วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'แขกพิเศษ' ของพระอริยเจ้า


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า เคยปรารภให้ศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดฟังว่า สถานที่บางแห่งที่ท่านไปพำนักอยู่ แม้อยู่ในป่าเขาลึก ๆ ก็ตาม จะมีเทวดาพากันมาฟังธรรม ส่วนมากจะมากันตอนดึกสงัด โดยท่านจะทราบล่วงหน้าก่อนแล้วทุกครั้ง บางคืนจึงจำเป็นต้องงดการประชุมอบรมพระเณร เพื่อเข้าสมาธิภาวนา แสดงธรรมให้เหล่าเทวดาฟัง

เมื่อเหล่าทวยเทพมาถึง จะทำประทักษิณสามรอบโดยพร้อมเพรียง แล้วนั่งกันเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้เป็นหัวหน้าจะกล่าวแนะนำตนและหมู่คณะว่ามาจากที่แห่งใด ประสงค์จะฟังหัวข้อธรรมเรื่องใดบ้าง  พระอาจารย์มั่นจะส่งกระแสจิตออกทักทายพอสมควร จากนั้นจึงกำหนดจิต ให้ข้อธรรมที่ควรแสดงผุดขึ้นมา แล้วเริ่มแสดงธรรมให้ฟังจนเข้าใจ จบแล้ว เหล่าทวยเทพก็พร้อมกันสาธุการ ทำประทักษิณสามรอบ แล้วกราบลากลับ พอออกพ้นเขตวัดหรือสถานที่ ๆ ท่านพำนัก ก็พากันเหาะขึ้นสู่อากาศ คล้ายปุยนุ่นที่ปลิวขึ้นสู่ท้องฟ้า

บางคืน เทวดาพากันมาหลายคณะ ทั้งจากเบื้องบนและเบื้องล่าง พญานาคก็มี มาเยี่ยมท่านในเวลาเดียวกัน ท่านต้องย่นเวลา โดยแสดงธรรมให้ฟังพอสังเขป และแก้ปัญหาให้เท่าที่จำเป็น เมื่อคณะที่มาถึงก่อนลากลับ คณะที่มาทีหลังซึ่งรออยู่ห่าง ๆ พอไม่ให้เสียมารยาทก็ทยอยกันเข้ามา ท่านก็แสดงธรรมให้ฟังให้พอเหมาะกับจริตนิสัยและภูมิของเทวดานั้น ๆ หรือตามแต่ผู้เป็นหัวหน้าคณะจะแสดงความประสงค์ว่าต้องการฟังธรรมในหัวข้อใด

พระอาจารย์มั่นกล่าวว่า การแสดงธรรมให้เทวดาฟัง ต่างกับการแสดงธรรมให้มนุษย์ฟังอยู่มาก เทวดาไม่ว่าเบื้องบนหรือเบื้องล่าง สามารถเข้าใจข้อธรรมที่บรรยายได้เร็วกว่ามนุษย์หลายเท่า เมื่อแสดงธรรมจบ เสียงสาธุการสามครั้งสะเทือนโลกธาตุ ขณะที่มาถึง ขณะนั่งฟังธรรม กระทั่งขณะที่จากไป ก็ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามตลอดสาย และมีความเคารพนอบน้อมอย่างยิ่ง

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ในบรรดาศิษย์อาวุโสของพระอาจารย์มั่น กล่าวได้ว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นพระอภิญญาที่มีฤทธิ์มากองค์หนึ่ง มีประสบการณ์เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถรู้เห็นและติดต่อกับสิ่งลี้ลับต่างภพภูมิที่มาขอสร้างบุญสร้างกุศลกับท่าน หรือขอให้ท่านเทศน์โปรด

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งที่ไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ ถ้ำดอกคำ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตว่า พระเณรจะนอนแต่หัวค่ำ พอตกดึก ก็ลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตา ไหว้พระสวดมนต์และนั่งภาวนา  เวลาดึก ๆ เทวดาจะมาเยี่ยมฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ในเวลาที่คนเรานอนหลับ สติไม่ค่อยมี ท่าทางการนอนก็ดูไม่สวยงาม เทวดาผ่านไปมา เห็นเข้าแล้วไม่เกิดศรัทธาและอาจตำหนิเอาได้

