1. พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาละวัน บ้านโนนทัน อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู)
2. พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
3. พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันคืออำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ)
4. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
5. พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาในงานศพทุกคืน ทรงจัดดอกไม้บูชาหน้าศพด้วยพระองค์เองทุกคืน |
หลังเกิดเหตุ พระลูกศิษย์ได้เดินทางไปยังจุดที่เครื่องบินตกเพื่อค้นหาบริขารของอาจารย์ เช่น บาตร ย่าม กลด รองเท้า ฯลฯ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามท้องทุ่งนา ถึงแม้จะมีพระสงฆ์มรณภาพพร้อมกันหลายรูป แต่บรรดาศิษย์ต่างก็จำบริขารเครื่องใช้ของอาจารย์ของตนได้ การค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นดินโคลน ซากเครื่องบินก็อยู่ในสภาพพังยับเยิน บางอย่างก็พบบนดิน บางอย่างต้องงัดซากเครื่องบินออก
บาตรบุบ |
กล่าวถึงสมณบริขารของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ รวมถึง "บาตร" ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวสุดอัศจรรย์ สุดท้ายก็หาได้ครบ ยกเว้นรองเท้าข้างเดียวซึ่งคาดว่าคงถูกแรงกระแทกของเครื่องบินอัดจมหายลงไปในดิน
บาตรซึ่งพบในที่เกิดเหตุอยู่ในสภาพเสียหายมากอย่างเห็นได้ชัด ฝาบาตรปิดสนิทแน่น บุบยุบลงไปด้วยกันกับตัวบาตร ต้องออกแรงงัดเป็นการใหญ่จึงสามารถเปิดออกได้ ภายในบาตรมีผ้าสังฆาฏิและเครื่องใช้อื่น ๆ ที่พระท่านใช้เป็นประจำเวลาออกธุดงค์ แต่ที่ดูแปลกประหลาดคือ มีซองจดหมายอยู่ซองหนึ่ง เป็นซองราชการ มีตรากระทรวงมหาดไทยอยู่ที่มุมซอง ปิดผนึกอย่างดีและตีตราลับ วางอยู่ข้างบนอัฐบริขารทั้งหมด
เอกสารซองนี้เป็นเอกสารลับของประเทศ คุณสมพร กลิ่นพงษา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้น นำติดตัวเข้ากรุงเทพฯ และท่านก็เป็นหนึ่งในผู้โดยสารเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ แต่ท่านนั่งอยู่ท้ายเครื่อง จึงรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อทีมกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือ ท่านยังมีสติพอบอกกับผู้ที่ไว้วางใจว่า ท่านได้นำเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งติดตัวมาด้วย ขอให้ช่วยหาให้พบ หากตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามจะเกิดอันตรายเสียหายร้ายแรงแก่บ้านเมือง
เจ้าหน้าที่ช่วยกันค้นหาอยู่สองวันเต็ม ๆ ระหว่างนั้น ก็ได้แต่ภาวนาว่า หากหาไม่พบ ก็ขอให้เอกสารนั้นถูกอัดหายเข้าไปในดินโคลน แล้วในที่สุด กลับพบว่าเอกสารซองดังกล่าวอยู่ภายในบาตรของพระอาจารย์จวน
คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ศิษย์ผู้ใกล้ชิดพระอาจารย์จวนเล่าว่า ศพพระคณาจารย์ทั้งหมดตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ในพระบรมราชานุเคราะห์ นอกจากเวลาทำงานปรกติแล้ว คุณหญิงจะมาอยู่ช่วยงานที่วัดโดยตลอด เมื่อพระช่วยกันงัดฝาบาตรออกและพบซองจดหมายราชการ ก็นำมาให้คุณหญิง บอกว่าไม่ทราบเป็นของใคร นำมาฝากไว้กับท่านอาจารย์ เมื่อเชิญผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยมาดู ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นเอกสารสำคัญที่กำลังต้องการจริง ๆ
