วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

จุฬามณีเจดีย์บนเทวโลก - ทุสสเจดีย์บนพรหมโลก


พระเจดีย์จุฬามณี หรือจุฬามณีเจดีย์สถาน ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  กล่าวกันว่า เป็นที่บรรจุ "จุฬา" คือ "จุกหรือส่วนของพระเกศาบนกระหม่อมแห่งศีรษะ” พร้อมกับ "โมลี" คือ "มุ่นหรือมวยผมทั้งหมด” และ "มณี" คือ "ปิ่นมณี" หรือ "ปิ่นแก้วสำหรับปักมวยผม" กับ "เวฐนะ" คือ "ผ้าพันโพกพระเศียร หรือเครื่องรัดมวยผม" ของพระโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้)  สันนิษฐานว่า ขัตติยะในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล น่าจะไว้พระเกศยาวมุ่นเป็นโมลี มีปิ่นเสียบที่จุฬา และมีเครื่องรัดเกล้า

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
พระผู้ทรงอภิญญา ได้ขี้นไปกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีอยู่เนือง ๆ

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ได้บรรยายสภาพของพระเจดีย์จุฬามณีว่า

“...บันไดที่จะขึ้นจุฬามณีเจดีย์สถาน เป็นบันไดทอง ประดับด้วยแก้วแพรวพราย  พื้นที่เหยียบอยู่ และกำแพงทุกด้านของพระจุฬามณีเป็นทองคำ องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลมสูงตระการตา เป็นแก้ว 7 ประการ เมื่อถึงวันพระ บรรดาเทวดาและพรหมทั้งหลายพากันเข้ามานมัสการกันอย่างคับคั่ง ท่านที่ได้อภิญญาหรือมโนมยิทธิ สำหรับมนุษย์ที่ได้ฌาน ก็พากันมาถวายนมัสการพระจุฬามณีเจดีย์สถาน เมื่อเข้าไปที่นั่นแล้ว ถ้ามีฌานพิเศษดี จะเห็นว่ามีพระอยู่องค์หนึ่ง สวยสดงดงามมาก มีรัศมีพวยพุ่งออกจากพระวรกาย แสดงธรรมเป็นประจำ แต่ทว่า ถ้าตาไม่ดี สมาธิไม่ดี ก็เห็นเป็นพระพุทธรูปไป บางคนเห็นเป็นพระทอง บางคนเห็นเป็นพระทำด้วยอิฐทาสีขาว  แล้วก็พระจุฬามณีก็เหมือนกัน บางคนก็เห็นเป็นปูนบ้าง เห็นเป็นสีทองบ้าง อันนี้ เรียกว่าสมาธิดีไม่พอ ถ้าสมาธิดี จิตสะอาดดี จะเห็นเป็นแก้ว 7 ประการทั้งองค์..."

พระโพธิสัตว์ เสด็จประทับบนหลังม้ากัณฐกะ เหาะไปในอากาศ เป็นอภินิหาร
มีความหมายถึงการข้ามพ้นวัฏสงสาร มีพระอินทร์กางฉัตรกั้น ท้าวฆฏิการมหาพรหมถือเครื่องอัฐบริขาร
มีพระยามารคอยขัดขวาง บอกว่าอีกเจ็ดวันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ไม่ทรงฟัง

มีเล่าไว้ใน อวิทูเรนิทาน ในอรรถกถาชาดกว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกบรรพชาของพระพุทธเจ้า) ทรงม้ากัณฐกะ เสด็จข้ามแม่น้ำอโนมา เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนลานทราย ทรงเปลื้องอาภรณ์ประทานแก่นายฉันนะ และประทานม้ากัณฐกะแก่เขา

พระโพธิสัตว์ทรงตัดพระเกศากับพระโมลี ด้วยพระขรรค์แสงดาบ
ทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการมหาพรหมนำมาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอื่น
ทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวช ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา

ทรงดำริว่า ผมทั้งหลายของเรานี้ ไม่สมควรแก่สมณะ ทรงดำริต่อไปว่า ผู้อื่นที่สมควรจะตัดผมของพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มี  เพราะเหตุนี้ เราจักตัดด้วยตนเอง  จึงทรงจับพระขรรค์แสงดาบด้วยพระหัตถ์ขวา จับพระจุฬากับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย  ทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ พระเกศายังเหลือแนบพระเศียรประมาณสององคุลี ม้วนกลับมาทางเบื้องขวาเป็นทักขิณาวัฏ คงอยู่ขนาดนั้นตลอดพระชนมชีพ  พระมัสสุ (หนวด) ก็มีสมควรกันแก่พระเกศา ไม่ต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีก ชื่อว่ากิจด้วยการปลงผมและหนวดมิได้มีอีกต่อไป

