนึ่งบาท จ้าว (ธาตุชนิดหนึ่งที่เรียกมาได้ด้วยวิทยามนต์) สองบาท เหล็กสามบาท บริสุทธิ์ (ธาตุชนิดหนึ่งเรียกมาได้ด้วยวิทยามนต์เช่นเดียวกับจ้าว) สี่บาท ปรอทห้าบาท สังกะสีหกบาท ทองแดงเจ็ดบาท เงินแปดบาท ทองคำเก้าบาท ทั้งยังได้รวมเอาแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นตะกั่ว ที่พระเถระผู้ทรงวิทยาคมเกือบทั่วพระราชอาณาจักร ได้เมตตาลงอักขระเลขยันต์และอาคมขลังส่งมาร่วมในพิธีหล่อพระ ยิ่งกว่านั้น ยังได้นำเศษชนวนหล่อพระในพิธีอื่น ๆ มาผสมรวมลงในการหล่อคราวนี้ด้วย

พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ เนื้อผง (ดินเผา)

สำหรับพระเนื้อผง (ดินเผา) นั้น มวลสารประกอบด้วยดินหน้าพระอุโบสถพระอารามต่าง ๆ ทั่วทั้ง 71 จังหวัด รวมคลุกเคล้ากับเกสรดอกไม้ 108 ชนิด ผงพุทธาคมต่าง ๆ ที่บรรดาพระเถระผู้ทรงวิทยาคมได้มอบให้ ผงของพระผงแบบต่าง ๆ อันเป็นของโบราณ และของที่บรรดาพระอาจารย์ต่าง ๆ ได้สร้างไว้แต่โบราณกาลอันได้อุทิศมาให้ผสมรวมเป็นผงในครั้งนี้ด้วยมากมายหลายแห่ง


พิธีพุทธาภิเษกจัดขึ้นที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 รวม 3 วัน 3 คืน มีสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 25 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และพระคณาจารย์ 108 รูปจากทั่วประเทศร่วมพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกและหลอมผสมมวลสารเพื่อใช้ในการจัดสร้างพระเครื่อง

 พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ เนื้อทองคำ

พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ เนื้อนาก

พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ เนื้อเงิน

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เททองหล่อพระพุทธรูปทองคำจำนวน 4 องค์ และทรงพิมพ์พระเครื่องชนิดผง (ดินเผา) จำนวน 30 องค์เป็นปฐมฤกษ์  จากนั้น การจัดสร้างพระเครื่องทั้งหมด ทั้งพระเนื้อชิน เนื้อผง (ดินเผา) เนื้อทองคำ และพระเครื่องเนื้อทองคำ นาก เงิน สำหรับสมนาคุณ ได้กระทำกันภายในบริเวณปริมณฑลพิธีในเขตพระอารามวัดสุทัศน์เทพวรารามจนเสร็จ จึงได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้ง  สำหรับพระพุทธรูปบูชาทองคำปางพุทธลีลา ได้มอบหมายให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดสร้างและนำเข้าพิธีในคราวเดียวกัน


การจัดสร้างพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษนี้ กล่าวได้ว่าเป็นพิธีใหญ่ที่ยากจะหาพิธีจัดสร้างครั้งอื่นใดเสมอเหมือนได้อีก ทั้งมวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างพระเครื่องและพระคณาจารย์ที่ร่วมในพิธีซึ่งล้วนเป็นพระอริยเถระแห่งยุค อาทิ หลวงปู่เส่ง วัดกัลยาณมิตร  หลวงปู่กลีบ วัดตลิ่งชัน  หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี  หลวงปู่แฉ่ง วัดบางพัง  หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม  หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม  หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ ปทุมธานี  พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์  ท่านพ่อลี วัดอโศการาม  หลวงปู่หน่าย วัดบ้านแจ้ง  หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ  หลวงปู่ถิร วัดป่าเลไลก์  หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง  หลวงปู่จันทร์ วัดคลองระนง หลวงพ่อเล็ก วัดบางนมโค  หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก  ฯลฯ

