วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธนวราชบพิตร.. สายสัมพันธ์ในหลวงกับพสกนิกร


พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานไปประดิษฐานยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แทนการพระราชทานพระแสงราชศาสตรา พระพุทธรูปที่พระราชทานนี้ นอกจากจะเป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งความผูกพันระหว่างองค์พระประมุขกับพสกนิกรของพระองค์ทุกหนแห่ง


ในอดีตกาล เมื่อพระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์ให้ผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติราชกิจสำคัญแทนพระองค์ จะพระราชทานพระแสงดาบให้แก่บุคคลผู้นั้น เรียกว่าพระแสงอาญาสิทธิ์ มีอำนาจเด็ดขาดในทุกเรื่องแม้กระทั่งอำนาจในการสั่งประหารชีวิต ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศาสตรา เริ่มปรับเปลี่ยนจากเดิมที่พระราชทานอาญาสิทธิ์ให้เฉพาะบุคคล มาเป็นการพระราชทานไว้เป็นที่ระลึกประจำมณฑลและเมืองต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจให้ข้าราชการนำไปใช้ในทางชอบธรรม และเป็นสัญลักษณ์แทนความห่วงใยของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ เมืองใดเป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑล โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงด้ามฝักทองลงยาราชาวดี นอกเหนือไปจากนั้น เป็นพระแสงด้ามฝักทอง และมีพระราชกำหนดว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองใด ให้ถวายพระแสงราชศาสตราคืนมาไว้ประจำพระองค์ ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ ณ เมืองนั้น


ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศาสตรา ยังทรงถือปฏิบัติในรัชกาลต่อมา และสิ้นสุดลงในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ. 2475


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้รักษาธรรมเนียมการทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศาสตราประจำเมืองไว้ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐาน หากจังหวัดใดเคยได้รับพระราชทานพระแสงราชศาสตรา โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอัญเชิญทูลเกล้าฯ ถวายคืนไว้ประจำพระองค์ จนกระทั่งเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ จึงพระราชทานคืนไว้ประจำจังหวัดตามธรรมเนียมเดิม

พระพุทธนวราชบพิตร

ด้วยมีพระราชนิยมที่จะพระราชทานพระพุทธรูปไว้ประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร แทนการพระราชทานพระแสงราชศาสตรา ในปี พ.ศ. 2509  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อทรงตรวจพระพุทธลักษณะจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นายช่างเททองหล่อพระพุทธรูปนั้นขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 และพระราชทานนามว่า "พระพุทธนวราชบพิตร"  พระราชทานแก่จังหวัดต่าง ๆ และพระราชทานแก่วัด 1 วัดเป็นกรณีพิเศษ คือ วัดบวรนิเวศวิหาร

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์  หน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ฐานพระพุทธรูปเป็นบัวคว่ำบัวหงาย


ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าของพระพุทธนวราชบพิตร ทรงบรรจุพระพิมพ์ไว้  1 องค์ อันพระพิมพ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปั้น เทหยอดพิมพ์ ถอดออกจากพิมพ์เป็นองค์พระ ฝนและเจียรแต่งขอบด้วยพระหัตถ์ทุกองค์ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ พระสมเด็จจิตรลดา  

มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นส่วนพระองค์ และที่ได้มาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ได้แก่ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่พสกนิกรทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี เส้นพระเจ้า (ผม)  สีจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ ชันและสีที่ทรงขูดจากเรือใบในขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง ผงที่ได้จากปูชนียสถานและปูชนียวัตถุอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ฯลฯ

พระสมเด็จจิตรลดา

พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน  สำนักพระราชวังได้วางระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตรไว้ดังต่อไปนี้

1.  เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้ว ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด

2.  เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีใด ๆ ซึ่งต้องตั้งที่บูชาพระรัตนตรัย ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระบูชาในพิธีนั้น ๆ ทั้งนี้ยกเว้นพิธีที่กระทำในโบสถ์ วิหาร หรือปูชนียสถานใด ๆ ซึ่งมีพระประธานหรือมีปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว และยกเว้นพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะ เช่น พระพุทธคันธารราษฎร์

3.  เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดเพื่อทรงเป็นประธานพระราชพิธีหรือพิธีทางจังหวัดก็ดี ก็ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้น ๆ ทุกครั้ง  หากพระราชพิธีหรือพิธีนั้น ๆ กระทำในพระอาราม หรือในปูชนียสถาน ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐาน ณ ที่บูชาเป็นต่างหากอีกที่หนึ่ง เพื่อทรงนมัสการ

