วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

'พระแก้ว' - 'พระบาง' อยู่ด้วยกันไม่ได้ ?


"...พระพุทธรูปองค์ประเสริฐนี้ มีเดชานุภาพมาก
ไม่มีชีวิตก็เหมือนมีชีวิต แสดงปาฏิหาริย์ได้
พระพุทธผู้ประเสริฐเมื่อมีชีวิตทรงพระชนม์อยู่ ทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ
พระองค์นิพพานแล้ว ทรงประดิษฐานพระศาสนา
อันเป็นประโยชน์แก่ชนทั้งหลายตลอด 5,000 ปี
ในครั้งกระโน้น ผู้ใดบูชาพระพุทธผู้ทรงพระชนม์อยู่
แต่ในครั้งนี้ ผู้ใดบูชาพระพุทธรูปที่บรรจุพระบรมธาตุอันประเสริฐ
เขาเหล่านั้น เมื่อตั้งใจเท่ากัน
บูชาพระพุทธรูปที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธอยู่เป็นนิตย์
ก็ย่อมได้ผลเท่ากัน ฯ"

ความเป็นมาของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกตนั้น ตามตำนานกล่าวว่า ประมาณปี พ.ศ. 500  พระนาคเสนเถระ มีดำริจะสร้างพระพุทธรูปด้วยรัตนะ ให้เป็นที่สักการะบูชาของอินทร์ พรหม เทพยดาและมนุษย์ เพื่อให้ธรรมของพระพุทธองค์รุ่งเรืองและมั่นคง  ท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์ ทราบความคิดของพระเถระ จึงได้จัดหาแก้วอมรโกฏ (แก้วทำโดยเทวดา) สีเขียวมาถวาย และพระวิษณุกรรมได้แปลงร่างเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูป ปรากฏพระพุทธลักษณะอันงดงามยิ่ง

พระนาคเสนเถระร่วมกับพระอรหันต์ทั้งหลาย และพรหม อินทร์ เทวดา สาธุชน ต่างมีจิตชื่นชมยินดี พากันมาบูชาพระรัตนปฏิมาตลอด 7 คืน 7 วัน  พระพุทธรูปอันประเสริฐซึ่งไม่มีชีวิต ก็สำแดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ปรากฏแสงรัศมีแผ่ซ่านออกจากองค์พระพุทธรูป

ครั้งนั้น พระนาคเสนเถระใคร่จะส่งเสริมให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง จึงได้อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ เข้าไปประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต รวม 7 แห่ง ได้แก่ พระเมาลี (ผมจุก), พระนลาฏ(หน้าผาก), พระอุระ (อก), พระหัตถ์เบื้องขวา (มือขวา), พระหัตถ์เบื้องซ้าย (มือซ้าย), พระชานุเบื้องขวา (เข่าขวา), และพระชานุเบื้องซ้าย (เข่าซ้าย)

พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย มีพระนาคเสนเถระเป็นประธาน
เทพยดา อสูร ครุฑ คนธรรพ์ พระมหากษัตริย์ และประชาชนทั้งหลาย
มาประชุมพร้อมกัน 
กระทำการสักการบูชาพระพุทธรัตนปฏิมา
มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน

พระพุทธรัตนปฏิมาได้กระทำปาฏิหาริย์ประการต่าง ๆ
พระนาคเสนได้อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์
เข้าประดิษฐานในองค์พระพุทธรัตนปฏิมา
คือที่พระเมาลี พระนลาฏ พระอุระ พระหัตถ์ทั้งสอง และพระชานุทั้งสอง
พร้อมกันนี้ พระนาคเสนได้พยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล
พระพุทธรัตนปฏิมาองค์นี้จะรุ่งเรืองโปรดไปในวงศ์ทั้งสาม
คือ กัมพุชวงศ์ มลานวงศ์ และสยามวงศ์ 

(ภาพจิตรกรรม เรื่อง "รัตนพิมพวงศ์" จากวัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพมหานคร
สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างหลวง เขียนขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระแก้วมรกตนี้ พบในพระสถูปเจดีย์ "วัดป่าญะ" (ปัจจุบันคือ วัดพระแก้ว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) สถูปเจดีย์ถูกฟ้าผ่าพังลง พบพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองทั่วทั้งองค์  ต่อมามินาน ปูนที่ลงรักปิดทองกระเทาะออก เห็นเป็นพระพุทธรูปแก้วสีเขียวงามอยู่ภายใน

