หากกล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อว่าหลายท่านต้องนึกถึง พระอุปัชฌาย์กลั่น ธมฺมโชติ แห่งวัดพระญาติการาม หรือที่เรียกกันติดปากด้วยความเคารพว่า หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ ถึงแม้ว่าหลวงปู่กลั่นจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงปู่ก็มิได้เสื่อมคลาย ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงเป็นที่กล่าวขานและเป็นที่พึ่งพิงของผู้ประสบทุกข์ร้อนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้วัดพระญาติเอง ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเจริญรุ่งเรืองดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ก็ด้วยบารมีของหลวงปู่กลั่นโดยแท้
หลวงปู่กลั่น เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2390 ที่บ้านอรัญญิก เป็นชาวกรุงเก่าโดยกำเนิด ท่านมีอุปนิสัยใจคอห้าวหาญ รักพวกพ้อง มีฝีมือด้านหมัดมวยและกระบี่กระบอง และสนใจวิชาอาคม ก่อนที่ท่านจะอุปสมบท ท่านใช้ชีวิตแบบนักเลงซึ่งแสดงออกไปในทางกล้าหาญและเป็นผู้นำ ไปไหนมาไหนมีพรรคพวกห้อมล้อมติดตาม แม้นักเลงต่างถิ่นก็ยังให้ความยอมรับนับถือ
ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ตั้งคณะนักมวยและกระบี่กระบองวัดพระญาติขึ้นคณะหนึ่ง มีฝีมือเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา เกี่ยวกับวิชาอาคมต่าง ๆ หลวงปู่ท่านสนใจศึกษาร่ำเรียนมาแต่เล็กแต่น้อย โดยเฉพาะวิชาชาตรีชักยันต์แบบแขกที่เรียกว่า "เก้าเฮ" นั้น ท่านดั้นด้นไปร่ำเรียนจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญถึงสองท่าน นอกจากนี้ ก็มีวิชาเรียกน้ำมันงาเข้าตัว ซึ่งแปลกกว่าอาจารย์ท่านอื่น ๆ คือ แทนที่จะเรียกโดยการเอาน้ำมันใส่ฝ่ามือ ท่านกลับเอาน้ำมันใส่ในขันสำริด วางบนศีรษะและบริกรรมเรียกเข้าตัวจนหมดสิ้น
หลวงปู่กลั่น อุปสมบทเมื่ออายุได้ 27 ปี ที่วัดประดู่ทรงธรรม ได้รับฉายาในทางธรรมว่า "ธมฺมโชติ" แปลว่า ผู้เจริญรุ่งเรืองในธรรม
หลวงปู่กลั่น อุปสมบทเมื่ออายุได้ 27 ปี ที่วัดประดู่ทรงธรรม ได้รับฉายาในทางธรรมว่า "ธมฺมโชติ" แปลว่า ผู้เจริญรุ่งเรืองในธรรม
รูปหล่อ หลวงพ่อรอด (เสือ) ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
วัดประดู่ทรงธรรมเป็นวัดเก่าแก่ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายหลังเสียกรุงฯ วัดถูกทิ้งร้างอยู่ระยะหนึ่ง และได้รับการบูรณะฟื้นฟูให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นแหล่งรวมพุทธศาสตร์และศิลปศาสตร์หลายแขนง ทั้งตำราพิชัยสงคราม เพลงมวย กระบี่กระบอง ตำรายาสมุนไพร เวทมนตร์คาถา ฯลฯ มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำนวนไม่น้อย ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาจากสำนักวัดประดู่ทรงธรรมแห่งนี้ อาทิ หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง หลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร หลวงปู่ดู่ วัดสะแก ฯลฯ
