วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จารึกในพระเจดีย์ไพรีพินาศ


ปี พ.ศ. 2506  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบนักษัตร วัดบวรนิเวศวิหาร มีดำริให้บูรณะและปิดกระเบื้องสีทององค์พระมหาเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชาและเพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยนั้น



เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว การบูรณะได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2507 ครั้นถึงวันวิสาขบูชาที่ 26 พฤษภาคม ศกนั้น จึงได้ประกอบพิธีปิดกระเบื้องทองเป็นปฐมฤกษ์เมื่อเวลา 14:30 น. โดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นทิพยาลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรีในขณะนั้น ทรงเป็นประธานในพิธี ทรงวางกระเบื้องสีทองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยเป็นพุทธบูชาบนสาแหรก แล้วชักรอกขึ้นสู่องค์พระมหาเจดีย์ เพื่อเจ้าหน้าที่ทำการปิด ณ องค์พระมหาเจดีย์

พระเจดีย์กะไหล่ทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ประดิษฐานเป็นประธาน อยู่ภายในพระมหาเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร

กล่าวถึงองค์พระมหาเจดีย์สีทองที่ได้ทำการบูรณะในครั้งนั้น ภายนอกมีซุ้มเก๋ง เป็นที่ประดิษฐาน "พระไพรีพินาศ"  ภายในมีแท่นฐาน ประกอบด้วยเสาสี่เสา จากสี่มุมของแท่นฐานถึงซุ้มเพดานโค้งข้างบน ระหว่างเสามีช่องซุ้มสี่ช่อง แท่นฐานนี้ก่อขึ้นกลางคูหา มีทางเดินโดยรอบ มีพระเจดีย์กะไหล่ทองประดิษฐานเป็นประธานอยู่ พระเจดีย์กะไหล่ทองนี้ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

พระเจดีย์ไพรีพินาศ
ประดิษฐานอยู่ภายในพระมหาเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร

หน้าพระเจดีย์กะไหล่ทอง ทางทิศตะวันออก มีพระเจดีย์ศิลาองค์ย่อมประดิษฐานอยู่ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 เจ้าอาวาสพร้อมด้วยคณะกรรมการวัด ได้เคลื่อนย้ายพระเจดีย์ศิลานี้ออกมาตั้งภายนอกเพื่อทำความสะอาด และได้ถอดออกเป็นชั้น ๆ  ในชั้นที่ 2 เหนือก้านฉัตร ถอดออกพบกระดาษสีขาวชิ้นหนึ่งพับสอดอยู่เก่าชำรุด มีตราแดง 2 ดวง เล็กองค์ ใหญ่องค์ ประทับที่มุมกระดาษด้านหนึ่ง มีอักษรเขียนว่า

"พระสถูปเจดิยสิลาบัลลังองค์จงมีนามว่าพระไพรีพินาศเจดียเทิญ"

อีกด้านหนึ่งมีข้อความว่า

"เพราะตั้งแต่ทำแล้วมาคนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ"


ลายพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถวายนาม พระไพรีพินาศเจดีย์

ลายอักษรในกระดาษชิ้นนั้น ได้เทียบดูกับลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีอยู่เป็นหลักฐาน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานนามพระเจดีย์ศิลาองค์นี้ว่า "พระไพรีพินาศเจดีย์" และทำให้สันนิษฐานต่อไปว่า พระเจดีย์ศิลาองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจักได้ทรงโปรดให้สถาปนาขึ้นไว้แต่ครั้งยังทรงพระผนวชประทับอยู่ ณ วัดนี้ (พ.ศ. 2379 - พ.ศ. 2394) หรือไม่เช่นนั้น ก็คงจักได้ทรงโปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่คราวหนึ่ง เรียกว่างานผ่องพ้นไพรี (พ.ศ. 2396)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ในฉลองพระองค์ทรงศีล
ฉายเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2410

มีอะไรในพระเจดีย์ไพรีพินาศ ? ... ที่องค์ระฆังของพระไพรีพินาศเจดีย์มีลักษณะกลวงทะลุลงไปถึงฐานที่ตั้ง ในช่ององค์ระฆังมีแผ่นศิลาจารึก 2 แผ่น เขียนด้วยอักษรอริยกะ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อครั้งยังทรงพระผนวชและใช้อยู่ในคณะธรรมยุตระยะหนึ่ง แผ่นศิลานี้ จารึกพระพุทธวจนะ แปลได้ความดังต่อไปนี้

แผ่นศิลา จารึกอักษรอริยกะ
ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่
บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์ไพรีพินาศ