พระแก้วมรกต

เหตุที่ต้องพอกปูนเข้าใจว่าเพื่อซ่อนเนื้อแก้วไว้ไม่ให้ใครรู้ เพราะสมัยนั้น พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่นครเชียงราย  พระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ทำสงครามกับพระเจ้าพรหม เจ้านครเชียงราย เพื่อจะนำพระพุทธสิหิงค์ไปเชียงใหม่  เจ้าครองนครเชียงรายเกรงว่าหากเสียทีในการรบ จะเสียพระแก้วมรกตไปพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ หากจะต้องเสียก็ยอมให้แต่พระพุทธสิหิงค์องค์เดียว จึงหาวิธีอำพรางซ่อนพระแก้วมรกตให้มิดชิด ใครพบก็เห็นเป็นเพียงพระพุทธรูปธรรมดา ไม่ได้ให้ความสนใจ

บ้านเมืองที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต นับตั้งแต่แรกพบในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงราย มีดังนี้

1.  เชียงราย.. ตั้งแต่ พ.ศ. -(ไม่ปรากฏ)-  ถึง พ.ศ. 1979
2.  ลำปาง.. 32 ปี
3.  เชียงใหม่.. 84 ปี
4.  หลวงพระบาง.. 12 ปี
5.  เวียงจันทน์.. 215 ปี
6.  ธนบุรี.. 5 ปี (พ.ศ. 2322 ถึง พ.ศ. 2327)
7.  กรุงเทพฯ.. พ.ศ.2327 ถึงปัจจุบัน

ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ไทยตีเมืองเวียงจันทน์ได้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2322 พร้อมกับ "พระบาง"

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังและพระอารามหลวง คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากพระราชวังเดิมธนบุรีมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ วันจันทร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ในปี พ.ศ. 2527  พร้อมทั้งทรงสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและเครื่องทรงฤดูฝนถวาย  ส่วนเครื่องทรงฤดูหนาว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างถวาย

พระแก้วมรกตจะทรงเครื่องฤดูร้อน จากเดือนมีนาคมถึงวันเข้าปุริมพรรษาเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นทรงเครื่องฤดูฝน จนถึงเดือนพฤศจิกายน เข้าฤดูหนาว ก็จะเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นทรงเครื่องฤดูหนาวเรื่อยไปจนถึงเดือนมีนาคม ตามฤดูกาล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิบัติพระแก้วมรกตโดยเคารพ ดำรัสสั่งให้ช่างเขียนรูปพระแก้วมรกตทรงเครื่องทรงสามฤดูลงในแผ่นผ้าใหญ่ พระราชทานให้แก่ชาวต่างประเทศซึ่งมีไมตรี แต่มิได้เคยมายังกรุงเทพฯ นี้ อยากจะใคร่เห็นพระแก้วมรกตนั้น

ต่อมา พระมหากษัตริย์ทุก ๆ พระองค์ก็ทรงปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตสืบพระราชประเพณีมาโดยตลอด ด้วยเป็นพระปฏิมากรองค์สำคัญ

พระแก้วมรกต ทรงเครื่องสามฤดู
ภาพวาดบนผืนผ้าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
โปรดให้คณะราชทูตสยามเชิญไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งประเทศฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2404
ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในห้องพิพิธภัณฑ์จีน ในพระราชวังฟองแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส

มีความเชื่อกันว่า "พระแก้วมรกต" และ "พระบาง" ประดิษฐานอยู่ด้วยกันไม่ได้ ?