ที่ถ้ำดอกคำแห่งนี้ เทวดาพากันมาขอให้พระอาจารย์มั่นแสดงธรรมให้ฟังอยู่มิได้ขาด มากันทุกคืน คราวละจำนวนมาก ๆ  เวลาที่พวกเทวดามา ทั่วบริเวณถ้ำดอกคำจะสว่างไสวราวกับจุดเทียนไขเป็นหมื่นเป็นแสนเล่มไว้รอบบริเวณ

การแต่งกายของเทวดาที่พากันมาฟังธรรมนั้น เขาจะไม่ประดับเพชรนิลจินดา ถ้าผู้ที่เป็นหัวหน้าใส่ชุดขาว บริวารก็จะใส่ชุดขาวเหมือนกัน ถ้าเป็นสีแดง ก็จะใส่สีแดงมาเหมือนกัน


ท้าวจตุโลกบาล หรือท้าวมหาราชผู้รักษาโลกทั้งสี่ทิศ ก็เคยมาขอฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่น พากันมาจากเขาจุมพต เทวดาที่มากันในครั้งนั้นมีจำนวนมากเป็นพิเศษ เป็นแสน ๆ องค์ เต็มผืนดินผืนฟ้าไปหมด มาขอให้ท่านพระอาจารย์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง "นะรักกันตัง" 

หลวงปู่ชอบได้กราบเรียนถามพระอาจารย์มั่นในเรื่อง "นะรักกันตัง" ว่ากล่าวถึงอะไร ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกุศลมูล อกุศลมูล เกี่ยวกับนรกสวรรค์ จัดเป็นเรื่องเฉพาะ ไม่มีการกล่าวถึงโดยทั่วไป

หลวงปู่ชอบเล่าว่า ช่วงที่ท่านพำนักอยู่ที่ถ้ำดอกคำนี้ มีเทวดามากจริง ๆ ที่ไหน ๆ ที่ไปมา ก็ไม่เคยเห็นเทวดามาเยี่ยมฟังธรรมมากเท่ากับอยู่ที่ถ้ำดอกคำนี้ และที่ถ้ำดอกคำแห่งนี้ ก็เป็นสถานที่ที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บรรลุธรรมขั้นสูงสุดอีกด้วย

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เล่าว่า เวลาฟังพระอาจารย์มั่นสนทนากับหลวงปู่ชอบ เกี่ยวกับเรื่องกายทิพย์ เรื่องเทวดา ภูติผีทั้งหลายที่มาขอพึ่งบารมี มาฟังธรรมและถามปัญหาธรรม บรรดาพระเณรที่ฟังอยู่ด้วยกัน ต่างรู้สึกเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจ ไม่อยากให้การสนทนาจบลงเลย ท่านทั้งสององค์พูดสอดคล้องกัน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ราวกับอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกัน

กล่าวถึงหลวงปู่ชอบ ท่านเองก็มีเทวดามาเยี่ยมเพื่อขอฟังธรรมอยู่เสมอ ๆ ในระหว่างที่ท่านธุดงค์อยู่ในป่าลึก จะมีพวกกายทิพย์เข้ามานิมนต์ให้อยู่โปรดพวกเขา

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชอบ ออกธุดงค์สมัยแรก ๆ เรื่องราวความมหัศจรรย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับท่านยังไม่เป็นที่เปิดเผย คงทราบกันเฉพาะในหมู่เพื่อนพระที่ออกธุดงค์ด้วยกัน เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นต้น มาในระยะหลัง เมื่อหลวงปู่ท่านยอมให้ศิษย์ติดตาม จึงเปิดโอกาสให้ได้รู้ได้เห็นมากขึ้น


