พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ฯ
ห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายออกไปประมาณ 60 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 1020 เส้นทางสู่ ภูชี้ฟ้า เป็นที่ตั้งของวัดปล้องส้าน วัดเล็ก ๆ ประจำหมู่บ้านปล้องส้าน ในเขตตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมี ท่านพระครูถาวรวงศ์วิจิตร (พระอธิการชัชพงศ์ ถิรจิตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส
พระประธานในพระอุโบสถ วัดปล้องส้าน ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย |
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2543 เมื่อครั้งท่านพระครูถาวรวงศ์วิจิตร หรือ พระอธิการชัชพงศ์ ถิรจิตฺโต ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านปล้องส้านให้มารับหน้าที่เจ้าอาวาสใหม่ ๆ วัดปล้องส้านในขณะนั้นมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ ศาลา หรือเสนาสนะอื่น ๆ ด้วยเหตุที่เป็นวัดเก่า สร้างมานาน และเป็นเพียงวัดเล็ก ๆ ประจำหมู่บ้าน ชื่อเสียงไม่ปรากฏเป็นที่รู้จักทั่วไป การบูรณะปฏิสังขรณ์จึงได้แต่อาศัยเพียงกำลังทรัพย์และแรงกายจากชาวบ้านปล้องส้านด้วยกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่พอสมควร เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่อขาดปัจจัยที่จะนำมาใช้ดูแลรักษาและบูรณะซ่อมแซม วัดจึงถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมาตามกาลเวลาที่ผ่านไป
พระอุโบสถวัดปล้องส้าน ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม ปี พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2546 |
ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ของท่านเจ้าอาวาส ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านเริ่มต้นบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถเป็นอันดับแรก โดยเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาใหม่ เนื่องจากหลังคาเดิมแตกเสียหายเป็นบริเวณกว้างและมีน้ำฝนรั่วซึม ยิ่งปล่อยไว้นาน ก็ยิ่งทำให้พระอุโบสถภายในได้รับความเสียหายตามไปด้วย จากนั้นก็ซ่อมแซมหน้าต่าง ประตู ทาสีใหม่บางส่วนเพื่อให้ดูสวยงาม ฯลฯ ด้วยทุนทรัพย์ที่มีจำกัด การบูรณะพระอุโบสถนี้ จึงทำได้เพียงให้อยู่ในสภาพที่พอจะใช้งานได้เท่านั้น ใช้เวลาบูรณะซ่อมแซมทั้งสิ้น 3 ปี แล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2546 และวัดได้จัดให้มีงานฉลองสมโภชระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม พ.ศ. 2547
พระอุโบสถ วัดปล้องส้าน บูรณะเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2546 |
พระอุโบสถ วัดปล้องส้าน ภายหลังการบูรณะซ่อมแซม |
หลังงานบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถเสร็จสิ้นลง ท่านเจ้าอาวาสได้หารือกับชาวบ้านปล้องส้าน และมีดำริตรงกันว่า ศาลาวัดปล้องส้านซึ่งเป็นศาลาเปิดโล่ง มุงด้วยสังกะสี มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก สังกะสีที่มุงหลังคาก็เป็นสนิมและมีรูรั่วซึม ไม่สามารถคุ้มแดดคุ้มฝนและไม่ปลอดภัย พื้นศาลาก็ต่ำ น้ำท่วมขังอยู่เสมอ เห็นควรที่จะซ่อมแซมศาลาเป็นอันดับถัดไปเพื่อที่ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์เวลามาทำบุญที่วัด หรือใช้เป็นที่ประชุม หรือใช้เป็นหน่วยเลือกตั้งประจำหมู่บ้านได้ แต่หลังจากที่พิจารณากันในรายละเอียดแล้ว เห็นว่าการซ่อมแซมนั้นคงเป็นไปได้ยากเพราะสภาพศาลาเก่าและทรุดโทรมเกินกว่าจะซ่อมแซม จำเป็นต้องรื้อถอนออกและสร้างศาลาหลังใหม่ขึ้นแทนในตำแหน่งที่ตั้งเดิม
ศาลาวัดปล้องส้าน หลังเก่า ก่อนรื้อถอน |
