วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชาตะทวาร - มรณะทวาร


"...คนเราทุกคนที่เกิดมา จะต้องผ่านประตูสองประตูเสมอกัน คือ ชาตะทวาร หรือประตูเกิด ซึ่งมีธรรมนูญประจำประตูเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ใครก็ตามที่ได้ผ่านหรือรอดจากประตูนี้ไปได้ ต้องแก่ไปตามกาลเวลา ต้องประสบกับความสมหวัง พลัดพราก ทุกข์กาย ทุกข์ใจ สุขกาย สุขใจ และสุดท้าย ต้องตาย

ส่วนอีกประตูหนึ่งคือ มรณะทวาร หรือประตูตาย ซึ่งมีธรรมนูญประจำประตูเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ใครก็ตามที่ผ่านประตูนี้ จะเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนที่รัก ของที่รักที่ชอบใจ

แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรับสั่งไว้ว่า "สะยัง กะตานิ ปุญญานิ ตังมิตตัง สัมปรายิกัง"  สิ่งที่นำติดตัวไปได้นั้นมีอยู่เหมือนกัน ก็คือความดีความชั่วที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

เราท่านต่างก็ได้ผ่านประตูที่หนึ่งหรือชาตะทวารมาแล้วด้วยกันทุกคน ธรรมนูญประตูที่จารึกไว้ เราต่างก็ได้ประสบกันมาแล้ว ทนได้บ้าง ทนไม่ได้บ้าง แต่อย่างไรเสีย ในไม่ช้า ทุกคนก็ต้องผ่านประตูที่สอง คือมรณะทวาร

อายุจะสั้นหรือยืนยาวไม่สำคัญ  สำคัญอยู่ที่ระหว่างการเกิดและตาย ได้ประกอบคุณงามความดีไว้มากน้อยเพียงใด  ถ้ามีความดีอยู่แล้ว แต่ยังน้อย ก็ต้องหมั่นทำความดีให้เพิ่มมากขึ้น  อย่าคิดว่าตนเองมีความดีมากพออยู่แล้วโดยไม่ทำเพิ่ม เรื่องของการทำบุญทำทานก็เช่นกัน หมั่นทำไว้ให้เป็นเนืองนิตย์

พลุจะขึ้นสู่อากาศได้เพราะอาศัยดินปืนขับฉันใด จิตวิญญาณจะไปเกิดในภพภูมิใด ดีหรือไม่ดี บุญบาปที่ได้กระทำก็เป็นตัวขับเคลื่อนไป ฉันนั้น..."

"ชาตะทวาร - มรณะทวาร"
คำสอนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ 
(พุฒ สุวฑฺฒนมหาเถร ป.ธ.7)
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร 
ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒนมหาเถร ป.ธ.7) วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร  เกิดเมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2450  ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  บรรพชาเมื่อ พ.ศ. 2467 ขณะอายุได้ 17 ปี ณ วัดตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี และอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2470 ณ พัทธสีมา วัดบัวงาม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพระญาณไตรโลกาจารย์ (ฉาย) วัดพนัญเชิง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาทางพระศาสนาว่า "สุวฑฺฒโน ภิกขุ"  

พระญาณไตรโลกาจารย์ (ฉาย)  วัดพนัญเชิง
พระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒนมหาเถร)

พ.ศ.  2502 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพุทธิญาณมุนี จำพรรษาอยู่วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา (พระเทพเวที ณ ขณะนั้น) มีบัญชาให้ไปพบและมอบหมายให้ไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ท่านจึงไปกราบลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โสม) เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ในขณะนั้น ซึ่งได้แสดงความแปลกใจว่าทำไมจึงตกลงใจไปอยู่วัดสุวรรณาราม ทำไมไม่ไปอยู่วัดเทวราชกุญชร ที่หลวงจบกระบวนยุทธมีความประสงค์และนิมนต์ให้ไปอยู่เป็นเจ้าอาวาส อีกทั้งวัดเทวราชกุญชรก็มีความพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ต้องหนักใจ ท่านตอบว่า ขัดเพื่อนไม่ได้ หมายถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา กับท่านเป็นเพื่อนกันมานาน

ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้เปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของวัดสุวรรณารามให้ดูสวยงามขึ้น ทั้งอาคารสถานที่ อาณาบริเวณของวัด และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่สภาพปรกติ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามจนแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้

ในปี พ.ศ. 2539 ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  สมเด็จฯ ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2553 สิริอายุรวม 103 ปี เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุพรรษามากที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ 

พระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
ริมคลองบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร

กล่าวถึงวัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดทอง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย  เข้าทางซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ตรงข้ามซอยบางขุนนนท์  เป็นวัดเก่าสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

วัดสุวรรณารามแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายหลายพระองค์ คือ เจ้าฟ้าภิม พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2345 พระองค์เจ้าเรณู พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 (ต้นสกุลเรณุนันท์) เมื่อ พ.ศ. 2390 พระองค์เจ้าหญิงนิลวัตถา พระราชธิดาของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เมื่อ พ.ศ. 2404 พระองค์เจ้าเบญจางค์ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2420 ฯลฯ

พระศาสดา
พระประธานในพระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ พระศาสดา  พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับการสร้างเป็น 2 นัย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพิจารณาจากพระพุทธลักษณะ เห็นว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี พระประธานในวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงสันนิษฐานว่าพระศาสดาองค์นี้คงจะอัญเชิญมาแต่กรุงสุโขทัยในคราวเดียวกัน

อีกนัยหนึ่ง ตามหนังสือประวัติวัดสุวรรณารามกล่าวว่า พระศาสดาองค์นี้ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างในสมัยใด  สันนิษฐานว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามใหม่ทั้งหมดทั้งพระอารามแล้ว คงจะหล่อพระศาสดานี้ขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ฝีมือในการหล่อประณีตงดงาม พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏนามเฉพาะ แต่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า "พระศาสดา"


จิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ เป็นการประชันฝีมือกันระหว่างจิตรกรฝีมือเยี่ยมสมัยรัชกาลที่ 3 คือท่านหลวงวิจิตรเจษฎา (อาจารย์ทองอยู่) ซึ่งเขียนเรื่องเนมีราชชาดก  กับท่านหลวงเสนีย์บริรักษ์ (อาจารย์คงแป๊ะ) ซึ่งเขียนเรื่องมโหสถชาดก  ท่านทั้งสองนี้มีฝีมือสูงส่ง มีลูกศิษย์ลูกหามาก  เคยเขียนภาพฝาผนังประชันกันมาแล้ว เช่นภาพเขียนที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถวัดบางยี่ขัน และพระอุโบสถวัดดาวดึงส์


พระปิดตาของวัดสุวรรณาราม หรือที่เรียกขานกันติดปากว่า พระปิดตา หลวงพ่อทับ วัดทอง สร้างโดยพระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี (หลวงพ่อทับ อินทโชติ) เจ้าอาวาสรูปที่ 9 เป็นที่นิยมและหายากมาก วงการพระเครื่องยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น