วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

บาตรบุบ.. อัศจรรย์​พระ​อาจารย์​จวน


วัน​อาทิตย์ที่​ 27​ เมษายน​ พ.ศ. 2523
เกิด​อุบัติเหตุ​ครั้งสำคัญ​ เครื่อง​บินของบริษัท​เดินอากาศ​ไทย​ (ต่อมา​ควบรวมกิจก​ารกับบริษั​ทการบินไทย) เที่ยว​บิน​ที่​ TG-231 อุดรธานี​-กรุงเทพ​ฯ​ เป็น​เครื่อง​บิน​ 2 ใบพัด​ รุ่น ​HS-748 รหัส​ ​HS-THB ตกที่ทุ่ง​รังสิต​ ห่างจากสนามบินดอนเมืองราวยี่สิบกิโลเมตร 
ขณะเกิดเหตุ เป็นเวลาประมาณบ่ายสองโมง มีพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้เครื่องบินซึ่งกำลังลดระดับลงสู่สนามบินเสียการทรงตัว มีผู้โดยสาร​เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีพระสงฆ์​มรณภาพพร้อมกัน 7​ รูป ในจำนวน​นี้​ เป็น​พระสาย​วิปัสสนาธุระ ศิษย์​พระอาจารย์มั่น ภูริทัต​ตเถระถึง​ 5  รูป​ คือ​


1. พระอาจารย์บุญ​มา​ ฐิตเปโม​ วัดสิริสาละวัน​ บ้านโนนทัน​ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบัน​คืออำเภอเมือง​ จังหวัดหนองบัว​ลำภู)  

2. พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือ พระอาจารย์​วัน​ อุตฺตโม​ วัดถ้ำอภัยดำรง​ธรรม​ อำเภอ​ส่องดาว​ จังหวัดสกลนคร  

3. พระอาจารย์จวน​ กุลเชฏโฐ​ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบัน​คืออำเภอศรีวิไล​ จังหวัดบึงกาฬ)​ 

4. พระอาจารย์​สิงห์​ทอง​ ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว​ บ้านชุมพล​ อำเภอสว่างแดนดิน​ จังหวัด​สกลนคร​ 

5.​ พระอาจารย์​สุพัฒน์​ สุขกาโม​ วัดป่าประสิทธิ์​สามัคคี​ บ้านต้าย อำเภอสว่าง​แดน​ดิน​ จังหวัด​สกลนคร​

พระบาทสมเด็จ​พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรด​พระราชทาน​พระบรมราชานุเคราะห์บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ณ วัดพระศรีมหาธาต​ุ​วรมหาวิหาร​ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินมาในงานศพทุกคืน
ทรงจัดดอกไม้บูชาหน้าศพด้วยพระองค์เองทุกคืน

หลังเกิดเหตุ​ พระลูกศิษย์​ได้เดินทางไปยังจุดที่เครื่องบินตกเพื่อค้นหาบริขารของอาจารย์​ เช่น​ บาตร​ ย่าม​ กลด​ รองเท้า​ ฯลฯ​ ซึ่งกระจัดกระจาย​อยู่ตามท้องทุ่ง​นา​ ถึงแม้จะมีพระสงฆ์มรณภาพ​พร้อมกันหลายรูป​ แต่บรรดาศิษย์ต่าง​ก็จำบริขารเครื่อง​ใช้​ของอาจารย์​ของ​ตนได้​ การค้นหา​เป็น​ไป​ด้วย​ความ​ยากลำบาก​ เพราะสถานที่เกิดเหตุ​เป็นดินโคลน​ ซากเครื่องบินก็อยู่ใน​สภาพ​พังยับเยิน​ บางอย่างก็พบบนดิน​ บางอย่างต้องงัดซาก​เครื่องบิน​ออก​

บาตรบุบ

กล่าว​ถึงสมณบริขารของพระอาจารย์​จวน​ กุลเชฏโฐ​ รวมถึง​ "บาตร" ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวสุดอัศจรรย์​ สุดท้าย​ก็หาได้ครบ​ ยกเว้นรองเท้าข้างเดียวซึ่งคาดว่าคงถูกแรงกระแทกของเครื่องบิน​อัดจมหายลงไปในดิน

บาตรซึ่งพบในที่เกิดเหตุอยู่ในสภาพเสียหายมากอย่างเห็นได้ชัด​ ฝาบาตรปิดสนิทแน่น​ บุบยุบลงไปด้วยกันกับตัวบาตร​ ต้องออกแรงงัดเป็นการใหญ่​จึงสามารถเปิดออกได้​ ภายในบาตรมีผ้าสังฆาฏิ​และ​เครื่อง​ใช้​อื่น ๆ ​ที่พระท่าน​ใช้เป็นประจำเวลาออกธุดงค์​ แต่ที่ดูแปลกประหลาด​คือ​ มีซองจดหมายอยู่ซองหนึ่ง​ ​เป็นซองราชการ​ มีตรากระทรวง​มหาดไทย​อยู่ที่มุม​ซอง​ ปิดผนึกอย่างดีและตีตราลับ​ วางอยู่ข้าง​บนอัฐ​บริขาร​ทั้งหมด​

เอกสารซองนี้​เป็นเอกสารลับ​ของประเทศ​ คุณสมพร กลิ่นพงษา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้น​ นำติดตัวเข้ากรุงเทพฯ​ และท่านก็เป็นหนึ่งในผู้​โดยสารเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ​ แต่ท่านนั่งอยู่ท้ายเครื่อง​ จึงรอดชีวิต​มาได้ แต่ก็ได้รับ​บาดเจ็บ​สาหัส​ เมื่อทีมกู้ภัย​เข้าไป​ช่วยเหลือ​ ท่านยังมีสติ​พอบอกกับผู้ที่ไว้วางใจว่า​ ท่านได้นำเอกสาร​สำคัญ​ชิ้น​หนึ่ง​ติดตัวมาด้วย​ ขอให้ช่วยหาให้พบ​ หากตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม​จะเกิดอันตราย​เสีย​หายร้ายแรงแก่บ้าน​เมือง​

เจ้าหน้าที่​ช่วยกันค้นหาอยู่สองวันเต็ม ​ๆ​ ระหว่าง​นั้น ก็ได้แต่ภาวนาว่า หากหาไม่พบ​ ก็ขอให้เอกสารนั้นถูก​อัดหายเข้าไปในดินโคลน​ แล้วในที่สุด กลับพบว่า​เอกสารซองดังกล่าว​อยู่​ภายในบาตรของ​พระอาจารย์​จวน

คุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​ มณีวัต​ ศิษย์​ผู้ใกล้ชิด​พระอาจารย์​จวน​เล่าว่า​ ศพพระคณาจารย์ทั้งหมดตั้งบำเพ็ญ​พระราช​กุศล​อยู่ที่วัดพระ​ศรีมหาธาตุ​วรมหาวิหาร​ ในพระบรมราชานุเคราะห์​ นอกจาก​เวลา​ทำงาน​ปรกติแล้ว​ คุณ​หญิงจะมาอยู่ช่วยงานที่วัดโดยตลอด​ เมื่อพระช่วยกันงัด​ฝาบาตร​ออกและพบซองจดหมาย​ราชการ​ ก็นำมาให้​คุณหญิง​ บอกว่าไม่ทราบ​เป็นของใคร นำมา​ฝากไว้กับ​ท่าน​อาจารย์​ เมื่อเชิญ​ผู้แทนจากกระทรวง​มหาดไทยมาดู ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นเอกสารสำคัญ​ที่กำลัง​ต้องการ​จริง​ ๆ

จึงเกิดคำถาม​​ขึ้น​ใน​ใจสารพัด​ว่า ท่านผู้ว่าฯ​ สมพร​ นึกอย่างไรถึงได้เอาซองเอกสารสำคัญ​มาฝากไว้กับพระอาจารย์​จวน​ เอกสารสำคัญแบบนี้​ ทำไมไม่เก็บ​รักษา​ไว้​กับตัว​ หรือเกิดสังหรณ์​ใจอะไร จึงนำมา​ฝาก​ไว้​ หรือพระอาจารย์​จวนหยั่งรู้​เหตุการณ์​ล่วงหน้า​ จึงเรียกให้นำไปฝาก​ไว้​ ฯลฯ​ ครั้นจะไปถามคุณสมพรในขณะนั้นให้คลายสงสัย ก็ไม่เหมาะไม่​ควร​ เพราะท่านกำลังเจ็บหนัก​และพักรักษาตัว​อยู่​ในโรงพยาบาล​

เจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์นี้ จัดสร้างขึ้น ณ จุดซึ่งเป็นเมรุชั่วคราวหน้าวัด
เป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์จวน เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2524

เวลาผ่านเลยไปนานหลาย​ปี​ จนกระทั่งต้นเดือน​พฤศจิกายน​ พ.ศ. 2532 เมื่อการก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์​พระอาจารย์จวนแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมห้องแสดงอัฐบริขาร​ตลอดจนเครื่องใช้ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เช่น สบง จีวร​ สังฆาฏิ​ อังสะ ย่าม รองเท้า บาตร ฯลฯ คุณ​หญิงสุรีพันธุ์เหลือบไปเห็นบาตรบุบก็นึกขึ้นได้​ จึงโทรศัพท์​ไปพูดคุยสอบถามความเป็นมากับคุณสมพร กลิ่นพงษา ​ว่านึกอย่างไร​จึงเอาเอกสาร​สำคัญไปฝากไว้กับพระ​อาจารย์​จวน​

คุณ​สมพรถึงกับขนลุก เพราะท่านไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า เอกสารนั้นได้มาจากบาตรของพระอาจารย์​จวน​ ท่านบอกว่าเอกสารนั้น​เป็นเอกสารลับของทางราชการ​ เกี่ยวข้อง​กับความเป็​นความตายของบ้านเมือง​ ท่านเก็บรักษาไว้กับตัวตลอด​เวลา แม้ในขณะที่​เครื่องบินกำลังดิ่งพื้น​ ไม่ได้แพร่งพราย​ให้ใครทราบ​ และไม่ได้เอาไปฝากไว้กับใครทั้งสิ้น

คุณ​สมพรเล่าต่อไปว่า​ ในวันเกิดเหตุ​ ท่านเดินทางจากนครพนมมาขึ้นเครื่องบินที่อุดรธานีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมารับรางวัล​ชนะเลิศ​การปราบยาเสพติด​ซึ่งมี​กำหนดจะมอบรางวัลกันในวันจันทร์ที่​ 28​ เมษายน​ พ.ศ. 2523​ ปรกติ บริษัท​เดินอากาศ​ไทย​ จะสำรอง​ที่นั่งแถว​แรกให้กับผู้ว่า​ราชการ​จังหวัด​เสมอ​ แต่พนักงานต้อนรับ​บนเครื่องบินได้มาขอให้​ท่านยกที่นั่งให้กับคณะของพระอาจารย์​จวน​ ท่านไม่ขัดข้อง​และย้ายไปนั่งบริเวณ​กลางลำ​ สักพักก็มีสามีภรรยา​เดินทาง​มากับลูกน้อยอีก​คน​หนึ่ง​ ได้ที่นั่งข้างคุณ​สมพรเพียงสองที่​ จึงอยากจะขอแลกที่นั่งเพื่อให้​ได้มานั่งอยู่ด้วยกันทั้ง​ครอบครัว​ คุณ​สมพรเห็นใจก็ยอม​แลกที่นั่งให้​ แล้วท่านก็ย้ายที่นั่งอีกครั้งไปนั่งตรงบริเวณ​ท้ายเครื่อง​บิน​  

ปรากฏ​ว่า​ผู้โดยสารตรงส่วนท้ายของเครื่องบิน​รอดชีวิต​กันหลายคน​ ส่วนผู้โดยสาร​พ่อแม่ลูกที่มาขอแลกที่นั่ง​กับท่าน​ ตายหมดทั้งสามคน​ ท่านเล่าด้วยความเศร้า​ใจว่า​ "หมดเลยครับ​ ผมต้องทำบุญ​ให้เขา​ เท่ากับเขา​มาตายแทนผมแท้ ๆ เชียว โธ่.. "  คุณ​หญิง​สุรี​พันธุ์​ได้​ปลอบใจว่า​ "คุณ​ไม่​ได้​เป็น​คนไปขอแลกที่นั่งกับ​เขา​ เขา​มาขอ​แลกที่นั่งกับคุณ​เอง​ แปลว่า เขา​จะ​ถึง​ที่เองต่างหาก​ค่ะ"  

เรื่องเอกสารลับนั้น​ เมื่อเจ้าหน้าที่​มาบอกกับคุณสมพรว่าหาพบแล้วก็โล่งใจ​ ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพระอาจารย์​จวน​ท่านเอาเข้าไปเก็บไว้ในบาตรให้​ บาตรกับฝาบาตรบุบยุบ​อัดติดกันแน่น​ เปิดไม่ออกจนพระต้องช่วยกัน​งัด​ เท่ากับว่าท่านช่วยเก็บรักษา​ไว้ไม่ให้ใครไปพบเห็น​ก่อน

แล้วพระอาจารย์​จวนทราบได้อย่างไรว่าคุณ​สมพรมีเอกสารสำคัญ​อยู่กับตัว ?!? 

