วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ 'เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว'


คาถาบูชาหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

อิติอะระหัง สุขะโต พุทธสโร
หลวงพ่อเดิม นามะเต อาจาริโยเม
อายัสมา อาจาริโยเม ภันเตโหหิ

หลวงพ่อเดิม เกิดที่บ้านหนองโพ เมื่อวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 ปีวอก ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2403

เมื่อเจริญวัยอายุได้ 20 ปี โยมบิดาได้พาท่านไปรับการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมา วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2423 โดยมี หลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพยุหานุศาสก์ หรือหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง กับ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระคู่สวด ได้รับนามฉายาว่า พุทฺธสโร มีความหมายว่า ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นศรชัยแห่งชัยชนะ

เมื่อหลวงพ่อเดิมอุปสมบทแล้ว ท่านได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

วัดหนองโพนี้ พระภิกษุรอดหรือ หลวงพ่อเฒ่า ร่วมกับญาติโยมปวารณาที่อพยพมาจากบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ได้ช่วยกันสร้างขึ้น มีชื่อแรกเริ่มว่า วัดสมโภชโพธิ์กระจาย ด้วยบริเวณที่ตั้งวัดมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเป็นบริเวณกว้าง ต่อมาหลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์เหลือง เปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคลนามว่า วัดสมโภชโพธิ์เย็น ครั้นต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลนครสวรรค์ ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดให้ตรงกันกับชื่อของหมู่บ้านนั้นว่า วัดหนองโพ 

ซุ้มประตู ทางเข้าวัดหนองโพ

เมื่อ หลวงพ่อเฒ่า ถึงแก่มรณภาพนั้น ท่านมีอายุถึง 120 ปี จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 หลวงพ่อเฒ่า หรือ หนุ่มรอดในขณะนั้นถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลย เมื่อหนีกลับมาได้ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อเฒ่า ท่านคงจะมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงราวต้นรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นพระเถระที่มีพรรษากาลยืนยาวมาก แม้ท่านจะล่วงลับจากไปนานแล้ว ชาวบ้านก็ยังคงพูดถึงท่านด้วยความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่งมาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวกันว่า เมื่อหลวงพ่อเดิมถือกำเนิดขึ้นมานั้น ท่านพระภิกษุรอดหรือหลวงพ่อเฒ่าซึ่งเป็นสมภารองค์แรกได้ละสังขารไปแล้ว และได้มีสมภารครองวัดหนองโพสืบต่อกันมา คือต่อจาก หลวงพ่อเฒ่า ก็มา หลวงพ่อสิน ไม่มีใครจำได้ว่าหลวงพ่อสินท่านเป็นคนบ้านไหน ทราบแต่ว่าท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเฒ่า ต่อจากหลวงพ่อสิน ก็คือ หลวงพ่อจันทร์ ซึ่งก็เป็นศิษย์ของหลวงพ่อเฒ่าเช่นกัน ต่อมาภายหลัง หลวงพ่อจันทร์ได้ย้ายไปอยู่วัดหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท แล้ว หลวงตาชม ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ  

มณฑป ประดิษฐานรูปหล่อโลหะ พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม)
พระสมุห์ชุ่ม ขนฺธสโร และพระครูนิพนธ์ธรรมคุต (หลวงพ่อน้อย)

เมื่อหลวงพ่อเดิมมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ ท่านได้เล่าเรียนศึกษาหาความรู้ในพระธรรมวินัย ท่านได้ท่องคัมภีร์พระวินัย 10 ผูกกับ "หลวงตาชม" ซึ่งเป็นพระผู้ครองวัดหนองโพอยู่ในเวลานั้น คัมภีร์พระวินัย 10 ผูก ก็คือหนังสือที่ต่อมาได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่ม เรียกชื่อว่า บุพพสิกขาวรรณนา ของ "พระอมราภิรักขิต" (เกิด) วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร นั่นเอง