การก่อสร้างศาลาหลังใหม่ เป็นศาลาอเนกประสงค์ จึงเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยใช้ปัจจัยที่รวบรวมได้จากงานบุญฉลองสมโภชพระอุโบสถมาเป็นทุนตั้งต้น การก่อสร้างดำเนินไปอย่างช้า ๆ บางคราวก็หยุดชะงักลงเพราะปัจจัยหมด เมื่อท่านเจ้าอาวาสรวบรวมปัจจัยทำบุญได้เป็นก้อน ก็จะนำไปซื้อวัสดุก่อสร้างมาทำต่อ เป็นอย่างนี้เรื่อยมา ใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบสี่ปี จึงแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2550 และวัดปล้องส้านได้จัดให้มีงานฉลองสมโภชศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่นี้ เมื่อวันที่ 9-12 มกราคม พ.ศ. 2551
บางท่านถึงกับสละพระเครื่องและวัตถุมงคลซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัว เก็บรักษามานานด้วยความรักและหวงแหน มอบให้กับวัด นำไปจัดหาทุนทรัพย์สำหรับใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ บางท่านทราบข่าวว่าวัดปล้องส้านเป็นวัดที่ขาดแคลน ก็จัดส่งหนังสือธรรมะ พระไตรปิฎกพร้อมตู้ไปถวาย เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ใช้ศึกษาเล่าเรียน บ้างก็จัดส่งสมุดดินสอ เครื่องเขียน เครื่องกีฬา และทุนการศึกษาไปถวายท่านเจ้าอาวาสเพื่อมอบต่อให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนปล้องส้านซึ่งท่านเจ้าอาวาสให้การอุปถัมภ์อยู่ ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ท่านเจ้าอาวาสและชาวบ้านปล้องส้านซาบซึ้งในน้ำใจและช่วยสร้างขวัญกำลังใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้งานบูรณะซ่อมแซมต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในที่สุด
ชาวบ้านปล้องส้าน ขณะช่วยกันรื้อถอนศาลาหลังเก่าเพื่อปรับเตรียมพื้นที่ และคัดวัสดุที่ยังพอใช้ประโยชน์ได้ นำไปปลูกสร้างศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ |
ชาวบ้านปล้องส้าน ประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความราบรื่นในการก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ |
พิธีทำขวัญเสา |
พิธีลงเสาขวัญ เป็นปฐมมงคลฤกษ์ในการก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ |
ชาวบ้านปล้องส้านช่วยกันลงหลักปักเสา ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ |
ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ ขณะยังเป็นโครง ฝีมือชาวบ้านปล้องส้าน ช่วยทำกันเองล้วน ๆ |
การก่อสร้างดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่ก็เริ่มเห็นเป็นรูปร่างศาลาบ้างแล้ว |
ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ ระหว่างการก่อสร้าง |
บ่อยครั้งที่งานก่อสร้างจำต้องหยุดชะงักลง เพราะหมดทุนทรัพย์ ต้องรอจนกว่าจะรวบรวมปัจจัยก้อนใหม่ได้มากพอ จึงสามารถซื้อวัสดุก่อสร้างมาทำต่อได้ |
ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ ก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลานานเกือบสี่ปีกว่าจะมาถึงจุดนี้ เพราะทำบ้าง หยุดบ้าง สลับกันไป |
ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ ใกล้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อชาวบ้านว่างจากหน้าที่การงาน ก็จะผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาช่วยงานก่อสร้าง |
ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี พ.ศ. 2550 ใช้เวลาในการก่อสร้างเกือบสี่ปี |
พระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง และชาวบ้านปล้องส้าน ร่วมกันจัดงานบุญฉลองสมโภชศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ด้วยความยินดี |
