วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เหตุใดจึงชื่อ 'พระไพรีพินาศ' ?


พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปศิลาปิดทอง ศิลปะศรีวิชัย ปางประทานพร (คล้ายปางมารวิชัย เพียงแต่หงายพระหัตถ์ขวา)  ประวัติการสร้างไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่ามีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ครั้งทรงพระผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอานุภาพกำจัดภัย ให้ผู้ที่คิดร้ายพ่ายแพ้พระบารมี

เรื่องมีอยู่ว่า.. เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศที่ "เจ้าฟ้ามงกุฎ" เสด็จออกผนวชเมื่อเจริญพระชนมายุครบตามเกณฑ์ ทรงผนวชได้เพียง 15 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ผลัดแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคตอย่างปัจจุบัน

ตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (หรือ "เจ้าฟ้ามงกุฎ" ในขณะนั้น) ควรจะได้รับราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ 2 เพราะทรงเป็นพระราชโอรสที่มีพระราชสมภพจากพระอัครมเหสีของรัชกาลที่ 2 คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ มีฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" จัดว่าเป็นอันดับสูงสุดในพระบรมวงศานุวงศ์ มีฐานะเป็นรัชทายาท และเวลานั้น ตำแหน่งวังหน้าซึ่งถือเป็นตำแหน่งรัชทายาทก็ยังว่างอยู่ ภายหลังจากที่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 2 ก็มิได้ทรงตั้งวังหน้าขึ้นใหม่ตลอดรัชกาล  แต่ราชสมบัติกลับมิได้ตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎตามที่กฎมณเฑียรบาลกำหนดไว้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้กำกับดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณมีอยู่ 3 พระองค์ คือ วังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ กำกับดูแลราชการแผ่นดินทั่วไป  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี กำกับกรมวังและมหาดไทย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) กำกับกรมพระคลังมหาสมบัติ  ครั้นเมื่อวังหน้าสิ้นพระชนม์ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีก็เข้ามากำกับดูแลแทน แต่อยู่ได้เพียง 5 ปี ก็สิ้นพระชนม์อีก จึงเหลือเพียงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์เดียว ที่กำกับดูแลราชการทั้งหลายทั้งปวง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี
ครองสิริราชสมบัติอยู่ 27 พรรษา ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2394
ภาพขวา คือพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐานอยู่ที่ปราสาทพระเทพบิดร พระบรมมหาราชวัง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ใกล้เสด็จสวรรคตนั้น ทรงพระประชวรจนตรัสไม่ได้ จึงมิได้ระบุว่าจะมอบราชสมบัติให้แก่ผู้ใด  
พระราชวงศ์และเสนาบดีทั้งหลาย จึงเห็นพ้องกันให้ทูลเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสองค์โตอันเกิดจากพระสนมของรัชกาลที่ 2 คือเจ้าจอมมารดาเรียม ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

เจ้าฟ้ามงกุฎ แม้จะมีสิทธิโดยชอบธรรมด้วยเป็นพระราชโอรสองค์โตอันเกิดจากพระอัครมเหสี แต่ยังอ่อนวัยวุฒิ คุณวุฒิ รวมถึงอำนาจบารมีส่วนพระองค์  อีกทั้งถูกคุกคามจากพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายที่สนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยเฉพาะจากกรมหลวงรักษณ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ลวงให้เสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวังและถูกควบคุมตัวไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พระองค์จึงได้รับการปล่อยตัวให้เสด็จกลับไปประทับที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) ดังเดิม  ความปรากฏในโคลงลิลิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์ คัดมาโดยย่อว่า

                                              เขาเชิญไปวัดแก้ว           มรกต อกอา
                                       พัก ณ พระอุโบสถ                  ต่างเฝ้า
                                       อ้างองค์พระทรงพรต              พลุกพล่าน สมฤา
                                       อละหม่านแต่งทหารเข้า          แวดล้อมวงรวัง

                                              ประทับขังอุโบสถสิ้น       สัปตวาร พ่ออา
                                       ห่างมิตศิษย์บริพาร                ผ่อนเฝ้า
                                       คึกคักแต่พนักงาน                 สนมนิเว สะรักษ์ฤา
                                       คอยพิทักษ์สมศักดิ์เจ้า           พระฟ้าประดาผงม

กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือพระองค์เจ้าไกรสรนี้ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 อันเกิดกับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว  ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นรักษ์รณเรศ และได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ด้วยเป็นเจ้านายพระองค์สำคัญที่มีความดีความชอบในการพรากราชสมบัติให้พลัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตกแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อเหตุการณ์ลงเอยเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ "วชิรญาณภิกขุ" ในขณะนั้น ทรงรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยของพระองค์เอง จำต้องปลีกตัวหนีห่างจากกิจการที่เกี่ยวกับอาณาจักร จึงตัดสินพระทัยที่จะผนวชอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไปไม่มีกำหนดเพื่อหลบราชภัย อย่างไรก็ตาม แม้พระองค์จะมิได้เสวยราชย์และดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต ก็ยังถูกกรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) คุกคามกลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา

คราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมคณะพระมหาเถระผู้สอบในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงแปลทุกวัน ทรงพระปรีชาสามารถมาก แปลพักเดียวได้ตลอดประโยคไม่มีพลาดพลั้งให้มหาเถระต้องทักท้วงเลย  วันแรกแปลคัมภีร์ธรรมบทประโยค 1-2-3  วันที่สองเสด็จเข้าแปลคัมภีร์มงคลทีปนีสำหรับประโยค 4 วันที่สาม เสด็จเข้าแปลคัมภีร์บาลีมุตสำหรับประโยค 5 ปรากฏว่ากรมหมื่นรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ซึ่งกำกับกรมธรรมการได้ถามพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ (วัดท้ายตลาด) ซึ่งเป็นผู้สอบอยู่ด้วยว่า "นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน"  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็น้อยพระหฤทัย ด้วยเจตนาจะสนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระราชศรัทธา หาได้ปรารถนายศศักดิ์ลาภสักการะอย่างใดไม่  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความขุ่นหมองที่เกิดขึ้น ก็ทรงอนุญาตไม่ต้องแปลต่อไปอีก และพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก 9 ประโยคให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) นั้น ผู้คนนิยมนับถือพระองค์มาก จนเป็นเหตุให้เกิดคำพูดแสดงความสงสัยว่า ที่คนพอใจไปวัดสมอรายกันมากนั้น เพราะประสงค์จะยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในทางการเมือง เพื่อระงับความสงสัยและข่าวลือต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ทูลเชิญ "วชิรญาณภิกขุ" เสด็จมาอยู่เสียใกล้ ๆ พระองค์ ซึ่งประจวบเหมาะกับขณะนั้น วชิรญาณภิกขุเองก็ทรงมีฐานะเป็นพระราชาคณะแล้ว แต่ยังไม่ได้ทรงเป็นเจ้าอาวาสครองวัด เพียงแต่ประทับอยู่วัดสมอรายดำเนินกิจการทางสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จึงได้ทรงนิมนต์ให้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปีวอก พ.ศ. 2379


ครั้นเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ทรงได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) มากขึ้น จนถึงหาเหตุให้สึกพระสุเมธมุนี พระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  แกล้งใส่บาตรพระธรรมยุตด้วยข้าวต้มให้ร้อนมือที่อุ้มบาตร และเบียดเบียนด้วยประการต่าง ๆ นา ๆ

ในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กรมหลวงรักษ์รณเรศต้องราชภัย เพราะความกำเริบเสิบสานและสำเร็จความใคร่บ่าวจนน้ำกามเคลื่อน  จึงถูกถอดเป็นไพร่เรียกว่า "หม่อมไกรสร" แล้วประหารชีวิตโดยทุบด้วยท่อนจันทน์  ผู้ทำหน้าที่ประหารเคยเป็นข้าในกรมของผู้ถูกประหาร จึงมือไม้สั่น ปรกติทุบทีเดียวก็ตายสนิท แต่นี่เจ้านายตัวจึงทุบพลาด เจ้านายก็เด็ดขาด ตะโกนสั่งจากถุงที่คลุมว่า "..ทุบใหม่ ไอ้นี่สอนไม่จำ.."  ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ความว่า..

"...เพราะด้วยอ้ายพวกละคร ชักพาให้เสียคน จึงให้ตระลาการค้นหาความอื่นต่อไปให้ได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศ ชำระความของราษฎรมิได้เป็นยุติธรรม ด้วยพวกละครรับสินบนทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย แล้วก็คงหักเอาชนะจงได้ แล้วเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ชั้นแต่ลอยกระทง ก็ไปลอยกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขัณฑ์บ้าง เอาธรรมเนียมที่ในหลวงทรงลอย พวกละครห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพ็ชรแทนหม่อมห้าม แลเกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ที่ผู้ใดไม่ฝากตัวก็พยาบาทไว้ ตั้งแต่เล่นละครเข้าแล้ว ก็ไม่ได้บรรทมอยู่ข้างในด้วยหม่อมห้ามเลย บรรทมอยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงด้วยพวกละคร จึงรับสั่งให้เอาพวกละครแยกย้ายกันไต่ถาม ได้ความสมกันว่า เป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือเจ้าละครและมือท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เป็นแต่เท่านั้นแล้วโปรดให้ตระลาการถามกรมหลวงว่า เป็นเจ้าใหญ่นายโตเล่นการนี้สมควรอยู่แล้วหรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้น ไม่เกี่ยวข้องแก่การแผ่นดิน ถามอีกข้อหนึ่งว่า เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมาก จะคิดกบฏหรือ กรมหลวงให้การว่า ไม่ได้คิดกบฏ คิดอยู่ว่า ถ้าสิ้นแผ่นดินไป ก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร..."

