วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระสมเด็จจิตรลดา.. ให้ปิดทองเฉพาะข้างหลังพระเท่านั้น


"... ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กำลังร่วงลงไปนั้น ผม (พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร) มีความรู้สึกอย่างเดียวกับนักบิน คือนึกว่าตัวเองกำลังจะตายเพราะเครื่องบินตก ผมได้ยินทุกคนในเครื่องบินต่างสวดมนต์เสียงดังไม่ได้ศัพท์

ตัวผมเองนั้น ทำสิ่งที่ผมเชื่อว่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ได้ทำก่อนตายคือ เอามือกุมพระเครื่ององค์เดียวที่ห้อยคออยู่แล้วร้องเรียกพระห้าองค์ที่ผมไหว้เป็นประจำคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ)


พระเครื่ององค์นั้น เป็นพระเครื่องที่ผมได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัว ในคืนวันหนึ่งใน พ.ศ. 2510 หลังจากที่รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำในวังไกลกังวล คือ พระสมเด็จจิตรลดา หรือ "พระกำลังแผ่นดิน ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเอง


คืนนั้น บนพระตำหนักเปี่ยมสุขในวังไกลกังวล จำได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาพร้อมด้วยกล่องใส่พระเครื่องในพระหัตถ์ ขณะที่ทรงวางพระลงบนฝ่ามือที่ผมแบรับอยู่นั้น ผมมีความรู้สึกว่าองค์พระร้อนเหมือนเพิ่งออกจากเตา

ภายหลังเมื่อมีโอกาสกราบบังคมทูลถาม จึงได้ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระเครื่องด้วยการนำเอาวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน เช่น ดินจากปูชนียสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดอกไม้ที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสต่างๆ และเส้นพระเจ้า (คือเส้นผม) ของพระองค์เอง เมื่อผสมกันโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นเครื่องยึดแล้ว จึงทรงกดพระแต่ละองค์ลงในพิมพ์ โดยไม่ได้เอาเข้าเตาหรือใช้ความร้อนชนิดใด ๆ

หลังจากที่เรา (นายตำรวจรวมแปดนายและนายทหารเรือหนึ่งนาย) รับพระราชทานพระแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า พระที่พระราชทานนั้น ก่อนจะเอาไปบูชา ให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังพระเท่านั้น


พระราชทานพระบรมราชาธิบายด้วยว่า ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อจะได้เตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว


... หลังจากที่ไปเร่ร่อนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไกลห่างพระยุคลบาทเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี ผมได้มีโอกาสกลับไปเฝ้าฯ ที่วังไกลกังวลอีก ความรู้สึกเมื่อได้เฝ้าฯ นอกจากจะเป็นความปีติยินดีที่ได้ใกล้พระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่งแล้ว ก็มีความน้อยใจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ลำบาก และเผชิญอันตรายนานาชนิด บางครั้งแทบเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ปรากฏว่ากรมตำรวจมิได้ตอบแทนด้วยบำเหน็จใด ๆ ทั้งสิ้น

ก่อนเสด็จขึ้นคืนนั้น ผมจึงก้มลงกราบบนโต๊ะเสวย แล้วกราบบังคมทูลว่า ใคร่ขอพระราชทานอะไรสักอย่างหนึ่ง

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า จะเอาอะไร?” และผมก็กราบบังคมทูลอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปิดทองบนหน้าพระที่ได้รับพระราชทานไป  พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามเหตุผลที่ผมขอปิดทองหน้าพระ

ผมกราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินนั้น นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานไปห้อยคอแล้ว ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นที่สุด เกือบได้รับอันตรายร้ายแรงก็หลายครั้ง มิหนำซ้ำกรมตำรวจยังไม่ให้เงินเดือนขึ้นแม้แต่บาทเดียวอีกด้วย

พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล (ยิ้ม) ก่อนที่จะมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระสุรเสียงที่ส่อพระเมตตาและพระกรุณาว่า ปิดทองข้างหลังพระไปเรื่อย ๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง...