รูปหล่อโลหะ หลวงพ่อเดิม ภายในมณฑป

นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรมคำสอนแล้ว ในพรรษาแรก ๆ เมื่อเริ่มอุปสมบท หลวงพ่อเดิมได้เล่าเรียนวิชาคาถาอาคมกับ นายพัน ชูพันธ์ ศิษย์รุ่นเล็กของหลวงพ่อเฒ่า นายพัน ชูพันธ์นี้เป็นผู้คงแก่เรียนและทรงวิทยาคุณตั้งแต่ยังเป็นพระภิกษุ ภายหลังลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส

เมื่อนายพัน ชูพันธ์ ถึงแก่มรณกรรม หลวงพ่อเดิมได้ไปอยู่จำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี วัดบ้านบน ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี และไปเรียนหัดเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง และเรียนพระธรรมวินัยกับอาจารย์แย้ม ซึ่งเป็นฆราวาสอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลือง จนนับว่าเป็นผู้มีความรู้แตกฉานพอแก่สมัยนั้น

ครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่ถ่ายทอดวิชาอาคมให้กับหลวงพ่อเดิมคือ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล หลวงพ่อเทศองค์นี้เป็นศิษย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว และหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว ก็เป็นศิษย์ของหลวงพ่อเฒ่า ผู้ก่อตั้งวัดสมโภชโพธิ์กระจาย หรือวัดหนองโพในปัจจุบัน

หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล

หลวงพ่อเดิมท่านเทศน์เก่ง สามารถแยกแยะข้อธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย จึงมีคนนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์อยู่เนือง ๆ หลวงพ่อเป็นนักเทศน์อยู่หลายปีแล้วก็เลิก ท่านปรารภว่า มัวแต่ไปเที่ยวสอนคนอื่น และเอาสตางค์เขาด้วย ส่วนตัวเองไม่สอน ต่อไปนี้ต้องสอนตัวเองเสียที

เมื่อเลิกเป็นพระนักเทศน์ ท่านได้ไปเรียนกรรมฐานกับ หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ศิษย์ผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณอีกรูปหนึ่งของหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว หลวงพ่อเดิมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจังมาโดยตลอด ตั้งกายตรง ตั้งสติกำหนดไว้เฉพาะหน้า หลวงพ่อนั่งตัวตรงเสมอมาจนอายุเก้าสิบเศษ ก็ยังนั่งตัวตรง

หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง
สมณศักดิ์ พระครูพยุหานุศาสก์ เจ้าคณะแขวงพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ประชาชนนับถือกันว่า เป็นพระผู้เฒ่าที่มีคาถาอาคมขลัง และมีชื่อเสียงทางรดน้ำมนต์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลนครสวรรค์ ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา
ได้เสด็จขึ้นแวะเยี่ยม และโปรดให้หลวงพ่อเงินรดน้ำมนต์ถวาย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2449
(อ้างอิง - จดหมายเหตุ เรื่องเสด็จประพาสต้น ในรัชกาลที่ 5 ครั้งที่ 2)

หลวงพ่อเดิมจะไปศึกษาเล่าเรียนมาจากสำนักของอาจารย์ใดบ้าง ไม่ทราบได้ตลอด เรื่องการเรียนและฝึกหัดเวทย์มนต์คาถาวิทยาคมนี้ แต่โบราณมาก็สืบเสาะแสวงหาที่ร่ำเรียนกับพระอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ ปรากฏว่า หลวงพ่อเดิม ทำวิชาขลังจนเป็นที่เลื่องลือ มีผู้รู้ผู้เห็นความขลังของหลวงพ่อจนประจักษ์แก่ตาตนเองเป็นจำนวนมาก

ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา มีประชาชนหลั่งไหลกันไปกราบหลวงพ่อเดิม ขอให้ท่านรดน้ำมนต์บ้าง เป่าหัวบ้าง ขอของขลัง ขอวิชาอาคม ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ยังพากันนำผ้าขาว ผ้าแดง ผืนหนึ่งกว้างยาวราว 12 นิ้ว เอาน้ำหมึกไปทาฝ่าเท้าหลวงพ่อ แล้วยกขาของท่านเอาฝ่าเท้ากดลงไปให้รอยเท้าติดบนแผ่นผ้า บางคนก็กดเอาไปรอยเท้าเดียว บางคนก็กดเอาไปทั้งสองรอย แล้วก็เอาผ้าผืนนั้นไปเป็นผ้าประเจียดสำหรับคุ้มครองป้องกันตัว

