วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

คุณานุภาพแห่ง "พระพุทโธ"


"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย
ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน 
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว
ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว 
ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ 
ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ "
                                                                                                                                            ธชัคคสูตร

พุทโธ เป็นคำเรียกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุที่พระองค์ทรงได้พระนามว่า "พุทโธ" หรือ "พุทธะ" เพราะทรงหยั่งรู้ในอริจสัจจ์ทั้งสี่ คือธรรมอันเป็นไปซึ่งความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ เป็นวิมุตติคือความหลุดพ้น ถึงนิพพานอันเป็นภูมิที่สุดอันพึงได้พึงถึงในพระพุทธศาสนา

คำว่า พุทโธ หรือ พุทธะ ใช้ในภาษาบาลีว่าเป็นผู้ตื่น พุทโธหรือพุทธะ จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือรู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง ตื่นจากความหลับใหลต่าง ๆ ไม่ลุ่มหลงมัวเมายึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตใจจึงปลอดโปร่ง เบิกบาน และมีความสุข


จิตของคนเรานี้ชอบปรุงแต่ง คิดวุ่นวายฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ท่านเปรียบจิตเหมือนกับลิงที่อยู่ไม่สุข ชอบปีนป่ายกระโดดไปมา ส่วนสตินั้นเปรียบเสมือนเชือก การเอาเชือกผูกลิงไว้กับหลัก คือการเอาสติมาผูกจิตไว้กับสิ่งที่ดีงาม ไม่ปล่อยให้ล่องลอยไปกับความนึกคิดทั้งหลาย หรือความห่วงกังวลภายนอก

ในการเจริญพระกรรมฐาน ครูอาจารย์จึงสอนให้บริกรรมคำว่า "พุทโธ"  เป็นอารมณ์สำหรับให้จิตยึดเหนี่ยว พุทโธเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เป็นพระนามของผู้บริสุทธิ์ เป็นพระนามที่แสดงถึงปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ความตื่น และความเบิกบาน เป็นคำที่ดีงาม

การฝึกจิตให้สงบอยู่กับพุทโธ จิตจะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ปรุงแต่ง มีความมั่นคงแน่วแน่ โดยให้นึกในใจว่า พุท-โธ พุท-โธ ฯลฯ เป็นจังหวะ ๆ ไป หรือบริกรรมควบคู่ไปกับการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เช่น เมื่อหายใจเข้าก็ให้บริกรรมว่าพุท เมื่อหายใจออก ให้บริกรรมว่าโธ ให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกและพุทโธ เพื่อให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรณะที่เลิศประเสริฐสูงสุด

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

เมื่อครั้งที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แวะพำนักอยู่กับชาวเขาที่บ้านดงป่าดะ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ. 2479  ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เคยพบเห็นพระภิกษุสงฆ์มาก่อน เกิดความหวาดระแวงสงสัย เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเสือเย็นจำแลงมา จึงจัดเวรยามคอยเฝ้าระวัง และบอกเตือนกันมิให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปใกล้ แม้ผู้ชายก็ไม่ควรเข้าไปตามลำพัง ควรมีเพื่อนและอาวุธติดตัวไปด้วย

ในแต่ละวัน จะมีชาวบ้าน 3-4 คนผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาสังเกตการณ์ ยืนด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ใกล้ที่พักของพระอาจารย์มั่น บางครั้งก็มายืนอยู่ข้างทางเดินจงกรมบ้าง อยู่ที่หัวจงกรมบ้าง ในขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรมทำความเพียรอยู่ แต่ไม่พูดจาอะไร ท่านก็มิได้สนใจพวกเขา เวลาผ่านไปนานนับเดือน ก็ยังไม่พบอะไรที่ผิดสังเกต ชาวบ้านจึงคลายความหวาดระแวงลง เริ่มเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พากันมาสอบถามเพื่อให้หายข้องใจว่าทำไมบางครั้งถึงนั่งหลับตานิ่ง ๆ บางครั้งก็เดินกลับไปกลับมา

พระอาจารย์มั่นทราบด้วยวาระจิตว่าชาวบ้านเริ่มน้อมใจมาทางกุศลแล้ว จึงตอบพวกเขาไปว่า พุทโธของเราหาย เรานั่งและเดินหาพุทโธ ชาวบ้านถามต่อไปว่า พุทโธของตุ๊เจ้าหายไปนานแล้วหรือ หน้าตาเป็นอย่างไร พวกเราจะช่วยตุ๊เจ้าหาได้ไหม ท่านตอบว่า พุทโธเป็นดวงแก้ว ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ใครหาพุทโธพบ คนนั้นประเสริฐ มองเห็นอะไรได้ตามใจหวัง ถ้าสูเจ้าจะช่วยเราหาก็ยิ่งดีมาก จะได้เห็นพุทโธเร็ว ๆ

