วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

เหตุใด 'เสาหลักเมือง' กรุงเทพมหานคร จึงมีสองต้น ?


เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีนั้น พระองค์โปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมืองตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองและประชาชน  พระฤกษ์ยกเสาหลักเมืองกระทำในวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06:54 น.

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
(ภาพวาดฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6)

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชดำริว่าหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สง่างาม จึงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ อีกทั้งทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์ ทราบว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมืองกรุงเทพฯ จึงทรงแก้เคล็ดโดยให้ช่างแปลงรูปทรงศาลหลักเมืองจากเดิมที่มีลักษณะเป็นศาลาและมีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ให้เป็นอาคารจตุรมุขทรงประสาทยอดปรางค์ ก่ออิฐถือปูน ฉาบสีขาว  โปรดฯ ให้ถอนเสาหลักเมืองเดิมและประดิษฐานเสาหลักเมืองใหม่ พร้อมผูกดวงเมืองขึ้นใหม่ให้เป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีอุดมมงคลฤกษ์ ณ วันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือน 1) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

การฝังเสาหลักเมืองเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น ได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น คือเมื่อถึงมหาพิชัยฤกษ์อัญเชิญเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงูเล็ก 4 ตัวเลื้อยลงหลุมในขณะเคลื่อนเสา จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย โดยปล่อยเสาลงหลุมและกลบงูทั้ง 4 ตัวตายอยู่ภายในก้นหลุม  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระโหราจารย์ถวายคำทำนายว่า ชะตาเมืองจะอยู่ในเกณฑ์ร้ายนับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน จึงสิ้นพระเคราะห์ และพระนครแห่งนี้ จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา 150 ปี

ชะตาแผ่นดินที่ร้ายถึงเจ็ดปีเศษนั้น เป็นช่วงเวลาที่ไทยติดพันศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ ซึ่งสิ้นสุดลงหลังครบห้วงเวลาดังกล่าว


ส่วนคำทำนายว่าจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป 150 ปีนั้น ไปครบเอาปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพอดี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชสมภพในปีมะเส็ง (งูเล็ก) พ.ศ. 2436 จะทรงกังวลพระทัยในคำทำนายดังกล่าวหรือไม่ประการใด มิอาจทราบได้ แต่ทรงสร้างสาธารณูปโภคมากมาย รวมถึงชักชวนเจ้านายที่ประสูติในปีมะเส็งด้วยกันสร้างสิ่งสาธารณะเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชน นัยว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์

ทรงมีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นอนุสรณ์ในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปีในปี พ.ศ. 2475  คำทำนายเรื่องสิ้นแผ่นดินจึงได้รับการ "แก้เคล็ด" โดยเกิดเป็นแผ่นดินใหม่ที่เชื่อมพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน

พระบรมวงศานุวงศ์อีก 4 พระองค์ที่ประสูติปีเดียวกันในปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินบริจาคของพระญาติมิตรสหาย สร้าง "ตึกสี่มะเสง" ให้แก่สภากาชาดสยามเมื่อปี พ.ศ. 2472 ปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกรื้อถอนไปแล้วเพราะชำรุดทรุดโทรมจากอายุการใช้งานอันยาวนาน  สภากาชาดไทยได้สร้างอาคารหลังใหม่ในบริเวณเดิม แต่ยังคงใช้ชื่ออาคารว่า "ตึกสี่มะเสง" เพื่อหวนรำลึกถึงพระเมตตาของทั้งสี่พระองค์

การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประสูติปีนักษัตรเดียวกันคือปีมะเส็ง ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นิมิตงูเล็กในเสาหลักเมืองจึงออกจะเป็นเรื่องอัศจรรย์

กรณีคำทำนายการดำรงวงศ์กษัตริย์เป็นเวลา 150 ปี ไม่เป็นไปตามคำทำนาย เพียงเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กรณีนี้ คงเป็นด้วยการสะเดาะเคราะห์ผ่อนหนักให้เป็นเบา และคงเนื่องด้วยพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงแก้อาถรรพณ์ถอนเสาหลักเมืองและวางดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่