4.  เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัด  ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา เพื่อทรงนมัสการในพลับพลาหรือที่ประทับซึ่งได้จัดไว้  ในกรณีนี้ หากท้องที่ที่เสด็จพระราชดำเนินนั้นห่างไกลจากศาลากลางจังหวัด และเป็นที่ทุรกันดารไม่สะดวกแก่การคมนาคม หรือการเสด็จพระราชดำเนินนั้นเป็นการรีบด่วน หรือเพียงเป็นการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทางจังหวัดจะพิจารณาให้งดเสียก็ได้ ตามแต่จะเห็นควร

5.  เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา ในพลับพลาหรือในที่ประทับตลอดเวลาที่ประทับแรมอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว  ในการนี้ ให้กองมหาดเล็กปฏิบัติเช่นเดียวกับระเบียบแบบแผนที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับพระชัยนวโลหะประจำรัชกาล

6.  หากทางจังหวัดเห็นสมควรจะอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนได้นมัสการบูชาในงานเทศกาลใด ๆ ก็ให้กระทำได้ตามแต่จะเห็นควร  อนึ่ง การปิดทองที่องค์พระพุทธรูปนั้น อาจทำให้พระพุทธรูปเสียความงามไปบ้าง ถ้าหากทางจังหวัดจะประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตรบนฐานซึ่งทำด้วยวัตถุอันอาจปิดทองได้อีกชั้นหนึ่งให้ประชาชนได้ปิดทองได้ ก็จะเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ด้วยพระองค์เองในระหว่างปี พ.ศ. 2510 - พ.ศ. 2516 จังหวัดอุดรธานีได้รับพระราชทานเป็นจังหวัดแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2510

สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรในปี พ.ศ. 2525 ในวโรกาสมหามงคลที่เมืองหลวงของประเทศเจริญมั่นคงยั่งยืน มีอายุ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร เป็นของขวัญให้ชาวกรุงเทพมหานครได้สักการะบูชา  โดยพลเรือเอกเทียม มกรานนท์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นเป็นผู้รับพระราชทาน เมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525

พระพุทธนวราชบพิตร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดตรีทศเทพ

ปี พ.ศ. 2529 วัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แทนพระอุโบสถหลังเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 60+9 นิ้ว สูง 89 นิ้ว พระรัศมี 14 นิ้ว ฐานบัวสูง 19 นิ้ว กว้าง 32 นิ้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถหลังใหม่ โดยจำลองแบบจากพระพุทธนวราชบพิตรที่ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2509 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเททองหล่อพระประธาน พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ นวราชบพิตร ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2530

พระกริ่ง นวราชบพิตร
วัดตรีทศเทพ พ.ศ. 2530

พระชัยวัฒน์ นวราชบพิตร
วัดตรีทศเทพ พ.ศ. 2530

พระอุโบสถหลังใหม่อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตร เป็นอาคารทรงไทยตรีมุข ขนาดความกว้าง 19 เมตร ยาว 21 เมตร ประดับหินอ่อนทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ฝีมือการออกแบบและเขียนภาพของท่านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระพิมพ์ เนื้อผงพุทธคุณ พระพุทธนวราชบพิตร
วัดตรีทศเทพ พ.ศ. 2554

เหรียญพระพุทธนวราชบพิตร
วัดตรีทศเทพ พ.ศ. 2554

ปี พ.ศ. 2554 วัดตรีทศเทพ ได้จัดสร้างพระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณและเหรียญพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา และเพื่อจัดหาทุนบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะ กุฏิสงฆ์ และศาสนวัตถุ โดยพระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณจำนวนหนึ่งจะบรรจุในพระเจดีย์ วัดตรีทศเทพ

มวลสารที่นำมาสร้างพระ ประกอบด้วยมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณ ผงตรีนิสิงเห มวลสารที่ใช้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังและสมเด็จบางขุนพรหม ทองคำเปลวที่ลอกจากองค์พระประธานในพระอุโบสถ ช่อฟ้าพระอุโบสถที่ชำรุด กระเบื้องพระอุโบสถที่ชำรุด โมเสกทองคำของพระเจดีย์ที่ชำรุด เม็ดกริ่งและชนวนพระกริ่งนวราชบพิตร ปี พ.ศ. 2530 ฯลฯ

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)

พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณและเหรียญที่จัดสร้างขึ้น ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฏ ประดิษฐานด้านหลังองค์พระพิมพ์และด้านหลังเหรียญ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ อัญเชิญไฟพระฤกษ์พระราชทานจุดเทียนชัย มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งยุคเข้าร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษกภายในพระอุโบสถวัดตรีทศเทพ เมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


อ้างอิง          ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
ขอขอบคุณ  ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น