พระโพธิสัตว์จับพระจุฬาพร้อมด้วยพระโมลี ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าไซร้ พระโมลีจงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าจักไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า จงตกลงบนภาคพื้น แล้วทรงโยนขึ้นไปในอากาศ  ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงนำผอบรัตนะอันประเสริฐทูนพระเศียรรับไว้ แล้วทรงนำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในเทวสถูปชื่อ “จุฬามณีเจดีย์” ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับอีกสองสิ่ง คือ ปิ่นมณีและผ้าพันโพกพระเศียรดังกล่าวแล้ว รวมเป็นสี่สิ่ง


นอกจากนี้ พระเจดีย์จุฬามณียังเป็นที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วองค์บนขวาของพระพุทธเจ้า ในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ดังมีเล่าไว้ในพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีความว่า

พระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ท่ามกลางหมู่สงฆ์และทวยเทพ ดอกไม้ทิพย์ทั้งปวงร่วงโปรยลงมาเป็นพุทธบูชา

เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ทำการบูชาพระพุทธสรีระด้วยเครื่องสักการะอย่างมโหฬารเป็นเวลา 6 ทิวาราตรี มหาชนจากทิศานุทิศเดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระ บริเวณอุทยานสาลวันปานประหนึ่งคลุมด้วยผ้าขาว ทั้งนี้เพราะชาวชมพูทวีปไว้ทุกข์ด้วยชุดขาวล้วน ครั้นถึงวันที่เจ็ด พระพุทธสรีระก็ถูกนำออกจากพระนครทางประตูทิศบูรพา ไปสู่มกุฎพันธนเจดีย์ อันเป็นที่ตั้งพระจิตกาธานที่ทำด้วยไม้หอมประดับตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม เตรียมการจะถวายพระเพลิงตามแบบอย่างพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิราช  มัลลกษัตริย์สี่พระองค์ ชำระพระกายให้บริสุทธิ์แล้ว ทรงผ้าใหม่ นำเพลิงเข้าไปจุดที่พระจิตกาธานทั้งสี่ทิศ แต่ไม่สามารถจุดให้ติดได้ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายเฉลียวพระทัยสงสัยว่าจะเป็นอิทธานุภาพเทวดา จึงตรัสถาม พระอนุรุทเถระเจ้าแสดงว่า เทพยดาทั้งหลายประสงค์จะให้หยุดยั้ง ให้พระมหากัสสปเถระบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าก่อน จึงจะถวายพระเพลิงได้

เหล่าพระภิกษุสงฆ์ เทพยดา มัลลกษัตริย์ ได้ถวายสักการะพระพุทธสรีระ
พระมหากัสสปเถระ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อธิษฐานจิตแล้ว บังเกิดความอัศจรรย์
พระยุคลบาทโผล่พ้นปลายหีบพระศพ เพื่อประทานให้นมัสการเป็นพิเศษแก่พระมหากัสสปเถระ

เมื่อพระมหากัสสปเถระพาพระภิกษุสงฆ์บริวาร เดินทางมาถึงมกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงแล้ว ก็ดำเนินเข้าไปใกล้พระจิตกาธาน ยกอัญชลีกระพุ่มหัตถ์ประณมนมัสการ ทำประทักษิณเวียนขวาซึ่งพระจิตกาธานสามรอบ แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลแห่งพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแห่งตน พระมหาเถระพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้อภิวาทกราบนมัสการโดยทั่วกัน เพลิงทิพย์ก็เกิดขึ้นเองที่พระจิตกาธานด้วยอานุภาพของเทพยดา

เพลิงได้ลุกพวยพุ่งเผาพระพุทธสรีระจนหมดสิ้น ยังเหลือสิ่งที่พระเพลิงมิได้เผาไหม้ด้วยพุทธานุภาพที่ทรงอธิษฐานไว้คือ พระอัฐิ (กระดูก) พระเกศา (ผม) พระโลมา (ขน) พระนขา (เล็บ) พระทนต์ (ฟัน) ทั้งปวง กับผ้าที่ห่อพระพุทธสรีระสองชั้นในสุด เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุได้อย่างสมบูรณ์มิให้กระจัดกระจาย

พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นปรกติ ไม่แตก ไม่กระจัดกระจาย มี 7 พระองค์ คือ พระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 (เขี้ยวของพระพุทธเจ้า)  พระรากขวัญทั้ง 2 (กระดูกไหปลาร้า) และพระอุณหิส (พระอัฐิส่วนหน้าผาก)  

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุนอกจากนั้น มิได้คงรูปร่างเดิม ได้แตกย่อยออก ที่ปรากฏ มีอยู่ 4 สัณฐานหลัก ๆ คือ สัณฐานดุจเมล็ดถั่วและถั่วแตก (ถั่วผ่าซีก) สัณฐานดุจเมล็ดข้าวสารและข้าวสารหักกึ่งหนึ่ง สัณฐานดุจเมล็ดงาและงาแตก สัณฐานดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาด  เป็นไปตามพุทธประสงค์ เพื่อให้ปวงพุทธบริษัทได้นำไปบรรจุในสถูปสำหรับกราบไหว้บูชา อันจะมีผลนำไปสู่สุคติภพ



เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดใส่ในพระหีบทอง ประดิษฐานไว้ในศาลากลางพระนครกุสินารา จัดให้มีมหรสพสมโภชตลอด 7 วัน

ฝ่ายกษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ เมื่อทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ต่างก็ส่งราชทูตนำสาส์นมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุพร้อมทั้งยกกองทัพติดตามมาด้วย รวม 6 นคร และมีพราหมณ์อีก 1 นคร ได้แก่

   1.  พระเจ้าอชาตศัตรู นครราชคฤห์
   2.  กษัตริย์ศากยะ นครกบิลพัสดุ์
   3.  กษัตริย์ลิจฉวี นครเวสาลี
   4.  กษัตริย์ถูลี นครอัลกัปปะ
   5.  กษัตริย์โกลิยะ นครรามคาม
   6.  กษัตริย์มัลละ นครปาวา
   7.  มหาพราหมณ์ นครเวฏฐทีปกะ

มัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินาราตรัสปฏิเสธทูตานุทูตทั้ง 7 พระนคร ไม่ยินยอมที่จะแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุถวายแก่เจ้าองค์ใดเลย ฝ่ายทูตานุทูตทั้ง 7 พระนครนั้นก็มิได้ย่อท้อ เกิดเหตุโต้เถียงกันขึ้น จวนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามใหญ่

โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ 7 พระนคร
แล้วแอบหยิบเอาพระเขี้ยวแก้วใส่มวยผม
พระอินทร์จึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงส์เทวโลก

ขณะนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า “โทณะ” ซึ่งเป็นอาจารย์ของกษัตริย์เหล่านั้น ได้ยินการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงขึ้น จึงออกไประงับข้อพิพาทดังกล่าวและประกาศว่าจะแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้อัญเชิญไปบรรจุในสถูปทุก ๆ พระนครเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาของมหาชน กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 8 พระนครได้ฟังดังนั้น ก็ทรงเห็นชอบพร้อมกับมอบธุระให้โทณพราหมณ์แบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ

บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุ ต่างก็ร่ำไห้รำพันต่าง ๆ นา ๆ  ฝ่ายโทณพราหมณ์เห็นบรรดากษัตริย์ทั้งหลายกำลังเศร้าโศกเสียใจอยู่ ได้ฉวยโอกาสแอบหยิบเอาพระทาฐธาตุ คือพระเขี้ยวแก้วองค์บนเบื้องขวา ขึ้นซ่อนไว้ ณ ภายใต้ผ้าโพกศีรษะ แล้วดำเนินการแบ่งพระบรมสาริกธาตุโดยใช้ตุมพะทะนานทอง ตวงพระบรมสารีริกธาตุได้ 8 ส่วนเท่า ๆ กัน ถวายแก่กษัตริย์และมหาพรหมณ์ทั้ง 8 นคร

พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงดำริว่า โทณพราหมณ์ไม่อาจทำสักการะให้สมควรแก่พระทาฐธาตุ ควรจะนำมาบูชาไว้ในเทวโลก จึงทรงอัญเชิญพระทาฐธาตุนั้นจากผ้าโพกของโทณพราหมณ์ ประดิษฐานในสุวรรณโกศ ทรงนำขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงสเทวโลก พร้อมกับพระรากขวัญเบื้องขวา ฉะนั้น ในพระเจดีย์นี้ จึงมีสิ่งบรรจุหลายอย่าง แต่ก็คงเรียกว่า จุฬามณีเจดีย์