คำแปลแผ่นศิลาจารึก แผ่นหนึ่ง 

(หน้าหนึ่ง)
ไม่พึงนึกหน่วงสิ่งที่ล่วงแล้ว (อดีต) ไม่พึงมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง (อนาคต)
(เพราะ) สิ่งที่เป็นอดีต ก็ละไปแล้ว  สิ่งที่เป็นอนาคต ก็ยังไม่มาถึง
ผู้ใดพิจารณาเห็นธรรมปัจจุบันในกาลนั้น ๆ แจ้งชัด ไม่ให้ง่อนแง่น ไม่ให้กำเริบ (ไปตามความเห็นผิด) ผู้นั้นครั้นรู้เห็นแล้วพึงเจริญข้อนั้นไว้เถิด
ควรรีบประกอบความเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าพึงรู้ว่า ความตายจักมีมาในวันพรุ่ง
เพราะจะผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่ได้เลย
มุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีความเพียรเผาบาป ไม่เกียจคร้านทุกวันคืน อยู่เป็นปกติอย่างนี้ นั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ
ตนนั่นแล อันบุคคลชนะแล้ว ประเสริฐกว่าที่จะชนะคนอื่น
เมื่อบุคคลฝึกตนดีแล้ว ประพฤติสำรวมเป็นนิจ เทวดา คนธรรพ์ มาร พร้อมทั้งพรหม พึงทำความชนะของบุคคลเห็นปานนั้นให้กลับแพ้ไม่ได้เลย
ตนแล เป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้โดยยาก

(อีกหน้าหนึ่ง)
อนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น ได้ทรงภาษิตไว้ดังนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย อย่าเชื่อโดยได้ฟังตาม ๆ กันมา
อย่าเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าที่ถือสืบ ๆ กันมา
อย่าเชื่อโดยตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ ๆ
อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา
อย่าเชื่อโดยการนึกเดา
อย่าเชื่อโดยการคาดคะเน
อย่าเชื่อโดยการตรึกตามอาการ
อย่าเชื่อโดยเห็นว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อได้
อย่าเชื่อโดยเห็นว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา
ในกาลใด ท่านทั้งหลายทราบด้วยตนเองทีเดียวว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมมีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย เพื่อความทุกข์ ในกาลนั้น ท่านทั้งหลายพึงละ (ธรรมเหล่านั้น) เสีย
ในกาลใด ท่านทั้งหลายทราบด้วยตนเองทีเดียวว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้หาโทษมิได้ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึง (ธรรมเหล่านั้น) อยู่ เถิด ดังนี้

คำแปล ศิลาจารึก อีกแผ่นหนึ่ง

(หน้าหนึ่ง)
อายุคือชีวิต เป็นของน้อย อันชรานำรุกร้นเข้าไป (หาความดับ)  ความต้านทานย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ชรานำเข้าไป บุคคลเมื่อเห็นภัยในความตายนี้ พึงกระทำบุญที่เป็นเหตุนำสุขมาให้
ชีวิตอันชรานำรุกร้นเข้าไป (หาความดับ) อายุก็น้อยเข้า ความต้านทานย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ชรานำเข้าไป ผู้หวังความสงบเล็งเห็นภัยในความตายนี้ พึงละโลกามิสเสีย
ผู้ใดในโลกนี้ สำรวมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ข้อนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้นั้น ซึ่งล่วงลับไปแล้ว เพราะเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่กระทำบุญไว้
ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในเพราะธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมไม่ไปทุคติ
เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นมรรคาแห่งความบริสุทธิ์ เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่ตน เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นมรรคาแห่งความบริสุทธิ์

(อีกหน้าหนึ่ง)
คนจำพวกหนึ่ง ถือฐานะที่ไม่ผิด ส่วนคนอีกจำพวกหนึ่ง คิดส่ายไปถือฐานะที่สอง คือที่ผิด ผู้มีปัญญารู้ฐานะทั้งสองนี้แล้ว สิ่งใดไม่ผิดก็พึงถือเอาสิ่งนั้นเถิด
มนุษย์เป็นอันมากถูกภัยคุกคาม ย่อมถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง นั่นแล ไม่ใช่สรณะอันเกษม ไม่ใช่สรณะอันอุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง เห็นอริยสัจทั้งสี่ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และมรรคอันประเสริฐมีองค์แปด อันให้ถึงความสงบทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบนั่นแล เป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะอันอุดม เพระบุคคลอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง


อ้างอิง    -  ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น