จึงเกิดคำถามขึ้นในใจสารพัดว่า ท่านผู้ว่าฯ สมพร นึกอย่างไรถึงได้เอาซองเอกสารสำคัญมาฝากไว้กับพระอาจารย์จวน เอกสารสำคัญแบบนี้ ทำไมไม่เก็บรักษาไว้กับตัว หรือเกิดสังหรณ์ใจอะไร จึงนำมาฝากไว้ หรือพระอาจารย์จวนหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า จึงเรียกให้นำไปฝากไว้ ฯลฯ ครั้นจะไปถามคุณสมพรในขณะนั้นให้คลายสงสัย ก็ไม่เหมาะไม่ควร เพราะท่านกำลังเจ็บหนักและพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
เวลาผ่านเลยไปนานหลายปี จนกระทั่งต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 เมื่อการก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวนแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมห้องแสดงอัฐบริขารตลอดจนเครื่องใช้ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เช่น สบง จีวร สังฆาฏิ อังสะ ย่าม รองเท้า บาตร ฯลฯ คุณหญิงสุรีพันธุ์เหลือบไปเห็นบาตรบุบก็นึกขึ้นได้ จึงโทรศัพท์ไปพูดคุยสอบถามความเป็นมากับคุณสมพร กลิ่นพงษา ว่านึกอย่างไรจึงเอาเอกสารสำคัญไปฝากไว้กับพระอาจารย์จวน
คุณสมพรถึงกับขนลุก เพราะท่านไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า เอกสารนั้นได้มาจากบาตรของพระอาจารย์จวน ท่านบอกว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารลับของทางราชการ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของบ้านเมือง ท่านเก็บรักษาไว้กับตัวตลอดเวลา แม้ในขณะที่เครื่องบินกำลังดิ่งพื้น ไม่ได้แพร่งพรายให้ใครทราบ และไม่ได้เอาไปฝากไว้กับใครทั้งสิ้น
คุณสมพรเล่าต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุ ท่านเดินทางจากนครพนมมาขึ้นเครื่องบินที่อุดรธานีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมารับรางวัลชนะเลิศการปราบยาเสพติดซึ่งมีกำหนดจะมอบรางวัลกันในวันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2523 ปรกติ บริษัทเดินอากาศไทย จะสำรองที่นั่งแถวแรกให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเสมอ แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้มาขอให้ท่านยกที่นั่งให้กับคณะของพระอาจารย์จวน ท่านไม่ขัดข้องและย้ายไปนั่งบริเวณกลางลำ สักพักก็มีสามีภรรยาเดินทางมากับลูกน้อยอีกคนหนึ่ง ได้ที่นั่งข้างคุณสมพรเพียงสองที่ จึงอยากจะขอแลกที่นั่งเพื่อให้ได้มานั่งอยู่ด้วยกันทั้งครอบครัว คุณสมพรเห็นใจก็ยอมแลกที่นั่งให้ แล้วท่านก็ย้ายที่นั่งอีกครั้งไปนั่งตรงบริเวณท้ายเครื่องบิน
ปรากฏว่าผู้โดยสารตรงส่วนท้ายของเครื่องบินรอดชีวิตกันหลายคน ส่วนผู้โดยสารพ่อแม่ลูกที่มาขอแลกที่นั่งกับท่าน ตายหมดทั้งสามคน ท่านเล่าด้วยความเศร้าใจว่า "หมดเลยครับ ผมต้องทำบุญให้เขา เท่ากับเขามาตายแทนผมแท้ ๆ เชียว โธ่.. " คุณหญิงสุรีพันธุ์ได้ปลอบใจว่า "คุณไม่ได้เป็นคนไปขอแลกที่นั่งกับเขา เขามาขอแลกที่นั่งกับคุณเอง แปลว่า เขาจะถึงที่เองต่างหากค่ะ"
เรื่องเอกสารลับนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่มาบอกกับคุณสมพรว่าหาพบแล้วก็โล่งใจ ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพระอาจารย์จวนท่านเอาเข้าไปเก็บไว้ในบาตรให้ บาตรกับฝาบาตรบุบยุบอัดติดกันแน่น เปิดไม่ออกจนพระต้องช่วยกันงัด เท่ากับว่าท่านช่วยเก็บรักษาไว้ไม่ให้ใครไปพบเห็นก่อน
แล้วพระอาจารย์จวนทราบได้อย่างไรว่าคุณสมพรมีเอกสารสำคัญอยู่กับตัว ?!?