เวลามีงานนักขัตฤกษ์ที่วัดหนองโพหรือที่วัดอื่น ๆ ซึ่งเขาได้นิมนต์หลวงพ่อเดิมไปเป็นประธานของงาน จะมีประชาชนมาขอแป้ง น้ำมนต์ น้ำมันมนต์ และของขลังต่าง ๆ กันเนืองแน่นมากมาย ที่ก้มศีรษะมาให้หลวงพ่อเสกเป่าก็มี ขอให้ถ่มน้ำลายรดหัวก็มี บางครั้งท่านเหนื่อยมาก แต่ก็สงเคราะห์ให้ด้วยเมตตา ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เคยแสดงอาการเบื่อหน่ายระอิดระอา

ผ้าประเจียด ประทับรอยเท้า หลวงพ่อเดิม

ท่านอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อเดิมเคยกราบเรียนถามท่านว่า "คาถาแต่ละบท ดูครูบาอาจารย์ท่านก็บอกฝอยของท่านไว้ล้วนแต่ดี ๆ บางบทก็ใช้ได้หลายอย่างหลายด้าน จะเป็นจริงตามนั้นไหม" หลวงพ่อท่านตอบว่า "ของจริง รู้จริง เห็นจริง ย่อมทำได้"

วัตถุปัจจัยหรือเงินทองที่มีผู้ถวายหลวงพ่อเนื่องในกิจนิมนต์ก็ดี หรือถวายด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อก็ดี หลวงพ่อมิได้เก็บสะสมไว้ หากแต่ใช้จ่ายไปในการทำสาธารณประโยชน์ ใช้เป็นทุนรอนในการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาและสถานศึกษาเล่าเรียนจนหมดสิ้น หลวงพ่อจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในวัด หาครูมาสอนและเป็นคนจัดหาเงินเดือนค่าสอนให้แก่ครูเอง และยังได้จัดการศึกษาด้านศิลปะ สอนดนตรีปี่พาทย์ ฝึกหัดยี่เก ฝึกรำ ฯลฯ วัดหนองโพซึ่งเคยเสื่อมโทรมลงนับแต่หลวงพ่อเฒ่าได้ล่วงลับไป ก็กลับมาเป็นสำนักศึกษาศิลปวิทยาการที่สำคัญขึ้นใหม่อีกครั้ง  

เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี พ.ศ. 2470
สร้างโดยพระอธิการจันทร์ วัดคลองระนง จังหวัดนครสวรรค์

จำนวนสร้างประมาณ 500 เหรียญ เป็นเหรียญปั๊มหลวงพ่อเดิมรุ่นแรก

หลวงพ่อเลี้ยงสัตว์พาหนะ เช่นช้างและม้า และยังได้ศึกษาวิชาการจับช้างป่าด้วย สัตว์พาหนะที่หลวงพ่อเลี้ยงไว้ก็เพื่อใช้สำหรับบรรทุกลากเข็นสัมภาระในการก่อสร้างถาวรวัตถุ เท่าที่ทราบ หลวงพ่อเดิมมีช้างทั้งหมดเกือบสี่สิบเชือก

ปี พ.ศ. 2457 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เจ้าอธิการเดิม วัดหนองโพ
เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์
(ปัจจุบันเรียกเจ้าคณะแขวงว่า เจ้าคณะอำเภอ)
ต่อมา คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงพ่อเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
และได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อปี พ.ศ. 2462

หลวงพ่อเป็นเสมือนต้นโพธิ์ต้นไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาล เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนไม่เลือกชั้นวรรณะ บรรดาท่านผู้เฒ่าผู้แก่ต่างออกปากชมกันว่า ท่านองค์นี้ไม่ใช่ใครอื่นแล้ว คือหลวงพ่อเฒ่าเจ้าของวัดท่านมาเกิด