จากหนังสือ รอยพระยุคลบาท
บันทึกความทรงจำของ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร


พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน จัดเป็นหนึ่งในสุดยอดพระมหามงคล เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง และพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ในระหว่างปี พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2513 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์

ทุกองค์มีเอกสารส่วนพระองค์ หรือใบกำกับพระ แสดงชื่อ-สกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ"


การปิดทองด้านหลังองค์พระ เป็นปริศนาธรรมที่ทรงมีพระราชดำริในการปลูกฝังนิสัยให้ผู้รับพระราชทานนำไปคิดในทำนองว่า การที่บุคคลใดจะทำกุศลหรือประโยชน์สาธารณะใด ๆ นั้น พึงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยแท้จริง โดยไม่หวังลาภยศชื่อเสียงใด ๆ

พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน

ความเป็นมาของการสร้างพระสมเด็จจิตรลดานั้น ในราวปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปนี้ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงตรวจพระพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปพิมพ์นี้จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

พระพุทธรูปพิมพ์ที่แกะถวายนั้น เป็นพระพุทธรูปพิมพ์นั่งปางสมาธิแบบขัดราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ประทับเหนือดอกบัวบาน บน 5 กลีบ ล่าง 4 กลีบ รวมเป็น 9 กลีบ รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้งสามด้านเฉียงป้านออกด้านหลังเล็กน้อย  พิมพ์ใหญ่ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร พิมพ์เล็ก ขนาดกว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร

พระพุทธลักษณะขององค์พระสมเด็จจิตรลดา ซึ่งทรงสร้างขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2513 มีความแตกต่างกันออกไป ความลึกและคมชัดขององค์พระในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน เนื้อพระ สีพระ ความหนาบางขององค์พระในแต่ละปีก็แตกต่างกัน

พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็กมีไม่มากนัก ทรงมีการพระราชทานให้เพียง 2 ปีเท่านั้น คือปี พ.ศ. 2508 และปี   พ.ศ. 2509 องค์พระดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างสำหรับพิมพ์เล็ก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาว่างหลังจากทรงพระอักษรและทรงงานอันเป็นราชภารกิจในเวลาดึก สร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองโดยใช้ผงมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งส่วนพระองค์และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อันศาสนิกชนทั่วพระราชอาณาจักรได้ปฏิบัติบูชาสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ประกอบด้วย

ก.  ส่วนในพระองค์

1.  ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่  ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้

2.  เส้นพระเจ้า (เส้นผม) ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง

3.  ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล

4.  สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์

5.  ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่งขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง

ข.  ส่วนที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร

วัตถุเครื่องผสมที่มาจากต่างจังหวัดนี้ กระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นวัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ดินหรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน เปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงธูปหน้าที่บูชา น้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จำแนกรายละเอียดได้ดังนี้


ภาคกลาง

กรุงเทพมหานคร (ในอดีต ก่อนปี พ.ศ. 2515 แยกเป็น 2 จังหวัดคือ จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี)

จังหวัดพระนคร
- ผงธูปและดินจากกระถางธูปที่บูชาในศาลหลักเมืองทุกกระถาง คือหน้าพระหลักเมือง และหน้าที่บูชาเทพารักษ์ประจำพระนครทั้งห้าองค์ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ เจ้าหอกลอง
- เปลวทองจากหลักเมือง

จังหวัดธนบุรี
- ผงจากพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม
- ผงธูปและเปลวทองจาก "หลวงพ่อแสน" พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ วัดหงส์รัตนาราม
- ผงธูปและเปลวทองจาก "หลวงพ่อสุข" พระพุทธรูปทองโบราณสมัยสุโขทัย วัดหงส์รัตนาราม
- ดิน ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากศาลพระเจ้าตากสินมหาราช วัดหงส์รัตนาราม

จังหวัดกำแพงเพชร
- ผงจากยอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ นครชุม
- ดินและเปลวทองจากหลักเมือง

จังหวัดชัยนาท
- น้ำอภิเษกจากวัดพระบรมธาตุ
- ผงจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ
- น้ำอภิเษกจากวัดธรรมามูล 
- เปลวทองและเกสรดอกไม้จากหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปวัดธรรมามูล
- ผงจากวิหารหลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูล

จังหวัดนครนายก
- ผงธูปจากหลักเมือง
- ผงจากมณฑปพระพุทธบาท ยอดเขานางบวช

จังหวัดนครปฐม
- ผงจากองค์พระปฐมเจดีย์
- ผงธูปที่บูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์