ในวินาทีที่ความเป็นความตายกำลังคุกคามทุกชีวิต รวมถึงพระอาจารย์จวนเอง ก็อยู่ในวินาทีแห่งความเป็นความตายนั้นด้วย ทุกคนบนเครื่องบินต่างพากันภาวนาหาที่พึ่ง เชื่อว่าข่ายพระอริยญาณของท่านแผ่ไปโดยรอบ รับรู้ถึงความวิตกกังวลของคุณสมพรกับเอกสารลับของประเทศ เห็นควรให้ความช่วยเหลือและคงต้องคิดต่อไปด้วยว่าจะช่วยโดยวิธีใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่จิตของท่านพระอาจารย์เองก็กำลังจะละขันธ์ ท่านทำได้อย่างไร
นี่เอง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอจินไตย คือเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน ฌานวิสัยหรือวิสัยแห่งอิทธิฤทธิ์ของฌานเป็นเรื่องทางจิต จึงเป็นเรื่องที่รู้ได้ด้วยการบรรลุธรรมขั้นสูงเท่านั้น
ในคืนแรกที่บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพพระอาจารย์ทั้งหลายที่วัดพระศรีมหาธาตุ มีผู้ใหญ่ในแผ่นดินท่านหนึ่งเห็นสีหน้าเศร้าสร้อยของคุณหญิงสุรีพันธุ์ ก็เรียกเข้าไปปลอบด้วยความเมตตา ไม่ให้เศร้าโศกเสียใจจนเกินไป ท่านบอกกับคุณหญิงว่า โหรหลวงเขาทำนายไว้ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ว่า ปีนี้ชะตาเมืองไทยจะตกต่ำถึงขีดสุด อาจจะมีข้าศึกยกกองทัพเข้ามารุกราน หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องสูญเสียพระอริยเจ้าพร้อม ๆ กันหลายองค์
เป็นไปได้ไหมว่า.. พระอริยญาณของพระอาจารย์ทั้งหลายสอดคล้องกับคำทำนายของโหรหลวง เมื่อมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอาราธนาเชิญท่านไปเพื่อแลกกับความเป็นตายของประเทศชาติ มีหรือที่ท่านจะไม่ยินดีช่วยเหลือ
คุณหญิงสุรีพันธ์ุ มณีวัต ผู้เขียนและเรียบเรียงชีวประวัติ ปฏิปทา และพระธรรมเทศนา ของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ |
ภายหลังการมรณภาพของพระอริยเจ้าทั้งห้ารูป เกิดคำถามตามมาว่า ท่านเหล่านั้นรู้ล่วงหน้าหรือไม่ และถ้ารู้ ทำไมยังมา บางคำถามออกไปในเชิงดูแคลน วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นา ๆ
ระหว่างที่ศพพระคณาจารย์ตั้งอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุนั้น คุณหญิงสุรีพันธุ์ได้อาศัยซอกด้านหลังที่ตั้งหีบศพเป็นทางเดินจงกรม นึกไปถึงคำพูดของคนบางคน ไปพูดว่าศพเหม็น อะไรต่อมิอะไร คุณหญิงเดินจงกรมอยู่หลังหีบศพ ก็ไม่ได้กลิ่นเหม็น ตรงกันข้าม กลับรู้สึกหอมเหมือนกลิ่นดอกไม้ทิพย์เสียด้วยซ้ำ
คืนหนึ่ง เป็นเวลาสองนาฬิกาของวันใหม่ ศิษย์ส่วนใหญ่ถ้าไม่นั่งภาวนา ก็นอนหลับกันหมด ขณะที่คุณหญิงกำลังเดินจงกรมอยู่นั้น ใจก็หวนคิดถึงพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ คนเขาพูดจาดูแคลนว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ แต่คุณหญิงก็ยังเชื่อมั่นว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เดินไปนึกไปจนเกือบจะสุดทางจงกรม ก็ต้องสะดุ้งตกใจเพราะมีผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวธรรมดา มายืนอยู่ใกล้ ๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ยิ้มให้คุณหญิงแล้วพูดว่า "ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องสงสัย ท่านอาจารย์ไปดีแล้วอย่างที่คิดน่ะ" คุณหญิงรู้สึกแปลกใจจึงถามว่าเป็นใครมาจากไหน ผู้ชายคนนั้นก็ตอบด้วยน้ำเสียงเหมือนคนอ่านหนังสือว่า "อยู่-ที่-นี่-เอง"
คุณหญิงบอก "เหรอฮะ" แล้วเดินเลยไปสองก้าว แต่แล้วก็เอะใจว่า ขณะเดินจงกรม สายตาเธอทอดต่ำ ทำไมมองไม่เห็นเท้าของชายผู้นั้น นึกขึ้นมาได้ก็เหลียวกลับไปดู ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่บริเวณนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นทางโล่ง ๆ แคบ ๆ
วันต่อมา ได้มีโอกาสกราบนมัสการถามท่านพระครูสุทธิธรรมรังสี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี) ท่านบอกว่าเป็นเทพอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ !
อัฐิพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แปรสภาพเป็นพระธาตุ |
เมื่อเวลาผ่านไป เกียรติคุณของพระคณาจารย์เริ่มเป็นที่ประจักษ์ พระธาตุของท่านเริ่มปรากฏ ทำให้น้ำเสียงของความสงสัยเปลี่ยนไปในทางนอบน้อมขึ้น มีสัมมาคารวะมากขึ้น แต่ก็ยังคงสงสัยอยู่ตามวิสัยปุถุชนคนธรรมดา
คุณหญิงสุรีพันธุ์เล่าว่า พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม มีพรรษาใกล้เคียงกันและสนิทสนมกันประดุจคู่แฝด ขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ต่างเคยเข้าที่พิจารณาอายุขัย ได้ความตรงกันว่า ท่านทั้งสองจะมีอายุยืนยาวมาก จะมีอายุถึงเก้าสิบกว่า ท่านพูดเช่นนี้มาตลอด พระอาจารย์จวนยังเล่าว่า ถึงตอนนั้น ท่านและพระอาจารย์วันคงไม่ได้พบหน้ากันแล้ว ต่างองค์ต่างอยู่ ไปหากันไม่ไหว ต้องสั่งฝากไปหากัน เหมือนหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวน
แต่แล้ว ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 ท่านเริ่มพูดถึงการพลัดพราก เทศน์เรื่องกรรม เทศน์เรื่องปัจฉิมโอวาทอยู่หลายครั้ง มีอยู่วันหนึ่ง พออาราธนาให้เทศน์และเตรียมอัดเทป ท่านก็ตั้งต้นเลยว่า "นับแต่วันนี้ไปอีกสามเดือน เราตถาคตจะขอลาพวกท่านทั้งหลายเข้าสู่พระปรินิพพาน เพราะอายุสังขารของเราสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น ให้พระอานนท์ประกาศแก่สงฆ์ทั้งหลายให้ทราบโดยทั่วกัน....."
โดยปรกติก่อนเทศน์ ท่านจะอารัมภบทเล็กน้อยก่อนเสมอ เช่น "ให้หลับตานั่งสงบจิตตั้งใจฟัง วันนี้จะเทศน์เรื่อง....." แต่วันนั้น ท่านตั้งต้นแบบนั้นเลย แม้จะเป็นเพียงการนำพระพุทธดำรัสปลงพระชนมายุสังขารมากล่าว แต่ก็ทำเอาผู้ที่นั่งฟังอยู่ถึงกับสะดุ้ง
ระหว่างอยู่ที่ภูทอกต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2523 ท่านฝากฝังกับคุณหญิงสุรีพันธุ์ให้ช่วยทำศพให้ ท่านถามย้ำถึงสองครั้งว่า ทำศพให้อาตมาได้ไหม คุณหญิงยังแย้งท่านว่าจะให้ช่วยทำศพได้อย่างไร พระอาจารย์จะอยู่ถึงเก้าสิบกว่า ตัวคุณหญิงเองคงจะตายก่อนท่าน หรือถ้าหากมีชีวิตยืนยาว ก็คงจะเฉียดเก้าสิบเหมือนกัน อายุปูนนั้นจะมีสติปัญญาทำอะไรได้ ท่านก็ว่า ".. ก็เผื่อมันต้องเปลี่ยนแปลงล่ะ !"