เหตุที่การก่อสร้างใช้เวลานานก็ด้วยทุนทรัพย์ที่มีจำกัดนั่นเอง วัดปล้องส้านเป็นเพียงวัดเล็ก ๆ ในชนบทห่างไกล ปัจจัยทำบุญมีน้อย อาศัยชาวบ้านปล้องส้านช่วยกันสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย และปัจจัยส่วนหนึ่งก็มาจากผ้าป่าที่จัดทอดโดยลูกหลานชาวบ้านซึ่งไปทำมาหากินต่างถิ่น เมื่อถึงช่วงเทศกาลงานบุญ ก็จัดผ้าป่ากลับมาทอดที่วัดบ้านเกิด ปีละครั้งบ้าง สองครั้งบ้าง ส่วนแรงงานในการก่อสร้างนั้น ก็อาศัยฝีมือชาวบ้านลงมือทำกันเองเมื่อว่างจากทำนา จึงไม่มีค่าแรง
ฎีกาบอกบุญ ที่ลูกหลานชาวบ้านปล้องส้าน จัดผ้าป่ามาทอดถวาย |
งานบุญผ้าป่า เพื่อนำปัจจัยไปสร้างศาลาอเนกประสงค์ |
ชาวบ้านปล้องส้าน ร่วมงานบุญทอดผ้าป่า สร้างศาลาอเนกประสงค์ |
นอกจากนี้ ก็มีโยมอุปัฏฐากที่ทราบข่าวงานบุญ ได้ช่วยประชาสัมพันธ์งานบุญต่อ ๆ กันไปตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ได้รับความอนุเคราะห์จากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ส่งปัจจัยมาร่วมทำบุญทางธนาณัติอยู่มากพอสมควร
พระคำข้าว หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง ซึ่งท่านผู้ใจบุญได้มอบให้จำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้จัดหาทุนทรัพย์ สำหรับสร้างศาลาอเนกประสงค์ วัดปล้องส้าน |
พระไพรีพินาศ ผสมมวลสารจิตรลดา วัดบวรนิเวศวิหาร มีท่านผู้ใจบุญมอบให้อีกเช่นกัน เพื่อนำไปจัดหาทุนทรัพย์ สำหรับสร้างศาลาอเนกประสงค์ วัดปล้องส้าน |
เหรียญพ่อขุนเม็งรายมหาราช สร้างโดยคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย วัดปล้องส้านจัดหามาสมนาคุณให้กับท่านผู้บริจาคทรัพย์ สร้างศาลาอเนกประสงค์ |
พระไตรปิฎกพร้อมตู้ (ด้านซ้ายของภาพ) มีท่านผู้ใจบุญสร้างถวายวัดปล้องส้าน เปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรทั้งที่วัดปล้องส้านและวัดในละแวกใกล้เคียง ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ |
บางท่านได้เผื่อแผ่ความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียน โรงเรียนปล้องส้าน ด้วยการบริจาคสมุด ดินสอ เครื่องเขียน เครื่องกีฬา ฯลฯ ผ่านท่านเจ้าอาวาส |
เมื่อท่านเจ้าอาวาสได้รับบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ก็จะนำไปมอบต่อให้กับเด็กนักเรียน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านผู้บริจาคทุกประการ |
บางท่านก็ให้ความอนุเคราะห์ ในรูปของการให้ทุนการศึกษา |
หากเงินบริจาคมีมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนก็สามารถทำได้มากขึ้นเช่นกัน |
บางท่านก็ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ในรูปของการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน |
นับจากปี พ.ศ. 2551 หลังจากที่งานบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถและงานก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์เสร็จสิ้นลง ท่านเจ้าอาวาสได้ชะลองานบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะส่วนอื่น ๆ ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ๆ ไว้ก่อนด้วยเห็นใจและเกรงใจชาวบ้านที่เหน็ดเหนื่อยกันมานาน ต้องเสียสละทั้งแรงกายแรงทรัพย์ ท่านจึงได้หันมาปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในบริเวณวัดให้ดูสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่น รวมทั้งทำงานซ่อมแซมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินมาก
ประชาสังคมในลักษณะ "บวร" (บ้าน-วัด-โรงเรียน) เป็นรูปแบบสังคมปรกติของหมู่บ้านปล้องส้าน เมื่อวัดใดวัดหนึ่งจัดงาน พระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียงก็จะมาร่วมงานด้วย |