ครั้งหนึ่ง ราวปี พ.ศ. 2490 หลวงปู่ชอบไปวิเวกที่ปางยางหนาด อยู่ห่างจากภูผาแด่นไปทางทิศตะวันตกราวสามกิโลเมตร มีสามเณรชื่อเลื่อนกับผ้าขาวชื่อสมผล ติดตามไปด้วย  ที่ปางยางหนาดนั้น หลวงปู่ชอบไม่ค่อยได้ออกบิณฑบาต ท่านอดอาหารติดต่อกันครั้งละ 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง สามเณรและผ้าขาวจึงต้องออกหาอาหารกินเอง

คืนหนึ่ง สามเณรกับผ้าขาวมองเห็นกุฏิของหลวงปู่ชอบมีแสงสว่างแดงจ้าไปทั้งกุฏิ ก็ตกใจนึกว่าเกิดเพลิงไหม้ พากันวิ่งไปดู เมื่อไปถึงกุฏิ กลับมีแต่ความมืด ไม่เห็นแสงอะไร แต่พอกลับออกมา ก็เห็นแสงสว่างจ้าขึ้นอีก วิ่งกลับไปกลับมาอยู่หลายเที่ยว จะว่าตาฝาดก็เห็นเหมือนกันทั้งคู่

วันรุ่งขึ้น เมื่อมีโอกาสจึงได้กราบนมัสการถามหลวงปู่ชอบว่าเกิดอะไรขึ้น หลวงปู่บอกว่า "เมื่อคืนมีเทวดามาเต็มไปหมด มาขอฟังเทศน์" หลวงปู่บอกต่อว่า "เฮาเทศน์เรื่องพระไตรสรณาคมน์ให้ฟัง"

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก)  จังหวัดบึงกาฬ

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เดินทางไปเยี่ยมพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่วัดเจติยาคิรีวิหาร หรือ ภูทอก ในปี พ.ศ. 2517 พระอาจารย์จวนได้จัดที่พักถวายหลวงปู่ชอบ เป็นเงื้อมถ้ำอยู่ด้านล่างของภูทอก 

ท่านครูบาดม พระอุปัฏฐากของหลวงปู่ชอบในขณะนั้นเล่าว่า รู้สึกตัวตื่นขึ้นมากลางดึก ต้องประหลาดใจมากที่เห็นบริเวณรอบ ๆ เงื้อมถ้ำมีแสงสว่างไปทั่ว เหมือนใครมาจุดตะเกียงเจ้าพายุที่มีความสว่างมากในที่นั้น และศูนย์กลางของแสงสว่างอยู่ตรงกลดของหลวงปู่ชอบ แสงมีความสว่างไสวจนสามารถมองทะลุเข้าไปในมุ้งกลด เห็นหลวงปู่นั่งอยู่ภายในอย่างชัดเจน

ครูบาดมเก็บความประหลาดใจไม่ไหว จึงค่อย ๆ คลานไปหาหลวงปู่ซามา อจุตฺโต (วัดป่าอัมพวัน จังหวัดเลย) ซึ่งร่วมคณะไปด้วย ก็พบว่าหลวงปู่ซามากำลังเฝ้าดูเหตุการณ์ประหลาดอยู่แล้ว และเห็นทุกอย่างเช่นเดียวกับที่ครูบาดมเห็น

ทั้งหลวงปู่ซามาและครูบาดม จึงพากันคลานเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อดูให้แน่ใจ ปรากฏว่า ยิ่งเข้าไปใกล้มุ้งกลดของหลวงปู่ แสงสว่างกลับค่อย ๆ หรี่ลง เมื่อเข้าไปถึงกลดของหลวงปู่ชอบ ความสว่างก็หายไป เมื่อเลิกมุ้งกลดขึ้นดู ก็เห็นหลวงปู่ชอบท่านนอนหลับนิ่งอยู่ ทั้งสององค์จึงปิดมุ้งกลดแล้วคลานกลับที่เดิม เมื่อห่างออกไปประมาณ 2 เมตร แสงก็กลับสว่างขึ้นอีก ยิ่งถอยห่างออกไป แสงก็ยิ่งเพิ่มความสว่างนวลมากขึ้น และเห็นหลวงปู่ชอบนั่งยิ้มอยู่ภายในมุ้งกลดอย่างชัดเจน

หลวงปู่ซามาและครูบาดม จึงคลานกลับไปที่กลดของหลวงปู่ชอบเป็นคำรบสองด้วยความสงสัย ก็ปรากฏเหตุการณ์ประหลาดเหมือนเดิม คือ ความสว่างค่อย ๆ หรี่ลงเรื่อย ๆ และเมื่อเลิกมุ้งกลดขึ้นดู ก็ยังคงเห็นหลวงปู่ชอบนอนหลับอยู่ในท่าเดิม ท่านหายใจแรงและมีเสียงกรนแผ่ว ๆ พอบอกให้รู้ว่ากำลังหลับลึก

หลวงปู่ซามาจึงชวนครูบาดมคลานถอยห่างออกไป ด้วยเชื่อว่า หลวงปู่ชอบกำลังแสดงธรรมโปรดเทวดาที่ภูทอกอยู่ ไม่สมควรไปรบกวนท่านขณะแสดงธรรม


หลวงปู่ชอบกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายก็เคยเป็นมนุษย์มาก่อน มีจิตฝักใฝ่ในบุญกุศล พอตายจากโลกนี้ ก็ไปจุติในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ สูงบ้างต่ำบ้าง ขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมมา  แม้ในขณะที่ยังเป็นเทวดาอยู่ก็ตาม จิตของพวกเขาก็ยังผูกพันอยู่กับบุญกุศล เมื่อได้ยินหรือได้เห็นผู้ใดประกอบคุณงามความดี ก็จะพากันมาร่วมอนุโมทนาด้วย หากว่าเรามีสมาธิจิตที่ละเอียด ก็สามารถมองเห็น หรืออย่างหยาบ ๆ ก็พอจะสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกขนลุกขนชัน

พระธรรมสิงหบุราจารย์
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน สิงห์บุรี เคยเทศน์สอนญาติโยมเช่นกันว่า บ้านไหนจัดที่บูชา มีโต๊ะหมู่ มีพระพุทธรูปตั้งไว้ แล้วเจ้าของบ้านสวดมนต์ เทวดาก็จะมาร่วมสวดมนต์ด้วย  ส่วนบ้านไหนมีพระพุทธรูปไว้เพียงตั้งโชว์ ร้อยวันพันปีไม่เคยทำวัตรสวดมนต์ เทวดาก็ไม่มา


เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่นั้น พุทธกิจที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวันมี 5 อย่าง คือ

1.  เวลาเช้า เสด็จบิณฑบาต
2.  เวลาเย็น ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน
3.  เวลาค่ำ ทรงประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
4.  เที่ยงคืน ทรงตอบปัญหาเทวดา
5.  จวนสว่าง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรเสด็จไปโปรด

การแสดงธรรมโปรดเทวดานี้ จึงมีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อภิกษุทั้งหลายได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาบ้าง ทูลขอกรรมฐานบ้าง หรือทูลขอฟังธรรมแล้ว ครั้นได้เวลาอันควร ก็ถวายบังคมลา จากนั้น ก็เป็นโอกาสของเหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุจะพากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาต่าง ๆ ตามที่ได้เตรียมมา และพระพุทธองค์ก็จะทรงตอบปัญหาแก่เทวดาเหล่านั้น

เทวดาที่เสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร หรือสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น (จาตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี) ถึงแม้จะมีทิพยสมบัติมากมาย แต่ก็ยังมีความหวาดกลัวต่อมรณภัย กลัวว่าเมื่ออายุขัยแห่งเทวดาของตนหมดลงแล้ว จะไปเกิดในนรก บ้างก็เป็นทุกข์ที่จะต้องพลัดพรากจากสมบัติอันเป็นทิพย์ จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หวังเป็นที่พึ่งเพื่อช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้แก่ตน


บ้างก็เกิดความสงสัยใคร่รู้ในธรรม เช่นเมื่อครั้งที่เทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ประชุมกันแล้วตั้งปัญหาขึ้น 4 ข้อ คือ (1) บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม (2) บรรดารสทั้งหลาย รสชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่ายอด (3) บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศ  (4) ความสิ้นไปแห่งตัณหา บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐสุด เพราะเหตุไร  

ป้ญหาทั้งสี่ข้อนี้ เทวดาในหมื่นจักรวาล ไม่มีผู้ใดตอบได้ ท้าวสักกะ (พระอินทร์) พร้อมด้วยเหล่าเทวดา จึงพากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่ออาศัยปัญญาบารมีของพระองค์เป็นผู้ตอบปัญหา พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม
บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด 
บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ 
ความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต

ดังกล่าวนี้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า

"สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ 
สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ 
สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ 
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ"


พระสูตรจำนวนไม่น้อย กล่าวถึงเรื่องราวที่เทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลถามปัญหา เช่น มงคลสูตร กล่าวถึงเทวดาตนหนึ่ง รับมอบหมายจากท้าวสักกเทวราช ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทูลถามปัญหาว่า เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี พากันคิดถึงมงคลคือเหตุให้ถึงความเจริญทั้งหลาย ขอพระพุทธองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด

พระพุทธเจ้าตรัสตอบมงคล 38 ประการ ดังนี้...

(1) ไม่คบคนพาล 
(2) คบบัณฑิต 
(3) บูชาคนที่ควรบูชา 
(4) อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม 
(5) การได้สร้างบุญไว้ในกาลก่อน 
(6) ตั้งตนไว้โดยชอบ 
(7) เป็นผู้เรียนรู้มาก 
(8) เป็นผู้มีศิลปะวิทยา 
(9) มีระเบียบวินัยดี 
(10) พูดแต่วาจาที่ดี 
(11) บำรุงบิดามารดา 
(12) สงเคราะห์บุตร 
(13) สงเคราะห์ภรรยา 
(14) ทำการงานไม่คั่งค้าง 
(15) ให้ทาน 
(16) ประพฤติธรรม คือกุศลกรรมบท 10  
(17) สงเคราะห์ญาติ 
(18) ทำการงานที่ปราศจากโทษ 
(19) งดเว้นความชั่ว 
(20) เว้นจากการดื่มน้ำเมา 
(21) ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย 
(22) มีสัมมาคารวะ 
(23) อ่อนน้อมถ่อมตน 
(24) มีความสันโดษ 
(25) มีความกตัญญู 
(26) ฟังธรรมตามกาล 
(27) มีความอดทน 
(28) เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย 
(29) การได้พบเห็นสมณะ 
(30) สนทนาธรรมตามกาล 
(31) มีความเพียรเผากิเลศ 
(32) ประพฤติพรหมจรรย์ 
(33) เห็นอริยสัจทั้งหลาย 
(34) ทำพระนิพพานให้แจ้ง 
(35) จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งแปด 
(36) จิตไม่เศร้าโศก 
(37) จิตปราศจากธุลีคือกิเลส 
(38) จิตถึงความเกษมคือปลอดจากโยคะกิเลสทั้งปวง

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสบอกมงคล 38 ประการแล้ว ได้ตรัสสรุปอานิสงส์ของการปฏิบัติมงคลธรรมของมนุษย์และเทวดาว่า เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

มงคลสูตรนี้ เป็นพระสูตรหนึ่งที่พระสงฆ์นำมาใช้สวดเจริญพระพุทธมนต์ ขึ้นต้นว่า "อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ..."


แม้แต่พรหมที่สถิตอยู่บนพรหมโลก เมื่อมีข้อขัดข้องสงสัย ก็จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเช่นกัน โดยปรกติแล้ว พรหมเป็นผู้มีคุณธรรมสูงกว่าเทวดาในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ปัญหาของพรหมจึงไม่มากเหมือนปัญหาของเทวดา การเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จะเป็นไปเพื่อกราบทูลให้แสดงธรรมโปรดสัตว์ทั้งหลาย เช่นเมื่อท้าวสหัมบดีพรหม ชักชวนหมู่พรหมและเทพยดาบนสวรรค์ มาชุมนุมต่อหน้าพระพักตร์พระบรมศาสดา แล้วกล่าวคำอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