จังหวัดนครสวรรค์
- ผงจากพระเจดีย์ วัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ)
- เปลวทองจากพระพุทธรูป วัดวรนาถบรรพต
- เกสรดอกไม้จากที่บูชาพระเจดีย์ วัดวรนาถบรรพต

จังหวัดนนทบุรี
- ผงจากพระมหาเจดีย์ วัดเขมาภิรตาราม

จังหวัดปทุมธานี
- ผงจากพัทธสีมารอบพระอุโบสถ วัดเสด็จ
- ดินจากสังเวชนียสถานประเทศอินเดีย ซึ่งบรรจุไว้ในฐานชุกชี ภายในพระอุโบสถ วัดเสด็จ
- ผงธูปและเกสรดอกบัวจากพระอุโบสถ วัดเสด็จ
- ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ของพระครูสาทรพัฒนกิจ (หลวงพ่อลมูล ขันติพโล) วัดเสด็จ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ผงจากพระปรางค์ วัดมหาธาตุ
- ผงและเปลวทองจากพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง
- ผงจากพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์
- เปลวทองจากพระมงคลบพิตร

จังหวัดพิจิตร
- ผงธูปและเปลวทองจากหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปวัดท่าหลวง

จังหวัดพิษณุโลก
- ทองคำเปลวผสมน้ำรัก ที่ขูดจากองค์พระพุทธชินราช เพื่อกระทำพิธีปิดทองใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2500
- เกสรบัวหลวงจากที่บูชาพระพุทธชินราช

จังหวัดเพชรบูรณ์
- ผงธูปและเปลวทองจากพระพุทธมหาธรรมราชา วัดไตรภูมิ
- ผงธูปและเปลวทองจากหลักเมือง

จังหวัดลพบุรี
- ผงจากศาลพระกาฬ
- ผงจากศาลลูกศร
- ผงจากพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ (ท้องพระโรงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จออก ให้คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสเฝ้าฯ)

จังหวัดสมุทรปราการ
- ผงจากองค์พระสมุทรเจดีย์
- ผงธูปและเปลวทองจากหลักเมือง

จังหวัดสมุทรสงคราม
- ผงธูปและเปลวทองจากพระพุทธรูป วัดเพชรสมุทร (วัดบ้านแหลม)

จังหวัดสมุทรสาคร
- ผงธูปและดินจากศาลหลักเมือง
- ผงธูปจากศาลพันท้ายนรสิงห์

จังหวัดสระบุรี
- เปลวทองจากรอยพระพุทธบาท
- ผงธูปและผงเกสรดอกบัวที่บูชาพระพุทธบาท
- ผงจากพระพุทธฉาย

จังหวัดสิงห์บุรี
- ผงจากวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น
- ดินจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น
- เปลวทองจากพระพุทธรูปในวิหาร หลังพระธาตุเจดีย์ วัดสิงห์สุทธาวาส
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ วัดสิงห์สุทธาวาส
- ผงธูปและเปลวทองจากพระนอนจักรสีห์

จังหวัดสุโขทัย
- ผงเจดีย์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง
- ดินกรุพระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง
- ดินกรุวัดต้นจันทร์
- ผงพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอศรีสัชนาลัย
- น้ำบ่อแก้ว อำเภอศรีสัชนาลัย
- น้ำบ่อทอง อำเภอศรีสัชนาลัย

จังหวัดสุพรรณบุรี
- ผงธูปและเปลวทองจากหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์
- ผงธูปและเปลวทองจากเทวรูป ศาลหลักเมือง
- ผงจากดอนเจดีย์
- ผงจากพระเจดีย์ วัดสนามชัย
- ดินจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แห่ง (สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ)

จังหวัดอ่างทอง
- ผงธูปและเปลวทองจากพระมหาพุทธพิมพ์ วัดไชโยวรวิหาร
- ผงธูปและเปลวทองจากรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรังสี วัดไชโยวรวิหาร
- ผงธูปและเปลวทองจากพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก

จังหวัดอุทัยธานี
- ผงธูปและเปลวทองจากพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปวัดสังกัสรัตนคีรี

ภาคตะวันออก

จังหวัดจันทบุรี
- ผงดินจากศาลหลักเมือง
- ผงดินและเปลวทองจากศาลพระเจ้าตากสินมหาราช
- ผงตะไคร่น้ำแห้งจากพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ
- น้ำในคลองนารายณ์ หน้าน้ำตกเขาสระบาป
- น้ำจากสระแก้ว อำเภอท่าใหม่

