วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ..พระอรหันต์กลางกรุง


คนเราเมื่อมีลาภ ก็มีเสื่อมลาภ
เมื่อมียศ ก็มีเสื่อมยศ
เมื่อมีสุข ก็มีทุกข์
เมื่อมีสรรเสริญ ก็มีนินทา
เป็นของคู่กันมาเช่นนี้
จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์
ถึงจะดีแสนดี มันก็ติ 
ถึงจะชั่วแสนชั่ว มันก็ชม
นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา
ยังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน
ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกะธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้
ต้องคิดเสียว่า เขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง
เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ
ก่อนที่เราจะทำอะไร เราคิดแล้วว่าไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราและคนอื่นเราจึงทำ
ใครจะนินทาว่าใส่ร้ายอย่างไรก็ช่างเขา
บุญเราทำ กรรมเราไม่สร้าง
พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ
จะต้องไปกังวล กลัวใครติเตียนทำไม
ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่า ๆ

คำสอนเรื่องโลกธรรมแปดประการ
ของท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ (เจ้าคุณนรฯ) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ

ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือ พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต มีนามเดิมว่า ตรึก จินตยานนท์ เกิดที่บ้านหลังวัดโสมนัสวิหาร ณ วันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา เวลา 07:40 นาฬิกา ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 เป็นวันมาฆบูชา

ในวัยเด็ก คุณพ่อของท่านรับราชการอยู่หัวเมือง คุณแม่ต้องคอยติดตามไปอยู่กับคุณพ่อ คุณยายเป็นคนดูแลเลี้ยงดูท่านธมฺมวิตกฺโกตลอดมา จึงใกล้ชิดผูกพันกับคุณยายมาก

ท่านเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดโสมนัส แล้วไปต่อมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญมบพิตร จากนั้นเข้าเรียนวิชารัฐศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ได้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษกับคุณครูเพลิน ซึ่งต่อมาได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษภาคกลางคืนชื่อโรงเรียนเศนีเศรษฐดำริ อยู่ที่นางเลิ้ง

หลังจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก เมื่อปี พ.ศ. 2457 ปฏิบัติราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้รับพระราชทานเลื่อนยศและตำแหน่งหน้าที่การงานขึ้นเป็นลำดับ ปี พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต และต่อมา ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ได้รับพระราชทานที่ดิน 5 ไร่ อยู่สี่แยกราชเทวี เชิงสะพานหัวช้าง ซึ่งท่านได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวและเงินพระราชทานปลูกบ้านพร้อมดอกผลให้กับวัดเทพศิรินทราวาสเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต

นามสกุล "จินตยานนท์" นั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้


ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ เป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีสูงมาก โดยเฉพาะกับคุณยายและคุณแม่ ทุกคราวที่กลับมาบ้านและจะกลับไปเข้าวัง จะต้องกราบที่เท้าคุณยายและคุณแม่ทุกครั้งไม่เคยขาด 

เงินเดือนที่ได้รับจะมอบให้กับคุณแม่ทุกเดือนเต็มจำนวน แล้วขอไปใช้ส่วนตัวเท่าที่จำเป็น จะทำบุญทำทานอะไร ก็มอบภาระความเป็นใหญ่ด้านการเงินไว้กับคุณแม่ สุดแต่จะเห็นสมควร ตลอดระยะเวลาที่รับราชการจนกระทั่งออกบวช

ของใช้ในวังไม่ว่าอะไรก็ตาม ท่านกำชับเด็กรับใช้ห้ามมิให้นำติดมือกลับบ้าน ในบ้านท่านไม่มีของหลวงแม้แต่ชิ้นเดียว มีอยู่คราวหนึ่งพบช้อนกาแฟมีตรารัชกาลที่ 6 อยู่ที่บ้านหนึ่งคัน ท่านถึงกับสอบสวนหาคนที่เอามาและให้รีบเอาไปคืนทันที

ท่านติดบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะห่างพ่อห่างแม่จึงถลำสูบจนติด สูบเรื่อยมาจนกระทั่งไปทำงานในวังจึงพยายามอดและเลิกได้ในที่สุด เพื่อป้องกันคำครหานินทาว่าทำงานในวังสูบบุหรี่ของหลวง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
พระอุปัชฌาย์ และกัลยาณมิตรในทางธรรม ของท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ

ท่านรับราชการจนกระทั่งรัชกาลที่ 6 สวรรคต จึงได้อุปสมบทเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 ณ พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร มี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ครั้งยังเป็นพระสาสนโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์  อุปสมบทเสร็จแล้ว ไปถวายพระเพลิงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พร้อมด้วยพระอุปัชฌาย์

ในระยะบวชใหม่ ๆ ท่านไปรับบิณฑบาตที่บ้านทุกวัน ภายหลังเมื่อคุณยายถึงแก่กรรมและเผาแล้ว ราวปี พ.ศ. 2471 จึงได้หยุดบิณฑบาตเนื่องจากความไม่สะดวก เพราะบวชนานก็มีผู้สนใจและศรัทธาท่านมากขึ้น เขาเจตนาจะถวายท่าน จัดไว้เฉพาะท่านรูปเดียว แต่พระรูปอื่นไม่ทราบก็แย่งตัดหน้าไปรับ ทำให้ผู้ที่ตั้งใจใส่บาตรท่านไม่พอใจ แต่จำใจต้องใส่เพราะมาเปิดฝาบาตรตรงหน้า ท่านเกิดสังเวชใจขึ้นมา คิดว่าควรจะให้พระภิกษุอื่นรับไปดีกว่า จึงให้ทางบ้านจัดอาหารมาถวายที่วัด มื้อเดียว ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน


ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ เป็นผู้อดทน มีความเพียร การทำวัตรเช้า-เย็น ท่านทำโดยตลอดไม่เคยขาด มีงดอยู่วันเดียวคือวันที่ท่านอาพาธเพราะถูกงูกัด สมเด็จอุปัชฌาย์ได้บอกให้ท่านงดสักวัน ท่านก็งดวันนั้นหนึ่งวัน ตลอดเวลาสี่สิบกว่าปี ท่านงดทำวัตรเพียงวันเดียว

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านเห็นต้นไม้ในกระถางเหี่ยวเฉา เมื่อถึงเวลาสรงน้ำจึงได้นำน้ำมารดต้นไม้กระถางนั้น ในขณะที่รดอยู่รู้สึกว่าถูกสัตว์กัดบนหลังเท้าซ้าย ตอนแรกนึกว่าเป็นงู แต่เมื่อนำไฟฉายมาส่องดูเห็นคางคกอยู่ข้างกระถาง เมื่อถูกกัดมีอาการปวดมาก ท่านได้ไปถามนายชิตคนดูแลโบสถ์ว่าคางคกกัดเป็นอย่างไร นายชิตตอบว่า ก็ตายสิครับ ท่านจึงบอกนายชิตว่า ถ้าวันรุ่งขึ้นท่านไม่ลงจากกุฏิท่านก็ตายนะ เมื่อสรงน้ำเสร็จ ก็กลับขึ้นกุฏิเอาผ้ารัดเข่าซ้ายไว้แน่น ใช้วิธีโยคะบำบัดตามที่ท่านเคยศึกษามารักษาจนหายเป็นปรกติ

เสาต้นนี้ ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุนั่งเป็นประจำ
เวลาท่านลงโบสถ์ทำวัตรเช้า-เย็น

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพหนีภัยไปอยู่ต่างจังหวัดกันเป็นส่วนมาก ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์ในวัดเทพศิรินทร์  แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ยังคงอยู่ที่กุฏิของท่านตลอดระยะเวลาสงคราม  ครั้งหนึ่งท่านเห็นเครื่องบินมาบินวนอยู่หลายรอบ และทิ้งระเบิดลงมา  ระเบิดลูกแรกตกลงข้างโบสถ์ แต่ไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป  ท่านบอกว่า พระเชียงแสนและพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์  ถ้าลูกระเบิดที่ตกลงมานั้นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก  ส่วนระเบิดอีกสองลูกไปตกถูกตึกแม้นนฤมิตของโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย พังพินาศ

ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ อยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส ตลอดระยะเวลาสงครามโดยปลอดภัย  เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพ แล้วใช้จีวรคลุมหีบศพต่างมุ้ง ท่านบอกว่า หากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพก็ไม่ลำบาก