ในกาลต่อมา เมื่อพุทธบริษัท ประสงค์จะอาราธนาพระสงฆ์ให้แสดงธรรม ก็จะใช้คำอาราธนาว่า

"พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ 
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา 
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํฯ" 

แปลว่า "ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่แห่งโลก ได้กระทำอัญชลี ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือกิเลสในดวงตาเบาบาง ยังมีอยู่ในโลกนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดแสดงธรรมอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์นี้ด้วยเถิด"

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม สุรินทร์

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ได้รับการยกย่องในหมู่ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ว่าเป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต  โดยปรกติ ท่านจะพูดแต่เรื่องภายในคือเรื่องของจิตเป็นส่วนใหญ่ มีบ้างนาน ๆ ครั้งจึงจะพูดถึงสิ่งภายนอก เช่น เรื่องเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ กายทิพย์ โอปปาติกะ (ผู้เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ อาศัยอดีตกรรม ได้แก่เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย)

คราวหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ (ผู้เป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่ดูลย์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่บวชเป็นสามเณรจนกระทั่งหลวงปู่มรณภาพ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาสี่สิบกว่าปี) กราบนมัสการถามหลวงปู่ดูลย์ แบบทีเล่นทีจริงว่า "ตามตำราบอกว่าเทวดามาฟังธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งละหลายโกฏินั้น จะมีศาลาโรงธรรมที่ไหนให้นั่งได้หมด ?"  คำตอบของหลวงปู่ ทำให้ทุกคนถึงกับอึ้ง เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง และไม่เคยพบในตำราเล่มใดมาก่อน เมื่อหลวงปู่ตอบว่า "ในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้แปดองค์"


ในช่วงท้ายชีวิตของหลวงปู่ดูลย์ มีผู้สังเกตว่า หลวงปู่ท่านมักจะพูดธรรมะชั้นสูง เกี่ยวกับการเข้าฌาณออกฌาณ บางช่วงท่านก็อยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ คล้ายกับเข้าสมาธิหรือพิจารณากรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง นิ่งไปสักพักหนึ่ง แล้วก็ปรารภธรรมบทใดบทหนึ่งต่อทันที

ตอนที่หลวงปู่ดูลย์พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็มีเหตุการณ์แปลก ๆ คล้ายกับว่าท่านกำลังพูดคุยหรือเทศน์ให้ใครฟัง ทำให้พระเณรที่อยู่พยาบาลเชื่อว่า ท่านมีปฏิสันถารกับใครอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาดึกสงัด  เมื่อถามภายหลังว่า ทำไมหลวงปู่จึงสวดยถาให้พร ทำไมจึงกล่าวอรรถกถาธรรมข้อใดข้อหนึ่งระหว่างนั้น จนผู้อยู่เฝ้าพยาบาลได้ยิน ก็ได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจน แต่ก็ยืนยันกันได้ว่า ท่านแสดงกิริยาอย่างนั้นโดยที่สติสัมปชัญญะยังสมบูรณ์ดีทุกประการ

มีอยู่คืนหนึ่ง เวลาตีสอง หลวงปู่ตื่นขึ้นกลางดึก บอกให้พระจุดเทียนต้อนรับเทวดาที่มาหา  ท่านพระอาจารย์เยื้อน ขนฺติพโล (วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จังหวัดสุรินทร์) บอกหลวงปู่ว่า ไฟเปิดอยู่แล้ว หลวงปู่ก็ไม่ว่าอะไร ตกลงไม่จุดเทียน หลวงปู่ก็สวดมนต์เจริญพระคาถา นั่งสมาธิพักใหญ่ จึงเอนตัวลงนอนต่อ  ในวันต่อมา มีผู้ถามหลวงปู่เรื่องเทวดา หลวงปู่ก็ตอบว่า "ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติภาวนา" 