การถวายทุนการศึกษาให้กับพระภิกษุสามเณร เป็นหนึ่งในหลากหลายกิจกรรมที่วัดต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน |
งานบุญตานก๋วยสลาก ประเพณีท้องถิ่นของชาวล้านนา |
ยามใดที่วัดมีงาน ชาวบ้านจะมาช่วยงานบุญอยู่เสมอ ศรัทธาญาติโยมไม่เคยขาดหาย |
วัดจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้าน เมื่อมีโอกาสมาร่วมงานบุญกัน ผู้สูงอายุก็ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก |
ยามใดที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เช่น ประสบอัคคีภัย ฯลฯ วัดก็เป็นสื่อกลางในการประสานให้ความช่วยเหลือ |
เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา เด็กนักเรียน โรงเรียนปล้องส้าน จะนำเทียนพรรษามาถวายวัดปล้องส้าน |
พระครูถาวรวงศ์วิจิตร เจ้าอาวาสวัดปล้องส้าน มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ |
การมอบทุนการศึกษา ถือปฏิบัติกันเป็นประจำในช่วงใกล้เทศกาลเข้าพรรษา ในวันที่เด็กนักเรียนนำเทียนพรรษามาถวายวัด |
ท่านผู้ใหญ่บ้าน ช่วยมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน |
ทุนการศึกษา มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ได้รับบริจาคจากสาธุชนผู้ใจบุญ |
นักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา ถ่ายภาพร่วมกันภายในพระอุโบสถ วัดปล้องส้าน |
เด็กนักเรียน มาร่วมงานบุญที่วัดปล้องส้าน |
เด็กนักเรียน โรงเรียนปล้องส้าน |
วัดและชาวบ้าน จัดอาหารและขนมเลี้ยงเด็กนักเรียน |
เด็กนักเรียน เข้าแถวรอรับอาหารและขนมที่จัดเตรียมไว้ |
ขนม เครื่องเขียน ฯลฯ ที่วัดปล้องส้านจัดเตรียมไว้แจกให้กับเด็ก ๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติของทุก ๆ ปี |
เด็ก ๆ เข้าแถวรอรับสิ่งของ บริเวณลานวัดปล้องส้าน |
พระครูถาวรวงศ์วิจิตร เจ้าอาวาสวัดปล้องส้าน ผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ |
สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีคุณค่ายิ่ง สำหรับเด็กด้อยโอกาสในชนบทห่างไกล |
ท่านผู้ใหญ่บ้าน มาช่วยอำนวยความสะดวก จัดแถวให้กับเด็ก ๆ ที่มารอรับแจกขนมและสิ่งของ |
เด็ก ๆ เข้าแถวรอรับขนมซึ่งวัดจัดเตรียมไว้เลี้ยง เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ |
ในปี พ.ศ. 2554 นี้ ท่านเจ้าอาวาสได้หารือกับชาวบ้าน เห็นตรงกันว่าควรจะสร้างกำแพงวัดและซุ้มประตูเพื่อให้วัดมีรั้วรอบขอบชิดชัดเจน หลังจากที่แนวกำแพงปัจจุบันบางส่วนก็ล้มลงบ้าง เปิดโล่งบ้าง ชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา
การก่อสร้างกำแพงวัดและซุ้มประตูนี้ ท่านเจ้าอาวาสตระหนักดีว่า ต้องใช้ทุนทรัพย์อยู่มากพอสมควร แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ดีกว่าจะปล่อยให้อยู่ในสภาพที่ขาดการดูแลรักษาเช่นนี้ไปตลอด การก่อสร้างจะเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ตามปัจจัยที่ได้รับบริจาค ถึงแม้จะต้องใช้เวลานาน แต่หากได้ลงมือทำแล้ว ช้าหรือเร็วก็ต้องสำเร็จอย่างแน่นอน
ในโอกาสนี้ จึงขอเรียนเชิญท่านพุทธศาสนิกชนที่ทราบข่าวงานบุญนี้ ได้โปรดพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ด้วยการบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาและความสามารถ เพื่อช่วยให้งานก่อสร้างกำแพงวัดและซุ้มประตูสามารถดำเนินต่อไปได้
นอกจากงานบุญก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูวัดปล้องส้านแล้ว หากท่านมีจิตศรัทธาประสงค์จะให้ความอนุเคราะห์เด็กนักเรียน โรงเรียนปล้องส้าน ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้ให้การอุปถัมภ์อยู่ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