เชื่อว่าพระอาจารย์จวนต้องหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างแน่นอน ท่านสั่งตั้งเจ้าอาวาสล่วงหน้า บอกว่าต่อไปนี้ใครถามหาเจ้าอาวาสภูทอก ให้บอกว่า ท่านแยงนะ (หมายถึงพระอาจารย์แยง สุขกาโม) ท่านยังพูดอีกว่า มากรุงเทพฯ คราวนี้ อยู่แค่วัดพระศรีฯ (ซึ่งเป็นที่ตั้งศพของท่าน) ก่อนจะเดินทางมากรุงเทพฯ อันเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย ท่านได้รีบอัดเทปประวัติเพิ่มเติมไว้ถึงเจ็ดม้วน สั่งให้ทางวัดเก็บไว้ เมื่อพระอุปัฏฐากกราบเรียนถามท่านว่าไม่นำติดตัวไปด้วยหรือในเมื่อท่านจะได้พบกับคุณหญิงสุรีพันธุ์อยู่แล้วที่กรุงเทพฯ ท่านอาจารย์กลับบอกว่า ไม่เป็นไร สุรีพันธุ์เขาจะมารับเองที่วัด พระอาจารย์คงมีเหตุผลของท่าน ถ้านำเทปชุดนั้นติดตัวมาด้วยคงเสียหายหมด
(ซ้าย) พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร (ขวา) พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร |
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โยมแม่และเครือญาติของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เข้าเฝ้า |
โยมแม่ของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เล่าว่า คืนก่อนจะทราบข่าวร้าย สะดุ้งตกใจตื่นขึ้นราวกับมีใครมาปลุก เห็นแสงสว่างปรากฏที่หัวนอน สว่างโร่ราวกับเวลากลางวัน ได้ยินเสียงเรียก "แม่... แม่... แม่" สามครั้ง จำได้ว่าเป็นเสียงพระอาจารย์วัน วันต่อมาจึงทราบข่าว
พระวิสุทธิญาณเถร (พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย) วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี |
เมื่อรถวิ่งมาใกล้จุดเกิดเหตุ มองเห็นชาวบ้านวิ่งบ้างเดินบ้าง สับสนอลหม่านไปหมด ตำรวจทหารแน่นทั้งสองข้างทาง ควันขาว ๆ พวยพุ่งอยู่กลางท้องนา พระอาจารย์สมชายให้คนขับจอดรถแล้วท่านก็เดินตรงไปที่ซากเครื่องบินที่ตกกระจัดกระจายอยู่บริเวณนั้นท่ามกลางไทยมุงที่แน่นขนัด
ท่านและพระเณรได้ช่วยกันเก็บสมณบริขารของครูบาอาจารย์ออกมาวางไว้ในที่อันเหมาะสม พระอาจารย์สมชายปรารภขณะที่หยิบชิ้นส่วนของครูบาอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวนมาบอกเมื่อคืนว่าให้ช่วยมาเก็บธาตุขันธ์ให้ท่านด้วย รับปากท่านไว้เมื่อคืน..” เมื่อเก็บชิ้นส่วนและบริขารของครูบาอาจารย์เสร็จ เจ้าหน้าที่ก็มาถึง จึงปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อ พอตกกลางคืน ท่านก็พาคณะไปกราบนมัสการศพพระอาจารย์ทั้งหลายที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
เชื่อว่า พระคณาจารย์ที่โดยสารมากับเครื่องบินลำนี้ ท่านทราบล่วงหน้าด้วยญาณอยู่แล้วว่าเครื่องบินลำนี้จะตกเมื่อใกล้ถึงสนามบิน แต่ท่านไม่ต้องการหลีกเลี่ยงกรรม จึงเต็มใจละสังขารแต่โดยดี
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ได้อธิบายให้บรรดาศิษย์ฟังว่า ไม่มีใครในโลกนี้หนีพ้นผลกรรมไปได้ วิบากกรรมของพระอริยเจ้าทั้งห้ารูปหมดแล้ว ไม่ต้องห่วง ให้ห่วงตัวเราเองนี้ให้มาก ทำตัวเราเองให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง
ท่านได้ยกตัวอย่างพระโมคคัลลานเถระ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านมีฤทธิ์มาก สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรก แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ที่ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบ ประชาชนทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คลายความเคารพพวกเดียรถีย์ ทำให้ลาภสักการะเสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง พวกเดียรถีย์จึงปรึกษากัน เห็นพ้องว่าต้องกำจัดพระโมคคัลลานะ ตกลงกันแล้ว ก็เรี่ยไรเงินไปจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ
พวกโจรพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึงสองครั้ง ในครั้งที่สาม พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่าที่ตนเคยกระทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงยอมให้โจรจับโดยง่ายดายและถูกทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลว พวกโจรเข้าใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างไปทิ้งในป่าแล้วพากันหลบหนีไป
พระโมคคัลลานะคิดว่า เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคก่อนจึงนิพพาน คิดเช่นนั้นแล้วก็เรียบเรียงสรีระ ประสานกระดูกด้วยฤทธิ์แห่งฌาน เหาะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลลานิพพาน
พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุพกรรมของพระโมคคัลลานเถระว่า ในอดีตกาล มีกุลบุตรคนหนึ่งในนครพาราณสี ปรนนิบัติดูแลบิดามารดาตาบอดด้วยตนเอง บิดามารดาจึงหาภรรยามาให้เพื่ื่อช่วยงาน เมื่อภรรยาดูแลบิดามารดาได้เพียง 2-3 วัน ก็ไม่ปรารถนาจะเห็นคนทั้งสองอีก เวลาที่กุลบุตรออกไปข้างนอก นางจึงเอาชิ้นเปลือกปอและฟองข้าวยาคูมาโรยในที่ต่าง ๆ แล้วกล่าวหาว่า คนทั้งแก่ทั้งตาบอดเหล่านี้ ทำให้สกปรกไปทั่วเรือน นางไม่อาจอยู่ในที่เดียวกันกับคนเหล่านี้
เมื่อนางกล่าวอยู่บ่อย ๆ กุลบุตรผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วก็แตกกับบิดามารดา จึงออกอุบายลวงบิดามารดาว่า ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างหมู่บ้านต้องการให้ไปเยี่ยม เมื่อถึงกลางดง ก็แสร้งทำเสียงเหมือนกับว่ามีโจรมาดักปล้น แล้วลงมือทุบตีบิดามารดาของตนจนตาย โยนศพทิ้งในดงแล้วกลับเรือน
ด้วยกรรมนี้ พระโมคคัลลานะหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี วิบากกรรมที่เหลือ ยังส่งผลให้เป็นผู้แหลกละเอียดเพราะทุบแล้วถึงความตายสิ้นร้อยอัตภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย |
กล่าวถึงบุพกรรมของพระอริยเจ้าทั้งห้ารูป ที่ส่งผลให้มามรณภาพพร้อมกันในอุบัติเหตุเครื่องบินตก หลวงปู่หลุย จันทสาโร พระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เล่าให้ฟังว่า
ในอดีตชาติ ท่านทั้งห้าเกิดในสกุลชาวนาที่ยากจน ต้องขวนขวายหาเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ทั้งห้าคนเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกัน เมื่อยังเด็กได้จูงควายออกไปเลี้ยง ผูกควายแล้วก็พากันวิ่งเล่น หากบเขียดเป็นอาหาร ระหว่างนั้น เหลือบไปเห็นรังนก จึงช่วยกันหาไม้มาเขี่ยรังนกให้ตกลงมาโดยหวังจะเอาไข่นกไปกิน แต่เมื่อรังนกตกลงมา กลับกลายเป็นลูกนกสามตัว เสียชีวิตทั้งหมดเพราะตกจากที่สูง ไม่ใช่ไข่นกดังที่เข้าใจ และขณะที่เด็กผู้ชายทั้งห้าคนกำลังเขี่ยรังนกอยู่นั้น มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นน้องสาวของเด็กในกลุ่ม ก็มายืนส่งเสียงเชียร์อยู่ใกล้ ๆ ด้วยความยินดีว่า "จะหล่นแล้ว จะหล่นแล้ว"
วิบากกรรมอันนี้ ส่งผลข้ามภพข้ามชาติให้ท่านทั้งห้าตกจากที่สูงลงมามรณภาพ
ในเครื่องบินลำที่เกิดอุบัติเหตุนั้น มีสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งเป็นคุณหญิงโดยสารมาด้วย คือศาสตราจารย์ คุณหญิงไขศรี ณ ศีลวันต์ ภริยาของ ฯพณฯ ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี ท่านเป็นผู้ที่มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งได้ปฎิบัติธรรมและฝึกสมาธิวิปัสสนาอยู่เสมอ ท่านเป็นผู้ไปอาราธนาพระคณาจารย์ทั้งห้ารูปเพื่อมาในกิจนิมนต์สำคัญ แต่แล้วกลับต้องประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างเดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน สตรีสูงศักดิ์ท่านนี้ ในอดีตชาติก็คือเด็กผู้หญิงที่ยืนส่งเสียงเชียร์อยู่ใกล้ ๆ ขณะที่เด็กผู้ชายทั้งห้าคนกำลังเอาไม้เขี่ยรังนก
เพียงมีจิตคิดยินดีในการประกอบอกุศลกรรมของผู้อื่น วิบากนั้นยังส่งผลให้เกิดในภพชาติเดียวกัน บันดาลให้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกพร้อมกัน หลวงปู่หลุยท่านจึงย้ำสอนว่า ไม่ควรยินดีในการทำชั่วของผู้อื่น เพราะเราจะมีส่วนในบาปนั้นด้วย แต่ให้ยินดีในการประกอบคุณงามความดีของตนและของผู้อื่น เพราะจะได้แต่บุญโดยฝ่ายเดียว