จังหวัดฉะเชิงเทรา
- เปลวทองจากพระพุทธโสธร วัดโสธรวราราม
- เกสรดอกบัวหน้าที่บูชาพระพุทธโสธร
- ดอกมะลิหน้าที่บูชาพระพุทธโสธร
- ผงธูปจากหลักเมือง

จังหวัดชลบุรี
- ผงธูปจากพระพุทธสิหิงค์จำลอง
- ผงพระพิมพ์หลวงพ่อแก้ว วัดป่า (วัดอรัญญิกาวาส)

จังหวัดตราด
- ผงธูปจากหลักเมือง
- ผงจากเจดีย์ วัดบุปผาราม
- เปลวทองจากรอยพระพุทธบาทจำลอง วัดบุปผาราม

จังหวัดปราจีนบุรี
- ผงธูปจากที่บูชาต้นศรีมหาโพธิ์ อำเภอศรีมหาโพธิ์

จังหวัดระยอง
- ผงดินจากหลักเมือง
- ดอกไม้แห้งจากศาลพระเจ้าตากสินมหาราช

ภาคตะวันตก

จังหวัดกาญจนบุรี
- ผงธูปและเปลวทองจากพระแท่นดงรัง
- ผงจากโบสถ์ร้าง วัดท่ากระดาน

จังหวัดตาก
- เปลวทองจากพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- เกสรดอกไม้จากที่บูชาพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ผงจากพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บนยอดเขาช่องกระจก

จังหวัดเพชรบุรี
- ผงธูปบูชา พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระนครคีรี
- ผงจากพระเจดีย์พระธาตุจอมเพชร พระนครคีรี
- ผงดินจากยอดสูงสุดของพระนครคีรี
- ผงธูปจากพระพุทธรูปเชียงแสน พระนครคีรี
- ผงดินจากศาลหลักเมืองเก่า
- ผงธูปจากเทพารักษ์ ศาลหลักเมืองเก่า
- ผงธูปจากพระปรางค์ วัดมหาธาตุ
- ผงธูปจากพระประธานในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ

จังหวัดราชบุรี
- ผงจากพระปรางค์ วัดมหาธาตุ

ภาคเหนือ

จังหวัดเชียงราย
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ ยอดดอยตุง
- ผงจากพระธาตุเจดีย์จอมกิตติ

จังหวัดเชียงใหม่
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุศรีจอมทอง
- เปลวทองจากที่บูชาพระพุทธรูป วัดพระธาตุศรีจอมทอง
- ดอกไม้แห้งที่บูชาพระบรมธาตุ วัดพระธาตุศรีจอมทอง
- ดินจากโคนพระศรีมหาโพธิ์ วัดพระธาตุศรีจอมทอง
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ ดอยสุเทพ
- ผงธูปจากที่บูชาพระพุทธสิหิงค์
- ดินจากเสาอินทขีลหรือหลักเมือง
- ดินจากบริเวณที่ได้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ดินจากบริเวณที่ตั้งค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอฝาง
- เปลวทองและเกสรดอกไม้จากที่บูชาอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

จังหวัดน่าน
- ผงธูป เปลวทอง และดอกไม้แห้งจากพระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปวัดสวนตาล
- ผงจากพระธาตุเจดีย์แช่แห้ง
- ผงจากพระธาตุเจดีย์เขาน้อย
- ผงจากพระธาตุเจดีย์พลูแช่
- ผงจากพระธาตุเจดีย์จอมแจ้ง
- เกสรดอกไม้จากพระพุทธรูป วัดพระธาตุจอมแจ้ง อำเภอเวียงสา

จังหวัดแพร่
- ผงธูปและดินหลักเมือง
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ช่อแฮ

จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ ดอยกองมู

จังหวัดลำปาง
- เปลวทองจากพระแก้วมรกต วัดพระธาตุลำปางหลวง
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุลำปางหลวง
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ วัดพระแก้วดอนเต้า
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุเสด็จ
- ดินศาลหลักเมือง
- ดินศาลเจ้าพ่อประตูผา
- ดินศาลเจ้าพ่อหมอกมุงเมือง