ระหว่างจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม หลวงปู่กลั่นได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและสรรพวิชาต่าง ๆ จากนั้นจึงออกธุดงค์ และย้ายไปจำพรรษาที่วัดพระญาติในกาลต่อมา
หลวงปู่กลั่นถือธุดงค์เป็นวัตร เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา จึงกลับวัดพระญาติเสียครั้งหนึ่ง เป็นอยู่เช่นนี้ตราบเท่าสังขารจะอำนวย โดยที่หลวงปู่ท่านถือสันโดษ ภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในการปกครองดูแลวัด จึงตกอยู่กับ พระครูศีลกิตติคุณ หรือ หลวงปู่อั้น คนฺธาโร แม้กระทั่งการรับแขก หรือการขอร่ำเรียนสรรพวิชาต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของหลวงปู่อั้นที่จะคัดกรอง แนะนำสั่งสอนให้เข้าใจเป็นอันดับแรก กระทั่งแน่ใจดีแล้ว จึงจะไปยกครูกับหลวงปู่กลั่นต่อไป
พระครูศีลกิตติคุณ (หลวงปู่อั้น คนฺธาโร) เจ้าอาวาส วัดพระญาติการาม ต่อจากหลวงปู่กลั่น |
กล่าวถึงหลวงปู่อั้น ท่านเกิดในครอบครัวผู้มีฐานะ อยู่ที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นคนใจบุญมาก จิตใจเมตตา ไม่ชอบทำบาป ถ้าบิดามารดาใช้ให้ท่านนำอาหารไปเลี้ยงแขกที่นา ระหว่างทาง หากบังเอิญพบหมาหรือแมว ท่านเป็นต้องเอาอาหารเลี้ยงหมาแมวเหล่านั้นจนหมดสิ้น และถ้าใครจับสัตว์ที่มีชีวิต เช่น นก หนู ปู ปลา ท่านจะแอบปล่อยเสียหมด อีกประการหนึ่งคือ ท่านไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบอยู่วัด บิดามารดาจึงนำมาฝากให้อยู่กับหลวงปู่กลั่นตั้งแต่เล็ก
ท่านอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่กลั่นจนกระทั่งโตเป็นหนุ่ม โดยไม่ได้บวชเป็นเณร วันพระวันโกนก็เอาหนังสือธรรมะมาอ่านให้ญาติโยมฟัง เมื่ออายุครบบวช หลวงปู่กลั่นท่านก็บวชให้ สรรพวิชาอาคม ความรู้ต่าง ๆ หลวงปู่กลั่นก็ถ่ายทอดให้จนหมดสิ้น
รูปหมู่ ถ่ายที่วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แถวนั่ง-กลาง คือ หลวงปู่กลั่น ธมฺมโชติ |
หลวงปู่กลั่นเป็นที่เคารพรักของชาวบ้านด้วยท่านมีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารี การเดินธุดงค์ในป่าทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสมุนไพรและการแพทย์แผนโบราณ ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านชาวป่าที่เจ็บป่วยมาโดยตลอด