เมื่อครั้งที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยูที่นครเชียงใหม่ และพระบางอยู่ที่หลวงพระบาง ทั้งสองนครนี้ก็อยู่กันมาด้วยความสงบสุข ครั้นเมื่อพระไชยเชษฐาธิราชเสด็จไปครองหลวงพระบาง ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเชียงใหม่ไปประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบางด้วย ก็เกิดเหตุร้ายขึ้นยืดเยื้อกลายเป็นสงคราม  ในที่สุดพระไชยเชษฐาธิราชต้องย้ายราชธานีไปอยู่ที่เวียงจันทน์และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางไปประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์อีก เหตุร้ายต่าง ๆก็ตามไปเกิดที่เวียงจันทน์ ต้องทำสงครามตลอดมา จนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชถึงกับสิ้นพระชนม์ในสนามรบ

หอพระแก้ว นครเวียงจันทน์
สร้างตั้งแต่สมัยพระไชยเชษฐาธิราช
บูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2479

ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมากรุงธนบุรี ก็ทำให้กรุงธนบุรีเกิดจลาจล  ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้าเวียงจันทน์ซึ่งเป็นประเทศราชได้มาถวายดอกไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการ เมื่อจะกลับ ได้กราบบังคมทูลขอ "พระบาง" กลับไปเวียงจันทน์ด้วย  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่า พระบางมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร อีกทั้งคงได้ทรงทราบเรื่องพระแก้วมรกตและพระบางว่าประดิษฐานอยู่ด้วยกันไม่ได้ เมื่อชาวเวียงจันทน์เขารักใคร่หวงแหน จึงพระราชทาน "พระบาง" คืนไปไว้นครเวียงจันทน์ตามประสงค์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์คิดกบฏ  เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ไปปราบกบฏราบคาบ ได้อัญเชิญ"พระบาง" ลงมาถวาย  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 คงจะทรงทราบเรื่องอยู่บ้าง จึงไม่ทรงรับพระบางไว้ในพระราชวัง โปรดให้ไปไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) แทน

พระบางอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาสมาจนถึงรัชกาลที่ 4 เกิดฝนแล้งข้าวแพงติด ๆ กันหลายปี ผู้คนพากันสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะพระแก้วมรกตกับพระบางมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เป็นแน่ จึงได้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ขึ้น  ได้มีผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูล  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ไม่โปรดที่จะให้คนคิดเห็นไปในทางไม่ดีเช่นนั้น เมื่อเจ้านครหลวงพระบางมาถวายดอกไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการตามธรรมเนียมเมืองประเทศราช จึงพระราชทาน "พระบาง" กลับไปไว้ที่หลวงพระบางดังเดิม

เหรียญพระแก้วมรกต ที่ระลึกฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พ.ศ. 2475
เหรียญหลังตัวหนังสือ ระบุว่า
"ที่ระฤกการฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงาน ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕"
ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป รับพระราชทานเหรียญพระแก้วทองคำ
ผู้บริจาคตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป รับพระราชทานเหรียญพระแก้วเงิน
ผู้บริจาคตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป รับพระราชทานเหรียญพระแก้วทองขาว (นิคเกิล)
ผู้บริจาคตั้งแต่ 1  บาทขึ้นไป รับพระราชทานเหรียญพระแก้วทองแดง

เหรียญพระแก้วมรกต ที่ระลึกฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พ.ศ. 2475
หลังรูปยันต์กงจักร

เหรียญพระแก้วมรกต ที่ระลึกฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525

แต่เดิมเมื่อมีพระราชพิธีใหญ่ ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษ ก็จะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี  เมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้จัดให้มีพระราชพิธีอาพาธพินาศโดยอัญเชิญพระแก้วมรกตออกแห่ด้วย  ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริว่าพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง มีน้ำหนักมาก มีค่าหาประมาณมิได้ การอัญเชิญไปมาย่อมเสี่ยงอันตราย จึงไม่โปรดให้เคลื่อนย้าย

มีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระแก้วมรกตอยู่หลายอย่าง เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง งานพระราชพิธีส่วนใหญ่จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การตั้งสมณศักดิ์และสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล ฯลฯ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เคยปรารภถึงความมหัศจรรย์ของพระแก้วมรกตว่า พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล  พระอริยบุคคลมีในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม


อ้างอิง     ภาพ คำบรรยายภาพ และข้อความบางส่วน คัดจากหนังสือ "พระแก้วมรกต"
             ท่านอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ  ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ  สำนักพิมพ์มติชน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น