ในวินาทีที่ความเป็น​ความตาย​กำลังคุกคาม​ทุกชีวิต​ รวมถึงพระอาจารย์​จวนเอง ก็อยู่ในวินาทีแห่งความเป็​นความตายนั้นด้วย​ ทุกคนบนเครื่องบิน​ต่างพากันภาวนาหาที่พึ่ง​ เชื่อ​ว่า​ข่ายพระอริยญาณ​ของท่านแผ่ไปโดยรอบ​ รับ​รู้ถึงความวิตกกังวลของคุณสมพรกับเอกสารลับของประเทศ​ เห็นควรให้ความช่วยเหลือ​และคงต้องคิดต่อไปด้วยว่าจะช่วยโดยวิธีใด​ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ​ในเวลาที่จิตของท่านพระอาจารย์​เองก็กำลังจะละขันธ์​ ท่านทำได้​อย่างไร​ 

นี่เอง​ ที่องค์​สมเด็จ​พระสัมมาสัมพุทธ​เจ้าตรัสว่าเป็นอจินไตย​ คือเป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​ควร​คิด​ เพราะ​ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญ​ของปุถุชน​ ฌานวิสัยหรือวิสัยแห่งอิทธิ​ฤทธิ์ของฌาน​เป็นเรื่อง​ทางจิต​ จึง​เป็น​เรื่อง​ที่​รู้​ได้​ด้วย​การ​บรรลุ​ธรรม​ขั้นสูงเท่านั้น

หลายคืนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จกลับพระราชวังแล้ว แต่พอตกดึกก็เสด็จหวนกลับมาที่วัดอีก
มีคืนหนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินมาถึงวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นเวลาเกือบตีสอง
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังกลับไปหมดแล้ว พระองค์ท่านเสด็จประทับบนพื้น
ทรงสวดมนต์และทรงบำเพ็ญภาวนาพร้อมกับพระสงฆ์และประชาชน

ในคืนแรก​ที่บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพพระอาจารย์​ทั้งหลาย​ที่วัดพระศรีมหาธาตุ​ มีผู้ใหญ่​ใน​แผ่นดิน​ท่าน​หนึ่ง​เห็น​สีหน้า​เศร้า​สร้อยของคุณหญิง​สุรีพันธุ์ ก็เรียกเข้า​ไปปลอบด้วย​ความ​เมตตา​ ไม่​ให้เศร้า​โศก​เสีย​ใจจนเกินไป​ ท่านบอกกับคุณหญิง​ว่า​ โหรหลวงเขาทำนายไว้ตั้งแต่​ก่อนปีใหม่​ว่า​ ปีนี้ชะตาเมือง​ไทยจะตกต่ำถึง​ขีดสุด​ อาจจะ​มีข้าศึก​ยกกองทัพ​เข้ามารุกราน​ หรือไม่เช่นนั้น​ ก็ต้องสูญเสีย​พระอริยเจ้าพร้อม ๆ กันหลายองค์​

เป็นไปได้ไหมว่า.. พระอริยญาณของพระอาจารย์​ทั้งหลายสอดคล้อง​กับคำทำนาย​ของ​โหรหลวง​ เมื่อ​มีสิ่ง​ศักดิ์​สิทธิ์​มาอาราธนา​เชิญท่านไปเพื่อ​แลกกับความเป็นตายของประเทศ​ชาติ​ มีหรือที่ท่านจะไม่ยินดีช่วยเหลือ​

คุณหญิงสุรีพันธ์ุ มณีวัต
ผู้เขียนและเรียบเรียงชีวประวัติ ปฏิปทา และพระธรรมเทศนา
ของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ภายหลัง​การมรณภาพ​ของพระอริยเจ้า​ทั้งห้ารูป​ เกิดคำถามตามมา​ว่า​ ท่านเหล่านั้นรู้ล่วงหน้า​หรือไม่​ และถ้ารู้​ ทำไม​ยัง​มา​ บางคำถาม​ออกไปในเชิงดูแคลน​ วิพากษ์วิจารณ์​กันไปต่าง ๆ นา ๆ

ระหว่าง​ที่ศพพระคณาจารย์​ตั้งอยู่​ที่วัดพระศรีมหาธาตุนั้น​ คุณหญิงสุรี​พันธุ์​ได้อาศัยซอกด้านหลัง​ที่ตั้ง​หีบศพเป็นทางเดิน​จงกรม​  นึกไปถึง​คำพูด​ของคนบางคน​ ไปพูดว่าศพเหม็น​ อะไรต่อมิอะไร​ คุณ​หญิง​เดินจงกรมอยู​่หลังหีบศพ​ ก็ไม่ได้​กลิ่น​เหม็น​ ตรงกันข้าม​ กลับ​รู้สึก​หอมเหมือนกลิ่นดอกไม้​ทิพย์​เสีย​ด้วยซ้ำ

คืนหนึ่ง ​เป็นเวลาสอง​นาฬิกา​ของวันใหม่​ ศิษย์​ส่วนใหญ่ถ้า​ไม่นั่ง​ภาวนา​ ก็นอนหลับ​กัน​หมด​ ขณะที่​คุณ​หญิง​กำลัง​เดิน​จงกรม​อยู่​นั้น​ ใจก็หวนคิดถึงพระอาจารย์​จวน​​ กุลเชฏโฐ คนเขาพูดจาดูแคลนว่าท่านไม่ใช่พระ​อรหันต์​ แต่คุณ​หญิงก็ยัง​เชื่อ​มั่นว่าท่าน​เป็น​พระ​อรหันต์​ เดินไปนึกไปจนเกือบจะ​สุดทางจงกรม​ ก็ต้องสะดุ้งตกใจเพราะมีผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวธรรมดา​ มายืนอยู่ใกล้ ๆ​ ตั้งแต่​เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ​ ยิ้มให้คุณหญิง​แล้วพูดว่า​ "ไม่ต้องห่วง​ ไม่ต้อง​สงสัย​ ท่านอาจารย์​ไปดีแล้ว​อย่างที่คิดน่ะ" คุณ​หญิง​รู้สึก​แปลกใจ​จึงถามว่าเป็นใครมาจากไหน​ ผู้ชายคนนั้นก็ตอบด้วยน้ำเสียงเหมือน​คนอ่านหนังสือว่า​ "อยู่​-ที่-นี่-เอง" 