ฝ่ายโทณพราหมณ์เมื่อคลำหาพระเขี้ยวแก้วไม่พบ จึงได้ขอตุมพะทะนานทองที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุไปก่อสถูปบรรจุไว้สักการะ มีนามว่า “ตุมพสถูป  ต่อมากษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงส่งราชทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง แต่เมื่อทราบว่าพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งไปยังนครต่าง ๆ หมดแล้ว จึงได้นำพระอังคาร (เถ้า) กลับสู่พระนคร สร้างสถูปบรรจุเป็นสถานที่สักการะบูชา มีนามว่า "พระอังคารสถูป"  เมื่อต้นปฐมกาล จึงมีพระสถูปเจดีย์สถานเป็น 10 ตำบลด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้

เกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 ของพระพุทธเจ้า  ตำนานกล่าวว่า
องค์บนเบื้องขวา ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณีบนดาวดึงสเทวโลก
องค์ล่างเบื้องขวา ไปอยู่ ณ แคว้นกาลิงคะ แล้วต่อไปยังลังกาทวีป (เชื่อกันว่า เป็นพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดาลาดามาลิกาวา [Sri Dalada Maligawa, Temple of the Tooth Relic] เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
องค์บนเบื้องซ้าย ไปอยู่ ณ แคว้นคันธาระ
องค์ล่างเบื้องซ้าย ไปอยู่ในพิภพของพญานาค

พระทนต์ พระเกศา พระโลมาทั่วพระวรกาย และพระนขา เทพยดาในหมื่นจักรวาลนำไปบูชาจักรวาลละองค์

ทุสสเจดีย์บนพรหมโลก

กล่าวถึง “ทุสสเจดีย์” บนพรหมโลก ในไตรภูมิพระร่วง และในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช “ฆฏิการมหาพรหม  ผู้เป็นสหายกับพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า นำบริขาร 8 จากพรหมโลกมาถวายพระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาคฤหัสถ์ทั้งคู่ขึ้นไปบรรจุไว้ใน “ทุสสเจดีย์”

พรหมโลก อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นที่ 6 อีกมาก มีอยู่มากชั้นซ้อน ๆ กันขึ้นไป แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ รูปพรหม และ อรูปพรหม คำว่า พรหม ท่านแปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษ มีฌาน เป็นต้น

ตามคติทางพระพุทธศาสนาอธิบายว่า ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌานคือ ฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ส่วนผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌานคือ ทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌานนั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม

ทุสสเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนพรหมโลกชั้นอกนิฏฐา ซึ่งเป็นภูมิสุทธาวาสชั้นห้า เป็นนิวาสภูมิของท่านผู้บริสุทธิ์คือพระอนาคามีและพระอรหันต์  พระอริยบุคคลชั้นอนาคามีในโลกนี้สิ้นชีวิตแล้ว ท่านว่าไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาส และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่มีกลับลงมาอีก

คำว่า ทุสสเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ผ้า คงหมายถึงเป็นที่บรรจุผ้าคือพระภูษาของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งทรงผนวชดังกล่าวมาข้างต้น

กษัตริย์ เทพยดา และพรหม ในโลกทั้งสาม
ได้อัญเชิญสิ่งอันเป็นสัญญลักษณ์แทนความเป็นพระพุทธเจ้า
ไปประดิษฐานในภพของตน เพื่อถวายความเคารพสักการบูชาสูงสุด 

ต่อมาในคราวปรินิพพานก็ได้มีเรื่องเกี่ยวกับ “ทุสสเจดีย์” อีก ในปฐมสมโพธิกถากล่าวว่า พระเขี้ยวแก้วองค์บนเบื้องขวากับพระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์  ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์



แล้วเรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า

"... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไปเมื่อเหตุดับ
สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด..."

บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์และกิเลสานุสัยทั้งปวง
ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้น ฯ


ขอขอบคุณ    วัดพระบาทน้ำพุ  ท่านอาจารย์เฉลิมพิชัย โฆษิตพัฒน์  ท่านอาจารย์อิทธิพล พัฒรชนม์  
                      ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

3 ความคิดเห็น: