วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อชา เล่าเรื่อง 'เปรต'


ความบางตอนจากพระธรรมเทศนาของพระโพธิญาณเถร หรือ "หลวงพ่อชา สุภัทโท" บรรยายธรรมให้กับคณะครู ณ วัดหนองป่าพง

" ...ท่านบอกว่า มีคน ๆ หนึ่งเป็นคนที่ใจบุญสุนทาน ตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่ อะไรจะเป็นบุญ อะไรจะเป็นกุศล แกพยายามไปทำ แกก็ทำให้มันดี ทำให้มันละเอียด ทุกอย่างแหละ วางของที่นี่ วางไว้ตรงนี้ ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น ถ้าลูกหลานจับมาเคลื่อน ก็บ่นเสียแล้ว ไม่สบายใจนะ ไม้กวาดต้องวางตรงนี้ กาน้ำวางตรงนั้น เมื่อใครมาทำให้ผิดหวัง ทุกข์เสียแล้ว

แต่แกเป็นคนละเอียดดี ใจบุญ เป็นระเบียบ วันหนึ่งก็คิดได้ เห็นศาลาในป่า ที่คนไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ ก็คิดว่า เราจะมาสร้างศาลานี่ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้บุญ พ่อค้าพ่อขายไปมาจะได้พักผ่อนหย่อนใจ จะได้มีความสุขสบาย คิดแล้วแกก็ไปทำ ๆ อย่างดีอยู่ในป่า เพื่อให้คนพัก เมื่อทำเสร็จแล้ว ต่อไปแกก็ตาย วิญญาณไปเกาะอยู่ที่ตรงนั้น คือ มันเกาะแต่เมื่อมีชีวิตอยู่น่ะ เมื่อสร้างศาลาแล้ว แกก็พยายามไปดู มันสกปรกที่ไหน คนมาพักนี่มันเป็นอะไร ยังไง ถ้าคนทำไม่ดีแล้ว แกก็ใจไม่ค่อยดี ถ้าคนทำดี แกก็ใจสบาย เพราะแกเป็นคนใจบุญสุนทาน ละเอียด เจ้าระเบียบ


อีกวันหนึ่ง พ่อค้าเกวียน มาหลายร้อยเลย มาพัก เมื่อกินข้าวแล้วก็นอนกันเป็นแถว เจ้าของศาลา เป็นเปรต ก็มามองดูมันเป็นระเบียบหรือเปล่า ย่องมาดู มาดูทางศีรษะ มันก็ไม่เสมอกันเสียแล้ว บางคนสูง ๆ บางคนต่ำ ๆ มันยุ่งหัวใจเหลือเกิน จะทำอย่างไรดี ก็มาดึงทางเท้าให้มันลงไปให้ศีรษะมันเสมอกัน ดึงไปสุดแถว พอใจแล้ว เรียบร้อย ต่อมา ๆ ดูทางเท้าอีก อ้าว ไม่เสมอกันอีกแล้ว ก็ไปดึงศีรษะขึ้นไปอีก ให้มันเสมอกัน เมื่อเสมอกันดีแล้ว วนไปรอบ ๆ ไปดูทางศีรษะ อ้าวไม่เสมอกันอีก เปลี่ยนอีก ยุ่งจนกระทั่งดึก จนทอดอาลัย มันเป็นเพราะอะไรหนอคน เท่านี้แหละ คนเรามันหลง ไม่หลงมากหรอกเท่านี้ เปรตมันหลงแล้ว

ก็เลยมานั่งคิดดูว่า อ้อ คนมันสั้นยาวไม่เสมอกัน ความสั้นความยาวของคนไม่เสมอกัน ก็มารู้สึก เอ้อ วางเสีย มันอย่างนี้แหละคนเรา เพราะมันสูงมันต่ำไม่เสมอกันอย่างนั้น แกก็เลยวาง เพราะเห็นอะไร เพราะเห็นว่า คนมันไม่เสมอกัน แต่ก่อนเห็นคนให้มันเสมอกัน คนไม่เสมอกัน ทำให้เสมอกันมันเสมอไม่ได้ แกก็เป็นทุกข์มานั่งคิด เออ ความจริงคนมันเป็นอย่างนั้น คนมันสั้น มันยาว ไม่เสมอกัน มันจึงเป็นอย่างนี้ พอเห็นได้เช่นนี้ ก็สบายเลยนะ สบายใจ


พวกเราก็เหมือนกัน ไปเห็นเหตุมันแล้วก็ไม่เห็นเหตุมันเป็นอย่างนั้น การจะทำให้มันเสมอกันอย่างนั้น หมดปัญญาที่จะต้องคิดแล้ว เพราะมันแก้ไขไม่ได้ มันจะไปตัดแข้งตัดขาเขามันก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่า ความยึดมั่นอุปาทาน จะให้มันเหมือน ๆ กัน พวกเรานี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีธุระหน้าที่ ก็คงจะไม่เสมอกันหรอกนะ บางคนก็ช้าไปบ้าง บางคนก็เร็วไปบ้าง สารพัดอย่าง มันเลยเกิดยุ่งยากเหมือนเปรต เราก็ชอบอยากจะไปเป็นเปรตอย่างนั้น

บางทีอาตมาก็เป็นเปรตเหมือนกัน แต่มันรู้สึกง่ายหรอก อ้าว มันเป็นเปรตแล้วนี่เรา เลิก อย่างนี้ ทำไม เพราะอาศัยลูกศิษย์ลูกหาน่ะ อยากจะให้เขาดี ทำเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็เป็นทุกข์ ทุกข์แล้วก็รู้ว่า เออ เราเป็นเปรต แล้วสอนเจ้าของไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น มันก็ยังเกิดเป็นเปรตอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน ไม่ค่อยยอมง่าย ๆ จะต้องทำจนชำนาญ ๆ ไป ให้มันรู้เหตุ รู้ผลมันจริง ๆ

ดังนั้นเราจึงปล่อย คนนี้ทำอย่างนั้น คนนั้นทำอย่างนี้ ก็ปล่อยก็วางไปเรื่อย ๆ ทำไม มันไม่เป็นเพราะเขา มันเป็นเพราะเรา เข้าใจไหม ใจเรามันไม่สะอาด นึกว่ามันเป็นเพราะคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่ มันเป็นเพราะเรา คนไม่เสมอกัน เราอยากให้เสมอกัน เราคิดผิดอย่างนี้ จะไปแก้ตรงไหน ก็แก้เราสิ เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น แล้วก็สบาย พวกเราในกลุ่มเดียวกันนี้ ก็เหมือนกันอย่างนั้น..."


ในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน บนท้องถนน หรือที่ใด ๆ ก็ตาม คงมีอยู่บ้างที่มีสิ่งไม่ถูกใจมากระทบ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิด โกรธ เสียใจ น้อยใจ ฯลฯ หรือแม้ไม่มีสิ่งใดมากระทบ ก็นำเรื่องที่ผ่านเลยไปแล้ว กลับมาคิดใหม่ให้ใจเศร้าหมองเป็นทุกข์  หากได้นำเรื่อง "เปรต" ที่หลวงพ่อชาเล่าให้ฟังนี้มาพิจารณาดูบ้าง อาจช่วยให้เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น พร้อมที่จะให้อภัย หรือแม้กระทั่งหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เมื่อจำเป็น 


คำครู (อังคาร กัลยาณพงศ์) กล่าวให้ข้อคิดไว้ว่า "..โลกนี้มิอยู่ด้วยมณี เดียวนา  ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง.."

เรื่องที่ง่ายสำหรับคนหนึ่ง อาจเป็นเรื่องยากสำหรับอีกคนหนึ่ง  หรือแม้แต่เรื่องที่เราคิดว่าง่ายสำหรับเราในวันนี้ อาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเราในวันข้างหน้าก็เป็นได้ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้เสมอ 

พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ)
สวนโมกขพลาราม  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เราท่านต่างก็มีข้อดีและข้อบกพร่องด้วยกันทุกคน ต่างก็เคยทำผิดพลาดกันมาก่อน  การฝึกมองให้เห็นความดีของผู้อื่น จะทำให้เกิดทัศนคติที่งดงาม และช่วยให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ดังคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่า

                       เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
                    จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
                    เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
                    ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
                    
                    จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว
                    อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
                    เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย
                    ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง ฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น