ในบั้นปลายชีวิต ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ อาพาธด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ แผลมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก แต่ท่านก็มิได้แสดงความเจ็บปวดให้ญาติโยมเห็น ยังคงลงโบสถ์ ทำวัตรเช้าเย็น และสนทนากับญาติโยมเป็นปรกติ

การสวดมนต์ทำวัตรในโบสถ์เช้าเย็น ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ จะเป็นผู้นำสวดทุกวัน  ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นแผลมะเร็งที่คอขนาดใหญ่มาก แต่เวลาสวดมนต์ เสียงสวดมนต์ของท่านจะดังมาก เป็นที่น่าอัศจรรย์

นายแพทย์ไพบูลย์ บุษปธำรง แพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นแพทย์คนเดียวที่ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุอนุญาตให้ชำระแผลมะเร็งให้ท่านตั้งแต่เริ่มแรกที่แผลแตก ท่านพูดกับคุณหมอว่า อาตมาให้หมอทำเป็นขวัญมือเป็นคนแรก และให้ทำเป็นคนสุดท้าย จะไม่ให้ใครได้ทำอีก พูดเสร็จท่านก็เอนกายลงกับอาสนะ เมื่อคุณหมอได้เห็นแผลที่คอท่าน ถึงกับตกตะลึง เพราะหากเป็นคนธรรมดาทั่วไป คงต้องร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดทรมานอย่างที่สุด ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไม่สามารถขยับกายไปไหนมาไหนได้ แต่ท่านกลับมีอาการปรกติคล้ายไม่มีความรู้สึกใด ๆ

หลังจากชำระแผลเสร็จแล้ว ท่านได้สวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ท่านพูดกับคุณหมอด้วยว่า

"... หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติเขาตายกัน นับแต่ครั้งปู่ย่าตายาย แต่โบราณกาลตลอดมา ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยอง อย่างคนส่วนมากคิด คนเราเกิดมาก็ต้องมีสังขารเป็นที่อาศัย สังขารก็มีเวลาอยู่อย่างจำกัด ย่อมจะมีเสื่อมมีทรุดโทรมเป็นไปตามกาลเวลา ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่หายไปไหน หากเป็นเพียงเปลี่ยนจากภพหนึ่งไปเกิดอีกภพหนึ่ง อุปมาเหมือนหมอกับอาตมาซึ่งอยู่ในเวลาปัจจุบันเดี๋ยวนี้กำลังสนทนา เวลาดับผ่านไปทุกวินาทีทุกชั่วโมง และหมอได้ทำแผลให้อาตมา ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้าน และอาตมาก็กลับไปกุฏิ และทุกคนก็พากันกลับไปที่อยู่ของตน

นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องจากกัน เราได้พลัดพรากกัน แต่เรายังมีชีวิต มีสังขารร่างกาย เมื่อเราไปแล้ว แต่ที่นี่ที่เราได้มาร่วมสนทนาก็จะว่างเปล่า ไม่มีหมอ ไม่มีอาตมา และไม่มีใคร เพราะต่างแยกกันไป รู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ทุกคน อาตมาก็อยู่ที่กุฏิหลังจากที่ได้นั่งสนทนากัน แต่เวลานั้นก็ได้ผ่านดับไปตามโมงยาม เวลาไม่กลับมาอีก เป็นอดีต หมอก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องนึกว่าวันนี้ได้ไปทำแผลให้อาตมา และได้สนทนากันในโบสถ์ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่เวลานั้นได้ผ่านไปเป็นอดีต ไม่กลับมาใหม่ เราก็มีแต่ความทรงจำเหลือไว้เท่านั้น แต่เราก็คิดถึงกันได้ทางใจ การตายก็เหมือนกัน เป็นการจากไป ไม่ได้สูญไปไหน ยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันนี้ ไปอยู่อีกสภาวะหนึ่งซึ่งยากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็ยังสามารถระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ฯ" 


เรื่องอาการอาพาธของท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมอาการที่พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส ถึงสองครั้ง  การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาการในครั้งที่สอง เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2513  ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้กราบบังคมทูลว่า "อาตมาเห็นจะต้องขอลาแล้ว"

พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ

หนึ่งสัปดาห์ก่อนท่านธมฺมวิตกฺโกมรณภาพ ท่านได้เสกก้อนกรวดศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ มีอานุภาพมาก

เช้าวันที่ 8 มกราคม 2514 วันที่ท่านละสังขาร ท่านบอกกับหลานของท่านซึ่งไปส่งอาหารเป็นประจำว่า ให้เอาอาหารกลับไป วันนี้ไม่ฉัน และให้ไปบอกพระด้วยว่า วันนี้ไม่ลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์

การที่ท่านไม่ลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะท่านเคยพูดเสมอว่า "หากอาตมาขาดทำวัตรเมื่อใด นั่นก็หมายความว่า อาตมาจะต้องมรณภาพแล้ว"

พอตกเย็นท่านก็ยังไม่ลงโบสถ์ พระเณรอุบาสกอุบาสิกาต่างออกันอยู่หน้ากุฏิด้วยความวิตกกังวล พระมหาเสริมซึ่งเป็นพระที่ท่านธมฺมวิตกฺโกอนุญาตให้เข้ากุฏิได้หากมีสิ่งใดผิดปรกติ พร้อมด้วยนายแพทย์ไพบูลย์ บุษปธำรง แพทย์ผู้เคยทำแผล และคุณโกศล ปัทมะสุนทร หลานชาย ได้เข้าไปในกุฏิ เวลานั้นประมาณหนึ่งทุ่ม ในกุฏิไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ไฟฉายส่องสว่าง เห็นร่างของท่านนอนหงายในลักษณะสงบอยู่บนเสื่อ มีผ้าห่ม เอามุ้งลงและมีไม้ทับไว้ทุกด้านเป็นที่เรียบร้อย เหมือนท่านจะทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเลิกมุ้งตรวจดูก็ทราบว่าท่านสิ้นลมไปนานแล้ว มือที่พนมอยู่ตกห่างจากตัวแต่ก็ยังมีท่าพนมมือ ทั้งสามจึงได้หารือกัน เห็นควรให้ปิดเป็นความลับก่อน ด้วยเหตุผลว่าในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 9 มกราคม 2514 สานุศิษย์ของท่านพระครูอุดมคุณาทร จะจัดงานฉลองให้ท่านพระครูที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์ใหม่เป็นพระอุดมสารโสภณ หากข่าวการมรณภาพแพร่ออกไป งานฉลองสมณศักดิ์ที่จัดเตรียมไว้คงต้องล้มเลิก

เมื่อออกจากกุฏิ คุณหมอจึงบอกกับทุกท่านที่รอฟังอาการด้วยความกระวนกระวายใจว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ต้องการพักผ่อนอีกหนึ่งวัน เช้าก็ยังไม่ลงโบสถ์ เย็นก็ค่อยดูอาการอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงขับรถออกจากวัดไป รอจนเกือบเที่ยงคืนอันเป็นเวลาเงียบสงัด จึงได้วกรถกลับมาใหม่ แอบย่องไปพบท่านเจ้าอาวาสและท่านพระครูปัญญาภรณ์โสภณ (มหาอำพัน บุญ-หลง) เพื่อแจ้งให้ทราบข่าวการมรณภาพพร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่ต้องปิดบัง


ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ละสังขารเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2514 สิริอายุได้ 74 ปี 46 พรรษา หลังงานฉลองสมณศักดิ์ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณผ่านไปเป็นที่เรียบร้อย ข่าวการมรณภาพของท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุจึงได้แพร่ออกไปภายนอกในบ่ายวันเสาร์ที่ 9 มกราคม

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน  ได้เคยพูดถึงท่านธมฺมวิตกฺโกว่า ท่านเป็นพระอรหันต์กลางกรุง และเป็นพระที่สันโดษมาก


อ้างอิง  - ตามรอยธมฺวิตกฺโก พระอรหันต์กลางกรุง
         - ท่านผู้ให้แสงสว่าง โดย ท.เลียงพิบูลย์ (จากบันทึกของคุณตริ จินตยานนท์)

1 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้ได้ไปกราบรูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ ที่วัดเทพศิรินทรฯ ครับ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