กล่าวถึงประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ โดยย่อ ท่านเกิดในสกุล "นรมาส" เมื่อที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ตรงกับวันเสาร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ณ บ้านเหล่ามันแกว ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคืออำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ)
เมื่ออายุ 15 ปี ได้พบกับพระธุดงค์ที่มาปักกลดอยู่ใกล้บ้าน พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ "ไตรสรณาคมน์" ของ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ให้นำไปลองปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนา ท่านฝึกหัดด้วยตนเองตามลำพัง แม้ไม่มีใครช่วยชี้แนะให้ก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ช่วยให้จิตใจสงบเย็น
ต่อมาได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "จตุรารักข์" ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เกิดความสลดสังเวชใจว่า คนเราขณะยังมีชีวิตอยู่ หากไม่ประกอบคุณงามความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตในชาตินี้ ทั้งยังไม่มีโอกาสจะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้า ท่านเกิดศรัทธาถึงกับสละเงินที่เก็บออมระหว่างทำงานทั้งหมดเป็นเจ้าภาพมหากฐินคนดียว สร้างพระประธาน สร้างห้องสุขาในวัด
"จตุรารักข์" หรือ "จตุรารักขกัมมัฏฐาน" เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) พระมหาเถระผู้ก่อตั้งวงศ์ธรรมยุติกนิกายร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะทรงพระผนวช สมเด็จท่านเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและเป็นผู้เชี่ยวชาญในสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างลึกซึ้ง มีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมใส เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหาร และทรงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี จากวัดราชาธิวาส มาครองวัดเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
"จตุรารักขกัมมัฏฐาน" กล่าวถึงการปฏิบัติกรรมฐาน 4 ข้อ คือ การระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย การเจริญเมตตา การพิจารณาอสุภะและมรณสติ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นหลักธรรมซึ่งพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้อ่านแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นำไปเผยแพร่และอบรมสั่งสอนสานุศิษย์
เมื่ออายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง มีพระอาจารย์บุเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า "พระจวน กลฺยาณธมฺโม"
ระหว่างที่บวชเป็นพระบ้านอยู่นั้น ท่านคิดจะญัตติเป็นธรรมยุตและออกธุดงค์ตามรอยพระธุดงคกรรมฐาน แต่อุปัชฌาย์ท่านไม่ให้ญัตติ ให้สึกเสียก่อน ท่านจึงลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสชั่วคราวและเสาะแสวงหาอาจารย์สอนกรรมฐานจนมาพบสำนักวัดป่าสำราญนิเวศ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ) จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2486 มี พระครูทัศนวิสุทธิ (พระมหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์นี้ เป็นหลานของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ได้เพียงห้าวันก็มาอุปสมบทพระอาจารย์จวน นับเป็นนาคแรกของท่าน จึงตั้งฉายาให้พระอาจารย์จวนว่า "กุลเชฏโฐ" มีความหมายว่าเป็นพี่ชายคนโตของวงศ์ตระกูล ภิกษุรูปที่สองที่พระอุปัชฌาย์นี้บวชให้ต่อมาคือ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ซึ่งพระอาจารย์จวนได้มานั่งหัตถบาสอยู่ด้วย
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านได้กำหนดจิตดูพระอาจารย์จวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า "กาเยนะ วาจายะ วะเจตะ วิสุทธิยา ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม" |