ชาวบ้านยังคงสงสัย ถามว่าพุทโธเป็นแก้วสีอะไร มองเห็นสวรรค์นรกได้ไหม มองเห็นญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วได้ไหม ผู้หญิงช่วยหาได้ไหม เด็ก ๆ ช่วยหาได้ไหม ฯลฯ  พระอาจารย์มั่นตอบว่า พุทโธเป็นดวงแก้วสว่างไสว สว่างมากยิ่งกว่าพระอาทิตย์ตั้งร้อยดวงพันดวง ส่องสว่างมองเห็นนรกสวรรค์ได้ ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ใครหาก็ได้ทั้งนั้น เป็นสมบัติวิเศษของพระพุทธเจ้า ผีก็กลัวพุทโธ ใครที่หาพุทโธ แม้ยังไม่พบ ผีก็เริ่มกลัวผู้นั้นแล้ว  ถ้าสูเจ้าจะช่วยเราหาพุทโธจริง ๆ เวลานั่งหรือเดิน ให้นึกในใจว่าพุทโธ ๆ ถ้าทำอย่างนี้ สูเจ้าอาจเจอพุทโธก่อนเราก็ได้

เวลาผ่านไปไม่นานนัก มีชาวบ้านคนหนึ่งกลับมารายงานพระอาจารย์มั่น เล่าให้ท่านฟังว่าได้บริกรรมพุทโธตามวิธีที่ท่านแนะนำ มีอยู่คืนหนึ่งฝันไปว่า พระอาจารย์มั่นเอาเทียนเล่มใหญ่ที่จุดไฟสว่างไสวไปติดไว้บนศีรษะของเขา เขาดีใจมากที่ได้ของดี มีความสว่างไสวแผ่ออกไปรอบกายตั้งหลาย ๆ วา  การนึกบริกรรมพุทโธทำให้เขาเกิดความสงบสุขทางใจอย่างอัศจรรย์ ทั้งยังสามารถหยั่งรู้จิตใจของผู้อื่นได้อีกด้วย  เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ชาวบ้านก็พากันภาวนาพุทโธไปตาม ๆ กัน ผู้ใดมีความชำนาญมากขึ้น ท่านก็ให้คำแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมไปตามลำดับ

ชาวบ้านให้ความเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์มั่นมาก พากันมาศึกษาข้อธรรมจากท่านทุกวัน คอยดูแลปรนนิบัติเรื่องบิณฑบาตมิให้ขาดตกบกพร่อง กุฏิที่พัก ทางเดินจงกรม ก็ทำถวายให้ใหม่โดยที่ท่านมิได้บอกกล่าวร้องขอ เมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องจากไป ชาวบ้านต่างพากันร้องไห้ อ้อนวอนขอให้ท่านอยู่ต่อ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่วิ่งออกมารุมล้อม แย่งเอาบาตรบริขาร ฉุดชายสบงจีวร กอดแข้งกอดขาท่านดึงกลับเข้าที่พัก เมื่อท่านปลอบโยนและอธิบายเหตุผลให้ฟัง จึงค่อยพากันสงบลงและยอมปล่อยท่านไป แต่พอก้าวออกจากที่พักไปได้ไม่เท่าไร ต่างก็พากันร้องไห้ฉุดท่านกลับมาอีก เป็นอย่างนี้อยู่นานหลายชั่วโมง กว่าจะจากไปได้ก็ทุลักทุเลด้วยความสงสารและสลดสังเวชใจ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นศิษย์อาวุโสของพระอาจารย์มั่น เป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนออกธุดงค์ไปด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง อุปนิสัยของหลวงปู่ทั้งสองรูปแตกต่างกันมาก แต่ก็ไปด้วยกันได้ดี หลวงปู่ตื้อเป็นคนโผงผาง พูดตรง ไม่กลัวใคร บางครั้งก็ทำอะไรแปลก ๆ ผิดไปจากสมณะรูปอื่น แต่ท่านเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์มั่นให้ความไว้วางใจมาก และพูดเตือนศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า "ใครอย่าไปดูถูกท่านตื้อนะ ท่านตื้อเป็นพระเถระ"

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ตื้อและหลวงปู่แหวนออกธุดงค์ด้วยกันใหม่ ๆ ไปทางแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ตอนจะข้ามแม่น้ำโขง ท่านหาเรือไม่ได้ เรือนแพในละแวกนั้นก็ไม่มี หมู่บ้านใกล้สุดก็อยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่าหนึ่งกิโลเมตร หลวงปู่ตื้อบอกกับหลวงปู่แหวนว่า ไม่ต้องวิตก เดี๋ยวก็มีเรือมารับเราข้ามฟากไป แล้วท่านก็ยืนนิ่งหลับตาบริกรรมอยู่ครู่หนึ่ง สักพักก็มีเรือหาปลาผ่านมารับท่านพาข้ามฟากไป คนเรือบอกว่า ขณะที่กำลังหาปลาอยู่กลางแม่น้ำ มีความรู้สึกสังหรณ์ใจว่ามีพระกำลังรอเรือข้ามฟาก จึงพายเรือมาดู ก็พบพระคุณเจ้าทั้งสอง

