วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

เล่าเรื่อง 'พระพุทธชินราช' สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสองแคว


พระคาถาบูชาพระพุทธชินราช

อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อะภิปูชิเตหิ
ทีฆายุโก โหมิ อะโรโค สุขิโต
สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ
ปะสิทธิลาโภ ชะโย โหตุ สัพพะทา
พุทธะชินะราชา อะภิปาเลตุ มัง นะโมพุทธายะ

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสำริดโบราณ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับพระพุทธชินสีห์และพระศาสดา เมื่อครั้งสถาปนาเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง ในปี พ.. 1900

(ซ้าย) พระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

(กลาง) พระพุทธชินสีห์
หน้าตักกว้าง 5 ศอก 4 นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ที่วิหารด้านทิศเหนือ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
ต่อมาวิหารชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ
จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่มุขหลังพระอุโบสถจตุรมุข
วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2372
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะยังทรงพระผนวช
ได้เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถจนถึงปัจจุบัน

(ขวา) พระศาสดา หรือ พระศรีศาสดา
หน้าตักกว้าง 6 ศอก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง อัญเชิญจากเมืองพิษณุโลกมาไว้ที่วัด
ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ทราบเรื่อง
จึงให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างขึ้น
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า
พระศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ 
ควรประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ที่เดียวกับพระพุทธชินสีห์ 
แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐาน จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐาน
ยังวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นการชั่วคราว เมื่อสร้างพระวิหารเสร็จแล้ว
จึงได้อัญเชิญพระศาสดามาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหารจนถึงปัจจุบัน

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในการหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ปรากฏว่าหล่อสำเร็จได้เพียงสององค์เท่านั้น คือ พระพุทธชินสีห์ และ พระศาสดา  ส่วนพระพุทธชินราช ต้องทำหุ่นและแบบหล่อใหม่ถึงสามครั้ง แต่ก็ยังหล่อไม่สำเร็จ เพราะทองแล่นไม่ทั่วแบบ เมื่อแกะแบบหล่อออก องค์พระจึงไม่สมบูรณ์และมีตำหนิ  ครั้งนั้น มีปะขาวผู้หนึ่งเข้ามาช่วยปั้นหุ่น ทำการแข็งแรง แต่ไม่พูดด้วยปาก ใช้แต่ใบ้ ใครถามชื่อและตำบลบ้านก็ไม่บอก ไม่มีผู้ใดรู้จัก ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนไม่มีเวลาหยุด ครั้นรูปหุ่นสำเร็จงามดี เข้าดินพิมพ์แห้งแล้ว กำหนดมหามงคลฤกษ์เททอง อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ชีพราหมณ์ ทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อน แล้วเททอง ทองก็แล่นเต็มบริบูรณ์ ปะขาวที่มาช่วยหล่อพระ ก็เดินหายจากที่นั้นไป เชื่อกันว่า เทวดาได้แปลงกายเป็นปะขาวเพื่อมาช่วยหล่อพระพุทธชินราช   ส่วนสถานที่ที่ปะขาวผู้นั้นเดินหายจากไป ก็มีชื่อปรากฏในปัจจุบันว่า บ้านตาปะขาวหาย

พระนางพญา พิษณุโลก
พระเครื่องยอดนิยมในชุด "เบญจภาคี"

ที่มีอานุภาพทั้งเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรีอยู่ในองค์เดียวกัน
อันเป็นคุณวิเศษที่หาได้ยากในพระเครื่องอื่น