หลวงปู่กลั่นมีพลังอำนาจจิตสูงมาก ครั้งหนึ่งหลวงปู่ไปนมัสการพระเจดีย์ในเมืองพม่า ท่านพร้อมด้วยคณะสงฆ์รอนแรมไปจนถึงแม่น้ำสะโตงที่กว้างใหญ่ จะหาเรือแพข้ามฟากก็ไม่มี หลวงปู่ท่านจึงหาทางข้ามด้วยตนเอง วิธีข้ามแม่น้ำสะโตงของท่านคือ ให้พระภิกษุที่ร่วมธุดงค์มาด้วยกันเอาผ้าผูกตา แล้วเกาะจีวรตามท่านเป็นแถวเรียงหนึ่ง ห้ามมิให้พูดจากัน ต่อเมื่อท่านบอกให้เอาผ้าออกเมื่อใด จึงค่อยเอาออก ครั้นสั่งการเป็นที่เรียบร้อย หลวงปู่กลั่นก็ก้าวเท้าเดินนำหน้าลงชายฝั่งแม่น้ำสะโตง แล้วเดินข้ามน้ำอยู่พักหนึ่ง ก็ถึงชายฝั่งฟากตรงข้าม โดยไม่มีจีวรของพระรูปใดเปียกน้ำเลย
มีอยู่คราวหนึ่ง หลวงปู่กลั่นไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์ที่บ้านคานหาม ไกลจากวัดประมาณสี่กิโลเมตร สมัยนั้นยังไม่มีรถเรือพอจะอำนวยความสะดวกเหมือนในปัจจุบัน พระที่ไปด้วยเร่งให้ท่านรีบไปเพราะจวนเวลา แต่หลวงปู่บอกให้พระล่วงหน้าไปก่อนแล้วท่านจะตามไป พอพระทั้งหลายไปถึงวัด ก็เห็นหลวงปู่กลั่นนั่งรออยู่แล้ว
เรื่องที่เล่าขานกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ มีชายชาวจีนผู้หนึ่งมาขอน้ำมนต์ โดยนำไหใส่น้ำตั้งไว้ใกล้ ๆ ตัว รอจังหวะยื่นให้หลวงปู่เพื่อให้ท่านช่วยทำน้ำมนต์ หลวงปู่มิได้รับไห แต่กลับบอกกับชายจีนผู้นั้นว่า น้ำมนต์ทำให้แล้ว อยู่ในไห ชายจีนผู้นั้นก็ประหลาดใจด้วยหลวงปู่ยังมิได้เป่าคาถาหรือจุดเทียนหยดลงในน้ำเลย ชายจีนผู้นั้นจึงบอกลาพร้อมกับนึกตำหนิหลวงปู่ในใจที่ไม่ยอมทำน้ำมนต์ให้ ระหว่างทางกลับบ้าน จึงเทน้ำจากไหทิ้ง ปรากฏว่าน้ำที่ใส่อยู่ในไหไม่ยอมไหลออกจากไห หลังจากหายตกตะลึง ชายจีนผู้นั้นรีบกลับไปที่วัดอีกครั้งพร้อมกับกราบขอขมาที่ล่วงเกินหลวงปู่
ภาพถ่ายหลวงปู่กลั่น ธมฺมโชติ ใช้เป็นต้นแบบในการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก พ.ศ. 2469 |
กิตติศัพท์ของหลวงปู่กลั่น นอกจากโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรีแล้ว ทางเมตตามหานิยมท่านก็ขึ้นชื่อมาก เห็นได้จากที่ท่านสามารถทำให้อีกา ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีสัญชาติญาณไม่ไว้วางใจใคร จำนวนเป็นฝูง ๆ เชื่องเป็นนกแก้วนกขุนทองได้
เวลาพระท่านออกบิณฑบาต หากต้องการจะสังเกตว่าเรือลำไหนเป็นเรือของหลวงปู่กลั่น ก็ให้สังเกตเรือลำที่มีอีกาเป็นสิบ ๆ ตัวบินจับจนตัวเรือดำมืด ขณะที่ชาวบ้านถวายอาหารแก่หลวงปู่ อีกาทั้งฝูงจะบินวนรอบ ๆ ลำเรือ ไม่ไปไหน พอเขาตักบาตรเสร็จ อีกาก็จะบินกลับมาเกาะลำเรือเหมือนเดิม แต่ไม่แตะต้องจิกกินอาหารบิณฑบาตแม้ว่าจะเปิดฝาสำรับไว้ จนกว่าจะกลับถึงวัดและหลวงปู่ท่านจัดแบ่งให้
ก่อนฉัน หลวงปู่จะจัดแบ่งอาหารส่วนหนึ่งให้อีกาโดยมีอีกานับร้อยตัวเกาะอยู่ตามระเบียงและรายล้อมใกล้ ๆ ภาชนะใส่อาหาร แต่จะไม่มีอีกาตัวใดเข้ามาจิกกินอาหาร รอจนกระทั่งหลวงปู่กลั่นเริ่มฉันอาหารคำแรก อีกาทั้งฝูงจึงกรูกันเข้าจิกกินอาหารในภาชนะที่หลวงปู่จัดแบ่งไว้ให้ บางครั้งอีกาทะเลาะจิกตีกัน หลวงปู่จะดุเบา ๆ อีกาเหล่านั้นก็จะเงียบเสียงลงและแยกย้ายกันกินอาหารอย่างสงบเหมือนเดิม
พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ "เสด็จเตี่ย" ของทหารเรือ และ "หมอพร" ของชาวบ้าน |
พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ให้ความเคารพนับถือหลวงปู่กลั่นเป็นพระอาจารย์ของท่านองค์หนึ่ง มูลเหตุที่ทำให้พระองค์เดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดพระญาติก็เนื่องมาจากว่า เย็นวันหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นทหารเรือสองนายทะเลาะวิวาทกันถึงขั้นลงมือลงไม้ ทหารเรือที่ตัวเล็กกว่า ถูกคนตัวโตฟาดด้วยท่อนไม้จนล้มคว่ำ แต่กลับลุกขึ้นมาได้และตอบโต้คนที่ตัวโตกว่าจนเกือบเสียท่า เมื่อนำตัวมาสอบ ไม่ปรากฏว่ามีบาดแผลแต่อย่างใด คงมีแต่รอยฟกช้ำบวม สอบถามได้ความว่าเป็นศิษย์ของหลวงพ่อวัดพระญาติ เมืองกรุงเก่า
ด้วยความสนพระทัย กรมหลวงชุมพรฯ จึงได้นัดหมายเดินทางไปวัดพระญาติโดยมีทหารเรือร่างเล็กเป็นผู้นำทาง เมื่อเรือพระประเทียบลอยลำอยู่ใกล้ศาลาท่าน้ำวัดพระญาติ ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังสรงน้ำอยู่หน้าวัด เมื่อขึ้นมายืนบนไม้กระดาน มีปลาปักเป้าติดอยู่ที่หน้าแข้งของท่านหลายตัว ท่านก็ก้มตัวลงปลดปลาปักเป้าออกจากหน้าแข้งโยนกลับลงน้ำ ปากก็บ่นรำคาญ
ปลาปักเป้ามีฟันที่แหลมคม เมื่อกัดลงบริเวณใด เนื้อบริเวณนั้นก็อาจจะหลุดติดมาด้วย เป็นที่หวาดกลัวของคนที่ลงเล่นน้ำ แต่หลวงปู่กลั่นท่านคงกระพัน ฟันอันแหลมคมของปลาปักเป้าจึงทำอะไรท่านไม่ได้ กรมหลวงชุมพรฯ เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตลอด คิดอยู่ในใจว่า การเสด็จมาวัดครั้งนี้ไม่ผิดหวังแน่ จึงเสด็จขึ้นจากเรือ ไปกราบนมัสการหลวงปู่กลั่นที่กุฏิและขอเรียนวิชา การพบกันในครั้งนั้น หลวงปู่กลั่นได้แนะนำให้กรมหลวงชุมพรฯ หาโอกาสไปกราบ หลวงปู่ศุขที่วัดมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท อีกด้วย
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท |
หลวงปู่กลั่น มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 สิริอายุได้ 87 ปี 60 พรรษา
ในวันที่ท่านมรณภาพ ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ มีอีกานับพันตัวบินวนเวียนอยู่เหนือบริเวณวัด ส่งเสียงร้องระเบ็งเซ็งแซ่ได้ยินไปไกล กระทั่งหลวงปู่กลั่นสิ้นลม จึงทยอยบินจากไป
ราวปี พ.ศ. 2479 หลังจากหลวงปู่กลั่นมรณภาพได้ปีกว่า วัดก็ทำการฌาปนกิจ เมื่องานฌาปนกิจเสร็จสิ้นและมีการทำบุญอัฐิ อีกาเหล่านั้นได้กลับมาบินวนเวียนอยู่เหนือเชิงตะกอนอีกครั้ง จากนั้นจึงบินจากไปโดยไม่กลับมาที่วัดพระญาติอีกเลย