หลวงปู่ตื้อเล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า เมื่อออกธุดงค์ไปตามป่าเขาที่ห่างไกลผู้คน ท่านจะภาวนาพุทโธเป็นอารมณ์ ทำให้เกิดกำลังใจ จิตใจแช่มชื่น บรรเทาความหิวและความกระวนกระวายได้

การท่องธุดงค์ไปในป่าเขาที่ไม่พบผู้คนเลยนั้น บางคราวไม่ได้ฉันอาหารติดต่อกัน 7-15 วัน บางคราวต้องผจญกับสัตว์ร้ายต่าง ๆ เช่น เสือ หมี งู ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่พระธุดงค์ในสมัยก่อนจะพบเห็นอยู่เสมอ การภาวนาให้จิตยึดพุทโธเป็นอารมณ์  สัตว์ร้ายจะไม่ทำอันตราย แต่หากจิตมัวแต่พะวง กลัวตายจนลืมภาวนาพุทโธ ก็อาจถูกทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อเผชิญกับภูติผีปีศาจก็เช่นกัน อานุภาพของพุทโธ และจิตที่เป็นสมาธิ ช่วยป้องกันภูติผีปีศาจต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ แก่เราได้ และเมื่อเราแผ่เมตตาให้ พวกนั้นก็ยินดีน้อมรับส่วนบุญ กลับกลายมาผูกมิตรกับเราเสียอีก ในลมหายใจเข้าออกจึงมีพุทโธเป็นประจำ ขาดไม่ได้ หลวงปู่ตื้อท่านว่า คำว่า "พุทโธ" นี้ ผีกลัวเกรงมากที่สุด

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

เวลาที่ท่านออกธุดงค์ จะมีเทพยดา วิญญาณ โอปปาติกะ มาปรากฏตัวลองดีกับท่านอยู่บ่อยครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านไปปักกลดบริเวณถ้ำผาบ่อง ขณะกำลังนั่งทำสมาธิ ได้เกิดแสงสีรุ้งสว่างจ้าครอบมุ้งกลดของท่าน มีพลังบีบคั้นเข้าไปถึงจิตใจ ทำให้อึดอัด หายใจไม่ออก ธาตุขันธ์อ่อนลงอย่างรู้สึกได้ชัด หลวงปู่ตื้อยังคงบริกรรมพุทโธต่อไป แสงสีรุ้งก็ค่อย ๆ คลายความสว่างจ้าลง แล้วก็หายไป กลายเป็นมือขนาดใหญ่มาครอบลงบนมุ้งกลดแทน ท่านเล่าว่ารู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง แต่ยังคงตั้งสติมั่นอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ๆ

สักครู่หนึ่งก็ปรากฏร่างคนตัวดำสูงใหญ่ราวสิบศอก เดินมาหยุดอยู่หน้ามุ้งกลด หลวงปู่ส่งเสียงถาม ก็ไม่มีเสียงตอบ ครู่เดียวก็หายไป สักพักก็กลับมาอีก กลายเป็นชีปะขาว ดูท่าทางยังหนุ่มอยู่มาก หลวงปู่ถามว่า ใครเป็นผู้ทำแสงสายรุ้งครอบมุ้งกลดของเรา ใครเป็นผู้ทำนิ้วมือใหญ่ ทำเพื่อประโยชน์อันใด ชีปะขาวหนุ่มยอมรับว่าเป็นผู้ทำทั้งหมด เพื่อทดสอบจิตใจของหลวงปู่เล่นเฉย ๆ

หลวงปู่ตื้อจึงอบรมสั่งสอนไปว่า การที่จะทดลองกับลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าให้มีความกลัวนั้น ไม่มีผลเสียแล้ว เพราะสมณะอย่างเรา ไม่กลัวอะไร จะตายก็ไม่เสียดายอะไร เพราะว่าเราได้นับถือและมอบกายถวายชีวิตให้กับพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเทพยดา มนุษย์ สัตว์นรก ต่างให้ความเคารพเลื่อมใสพระพุทธเจ้าทั้งนั้น นอกเสียจากวิญญาณที่หลงตายเท่านั้นที่จะมาหลอกกันให้ยืดยาว เสียเวลาในการสร้างบุญบารมี  วิญญาณในร่างชีปะขาวก้มกราบขอขมา รับศีลรับพรแล้วกราบลาท่านไปด้วยอาการเคารพนอบน้อม


การระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอนุตตริยะ ไม่มีความระลึกอื่นใดจะยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่า ชนทั้งหลายเหล่าใดเลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้า ชนทั้งหลายเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสแล้วในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรงพระชนม์ ประทับอยู่ ณ เชตวนารามของท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ใกล้นครสาวัตถี ได้ตรัสเรื่องเทวาสุรสงครามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทพและอสูรได้เกิดประชิดติดพันกันขึ้น ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ของเทพยดาทั้งหลาย เรียกประชุมเทพยดาชั้นดาวดึงส์ ตรัสสั่งว่า ถ้าเทพผู้เข้าสงครามเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้า ก็ให้มองดูยอดธงของพระองค์ หรือไม่เช่นนั้น ก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชลำดับรองลงไปชื่อ ปชาบดี หรือไม่เช่นนั้นก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ วรุณ หรือ ไม่เช่นนั้น ก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ อีสาน ความกลัว ความหวาด ความขนพองสยองเกล้าก็จักหายไป