จากการตรากตรำทำงานสาธารณประโยชน์มานานหลายสิบปี สุดท้ายราวสิบกว่าปีก่อนมรณภาพ ร่างกายของหลวงพ่อก็ทรุดโทรมจนแข้งขาใช้เดินไม่ได้ จะลุกจะนั่งก็ต้องมีคนพยุง จะเดินทางไปไหนก็ต้องขึ้นคานหามหรือขึ้นเกวียนไป แม้กระนั้นก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธามานิมนต์หลวงพ่อไปในงานบุญงานกุศลอยู่เนือง ๆ

ครั้งหลังสุด หลังจากที่กลับจากการเป็นประธานงานก่อสร้างโบสถ์วัดอินทาราม (วัดใน) อำเภอพยุหะคีรี หลวงพ่อก็เริ่มอาพาธ ตั้งแต่วันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2494) อาการทรุดลงเป็นลำดับ จนถึงวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือนเดียวกัน (วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2494) อาการก็ทรุดหนักขึ้น

ครั้นตกตอนบ่ายในวันนั้น หลวงพ่อก็คอยแต่สอบถามอยู่ว่า “เวลาเท่าใดแล้ว ๆ” ศิษย์ผู้พยาบาลก็กราบเรียนตอบไป ๆ จนถึงราว 17:00 น. หลวงพ่อจึงถามว่า "น้ำในสระมีพอกินกันหรือ" (เพราะบ้านหนองโพมักกันดารน้ำ) ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ก็เรียนตอบว่า ถ้าฝนไม่ตกภายใน 6-7 วันนี้ ก็น่ากลัวจะถึงกับอัตคัดน้ำ หลวงพ่อก็นิ่งสงบไม่ว่ากระไรต่อไปอีก ในทันใดนั้น กลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามาและฟ้าคะนอง มิช้าฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนขาดเม็ด หลวงพ่อก็สิ้นลมหายใจ เมื่อเวลา 17:45 น. คำนวณอายุได้ 92 ปีโดยสิริรวมแต่อุปสมบทมาได้ 71 พรรษา

พระสถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิธาตุ หลวงพ่อเดิม

เล่ากันว่า วันที่หลวงพ่อเดิมมรณภาพ ช้างของท่านซึ่งกำลังทำงานอยู่ในป่าดิ้นรนไม่ยอมทำงาน ถึงควาญช้างจะบังคับก็ดื้อดึงไม่ยอมทำงานทั้งสิ้น พยายามหันหลังเดินกลับวัดหนองโพ บรรดาควาญช้างต่างสังหรณ์ใจในอาการอาพาธของหลวงพ่อเดิม จึงปรึกษากันให้เลิกงาน ช้างทุกเชือกหันหน้าพากันกึ่งเดินกึ่งวิ่ง มุ่งหน้าสู่วัดหนองโพอย่างเร่งร้อน เมื่อมาถึงวัดแล้ว ขณะนั้นหลวงพ่อเดิมอาพาธหนัก หมดทางเยียวยารักษา ช้างทุกเชือกเหมือนจะรู้ ต่างไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำ ต่างหงอยเหงาไม่ส่งเสียง ได้แต่เดินวนเวียนไปมาใกล้กุฏิหลวงพ่อที่นอนอาพาธอยู่เหมือนจะรู้ว่า วาระสุดท้ายของหลวงพ่อที่ชุบเลี้ยงพวกมันมากำลังจะถึงแล้ว

เมื่อผู้ใกล้ชิดจับชีพจนจนแน่ใจว่า หลวงพ่อถึงแก่มรณภาพแน่แล้ว จึงแจ้งข่าวแก่ผู้อยู่ข้างนอก วงปี่พาทย์ประโคมขึ้นพร้อมกับกลองใหญ่ถูกรัวกระหน่ำสนั่นวัด ช้างของหลวงพ่อทุกเชือกส่งเสียงร้องโกญจนาท น้ำตาไหลพราก ทุกเชือกต่างชูงวงเดินวนเวียน บางเชือกเอางวงจับหน้าต่างกุฏิของหลวงพ่อเหนี่ยวไว้ ร้องอาลัยในมรณกรรมของผู้ที่ชุบเลี้ยงมาแต่น้อยคุ้มใหญ่


อ้างอิง   ประวัติวัดหนองโพ ท่านอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น