ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งซึ่งมิอาจมองข้ามได้คือ "ขยะ" ที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพราะขยะเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายไปตามธรรมชาติได้ และถูกจัดว่าเป็น "ขยะพิษ" จากสารอันตรายที่ปนเปื้อนมากับซากผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ซากผลิตภัณฑ์ฯ นอกจากจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม สารทนไฟจากโบรมีน ลิเทียม ฯลฯ เมื่อเราทิ้งซากผลิตภัณฑ์ฯ เหล่านี้ไปพร้อมกับขยะทั่วไป สารอันตรายหรือสารพิษต่าง ๆ อาจปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ผ่านทางดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ และพืช รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
โทรศัพท์มือถือ ยิ่งใช้เยอะ ยิ่งกลายเป็นขยะเยอะ เรามารีไซเคิลกันเถอะ ..
โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการสื่่อสารในยุคปัจจุบัน คนไทยเกือบทุกคนต่างมีโทรศัพท์มือถือใช้อย่างถ้วนหน้า เพราะราคาที่ถูกลง การส่งเสริมการขายต่าง ๆ และมีการผลิตสินค้ารุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้อายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือนั้นสั้นลง แต่สิ่งที่คนมักจะคิดไม่ถึงคือ จำนวนโทรศัพท์มือถือเก่าที่เสียแล้ว หรือไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมียอดขายโทรศัพท์มือถือถึง 15 ล้านเครื่อง และกรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยจะมีซากโทรศัพท์มือถือมากกว่า 11 ล้านเครื่อง
จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ด้วยหลัก 3 R
สิ่งสำคัญที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้และการทิ้งซากผลิตภัณฑ์ฯ เหล่านี้คือ การป้องกันตั้งแต่ต้นทาง และการจัดการซากที่เกิดขึ้น สามารถทำได้ด้วยหลัก 3 R
- ใช้เท่าที่จำเป็น (REDUCE)
ลดการใช้ของอย่างฟุ่มเฟือย ใช้เท่าที่จำเป็น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีอายุการใช้งานนาน มีฉลากรับรอง เช่น มอก. ฉลากเขียว ฉลากที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ และสามารถนำมารีไซเคิลได้
- ใช้ซ้ำให้คุ้มค่า (REUSE)
ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า ยืดอายุการใช้งาน โดยใช้อย่างระมัดระวัง และดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพปกติ หากเสียควรนำไปซ่อม หรือให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อ เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด
- แปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (RECYCLE)
นำวัสดุต่าง ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว มาแปรรูปโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าใหม่ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ความสามารถในการจัดการ หรือรีไซเคิลอย่างถูกต้อง และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่มีผู้รับซื้อคืน ควรขายให้เฉพาะผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากเป็นซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ไม่มีการรับซื้อคืน ควรแยกทิ้งจากขยะทั่วไป เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ นำไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกต้องต่อไป
ทำอย่างไรดี กับมือถือเครื่องเก่าที่เสียแล้ว หรือไม่ใช้แล้ว ?
"โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก" ขอเชิญชวนทุกท่าน นำโทรศัพท์มือถือเก่า แบตเตอรี่เก่า และอุปกรณ์เสริมที่ไม่ใช้แล้ว เช่น สายชาร์จ หูฟัง มาบริจาคกับโครงการฯ ที่กล่องรับบริจาค (กล่องรีไซเคิล) หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น