คุณ​หญิง​บอก​ "เหรอฮะ" แล้วเดินเลยไปสองก้าว​ แต่แล้ว​ก็เอะใจ​ว่า ขณะเดินจงกรม สายตาเธอทอดต่ำ​ ทำไมมองไม่เห็นเท้าของชายผู้นั้น​ นึกขึ้นมาได้ก็เหลียวกลับไปดู​ ปรากฏ​ว่าไม่มี​ใครอยู่บริเวณนั้น​ ทั้ง ๆ ที่​เป็น​ทางโล่ง ๆ แคบ ๆ​ 

วันต่อมา​ ได้มี​โอกาส​กราบนมัสการ​ถามท่านพระครูสุทธิธรรมรังสี (หลวงปู่​เจี๊ยะ จุนฺโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี) ท่านบอกว่าเป็นเทพอยู่ที่วัดพระศรี​มหา​ธาตุ ! 

อัฐิพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
แปรสภาพเป็นพระธาตุ

เมื่อเวลาผ่านไป​ เกียรติคุณ​ของพระคณาจารย์​เริ่ม​เป็น​ที่ประจักษ์​ พระธาตุ​ของท่านเริ่ม​ปรากฏ​ ทำให้​น้ำเสียงของความสงสัย​เปลี่ยนไปในทางนอบน้อม​ขึ้น​ มีสัมมาคารวะ​มากขึ้น​ แต่ก็ยังคง​สงสัย​อยู่​ตามวิสัย​ปุถุชน​คนธรรมดา​

คุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​เล่าว่า​ พระอาจารย์​จวน​ กุลเชฏโฐ​ และพระอาจารย์​วัน​ อุตฺตโม​ มีพรรษาใกล้เคียงกันและสนิทสนมกันประดุจคู่แฝด ขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ต่างเคยเข้าที่พิจารณา​อายุ​ขัย ได้ความตรงกันว่า​ ท่านทั้งสองจะมีอายุ​ยืนยาวมาก​ จะมีอายุถึงเก้าสิบกว่า​ ท่านพูด​เช่นนี้มาตลอด​ พระอาจารย์​จวนยัง​เล่าว่า ถึงตอนนั้น​ ท่านและพระอาจารย์​วันคงไม่ได้​พบหน้ากัน​แล้ว​ ต่างองค์​ต่างอยู่​ ไปหากันไม่ไหว​ ต้องสั่งฝาก​ไปหากัน​ เหมือนหลวงปู่​ขาว​กับ​หลวง​ปู่​แหวน​

(ซ้าย) พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
(ขวา) พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก อำเภอศรีวิไล  จังหวัดบึงกาฬ

แต่แล้ว ในเดือนมีนาคม​ พ.ศ. 2523​ ท่านเริ่ม​พูด​ถึงการพลัดพราก​ เทศน์​เรื่อง​กรรม​ เทศน์​เรื่องปัจฉิมโอวาทอยู่หลายครั้ง​ มีอยู่​วันหนึ่ง​ พออาราธนาให้เทศน์​และเตรียม​อัดเทป​ ท่านก็ตั้งต้นเลยว่า​ "นับแต่​วัน​นี้ไปอีกสาม​เดือน​ เรา​ตถาคต​จะขอลา​พวก​ท่าน​ทั้งหลาย​เข้า​สู่พระปรินิพพาน​ เพราะอายุ​สังขาร​ของเรา​สิ้นสุด​ลงเพียงแค่​นั้น​ ให้พระอานนท์​ประกาศ​แก่​สงฆ์​ทั้งหลาย​ให้ทราบโดยทั่วกัน....." 

โดยปรกติ​ก่อนเทศน์​ ท่านจะอารัมภบท​เล็กน้อยก่อนเสมอ​ เช่น​ "ให้หลับตานั่งสงบจิตตั้งใจฟัง​ วันนี้จะเทศน์​เรื่อง....." แต่วันนั้น ท่านตั้งต้นแบบนั้นเลย แม้จะเป็นเพียงการนำพระ​พุทธดำรัสปลงพระชนมายุสังขารมากล่าว​ แต่ก็ทำเอาผู้ที่นั่งฟังอยู่ถึงกับสะดุ้ง

ระหว่างอยู่ที่​ภูทอกต้นเดือน​เมษายน​ พ.ศ. 2523​ ท่านฝากฝังกับคุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​ให้ช่วย​ทำศพให้​ ท่านถาม​ย้ำถึง​สอง​ครั้ง​ว่า ทำศพให้อาตมา​ได้​ไหม​ คุณหญิงยังแย้งท่านว่าจะให้ช่วยทำศพได้อย่างไร​ พระอาจารย์​จะอยู่ถึงเก้าสิบกว่า​ ตัวคุณ​หญิงเองคงจะตายก่อนท่าน​ หรือถ้าหากมีชีวิตยืนยาว​ ก็คงจะเฉียดเก้าสิบเหมือนกัน​ อายุปูน​นั้นจะมีสติปัญญา​ทำอะไร​ได้ ท่านก็ว่า​ ".. ก็เผื่อมันต้องเปลี่ยนแปลง​ล่ะ !" 