ตำนานการสร้างพระพุทธชินราชข้างต้นนี้ ดูมีส่วนคล้ายกับตำนานการสร้าง “พระนางพญา” หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคีและเป็นยอดพระเครื่องอันดับหนึ่งของเมืองพิษณุโลก ซึ่งท่านพระครูอนุโยค วัดราชบูรณะ ได้บันทึกไว้ ความว่า เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้วประมาณ 1,500 ปี มีศึกรามัญตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกทั้งสี่ทิศ พระนางเบญจราชเทวีผู้ครองเมือง ได้เกณฑ์ไพร่พลรักษาเมืองพิษณุโลกอย่างเต็มความสามารถ ครั้งนั้น มีตาปะขาวผู้หนึ่ง อาสาทำพระพุทธปฏิมาองค์เล็ก ๆ แจกจ่ายให้แก่เหล่าทหาร โดยพระที่สร้างขึ้น มีพุทธานุภาพป้องกันอาวุธได้ทุกชนิด อีกทั้งมีเมตตามหานิยม เป็นศรีสวัสดิมงคลทุกประการแก่ผู้บูชา เมื่อตาปะขาวพิมพ์พระสำเร็จแล้ว ได้ให้บรรดาทหารทดลองเอาแขนตนเองผ่าไม้รวกต่อหน้าพระพักตร์ ทั้งกระโจนขึ้นไปนั่งบนหอกดาบ ก็หาเป็นอันตรายไม่ พระนางเบญจราชเทวีทรงโสมนัสยิ่งนัก เมื่อเสร็จศึกรามัญแล้ว พระนางเบญจราชเทวีได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งถวายเป็นพุทธบูชา คือ “วัดนางพญา” และเรียกเอาพระที่แจกจ่ายให้เหล่าทหารกลับคืน บรรจุในสถูปเจดีย์เก็บรักษาอย่างมั่นคงพร้อมแม่พิมพ์ ส่วนตาปะขาวผู้นั้นก็ได้อำลาพระนางแล้วหายไปในป่า เชื่อกันว่า ตาปะขาวผู้นั้นเป็นเทวดาแปลงกายมา พระนางจึงได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า วัดตาปะขาวหาย จนถึงทุกวันนี้

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ
พระอุโบสถและพระระเบียง ประดับด้วยหินอ่อนคุณภาพดี นำเข้าจากประเทศอิตาลี
ชาวต่างชาติเรียกวัดนี้ว่า The Marble Temple

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้เสาะหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทรงพอพระราชหฤทัยพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แต่ครั้นจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ก็เกรงพสกนิกรชาวพิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งปวงจะเสียใจ เพราะก่อนหน้านี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ ก็ได้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ จากวิหารด้านทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหารองค์หนึ่งแล้ว  

จึงโปรดให้จำลองแบบพระพุทธชินราช เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2443 ได้พระฤกษ์เททองหล่อเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.. 2444  เวลา 6 นาฬิกา 38 นาที 44 วินาที การหล่อพระพุทธชินราชจำลองนี้ ใช้ทองคำหนัก 3,940 บาท หล่อสำเร็จแล้วจึงอัญเชิญองค์พระพุทธรูปจากจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ประดิษฐานที่กรมทหารเรือ เพื่อประกอบพระราชพิธีเบิกพระเนตรติดพระอุณาโลมทองคำประดับเพชร  หลังจากนั้น จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.. 2444 รวมระยะเวลา 1 ปีนับจากเริ่มจำลองแบบ

พระพุทธชินราชจำลองนี้ หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก ขนาดเท่ากับพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างซุ้มเรือนแก้วประดับองค์พระพุทธรูป และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปรับปรุงซุ้มเรือนแก้วให้งดงามยิ่งขึ้น


พระพุทธชินราช มีพุทธลักษณะงดงามเป็นเลิศ ในพระราชนิพนธ์ เที่ยวเมืองพระร่วง ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เมื่อปี พ.. 2450 ทรงกล่าวถึงพระพุทธชินราชว่า

“.. ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมานักแล้ว ไม่ได้เคยรู้สึกว่า ดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่นั้นก็เหมาะนักหนา วิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัด องค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์ไม่ต้องเข้าไปดูจนจ่อเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่าแลดูแต่พระนาสิกพระ ยิ่งพิศไปรู้สึกยินดีว่า ไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั้น พระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้..”