จังหวัดลำพูน
- ผงจากองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย
- ดินจากสุวรรณจังโกฏเจดีย์ วัดจามเทวี (วัดกู่กุด)
- เกสรดอกไม้จากแท่นบูชาพระบรมธาตุหริภุญชัย

จังหวัดอุตรดิตถ์
- เปลวทองจากพระแท่นศิลาอาสน์
- ผงจากพระธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ
- เปลวทองและผงธูป จากที่บูชาหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ วัดท่าถนน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดกาฬสินธุ์
- ผงธูปและดินจากหลักเมือง

จังหวัดขอนแก่น
- ผงปูนพระธาตุขามแก่น

จังหวัดชัยภูมิ
- ผงจากปรางค์กู่
- ผงจากพระธาตุเจดีย์กุดจอก
- ผงจากพระธาตุเจดีย์สามหมื่น
- ผงธูปที่บูชาพระเจ้าองค์ตื้อ ภูพระ
- ผงธูปที่บูชาเจ้าพ่อพญาแล

จังหวัดนครพนม
- ผงจากองค์พระธาตุพนม
- ผงธูปที่บูชาองค์พระธาตุพนม
- ดินจากฐานพระธาตุพนม
- ผงธูปและดินจากหลักเมือง

จังหวัดนครราชสีมา
- ดิน ผงธูป และเปลวทองจากหลักเมือง
- ดิน ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
- ดินจากปราสาทหินพิมาย
- ผงและดินจากพระเจดีย์ วัดศาลาทอง
- ดินทราย ผงธูป และเปลวทอง จากพระพุทธรูปในปราสาทหินพนมวัน
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากศาลเจ้าแม่บุ่ง
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากศาลเจ้าพ่อไฟ
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากศาลเจ้าวัดแจ้ง
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากศาลเจ้าพ่อพระยาสี่เขี้ยว

จังหวัดบุรีรัมย์
- ดินใจกลางปราสาทหินพนมรุ้ง
- ดินใจกลางปราสาทเมืองต่ำ
- ดินจากหลักเมือง
- ดินจากศาลเทพารักษ์ เจ้าพ่อวังกรูด อำเภอสตึก
- ดินจากสังเวชนียสถานต่าง ๆ จากประเทศอินเดีย

จังหวัดมหาสารคาม
- ผงธูปจากหลักเมือง

จังหวัดร้อยเอ็ด
- ผงจากปรางค์กู่ อำเภอธวัชบุรี
- ดินบริเวณหลักเมือง บึงพลาญชัย
- ผงจากกู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ
- ผงธูปที่บูชาพระสังกัจจายน์ วัดสระทอง
- ดินจากพระธาตุเจดีย์อุปมุง อำเภอโพนทอง

จังหวัดเลย
- ผงจากองค์พระธาตุเจดีย์ศรีสองรัก

จังหวัดศรีสะเกษ
- ผงธูปปนดินจากแท่นบูชาพระโต วัดมหาพุทธาราม
- ผงธูปปนดินจากหลักเมือง

จังหวัดสกลนคร
- ผงจากองค์พระธาตุเจดีย์เชิงชุม วัดพระธาตุเชิงชุม
- เกสรดอกไม้ที่บูชาหลวงพ่อองค์แสน พระพุทธรูปวัดพระธาตุเชิงชุม
- เศษปูนที่แตกร้าวจากหลวงพ่อองค์แสน

จังหวัดสุรินทร์
- ดินหน้าหลวงพ่อพระชีว์ วัดบูรพาราม

จังหวัดหนองคาย
- ผงจากพระธาตุเจดีย์บังพวน
- ผงธูปที่บูชาหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปวัดโพธิ์ชัย

จังหวัดอุดรธานี
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากที่บูชาศาลเทพารักษ์ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากศาลหลักเมือง
- ดินทราย ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากที่บูชาหลวงพ่อนาค พระพุทธรูปวัดมัชฌิมาวาส

จังหวัดอุบลราชธานี
- ผงธูป เทียน และเกสรดอกไม้ จากที่บูชาพระเจ้าอินทร์แปง พระพุทธรูปวัดมหาวนาราม

ภาคใต้

จังหวัดกระบี่
- ดินในกรุถ้ำพระ บนเขาขนาบน้ำ
- เศษฐานพระในกรุถ้ำพระ

จังหวัดชุมพร
- ทรายใจกลางศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หาดทรายรี
- ผงธูปที่บูชาพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