เชื่อว่าพระอาจารย์​จวนต้องหยั่งรู้​เหตุการณ์​ล่วงหน้า​อย่างแน่นอน​ ท่านสั่งตั้งเจ้าอาวาส​ล่วงหน้า​ บอกว่าต่อไปนี้ใครถามหาเจ้าอาวาสภูทอก ให้บอก​ว่า​ ท่านแยงนะ​ (หมายถึง​พระอาจารย์​แยง​ สุขกาโม)​ ท่านยังพูด​อีกว่า​ มากรุงเทพ​ฯ ​คราวนี้​ อยู่​แค่วัดพระศรีฯ​ (ซึ่ง​เป็น​ที่​ตั้ง​ศพของ​ท่าน)​ ก่อนจะเดินทาง​มากรุงเทพ​ฯ​ อัน​เป็นการ​เดินทาง​ครั้ง​สุด​ท้าย​ ท่านได้รีบอัดเทปประวัต​ิเพิ่มเติมไว้ถึงเจ็ด​ม้วน​ สั่งให้ทางวัดเก็บไว้​ เมื่อพระอุปัฏฐาก​กราบเรียน​ถาม​ท่าน​ว่าไม่นำติดตัวไปด้วยหรือในเมื่อ​ท่านจะได้พบกับคุณ​หญิง​สุ​รี​พันธุ์​อยู่​แล้วที่กรุงเทพ​ฯ​ ท่านอาจารย์​กลับบอกว่า ไม่เป็นไร​ สุรี​พันธุ์​เขาจะมารับเองที่วัด​ พระอาจารย์​คงมีเหตุผล​ของท่าน​ ถ้านำเทปชุด​นั้นติดตัวมาด้วยคงเสียหายหมด

(ซ้าย) พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
(ขวา) พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์​สุพัฒน์​ สุขกาโม ซึ่งมรณภาพด้วยกันในเที่ยวบินที่เกิดอุบัติเหตุฝันแม่นยำมากก่อนจะไปมรณภาพในคราวนี้ หลวงตามหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน เล่าว่า พระอาจารย์​สุพัฒน์​ท่านฝันร้ายกาจไม่มีชิ้นดี ไม่เคยฝันร้ายอย่างนี้มาก่อน ถึงกับปรารภว่าเขามานิมนต์ให้ไปงานนี้ ไม่ใช่จะเอาเราไปตกเครื่องบินตายเหรอ ท่านว่าถ้าเขามานิมนต์โดยลำพัง ท่านจะไม่รับ แต่ด้วยความ​เคารพนับถือ​พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เมื่อเขาไปนิมนต์​พระอาจารย์​สิงห์​ทอง พระอาจารย์สิงห์ทองรับก็เลยต้องรับตามไปด้วย แล้วก็มรณภาพไปด้วยกัน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้โยมแม่และเครือญาติของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เข้าเฝ้า

โยมแม่ของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เล่าว่า คืนก่อนจะทราบข่าวร้าย สะดุ้ง​ตกใจ​ตื่น​ขึ้น​ราว​กับ​มีใครมาปลุก เห็น​แสงสว่าง​ปรากฏที่หัวนอน สว่าง​โร่ราวกับเวลากลางวัน ได้ยินเสียงเรียก "แม่... แม่... แม่" สามครั้ง  จำได้​ว่า​เป็น​เสียง​พระอาจารย​์วัน​ วันต่อมาจึงทราบข่าว

พระวิสุทธิญาณเถร (พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย)
วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี

พระอาจารย์​สมชาย ฐิตวิริโย 
ประธานสงฆ์​วัด​เขา​สุ​กิม​ จังหวัดจันทบุรี​ ท่านเป็นพระวิปัสสนา​จารย์​ ศิษย์​พระอาจารย์​มั่น​ ภูริทัต​ตเถระ​ เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ท่านเองก็ได้รับนิมนต์​ในวันจันทร์​ที่​ 28 ​เมษายน​ พ.ศ. 2523​ เช่น​เดียว​กับคณะ​ของ​พระอาจารย์​จวน​ แต่ช่วงเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 27​ เมษายน​ พ.ศ. 2523​ ก่อนเกิดเหตุ พระอาจารย์​จวนได้ส่งกระแสจิต​มาบอกลา​ ทั้งยังบอกท่านให้ช่วยไปเก็บธาตุขันธ์ให้ด้วย​

ช่วงสายของวันที่เกิดเหตุ หลังออกจากที่จงกรมภาวนา​ พร​ะอาจารย์สมชายพาพระ​เณร​เข้า​กรุงเทพฯ​ โดย​บอกคนขับรถให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทาง​ไปคลองหก ระหว่างทาง เสียงวิทยุที่คนขับรถเปิดไว้เป็นปรกติอยู่แล้วนั้น ก็รายงานข่าวเครื่องบินตกเป็นข่าวด่วน

เมื่อรถวิ่งมาใกล้จุดเกิดเหตุ มองเห็นชาวบ้านวิ่งบ้างเดินบ้าง สับสนอลหม่านไปหมด ตำรวจทหารแน่นทั้งสองข้างทาง ควันขาว ๆ พวยพุ่ง​อยู่กลางท้องนา​ พระอาจารย์​สมชายให้คนขับจอดรถแล้วท่าน​ก็​เดินตรงไปที่ซากเครื่องบินที่ตกกระจัดกระจายอยู่บริเวณนั้นท่ามกลางไทยมุงที่แน่นขนัด

ท่านและพระเณรได้ช่วยกันเก็บสมณบริขารของครูบาอาจารย์ออกมาวางไว้ในที่อันเหมาะสม พระอาจารย์​สมชายปรารภขณะที่หยิบชิ้นส่วนของครูบาอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวนมาบอกเมื่อคืนว่าให้ช่วยมาเก็บธาตุขันธ์ให้ท่านด้วย รับปากท่านไว้เมื่อคืน..” เมื่อเก็บชิ้นส่วนและบริขารของครูบาอาจารย์เสร็จ​ เจ้าหน้าที่ก็มาถึง​ จึงปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อ พอตกกลางคืน ท่านก็พาคณะไปกราบนมัสการศพพระอาจารย์ทั้งหลายที่วัดพระศรีมหาธาตุ​วรมหาวิหาร​

เชื่อว่า พระคณาจารย์ที่โดยสารมากับเครื่องบินลำนี้ ท่านทราบล่วงหน้าด้วยญาณอยู่แล้วว่าเครื่องบินลำนี้จะตกเมื่อใกล้ถึงสนามบิน แต่ท่านไม่ต้องการหลีกเลี่ยงกรรม จึงเต็มใจละสังขารแต่โดยดี

พระอาจารย์​สมชาย​ ฐิตวิริโย​​ ได้อธิบายให้บรรดาศิษย์ฟังว่า​ ไม่มีใครในโลกนี้หนีพ้นผลกรรมไปได้ วิบากกรรมของพระอริยเจ้า​ทั้งห้ารูป​หมดแล้ว ไม่ต้องห่วง ให้ห่วงตัวเราเองนี้ให้มาก ทำตัวเราเองให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง

ท่านได้ยกตัวอย่าง​พระโมคคัลลานเถระ​ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า​ ผู้เป็นเอตทัคคะ​ในด้านมีฤทธิ์มาก​ สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรก แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ที่ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบ​ ประชาชนทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา​ คลายความเคารพพวกเดียรถีย์​ ทำให้ลาภสักการะเสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง พวกเดียรถีย์​จึงปรึกษากัน​ เห็นพ้องว่าต้องกำจัดพระโมคคัลลานะ ตกลงกันแล้ว ก็เรี่ยไรเงินไปจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ

พวกโจรพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึงสองครั้ง​ ในครั้งที่สาม​ พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่าที่ตนเคยกระทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงยอมให้โจรจับโดยง่ายดายและถูกทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลว พวกโจรเข้าใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างไปทิ้งในป่าแล้วพากันหลบหนีไป

พระโมคคัลลานะคิดว่า​ เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคก่อน​จึงนิพพาน​ คิดเช่นนั้น​แล้วก็​เรียบเรียง​สรีระ​ ประสานกระดูกด้วยฤทธิ์​แห่งฌาน​ เหาะไปเฝ้าพระ​บรมศาสดา ​ถวายบังคม​แล้ว​กราบทูล​ลานิพพาน​

พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุพกรรมของพระโมคคัลลานเถระว่า ในอดีตกาล มีกุลบุตรคนหนึ่งในนครพาราณสี ปรนนิบัติดูแลบิดามารดาตาบอดด้วยตนเอง บิดามารดาจึงหาภรรยามาให้เพื่ื่อช่วยงาน เมื่อภรรยาดูแลบิดามารดาได้เพียง 2-3 วัน ก็ไม่ปรารถนาจะเห็นคนทั้งสองอีก เวลาที่กุลบุตรออกไปข้างนอก นางจึงเอาชิ้นเปลือกปอและฟองข้าวยาคูมาโรยในที่ต่าง ๆ แล้วกล่าวหาว่า คนทั้งแก่ทั้งตาบอดเหล่านี้ ทำให้สกปรกไปทั่วเรือน นางไม่อาจอยู่ในที่เดียวกันกับคนเหล่านี้

เมื่อนางกล่าวอยู่บ่อย ๆ กุลบุตรผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วก็แตกกับบิดามารดา จึงออกอุบายลวงบิดามารดาว่า ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างหมู่บ้านต้องการให้ไปเยี่ยม เมื่อถึงกลางดง ก็แสร้งทำเสียงเหมือนกับว่ามีโจรมาดักปล้น แล้วลงมือทุบตีบิดามารดาของตนจนตาย โยนศพทิ้งในดงแล้วกลับเรือน

ด้วยกรรมนี้ พระโมคคัลลานะหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี วิบากกรรมที่เหลือ ยังส่งผลให้เป็นผู้แหลกละเอียดเพราะทุบแล้วถึงความตายสิ้นร้อยอัตภาพ

หลวงปู่หลุย จันทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง  จังหวัดเลย

กล่าวถึงบุพกรรมของพระอริยเจ้าทั้งห้ารูป​ ที่ส่งผลให้มามรณภาพพร้อมกันในอุบัติเหตุเครื่องบินตก หลวงปู่หลุย จันทสาโร พระเถระชั้นผู้ใหญ่​ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เล่าให้ฟังว่า

ในอดีตชาติ​ ท่านทั้งห้าเกิดในสกุลชาวนาที่ยากจน ต้องขวนขวายหาเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ทั้งห้าคนเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกัน เมื่อยังเด็กได้จูงควายออกไปเลี้ยง​ ผูกควายแล้วก็พากันวิ่งเล่น​ หากบเขียดเป็นอาหาร​ ระหว่างนั้น​ เหลือบไปเห็นรังนก​ จึงช่วยกันหาไม้มาเขี่ยรังนกให้ตกลงมาโดยหวังจะเอาไข่นกไปกิน แต่เมื่อรังนกตกลงมา​ กลับกลายเป็นลูกนกสามตัว​ เสียชีวิต​ทั้งหมดเพราะตกจากที่สูง​ ไม่ใช่ไข่นกดังที่เข้าใจ​ และขณะที่เด็กผู้ชายทั้งห้าคนกำลังเขี่ยรังนกอยู่นั้น มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง​ เป็นน้องสาวของเด็กในกลุ่ม​ ก็มายืนส่งเสียงเชียร์อยู่ใกล้ ๆ​ ด้วยความยินดี​ว่า​ "จะหล่นแล้ว​ จะหล่นแล้ว" 

วิบากกรรมอันนี้​ ส่งผลข้ามภพข้ามชาติให้ท่านทั้งห้าตกจากที่สูงลงมามรณภาพ

ในเครื่องบินลำที่เกิดอุบัติเหตุนั้น​ มีสตรีสูง​ศักดิ์​ท่านหนึ่งเป็น​คุณ​หญิง​โดย​สารมาด้วย​ คือศาสตราจารย์​ คุณหญิงไขศรี​ ณ​ ศีลวันต์​ ภริยาของ​ ฯพณฯ​ ดร.เชาว์​ ณ​ ศีลวันต์​ องคมนตรี​ ท่าน​เป็นผู้ที่มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็น​อย่างยิ่ง ทั้งได้ปฎิบัติธรรมและฝึกสมาธิวิปัสสนา​อยู่เสมอ​ ท่านเป็นผู้ไปอาราธนาพระคณาจารย์​ทั้งห้ารูปเพื่อมาในกิจนิมนต์สำคัญ​​ แต่แล้วกลับต้องประสบอุบัติเหตุ​เสียชีวิตระหว่างเดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน​ สตรี​สูงศักดิ์ท่านนี้ ในอดีตชาติ​ก็คือเด็กผู้หญิง​ที่ยืนส่งเสียงเชียร์อยู่​ใกล้ ๆ​ ขณะที่เด็กผู้ชาย​ทั้ง​ห้าคนกำลังเอาไม้เขี่ย​รังนก