ในแต่ละวัน มีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการขอพรจากพระพุทธชินราช ด้วยจิตที่เคารพเลื่อมใสและเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในบารมีของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์นี้ว่า จะช่วยปัดเป่าทุกข์ภัยอันตรายต่าง ๆ และนำความสุขความเจริญ ความสำเร็จสมหวังให้บังเกิดแก่ผู้สักการะบูชา  บางท่านมีทุกข์ร้อนเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ กิจการค้าขาย ตำแหน่งหน้าที่การงาน การสอบคัดเลือก ฯลฯ ก็มากราบนมัสการขอบารมีพระพุทธชินราชท่านเป็นที่พึ่ง แม้บางท่านไม่สามารถจะเดินทางมานมัสการถึงที่วัดได้ด้วยตนเอง เพียงจุดธูปเทียนสำรวมจิตอธิษฐาน เคารพด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็สำเร็จสมดังปรารถนาได้เช่นกัน


ท่านอาจารย์ทองทิว สุวรรณทัต นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ได้เล่าประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธชินราชที่ท่านได้ประสบมาด้วยตนเองว่า เมื่อครั้งยังเยาว์วัย มีอายุไม่เกินสามขวบ ท่านได้ล้มป่วยหนักเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว แม้ใครจะเอาเข็มปลายแหลมทิ่มแทงตามแขนขาก็ไม่รู้สึก บิดาของท่านได้ว่าจ้าง ยายดำหมอนวดลือชื่อแถวปากคลองสานสมัยนั้นขึ้นไปพิษณุโลกเพื่อนวดแขนขาให้เลือดลมแล่น แต่ก็หาประโยชน์มิได้ เมื่อจนปัญญาด้วยประการทั้งปวง มารดาของท่านจึงจุดธูปสามดอก ปักไว้ที่ระเบียง บ่ายหน้าไปยังวัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า วัดใหญ่”) ที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ (พระพุทธชินราชแล้วก้มลงกราบด้วยอาการเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง กล่าวคำถวายท่านให้เป็นลูกของหลวงพ่อใหญ่ ขอให้หลวงพ่อใหญ่ช่วยปัดเป่าโรคาพยาธิให้เสื่อมสลายหายไป นับแต่นั้นมา ท่านก็หายวันหายคืนจนกลับเป็นปรกติ มีอายุยืนจนย่างเข้าวัยชรา


อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านอาจารย์ทองทิวได้ประสบมา คือครั้งหนึ่งท่านได้กลับไปเยี่ยมเมืองพิษณุโลก และกราบนมัสการพระพุทธชินราช เมื่อกลับมาพักผ่อนที่โรงแรม ท่านได้อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองที่เช่าบูชามาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวางไว้บนหัวเตียง ตั้งใจว่าจะกลับกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้นโดยรถทัวร์เพราะมีกิจจำเป็นรออยู่ ในคืนนั้น ท่านอาจารย์ได้กราบพระสวดมนต์และนั่งสมาธิก่อนนอน แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า ขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงใครคนหนึ่งบอกอย่างชัดเจนว่า พรุ่งนี้อย่าไปรถทัวร์”  ท่านถอนจิตออกจากสมาธิและหันไปมองที่ประตูห้องพัก ด้วยเข้าใจว่าเพื่อนของท่านแวะเข้ามาบอก แต่ก็ไม่เห็นใคร ทั้งประตูก็ลงกลอนเรียบร้อย ท่านจึงนั่งทำสมาธิต่อ และก็ได้ยินเสียงพูดขึ้นอย่างชัดเจนว่า พรุ่งนี้อย่าไปรถทัวร์   คราวนี้ ท่านอาจารย์ลืมตามองดูพระพุทธชินราชจำลองที่วางอยู่บนหัวเตียง ก็พลันเห็นแสงสว่างเหลืองนวล เปล่งออกจากพระวรกายเป็นวงกลมเหมือนแสงนีออนอ่อน ๆ มองแล้วเย็นใจเหลือเกิน ท่านก้มลงกราบด้วยอาการเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเลิกล้มความตั้งใจที่จะกลับกรุงเทพฯ โดยรถทัวร์ทันที  เมื่อท่านอาจารย์กลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นก็มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์พลิกคว่ำ มีคนตายหลายคน และรถทัวร์คันนั้น จำเพาะเป็นรถทัวร์ที่ท่านอาจารย์ตั้งใจมาแต่แรกเสียด้วย

