วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

'กา' รักษาพระบรมธาตุ เมืองคอน


เรื่อง 'กา' รักษาพระบรมธาตุฯ นี้
ปรากฏอยู่ในตำนานการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าสืบต่อกันมาว่า ภายหลังจากที่เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้ากรุงลังกา ได้แบ่งส่วนหนึ่งมาฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว (เมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) เพื่อรอกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการในอนาคตกาลมาสร้างเมืองใหม่และสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ระหว่างนั้น มหาพราหมณ์ผู้ติดตามและคอยให้ความช่วยเหลือเจ้าหญิงและเจ้าชาย ได้ผูกกาพยนต์ (กา-พะ-ยน) เป็นฝูงกาที่ผู้มีวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้นด้วยไสยเวทย์ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้มิให้ได้รับอันตราย


เหตุที่เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร แบ่งพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งมาประดิษฐานไว้ ณ ดินแดนหาดทรายแก้วแห่งนี้ มีตำนานบอกเล่าความเป็นมาไว้ว่า..

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ท่ามกลางหมู่สงฆ์และทวยเทพ ดอกไม้ทิพย์ทั้งปวงร่วงโปรยลงมาเป็นพุทธบูชา

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 1 หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดใส่ในพระหีบทอง ประดิษฐานไว้ในศาลากลางพระนครกุสินารา จัดให้มีมหรสพสมโภชตลอด 7 วัน

ฝ่ายกษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ เมื่อทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ต่างก็ส่งราชทูตนำสาส์นมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุพร้อมทั้งยกกองทัพติดตามมาด้วย รวม 6 นครและมีพราหมณ์อีก 1 นคร

มัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินาราตรัสปฏิเสธทูตานุทูตทั้ง 7 พระนคร ไม่ยินยอมที่จะแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุถวายแก่เจ้าองค์ใดเลย ฝ่ายทูตานุทูตทั้ง 7 พระนครนั้นก็มิได้ย่อท้อ เกิดเหตุโต้เถียงกันขึ้น จวนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามใหญ่

โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ 7 พระนคร

ขณะนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า "โทณะ" เป็นอาจารย์ของกษัตริย์เหล่านั้น ได้ยินการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงขึ้น จึงออกไประงับข้อพิพาทดังกล่าวและประกาศว่าจะแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้อัญเชิญไปบรรจุในสถูปทุก ๆ พระนครเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาของมหาชน กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 8 พระนครได้ฟังดังนั้น ก็ทรงเห็นชอบพร้อมกับมอบธุระให้โทณพราหมณ์แบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ

ในครั้งนั้น มีพระเถระผู้ทรงอภิญญาสมาบัติ ทราบด้วยอนาคตังสญาณ (ญาณที่ล่วงรู้อนาคต) ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในภาคกลางและภาคใต้ของชมพูทวีป  (ตอนกลางและตอนใต้ของอินเดีย) และจะเคลื่อนเข้าสู่สุวรรณทวีป (ประเทศไทย) จึงกำบังกาย อัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว (พระทันตธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ออกจากจิตกาธาน (เชิงตะกอน) นำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกาลิงคะ ให้เป็นมิ่งขวัญแก่พุทธศาสนิกชนเพราะดินแดนส่วนนั้นมิได้รับแจกพระบรมสารีริกธาตุจากโทณพราหมณ์

ภาพวาด เจ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าชายทันทกุมาร
วาดโดย Solias Mendis จิตรกรชาวลังกา 

พระเขี้ยวแก้วได้เสด็จเคลื่อนย้ายไปยังพระนครต่าง ๆ ในลุ่มน้ำมหานที จนกาลเวลาล่วงไป 800 ปีเศษ เสด็จมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองทันทบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวโกสีหราช มีพระอัครมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระธิดาผู้พี่ชื่อ เจ้าหญิงเหมชาลา และพระราชโอรสผู้น้องชื่อ เจ้าชายทันทกุมาร  