ระหว่างพิธีพุทธาภิเษกมวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ณ วัดสุทัศน์เทพวรารามได้บังเกิดความอัศจรรย์อันเป็นศุภนิมิตคือ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เวลา 17:00 น. เศษ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ได้นำแผ่นโลหะของพระคณาจารย์ต่าง ๆ มีแผ่นเงิน ทองแดง ตะกั่ว ทองเหลือง สังกะสี ตลอดจนที่ม้วนเป็นตะกรุดพิศมร และเศษชนวนหล่อพระในพิธีต่าง ๆ  ใส่เบ้าขนาด 100 กิโลกรัม สุมด้วยกำลังไฟฟ้า เพื่อหลอมเป็นเนื้อสร้างพระเครื่อง  ช่างได้สุมทองอยู่เป็นเวลาสามชั่วโมงเศษ ปรากฏว่าโลหะที่ใส่ลงในเบ้านั้น มีตะกรุดเงินกับแผ่นเงินลงยันต์อย่างละ 2-3 ชิ้นที่ไม่หลอมละลาย จึงได้นำเก็บไว้ ยังความปิติแก่บรรดาพระคณาจารย์และผู้ที่ได้พบเห็น

พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

ครั้นต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เวลาเกือบเที่ยงวัน ขณะที่พระคณาจารย์กำลังกระทำภัตกิจอยู่ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก คืนนั้นอากาศหนาวเย็น  บรรดาพระคณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีตลอดจนประชาชนที่ไปร่วมงานต่างพากันรู้สึกว่าพิธีการสร้างพระเครื่องครั้งนี้ บังเกิดศุภนิมิตมงคลอันดียิ่ง


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ครั้งยังทรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงประกอบพิธีบรรจุพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ณ พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2503

พิธีเริ่มขึ้นด้วยการบวงสรวงเทวดาและพิธีพราหมณ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และเจิมแป้งที่พระเครื่องแล้ว ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และเจิมแป้งที่องค์พระเจดีย์ที่เตรียมไว้สำหรับทำการรบรรจุ


ครั้นถึงเวลา 17:00 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ นมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์แล้ว เสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถเข้าไปภายในองค์พระเจดีย์ สักการะพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้น ทรงพระสุหร่ายสรงพระเครื่อง แล้วทรงบรรจุลงในฐานที่เตรียมไว้  หลังเสร็จพิธี ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนนำพระเครื่องเข้าบรรจุโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย จึงปิดที่บรรจุ

จำนวนพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษที่บรรจุอยู่ภายในองค์พระเจดีย์มีประมาณสี่หมื่นกว่าองค์ ประกอบด้วย

1.  คณะกรรมการจำหน่ายพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ทูลเกล้าฯ ถวายร่วมพระราชกุศล จำนวน 122 องค์ เป็นพระเนื้อชิน 61องค์ และพระเนื้อผง (ดินเผา) 61 องค์
2.  ส่วนพระองค์สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ 100 องค์
3.  ทรงบรรจุถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 100 องค์
4.  ทรงบรรจุถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 100 องค์
5.  ประชาชนร่วมบรรจุโดยเสด็จพระราชกุศลอีกประมาณ 40,000 องค์


ศิลาจารึกในที่บรรจุ

สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.
ในรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมมหาจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ฯ
ได้ทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระกุศล
บรรจุพระเครื่องฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
ร่วมกับข้าราชบริพาร ซึ่งโปรดให้โดยเสด็จพระกุศล
ณ พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดพระนคร
ในวันอาทิตย์ที่ ๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓
ตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายปีชวด รัตนโกสินทร์ศก ๑๗๙
นับเป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
เป็นสักขีพยานแก่มวลชนและคนรุ่นต่อ ๆ ไปว่า
พระบวรพุทธศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้เจริญรุ่งเรืองและได้รับการเคารพสักการะบูชาอย่างสูงสุดมาแล้ว
ในขอบขัณฑสีมาราชอาณาจักรไทยนี้


อ้างอิง          ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น