การก่อสร้างกำแพงวัดและซุ้มประตูนี้ ท่านเจ้าอาวาสตระหนักดีว่า ต้องใช้ทุนทรัพย์อยู่มากพอสมควร แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ดีกว่าจะปล่อยให้อยู่ในสภาพที่ขาดการดูแลรักษาเช่นนี้ไปตลอด การก่อสร้างจะเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ตามปัจจัยที่ได้รับบริจาค ถึงแม้จะต้องใช้เวลานาน แต่หากได้ลงมือทำแล้ว ช้าหรือเร็วก็ต้องสำเร็จอย่างแน่นอน
ในโอกาสนี้ จึงขอเรียนเชิญท่านพุทธศาสนิกชนที่ทราบข่าวงานบุญนี้ ได้โปรดพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ด้วยการบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาและความสามารถ เพื่อช่วยให้งานก่อสร้างกำแพงวัดและซุ้มประตูสามารถดำเนินต่อไปได้
พระครูถาวรวงศ์วิจิตร จัดอบรมธรรมะ พร้อมกับนำอุปกรณ์การเรียน ทุนการศึกษา ที่ได้รับบริจาคจากท่านผู้ใจบุญ มอบให้กับเด็กนักเรียน โรงเรียนปล้องส้าน |
โรงเรียนปล้องส้าน อยู่ไม่ไกลจากวัดปล้องส้าน จัดเป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เด็ก ๆ ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนและไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี ท่านสามารถให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือในรูปของการมอบทุนการศึกษา เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเขียน เครื่องกีฬา เครื่องดนตรี ขนม หรือจัดเลี้ยงอาหารให้กับเด็กนักเรียน ฯลฯ โดยบริจาคผ่านท่านเจ้าอาวาสวัดปล้องส้านตามที่อยู่ที่แสดงไว้ข้างต้น เมื่อท่านเจ้าอาวาสได้รับสิ่งของบริจาคจากท่านแล้ว จะนำไปมอบต่อให้กับเด็กนักเรียน ตรงตามเจตนารมณ์ของท่านผู้บริจาคทุกประการ
หากท่านประสงค์จะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อท่านเจ้าอาวาสโดยตรงตามที่อยู่ดังนี้
หากท่านประสงค์จะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อท่านเจ้าอาวาสโดยตรงตามที่อยู่ดังนี้
พระครูถาวรวงศ์วิจิตร
เจ้าอาวาส วัดปล้องส้าน
หมู่ 12 ตำบลปล้อง
อำเภอเทิง
จังหวัดเชียงราย 57230
"สุโข ปุญญสฺส อุจฺจโย - การสั่งสมบุญ นำสุขมาให้" เชื่อว่าเราท่านทั้งหลาย ต่างเคยประกอบกุศลกรรมเกี่ยวเนื่องกันมา และมีวาสนาเกื้อกูลกันมาแต่ปางก่อน ในภพภูมิใดภพภูมิหนึ่ง จึงมีเหตุนำพาให้มาประสบพบข่าวงานบุญนี้ เมื่อได้เวียนมาพบกันอีก จึงควรถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สั่งสมบุญบารมีเพิ่มเติมกันต่อไป เป็นพลวปัจจัยในการเดินทาง ข้ามพ้นวัฏสงสาร มีพระนิพพานเป็นที่หมาย
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ความปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามอัตภาพ เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ท่านมีจิตศรัทธาจะหยิบยื่นให้ เพื่อช่วยบูรณะซ่อมแซมวัดปล้องส้าน หรือช่วยเหลือการศึกษาเด็กนักเรียน โรงเรียนปล้องส้าน จะมากหรือน้อยในความรู้สึกของท่านก็ตาม แต่สำหรับชาวบ้านปล้องส้านและเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนและด้อยโอกาสเหล่านั้น เป็นสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง การสละทรัพย์ของท่านแม้เพียงคนละเล็กคนละน้อย หรือแม้แต่การช่วยประชาสัมพันธ์งานบุญนี้ให้ผู้อื่นได้ทราบต่อไป ก็นับเป็นบุญที่ควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
หากมีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับงานก่อสร้างกำแพงวัดและซุ้มประตู รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนโรงเรียนปล้องส้านแล้ว ท่าพระจันทร์ จะนำมาเรียนเสนอให้ท่านทราบเป็นระยะ ๆ และขอถือโอกาสนี้ กราบอนุโมทนากับทุก ๆ ท่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น