บุญกิริยาวัตถุ หรือหลักแห่งการบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญและจิตใจที่ผ่องใสสะอาดมี 10 ประการ ประการสุดท้ายได้กล่าวถึง ทิฏฐุชุกัมม์ คือการทำความเห็นให้ตรง มีปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิ โดยเห็นว่า
1. การให้ทานมีผล
2. การบูชามีผล
3. การต้อนรับแขกด้วยของต้อนรับมีผล
4. ผลของกรรมดีและกรรมชั่วมี
5. โลกนี้มี (คือสัตว์จากโลกอื่นมาเกิดในโลกนี้มี)
6. โลกอื่นมี (คือสัตว์จากโลกนี้ไปเกิดในโลกอื่นมี)
7. มารดามีคุณ
8. บิดามีคุณ
9. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกา (เช่นเทวดาและเปรต) มี
10. สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทราบชัดถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาได้เอง และสามารถให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วย มี (คือพระอรหันต์มี)
ผู้ใดมีความเห็นชอบเห็นตรงทั้ง 10 อย่างนี้ ชื่อว่าทำความเห็นให้ตรง เป็นทิฏฐุชุกัมม์ เป็นสัมมาทิฏฐิ จิตที่ตั้งไว้ถูกทางแล้วนี้ จัดเป็นบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา
การบำรุงพ่อแม่ด้วยสำนึกในพระคุณของท่าน ย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติเป็นอันมาก พ่อแม่มีพระคุณอย่างใหญ่หลวงต่อลูก ท่านให้ความรัก ให้ความคุ้มครองลูกในทุกขณะ นับตั้งแต่ลูกเจริญวัยอยู่ในครรภ์จนคลอด ท่านดูแลทำนุบำรุงครรภ์ไม่ให้มีสิ่งใดมากระทบกระเทือนถึงลูก มีความทุกข์ยากและความไม่สะดวกทางสรีระเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในขณะที่จะคลอดลูกนั้น ได้รับความทุกข์เวทนา บางรายถึงกับสิ้นชีวิตก็มี
เมื่อลูกร้องด้วยความหิว พ่อแม่ก็รีบจัดแจงหาอาหารมาให้ลูกได้กินจนอิ่ม ครั้นลูกเจ็บไข้หรือประสบอันตราย ก็รีบเยียวยารักษา เมื่อลูกเจริญวัย มีสุขภาพดี ร่าเริงแจ่มใส พ่อแม่ก็มองลูกด้วยความชื่นชมยินดี เมื่อถึงวัยเรียน พ่อแม่ก็ขวนขวายให้ลูกได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้มีโอกาสเล่าเรียนถึงขั้นสูงสุดเท่าที่ตนจะมีปัญญาส่งเสีย เพื่อให้ลูกมีความรู้ มีศิลปะวิทยาไว้ประกอบอาชีพโดยชอบให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
เมื่อเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว พ่อแม่ก็ยังคอยดูแลไม่ให้ใครมารังแกล่วงเกิน คอยแนะนำสั่งสอนให้ลูกตั้งอยู่ในคุณความดี รู้จักคบแต่เพื่อนที่ดี ไม่ประพฤติเสียหายต่าง ๆ ครั้นลูกประพฤติผิดพลาดหรือมีโทษใด ๆ ก็คอยเป็นนายประกัน คอยแก้ต่างให้ลูก คอยปกป้องลูกทุกอย่าง หวังแต่ให้ลูกได้พ้นมลทินโทษ เมื่อถึงวัยทำงาน พ่อแม่ก็แสนจะปลื้มใจ อดไม่ได้ที่จะคุยอวดเพื่อนบ้านญาติมิตรถึงสรรพคุณของลูก แม้ตัวเองจะล้าหลังหรือต่ำต้อยก็ตาม ยิ่งเมื่อลูกมีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา และเจริญรุ่งเรืองในชีวิต พ่อแม่ก็ไม่คิดที่จะรบกวนหรือเบียดเบียนลูก
แม้ลูกบางคนจะมีความประพฤติไม่ดี โต้เถียงก้าวร้าวพ่อแม่ด้วยกิริยาวาจาที่ไม่สมควร หรือเบียดเบียนพ่อแม่ให้เดือดร้อนโดยประการต่าง ๆ พ่อแม่ก็ให้อภัยลูกเสมอ และยังคงเป็นห่วงเป็นใย
เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การบำรุงมารดาบิดา เป็นมงคลอันประเสริฐ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ ความสุขความเจริญและสันติสุขในชีวิต ทรงจัดมารดาบิดาอยู่ในฐานะทิศเบื้องหน้า อันลูกชายหญิงพึงระลึกถึงพระคุณและตอบแทนพระคุณใน 5 สถานอันได้แก่