ต่อมาเมื่อมีโอกาสเหมาะ มีผู้ถามหลวงปู่ว่า "เทวดาที่มาหาหลวงปู่ พวกเขาแต่งกายแบบลิเก หรือแบบไหนครับ"  หลวงปู่ตอบว่า "แต่งกายแบบนี้แหละ" ท่านว่า "ที่อยู่ของพวกพรหมนั้น เขาอยู่ห่างไกลจากโลกมนุษย์มาก"

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
วัดถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่

เรื่องปิดท้าย นำมาจากหนังสือ "อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ" บันทึกโดยท่าน พ.ต.อ. อรรณพ กอวัฒนา ได้เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งที่เดินทางไปกราบนมัสการ พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

หลวงปู่สิมเป็นศิษย์อาวุโสของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระเถระที่มีจริยาวัตรงดงามเสมอต้นเสมอปลายตลอดชีวิตการเป็นนักบวชของท่าน

พระอาจารย์มั่นพูดถึงหลวงปู่สิม สมัยยังเป็นพระหนุ่มต่อหน้าพระเถระหลายรูป ในเชิงพยากรณ์ด้วยความชื่นชมว่า "..ท่านสิม เป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่.."

ท่าน พ.ต.อ. อรรณพ เล่าว่า หลังจากที่ได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่สิมอย่างใกล้ชิดจนดึก หลวงปู่ท่านก็เมตตาจัดให้ท่านและลูกน้องพักผ่อนหลับนอนในถ้ำที่ท่านจำวัดอยู่ หลวงปู่บอกว่า ".. โยมนอนเสียเถอะ หลับให้สบาย ไม่ต้องกลัวอะไร เหนื่อยมามาก นอนอยู่กับหลวงพ่อนี่เย็นใจสบายใจ เก็บปืนเสีย ไม่ต้องใช้ หลวงพ่อจะเจริญพระกรรมฐาน มีอะไรเกิดขึ้นในถ้ำนี้ไม่ใช่กิจของโยม เป็นเรื่องของอาตมา หลับเถอะ หลับให้สบาย.." 

สิ้นเสียงของหลวงปู่ ท่านกับลูกน้องก็หลับปุ๋ยไปโดยพลัน เหมือนโดนยานอนหลับ  มารู้สึกตัวตื่นราว ๆ ตีสอง ที่ทราบเวลาเพราะตื่นปุ๊บก็ดูนาฬิกาปั๊บ มองไม่เห็นหลวงปู่สิมบนที่ ๆ ท่านนอน แต่เมื่อเหลือบไปอีกที ต้องตกใจเพราะเห็นคนเต็มถ้ำจนเรียกว่าแออัด รูปร่างเหมือนคนแต่ตัวโปร่งใส แต่งตัวเหมือนพวกเล่นลิเก ทุกคนสำรวมและเคร่งขรึม เห็นหลวงปู่สิมนั่งอยู่บนอาสนะกลางถ้ำ ท่าทางเหมือนกำลังเทศน์ เพราะนุ่งห่มจีวรและพาดสังฆาฏิเรียบร้อย

พอท่าน พ.ต.อ. อรรณพลุกขึ้นนั่ง คนตัวใส ๆ เหล่านั้นก็หันมามองเป็นตาเดียว ทุกคนที่มองมามีพลังสื่อให้รับรู้ได้ว่า พวกเขากำลังไม่สบายใจและขอโทษที่ทำให้ตื่น  พอท่านเริ่มจะตื่นเต็มตัวและอยากลุกขึ้นมาเพื่อพูดจาด้วย ก็ได้ยินเสียงของหลวงปู่สิมลอยมาว่า "โยม นอนเสียเถอะ นอนให้สบาย ไม่ต้องกังวล ที่นี่ปลอดภัย ไม่ต้องสงสัย ไม่ใช่กิจของโยม นอนเสียเถอะ อาตมาดูแลเอง"


อ้างอิง         -  ประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต - หลวงตามหาบัว และ พระอาจารย์วิริยังค์
                    -  หนังสือ บูรพาจารย์ - รศ.ดร. ปฐม นิคมานนท์ 

ขอขอบคุณ  ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น