เพียงมีจิตคิดยินดีในการประกอบอกุศลกรรมของผู้อื่น วิบากนั้นยังส่งผลให้เกิดในภพชาติเดียวกัน บันดาลให้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกพร้อม​กัน​ หลวงปู่หลุยท่าน​จึงย้ำสอนว่า​ ไม่ควรยินดีในการทำชั่วของผู้อื่น เพราะเราจะมีส่วนในบาปนั้นด้วย แต่ให้ยินดีในการประกอบคุณงามความดีของตนและของผู้อื่น เพราะจะได้แต่บุญโดยฝ่ายเดียว

ภาพพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ล้างปากหลังฉันอาหารเสร็จ
ขณะถ่ายภาพนี้ ผู้ถ่ายภาพ ผู้นั่งอยู่เบื้องหน้าพระอาจารย์จวนสิบกว่าคน
รวมถึงพระที่นั่งฉันอยู่ด้านข้าง ไม่เห็นเปลวไฟแต่อย่างใด
แต่เมื่อล้างฟิล์มและอัดภาพออกมา เห็น "ไฟในบาตร"

กล่าวถึงประวัติของพระอาจารย์​จวน​ กุลเชฏโฐ​ โดยย่อ​ ท่าน​เกิดในสกุล​ "นรมาส" เมื่อที่​ 10 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2463 ตรง​กับ​วัน​เสาร์​ แรม ​10 ค่ำ​ เดือน 8​ ปีวอก ณ​ บ้านเหล่ามันแกว​ ตำบล​ดงมะยาง​ อำเภอ​อำนาจเจริญ​ จังหวัดอุบลราชธานี​ (ปัจจุบัน​คือ​อำเภอ​ลืออำนาจ จังหวัด​อำนาจเจริญ)​

เมื่ออายุ​ 15 ปี​ ได้​พบกับพระธุดงค์​ที่มาปักกลดอยู่​ใกล้บ้าน​ พระธุดงค์ได้​มอบ​หนังสือ​ "ไตรสรณาคมน์" ของ พระอาจารย์​สิงห์​ ขนฺตยาคโม​ ให้นำไปลองปฏิบัติ​ เริ่มตั้ง​แต่​การสวดมนต์​ไหว้พระ​ นั่งสมาธิ​ภาวนา​ ท่านฝึก​หัดด้วยตนเองตามลำพัง​ แม้ไม่มีใครช่วยชี้แนะให้ก้าวหน้าขึ้น​ ​แต่ก็ช่วยให้จิตใจสงบ​เย็น​  

(ซ้าย) สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
(ขวา) พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)

ต่อมาได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ​"จตุรารักข์" ของพระอาจารย์เสาร์  กนฺตสีโล เกิดความสลดสังเวชใจว่า​ คนเราขณะยัง​มีชีวิต​อยู่​ หากไม่​ประกอบ​คุณ​งาม​ความดี​ ก็​ไม่มีประโยชน์​แก่ชีวิต​ในชาติ​นี้​ ทั้ง​ยังไม่มีโอกาส​จะได้รับ​ความ​สุข​ต่อไป​ในชาติหน้า​ ท่านเกิดศรัทธา​ถึงกับสละเงินที่เก็บออมระหว่างทำงานทั้งหมด​เป็น​เจ้าภาพ​มหากฐิน​คนดียว สร้าง​พระ​ประธาน​ สร้างห้องสุขาในวัด

"จตุรารักข์" หรือ "จตุรารักขกัมมัฏฐาน" เป็นพระนิพนธ์​ของสมเด็จ​พระวันรัต​ (ทับ​ พุทฺธสิริ)​ พระมหาเถระผู้ก่อตั้งวงศ์ธรรมยุติกนิกายร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะทรงพระผนวช สมเด็จท่านเป็นผู้มีความรู้แตกฉานใน​พระไตรปิฎก​และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างลึกซึ้ง มีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมใส เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหาร และทรงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี จากวัดราชาธิวาส มาครองวัดเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

"จตุรารักขกัมมัฏฐาน" ​กล่าวถึงการปฏิบัติ​กรรมฐาน ​4 ข้อ คือ​ การระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย​ การเจริญเมตตา​ การพิจารณา​อสุภะและ​มรณสติ​ การเจริญวิปัสสนา​กรรมฐาน​ เป็นหลักธรรมซึ่งพระอาจารย์​เสาร์​ กนฺตสีโล ได้อ่านแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นำไปเผยแพร่และอบรมสั่งสอนสานุศิษย์

เมื่ออายุครบ ​21 ปี​ ได้อุปสมบท​เป็น​พระภิกษุ​ฝ่ายมหานิกาย​ ณ วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง มีพระอาจารย์บุเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า​ "พระจวน​ กลฺยาณธมฺโม" 

ระหว่าง​ที่บวชเป็น​พระ​บ้านอยู่​นั้น ท่านคิดจะญัตติเป็น​ธรรมยุตและออกธุดง​ค์ตามรอยพระธุดงคกรรมฐาน แต่อุปัชฌาย์​ท่านไม่ให้ญัตติ​ ให้สึกเสียก่อน​ ท่านจึง​ลาสิกขา​ออกมา​เป็น​ฆราวาส​ชั่วคราว​และเสาะแสวงหา​อาจารย์​สอนกรรมฐาน​จนมาพบสำนักวัดป่าสำราญ​นิเวศ​ อำเภอ​อำนาจเจริญ จังห​วัด​อุบลราชธานี​ (ปัจจุบัน​เป็นอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ) จึงอุปสมบท​เป็น​พ​ระภิกษุ​ฝ่ายธรรมยุต​ เมื่อวันที่​ 24 ​มีนาคม​ พ.ศ. 2486 มี พระครู​ทัศนวิสุทธิ (พระมหาดุสิต​ เทวิโร)​ เป็น​พระอุปัชฌาย์​ พระอุปัชฌาย์นี้ เป็นหลานของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ได้เพียงห้าวันก็มาอุปสมบทพระอาจารย์จวน นับเป็นนาคแรกของท่าน จึงตั้งฉายาให้พระอาจารย์​จวนว่า​ "กุลเชฏโฐ" มีความหมาย​ว่าเป็นพี่ชายคนโตของวงศ์​ตระกูล​​ ภิกษุ​รูปที่สองที่พระอุปัชฌาย์​นี้บวชให้ต่อมาคือ​ พระอาจารย์​สิงห์​ทอง​ ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล​ ซึ่งพระอาจารย์​จวนได้มาน​ั่งหัตถบาสอยู่ด้วย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ท่านได้กำหนดจิตดูพระอาจารย์จวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า
"กาเยนะ วาจายะ วะเจตะ วิสุทธิยา
ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม"