การเสด็จมาของพระเขี้ยวแก้ว ทราบถึงท้าวอังกุศราชแห่งเมืองขันธบุรี ได้ยกทัพกองทัพใหญ่มาตีเมืองทันทบุรีหมายจะช่วงชิง ท้าวโกสีหราชไม่ประสงค์จะให้พระเขี้ยวแก้วตกไปอยู่ในมือของพวกทมิฬเดียรถีย์ จึงรับสั่งให้เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร ลอบหนีออกนอกเมืองพร้อมกับอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา  ส่วนตัวพระองค์ได้นำทัพเข้ากระทำยุทธหัตถี แต่เนื่องด้วยพระชันษาย่างเข้าวัยชรา จึงเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่ท้าวอังกุศราช สิ้นพระชนม์บนคอช้างในที่สุด

อนุสาวรีย์ เจ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าชายทันทกุมาร ที่ประเทศศรีลังกา

ฝ่ายเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร ได้ปลอมพระองค์เป็นพ่อค้าวาณิช ซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในพระเมาลีเหนือเศียรเกล้า โดยสารเรือสำเภากางใบเดินทางไปยังเกาะลังกา ระหว่างทางเรือถูกพายุซัดมาเกยฝั่งเมืองตะโกลา (อำเภอตะกั่วป่า บ้างก็ว่าเป็นเมืองตรัง)

เมื่อขึ้นบกที่เมืองตะโกลา ทรงทราบจากชาวเมืองว่า ที่หาดทรายแก้ว (นครศรีธรรมราช) มีพ่อค้าวาณิชเดินทางไปมาค้าขายระหว่างสุวรรณภูมิกับลังกาอยู่เป็นประจำ จึงดั้นด้นเดินทางบกต่อมาถึงหาดทรายแก้ว เพื่อรออาศัยเรือสินค้าเดินทางไปลังกาต่อไป ระหว่างนั้น ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากพระเมาลีลงฝังประทับไว้ที่หาดทรายแก้วเป็นการชั่วคราว

ดูจากแผนที่ จะเห็นว่าอินเดียกับลังกาอยู่ใกล้กันมาก
ในขณะที่เมืองตะกั่วป่าของไทย อยู่ห่างออกไปถึง 2,000 กิโลเมตร
เรือของเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร 

คงมิได้ถูกพายุซัดมาเกยฝั่ง แต่น่าจะเป็นการตั้งใจเดินทางมาลี้ภัย  
มีท่านผู้รู้อธิบายว่า ดินแดนแถบไชยาและนครศรีธรรมราชโบราณ 
เป็นสถานที่ลี้ภัยการเมืองและภัยสงคราม ของชาวอินเดียใต้มาหลายยุคหลายสมัย
หากเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารหนีตรงไปยังลังกา ก็จะถูกติดตามจับตัวมาได้ 
จึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาฝังซ่อนไว้ที่หาดทรายแก้ว เมืองนครศรีธรรมราช เป็นการชั่วคราว
รอจนศึกสงบปราศจากอันตราย จึงนำพระเขี้ยวแก้วไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา

กาลนั้น มีพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ เหาะผ่านมา เห็นพระเขี้ยวแก้วที่ฝังไว้เปล่งรัศมีโชติช่วงสว่างไสว จึงแวะทำประทักษิณ พร้อมกับทำนายว่า ต่อไปเบื้องหน้า จะมีกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ มาสร้างเมืองใหญ่ ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ และจะทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ฝ่ายเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร หลังจากที่เดินทางถึงลังกา ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงลังกา ถวายพระเขี้ยวแก้วและกราบทูลเรื่องราวความเป็นมาให้ทรงทราบ  พระเจ้ากรุงลังกาทรงดูแลรับรองเจ้าหญิงและเจ้าชายทั้งสองพระองค์เป็นอย่างดี ทรงจัดให้มีพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้วและรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์บนยอดบรรพตเพื่อประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนสืบไป

พระเขี้ยวแก้วที่เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร อัญเชิญมาจากอินเดีย
ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่วัด Sri Dalada Maligawa เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา

ต่อมา เมืองทันทบุรีกู้อิสรภาพคืนกลับมาได้และสถานการณ์บ้านเมืองได้เข้าสู่ภาวะปรกติสุข เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารจึงทูลลากลับแผ่นดินเกิด พระเจ้ากรุงลังกาทรงมีพระราชสาส์นถึงเจ้าเมืองทันทบุรี ให้ต้อนรับอุปถัมภ์เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร ผู้เป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสของท้าวโกสีหราชซึ่งทิวงคตในการสงคราม และมีบัญชาให้มหาพราหมณ์อำมาตย์สี่คน ร่วมเดินทางเพื่อคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ และทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้ 1 ทะนาน

อนุสาวรีย์เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่รับพระราชทานมาจากพระเจ้ากรุงลังกาออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนำมาบรรจุไว้ที่หาดทรายแก้วและก่อเจดีย์สวมครอบไว้ ณ รอยเดิมที่เจ้าหญิงและเจ้าชายเคยฝังพระเขี้ยวแก้วไว้ชั่วคราวก่อนหน้านี้ พระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่ง อัญเชิญกลับไปยังเมืองทันทบุรี  จากนั้น มหาพราหมณ์ทั้งสี่ได้ประกอบพิธีไสยเวทย์ ผูกพยนต์เป็นกา 4 ฝูง เพื่อให้เฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุมิให้เกิดอันตราย คือ

กาสีขาว 1 ฝูง เรียกว่า 'กาแก้ว' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันออก
กาสีเหลือง 1 ฝูง เรียกว่า 'การาม' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศใต้
กาสีแดง 1 ฝูง เรียกว่า 'กาชาด' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันตก
และกาสีดำ 1 ฝูง เรียกว่า 'กาเดิม' เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศเหนือ

ารจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์แต่โบราณของเมืองนครศรีธรรมราช จัดคณะสงฆ์เป็น 4 คณะและได้นำชื่อกาทั้ง 4 ฝูงมาตั้งเป็นชื่อของคณะสงฆ์แต่ละคณะ โดยยึดเอาแบบกาพยนต์ที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ในตำนานมาเป็นนัย คือ คณะกาแก้ว คณะการาม คณะกาชาด และคณะกาเดิม 

พระสงฆ์ที่เป็นประธานหรือหัวหน้าของแต่ละคณะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูกา คือ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาด และพระครูกาเดิม  ตำแหน่งเทียบเท่าสังฆราชหัวเมืองหรือพระราชาคณะ เป็นสมณศักดิ์สำหรับสงฆ์ภาคใต้อันมีมาแต่โบราณกาล และได้ใช้ระเบียบแบบแผนนี้มาอย่างยาวนาน เมืองไชยา (สุราษฎร์ธานี) และเมืองพัทลุง ซึ่งมีพระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ (หมายถึงพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพระธาตุบางแก้ว วัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง) ก็รับเอาระเบียบเดียวกันนี้ไปใช้ด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงศาสนจักรให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลางและจัดสมณศักดิ์เสียใหม่ สมณศักดิ์พระครูกาอันมีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระราชาคณะ จึงเปลี่ยนฐานานุกรมเป็นพระครู


นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้มีตำแหน่งพระครูรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ เช่นเดียวกับพระครูการักษาองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช คือ

พระครูปุริมานุรักษ์ เฝ้ารักษาพระปฐมเจดีย์อยู่ทางทิศตะวันออก
พระครูทักษิณานุกิจ เฝ้ารักษาพระปฐมเจดีย์อยู่ทางทิศใต้
พระครูปัจฉิมทิศบริหาร เฝ้ารักษาพระปฐมเจดีย์อยู่ทางทิศตะวันตก
พระครูอุตรการบดี เฝ้ารักษาพระปฐมเจดีย์อยู่ทางทิศเหนือ

ภาพถ่าย หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
ขณะดำรงสมณศักดิ์ พระครูทักษิณานุกิจ

หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม
รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูอุตรการบดี เป็นรูปแรก
เป็นพระเถระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงให้ความเคารพนับถือมากรูปหนึ่ง

นับจากปี พ.ศ. 854 ที่เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ หาดทรายแก้ว ภูมิประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คลื่นได้ซัดพาเอาโคลนทรายขึ้นถมทับพระเจดีย์ กลายเป็นป่าดงไม่มีร่องรอยพระเจดีย์เดิมให้เห็น กาลเวลาล่วงเลยไปนับร้อยปี มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้อพยพผู้คนหนีภัยโรคระบาดมาตั้งเมืองใหม่ที่หาดทรายแก้ว

อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช นครศรีธรรมราช

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชปฐมกษัตริย์ ได้ทราบจากพระเถระชาวลังการูปหนึ่ง ถึงเรื่องราวการเดินทางของเจ้าหญิงเหมชาลา เจ้าชายทันทกุมารและพระบรมสารีริกธาตุที่ฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว ตลอดจนคำทำนายของพระมหาเถรพรหมเทพเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการจะมาสร้างเมืองใหม่และสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ก็มีความโสมนัสยิ่งนัก ได้ออกสืบเสาะหาตำแหน่งที่พระบรมสารีริกธาตุฝังอยู่จนพบพระเจดีย์ แต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ ด้วยมีฝูงกาพยนต์ไล่จิกทำร้ายอยู่

ครั้งนั้น มีชายชาวเมืองชื่อจันที เข้าเฝ้าเล่าความให้ฟังว่า เมื่อบิดาตนยังมีชีวิตอยู่ ได้ศึกษาวิชาปราบหุ่นพยนต์ที่เมืองโรมวิสัย แล้วสักตำราไว้ที่ขา แต่ทางเมืองโรมวิสัยไม่ต้องการให้คนต่างด้าวรู้ตำรา จึงใช้หุ่นพยนต์มาตัดคอบิดาตนเสีย แต่ตนได้เคยเรียนวิชาจากศพของบิดา จึงรับอาสาปราบ กาพยนต์ก็สิ้นฤทธิ์ในที่สุด จากนั้น พระอินทร์มีเทวโองการถึงพระวิษณุให้ช่วยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และอยู่ช่วยงานสร้างพระเจดีย์ใหม่จนแล้วเสร็จ ตามตำนานเล่าไว้เช่นนี้

พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี

เจดีย์หน้าประตูเหมรังสี
มีมาแต่เดิม ไม่ปรากฏที่มาของการก่อสร้าง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า
อาจเป็นรูปแบบขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ดั้งเดิมสมัยศรีวิชัย

เชื่อกันว่า พระบรมธาตุเจดีย์เมื่อแรกสร้าง เป็นเจดีย์ทรงมณฑปแบบศิลปะศรีวิชัย คล้ายพระบรมธาตุไชยาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15  ต่อมา พระสถูปแบบศรีวิชัยทรุดโทรมลง จึงมีการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ทรงลังกาซึ่งเป็นเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบไว้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวินิจฉัยว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
มีลักษณะคล้ายพระเจดีย์ Kiri Vehera ในเมือง Polonnaruwa ประเทศศรีลังกา
ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ก็ควรสร้างหลังจากนั้น

องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ อันเป็นอิทธิพลทางศิลปกรรมจากลังกา ความสูงจากระดับพื้นดินถึงปลายยอด 55.99 เมตร  ส่วนที่หุ้มด้วยทองคำคือส่วนที่อยู่เหนือปล้องไฉนขึ้นไป เป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายปูนปั้นหุ้มด้วยทองคำ ความสูง 1.20 เมตร ถัดจากกลีบบัวคว่ำบัวหงายขึ้นไป เป็นส่วนปลียอดทองคำ ความสูงถึงปลายสุด 10.89 เมตร บุด้วยแผ่นทองคำแท้ และแผ่นทองคำแท้ดุนลายดอกประดับด้วยรัตนชาติ

ยอดพระบรมธาตุเจดีย์
ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ ปี พ.ศ. 2558 - 2560

ปลียอดทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์

ยอดพระบรมธาตุเจดีย์ตกแต่งเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับด้วยทอง ลูกปัด ลูกแก้ว และรัตนชาติ ยอดบนสุดมีบาตรน้ำมนต์ 1 ใบโตขนาดวางไข่ไก่ได้หนึ่งฟอง วางหงายอยู่บนกำไลหยกเพื่อรองรับน้ำฝน น้ำฝนและน้ำค้างที่ตกเต็มอยู่ภายใน เมื่อถูกแดดถูกลมระเหยเป็นไอ จะกระจายไปทั่วสารทิศ ประหนึ่งน้ำพระพุทธมนต์ที่ประพรมลงมาจากยอดพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าไปสักการะบูชา

พระระเบียงตีนธาตุ หรือ วิหารทับเกษตร
เป็นพระระเบียงที่อยู่โดยรอบพระบรมธาตุเจดีย์
มีความยาวเท่ากันทั้ง 4 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ

ตามตำนานกล่าวว่า ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีสระกว้างยาวด้านละ 8 วา ลึก 8 วา พื้นสระรองด้วยแผ่นศิลาขนาดใหญ่ ผนังสระก่อยึดด้วยปูนเพชรทั้งสี่ด้าน ภายในสระนี้ ทำเป็นสระเล็กขึ้นอีกสระหนึ่ง หล่อด้วยปูนเพชร กว้างยาวด้านละ 2 วา ลึก 2 วา ใส่น้ำพิษพญานาค มีแม่ขันทองคำลอยอยู่ ภายในขันบรรจุผอบทองคำ ภายในผอบประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มุมสระทั้งสี่ มีตุ่มบรรจุทองคำตั้งอยู่ แต่ละตุ่มหนัก 38 คนหาม  ตำนานดังกล่าว ยังคงเป็นปริศนาลี้ลับตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้

พระวิหารหลวง
เดิมคงเป็นวิหาร เพราะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา จึงใช้พระวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถ
แต่ชาวบ้านยังคงเรียกกันว่า พระวิหารหลวง เช่นเดิมตลอดมา

พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช
พระประธานในพระวิหารหลวง

เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย
สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

แต่เดิมวัดพระบรมธาตุ จัดเป็นเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เรียกว่า "พุทธบุรี" ต่อมาเรียกว่า "วัดพระบรมธาตุ"  ปี พ.ศ. 2458 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร  กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาจำพรรษา มีพระครูวินัยธร (นุ่น) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 1  และคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช โปรดพระราชทานนามวัดว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย โดยเฉพาะพี่น้องชาวปักษ์ใต้ ถือกันว่า อย่างน้อยที่สุด ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอให้ได้มาสักการะบูชา ก็นับว่าเป็นมงคลสูงสุด


คำกราบบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( 3 จบ)

อะหัง วันทามิ ธาตุโย  
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
อะหัง สุขิโต โหมิ

ข้าพเจ้า ขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
ข้าพเจ้า ขอกราบนอบน้อมบูชาพระคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณ หาประมาณมิได้
ที่เสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ

ข้าพเจ้าบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง
พร้อมกราบพระธรรมและพระอริยสงฆ์

ด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำในวันนี้ ขอเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพาน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมอย่างไร
ขอข้าพเจ้ามีส่วนรู้ตามธรรมของพระองค์
แม้ต้องเกิดอยู่ในภพชาติใด ๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนา
ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐ มีกรรมสัมพันธ์ที่ดี
ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร และเป็นสัมมาทิฏฐิทุกชาติไป
มีโอกาสฟังธรรมและประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ
ตามส่งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ

ด้วยกรรมใดที่ได้ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ในอดีตชาติก็ตาม ปัจจุบันชาติก็ตาม  ขอกราบอโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น

ขอผลบุญจงสำเร็จแด่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง ท่านเจ้ากรรมนายเวร
ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบ ในการดำรงรักษาไว้
ซึ่งประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์
ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ 
ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้น จงมีแต่ความสุขทุกท่านเทอญ


อ้างอิง         -  ประวัติและตำนาน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร - พระเทพวราภรณ์
                    -  การบูรณะปลียอดทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์ - กรมศิลปากร

ขอขอบคุณ  ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น