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
จัดเป็นเพชรน้ำเอกองค์หนึ่งในวงพระกรรมฐาน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยพูดถึงหลวงปู่สิม สมัยเมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม
ต่อหน้าพระเถระหลายรูป ในเชิงพยากรณ์และด้วยความชื่นชมว่า
"..ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่.."

พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หลวงปู่สิมเป็นพระเถระที่มีศีลาจริยาวัตรงดงามอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ท่านมีความผูกพันกับพระพุทธชินราชมาก ทุกครั้งที่ท่านเดินทางผ่านพิษณุโลก หากมีโอกาส จะแวะนมัสการพระพุทธชินราชเสมอ ๆ  เมื่อครั้งที่หลวงปู่สิมยังเป็นพระหนุ่ม ครั้งหนึ่งท่านเดินธุดงค์มาทางภาคเหนือและมีโอกาสแวะกราบนมัสการพระพุทธชินราช ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากข้าพเจ้ามีบุญวาสนาพอสร้างพระพุทธชินราชได้ จะสร้างไปไว้ที่วัดบ้านเกิดสักองค์"  อีกสี่สิบห้าปีต่อมา คำอธิษฐานของหลวงปู่ก็สัมฤทธิผล มีลูกศิษย์อยากสร้างพระพุทธรูปถวาย หลวงปู่จึงแนะนำให้สร้างพระพุทธชินราช และได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า "องค์พระพุทธชินราชนี้ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีบุญญาธิการสูง เมืองพิษณุโลกฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อหล่อองค์จำลองเสร็จ จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่บ้านบัว ขอให้มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ มีบุญญาธิการ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เท่าองค์จริงเทอญ"

เมื่องานหล่อเสร็จเรียบร้อย พระพุทธชินราชองค์จำลองก็ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วิหารวัดบ้านบัว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อันเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่ เพื่อให้ญาติโยมได้สักการะบูชา  หลวงปู่เคยปรารภให้ลูกศิษย์ฟังด้วยความปิติยินดีว่า "ในชีวิตของหลวงปู่ อยากสร้างพระพุทธชินราชสักองค์ ขณะนี้ก็ได้สร้างสมใจแล้ว สาธุ สาธุ สาธุ"

เมื่อปี พ.ศ. 2535 ก่อนที่หลวงปู่สิมจะละสังขาร พระอาจารย์เชาวรัตน์ กมฺมสุทฺโธ ลูกศิษย์ของหลวงปู่ ซึ่งเป็นประธานสำนักสงฆ์เวฬุวันสันติวรญาณ ที่จังหวัดสกลนคร ได้ขึ้นมากราบหลวงปู่ที่ถ้ำผาปล่อง เมื่อตอนลากลับ หลวงปู่สั่งว่า "ท่านเชาว์ ปีนี้ฝนแล้ง ท่านกลับไปสกลนคร ไปกราบหลวงพ่อใหญ่ (พระพุทธชินราชองค์จำลองที่หลวงปู่สร้างไว้) แทนหลวงปู่ด้วยนะ ให้ฝนมาตกที่สกลนคร.."


พระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี พูดถึงพระพุทธชินราชว่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีเทวดารักษาอยู่ 10 องค์ 

เกี่ยวกับเรื่องเทวดารักษาพระพุทธรูปนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เคยอธิบายไว้ว่า พระพุทธรูปสำคัญและพระสถูปเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น จะมีเทพเฝ้าหรือพิทักษ์รักษา เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย เทวดาจำนวนมากก็มานับถือพระพุทธศาสนา หรือเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เวลาเขาสร้างปูชนียสถานและพระพุทธรูปสำคัญ เทวดาผู้ใหญ่ที่เป็นชาวพุทธก็จะไปอยู่ โดยเฉพาะในสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ๆ เทวดาจะชอบเป็นธรรมดา เพราะจะได้ใกล้ชิดเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แล้วก็ทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์รักษาไปด้วย

ด้วยพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของพระเจ้าแผ่นดินและพสกนิกรมาแต่โบราณ และด้วยพุทธลักษณะอันงดงามเป็นเอก การสร้างพระประธานในกาลต่อมา หรือการสร้างพระพุทธรูปเพื่อนำไปถวายตามวัดต่าง ๆ  จึงนิยมสร้างตามพุทธลักษณะของพระพุทธชินราช  นอกจากนี้ พระเครื่องของครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ก็นิยมสร้างเป็นรูปพระพุทธชินราชเช่นกัน

พระพุทธชินราช
หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ

เหรียญพระพุทธชินราช
หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

พระผง พิมพ์พระพุทธชินราช
เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

พระคำข้าว (พระมหาลาภ)
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

ที่โด่งดังมากเห็นจะได้แก่พระพุทธชินราชซึ่งจัดสร้างโดยพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ทำพิธีใหญ่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามในปี พ.. 2485 หรือที่รู้จักกันในชื่อ พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน

พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน
พิธีใหญ่ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวะ) ประธานการจัดสร้าง
เจ้าคุณสนธิ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง
พระอริยเจ้า 108 รูป เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวะ) ประธานการจัดสร้างพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน นี้ ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นสุดยอดพระอาจารย์ในการสร้างพระกริ่งของไทย ท่านได้ตำราการสร้างพระกริ่งสืบทอดมาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ท่านเจ้ามา) วัดสามปลื้ม ที่ตกทอดมาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสอีกต่อหนึ่ง

พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน มีพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมแห่งยุคเข้าร่วมพิธี 108 รูป อาทิ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงปู่จาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงปู่เส่ง วัดกัลยาณมิตร, หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงปู่กลีบ วัดตลิ่งชัน, ฯลฯ  นับเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่อีกพิธีหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์


สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ คือ นมอกเลา” ที่บานประตูพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช  บานประตูนี้ เป็นบานประตูไม้ประดับมุกงดงามมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสร้างถวายพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.. 2299


อกเลาหมายถึงแท่งไม้ส่วนที่ทำเป็นแนวตั้งยาว เพื่อใช้เป็นตัวประกบระหว่างบานประตู ตรงกลางไม้จะมีตัวกั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ป้องกันไม่ให้คนภายนอกงัดแงะไม้คานที่พาดปิดประตูด้านในได้สะดวก ตัวกลางไม้รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดนี้เรียกว่า นมอกเลาคนโบราณนิยมอาราธนานำผ้าขาวบางมาวางทาบแล้วซับด้วยหมึก เพื่อนำติดตัวไปออกศึกสงคราม เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวโดยไม่ต้องเสกเป่าเพิ่มเติมแต่อย่างใด


ลายนมอกเลา วิหารพระพุทธชินราช ได้รับความนิยมอัญเชิญมาประดับบนวัตถุมงคลต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวัตถุมงคลที่จัดสร้างโดยวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

อ้างอิง          พระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร
ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

8 ความคิดเห็น:

  1. เป็นประโยชน์มากค่ะ

    ตอบลบ
  2. อยากได้ไว้บูชาสักองค์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไปกราบสักการะท่านแล้วลองขอท่านดูสิจะได้ของแท้

      ลบ
    2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
  3. ได้ไปนมัสการหลวงพ่อใหญ่มาแล้วครับ หลังจากกลับมาไม่ถึงสัปดาห์ก็ได้พระเครื่องชินราชใบเสมาพิมพ์ใหญ่มาบูชาหนึ่งองค์ครับสภาพอย่างสวยเลยครับ

    ตอบลบ
  4. ผมศรัธาด้วยเศียรเกล้า

    ตอบลบ