พระ​อาจารย์​จวนได้มีโอกาสศึกษา​และอยู่ปฏิบัติ​ธรรมกับ​พระอาจารย์​มั่น​ ภูริทัต​ตเถระ​ เป็นเวลานานถึงหนึ่งปีเต็ม ตั้งแต่ออกพรรษา​ที่ 3 ได้เพียงห้าวันและอยู่ตลอดพรรษาที่ 4 (ราวปี พ.ศ. 2489) เวลานั้น​ ​พระอริยคุณาธาร​ (เส็ง​ ปุสฺโส) มาตรวจงานคณะสงฆ์​ทางภาค​อิสาน​ พระครูทัศนวิสุทธิ (พระมหาดุสิต​ เทวิโร)​ ผู้เป็นอุปัชฌาย์​จึงได้ฝากท่านไปกับท่านเจ้าคุณ​พระอริยคุณาธาร​ ขอให้นำไปอยู่กับพระอาจารย์​มั่น​ที่วัดป่าบ้านหนองผือด้วย

ขณะจำพรรษา​อยู่​ด้วย​พระอาจารย์​มั่น​ ได้ออกธุดงค์​ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอาจารย์​กงมา​ จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ และ​พระอาจารย์​ลี​ ธมฺมธโร​ วัดอโศการาม ตามลำดับ​ ภายหลัง​ท่านพระอาจารย์​มั่น​มรณภาพ​ ได้ฝากฝังท่านไว้กับ หลวงปู่ขาว​ อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

หลวงปู่ขาวเล่าให้พระอาจารย์จวนฟังว่า "..เวลาผมมาจากจังหวัดเชียงใหม่ แล้วเข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นถามผมว่า ท่านขาวรู้จักท่านจวนไหม ผมก็เรียนท่านว่าไม่รู้จัก ท่านก็ว่า ท่านจวนคนอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลฯ อำเภอเดียวกับท่านขาวน่ะ ท่านจวนมาอยู่กับผมนี้ ต่อไปขอฝากท่านจวนด้วย ขอให้ท่านช่วยกำกับดูแลรักษาท่านจวนด้วย รักษาท่านจวนเน้อ อย่าปล่อยไป ให้รักษากัน..."

พระอาจารย์​จวนกล่าวเสมอว่า​ สืบต่อ​จาก​พระอาจารย์​มั่น​แล้ว​ เท่ากับ​หลวงปู่ขาวปั้นท่าน​มากับมือ​ เวลาท่านกราบทำความเคารพ​หลวงปู่ขาวตามประเพณี​แล้ว​ ท่านจะยกเท้าของหลวงปู่ขาวขึ้นวาง​บน​ศีรษะ​ของท่าน​ เป็น​การแสดง​ความเคารพ​อย่างสูง​สุด​

(ซ้าย) หลวงปู่ขาว อนาลโย
(ขวา) พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

พระอาจารย์​จวนมาอยู่ที่ภูทอกตั้งแต่​เดือน​มกราคม​ พ.ศ. 2512​ (พรรษที่ 27) มากับพระญาณสิทธาจารย์​ (หลวงปู่ทองพูล​ สิริ​กาโม)​ ตอน​แรก​อาศัย​อยู่​ที่​เชิงเขา​ บริเวณ​โดยรอบ​เป็น​ป่ารกชัฏ​ ปีแรก​ที่​มาจำพรรษาที่ภูทอกนี้ มีพระ 3 รูป​ ผ้า​ขาว​น้อย 1 คน​ ปลูกกะต๊อบพออาศัย​อยู่​ชั่วคราว​ 4 หลัง​ เวลาพลบค่ำ​ พระอาจารย์​จวน​จะ​ขึ้น​ไป​นอน​บนชั้น 5 โดยปีนตามเครือเถาวัลย์​ สมัย​นั้นยัง​เป็น​ป่าทึบ​มีต้นไม้​ขึ้น​หนาแน่น​ ปัจจุบัน​เป็นถ้ำวิหารพระ

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม)
ท่านเป็นผู้บุกเบิกและสร้างสะพานไม้รอบภูทอกร่วมกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

การบิณฑบาต​ในระยะแรกขาดแคลน​มาก​ พระเณร​เจ็บ​ไข้​กันบ่อย​ ถูกเทวดาประจำภูเขา​หลอก​หลอน​ ดึง​ขา​บ้าง​ ปลุกให้ลุกขึ้นมาทำความเพียร​บ้าง​ พระ​อาจารย์​จวน​ได้ตักเตือนพระเณรให้รักษา​ศีลให้บริสุทธิ์​ แผ่เมตตา​ ต่อมาภายหลัง​เกิด​นิมิต​ว่า​ เหล่าเทวดา​พากันน้อมถวาย​เขาลูก​นี้ให้กับพระอาจารย์​จวน​เป็นผู้รักษา​ไว้​ ส่วนเทวดาทั้งปวงจะพากันย้ายไปอยู่ข้าง​ล่าง

ปีต่อ ๆ มา​ ชาวบ้าน​ช่วย​กันสร้าง​สะพาน​รอบเขา​ กุฏิ​ ศาลา​ ขุดบ่อน้ำ สร้างถังกักเก็บน้ำ ห้องน้ำห้องส้วม ​ฯลฯ ภายหลังมีคณะศรัทธาจากต่างถิ่นเดินทางมามากขึ้น​ ได้ช่วยกันบริจาค​ทรัพย์​และกำลังกายสร้างถาวรวัตถุและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ปรากฏ​ให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

วันอาทิตย์ที่​ 27 ​เมษายน พ.ศ. 2523 พระอาจารย์​จวน กุลเชฏโฐ เดินทาง​​มากรุงเทพ​ฯ​ ด้วยกิจนิมนต์สำคัญและประสบอุบัติเหตุ​เครื่อง​บิน​ตก​ที่​คลองสี่​ อำเภอ​คลอง​หลวง​ จังหวัด​ปทุมธานี​ ถึงแก่มรณภาพ​พร้อมด้วยพระเถระ​อีก 5 รูป พระนวกะอีก 1 รูป รวมเป็น 7 รูป​ 

สิริรวมอายุท่านได้​ 59 ปี​ 9 เดือน​ 18 วัน​ 38 พรรษา


อ้างอิง           หนังสือ "กุลเชฏฐาภิวาท" คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต
ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น