ข้อความในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า   ... แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่มนุษย์เขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน..." 

จึงโปรดให้ถอดเสียจากกรมหลวง ให้เรียก "หม่อมไกรสร" ลงพระราชอาญาแล้ว ให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรมสามค่ำ (ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391) อายุได้ 58 ปี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี
ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ สวมพระมหาสังวาล ฉลองพระบาทเชิงงอน
เครื่องทรงสำคัญสำหรับพระมหากษัตริย์

เบื้องหลังอันเป็นที่มาของพระนามของพระพุทธรูปที่เรียกว่า "พระไพรีพินาศ" เพราะในระยะใกล้ ๆ กับเวลาที่หม่อมไกรสรจะถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นี้เอง พระไพรีพินาศก็ได้เสด็จมาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และท้ายที่สุด "ไพรี" ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้พินาศลงด้วยประการฉะนี้  และอีกสามปีเศษถัดมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 17 ปี


ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเฉลิมพระนามพระพุทธรูปนี้ว่า "พระไพรีพินาศ"โปรดให้สร้างเก๋งประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่พระมหาเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร


นอกจาก "พระไพรีพินาศ" แล้ว ภายในพระมหาเจดีย์สีทอง ยังมีพระเจดีย์ศิลาองค์ย่อมประดิษฐานอยู่ มีนามพระราชทานคล้ายคลึงกันว่า "พระไพรีพินาศเจดีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจักได้ทรงโปรดให้สถาปนาขึ้นไว้แต่ครั้งยังทรงพระผนวชและประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือไม่เช่นนั้น ก็คงจักทรงโปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่คราวหนึ่ง เรียกว่า งานผ่องพ้นไพรี

พระบูชาไพรีพินาศ

เหรียญพระไพรีพินาศ พ.ศ. 2495 (2496)
จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 และทำพิธีพุทธาภิเษก วันที่ 4 เมษายน ตรงกับวัน "เสาร์ห้า"
แต่ปีพุทธศักราชที่ระบุด้านหลังเหรียญ เป็นปี พ.ศ. 2495
ทั้งนี้ เพื่อให้ตรงกับโอกาสฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา ปี พ.ศ. 2495
ของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์)

พระผง ไพรีพินาศ ภปร วัดบวรนิเวศวิหาร
สร้างในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา
5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

เหรียญพระไพรีพินาศ ภปร พ.ศ. 2549
ที่ระลึกครบ 50 ปี แห่งการทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(พ.ศ. 2499 - พ.ศ. 2549)

เหรียญพระไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร
ชุบทองลงยาราชาวดี
ที่ระลึก 99 พระชันษา สมเด็จพระสังฆราช
3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระไพรีพินาศ ผสมมวลสารจิตรลดา
ซึ่งเป็นมวลสารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สร้างพระสมเด็จจิตรลดา
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมวลสารต่าง ๆ เหล่านี้ให้แก่วัดบวรนิเวศวิหาร


คำบูชาพระไพรีพินาศ
(เจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงนิพนธ์คำบูชานี้)


                                          อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ  สุจิรัง ปะรินิพพุโต
                                     คุเณหิ ธะระมาโนทานิ         ปาระมีหิ จะ ทิสสะติ
                                     ยาวะชีวัง อะหัง พุทธัง         ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คะโต
                                     ปูเชมิ ระตะนัตตะยัง            ธัมมัง จะรามิ โสตถินา ฯ

คำแปล
(พระมหานายก (ฉลอง ชลิตกิจโจ) แปลความหมายเป็นภาษาไทย)

สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเสด็จดับขันธปรินิพพานมาช้านานแล้ว 
แต่ก็ยังทรงปรากฏดำรงอยู่ในบัดนี้ โดยพระคุณและพระบารมีทั้งหลาย 
ข้าพพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต 
บูชาอยู่ซึ่งพระรัตนตรัย ขอประพฤติธรรม โดยสวัสดี เทอญ ฯ


อ้างอิง         -  ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
                  -  พระเกียรติประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม 
                     และ ขจร สุขพานิช  มหามกุฏราชวิทยาลัย 2492

8 ความคิดเห็น:

  1. อนุโมทนาบุญแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสมเด็จพระสังฆราช

    ตอบลบ
  2. กราบเทิดทูนบูชาและอนุโมทนาบุญต่อพระรัตนตรัย ทุกภพ ทุกชาติไป ตลอดอนันตกาล
    สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ29 สิงหาคม 2561 เวลา 15:15

    กราบสาธุๆคะ

    ตอบลบ
  4. แชร์ไว้ก่อน เดี๋ยวมาอ่าน ^^

    ตอบลบ
  5. สร้างในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษ

    ตอบลบ