จังหวัดตรัง
- พระผงศรีวิชัย ได้จากถ้ำสาย ตำบลบางดี และถ้ำคีรีวิหาร ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด
- พระว่านศักดิ์สิทธิ์ ปรุงด้วยว่าน 200 อย่าง
- พระดินดิบ ได้มาจากถ้ำสาย ตำบลบางดี
- ผงธูปที่บูชาพระในถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว
- ดินจากสังเวชนียสถานสี่แห่งในประเทศอินเดีย

จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ผงจากองค์พระบรมธาตุ
- เกสรดอกไม้ที่บูชาองค์พระบรมธาตุ

จังหวัดนราธิวาส
- ดิน ผงธูป และเกสรดอกไม้ จากวัดพระพุทธ อำเภอตากใบ

จังหวัดปัตตานี
- ดิน ผงธูป เปลวทองและเกสรดอกไม้จากหลักเมือง
- ดิน ผงธูป เปลวทองจากที่บูชาหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้

จังหวัดพังงา
- ดินจากหลักเมือง
- ดินและเศษชิ้นส่วนเทวสถานและเทวรูปพระนารายณ์ ตำบลเหล อำเภอกะปง

จังหวัดพัทลุง
- ผงจากองค์พระธาตุเจดีย์ วัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน

จังหวัดภูเก็ต
- ผงจากรอยพระพุทธบาท เกาะแก้ว หน้าหาดราไวย์
- ผงธูปและเปลวทองจากพระผุด พระพุทธรูปวัดพระทอง
- ผงธูปและเปลวทองที่บูชาอนุสาวรีย์พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม) วัดฉลอง

จังหวัดยะลา
- ผงจากองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดคูหาภิมุข
- ดินจากหลักเมือง

จังหวัดระนอง
- ผงธูปบูชาพระพุทธรูป วัดอุปนันทาราม

จังหวัดสตูล
- ผงธูปหน้าที่บูชาพระพุทธรูป วัดชนาธิปเฉลิม
- ผงธูปหน้าที่บูชาพระพุทธรูป วัดสตูลสันตยาราม
- ผงธูปหน้าที่บูชาพระพุทธรูป วัดหน้าเมือง
- ผงธูปหน้าที่บูชาพระพุทธรูป วัดดุลยาราม

จังหวัดสงขลา
- ผงจากเจดีย์พระบรมธาตุ วัดชัยมงคล
- ผงธูปและเปลวทองจากเจดีย์พระบรมธาตุ วัดชัยมงคล
- ผงธูปที่บูชาพระพุทธสิหิงค์ วัดเลียบ
- ผงจากพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ วัดพะโคะ
- ผงธูปและเปลวทองจากหลักเมือง

จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ผงจากองค์พระบรมธาตุไชยา
- เทียนบูชาองค์พระบรมธาตุไชยา

มวลสารต่าง ๆ เหล่านี้ ต่อมาภายหลัง ได้พระราชทานให้แก่วัดบวรนิเวศวิหาร และทางวัดได้นำไปจัดสร้างพระเครื่องบางรุ่น เป็นที่รู้จักกันในนามพระเครื่องผสมมวลสารจิตรลดา

พระไพรีพินาศ ผสมมวลสารจิตรลดา วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จนางพญา ญสส ผสมมวลสารจิตรลดา วัดบวรนิเวศวิหาร
ฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ปี พ.ศ. 2539 ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี  ได้มีการจัดสร้าง "พระกำลังแผ่นดิน" ขึ้นโดยพระราชพิพัฒน์โกศล เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร ประธานการก่อสร้างโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ  เพื่อมอบแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

พระกำลังแผ่นดิน
ที่ระลึกซื้อเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

พระกำลังแผ่นดินที่จัดสร้างขึ้นในครั้งนั้น ประกอบด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อผง  องค์พระมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพระสมเด็จจิตรลดา และที่ด้านหลัง ได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีมาประดิษฐานไว้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เวลา 15:19 น. โดยพระภาวนาจารย์ 109 รูป


อ้างอิง         พระพุทธนวราชบพิตรและพระราชดำรัส หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา
ขอขอบคุณ  ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น