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องเทวาสุรสงครามในอดีตดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อพวกเทพที่เข้าสงครามมองดูยอดธงของท้าวสักกะจอมเทพหรือของเทวราชอีกสามองค์นั้น ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้า จักหายไปก็ได้ ไม่หายไปก็ได้ เพราะเหตุที่ท้าวสักกะจอมเทพยังมิใช่ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ยังมีความกลัว ความหวาด ความสะดุ้ง ยังต้องพ่ายหนี

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระรัตนตรัยนั้นทรงคุณวิเศษ ทรงอานุภาพ ทรงอภินิหารเกินกว่าท้าวเทพทั้งสี่นั้น เป็นดั่งธงชัยของเหล่าภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไปเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเปลี่ยวก็ดี โคนไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี หากเกิดความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าขึ้น พึงระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ เมื่อระลึกถึงอยู่ดั่งนี้ ความกลัว ความหวาด หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะเหตุที่พระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่พ่ายหนี

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19

แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว ก็เพียงไม่มีร่างเหลืออยู่เท่านั้น แต่พระพุทธบารมียังปกปักรักษาโลกอยู่ มิได้แตกต่างไปจากเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนม์ เพียงแต่ว่าต้องเปิดใจออกรับ การเปิดใจรับพระพุทธบารมีไว้คุ้มครองรักษาตนนั้นไม่ยาก เพียงน้อมใจนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึง "พุทโธ" อันเป็นยอดของความดีอยู่เสมอ ก็จะมีชีวิตที่สุขสงบสวัสดีได้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 ทรงอธิบายว่า ทุกชีวิตที่เกิดมา มีมือแห่งอกุศลกรรมคอยตามตะครุบอยู่ อันเป็นผลแห่งกรรมไม่ดีที่ได้กระทำไว้ในอดีตชาติ เพราะทุกคนล้วนผ่านภพชาติมาแล้วยาวนานนับไม่ถ้วน กระทำกรรมไว้มากมาย ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ชีวิตในปัจจุบันจึงมิได้ราบรื่นเสมอไป มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เหมือนรถบรรทุกขนาดใหญ่สองคันขับแซงกันไปมา คันหนึ่งบรรทุกแก้วแหวนเงินทองมาเต็มคันรถเพื่อยกแก้วแหวนเงินทองเหล่านั้นให้กับเรา ในขณะที่อีกคันหนึ่งกำลังแล่นไล่ทับเราอยู่อย่างหวุดหวิดน่าหวาดเสียว แต่ที่ยังไม่บดขยี้เราก็เพราะพลังแห่งกุศลกรรมที่กระทำในปัจจุบันยังมีแรงพาเราหนีไปได้ทัน

พลังสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะพาเราหนีพ้นมือแห่งอกุศลกรรมไปได้ คือ การน้อมใจนึกถึงพระพุทธเจ้าให้จริงจัง นึกถึง "พุทโธ" ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ

ตัวอย่างเช่น คนเมาสุราขับรถ ผู้ที่กรรมตามทันก็จะถูกรถนั้นชนถึงตายหรือพิการ บาดเจ็บสาหัส เสียเงินเสียทองรักษาพยาบาล  แต่หากผู้ที่่กรรมตามติดอยู่ กำลังหนีกรรมอย่างเต็มกำลังด้วยการประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ นึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอด้วยการท่องพุทโธให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ พุทโธเปรียบได้กับพลังจิตอันแรงกล้า สามารถสะกดผู้ขับรถซึ่งกำลังมึนเมาด้วยฤทธิ์สุราให้หยุดรถเสียทันก่อนจะพุ่งเข้าชนเป้าหมายคือผู้ที่กรรมตามติดอยู่ ให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้อย่างน่าอัศจรรย์


โยมผู้หนึ่ง เล่าให้สมเด็จพระญาณสังวร มีผู้ได้ยินได้ฟังกันหลายคน เธอบอกว่า เธอมีบุญมากที่มี พุทโธ เป็นที่พึ่งที่แท้จริงตลอดมา ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเลยทีเดียว คือวันหนึ่ง เธอลงว่ายน้ำในคลองใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนคลองในเมืองไทยมีมาก ขณะที่กำลังสนุกสนานอยู่กับการเล่นน้ำ ก็รู้สึกว่ามีมือลึกลับมาจับขาเธอฉุดลงใต้น้ำอย่างไม่มีทางดิ้นรนสลัดให้หลุดพ้นมือร้ายนั้นได้ ในขณะนั้น เธอรู้สึกว่า ตัวเองกำลังจะจมน้ำตายโดยที่ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครมาช่วยได้แน่

ด้วยความเป็นเด็กที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทำให้นึกขึ้นได้ว่า เมื่อมีผู้ใกล้จะสิ้นใจตาย จะมีการบอกทางแก่ผู้นั้นว่า ให้ท่องพระพุทโธไว้ และบางคนก็ได้รับการบอกทางว่า พระพุทโธ พระพุทโธ จนสิ้นใจ