1. เมื่อท่านชุบเลี้ยงเรามา เมื่อเราพอมีกำลัง ก็พึงเลี้ยงท่านตอบ
2. พึงช่วยทำกิจการงานของท่านด้วยดี ไม่หลีกเลี่ยง
3. พึงดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ด้วยดี ไม่ทำให้เสียหาย
4. พึงกระทำตนให้เป็นคนสมควรแก่ความเป็นผู้รับมรดกท่าน
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว พึงทำบุญอุทิศให้ท่าน
เหล่านี้ ชื่อว่า “อุปการะอันเป็นโลกิยธรรม” นอกจากนี้แล้ว พึงกระทำ "อุปการะที่จะนำไปสู่โลกุตรธรรม" ให้แก่ท่านอีกด้วย กล่าวคือ ชักนำพ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ให้เกิดมีศรัทธา ที่มีศรัทธาน้อย ก็ชักนำให้มีศรัทธามากขึ้น ที่มีศรัทธาดีอยู่แล้ว ก็ให้เจริญแก่กล้าและมั่นคงยิ่งขึ้น ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและแก่พ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง
1. เมื่อท่านชุบเลี้ยงเรามา เมื่อเราพอมีกำลัง ก็พึงเลี้ยงท่านตอบ
2. พึงช่วยทำกิจการงานของท่านด้วยดี ไม่หลีกเลี่ยง
3. พึงดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ด้วยดี ไม่ทำให้เสียหาย
4. พึงกระทำตนให้เป็นคนสมควรแก่ความเป็นผู้รับมรดกท่าน
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว พึงทำบุญอุทิศให้ท่าน
เหล่านี้ ชื่อว่า “อุปการะอันเป็นโลกิยธรรม” นอกจากนี้แล้ว พึงกระทำ "อุปการะที่จะนำไปสู่โลกุตรธรรม" ให้แก่ท่านอีกด้วย กล่าวคือ ชักนำพ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ให้เกิดมีศรัทธา ที่มีศรัทธาน้อย ก็ชักนำให้มีศรัทธามากขึ้น ที่มีศรัทธาดีอยู่แล้ว ก็ให้เจริญแก่กล้าและมั่นคงยิ่งขึ้น ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและแก่พ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง
พ่อแม่มีพระคุณยิ่งใหญ่ต่อลูกถึงเพียงนี้ ลูกอกตัญญูคนใดเจตนากระทำผิดต่อพ่อแม่ บังอาจประทุษร้าย ลบหลู่ หรือล่วงเกินพ่อแม่ ด้วยกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม จัดเป็นบาปกรรมหนัก ซึ่งย่อมให้ผลเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในภพชาติปัจจุบันและทั้งในสัมปรายภพ คือในภพชาติหน้า ผู้ประทุษร้ายต่อพ่อแม่ แม้ไม่ถึงชีวิต ก็ต้องอาญาแผ่นดิน มีระวางโทษหนักกว่าทำร้ายบุคคลอื่นทั่วไป
ด้วยเหตุนี้ ลูก ๆ ทั้งหลายพึงปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ จักได้เป็นสิริมงคลอันประเสริฐแก่ตน นำชีวิตตนไปสู่ความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรืองไม่ตกต่ำ และที่สำคัญคือ พึงทำในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าปล่อยปละละเลย ต่อเมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ค่อยนำข้าวปลาอาหารไปวางไว้ข้างโลงแล้วเคาะเรียกท่านให้รับประทาน
จะมีประโยชน์อะไรกับการจัดเตรียมอาหารดี ๆ มาเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อในงานศพ ในเมื่อครั้งคุณพ่อคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ลูก ๆ ไม่เคยจัดหาอาหารดี ๆ มาปรนนิบัติคุณพ่อคุณแม่เลย เหมาะสมแล้วหรือกับการจับจ่ายหาของชำร่วยสวย ๆ มาแจกในงานศพ หาพวงหรีดดอกไม้งาม ๆ มาประดับเมรุ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น เรากลับทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจในความเป็นอยู่ของท่านว่าท่านมีพอกินพอใช้หรือไม่ ทำถูกต้องแล้วหรือ ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น