พระอาจารย์จวนได้มีโอกาสศึกษาและอยู่ปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นเวลานานถึงหนึ่งปีเต็ม ตั้งแต่ออกพรรษาที่ 3 ได้เพียงห้าวันและอยู่ตลอดพรรษาที่ 4 (ราวปี พ.ศ. 2489) เวลานั้น พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) มาตรวจงานคณะสงฆ์ทางภาคอิสาน พระครูทัศนวิสุทธิ (พระมหาดุสิต เทวิโร) ผู้เป็นอุปัชฌาย์จึงได้ฝากท่านไปกับท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ขอให้นำไปอยู่กับพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือด้วย
ขณะจำพรรษาอยู่ด้วยพระอาจารย์มั่น ได้ออกธุดงค์ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ และพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม ตามลำดับ ภายหลังท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ได้ฝากฝังท่านไว้กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล
หลวงปู่ขาวเล่าให้พระอาจารย์จวนฟังว่า "..เวลาผมมาจากจังหวัดเชียงใหม่ แล้วเข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นถามผมว่า ท่านขาวรู้จักท่านจวนไหม ผมก็เรียนท่านว่าไม่รู้จัก ท่านก็ว่า ท่านจวนคนอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลฯ อำเภอเดียวกับท่านขาวน่ะ ท่านจวนมาอยู่กับผมนี้ ต่อไปขอฝากท่านจวนด้วย ขอให้ท่านช่วยกำกับดูแลรักษาท่านจวนด้วย รักษาท่านจวนเน้อ อย่าปล่อยไป ให้รักษากัน..."
พระอาจารย์จวนกล่าวเสมอว่า สืบต่อจากพระอาจารย์มั่นแล้ว เท่ากับหลวงปู่ขาวปั้นท่านมากับมือ เวลาท่านกราบทำความเคารพหลวงปู่ขาวตามประเพณีแล้ว ท่านจะยกเท้าของหลวงปู่ขาวขึ้นวางบนศีรษะของท่าน เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด
(ซ้าย) หลวงปู่ขาว อนาลโย (ขวา) พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ |
พระอาจารย์จวนมาอยู่ที่ภูทอกตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2512 (พรรษที่ 27) มากับพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม) ตอนแรกอาศัยอยู่ที่เชิงเขา บริเวณโดยรอบเป็นป่ารกชัฏ ปีแรกที่มาจำพรรษาที่ภูทอกนี้ มีพระ 3 รูป ผ้าขาวน้อย 1 คน ปลูกกะต๊อบพออาศัยอยู่ชั่วคราว 4 หลัง เวลาพลบค่ำ พระอาจารย์จวนจะขึ้นไปนอนบนชั้น 5 โดยปีนตามเครือเถาวัลย์ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ปัจจุบันเป็นถ้ำวิหารพระ
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม) ท่านเป็นผู้บุกเบิกและสร้างสะพานไม้รอบภูทอกร่วมกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ |
การบิณฑบาตในระยะแรกขาดแคลนมาก พระเณรเจ็บไข้กันบ่อย ถูกเทวดาประจำภูเขาหลอกหลอน ดึงขาบ้าง ปลุกให้ลุกขึ้นมาทำความเพียรบ้าง พระอาจารย์จวนได้ตักเตือนพระเณรให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ แผ่เมตตา ต่อมาภายหลังเกิดนิมิตว่า เหล่าเทวดาพากันน้อมถวายเขาลูกนี้ให้กับพระอาจารย์จวนเป็นผู้รักษาไว้ ส่วนเทวดาทั้งปวงจะพากันย้ายไปอยู่ข้างล่าง
ปีต่อ ๆ มา ชาวบ้านช่วยกันสร้างสะพานรอบเขา กุฏิ ศาลา ขุดบ่อน้ำ สร้างถังกักเก็บน้ำ ห้องน้ำห้องส้วม ฯลฯ ภายหลังมีคณะศรัทธาจากต่างถิ่นเดินทางมามากขึ้น ได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์และกำลังกายสร้างถาวรวัตถุและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้
วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เดินทางมากรุงเทพฯ ด้วยกิจนิมนต์สำคัญและประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่คลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ถึงแก่มรณภาพพร้อมด้วยพระเถระอีก 5 รูป พระนวกะอีก 1 รูป รวมเป็น 7 รูป
สิริรวมอายุท่านได้ 59 ปี 9 เดือน 18 วัน 38 พรรษา
ขอขอบคุณ ท่านเจ้าของภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเป็นวิทยาทาน