หลักเมือง กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 200 ปีในปี พ.ศ. 2525 ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยรื้ออาคารศาลหลักเมืองหลังเดิมที่สร้างมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วสร้างอาคารศาลหลักเมืองหลังใหม่ขึ้นโดยยึดเอารูปแบบเดิมไว้ และได้นำเสาหลักเมืองต้นเดิมที่มีมาแต่เริ่มสร้างกรุงเทพฯ มาประดิษฐานคู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ เสาหลักเมืองที่ประดิษฐานภายในอาคารศาลหลักเมืองจึงมีสองต้น เสาต้นเดิมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 คือต้นสูง ที่ได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว แต่หาที่เก็บที่เหมาะสมไม่ได้ จึงคงไว้  แกนในเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้จันทน์ประกับนอก ลงรักปิดทอง ยอดของเสาทำเป็นดอกบัวตูม ที่โคนเสามีฐานบัวรองรับ ภายในกลวงสำหรับบรรจุชะตาพระนคร  ดวงนี้อยู่ใจกลางยันต์สุริยาทรงกลด จารึกในแผ่นทอง เงิน นาก

ส่วนเสาหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คือต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมา  แกนในเป็นเสาไม้สัก มีไม้ชัยพฤกษ์ประกับนอก หัวเสาเป็นรูปยอดเม็ดทรงมัณฑน์  ปิดทองประดับกระจก มีฐานบัวหกเหลี่ยมและฐานสิงห์ประดับกระจกรองรับที่โคนเสา เป็นต้นที่สถิตประทับของพระหลักเมือง

มีเรื่องเล่ากันมากเกี่ยวกับการฝังหลักเมืองว่ามีการฝังคนทั้งเป็น เช่น ในหนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า

"เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง  ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า "บ้านเมืองใหม่"  เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมืองโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม 32 รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ 7 วัน 7 คืน แล้วจึงให้อำเภอทนายป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่าสี่หูสี่ตา (คือคนที่ตั้งครรภ์นั่นเอง)  การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ ได้ประกาศป่าวร้องเรื่อยไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า โอ้เจ้ามั่น โอ้เจ้าคง อยู่ที่ไหนมา ไปประจำที่  ในที่สุดจึงได้ผู้หญิงชื่อนางนาคท้องแก่ประมาณแปดเดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบขึ้น 3 ครั้ง แล้วได้ติดตามผู้ประกาศไป  ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝาหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลักเป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง"

สำหรับการฝังหลักเมืองกรุงเทพฯ นี้ เชื่อว่าไม่มีการนำคนทั้งเป็นมาฝัง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และไม่ทรงโปรดให้พลีกรรมด้วยการฆ่าสัตว์

เทพารักษ์สำคัญห้าองค์ คุ้มครองรักษาพระนคร
เป็นองค์เดิมที่สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 

ต่อมา สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ได้มีการปรับปรุงพระนครครั้งใหญ่ มีการสร้างสถานที่ราชการ และขยายถนนเพิ่มขึ้น
จึงย้ายเทพารักษ์ทั้งห้าองค์ จากที่ประดิษฐานเดิม มาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมือง

ภายในบริเวณศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ มีศาลเทพารักษ์อันเป็นที่ประดิษฐานของพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง  เป็นเทพารักษ์สำคัญ 5 องค์ ทำหน้าที่ดูแลรักษาพระนครและประเทศชาติ พระมหากษัตริย์และประชาชนให้ความเคารพนับถือมาแต่โบราณกาลว่า สามารถอำนวยความสุขสวัสดี พิพัฒนมงคล ป้องกันภัยพาลพิบัติอุปัทวทุกข์ทุกประการแก่ผู้เคารพบูชาได้

พระเสื้อเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง ความสูง 93 เซนติเมตร พระหัตถ์ซ้ายถือคทา (ตะบอง) พระหัตถ์ขวาทรงจักร มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน

พระทรงเมือง ลักษณะคล้ายพระเสื้อเมือง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง ความสูง 88 เซนติเมตร พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นถือสังข์หลั่งน้ำเทพมนต์ มีหน้าที่รักษาการปกครอง กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ และดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี

พระกาฬไชยศรี เป็นรูปพระกาฬประทับอยู่บนหลังนกแสก สันนิษฐานว่าจะมาแต่อุมาปางหนึ่งซึ่งพวกฮินดูนิยมทำรูปไว้บูชา เรียกว่า "กาลี"  พระกาฬเป็นบริวารของพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก

เจ้าเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้ เดิมมีศาลเล็ก ๆ อยู่ใกล้คุก ชาวบ้านจึงเรียกเพี้ยนเป็น เจ้าเจตคุก เป็นบริวารของพระยม มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป และอ่านประวัติของผู้ตายเสนอต่อพระยม

เจ้าหอกลอง  เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง มีหน้าที่แจ้งเตือนเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น เมื่อเกิดอัคคีภัย หรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร และคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ เที่ยงคืน

เจ้าหอกลองนี้ เดิมอยู่ที่ศาลใกล้หอกลองในสวนเจ้าเชต หอกลองนี้ถูกรื้อทิ้งไปในสมัยรัชกาลที่ 5  แต่เดิมในหอกลองมีกลองอยู่ 3 ใบ ใบแรกชื่อ ย่ำพระสุริย์ศรี ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน  ใบที่สองมีชื่อเรียกว่า อัคคีพินาศ ใช้ตีเวลาเกิดเพลิงไหม้  และใบที่สามมีชื่อว่า พิฆาตไพรี ใช้ตีเวลามีศึกสงครามบอกเหตุเรียกระดมพล

จุดเติมน้ำมันตะเกียง พระประจำวันเกิด

ใส่บาตร พระประจำวันเกิด

พระเสี่ยงทาย
พร้อมคำอธิบายวิธีอธิษฐานยกองค์พระเสี่ยงทายความสำเร็จ

ภายในบริเวณศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร นอกจากอาคารศาลหลักเมืองและศาลเทพารักษ์ ยังมีหอประดิษฐานพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุ 


ศาลหลักเมืองจึงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งทางใจ ในแต่ละวัน จะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาเคารพสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล


คำกล่าวบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมือง เทวานัง พระภูมิ เทวานัง
ทีปะธูปะจะปุบผัง สักการะ วันทะนัง
สูปะพยัญชนะ สัมปันนัง โภชะนานัง สารีนัง อุททะกังวะรัง
เตปิตุมะเห อานุรักษ์ขันตุ 
อาโรขะเยนะ สุเขนะจะ ฯ

ข้าพเจ้า... ขอถวายเครื่องสังเวยและสิ่งต่าง ๆ แด่องค์พระหลักเมือง
ขอองค์พระหลักเมือง จงรับเครื่องสังเวย และสิ่งต่าง ๆ ของข้าพเจ้า
ขอบารมีองค์พระหลักเมือง และเทพเทพารักษ์ ที่สถิตอยู่ ณ ที่นี้
จงบันดาลให้ข้าพเจ้า ทำการสิ่งใดได้สำเร็จ
สมปณิธานที่ปรารถนาทุกประการ
ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัว บริวาร ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย
จงแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง
ปราศจากโรคาพยาธิ
และจงมีแต่ความสุขความเจริญ ตลอดกาลนานเทอญ

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมในฐานะที่เป็นทหารของชาติตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี เมื่อสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเหล่าทหารราบ ซิ่งเป็นทหารเดินเท้าหลักของกองทัพไทย ผมรับราชการมาจนเกษียณอายุรวม ๔๔ ปี เกิดเป็นทหาร และจะตายในสถานเทหารนอกราชการ ผมมีความเชื่อว่า ชาติปางก่อนผมเคยเกิดเป็นทหารในกองทัพของพระเจ้าตากสิน และผมเชื่อว่าผมตายที่พระราชวังเดิมในชีวิตทหารราบของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เหตุที่เชื่อเพราะผมเกิดชาตินี้ที่ ร.พ.ศิริราช เมื่อ ๖๗ ปีก่อน ผมขอขอบตุณท่านท่าพระจันทร์ทีได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับศาลหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวกรุงเทพฯ เป็นความรู้ที่หาไม่ได้ง้ายๆ ในโรงเรียนทั่วไป เป็นความรู้ที่จะช่วยสานต่อความเป็นคนไทย เพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองของเราให้เจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ยังดำรงสิ่งเก่าแก่ดั้งเดิมไว้เป็นเอกลักษณ์ของไทยต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด ขอให้ท่านจงรักษาความดีอันนี้ไว้เพื่อช่วยลูกหลานไทยให้ดำรงเผ่าพันธุ์ไทยให้ยั่งยืนสถาพรต่อไป ขอพระคุณครับ พันโท เกษตรศาสตร์ ศานตสงเคราะห์ นายทหารนอกราชการ ข้าราชการบำนาญ กระทรวงกลาโหม

    ตอบลบ