เหรียญกลม หลวงปู่กลั่น พ.ศ. 2478 หลวงปู่อั้น สร้างและแจกเป็นที่ระลึกในงานศพหลวงปู่กลั่น |
เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง หลวงปู่กลั่นทำแจกน้อยมาก หากมีใครอยากได้ของดีจากท่าน ก็ต้องจัดหาสิ่งของไปให้ท่านทำ เท่าที่ทราบก็มีเสื้อยันต์ ประเจียด ตะกรุดโทน
เหรียญหลวงปู่กลั่น สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2469 หลวงปู่อั้นเป็นผู้ดำริจัดสร้างเพื่อนำปัจจัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ หลวงปู่ปลุกเสกจนดีแล้ว จึงนำไปถวายหลวงปู่กลั่นให้ปลุกเสกซ้ำอีกชั้นหนึ่ง
ลักษณะเหรียญเป็นรูปเสมา ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่กลั่นนั่งสมาธิอยู่บนตั่งขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยอักขระ "นะโมพุทธายะ" มีอักษรโค้งตามรูปเหรียญอ่านว่า "หลวงพ่ออุปัชฌาย์ (กลั่น) วัดพระญาติ" ด้านบนอ่านตามขวางว่า "พ.ศ. ๒๔๖๙" ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์เฑาะขัดสมาธิ มีอักขระ 4 ตัว "พุทธะสังมิ" มีอักษรระบุว่าจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์อุโบสถ
เหรียญหลวงปู่กลั่น พิมพ์ขอเบ็ด รุ่นแรก พ.ศ. 2469 (ภาพจาก facebook วัดพระญาติการาม) |
เหรียญรุ่นแรกที่สร้างขึ้นในคราวนั้น นักนิยมพระเครื่องเรียกว่า "พิมพ์ขอเบ็ด" เนื่องจากปลายยันต์ด้านหลังเหรียญมีลักษณะตวัดโค้งงอคล้ายเบ็ดตกปลา จำนวนการสร้าง มีเหรียญเงินองค์ทอง หรือเหรียญเงินหน้าทองคำ 12 เหรียญ ทำบุญเหรียญละ 15 บาท เหรียญเงินองค์นากหรือเหรียญเงินหน้านาก จำนวน 25 เหรียญ ทำบุญเหรียญละ 10 บาท เหรียญเนื้อเงินล้วน 100 เหรียญ ทำบุญเหรียญละ 5 บาท และเหรียญเนื้อทองแดง ทั้งกะไหล่ทองและไม่กะไหล่ รวม 3,000 เหรียญ ทำบุญเหรียญละ 1 บาท
ผู้ที่ได้รับเหรียญไป ส่วนมากก็นิมนต์ขึ้นคอเลย ไม่มีตลับหรือเลี่ยมกันน้ำแบบที่ทำกันในปัจจุบัน จะมีบ้างที่นำไปเลี่ยมเงินหรือเลี่ยมทอง แต่ก็เป็นการเลี่ยมจับขอบแบบธรรมดา ให้เหรียญได้สัมผัสกับผิวหนังตามคตินิยมแต่โบราณ เหรียญที่ตกทอดกันมาให้เห็นในปัจจุบันจึงมีสภาพไม่คมชัดสมบูรณ์เสียเป็นส่วนมาก
สมัยหนึ่ง เหรียญหลวงปู่กลั่นมีราคาสูงกว่าพระสมเด็จบางขุนพรหมเสียอีก เมื่อเทียบกับเหรียญพระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนัง นับว่าคู่คี่สูสีมาก ยากจะตัดสินได้
เหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ. 2469 นี้ วงการพระเครื่องยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีเหรียญ เป็นเหรียญเก่าที่หายากมาก และมีราคาเช่าหาสูงที่สุดเหรียญหนึ่งของประเทศไทย
ขอขอบคุณ ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น