ความคิดนี้เกิดขึ้นขณะที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตายแน่แล้ว เธอท่อง "พระพุทโธ" ในใจทันที โดยมิได้เปล่งเสียงออกมาเพราะกำลังจมดิ่งลงสู่ใต้น้ำ พอ "พระพุทโธ" กึกก้องขึ้นในใจเธอเท่านั้น มือพิฆาตก็ปล่อยเธอให้เป็นอิสระทันที ได้โผล่ขึ้นพ้นน้ำ รอดตายยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ ชีวิตของโยมผู้นั้นจึงมี "พระพุทโธ" เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดมา

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เคยเล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ศิษย์ผู้หนึ่งของท่าน มีความทุกข์ใจมาก เพราะถูกขอยืมเงินไปสองแสนบาท สัญญาว่าจะใช้คืนเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่พอถึงเวลา ก็ไม่ได้คืน เมื่อไปทวงถาม ก็ถูกปฏิเสธ บิดพลิ้วต่าง ๆ นา ๆ ท่านเจ้าของเงินมีความจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ จึงไปกราบอ้อนวอนพระอาจารย์ฝั้นให้ช่วยภาวนาเพื่อให้ได้เงินคืน

พระอาจารย์ฝั้นได้แนะนำวิธีให้ศิษย์ของท่านนำไปปฏิบัติ คือทุกครั้งที่สวดมนต์ไหว้พระแล้ว ให้อธิษฐานจิตขอให้ผู้เป็นลูกหนี้นำเงินจำนวนนั้นมาคืนเถิด เมื่ออธิษฐานจิตแน่วแน่แล้ว ก็ให้หยุดความคิดถึงเงินนั้นให้เด็ดขาดไป จากนั้นเพ่งจิตไปภาวนาพุทโธ พุทโธ ฯลฯ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จิตรวมเมื่อไหร่ก็ได้เงินคืนเมื่อนั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ศิษย์ผู้นั้นก็กลับมาหาพระอาจารย์ฝั้น หน้าตาแช่มชื่นมีความสุข เล่าว่า เมื่อเขาสวดมนต์ไหว้พระ อธิษฐานแล้วก็หยุดคิดถึงเงิน หยุดคิดถึงคำอธิษฐาน ตั้งใจภาวนาพุทโธ ตามที่พระอาจารย์แนะนำ เพียงสามวันจิตก็เริ่มสงบ เกิดความสว่างไสว ลูกหนี้ก็นำเงินมาใช้คืนให้ครบถ้วนโดยมิต้องทวงถาม


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของพระอาจารย์มั่น เป็นสหธรรมิกใกล้ชิดกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จังหวัดอุดรธานี  พระอาจารย์ฝั้นแนะนำญาติโยมพุทธบริษัทให้ตั้งใจภาวนาพุทโธเสมอ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ท่านบอกว่า "พุทโธคือพระพุทธเจ้า พุทธะคือความรู้" 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปวัดป่าอุดมสมพรหลายครั้ง และเมื่อพระอาจารย์ฝั้นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทรงโปรดฯ อาราธนาแสดงธรรมในพระราชฐาน บางคราวรับสั่งสนทนาธรรมจนดึกมาก พระอาจารย์ฝั้นนั่งอยู่ในอิริยาบทเดียวเป็นเวลานาน ลุกไม่ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าช่วยพยุงพระอาจารย์ด้วยพระองค์เอง

(ซ้าย) พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
(กลาง) พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
(ขวา) พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่จดจำและประทับใจของเหล่าพุทธบริษัทและศิษยานุศิษย์ คือ ปี พ.ศ. 2487 พระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่อุปัฏฐากพระเถระที่กำลังอาพาธสองรูป เวลากลางคืน ท่านต้องไปอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ที่วัดสุปัฏนาราม ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสี่ทุ่มบ้าง หกทุ่มบ้าง จึงจะได้กลับวัด เวลาเช้าออกรับบิณฑบาตแล้ว ท่านจะไปฉันเช้าที่วัดป่าแสนสำราญ ฝั่งอำเภอวารินชำราบ และประกอบยารักษาโรคถวายพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

ระหว่างนั้นอยู่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองอุบลราชธานีมีทหารญี่ปุ่นเข้าไปตั้งมั่นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอยู่เสมอ สัปดาห์ละสองครั้งบ้าง สามครั้งบ้าง ถ้าวันไหนจะมีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้นจะเตือนให้ศิษย์ของท่านรู้ล่วงหน้า ให้พระเณรรีบทำกิจให้เสร็จแต่โดยเร็วและเตรียมหลบภัยกันให้ดี พอตกกลางคืนก็มีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดจริง ๆ 

บางคราวกลางวันแสก ๆ ท่านบอกลูกศิษย์ว่าเครื่องบินกำลังมาแล้ว รีบไปหลบภัยกันเสีย พระเณรต่างมองหน้ากันด้วยความสงสัย แต่ไม่นานนัก ก็มีเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดจริง ๆ ชาวบ้านต่างหอบลูกจูงหลานมาหลบภัยอยู่ภายในบริเวณวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้นจะลงจากกุฏิมาปลอบขวัญชาวบ้านให้อยู่ในความสงบ และให้ภาวนา พุทโธ ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่


การอัญเชิญพระพุทโธมาสถิตไว้ในใจสม่ำเสมอนั้น มีผลประเสริฐเลิศล้ำแน่นอนที่สุด เสียงพุทโธที่กึกก้องอยู่ในใจ เป็นเหมือนเสียงร้องขอรับพระเมตตาจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ช่วยพาให้พ้นมือร้ายแห่งกรรมขณะต้องเผชิญกับภัยอันตราย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลืออยู่นั้น ก็ต้องพยายามพาตนเองหลีกหนีให้ไกลจากมือร้ายแห่งกรรมอย่างเต็มสติปัญญาความสามารถด้วย คือไม่ปล่อยชีวิตให้เกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งสกปรกโสโครกของความไม่มีศีลไม่มีธรรม ให้กิเลสถมทับจิตใจจนเสียงพระพุทโธไม่สามารถปรากฏกึกก้องขึ้นในใจ  พระพุทโธสูงส่ง สะอาดบริสุทธิ์หาที่เปรียบมิได้ จึงต้องชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ สมควรแก่การอัญเชิญพระพุทโธเข้าไปประดิษฐาน


จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา .. เมื่อจิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป
จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา .. เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป

ผู้มีปัญญา ย่อมเพียรพยายามประกอบกุศลกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ ๆ ระมัดระวังรักษาจิตมิให้ตกไปสู่ฝ่ายอกุศล หากพลาดพลั้งไปแล้วก็ต้องรีบถอนตัว การปล่อยจิตให้จมอยู่กับอกุศล ชวนะของเราก็จะเสพอกุศลไปนาน เมื่อสั่งสมอยู่ในจิต จะให้ผลเสียทั้งในทางอุปนิสัย และนำไปสู่ที่ชั่ว ร่างกายแตกดับเมื่อไร อกุศลที่เสพไว้มาก สะสมไว้มาก ก็จะมาปรากฏ ทำให้ขณะเมื่อใกล้จะตาย มีแต่เรื่องอกุศลผุดขึ้นมาให้ตรึกระลึกถึง ซึ่งไม่ส่งผลดี

แม้ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีมาตลอดชีวิต แต่ในขณะที่ใกล้จะตายนั้น หากจิตเกิดความเศร้าหมอง เช่น โกรธ พยาบาท รู้สึกผิด ห่วงกังวล เป็นอาสันนกรรมฝ่ายอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีอำนาจส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

ส่วนผู้ที่ไม่เคยคิดจะสร้างกุศลแต่อย่างใดในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ครั้นเจ็บป่วย รู้ตัวว่าคงไปไม่รอดแน่ เกิดความกลัวว่าเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะต้องตกไปสู่ที่ลำบาก จึงคิดอยากจะสร้างบุญกุศลขึ้นมาในทันใด จิตที่เบิกบานยินดีในกุศลนี้ มีอำนาจส่งผลให้ไปเกิดในสุคติภูมิได้เช่นกัน

อาสันนกรรมหรือกรรมที่กระทำในเวลาใกล้จะตายนี้ แม้มีกำลังเพียงเล็กน้อย ก็อาจให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ อุปมาเหมือนโคแก่ เมื่อนายโคบาลต้อนฝูงโคให้เข้าไปอยู่ในคอก โคหนุ่มสาวแข็งแรงปราดเปรียว ก็เข้าไปเลือกหาที่นอนได้ก่อนตามความพอใจ ส่วนโคแก่ แข้งขาหูตาไม่ดี เพิ่งจะเดินงุ่มง่ามมาถึงประตูคอก จะหาที่หลับนอนให้ได้ดั่งใจก็ถูกจับจองไปหมดแล้ว จึงล้มตัวลงนอนที่ประตูคอก พอถึงเวลาเช้า เมื่อนายโคบาลมาต้อนโค โคแก่ก็ย่อมได้โอกาสออกจากคอกก่อนโคทั้งปวง


ความตอนหนึ่งใน มิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระอรหันต์นาคเสนว่า ผู้ที่ทำบาปกรรมเรื่อยมาแม้ตั้งร้อยปี แต่ถ้าเวลาจะตายมีสติระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ ก็ย่อมนำไปเกิดในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำบาปแม้แต่ครั้งเดียว ก็ย่อมไปบังเกิดในนรกนั้น ดูไม่สมเหตุสมผล ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย

พระนาคเสนทูลว่า ขอถวายพระพร  ศิลาแม้ก้อนเล็กโดยลำพังจะลอยน้ำได้หรือไม่ พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า ไม่ได้

พระนาคเสนทูลถามต่อไปว่า แล้วถ้าศิลาร้อยเล่มเกวียน แต่อยู่ในเรือ ศิลานั้นจะลอยน้ำได้หรือไม่ พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า ได้สิ

พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร เปรียบบุญกุศลเหมือนเรือ บาปกรรมเหมือนศิลา อันคนที่กระทำบาปอยู่เสมอจนตลอดชีวิต ถ้าเวลาจะตายมิได้ปล่อยจิตใจให้ตามระทมถึงบาปที่ตัวทำมาแล้วแต่หลังนั้น สามารถประคองใจไว้ในแนวแห่งกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจทำใจให้แน่วแน่อยู่เฉพาะแต่ในพระคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าตายลงในขณะแห่งจิตดวงนั้น ก็เป็นอันหวังได้ว่าไปสุคติ ประหนึ่งศิลาที่มีเรือทานน้ำหนักไว้มิให้จมลงฉะนั้น ส่วนผู้ที่กระทำบาปที่สุดแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าเวลาใกล้จะดับจิต เพียงแต่จิตหวนไปพัวพันถึงกิริยาอาการที่ตัวกระทำบาปกรรมไว้เท่านั้น จิตดวงนั้นก็หนักพอที่จะถ่วงตัวให้ลงไปเกิดในนรก เหมือนศิลาที่เราโยนลงในน้ำ แม้จะก้อนเล็ก ก็จมเช่นเดียวกัน

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

ผู้ที่กำลังป่วยหนักหรือใกล้จะสิ้นใจตาย สิ่งที่ญาติพี่น้องหรือคนรอบข้างจะช่วยได้ก็คือการน้อมจิตของผู้ใกล้ตายให้เป็นกุศล ให้อภัยทุกคน ละวางสิ่งทั้งปวง อย่าให้มีความห่วงกังวล และนึกถึงสิ่งที่ดีงาม คือพระรัตนตรัย บุญกุศลหรือความดีที่เคยทำ อาจจะสวดมนต์ ทำจิตเป็นสมาธิอยู่กับลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธ หรือนึกภาพพระพุทธองค์

พระราชพรหมยาน หรือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี แนะนำว่า ควรนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ในที่ ๆ ผู้ป่วยมองเห็นได้ถนัด เมื่อผู้ป่วยลืมตาขึ้นก็จะมองเห็นพระทันที จิตจะได้จับอยู่ที่พระ ช่วยคลายทุกขเวทนาลงได้บ้าง และถ้าตายเมื่อใดก็ไม่ลงนรก

ถ้าป่วยหนัก มีทุกขเวทนามาก ควรแนะนำสั้น ๆ ให้ภาวนาว่า "นิพพานัง-สุขัง" หรือ "พุท-โธ" อย่าไปแนะนำยาว ๆ เพราะจะทำให้กลุ้ม ทำให้ลงนรกได้ ต้องระมัดระวังให้ดี

หลวงพ่อเล่าว่า เพื่อนคนหนึ่งชื่อจวน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกเกณฑ์ไปทำงานที่เพชรบูรณ์ พอสงครามสงบ ก็ล้มป่วยเป็นวัณโรค วันสุดท้ายที่หลวงพ่อไปเยี่ยมคุณจวน เห็นว่าอาการหนักมาก จึงถามว่าภาวนาพุทโธได้ไหม คุณจวนส่ายหน้าบอกว่า คิดไม่ออก 

หลวงพ่อจึงหันไปถามภรรยาคุณจวนว่ามีสตางค์ไหม ถ้ามี ขอสัก 20 บาท จากนั้นก็นำธนบัตรใส่ในมือคุณจวน เอามือทั้งสองประกบกันในท่าพนมมือแล้วบอกว่า 

"จวน เอาอย่างนี้นะ ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เราจะตายหรือไม่ตายนั้น ไม่มีความสำคัญ ตั้งใจทำบุญก็แล้วกันนะ เวลานี้ฉันมาพร้อมกับพระ 4 องค์ ขอจวนตั้งใจชำระหนี้สงฆ์ ให้คิดว่าของต่าง ๆ ในวัดทั้งหลายที่มีพระสงฆ์ก็ดี หรือไม่มีพระสงฆ์ก็ดี เป็นวัดร้างมีพระพุทธรูปก็ดี หรือเป็นวัดร้างไม่มีพระพุทธรูปก็ดี หรือเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่มีสภาพเป็นวัดก็ตาม เราไปนำอะไรมาจากที่นั่นก็ตาม จะเป็นของหนักก็ดี ของเบาก็ดี ของน้อยก็ตาม ของมากก็ตาม มีค่ามากก็ตาม มีค่าน้อยก็ตาม ขอชำระหนี้สงฆ์ด้วยเงิน 20 บาท" 

พระที่มาด้วยกัน 4 รูปก็กล่าวสาธุการขึ้นพร้อมกัน คุณจวนดูแช่มชื่นขึ้นมาก ภาพไฟที่ปรากฏเป็นอสุภนิมิตให้หวาดกลัวแต่แรกหายไป กลายเป็นภาพพระประธานในพระอุโบสถวัดบางนมโคซึ่งเป็นวัดที่คุณจวนเคยบวชและไปทำวัตรอยู่เป็นประจำ 

จากนั้น หลวงพ่อได้แนะนำให้คุณจวนภาวนาในใจว่า "พุท-โธ ๆ ๆ" โดยไม่ต้องออกเสียงเพราะเกรงจะทำให้เหนื่อย แต่ก็ได้ยินเสียงคุณจวนภาวนาพุทโธเบา ๆ  ในที่สุดก็เงียบไปพร้อมกันทั้งคำภาวนาและลมหายใจเข้าออก


ในธรรมบทเรื่อง มัฏฐกุณฑลี พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ทรงปรารภถึงมาณพชื่อมัฏฐกุณฑลี ผู้นึกถึงพระพุทธองค์ขณะใกล้จะตาย แล้วไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ ...

ในนครสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่ง ฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่เคยให้สิ่งของอะไรแก่ใคร จึงได้ชื่อว่า อทินนปุพพกะ แปลว่าผู้ไม่เคยให้อะไรแก่ใคร พราหมณ์มีบุตรชายคนเดียว เขาอยากทำเครื่องประดับให้บุตร แต่ไม่อยากเสียค่าจ้างให้ช่างทอง จึงเอาทองมาตีเอง แผ่เป็นตุ้มหูเกลี้ยง ๆ ผู้คนจึงเรียกบุตรชายของพราหมณ์ว่า มัฏฐกุณฑลี แปลว่า มีตุ้มหูเกลี้ยง

เมื่อมัฏฐกุณฑลีอายุได้ 16 ปี เกิดล้มป่วยเป็นโรคผอมเหลือง พราหมณ์ไม่ยอมไปตามหมอมารักษาเพราะเกรงจะเสียค่าจ้างรางวัล จึงไปหารากไม้มาทำยารักษาเองจนอาการกำเริบหนัก ไม่มีใครเยียวยาได้ เมื่อรู้ว่าบุตรของตนกำลังจะตาย ก็นำบุตรมานอนที่ระเบียงข้างนอก ไม่ต้องการให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนบุตรชายมองเห็นทรัพย์สมบัติของตนภายในเรือน

ในเวลาจวนสว่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูโลกด้วยพุทธจักษุ เห็นมัฏฐกุณฑลีในข่ายพระญาณ จึงเสด็จเข้าสู่นครสาวัตถีเพื่อรับบิณฑบาต เมื่อเสด็จถึงประตูเรือนของพราหมณ์ มัฏฐกุณฑลีกำลังนอนผินหน้าไปข้างในเรือน พระศาสดาทรงทราบว่าไม่เห็นพระองค์จึงเปล่งพระรัศมีไปแวบหนึ่ง มัฏฐกุณฑลีคิดว่านี่แสงสว่างอะไร จึงนอนพลิกกลับมา

ในขณะนั้นอาการป่วยทรุดหนักมาก แม้แต่มือสองข้างก็ยกไม่ไหว ได้แต่น้อมใจให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า มัฏฐกุณฑลีมีจิตเลื่อมใสในพระองค์แล้ว จึงเสด็จลับตาไป มัฏฐกุณฑลีก็เสียชีวิตลงในขณะนั้น ด้วยจิตที่เลื่อมใสพระพุทธเจ้าในขณะที่ตนกำลังจะตาย จึงไปเกิดเป็นเทพบุตรในวิมานทองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางอัปสรเป็นบริวารพันหนึ่ง

ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดา เมื่อฌาปนกิจบุตรของตนแล้ว ยังคงไปที่ป่าช้าทุกวัน เฝ้าแต่ร้องไห้คร่ำครวญ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจึงจำแลงกายมาบอกกับบิดาว่าตนคือบุตรชายที่เสียชีวิตไป ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ พร้อมกับแนะนำบิดาให้เลื่อมใสพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ และให้สมาทานศีลห้าเป็นปรกติ

ฝ่ายพราหมณ์เมื่อกลับถึงเรือนของตน ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกมารับบิณฑบาตพร้อมกับทูลถามปัญหาว่า เป็นไปได้หรือ คนที่ไม่เคยถวายทาน ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยถืออุโบสถ ไม่เคยบูชาพระพุทธองค์ เมื่อตายแล้วสามารถไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์เพียงเพราะทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

พระพุทธเจ้าทรงย้อนถามอทินนปุพพกะพราหมณ์ว่า เหตุใดท่านมาถามเรา ในเมื่อมัฏฐกุณฑลีได้บอกเล่าความจริงทั้งหมดให้แก่ท่านแล้วมิใช่หรือ จากนั้น ทรงอธิษฐานจิตให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรปรากฏกายพร้อมกับวิมานและอาภรณ์ทิพย์ ตรัสถามว่า "เทพยดา ท่านมีกายงามยิ่งนัก ยืนทำทิศทั้งสิ้นให้สว่าง เหมือนดาวประจำรุ่ง เทพยดาผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน เมื่อท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้" 

เทพบุตรกราบทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ สมบัตินี้ข้าพระองค์ได้แล้ว เพราะทำใจให้เลื่อมใสในพระองค์"


ขอขอบคุณ   ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

1 ความคิดเห็น: